เกี่ยวกับ
   
 
 

หมายเหตุ คลิกที่เมนูด้านซ้ายเพื่อเข้าสู่เนื้อหาตามหัวข้อต่างๆ


ดาวอังคาร

     ดาวอังคาร (Mars) เป็นดาวเคราะห์สีแดง ทำให้ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งสงครามและการสู้รบความแข็งแกร่ง และสัญลักษณ์ของเพศชาย ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความเชื่อและข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าดวงอังคารเป็นดาวที่มีสภาพเอื้อต่อการกำเนิด และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเช่นเดียวกับมนุษย์ เพราะดาวอังคารเป็นดาวดวงที่อยู่ถัดจากโลกออกไปในระบบสุริยะที่มีขนาดเล็กกว่าโลกไปไม่มาก และมีคาบการหมุนรอบตัวเองใกล้เคียงกับโลก

     ดาวอังคารมีบรรยากาศที่หนาแน่นไม่ถึง 1 ใน 100 ของบรรยากาศโลก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีพายุใหญ่ที่พัดปกคลุมดาวทั้งดวงเกิดขึ้นประปราย บรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ จึงสร้างสภาพเรือนกระจกที่ทำให้ผิวดาวร้อนขึ้นประมาณ 5 องศาเซลเซียสจากค่าที่ควรจะเป็นหากไม่มีบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม ช่วงอุณหภูมิของพื้นผิวดาวอังคารก็ยังคงกว้างมาก คือ ตั้งแต่ - 133 องศาเซลเซียส (140 เคลวิน) ที่ขั้วน้ำแข็งในฤดูหนาวไปจนถึงประมาณ 30 องศาเซลเซียส (303 เคลวิน) ที่ด้านกลางวันในฤดูร้อน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ – 55 องศาเซลเซียส (218 เคลวิน) ภูมิอากาศบนดาวอังคารหนาวเย็นกว่าโลกเพราะดาวอังคารอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกเกือบ 1.5 เท่า จึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์เพียง 40% ของพลังงานที่โลกได้รับ

น้ำบนดาวอังคาร  

     ดาวอังคารมีร่องรอยการกัดเซาะและการไหลของน้ำปรากฏอยู่ทั่วทั้งดวง แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยมีน้ำอยู่เป็นปริมาณมากและมีมหาสมุทรขนาดใหญ่ที่ลึกหลายร้อยเมตร และมีลำน้ำไหลอยู่ทั่วทั้งดาว (ในที่สุดแล้วข้อสรุปของโลเวลล์กลับถูกต้องโดยบังเอิญ) ดาวอังคารเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อประมาณ 3.5 พันล้านปีมาแล้ว เห็นได้จากร่องรอยของพื้นที่ที่ราบขนาดใหญ่ที่เกิดจากอุทกภัยขึ้นรุนแรง ปัจจุบันลำน้ำบนผิวดาวได้แห้งไปหมดแล้ว ทิ้งไว้แต่ปริศนาที่ว่าน้ำบนผิดดาวอังคารทั้งหมดหายไปได้อย่างไร
     ในปี ค.ศ. 2002 ผลการสำรวจของยานมาร์ส โอดิสซี (Mars Odyssey) ได้ค้นพบชั้นน้ำแข็งใต้ผิวดาวอังคารที่ความลึกเพียง 1 เมตรในบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคาร และมีความลึกมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้บริเวณศูนย์สูตรของดาว การค้นพบน้ำแข็งใต้ผิวดาวชี้ให้เห็นว่าร่องรอยน้ำท่วมและทางน้ำไหลอาจจะยังเกิดอยู่ต่อเนื่องถึงปัจจุบันโดยน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งใต้ผิวดาวก็เป็นได้ แต่ผลการสำรวจนี้ยังไม่ได้ตอบว่ามหาสมุทรขนาดใหญ่ของกาวอังคารหายไปได้อย่างไร

     นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าในช่วงกว่า 3 พันล้านปีมาแล้ว ดาวอังคารเคยมีลักษณะคล้ายโลกมาก มีทั้งน้ำ ทะเล บรรยากาศที่หนาแน่ สภาวะเรือนกระจกที่สมดุล และอุณหภูมิที่อบอุ่น แต่ต่อมาเมื่อภายในของดาวอังคารเย็นลงและเริ่มแข็งตัว สนามแม่เหล็กที่ปกป้องบรรยากาศของดาวอังคารจากลมสุริยะและอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ก็อ่อนลงด้วย บรรยากาศของดาวอังคารจึงหลุดลอยออกสู่ห้างอวกาศเพราะได้รับพลังงานจากสมสุริยะ ส่งผลให้รังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์แผ่ลงมาถึงผิวดาวและมหาสมุทรได้โดยตรง เพราะไม่มีบรรยากาศคอยดูดซับเอาไว้ดังที่เคยเป็นโมเลกุลของน้ำ มีสมบัติแตกตัวได้ง่ายเมื่อได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต จึงแตกตัวออกเป็นอะตอมไฮโดรเจนและออกซิเจน น้ำส่วนหนึ่งที่ซึมลงใต้ผิวดาวก็แข็งตัวเป็นน้ำแข็งอยู่จนถึงทุกวันนี้ อะตอมไฮโดรเจนส่วนใหญ่หลุดออกจากบรรยากาศของดาวอังคารไปเพราะมีน้ำหนักเบา ส่วนออกซิเจนส่วนหนึ่งทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสนิมสีแดงที่ทำให้ดาวอังคารมีสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ ข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาเป็นข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้มากสำหรับอธิบายการหายไปของมหาสมุทรบนดาวอังคาร

 

ดวงจันทร์ของดาวอังคาร

     ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารสองดวงชื่อ โฟบัส (Phobos) และดีมอส (Deimos) ค้นพบโดย อะชาฟ ฮอลล์ (Asaph Hall) นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1877 ซึ่งเป็นปีที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดครั้งหนึ่ง ดวงจันทร์ทั้งสองมีขนาดเล็กมากจนแทบไม่สามารถสังเกตรายละเอียดพื้นผิวจากโลกได้เลย รูปร่างลักษณะที่แท้จริงของดวงจันทร์ของดาวอังคารจึงเพิ่งเปิดเผยต่อสายตาชาวโลก เมื่อยานไวกิง (Viling) ของสหรัฐอเมริกาบินเฉียดดวงจันทร์ทั้งสองและถ่ายภาพส่งกลับมา
     โฟบัสมีขนาด 27*21.6*18.8 กิโลเมตร (รูปร่างคล้ายหัวมันฝรั่ง) โคจรรอบดาวอังคารที่ระยะห่างเฉลี่ย 9.378 กิโลเมตร โดยใช้เวลาโคจรรอบละ 7 ชั่วโมง 39 นาที หากเราไปเที่ยวชมดาวอังคารเราจะเห็นโฟบัสขึ้นและตก 3 ครั้งต่อวัน โฟบัสมีหลุมอุกกาบาดสติกนี (Stickney ชื่อภรรยาของ อะชาฟ ฮอลล์) ที่กว้างถึง 8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นที่สุดบนดวงจันทร์จิ๋วดวงนี้
     ดีมอสมีขนาดเล็กยิ่งกว่าโฟบัสลงไปอีก กล่าวคือ 15*12.2*11 กิโลเมตร (รูปร่างคล้ายหอมหัวใหญ่) โคจรรอบดาวอังคารที่ระยะห่างเฉลี่ย 23.459 กิโลเมตร โดยโคจรรอบดาวอังคารหนึ่งรอบในเวลา 1 วัน 6 ชั่วโมง 18 นาที

การสังเกตดาวอังคาร  
     ดาวอังคารสังเกตได้ง่ายเพราะมีสีออกแดงอย่างเห็นได้ชัด โดยจะสว่างเป็นพิเศษเมื่อโคจรเข้ามาใกล้โลก ช่วงเวลาที่สังเกตดาวอังคารได้ง่ายที่สุดคือ ช่วงออพโพซิชัน (Opposition) ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกมากที่สุด แม้ว่าระยะห่างระหว่างโลกและดาวอังคาร ณ ออกโพซิชัน แต่ละครั้งก็ไม่คงที่เพราะวงโคจรของดาวอังคารมีความรีพอสมควร แต่ช่วงออพโพซิชัน ก็ยังเป็นช่วงที่สามารถสังเกตได้ดีที่สุดในรอบวงโคจรนั้น ๆ เสมอ

:: ข้อมูลจำเพาะ ::

ระยะห่างจากดวงอาทิตย์
227,936,640 ก.ม.
1.52366231 A.U.
หมุนรอบตัวเอง
1.02595675 วัน
หมุนรอบดวงอาทิตย์
686.98 วัน
เส้นผ่านศูนย์กลาง
6,794 ก.ม.
(0.5326 เท่าของโลก)
ปริมาตร
0.149 เท่าของโลก
มวล
6.4191 × 1023 ก.ก.
ความหนาแน่น
3,940 ก.ก./ม.3
ความเร่งที่พื้นผิว
371 ซ.ม./วินาที2
ความเร็วเฉลี่ย
24.1309 ก.ม./วินาที
ความเร็วการผละหนี
5.02 ก.ม./วินาที
ความรีของวงโคจร
0.09341233
ความเอียงระนาบวงโคจร
1.85061 องศา
ความเอียงของแกนหมุน
25.19 องศา
อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ย
186 - 268 เคลวิน
ก๊าซในชั้นบรรยากาศ
Carbondioxide (CO2) 95%
Nitrogen (N2) 3%
Argon (Ar) 1.6%
ดาวบริวาร
1. Phobos
2. Deimos
กลับขึ้นด้านบน

 



จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 08 พฤศจิกายน 2549

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com
Copyright(c) 2006 www.thaigoodview.com. All rights reserved.