คอมพิวเตอร์สารสนเทศ

เริ่มหน้า 2


บทที่ 2
ข้อมูลและสารสนเทศ

ข้อมูลและสารสนเทศ
นักเรียนคงคุ้นเคยกับคำว่าข้อมูลมานานแล้วในโรงเรียนมีข้อมูลอยู่มากเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน ข้อมูลวิชาเรียน ข้อมูลเกี่ยวกับครูผู้สอน ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนของนักเรียน ในการการดำเนินการต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลเข้ามาใช้ประกอบ
2.1.1 ข้อมูล คือ ข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลข ข้อความ หรือรายละเอียดซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพ เสียง วีดิโอ ข้อมูลคือข้อเท็จจริงของสิ่งที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้นการเก็บข้อมูลจึงเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจึงเป็นการเก็บรวบรวมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสิ่งที่เราสนใจนั่นเอง ข้อมูลจึงหมายถึงตัวแทนของข้อเท็จจริง หรือ ความเป็นไปของสิ่งที่เราสนใจ
อย่างไรก็ดีข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้อาจไม่ให้รายละเอียดทั้งหมด เช่น ข้อมูลของนักเรียนคนหนึ่งที่โรงเรียนได้เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ บ้านเลขที่ ชื่อผู้ปกครอง บิดา มารดา เลขที่ใบสำเนาทะเบียนบ้าน ข้อเท็จจริงที่บันทึกไว้นี้ไม่อาจทำให้รู้จักและเข้าใจนักเรียนผู้นี้ได้อย่างถ่องแท้ เพราะมีข้อมูลอย่างอื่นของนักเรียนที่ไม่ได้บันทึกไว้อีกมากเช่น สีผม สีตา ตำหนิ ความสูง น้ำหนัก อาหารที่ชอบ วิชาที่ชอบฯลฯ
ในการดำเนินการใดๆ จำเป็นต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้ เช่น เมื่อนักเรียนสมัครเข้าโรงเรียนก็บันทึกประวัติไว้ มีการบันทึกการมาเรียนของนักเรียนทุกวัน บันทึกผลการเรียน ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและนำมาใช้ประโยชน์ได้ในภายหลัง
ในการดำเนินการทางธุรกิจจำเป็นต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้ใช้งาน เช่น ร้านค้าแห่งหนึ่งเก็บข้อมูลการขายสินค้าตลอดปีเอาไว้ เขาสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาปริมาณการขายต่อเดือน สินค้าใดขายไม่ดี แนวโน้มการขายเป็นอย่างไร สินค้าตัวใดมียอดการขายดีตามเทศกาล หรือมีผลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
2.1.2 สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่มีความหมายซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นสารสนเทศจึงหมายถึงข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงตามความต้องการของผู้ใช้อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานได้และต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เช่น เมื่อต้องการสารสนเทศไปใช้ในการวางแผนการขายสารสนเทศที่ต้องการก็ควรจะเป็นรายงานสรุปยอดการขายแต่ละเดือนในปีที่ผ่านมา

               ข้อมูล-------------> การประมวลผล -----------------> สารสนเทศ

2.2 ระบบสารสนเทศ
ในองค์การหนึ่ง เช่น โรเรียนแหงหนึ่งมีการจัดข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเหตุการณ์ต่างๆ เป็นรายวัน โดยบันทึกข้อมูลลงแบบฟอร์มต่างๆ และเก็บข้อมูลเป็นแฟ้มในแต่ละเดือนหรือแต่ละภาคการศึกษาจะมีการสรุปข้อมูลเป็นสารสนเทศเพื่อสร้างรายงานเช่นรายงานผลการเรียนของนักเรียนในสมุดรายงานผลการเรียน การดำเนินการเช่นนี้จัดทำอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนการดำเนินงานสารสนเทศจึงเป็นงานระบบที่เรียกว่า ระบบสารสนเทศ การจัดทำสารสนเทศจะทำให้เกิดความรอบรู้ที่จะใช้ช่วยในการตัดสินใจหรือวางแผนในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถแบ่งแยกประเภทสารสนเทศออกตามสภาพความต้องการที่จัดทำขึ้นได้ดังนี้
1. สารสนเทศที่ทำประจำ เป็นสารสนเทศที่จัดทำขึ้นเป็นประจำ และมีการดำเนินการโดยสม่ำเสมอ เช่นการทำรายงานสรุปจำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียนในแต่ละวัน ทำรายงานเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายประจำวันของโรงเรียน การทำรายงานเกี่ยวกับผู้มาติดต่อหรือตรวจเยี่ยมโรงเรียนในแต่ละเดือน
2. สารสนเทศที่ต้องทำตามกฎหมาย ตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศจะมีการให้ทำรายงานส่งเพ่อการต่างๆ เช่นงบดุลของบริษัทที่ต้องทำขึ้น เพ่อยื่นต่อทางราชการและใช้ในการเสียภาษีเป็นต้น
3. สารสนเทศที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ในการดำเนินงานต่างๆบางครั้งจำเป็นต้องทำรายงานข้อมูลมาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ เช่นรัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนอเนกประสงค์จำเป็นต้องได้ข้อมูลเพื่อสนับสนุนว่าจะสร้างดีหรือไม่จึงต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปงานขึ้นเป็นการเฉพาะ แล้วนำสารสนเทศนั้นมาพิจารณาถึ้งข้อดีข้อเสีย เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ การดำเนินงานเพื่อให้ได้สารสนเทศเหล่านี้จึงเป็นงานเฉพาะที่จัดทำเป็นครั้งคราวเฉพาะตามโครงการหนึ่งๆเท่านั้น
2.3 ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศ
ระบบสารสนเทศเป็นงานที่ต้องใช้ส่วนประกอบหลายอย่างในการทำให้เกิดเป็นกลไกในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ส่วนประกอบที่สำคัญของระบบสารสนเทศมี 5 ส่วน คือบุคลากร ขั้นตอนที่ปฏิบัติงาน เครื่องจักรอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูล ทั้งห้าองค์ประกอบมีความเกี่ยวข้องกันเป็นระบบ
2.3.1 บุคลากร เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เพราะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเข้าใจวิธีการให้ได้มาซึ่งสารสนเทศ จะเป็นผู้ดำเนินการในการทำงานทั้งหมด บุคลากรจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ บุคลากรภายในองค์การเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้เกิดระบบสารสนเทศด้วยกันทุกคน เช่น ร้านขายสินค้าแห่งหนึ่ง บุคลากรที่ดำเนินการในร้านทุกคน ตั้งแต่ผู้จัดการจนถึงพนักงานขายเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้เกิดสารสนเทศ
2.3.2 ขั้นตอนการปฏิบัติ เป็นระเบียบวิธีการปฏิบัติงานในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำให้เป็นสารสนเทศได้ เช่น กำหนดให้มีการป้อนข้อมูลทุกวัน ป้อนข้อมูลให้ทันตามกำหนดเวลา มีการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ กำหนดเวลาในการประมวลผล การทำรายงาน การดำเนินการต่างๆ ต้องมีขั้นตอน หากขั้นตอนใดมีปัญหาระบบก็จะมีปัญหาด้วยเพราะทุกขั้นตอนมีผลกระทบต่อสารสนเทศ
2.3.3 เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผล คัดเลือก คำนวณ หรือพิมพ์รายงานตามที่ต้องการ คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้รวดเร็ว มีความแม่นยำในการทำงาน และทำงานได้ต่อเนื่อง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบ
2.3.4 ซอฟต์แวร์ คือลำดับขั้นตอนคำสั้งที่สั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซอฟต์แวร์จึงหมายถึงชุดคำสั่งที่เรียงเป็นลำดับขั้นตอน สั้งให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามต้องการ และประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
2.3.5 ข้อมูลเป็นวัตถุดิบที่จะทำให้เกิดสารสนเทศ ข้อมูลที่วัตถุดิบจะต่างกันขึ้นกับสารสนเทศที่ต้องการ เช่นในสถาบันการศึกษามักจะต้องการสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนักเรียน ข้อมูลผลการเรียน ข้อมูลอาจารย์ ข้อมูลการใช้จ่ายต่างๆ ข้อมูลมูลเป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่มีบทบาทให้เกิดสารสนเทศ
ส่วนประกอบทั้งห้านี้ล้วนมีส่วนที่ทำให้เกิดสารสนเทศได้ หากขาดส่วนประกอบใด หรือส่วนประกอบใดไม่สมบูรณ์ก็อาจทำให้ระบบสารสนเทศไม่สมบูรณ์ เช่น ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสมกับงาน ก็จะทำให้งานล่าช้า ไม่ทันต่อการใช้งาน การดำเนินการระบบสารสนเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับส่วนประกอบทั้งห้านี้
2.4 ประเภทของข้อมูล
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ข้อมูลคือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้องกับสิ่งต่างๆ เราแบ่งปรเภทของข้อมูลได้เป็นสองประเภท คือ ข้อมูลปฐมภูมิ และ ข้อมูลทุติยภูมิ
2.4.1 ข้อมูลปฐมภูมิ หมายถึง ข้อมูลที่ได้จากากรเก็บรวบรวมหรือบันทึกจากแหล่งข้อมูลโดยตรง ซึ่งอาจจะได้จากการสอบถาม การสัมภาษณ์ การสำรวจ การจดบันทึก ตลอดจนการจัดหามาด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติต่างๆ ที่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลให้ เช่น เครื่องอ่านรหัสแท่ง เครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก ข้อมูลปฐมภูมิจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาจากจุดกำเนิดของข้อมูลนั้นๆ
2.4.2 ข้อมูลทุติยภูมิ หมายถึง ข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้ให้แล้ว บางครั้งอาจจะมีการประมวลผลเพื่อเป็นสารสนเทศ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปสำรวจเอง ดังตัวอย่างข้อมูลสถิติต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐบาลทำไว้แล้ว เช่น สถิติจำนวนประชากรแต่ละจังหวด สถิติการส่งสินค้าออก สถิติการนำสินค้าเข้า ข้อมูลเหล่านี้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ใช้งานได้หรือนำเอาไปประมวลผลต่อ
2.5 การประมวลผลข้อมูล
ในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ หรือการทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จำเป็นต้องมีการประมวลผลข้อมูลก่อน
การประมวลผลข้อมูลเป็นกระบวนการที่มีกระบวนการย่อยหลายกระบวนประกอบกัน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การแยกแยะ การตรวจสอบความถูกต้อง การคำนวณ การจัดลำดับ การรายงานผล รวมถึงการส่งสื่อสารข้อมูลหรือการแจกจ่ายข้อมูลนั้น
การประมวลผลข้อมูลจึงเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ เพราะข้อมูลที่มีอยู่รอบๆตัวเรามีจำนวนมาก ในการใช้งานจึงต้องมีการประมวลผลเพื่อให้เกิดประโยชน์กิจกรรมหลักของการให้ได้มาซึ่งสารสนเทศจึงประกอบด้วยกิจกรรมการเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องด้วย กิจกรรมการประมวลผลซึ่งอาจจะเป็นการแบ่งแยกข้อมูล การจัดเรียงข้อมูล การคำนวณ และกิจกรรมการเก็บรักษาข้อมูลซึ่งอาจต้องมีการทำสำเนาทำรายงานเพื่อแจกจ่าย
2.6 วิธีการประมวลผล
วิธีการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้ตามสภาวะการนำข้อมูลมาประมวลผลซึ่งได้แก่
2.6.1 การประมวลผลแบลเชื่อมตรง (online processing) หมายถึง การทำงานในขณะข้อมูลวิ่งไปบนสายสัญญาณเชื่อมต่อจากเครื่องปลายทาง (terminal) ไปยังฐานข้อมูลของเครื่องหลักที่ใช้ในการประมวลผล การประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นการประมวลผลโดยทันทีทันใด เช่น การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า การฝากถอนเงินเอทีเอ็ม การประมวลผลแบบเชื่อมตรงจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันมากวิธีหนึ่ง
2.6.2 การประมวลผลแบบกลุ่ม (batch processing) หมายถึง การประมวลผลในเรื่องที่สนใจเป็นครั้งๆ เช่น เมื่อต้องการทราบข้อมูลผลสำรวจความนิยมของประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน หรือที่เรียกว่า โพล (poll) ก็มีการสำรวจข้อมูลเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ก็นำมาป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนำข้อมูลนั้นมาประมวลผลตามโปรแกรมที่ได้กำหนดไว้ เพื่อรายงานผล หรือสรุปผลหาคำตอบ กรณีการประมวลผลแบบกลุ่มจึงกระทำในลักษณะเป็นครั้งๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์โดยจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลไว้ก่อน

               เก็บรวบรวมข้อมูล-----------> ประมวลผลข้อมูล ----------> รายงานผล

                ในการประมวลผลทั้งสองแบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยดำเนินการกับข้อมูลจำนวนมากเพื่อแยกแยะ คำนวณ หรือดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรม การทำงานของคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลจึงต้องมีซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอยสั่งการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใรรูปแบบที่ต้องการ
2.7 การจัดการสารสนเทศ
สารสนเทศเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และจำเป็นสำหรับการใช้งานด้านต่างๆ นักเรียนอาจรวบรวมรายชื่อเพื่อน และเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเพื่อนของนักเรียนแล้วนำมาสรุปตามต้องการ การจัดสารสนเทศจึงรวมถึงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนได้มาซึ่งสารสนเทศจึงรวมถึงขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนได้มาซึ่งสารสนเทศ การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศมีหลายขั้นตอนดังนี้
2.7.1 การเก็บรวบรวมข้อมูล สมมุตินักรเรียนต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเรื่องอาชีพของคนในหมู่บ้าน นักเรียนอาจเริ่มต้นด้วยการออกแบบสอบถามสำหรับการไปสำรวจข้อมูล เพื่อให้ครอบครัวต่างๆ ในหมู่บ้านกรอกข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูลมีเทคนิคและวิธีการหลายอย่าง เช่น การใช้เครื่องจักช่วยในการรวบรวมข้อมูลโดยการตรวจกราดรหัสแท่ง หรืออ่านข้อมูลที่ใช้ดินสอดำฝนตำแหน่งที่กรอกข้อมูล
2.7.2 การตรวจสอบข้อมูล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้วจำเป็นต้องตวจสอบข้อมูล ดูแลเรื่องความถูกต้องของข้อมูล มีการตรวจทานหรือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องข้อมูลที่จัดเก็บต้องมีความถูกต้องน่าเชื่อถือเพราะหากข้อมูลไม่น่าเชื่อถือแล้ว สารสนเทศที่ได้จากข้อมูลก็ไม่น่าเชื่อถือด้วย
2.7.3 การวบรวมเป็นแฟ้มข้อมูล การรวบรวมข้อมูลที่เก็บไว้เป็นแฟ้มข้อมูลเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง การไปสำรวจข้อมูลไม่ว่าในเรื่องอะไรส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลหลายเรื่อง จำเป็นต้องแบ่งแยกข้อมูลออกเป็นกลุ่มเป็นเรื่องไว้เป็นแฟ้มข้อมูล เพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปจะได้สะดวกรวดเร็ว
2.7.4 การจัดเรียงข้อมูล ข้อมูลที่เก็บไว้เป็นแฟ้มควรมีการจัดเรียงลำดับข้อมูลเพื่อสะดวกต่อการค้นหาหรืออ้างอิงในภายหลัง การจัดเรียงข้อมูลเป็นวิธีการประมวลผลให้เป็นสารสนเทศวิธีหนึ่ง
2.7.5 การคำนวณ ข้อมูลที่เก็บมีทั้งข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ข้อความ และตัวเลขดังนั้นอาจมีความจำเป็นในการคำนวณตัวเลขที่ได้มาจากข้อมูล เช่น หาค่าเฉลี่ย หาผลรวม
2.7.6 การทำรายงาน การสรุปทำรายงานให้ตรงกับความต้องการของการใช้งานจะทำให้การใช้สารสนเทศมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น เพราะการทำรายงานเป็นวิธีการที่จะจัดรูปแบบข้อมูลให้เป็นสารสนเทศตามความต้องการ
2.7.7 การจัดเก็บ ข้อมูลที่สำรวจหรือรวบรวมมา และมีการประมวลผลให้เป็นสารสนเทศ จะต้องดำเนินการจัดเก็บเอาไว้เพื่อใช้ในภายหลัง การจัดเก็บสมัยใหม่มักเปลี่ยนข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถจัดเก็บในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นบันทึก
2.7.8 การทำสำเนา หากต้องการให้ใช้ข้อมูลก็สามารถคัดลอกหรือทำสำเนาขึ้นใหม่ได้การคัดลอกข้อมูลด้วยระบบทางคอมพิวเตอร์ทำได้ง่ายและรวดเร็ว
2.7.9 การแจกจ่ายข้อมูลให้ผู้อื่นใช้สามารถกระทำการแจกจ่ายได้โดยง่าย เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ทำให้จัดส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนให้ได้มาซึ่งสารสนเทศ บางขั้นตอนเป็นการเก็บและตรวจสอบข้อมูล บางขั้นตอนเป็นการประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ และบางขั้นตอนเป็นวิธีการจัดเก็บสารสนเทศเพื่อประโยชน์ของการใช้งานในภายหลัง
2.8 การแทนข้อมูล
จากการที่กล่าวมาแล้ว่า สารสนเทศคือข้อมูลที่ได้ผ่านการประมวลผล การประมวลผลส่วนใหญ่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยเพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ ดังนั้นข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาเพื่อใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลจะต้องอยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์เข้าใจจึงจำเป็นต้องหาวิธีแทนข้อมูลซึ่งเป็นชุดของตัวอัขระดังกล่าว
ปกติการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสองสถานะมีปิดและเปิด จังมีการกำหนดให้ใช้ตัวเลข 0 และ 1 แทนสถานะทั้งสองและมีการกำหนดรหัสแทนอักขระด้วยชุดของตัวเลขที่ประกอบด้วยเลข 0 และ 1 ซึ่งเป็นตัวเลขในระบบเลขฐานสอง(binary digit)
เพื่อให้การแทนอักขระต่างๆด้วยเลขฐานสองได้ครบ จึงมีการกำหนดให้ใช้ตัวเลขฐานสอง 8 บิต ซึ่งเรียกว่า 1 ไบต์(byte) แทนอักขระ 1 ตัว เช่น
01000001 ใช้แทนตัวอักษร A
01000010 ใช้แทนตัวอักษร B
รหัสที่ใช้แทนตัวอักขระที่เป็นมาตรฐานแบบหนึ่ง เรียกว่า รหัสแอสกี(American Standard Code for Information Interchange : Ascii)


 

หมดหน้า 2

สร้างโดย: 
นายพนมยงค์ นวลพรหม

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 257 คน กำลังออนไลน์