user warning: Duplicate entry '536306482' for key 'PRIMARY' query: INSERT INTO accesslog (title, path, url, hostname, uid, sid, timer, timestamp) values('ผลการจัดประสบการณ์ โดยใช้สมุดภาพสามมิติ ชุด สวนสัตว์หรรษา ที่มีต่อความสามารถในการใช้ภาษาด้านการฟังและการพูด สำหรับเด็กปฐมวัย ', 'node/115687', '', '18.221.236.224', 0, '384ee9c0d2d8fbb4f169896644ce578d', 546, 1715913770) in /home/tgv/htdocs/modules/statistics/statistics.module on line 63.

กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รูปภาพของ sss27857

ยุคสมัยฟื้นฟูบ้านเมือง

รัชกาลที่1 : ช่วงสร้างเมือง  •รัชกาลที่2 : ยุคทองของศิลปรัตนโกสินทร์  •รัชกาลที่3 : ยุคพ่อค้าวานิช

การเมืองการปกครอง  สภาพสังคมและศาสนา  •เศรษฐกิจ  •กฎหมาย

ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม  •ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  วัดประจำรัชกาลที่ 1-3

► ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีการค้าขายกับต่างประเทศดังนี้

     1.1 การค้ากับประเทศในเอเชีย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการค้าขายส่วนใหญ่ทำกับจีน นอกจากนี้ก็มีชวา สิงคโปร์และอินเดีย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นการค้าสำเภา มีทั้งสำเภาหลวงและสำเภาเอกชน ซึ่งเป็นการค้าที่สำคัญและทำรายได้ให้กับประเทศมาก สำเภาหลวงที่ปรากฏชื่อในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอยู่ 2 ลำ คือ เรือหูสูงและเรือทรงพระราชสาสน์ เรือสำเภานี้ลักษณะแบบจีน ต่อในเมืองไทยใช้ไม้อย่างดี ใช้ลูกเรือเป็นคนจีนทั้งหมด แต่ผู้คุมเป็นคนไทยอยู่ในความดูแลของกรมท่าหรือพระคลังสินค้า
     ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือสำเภาทั้งไทยและจีนติดต่อกับค้าขายกันถึง 140 ลำ สำเภาหลวงที่สำคัญมี เรือมาลาพระนคร และเรือเหราข้ามสมุทร สินค้าออกที่สำคัญได้แก่ ดีบุก งาช้าง ไม้ น้ำตาล พริกไทย รังนก กระดูกสัตว์ หนังสัตว์ กระวาน และครั่ง ส่วนสินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องถ้วยชามสังคโลก ชา ไหม เงิน ปืน ดินปืน กระดาษ เครื่องแก้ว
     นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญและทรงสนับสนุนให้กิจการด้านนี้เจริญก้าวหน้าออกไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งมีพระปรีชาสามารถเรื่องการค้ากับต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชากรมท่า มีการต่อเรือกำปั่น 10 ลำ ลำแรกชื่อ อรสุมพล

เรือสยามอรสุมพล

[ http://www.marinerthai.com/sara/pin006.jpg ]


     ไทยมีการส่งเครื่องบรรณาการแลกเปลี่ยนกับจีนตลอดมา จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า วิธีการนี้จีนจะเข้าใจว่าไทยยอมอ่อนน้อมและตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีน จึงให้ยกเลิกเสีย
     1.2 การค้ากับประเทศตะวันตก ตลอดเวลาที่ไทยติดต่อกับชาติตะวันตกนั้น คนไทยมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจตลอดมา แม้ไทยจะยอมมีสัมพันธไมตรีทางการทูตและการค้า แต่ไทยก็มีเจ้าหน้าที่คอยเข้มงวด และดูแลอย่างใกล้ชิด ในสมัยรัชกาลที่ 2 อังกฤษได้ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นทูตเข้ามาเจรจาเรื่องการค้ากับไทย พยายามให้ไทยยกเลิกการผูกขาดของพระคลังสินค้า ให้ไทยจัดระบบการเก็บภาษรีขาเข้าและขาออกให้แน่นอน แต่ไม่สำเร็จ

รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ  แบ่งออกเป็น

     2.1 การค้าสำเภาหลวง  ซึ่งมีพระคลังสินค้ารับผิดชอบในการแต่งสำเภาหลวงไปค้าขายกับจีน  และประเทศใกล้เคียง  เช่น เขมร  ญวน  และ

มลายู

     2.2 กำไรจากการผูกขาดการค้าของพระคลังสินค้า  ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง

     2.3 ภาษีปากเรือหรือเบิกร่อง  เป็นค่าธรรมเนียมซึ่งเก็บจากเรือสินค้าของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของไทย  โดยคิดตามขนาด

ความกว้างของปากเรือ หรือยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามา

     2.4 ภาษีสินค้าขาเข้า  เก็บจากสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย  ซึ่งเก็บไม่แน่นอน  เช่นในสมัยรัชกาลที่ 2 เรือสินค้าของชาวจีนเสีย

ภาษีขาเข้าร้อยละ 4  ถ้าเป็นเรือสินค้าของชาติตะวันตกเสียร้อยละ 8

     2.5 ภาษีสินค้าขาออก  เก็บจากสินค้าที่ส่งออกในอัตราที่ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า

รายจ่ายที่สำคัญของรัฐบาลที่สำคัญๆ ได้แก่

     1. รายจ่ายเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและพระมหากษัตริย์  ได้แก่  รายจ่ายทางด้านกองทัพ  กิจการทหาร  อาวุธ  เสบียงอาหาร  การสร้างป้อมปราการ  ความมั่นคงในพระราชวังและพระราชพิธีต่างๆ

     2. รายจ่ายเพื่อบริหารงานราชการทั่วไป  เช่นเบี้ยหวัดขุนนาง  ค่าจ้าง  ซื้อวัสดุใช้ในราชการ

     3. รายจ่ายทางด้านศาสนา  เช่น สร้างวัด  ซ่อมแซมวัด

     4. รายจ่ายทางด้านสังคมสงเคราะห์  เช่น การช่วยเหลือราษฎร  เมื่อได้รับความอดอยาก  ประสบภัยธรรมชาติ  หรือเกิดโรคระบาด

     5. รายจ่ายเพื่อการลงทุน  เช่น การลงทุนทำธุรกิจค้าขาย

     โดยปกติแล้วรัฐบาลมักจะมีรายรับมากกว่ารายจ่าย  ยกเว้นบางปีมีรายจ่ายสูง  เนื่องจากเกิดศึกสงครามกับพม่า  หรือเกิดกบฏของประเทศราช

พม่า

     การติดต่อสัมพันธ์กับประเทศพม่า เป็นไปในลักษณะของการทำสงครามต่อกัน  โดยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยทำสงครามกับพม่า รวม 10 ครั้ง  ในรัชกาลที่ 1 มีถึง 7 ครั้ง  เนื่องจากพระเจ้าปะดุง กษัตริย์ของพม่าเห็นว่าไทยกำลังก่อตั้งอาณาจักรใหม่  ในที่นี้จะขอนำรายละเอียดของสงครามที่มีความสำคัญมาให้ศึกษา ได้แก่
           สงครามเก้าทัพ (พ.ศ. 2338)
     สงครามครั้งนี้  มีขึ้นหลังจากพระเจ้าปะดุง (โบดอพญา) ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้ 4 ปี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้ 3 ปี  โดยทางฝ่ายพม่า (พระเจ้าปะดุง) มีเหตุผลทรงต้องการแผ่อำนาจครอบคลุมดินแดนสุวรรณภูมิ และทำลายอาณาจักรไทย ไม่ให้เติบโตเป็นอาณาจักรใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้อีก
     ยุทธวิธีของฝ่ายพม่า
     พระเจ้าปะดุงจัดทัพเป็น 9 ทัพ หวังจะให้กองทัพเหล่านี้ รุกเข้าทำลายหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่เหนือจดใต้ แล้วบรรจบกันเข้าตีกรุงเทพมหานคร ตามยุทธวิธีดั้งเดิมที่เคยใช้ได้ดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ซึ่งทัพพม่าทั้ง 9 ทัพ มีดังนี้
               ทัพที่ 1  แบ่งเป็นทัพบกและทัพเรือ ทัพบกมีหน้าที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้  ตั้งแต่เมืองชุมพรถึงสงขลา เป็นการตัดความช่วยเหลือจากทางใต้ ส่วนทัพเรือมีหน้าที่ตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าลงไปจนถึงเมืองถลาง และยังมีหน้าที่หาเสบียงอาหารให้แก่กองทัพด้วย
               ทัพที่ 2  ให้รวบรวมพลที่ทวายและให้เดินทัพเข้าทางด่านบ้องตี้ (อยู่ที่จังหวัดราชบุรี) ให้ตีเมืองราชบุรี เพชรบุรี ไปบรรจบกับทัพที่ 1 ที่ชุมพร
               ทัพที่ 3  เข้ามาทางเมืองเชียงแสน  ตีเมืองลำปาง  สวรรคโลก  สุโขทัย  นครสวรรค์  ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
               ทัพที่ 4 ,5,6,7,8  ชุมนุมทัพที่เมืองเมาะตะมะก่อน  ต่อจากนั้นจึงเดินทัพตามลำดับกันเข้าเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ลงมาตีกรุงเทพฯ
               ทัพที่ 9  มีหน้าที่ตีหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำปิง  ตั้งแต่เมืองตาก  กำแพงเพชร  ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
     ยุทธวิธีฝ่ายไทย
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่ 1  ทรงเห็นว่าสงครามคราวนี้พม่ามีรี้พลมากกว่าไทยมาก  ยกมาทุกทิศทุกทาง  แต่จุดประสงค์ก็คงจะต้องเข้าตีกรุงเทพมหานครในที่สุด  หากรอรับศึกในกรุง จะรักษากรุงไว้ไม่ได้ เพราะกำลังน้อยกว่า  จึงเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ไม่ตั้งรับในกรุงเหมือนที่เคยทำในสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ให้จัดทัพออกไปรับมือข้าศึก  ไม่ให้มีโอกาสเข้าประชิดกรุง  แต่จะแบ่งกำลังของไทยออกไปรับศึกทุกจุดไม่ได้ จะต้องโจมตีเฉพาะจุดที่สำคัญก่อน เมื่อชนะแล้วจึงค่อยนำกำลังไปโจมตีจุดอื่น ๆ ต่อไป จนกว่าจะทำลายทัพพม่าได้หมดสิ้น  การจัดทัพตามยุทธวิธีนี้  ไทยจัดทัพเป็น 4 ทัพ  ดังนี้
               ทัพที่ 1 (กองทัพวังหน้า)  รับผิดชอบทิศตะวันตก  กรมพระราชวังบวรฯ  เป็นแม่ทัพยกไปโจมตีพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ (จังหวัดกาญจนบุรี)  ทัพวังหน้านี้ เป็นทัพใหญ่ที่สุดของไทย เพราะคาดว่าพระเจ้าปะดุงจะยกทัพหลวงหนุนเนื่องเข้ามาด้านนี้
               ทัพที่ 2 (กองทัพวังหลัง)  รับผิดชอบทิศเหนือ  กรมพระราชวังหลังฯ  ขณะยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์เป็นแม่ทัพ  ยกไปโจมตีทัพพม่าซึ่งจะมาจากทางเหนือที่เมืองนครสวรรค์ สกัดไม่ให้ยกมาถึงกรุงเทพฯ ได้
               ทัพที่ 3 รับผิดชอบทิศใต้  เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด)  เป็นแม่ทัพร่วมกับเจ้าพระยายมราช มีหน้าที่ช่วยกันโจมตีทัพพม่าที่จะยกมาทางใต้ และทางด่านบ้องตี้ (จังหวัดราชบุรี)
               ทัพที่ 4 (ทัพหลวง)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงเป็นจอมทัพ ตั้งมั่นอยู่ ร กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นกองหนุน ศึกหนักด้านใดจะยกไปช่วยด้านนั้น
     สงครามครั้งนี้ แม้ว่ากำลังฝ่ายไทยจะน้อยกว่าพม่า  แต่อาศัยที่มีผู้นำดีมีความสามารถ ทหารจึงมีกำลังใจเข้มแข็งในการสู้รบ  ประกอบกับทหารไทยส่วนใหญ่ได้ผ่านศึกในสงครามกู้ชาติเมื่อครั้งกรุงธนบุรีมาแล้ว จึงมีความพร้อม สามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไปทุกทัพ
     ผลของสงคราม 9 ทัพ ทำให้เกิดวีรสตรีไทย 2 ท่าน ที่สามารถรักษาและป้องกันเมืองถลาง มิให้ตกไปเป็นของพม่า คือ คุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองถลาง และนางมุก น้องสาว  เมื่อเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว  ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบ คุณหญิงจันได้เป็นท้าวเทพกระษัตรี และนางมุก ได้เป็นท้าวศรีสุนทร

สงคราม 9 ทัพ

     จากการพ่ายแพ้ในสงคราม 9 ทัพ ทำให้พระเจ้าปะดุง รู้สึกอัปยศอดสูมาก  จึงได้ยกทัพมาตีไทยอีกในปี พ.ศ. 2329 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเป็นครั้งที่สอง การได้ชัยชนะของไทยครั้งนี้ เป็นชัยชนะที่เด็ดขาด
     สงครามอันยืดเยื้อระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากพม่ามีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดนกับเขตแดนอินเดียของอังกฤษ จนเกิดสงครามครั้งแรก ในพ.ศ. 2367-2369  ตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทย  พม่าเป็นฝ่ายปราชัย ต้องเสียดินแดนหัวเมืองมอญตั้งแต่เมาะตะมะ  เมาะลำเลิง  และตะนาวศรี เสียดินแดนยะไข่  อัสสัม  และเงินค่าปรับ 1 ล้านปอนด์ให้แก่อังกฤษ  พม่าจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ กองทัพพม่าจึงไม่สามารถที่จะยกทัพมาตีกรุงเทพมหานครได้อีกเลย

อาณาจักรลาว

     ลักษณะของอาณาจักรลาว แยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่  ลาวตอนเหนือมีศูนย์กลางอยู่ที่หลวงพระบาง  ลาวตอนล่างมีศูนย์กลางอยู่ที่จำปาศักดิ์ และลาวตอนกลางมีศูนย์กลางอยู่ที่เวียงจันทน์  แต่ละเมืองมีอำนาจปกครองตนเอง และตกอยู่ใต้อำนาจของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี
     ถึงรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนไปปกครองเวียงจันทน์ และได้พระราชทานพระพุทธรูป "พระบาง" ที่ยึดมานั้นคืนไปด้วย (แต่พระแก้ว ยังคงรักษาไว้ที่กรุงเทพฯ จนทุกวันนี้)  ต่อมาเจ้านันทเสนเป็นกบฎ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงให้นำไปประหารชีวิต และให้เจ้าอินทร์ปกครองแทน เมื่อเจ้าอินทร์ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอนุวงศ์ครองเมืองเวียงจันทน์
     ถึงรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เจ้าเมืองจำปาศักดิ์เป็นกบฎ เจ้าราชบุตร ซึ่งเป็นราชบุตรของเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพไปปราบได้สำเร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตรเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ทำให้เจ้าอนุวงศ์มีกำลังกล้าแข็ง เพราะควบคุมได้ทั้งลาวตอนกลางและลาวตอนใต้
     ถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีข่าวลือว่าไทยขัดใจกับอังกฤษ  เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาส จึงยกทัพเข้ามาตึดินแดนของไทย ขณะที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ถึงเมืองนครราชสีมานั้น ปลัดเมืองนครราชสีมาติดราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  จึงยึดได้โดยง่ายและกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สินต่าง ๆ ไปเป็นเชลย  แต่ระหว่างทางที่พักอยู่ ณ ทุ่งสำริด  คุณหญิงโม ภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา ออกอุบาย เลี้ยงสุราอาหารแก่นายทหาร ไพร่พลลาว พอได้โอกาสชายหญิงชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยก็ลุกขึ้นใช้อาวุธมีดทำครัว และไม้หลาว ไม้พลอง จู่โจม ฆ่าฟันทหารลาวโดยไม่ทันรู้ตัวบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก จึงแตกทัพหนีไป

คุณหญิงโม

     วีรกรรมของคุณหญิงโมครั้งนี้  ภายหลังเมื่อเสร็จศึกแล้ว  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นท้าวสุรนารี
เมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายกลับไปแล้ว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และจับเจ้าอนุวงศ์มาจำกัดที่กรุงเทพมหานคร หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ประชาชนไทยพากันสาปแช่งเจ้าอนุวงศ์ทนอยู่ได้ 7-8 วัน ก็ป่วยตาย เป็นอันสิ้นสุดกบฎครั้งสำคัญของอาณาจักลาว

เขมร

     เขมรตกเป็นประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่คราวใดที่ไทยประสบกับปัญหาภายในราชอาณาจักร เขมรมักจะตั้งตนเป็นอิสระไม่ยอมอ่อนน้อมต่อไทย
     ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ไทยสามารถปกครองเขมรได้อีก โดยแบ่งเขมรเป็น 2 ส่วน  ให้เจ้านายเขมรปกครองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง คือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ขุนนางไทยปกครอง
     ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมร เสื่อมลงเรื่อยมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ญวน เข้าแทรกแซงเขมร ทำให้ไทยกับญวนต้องทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงดินแดนเขมร ส่วนเขมรต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งฝ่ายไทยและญวนในเวลาเดียวกัน

ญวน

     สมัยรัชกาลที่ 1 เกิดกบฎไตเซินขึ้นในญวน  เจ้านายญวนองค์หนึ่ง คือ องเชียงสือ ได้หนีเข้ามาพึ่ง  และได้รับการชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี  ไทยได้ส่งกองทัพไปช่วยปราบกบฎในญวนแต่ไม่สำเร็จ องเชียงสือจึงหนีไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส และได้กลับไปเป็นกษัตริย์ในญวน ทรงพระนามว่า พระเจ้ายาลอง  ตลอดรัชกาลของพระเจ้ายาลอง ญวนขอเป็นไมตรีกับไทย
     สมัยรัชกาลที่ 2 ญวนเริ่มเข้าแทรกแซงเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย
     สมัยรัชกาลที่ 3 ญวนได้สนับสนุนให้เจ้าอนุวงศ์แห่งอาณาจักรลาว ก่อกบฎต่อไทย  นอกจากนี้ ญวนยังขัดแย้งกับไทย ในเรื่องปัญหาการเมืองในเขมร ทำให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับญวนเป็นเวลานานถึง 15 ปี จนในที่สุดเลิกรากัน เมื่อญวนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

ล้านนาไทย

     ล้านนาไทย ประกอบด้วยเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ฝาง น่าน เชียงแสน และหัวเมืองเล็ก ๆ ทางภาคเหนือของไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ล้านนาอยู่ในฐานะประเทศราชของไทย มีหน้าที่ช่วยราชการสงครามตามที่ไทยกำหนด และส่งเครื่องราชบรรณาการ ให้กรุงเทพมหานคร 3 ปี ครั้งหนึ่ง

หัวเมืองมลายู

     หัวเมืองมลายู ได้แก่ ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู  อยู่ในฐานะประเทศราชของไทย ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-2-3 มีการก่อกบฎในหัวเมืองมลายู หลายครั้ง แต่ไทยก็สามารถปราบได้ทุกครั้ง

โปรตุเกส

     โปรตุเกส เป็นฝรั่งชาติแรกที่ติดต่อกับไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     สมัยรัชกาลที่ 1 โปรตุเกสได้ส่ง อันโตนิโอ เดอวิเสนท์ เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์นมาเป็นไมตรีกับไทย
     สมัยรัชกาลที่ 2 ข้าหลวงโปรตุเกสที่มาเก๊าได้ส่ง  คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นทูต อัญเชิญพระราชสาส์น และนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายรัชกาลที่ 2
     ถึง พ.ศ. 2363 กษัตริย์โปรตุเกสมีพระราชประสงค์จะขอตั้งสถานกงสุลขึ้นในประเทศไทย และขอให้คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นกงสุลโปรตุเกสประจำประเทศไทย ซึ่งไทยก็ยอมรับแต่โดยดี  ซึ่งนับว่าเป็นการตั้งสถานกงสุลต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา รับราชการเป็นขุนนาง พระราชทานตำแหน่งให้เป็น หลวงอภัยพานิช

อังกฤษ

     ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระยาไทรบุรี คือ อับดุลละ โมกุรัมซะ  ตกลงเซ็นสัญญาให้อังกฤษเช่า เกาะหมาก (ปีนัง) และสมารังไพร  ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ตรงข้ามเกาะหมาก ปีละ 1,000 เหรียญ ซึ่งดินแดนเหล่านี้อยู่ในความดูแลของไทย  เหตุที่พระยาไทรบุรี ให้อังกฤษเช่าดินแดนทั้งสองนี้ ก็เพื่อหวังพึ่งอังกฤษให้พ้นจากอิทธิพลของไทย  แต่อังกฤษก็พยายามผูกไมตรีกับไทย  โดยให้ ฟรานซิส ไลท์ หรือ กัปตันไลท์  นำดาบประดับพลอยกับปืนด้ามเงินมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1  จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า  พระยาราชกปิตัน ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่เข้ารับราชการเป็นขุนนาง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
     ในสมัยรัชกาลที่ 2 ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดีย  สง จอห์น  ครอว์ฟอร์ด  คนไทยเรียกว่า  การะฟัด  มาขอเจรจาทำสนธิสัญญาการค้ากับไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
          1.  ทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจภาษากันดีพอ  ต้องใช้ล่ามแปลกันหลายต่อ
          2.  ครอว์ฟอร์ด ไม่พอใจที่ไทยไม่ยอมอ่อนน้อม่ต่ออังกฤษ  ส่วนไทยไม่พอใจอังกฤษที่แสดงท่าทางเย่อหยิ่งข่มขู่ดูหมิ่นไทย
          3.  ไทยไม่ยอมตกลงปัญหาดินแดนไทรบุรี ที่อังกฤษขอร้อง
          4.  ไทยไม่พอใจที่อังกฤษ มาทำการสำรวจระดับน้ำตามปากอ่าวไทยเพื่อทำแผนที่
     ในสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษ ได้ส่ง  ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย ซึ่งคนไทยเรียกว่า บารนี  เป็นทูตเข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญากับไทย  การเจรจาครั้งนี้สามารถตกลงกันได้  จึงมีการลงนามกันในวันที่ 20 มิถุนายน  2369

สนธิสัญญาเบอร์นี

     สนธิสัญญาเบอร์นีฉบับนี้  นับเป็นสนธิสัญญาโดยสมบูรณ์ฉบับแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  เรียกกันโดยทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบอร์นี  มีสาระสำคัญ ดังนี้
          (1)  ไทยกับอังกฤษจะมีไมตรีอันดีต่อกัน ไม่คิดร้ายหรือรุกรานดินแดนซึ่งกันและกัน
          (2)  เมื่อเกิดคดีความขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทย  ก็ให้ไทยตัดสินตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย
          (3)  ทั้งสองฝ่ายจะอำนวยความสะดวกในด้านการค้าซึ่งกันและ และอนุญาตให้ฝ่ายตรงข้ามเช่าที่ดินเพื่อตั้งโรงสินค้า ร้านค้า หรือบ้านเรือนได้
          (4)  อังกฤษยอมรับว่าดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เประ เป็นของไทย
     และมีสนธิสัญญาต่อท้ายเป็นสนธิสัญญาทางการค้า มีสาระสำคัญดังนี้
          (1)  ห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในไทย และห้ามนำข้าวสาร ข้าวเปลือกออกนอกประเทศไทย
          (2)  อาวุธและกระสุนดินดำที่อังกฤษนำมาต้องขายให้แก่รัฐบาลไทยแต่ผู้เดียว  ถ้ารัฐบาลไม่ต้องการต้องนำออกไป
          (3)  เรือสินค้าที่เข้ามาต้องเสียภาษีเบิกร่องหรือภาษีปากเรือ
          (4)  อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษขายสินค้าทั่วราชอาณาจักร
          (5)  ถ้าพ่อค้าหรือคนในบังคับของอังกฤษ พูดจาดูหมิ่นหรือไม่เคารพขุนนางไทย อาจถูกไล่ออกนอกประเทศไทยได้ทันที

     ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษต้องการได้ "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" เหนือดินแดนไทย  ลอร์ด ปาลเมอร์สตัน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ  จึงส่ง  เซอร์  เจมส์ บรูค  เป็นทูตมาขอแก้สนธิสัญญากับไทย ใน พ.ศ. 2393  โดยขอลดค่าภาษีปากเรือ ขอตั้งสถานกงสุลในไทย ขอนำฝิ่นเข้ามาขาย และขอนำข้าวออกไปขายนอกประเทศ  แต่ขณะนั้น รัชกาลที่ 3 กำลังประชวร จึงไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระองค์  สนธิสัญญาเบอร์นีจึงยังมีผลใช้บังคับต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข

สหรัฐอเมริกา

     ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ่อค้าอเมริกัน ชื่อ กัปตันเฮล  เดินทางเข้ามาค้าขายที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2364 นับเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย  และได้นำปืนคาบศิลามาถวายจำนวน 500 กระบอก จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงภักดีราชกปิตัน  และได้พระราชทานสิ่งของให้คุ้มค่ากับราคาปืนทั้งหมด  ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้งดเว้นการเก็บภาษีจังกอบอีกด้วย  หลังจากนั้นประธานาธิบดีแอนดรูว์  แจคสัน ได้ส่งนายเอ็ดมันด์  โรเบิร์ต  คนไทยเรียกว่า  เอมินราบัด  เป็นหัวหน้าคณะทูต  เดินทางเข้ามาขอทำสัญญาการค้ากับไทย  ซึ่งมีใจความทำนองเดียวกับที่ไทยทำกับอังกฤษ  เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2375  ในปี พ.ศ. 2393 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นว่าสัญญาที่ทำกันไว้มิได้เกิดประโยชน์ จึงได้ส่ง นายโจเซฟ  บัลเลสเตียร์  เข้ามาทบทวนสนธิสัญญาเสียใหม่  แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ 

แหล่งอ้างอิง

http://www.ben2.ac.th/SET_1/DATA_1/E_LEARNING/data_el/Bangkok/BK5.htm

http://chiraporn.igetweb.com/index.php?mo=3&art=510928

http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/King/History-R1-3.htm

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 275 คน กำลังออนไลน์