เกี่ยวกับ
   
 

หมายเหตุ คลิกที่เมนูด้านซ้ายเพื่อเข้าสู่เนื้อหาตามหัวข้อต่างๆ


 

โลก

     ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า จายา (Gaia) หรือมารดาแห่งโลก คือ เทพีแห่งพื้นพิภพที่เราได้อาศัยพักพิง ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดเทพยูเรนัส (Uranus) แห่งท้องฟ้า และเทพเนปจูน (Neptune) แห่งท้องทะเลสำหรับผู้นับถือศาสนาพราหมณ์และชาวไทยซึ่งรับวัฒนาธรรมมาจากศาสนาพราหมณ์ เชื่อว่าเทพแห่งพื้นพิภพนี้คือ พระแม่ธรณี ผู้ปกปักรักษาและให้ความร่วมเย็นแก่มนุษย์ทั้งปวง เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองวัฒนธรรมที่มาจากรากเหง้าต่างกัน กลับมีความเชื่อในเรื่องเทพของโลกคล้ายคลึงกัน
     โลกเป็นดาวเคราะห์ที่ห่างดวงอาทิตย์ออกมาเป็นอันดับที่ 3 ในระบบสุริยะ ที่ระยะห่างนี้มีความเหมาะสมหลายประการ เช่น บรรยากาศ น้ำ ผืนดิน และพลังงาน ซึ่งเอื้อให้เกิดการวิวัฒนาการของสสารขึ้นจนถึงระดับที่ซับซ้อนมาก กล่าวคือ มีการวิวัฒนาการจากสารเคมีและโมเลกุลซึ่งไม่มีชีวิตเกิดเป็นสสาร อันมีชีวิตจิตใจและมีความคิดเชิงตรรกะที่ซับซ้อนยิ่ง

     การศึกษาในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าสภาพอันเหมาะสมที่เกิดขึ้นบนโลก มิใช่ความพิเศษอันเป็นของโลกเพียงแห่งเดียวในจักรวาล เพราะมีการค้นพบน้ำ ออกซิเจน รวมทั้งสารชีวโมเลกุลหลายชนิด เช่น น้ำตาลจากการส่องสำรวจบริเวณอื่น ๆ ในดาราจักรทางช้างเผือกของเราแล้ว แต่บริเวณอื่นในจักรวาลจะมีสภาวะที่เหมาะสมธำรงอยู่เป็นเวลานานพอที่จะเกิดการวิวัฒนาการของสสารเช่นโลกได้หรือไม่นั้นยังคงเป็นคำถามที่นักดาราศาสตร์ไม่สามารตอบได้

     นักดาราศาสตร์พบว่าดาวศุกร์และดาวอังคารต่างก็เคยมีน้ำ บรรยากาศ และอุณหภูมิในลักษณะที่คล้ายคลึงกับโลก แต่ในเวลาต่อมาดาวศุกร์ซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปเกิดสภาวะเรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับทำให้ดาวร้อนถึง 450 องศาเซลเซียส ในขณะที่ดาวอังคารมีขนาดเล็กเกินไป ภายในของดาวจึงเย็นตัวลงเร็วกว่าโลกมาก ส่งผลให้ดาวอังคารไม่สามารถสร้างสนามแม่เหล็กเพียงพอที่จะปกป้องบรรยากาศและน้ำบนดาวจากลมสุริยะไว้ได้ ผิวดาวจึงเหลืออยู่เพียงความแห้งแล้งและเยือกเย็นในปัจจุบัน

     การเกิดสภาพที่เหมาะสมต่าง ๆ บนโลกนั้น จึงควรเรียกว่า “ความบังเอิญ” ของจักรวาลมากกว่า “ความพิเศษ” และการที่สภาวะอันเหมาะสมธำรงอยู่ได้นานจนเกิดสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาเช่นมนุษย์ได้ก็เป็นความบังเอิญยิ่งขึ้นไปอีก
     โลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12,000 กิโลเมตร มีสัณฐานกลมแป้นเล็กน้อย คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่บริเวณขั้วโลกน้อยกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางที่เส้นศูนย์สูตรร้อยละ 0.3

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

     พื้นผิวโลก 71% ปกคลุมด้วยน้ำทั้งในรูปของมหาสมุทร ห้วย หนอง คลอง บึง ต่าง ๆ และอีก 29% ที่เหลือคือแผ่นดินที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่อาศัย (ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ)
     ผิวของโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาหลากหลายรูปแบบที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะ ทั่งการเลื่อนตัวของเปลือกโลก การกัดเซาะของน้ำ ลม และน้ำแข็ง การระเบิดของภูเขาไฟ แผ่นดินไหว ฯลฯ ทำให้ผิวโลกส่วนใหญ่ใหม่มาก และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด บนผิวโลกจึงพบหลุมอุกกาบาตน้อยกว่าผิวของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ รวมทั้งดวงจันทร์มาก

     บริเวณใกล้ผิวโลกมีบรรยากาศที่หนาแน่นมาก บรรยากาศนี้ประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ มีก๊าซออกซิเจนเป็นส่วนผสมประมาณ 20% และก๊าซอื่น ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ อาร์กอน ฯลฯ เจือปนอยู่เล็กน้อย ที่ระดับสูงขึ้นไปบรรยากาศของโลกเบาบางลงอย่างรวดเร็ว ที่ความสูงประมาณ 15,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลความดันบรรยากาศของโลกเหลืออยู่เพียง 10% ของความดันที่ผิวโลก ในขณะที่สัดส่วนของก๊าซองค์ประกอบไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก (ไม่รวมถึงไอน้ำ ซึ่งมีอยู่หนาแน่นเฉพาะบริเวณผิวโลกเท่านั้น) และที่ความสูง 30,000 เมตร บรรยากาศของโลกจะมีความดันเหลืออยู่เพียง 1 ใน 1,000 ของความดันที่ผิวโลกเท่านั้น ยิ่งสูงจากผิวโลกขึ้นไปบรรยากาศก็ยิ่งเบาบางลงเรื่อย ๆ จนจางหายไปในความว่างเปล่าของอวกาศที่ความสูงประมาณ 500 กิโลเมตร เหนือผิวโลก


  ดวงจันทร์

     ดวงจันทร์ (The Moon) เป็นบริวารตามธรรมชาติ เพียงดวงเดียวของโลก มีขนาด 3,476 กิโลเมตร และโคจรอยู่รอบโลกที่ระยะห่างเฉลี่ย 384,000 กิโลเมตร ดวงจันทร์มีลักษณะคล้ายกับดาวพุธมากในแง่ของสภาพพื้นผิวและบรรยากาศ (เบาบางมากจนเทียบได้กับสภาพสุญญากาศ)
     ผิวของดวงจันทร์เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่น้อยมากมาย เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศที่คอยปกป้องผิวจากการชนของอุกกาบาต ไม่ว่าอุกกาบาตที่ตกลงสู่ผิวดวงจันทร์จะมีขนาดเล็กเพียงใดจึงตกลงถึงผิวดวงจันทร์ได้ทั้งหมด

     ผิวดวงจันทร์มีอุณหภูมิสูงกว่า 127 องศาเซลเซียส (400 เคลวิน) ในเวลากลางวันด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์) และอุณหภูมิจะลดลงต่ำกว่า -173 องศาเซลเซียส (100 เคลวิน) ในเวลากลางคืนการที่ดวงจันทร์มีความแตกต่างของอุณหภูมิเวลากลางวันและกลางคืนมาก เป็นเพราะดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศที่สร้างสภาพเรือนกระจกและปรับอุณหภูมิพื้นผิวให้คงที่ ที่สภาวะสุดโต่งของอีกด้านหนึ่งคือ ดาวศุกร์ ซึ่งมีบรรยากาศหนาแน่นมากกว่าโลกถึง 90 เท่า ทำให้สามารถรักษาระดับอุณหภูมิคงที่ ที่ประมาณ 467 องศาเซลเซียส (746 เคลวิน) ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน

     ปัจจุบันโครงสร้างภายในของดวงจันทร์เย็นตัวลงเกือบทั้งหมดแล้ว ทำให้ดวงจันทร์เป็นดาวที่ “ตายแล้วในทางธรณีวิทยา” (Geologically Dead) เพราะไม่มีปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาใด ๆ เกิดขึ้นบนผิวดวงจันทร์อีกแล้ว นอกจากนี้การที่ภายในเย็นตัวลงยังส่งผลให้ดวงจันทร์ไม่มีสนามแม่เหล็กเลยทีเดียว
     มนุษย์สามารถเดินทางไปลงดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 โดยยานอะพอลโล 11 (Apollp) ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1969 – 1972 โครงการอะพอลโลได้ส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์อีก 5 ลำ โดยแต่ละลำมีนักบินอวกาศ 2 คน ที่ลงไปปฏิบัติภารกิจบนผิวดวงจันทร์ ปัจจุบันจึงมีมนุษย์ทั้งสิ้น 12 คน ที่ได้ไปเยือนดวงจันทร์

 

:: ข้อมูลจำเพาะ ::

ระยะห่างจากดวงอาทิตย์
149,597,890 ก.ม.
1 A.U.
หมุนรอบตัวเอง
0.99726968 วัน
หมุนรอบดวงอาทิตย์
0.99997862 ปี
เส้นผ่านศูนย์กลาง
12,756.28 ก.ม.
มวล
5.9742 × 1024 ก.ก.
ความหนาแน่น
5515 ก.ก./ม3
ความเร่งที่พื้นผิว
980 ซ.ม./วินาที2
ความเร็วเฉลี่ย
29.7859 ก.ม./วินาที
ความเร็วการผละหนี
11.18 ก.ม./วินาที
ความรีของวงโคจร
0.01671022
ความเอียงระนาบวงโคจร
0.00005 องศา
ความเอียงของแกนหมุน
23.45 องศา
อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ย
288 - 293 เคลวิน
อุณหภูมิชั้นบรรยากาศ
288 เคลวิน
ก๊าซในชั้นบรรยากาศ
Nitrogen (N2) 78%
Oxygen (O2) 21%
Argon (Ar) 1%
ดาวบริวาร
1. The Moon
กลับขึ้นด้านบน


จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 08 พฤศจิกายน 2549

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com
Copyright(c) 2006 www.thaigoodview.com. All rights reserved.