การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ

การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ

ข้าพเจ้าไม่สู้จะแน่ใจนัก ว่าเราไปได้ธรรมเนียมบูชาหนังสือนี้มาจากไหน ข้าพเจ้าสงสัยว่า จะมาจากสหายจีนของเรา เพราะความเชื่อถือของเขาในสิ่งทั้งปวงที่เขียน หรือพิมพ์ลงเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ดูราวกับอาการแห่งทารก การที่จีนเขาตั้งอกตั้งใจเก็บกระดาษกวาดชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่มีตัวอักษรมารวบรวมเผาในเตา ซึ่งทำขึ้นโดยเฉพาะเป็นพิเศษนั้น เป็นการประหลาดมาก
เมื่อรู้นิสัยดุจทารกของจีนในเรื่องนี้ บรรดาผู้ที่ก่อการยุ่งเหยิงและหัวหน้าอั้งยี่ทั้งหลาย ก็ใช้ความรู้นี้เป็นประโยชน์ได้มาก โดยใช้วิธีเขียนหรือพิมพ์ข้อความ ซึ่งเขาต้องการจะให้ได้รับความเชื่อถือแล้วก็ไม่ต้องจัดการอะไรอื่นนอกจากแจกจ่ายหนังสือที่พิมพ์นั้นไป ก็เป็นอันพอแล้วที่จะหวังในความสมปรารถนาได้  เพราะว่าถึงแม้จะมีเหตุผลมาแสดงให้จีนฟังสักเท่าใดก็ดี เขามักไม่ยอมเชื่อเลยว่า ข้อความที่ปรากฏเป็นตัวอักษรแล้วจะเป็นอื่นได้นอกจากความจริง การโฆษณาข้อความใดๆ ด้วยวิธีการแจกจ่ายหนังสือนี้ ถึงแม้ว่าเป็นวิธีซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจทำได้ก็จริงอยู่ แต่ฝ่ายใดที่ได้เริ่มลงมือทำก่อนแล้ว ก็นับว่าเป็นกำไรได้เปรียบ เพราะว่าได้รับความเชื่อถือแห่งคนเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นบรรดาหนังสือต่างๆ ของผู้ก่อการจลาจลทั้งหลาย จึงมีโอกาสที่คนทั้งหลายจะเชื่อถือได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล  ซึ่งถือว่ามีหน้าที่แต่เพียงปฏิเสธข่าวลือต่างๆ แต่อาศัยเหตุที่ข่าวลือนั้นๆ ได้มีเวลาแพร่หลายอยู่เสียนานก่อนที่เจ้าพนักงานจะได้รู้เห็น  คำปฏิเสธตามทางราชการจึงเป็นเหมือนปลายเรื่องอันเป็นของจืด ไม่มีใครจะเชื่อถือนัก
การใช้หนังสือในทางนี้ ได้มีมาแต่โบราณกาล และในเวลานี้ก็ยังคงใช้อยู่เช่นหนังสือพิมพ์เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นดุจเห็ดในประเทศจีน อาศัยเหตุที่ขุนนางจีนล้วนเป็นเปรียญ (หรือเคยเป็น) เขาจึงถือว่าเป็นการไม่สมควรแก่เกียรติยศที่จะแต่งข้อความอะไรอื่นนอกจากโคลงหรือกฤษฎีกา ใช้ภาษาซึ่งเหลือที่จีนสามัญจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์จีนมีแต่ที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลทั้งสิ้น
ในเมืองไทยเราก็คล้ายกัน คือคนที่ได้รับความศึกษามาอย่างดี มีความสามารถในทางหนังสือก็ล้วนเป็นข้าราชการทั้งสิ้น ไม่มีเวลาแต่งอะไรลงหนังสือพิมพ์ได้นอกจากเป็นครั้งคราว ส่วนผู้ที่แต่งเรื่องลงหนังสือพิมพ์เป็นนิตย์นั้น จึงมักเป็นพวกที่มีความศึกษามาอย่างลวกๆ หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการและมีความเคืองแค้นส่วนตัวอยู่เป็นภูเขาเลากา  เพราะฉะนั้นเสียงของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย จึงค่อนไปข้างคัดค้านต่อรัฐบาล
หนังสือพิมพ์ในเมืองไทย ในชั้นต้นเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ด้วยเหตุที่มีคนถูกไล่ออกจากราชการไปทำการในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวแล้ว  และคนพวกนี้ย่อมประสงค์ให้ร้ายแก่รัฐบาลที่ไล่ตัวเขา ครั้นต่อมาจึงกลายเป็นธรรมเนียมของผู้ที่แต่งความเห็นลงหนังสือพิมพ์ จะต้องคัดค้านต่อรัฐบาล ไม่เลือกว่ามีข้อเคืองแค้นส่วนตัวหรือไม่ อาศัยเหตุที่คนจำพวกนี้ มักจะแต่งข้อความที่ดื่นดาด หรือบางทีถึงเปื่อยไม่เป็นชิ้น จึ่งดูไม่น่าจะพึงสังเกตหรือให้เกียรติยศเขาโดยคัดค้าน แต่โดยเหตุที่คนเราบูชาหนังสือจนเกินเหตุดังกล่าวมาแล้วนั้นแหละ  เราจึงทำไม่รู้ไม่เห็นความใฝ่สูงแห่งจำพวกคนที่เรียกตนว่าเป็นคนหนังสือพิมพ์นั้นเสียทีเดียวไม่ได้
หนังสือเป็นของได้คิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องจารึกความคิดของคนเรา และเป็นเครื่องแสดงความคิดของคนหนึ่งให้ปรากฏแก่คนอีกหลายคน  โดยวิธีที่สะดวกกว่าการที่จะพูดกันด้วยปาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เขียนหนังสือจึงเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับความนับถือยิ่งกว่าสิ่งที่เขาเขียน กล่าวคือ การที่จะเชื่อข้อความใดๆ ซึ่งปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ควรจะต้องแล้วแต่ฐานะและชื่อเสียงแห่งผู้แต่ง ถ้าเราสามารถจะรู้ได้ว่าถ้อยคำของคนดีมีหลักฐาน ต่างกันกับถ้อยคำของคนขี้เมาในโรงเหล้าอย่างไร เหตุไฉนเราจึงจะมามีความนิยมนับถือถ้อยคำของคนขี้เมานั้นจนเกินเหตุ ? ในสมัยเมื่อยังมีผู้เขียนและอ่านหนังสือได้แต่บัณฑิตน้อยคน การที่เราจะบูชาหนังสือนั้นก็ควรอยู่ แต่บัดนี้สมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และใครมีมือจับปากกาได้ก็เขียนหนังสือได้แล้วฉะนี้ จึงควรถามว่าจะไม่ถึงเวลาอันควรแล้วหรือที่เราจะเลิกบูชาหนังสือเสียสักที  โดยไม่เลือกว่าหนังสือนั้นมีข้อความดีหรือเหลวไหลปานใด
การที่จะพูดถึงอิสรภาพของหนังสือพิมพ์และอะไรๆ ซึ่งดังสูงๆ เช่นนั้นเป็นการพูดง่าย แต่ข้าพเจ้าขอชักชวนให้ท่านพิจารณาความดูบางข้อซึ่งบางทีจะได้เล็ดลอดความดำริของท่านไปเสียบ้างก็เป็นได้
ในประเทศยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีตัวอย่างในการปกครองโดยคณะอย่างดีที่สุด และหนังสือพิมพ์ต่างๆ บรรดาที่มีในประเทศนั้นๆ ล้วนเป็นฝ่ายคณะใดคณะหนึ่งทั้งสิ้น ผลของการที่เป็นเช่นนี้ เป็นเหตุให้บรรดาหนังสือพิมพ์ต้องระมัดระวังในการแสดงความเห็นต่างๆ กล่าวคือ ในระหว่างคณะ "ก" ถืออำนาจในการปกครอง บรรดาหนังสือพิมพ์ซึ่งอยู่ฝ่ายคณะ "ก" ก็มีหน้าที่ต้องอุดหนุนรัฐบาลและส่วนหนังสือพิมพ์ที่เป็นฝ่ายคณะ "ข" ซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้าม (ออปโปสิชั่น) ก็มีหน้าที่แสดงความเห็นทักท้วงรัฐบาล คราวนี้สมมุติว่าหนังสือพิมพ์ฝ่ายคณะ "ข" ได้ชักชวนให้สาธารณชนลงความเห็นว่าคณะ "ก" ดำเนินการผิด แล้วจึงเลือกคณะ "ข" ขึ้นเป็นผู้ถืออำนาจปกครอง คณะ "ข" ก็จะต้องดำเนินการไปตามที่ฝ่ายตนได้แสดงความเห็นไว้ ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะทำไปได้ ก็ต้องทำอย่างที่คณะ "ก" ได้ทำมาแล้วนั้นเองแล้วไซร้ ก็ย่อมจะต้องทำหน้าที่จืดไปไม่ใช่หรือ? ด้วยเหตุฉะนี้บรรดาหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นฝ่าย "ข" จึงต้องระมัดระวังในการแสดงความเห็นให้เป็นไปแต่ในเฉพาะส่วนซึ่งฝ่ายตนจะกระทำได้ในเมื่อได้รับอำนาจเข้าแทนที่คณะ "ก"
ในประเทศบรรดาที่มิได้ใช้ระเบียบการปกครองโดยคณะ ลักษณการก็ย่อมจะผิดแผกแปลกกันอยู่  บรรดาพวกที่แต่งความเห็นลงหนังสือพิมพ์ ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนจะไม่ต้องรับผิดชอบทำการให้สมกับวาจาที่ลั่นไว้ และด้วยเหตุที่การตินั้นง่ายกว่าการชมหรือเถียงแทน การทำลายง่ายกว่าการสร้าง พวกที่ไม่ต้องรับผิดชอบเหล่านี้จึงมักเป็นพวกที่ชอบทำลายและชอบติ
ก็เมื่อการเป็นอยู่เช่นนี้ ควรหรือที่เราจะเชื่อถือข้อความทั้งปวงซึ่งหนังสือพิมพ์กล่าวนั้นจนเกินเหตุ ? การที่เรายอมหลับตายอมเชื่อข้อความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้พิจารณาดูความมุ่งหมายและความปรารถนาแห่งผู้แต่งเสียก่อนนั้น  จะไม่เป็นการดูหมิ่นสติปัญญาของเราเองอยู่หรือ ?
บางทีท่านจะกล่าวแก้ว่า ท่านจำเป็นต้องอ่านของที่เขาหามาให้อ่าน และถ้าข้อความและเรื่องราวในหนังสือนั้นไม่ใช่ชนิดที่ดีที่สุด ก็ไม่ใช่ความผิดของท่าน  แต่ความจริงเป้นความผิดของท่าน! ถ้าท่านไม่พอใจอ่านเรื่องเหลวแหลก และความแค้นเคืองของคนจำพวกที่ถูกไล่ออกจากราชการ ท่านไม่จำเป็นต้องอ่าน และถ้าพวกบรรณาธิการ (เอดิเตอร์) หนังสือพิมพ์รู้ว่าท่านไม่ชอบ ก็เป็นธุระของเขาที่จะต้องหาเรื่องอย่างอื่นมาให้ท่าน เมื่อเขาเห็นว่าการลงเรื่องเหลวไหลไม่มีสาระไม่เป็นกำไรแก่เขาแล้ว เขาคงจะหาเรื่องที่ดีๆ ต่อไป
เรื่องนี้แล้วแต่ท่านผู้อ่านเองจะแสดงว่าท่านชอบเรื่องชนิดใด  และถ้าแม้ท่านไม่ได้สมประสงค์ ก็เป็นผิดของท่านเองที่ท่านพอใจอ่านแต่เรื่องเลวๆ
เมื่อเราพยายามจะเดินให้ทันสมัย และทำตัวของเราให้เป็นคนทันสมัยที่สุดที่จะทำได้ฉะนี้แล้ว  ท่านจะไม่เห็นด้วยหรือว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเลิกบูชาหนังสืออันเป็นลัทธิแห่งโบราณสมัย ? การที่ข้างจีนจะคิดอย่างไร หรือทำอย่างไรในเมืองของเขาหรือในที่ใดๆ นั้น  ไม่เป็นข้อที่เราจะคำนึงเลย ถ้าข้างจีนเขาจะยังคงถือประเพณีเดิมของเขา บูชาหนังสือราวกับเจ้าหรือเซียนอะไรอันหนึ่ง และนับถือบรรดาผู้ที่เขียนหนังสือเป็นว่าเป็นปราชญ์หรือซินแสทั้งนั้น  ก็ช่างเขาเป็นไร  เราผู้เป็นไทยไม่จำเป็นจะต้องย่างพร้อมกับจีนไม่ใช่หรือ ควรเราจะใช้ความคิดไตร่ตรองวางหนังสือและผู้เขียนหนังสือไว้ในที่อันควร คือการอ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ก็ดี ในหนังสือเล่มก็ดี เราควรจะใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดู  และรับรองแต่สิ่งซึ่งปัญญาของเราเองบอกว่าดี และเป็นความจริง โดยทางนี้เท่านั้นแหละชาวเราจึ่งจะสามารถตั้งตนให้สมควรอยู่ในหมู่ชนที่รุ่งเรืองแล้วแท้จริง

 

 

โคลนติดล้อ

การเอาอย่างโดยไม่ไตร่ตรอง

การทำตนให้ต่ำต้อย

การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ

ความเป็นนิยมเสมียน

ความเห็นผิด

ถือเกียรติยศไม่มีมูล

ความจนไม่จริง

แต่งงานชั่วคราว

ความรับผิดชอบขิงบิดามารดา

การค้าหญิงสาว

ความหยุมหยิม

หลักฐานไม่มั่นคง

ประวัติผู้แต่ง

การศึกษาของผู้แต่ง

บทวิเคราะห์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวกับหนังสือพิมพ์

สร้างโดย: 
วราพร

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 318 คน กำลังออนไลน์