อารยธรรมอินเดียโบราณ

Ancient India Civilization

 

ขอขอบคุณ ภาพสวยๆ จาก  http://images.north40commerce.com/TheAncientWeb/pop/9788854401679.jpg 

 

 

สมัยคุปตะ

        ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชและพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะได้ทรงรับนับถือพุทธศาสนานิยายหินยาน และมหายานตามลำดับ และได้ทรงเผยแพร่พุทธศาสนาออกไปตามส่วนต่างๆของโลก ในระยะที่พุทธศาสนารุ่งเรือง ลัทธิฮินดูหมดความสำคัญลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นมีการฟื้นฟูลัทธิฮินดูขึ้นมาใหม่ มีการปรับปรุงเกี่ยวกับพิธีและการปฏิบัติบางประการให้รัดกุมขึ้นกว่าเก่า ระยะที่มีการฟื้นฟูลัทธิฮินดู เรียกว่าสมัยฮินดูใหม่ เป็นสมัยที่ราชวงศ์คุปตะได้ปกครองส่วนใหญ่ของอินเดีย

ราชวงศ์คุปตะ (Gupta ค.ศ. 320-535) ได้ปกครองอินเดียและสถาปนาอาณาจักรของราชวงศ์คุปตะขึ้นภายหลังที่ราชวงศ์กุษาณะเสื่อมลงในระยะ ค.ศ. 220 เริ่มด้วย พระเจ้าจัทรคุปต์ที่1(ค.ศ.320-330) ได้สถาปนาพระองค์เองเป็นผู้ครองบริเวณลุ่มแม่น้ำคงคา ในพิธีบรมราชาภิเษกได้โปรดให้ออกเหรียญที่ระลึกประทับตราราชวงศ์เรียกว่า คุปตะ

          โอรสของจันทรคุปต์ที่1 คือ พระเจ้าสมุทรคุปต์ (ค.ศ.330-375) ได้แผ่อาณาจักรออกไปทางเหนือจรดภูเขาหิมาลัย และทางใต้จรดแม่น้ำนาร์บัด และยังได้ปราบปรามพวกกลิงค์และพวกปัลวะลงไปจนใต้สุดของอินเดีย

             โอรสของพระเจ้าสมุทรคุปต์ คือจันทรคุปต์ที่สอง หรือพระเจ้าวิกรมาทิตย์ (ค.ศ.375-415) ได้ทำการขยายอาณาเขตออกไปทางภาคตะวันตก ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของอินเดีย ได้รับสมญาว่าเป็นองค์อุปถัมภ์การเล่าเรียนศิลปวิทยาการ ศักราชฮินดูหรือศักราชวิกรมซึ่งตั้งต้นในปี 58 ก่อนคริสต์กาล ก็ได้ตั้งขึ้นโดยใช้พระนามพระองค์ ในรัชสมัยของพระเจ้าวิกรมทิตย์ ได้มีบาทหลวงจีนรูปหนึ่งชื่อฟาเหียน(Fahien) เดินทางเข้าไปใน อินเดีย ลังกา ชวา ได้เขียนพรรณนาความเจริญในอินเดีดยสมัยพระเจ้าจัทรคุปต์ที่2ว่า พลเมืองร่ำรวยมีความสุข ตามเมืองต่างๆมีสุขศาลาหลายแห่งทำการแจกอาหารและยาให้แก่คนจนโดยไม่คิดเงินไม่มีคนดื่มสุรายาเมาหรือเครื่องเสพติด ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ โทษทางอาญาไม่มี การลงโทษทางกาย แต่ปรับด้วยเงิน
             ในสมัยนี้วรรณคดีและศิลปกรรมเฟื่องฟูมาก ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีสันสกฤต กวีที่มีชื่อ กาลิทาส แต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนและบทละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของกาลิทาส คือเรื่องศกุนตลา
           ในสมัยนี้ความเจริญไม่จำกัดอยู่เฉพาะศิลปะและวรรณคดี วิทยาการแขนงอื่นๆก็ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากมาย ศูนย์กลางการศึกษาวิทยาการอยู่มหาวิยาลัยนาลันทา นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคือ อารยภตา(Aryabhata) ศึกษาทางด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในแขนงวิชาเคมี ก็มีการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง การประดิษฐ์คิดค้นหลายอย่างของนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียในยุคนี้ เช่นการทำสบู่และซีเมนต์ และการประดิษฐ์สิ่งอื่นอีกหลายอย่างชาวอาหรับได้รับไปจากอินเดีย แพทย์ในสมัยราชวงศ์คุปตะได้รับการยกย่องว่ามีวิธีการและเทคนิคสูงในการรักษาโดยเฉพาะในการผ่าตัด มีการรักษาความสะอาดและป้องกันเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด การใช้ยาประเภทต่างๆ ก็นับว่าก้าวหน้า แพทย์อินเดียรู้จักใช่ยาหลายขนานก่อนชาวยุโรป และยาบางชนิดยังคงใช้รักษาโรคมาจนปัจจุบัน
            ศิลปกรรมที่ขึ้นชื่อในสมัยนี้ คือ การสร้างพระพุทธรูป ซึ่งทำได้ส่วนสัดงดงามมาก พระพุทธรูปสมัยคุปตะ ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากที่สุดสมัยหนึ่งของอินเดีย
            จิตรกรรมที่ขึ้นชื่อ คือ ภาพเขียนที่ถ้ำอชันตา (Ajanta) ซึ่งเป็นสังฆารามอยู่ทางภาคกลางของอินเดียเป็นภาพวาดตามอุดมคติมีความงามอย่างลึกซึ้ง ภาพชิ้นเอก คือ ภาพธิดาพระยามารและภาพพระโพธิสัตว์ ภาพธิดาพระยามารให้ความรู้สึกสองอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว คือความปรารถนาและความมุ่งหมายไปยังพระพุทธองค์ และการหักห้ามด้วยความละอาย จิตรกรรมแบบเดียวกันนี้ ที่ให้ความรู้สึกซาบซึ้งในความงามอย่างแท้จริง ยังพบในที่อื่นๆทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของอินเดีย และที่ขึ้นชื่อมากคือ ที่เขาสีกิริยะ(Sigiriya) ในเกาะลังกา
            รัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่2 สิ้นสุดลงใน ค.ศ.413 หลังจากนั้นอาณาจักรของราชวงศ์คุปตะก็เริ่มแตกแยก ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 พวกฮั่นได้เข้ามารุกรานทางแคว้นปัญจาบ ซึ่งตรงกับสมัยเดียวกับที่ อัตติลา เข้ารุกรานยุโรป พวกฮั่นได้ปกครองเฉพาะบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ส่วนบริเวณตอนเหนือและลุ่มแม่น้ำคงคา เจ้าอินเดียได้แบ่งแยกกันปกครองเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย บางครั้งก็ทำการรบพุ่งกัน
    แหล่งอ้างอิง ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน.ประวัติศาสตร์ยุคโบราณ.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด,2518.