มารู้จักกับเรื่องราวของวรรณคดี

รูปภาพของ bcskrumai

           ๓. ความกล้าหาญ โดยธรรมชาติของผู้หญิงนั้น มักจะเป็นเพศที่อ่อนแอ หวาดระแวง ไม่เด็ดขาด ไม่ค่อยกล้าที่จะตัดสินใจตามลำพัง อย่างไรก็ตามหากมีการกล่าวกันว่า “อยุธยาไม่สิ้นคนดี”แล้ว ในงานวรรณคดีย่อมต้องไม่ขาดสตรีผู้กล้าหาญ ซึ่งนางในวรรณคดีส่วนใหญ่แล้วแต่ละนางก็มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น

          นางสุวรรณมาลี เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญไม่เกรงกลัวที่จะต้องออกไปทำศึก ความกล้าหาญของนางเห็นได้ชัดเจนมากในตอนที่มีศึกเก้าทัพมาตีเมืองผลึก ซึ่งขณะนั้นพระอภัยมณีก็หลงรูปนางละเวงอยู่ นางก็ไม่เกรงกลัวที่จะออกไปสู้รบเพื่อปกป้องบ้านเมืองของนาง แม้กระทั่งนางถูกธนูบาดเจ็บ นางก็ยังคงต้องการช่วยต้านทัพโดยที่ไม่ได้คิดถึงชีวิตตนแม้แต่น้อย ซึ่งความกล้าหาญของนางสุวรรณมาลีนั้นทำให้เห็นได้ว่า ผู้หญิงไม่ใช่เป็นเพียงเพศที่อ่อนแอ แต่ผู้หญิงเข็มแข็งกล้าหาญไม่แพ้ชายเช่นกัน
          นางละเวง ก็มีลักษณะคล้ายกับนางสุวรรณมาลี คือมีความกล้าหาญในการยกทัพต่อสู้ศัตรู นางสู้รบอย่างองอาจกล้าหาญไม่แพ้ชาย เช่น ครั้งหนึ่งนางละเวงพบโจรป่ากลุ่มใหญ่ถึงสามพันกว่าคน นางก็สู้กับโจรด้วยตัวคนเดียวอย่างกล้าหาญ โดยใช้เกาทัณฑ์ยิงได้แม่นมากเพราะฆ่าโจรได้ทุกดอก 
"นางกษัตริย์กวัดแกว่งพระแสงสู้      ถูกต้องหมู่โจรป่าแทบอาสัญ

ลงรวนเรเหหันพัลวัน                            นางซ้ำฟันฟาดตายกระจายไป"

ความกล้าหาญของนางละเวงก็เป็นประการหนึ่งที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เพราะบุคคลที่กล้าหาญย่อมเป็นที่ยกย่องชื่นชมของคนทั่วไป และยังประสบความสำเร็จในชีวิต

           นางสีดา เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญแตกต่างจากนางสุวรรณมาลีและนางละเวง กล่างคือนางสีดายอมลุยไฟ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนว่าไม่ได้นอกใจพระราม ทั้งนี้เพราะนางเชื่อมั่นในความถูกต้อง กล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะพิสูจน์ความจริงเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของตน
๔. ความรักนวลสงวนตัว ลักษณะของหญิงไทยที่แตกต่างจากชนชาติอื่นซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความรักสงวนตัว ความเป็นกุลสตรีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ผู้หญิงมักจะเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ค่อยได้พบปะพูดคุยกับผู้ชาย แม้ว่าระยะหลังสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งผู้หญิงนั้นจะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ความเป็นกุลสตรีและรักนวลสงวนตัวก็ยังคงอยู่ นางในวรรณคดีเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น

          นางบุษบา แม้ว่านางจะมีใจให้อิเหนาอยู่แล้วแต่เมื่อถูกลักพามาอยู่ในถ้ำ นางก็หาได้แสดงความยินดีไม่ เพราะนางต้องการให้อิเหนาทำตามประเพณีให้ถูกต้อง จึงพยายามบอกอิเหนาให้พานางกลับเมืองแล้วค่อยมาสู่ขอตามประเพณีเสียก่อน แสดงถึงความเป็นคนรักนวลสงวนตัว และรักศักดิ์ศรีของตนเอง
นางสุวรรณมาลี เป็นหญิงที่มีความรักนวลสงวนตัว นางไม่ยอมตกเป็นชายาของพระอภัยมณีโดยง่าย นางจะไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สตรีทุกคนพึงมี เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง ดังจะเห็นได้จากที่นางใช้อุบายต่าง ๆหลอกพระอภัยมณี
๕. ความรัก

ความรักนั้นมีหลายแบบ อาจเป็นความรักที่มีต่อสามี พี่น้อง หรือลูก ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ภาพรวมของความรักนั้นโดยมากแล้วเป็นความรักที่เกิดจากความผูกพัน ความห่วงใย และมีความปรารถนาดีต่อกัน และความรักเหล่านี้เองก็ตราตรึงอยู่ในจิตใจของคนที่มีความรู้สึกรักตราบนานเท่านาน ซึ่งเราสามารถพบได้จากนางในวรรณคดี โดยแต่ละคนล้วนมีจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความรู้สึกที่ลึกซึ้งที่มีต่อคนที่นางรักนั่นเอง

           ความรักและความซื่อสัตย์ที่มีต่อสามี/คนรัก

           นางวันทอง เป็นคนที่มีความรักและความซื่อสัตย์ต่อสามี เห็นได้จากเมื่อนางทราบข่าวว่าขุนแผนเสียชีวิตในสนามรบ แม่ของนางบังคับให้แต่งงานกับขุนช้างแต่นางวันทองไม่ยินยอมเพราะยึดมั่นในความซื่อตรงต่อสามี แต่เมื่อนางต้องตกเป็นภรรยาของขุนช้าง นางก็ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เข่น การดูแลสามี ดูแลความเรียบร้อยต่างๆในบ้าน

          ความรักของนางบุษบาที่มีต่ออิเหนา เป็นความรักที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดี ดังที่นางได้พยายามจะสงวนตัวไว้เพื่ออิเหนาหลังจากที่ตกเป็นภรรยาของอิเหนาแล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของภรรยา และแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนรักเดียวใจเดียวของนางบุษบา

         การรักและเคารพสามี เป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้หญิง เพราะสามีจะเป็นคนช่วยปกป้องดูแลและเลี้ยงดูภรรยา นางสุวรรณมาลีก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง ดังเห็นได้จากการที่นางขอออกบวชตามพระอภัยมณี

“ขอตามติดคิดคุณพระมุนี      เป็นหลวงชีปรนนิบัติด้วยศรัทธา

พอประโยชน์โพธิคุณประการใด     จะตามใต้บาทาสารพัน”

          นางสีดารักพระรามเป็นอย่างมาก นางซื่อสัตย์และมั่นคงต่อสามี ไม่คิดเป็นอื่น เนื่องจากนางสีดาเป็นหญิงรูปงาม กริยางาม ย่อมเป็นที่มายปองของผู้ชายมากมาย ถึงแม้ว่านางจะเป็นพระมเหสีของพระราม นางก้ยังมีชายอื่นมาแย่งชิงแต่นางก็ไม่สนใจชายเหล่านี้ แม้ว่านางจะตกไปอยู่ในมือของทศกัณฐ์ นางก็ไม่เคยยอมเป็นของทศกัณฐ์ ยามที่พระรามตกที่นั่งลำบากนางก็ขอให้พระลักษณ์ไปช่วย กลอนที่เห็นถึงความรักของนางที่มีต่อพระราม

“แม้นตายเสียดีกว่าจากพราก         พระภัสดาธิราชรังสรรค์

จะตามไปที่ในอารัญ                         กว่าชีวันจะม้วยมรณา”

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่นางได้ตกหลุมรักกามนิต นางวาสิฏฐีก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจตลอดมา ตั้งแต่ทุกข์ใจที่ไม่ทราบว่ากามนิตเป็นใคร เศร้าโศกเมื่อกามนิตจากไป และทุกข์หนักที่สุดเมื่อทราบว่ากามนิตได้ตายเสียแล้ว แค้นใจที่ถูกสาตาเคียรหลอก และจนถึงกับป่วยเป็นไข้ด้วยพิษรักนั้น จนเมื่อนางสลัดความรักได้ นางจึงก้าวเข้าไปสู่นิพพานในที่สุด
ความรักระหว่างพี่น้อง

ความรักและความผูกพันระหว่างนางบุษบากับวิยะดา ที่แม้จะไม่ได้เป็นพี่น้องกันจริงๆแต่ก็รักสนิทสนมกัน เมื่อนางต้องไปอยู่ในถ้ำที่อิเหนาจัดไว้ ก็ยังคงคิดถึงวิยะดาและให้พาวิยะดามาอยู่ด้วย แสดงให้เห็นถึงความรักที่แน่นแฟ้นซาบซึ้งไม่แพ้ความรักระหว่างหญิงชาย
      ความรักและความห่วงใยที่มีต่อลูก

นางสีดารักพระมงกุฏและพระลบซึ่งเป็นลูกของนางสีดา ในเวลานั้นแม้นางจะประสบความยากลำบาก นางไม่เคยทอดทิ้งลูก คอยดูแล เอาใจใส่และเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา ดังคำกลอนที่ว่า
“ ครั้นถึงจึ่งให้เสวยนม        เชยชมด้วยความพิสมัย

แสนรักสุดรักดั่งดวงใจ                 ในสองโอรสยิ่งนัก”

สร้างโดย: 
Krumai

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 254 คน กำลังออนไลน์