รายงานผลการใช้ชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนชั้นมัธ

รูปภาพของ inla_ongorn

รายงานผลการใช้ชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      อิลองก์อร  จารุจิตโรงเรียนโยธินบูรณะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1                บทคัดย่อ                          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลของการบูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  2) เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ                                                 การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มที่เรียนแบบบูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2554 ที่มีคะแนนแบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 ลงมาและสมัครใจเข้ารับการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 44 คน กลุ่มทดลองได้รับการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ด้วยวิธีการบูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ จำนวน 17 ครั้งๆ ละ 55 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Test) หาค่าความเที่ยงโดยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟา                 (a-Coefficient) ได้ค่าความเที่ยง 0.92  2)  แบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ และ 3)  เอกสารความรู้เรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์” ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ t-test (dependent)                ผลการวิจัยพบว่า                         1)  กลุ่มทดลองมีความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง          การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมโดยส่วนย่อยในแต่ละด้านและโดยรวมหลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05                          2)  ผู้วิจัยได้ติดตามผลหลังการฝึกความฉลาดทางอารมณ์โดยการสังเกตพฤติกรรมควบคู่                 ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนของผู้วิจัย ครูคนอื่นๆ และผู้ปกครอง มีดังนี้                               2.1)  ผลการประเมินหลังการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนกลุ่มทดลองโดยการสังเกตควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนขณะทำกิจกรรมต่างๆ หรือมีกิจกรรมให้นักเรียนทำโดยผู้วิจัยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ เช่น ผู้วิจัยสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกขณะนักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ โดยผู้วิจัยสังเกตสีหน้า ท่าทาง การถามตอบระหว่างผู้วิจัยกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน เน้นการประเมินการแสดงออกที่เกิดจากการปฏิบัติในสภาพจริง ผู้วิจัยประเมินโดยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนทั้งรายบุคคล รายกลุ่มและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม                          การประเมินในระหว่างฝึกโดยมีกิจกรรมต่างๆ ให้นักเรียนทำ สิ่งที่ประเมินคือ การสังเกต                   สีหน้า ท่าทาง การพูดโต้ตอบระหว่างผู้วิจัยกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ผู้วิจัยสังเกตพบว่าขณะนักเรียนทำงานหรือเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม นักเรียนมีการช่วยเหลือกันในการทำงาน      ในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันภายในกลุ่มนักเรียนรับฟังและเคารพความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ไม่มีการทะเลาะหรือโต้เถียงกันในขณะทำงานกลุ่ม นักเรียนเรียนและร่วมมือในการทำกิจกรรมอย่างมั่นใจและสนุกสนาน นักเรียนมีสีหน้าเบิกบานแจ่มใส มีความกระตือรือร้น รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายและส่งงานตรงตามเวลา                          จากการสังเกตการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนโดยการให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงออก ปฏิบัติ หรือผลิตผลงานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถ ทักษะ ผู้วิจัยสังเกตแล้วบันทึกและรวบรวมข้อมูลจากงานและกิจกรรมที่นักเรียนทำโดยผู้วิจัยได้บันทึกผลการสังเกตและข้อคิดเห็นอื่นๆ ที่เป็นข้อมูลของผู้เรียน เช่น การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองของนักเรียนทั้งในและนอกชั้นเรียน ความสนใจและใฝ่รู้ใฝ่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และร่วมกันในการทำงาน การมีความพยายาม อดทนในการทำงานต่างๆ ได้แก่ การทำโครงงาน การทำงานกลุ่มของนักเรียนจนประสบความสำเร็จ การที่นักเรียนได้มีโอกาสแสดงออก ปฏิบัติหรือผลิตผลงานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถและมีความสุขในการทำงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย และนักเรียนยังบอกว่าได้รับประโยชน์จากการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน                                2.2)  ผลการสัมภาษณ์พูดคุยกับครูคนอื่นๆ มีดังนี้ จากการสังเกตของครูคนอื่นๆ พบว่า นักเรียนปฏิบัติตามกฏระเบียบของโรงเรียน แต่งกายถูกระเบียบ เข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ สนใจและตั้งใจเรียน แสดงออกได้อย่างเหมาะสม นักเรียนเข้าร่วมและกล้าแสดงออกในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม ร่าเริงแจ่มใส สุภาพเรียบร้อย ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้ดี เช่น นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนต่างห้องคนอื่นๆ นักเรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความรับผิดชอบในการทำงานและมีน้ำใจช่วยเหลือส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและครู                                 2.3)  ผลการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครอง ผู้วิจัยได้เชิญผู้ปกครองมาร่วมประชุมปรึกษาหารือมีดังนี้ ผู้ปกครองบอกว่านักเรียนมีความรับผิดชอบทั้งงานด้านการเรียนและงานที่มอบหมายให้ทำมากขึ้น เชื่อฟังพ่อแม่ รู้จักคิดแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน ช่วยเหลือทำงานบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบุคลิกภาพร่าเริงแจ่มใส ไม่ก้าวร้าวทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น                                                                                                                                                                                                                                                                คำสำคัญ ความฉลาดทางอารมณ์ การเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ                                                          บทนำ                                                                              สังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ มากมายส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไป วัยรุ่นน่าจะเป็นวัยมีปัญหาในการปรับตัวมากเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงจากความเป็นเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาวจึงทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและวิตกกังวล วัยรุ่น                  บางคนประสบกับปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความคาดหวังของพ่อแม่และสังคม ทำให้วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจ คนที่ปรับตัวได้ดีก็จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะประสบกับปัญหาต่างๆ ตามมา และจากประสบการณ์ที่ผู้วิจัยเป็นครูแนะแนวมานานกว่า 20 ปี พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ผู้วิจัยสอนเป็นนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมีลักษณะสับสนอ่อนไหว อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขาดการอดทนอดกลั้น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ทำให้ขัดแย้งและทะเลาะวิวาทกับเพื่อนอยู่บ่อยๆ มักทำตามความต้องการของตัวเอง มีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมทำให้มีปัญหาด้านการสร้างสัมพันธภาพ เช่น ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ปรับตัวเข้ากับเพื่อนในชั้นเรียนไม่ได้ทำให้ไม่มีเพื่อนซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้วิจัยพบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่นักเรียนไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ ดังนั้นการที่นักเรียนนี้จะสามารถเผชิญกับปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมเขาควรมีความฉลาดทางอารมณ์                         ความฉลาดทางอารมณ์เมื่อพิจารณาทั้งวัฒนธรรมทางตะวันตกและตะวันออกมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คนประสบความสำเร็จในชีวิตและสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ด้วยเหตุนี้ความฉลาดทางอารมณ์จึงมีความสำคัญ ดังนั้นการที่นักเรียนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จเขาควรจะต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ เมื่อพิจารณาด้านพัฒนาการของเด็กในวัยมัธยมศึกษาจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่อยู่ในระยะวัยรุ่น ซึ่งมักจะชอบอยู่กับกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนและจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนภายในกลุ่ม (ศรีเรือน                   แก้วกังวาล, 2545) โดยวัยรุ่นจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ต่างๆ กับเพื่อนภายในกลุ่มทำให้วัยรุ่นกล้าแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่างเต็มที่ส่งผลให้วัยรุ่นเกิดการเรียนรู้ที่ดีและมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญาดีมากยิ่งขึ้นด้วย (Feldman, 1996; Myers, 1998) ดังนั้นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นในวัยรุ่นจึงควรให้วัยรุ่นมีปฏิสัมพันธ์และมีความร่วมมือกันภายในกลุ่มเพื่อให้วัยรุ่นเกิดการเรียนรู้ที่ดี การเรียนเรียนแบบร่วมมือที่บูรณาการกับโยนิโสมนสิการเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและเพื่อแก้ปัญหาให้กับนักเรียนโดยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การ               มีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคม เพื่อให้นักเรียนมีการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่เนื่องจากยัง               ไม่มีแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่สอดคล้องและตรงกับปัญหาของนักเรียน ผู้วิจัยจึงสร้างและพัฒนาชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่นี้ขึ้นเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและเพื่อแก้ปัญหาให้กับนักเรียนโดยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคม เพื่อให้นักเรียนมีการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  วัตถุประสงค์ของการวิจัย                         1.  เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา                ปีที่ 4                          2.  เพื่อเปรียบเทียบความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา                ปีที่ 4 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มที่เรียนแบบบูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ สมมติฐานการวิจัย                         นักเรียนที่ได้รับการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคม ด้วยชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการหลังการทดลองจะมีความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และการมีทักษะทางสังคมสูงกว่าก่อนทดลอง                  กลุ่มตัวอย่าง                         กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2554 ที่มีคะแนนแบบทดสอบ ความฉลาดทางอารมณ์ ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 ลงมา และสมัครใจเข้ารับการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 44 คน แบบแผนการทดลอง (Experimental Design)                         ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีกลุ่มทดลองกลุ่มเดียวมีการทดสอบก่อนและภายหลังการทดลอง  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย                         เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่                         1.  แบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Test) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น                         2.  ชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น การดำเนินการทดลอง                         1.  การดำเนินการทดลอง                        กลุ่มทดลอง                                1.1  ผู้วิจัยทดสอบนักเรียนก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์                                 1.2  ผู้วิจัยได้ฝึกความฉลาดทางอารมณ์ให้กับนักเรียนด้วยตนเอง จำนวน 17 ครั้งๆ ละ 55 นาที โดยใช้ชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ                                1.3  ภายหลังการทดลอง ผู้วิจัยได้ทดสอบนักเรียนด้วยแบบทดสอบความฉลาดทางอารมณ์ชุดเดียวกับที่ใช้ทดสอบก่อนเรียน การวิเคราะห์ข้อมูล                         1.   คำนวณค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลอง                         2.   วิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมโดยส่วนย่อยในแต่ละด้านและโดยรวมก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองโดยใช้ t-test (dependent) สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล                         กลุ่มทดลองมีความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง          การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมโดยส่วนย่อยในแต่ละด้านและโดยรวมหลังการทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปผลจากการสังเกตและสัมภาษณ์                                       ผู้วิจัยได้ติดตามผลหลังการฝึกความฉลาดทางอารมณ์โดยการสังเกตพฤติกรรมควบคู่                 ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนของผู้วิจัย ครูคนอื่นๆ และผู้ปกครอง มีดังนี้                         1)  ผลการประเมินหลังการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนกลุ่มทดลองโดยการสังเกตควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนขณะทำกิจกรรมต่างๆ หรือมีกิจกรรมให้นักเรียนทำโดยผู้วิจัยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ เช่น ผู้วิจัยสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกขณะนักเรียนทำกิจกรรมต่างๆ โดยผู้วิจัยสังเกตสีหน้า ท่าทาง การถามตอบระหว่างผู้วิจัยกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน เน้นการประเมินการแสดงออกที่เกิดจากการปฏิบัติในสภาพจริง ผู้วิจัยประเมินโดยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนทั้งรายบุคคล รายกลุ่มและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม                                 1.1) การประเมินในระหว่างฝึกโดยมีกิจกรรมต่างๆ ให้นักเรียนทำ สิ่งที่ประเมินคือ การสังเกตสีหน้า ท่าทาง การพูดโต้ตอบระหว่างผู้วิจัยกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ผู้วิจัยสังเกตพบว่าขณะนักเรียนทำงานหรือเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม นักเรียนมีการช่วยเหลือกันในการทำงาน ในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันภายในกลุ่มนักเรียนรับฟังและเคารพความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ไม่มีการทะเลาะหรือโต้เถียงกันในขณะทำงานกลุ่ม นักเรียนเรียนและร่วมมือในการทำกิจกรรมอย่างมั่นใจและสนุกสนาน นักเรียนมีสีหน้าเบิกบานแจ่มใส มีความกระตือรือร้น รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายและส่งงานตรงตามเวลา                                 1.2) จากการสังเกตการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนโดยการให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงออก ปฏิบัติหรือผลิตผลงานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถ ทักษะ ผู้วิจัยสังเกตแล้วบันทึกและรวบรวมข้อมูลจากงานและกิจกรรมที่นักเรียนทำโดยผู้วิจัยได้บันทึกผลการสังเกตและข้อคิดเห็นอื่นๆ ที่เป็นข้อมูลของผู้เรียน เช่น การศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองของนักเรียนทั้งในและนอกชั้นเรียน ความสนใจและใฝ่รู้ใฝ่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และร่วมกันในการทำงาน การมีความพยายาม อดทนในการทำงานต่างๆ ได้แก่ การทำโครงงาน การทำงานกลุ่มของนักเรียนจนประสบความสำเร็จ การที่นักเรียนได้มีโอกาสแสดงออก ปฏิบัติหรือผลิตผลงานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถและมีความสุขในการทำงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย และนักเรียนยังบอกว่าได้รับประโยชน์จากการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน                                2)  ผลการสัมภาษณ์พูดคุยกับครูคนอื่นๆ มีดังนี้ จากการสังเกตของครูคนอื่นๆ พบว่า นักเรียนปฏิบัติตามกฏระเบียบของโรงเรียน แต่งกายถูกระเบียบ เข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ สนใจและตั้งใจเรียน แสดงออกได้อย่างเหมาะสม นักเรียนเข้าร่วมและกล้าแสดงออกในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม ร่าเริงแจ่มใส สุภาพเรียบร้อย ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้ดี เช่น นักเรียน                   เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนต่างห้องคนอื่นๆ นักเรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี  มีความรับผิดชอบในการทำงานและมีน้ำใจช่วยเหลือส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและครู                                3)  ผลการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครอง ผู้วิจัยได้เชิญผู้ปกครองมาร่วมประชุมปรึกษาหารือมีดังนี้ ผู้ปกครองบอกว่านักเรียนมีความรับผิดชอบทั้งงานด้านการเรียนและงานที่มอบหมายให้ทำมากขึ้น เชื่อฟังพ่อแม่ รู้จักคิดแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน ช่วยเหลือทำงานบ้านมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบุคลิกภาพร่าเริงแจ่มใส ไม่ก้าวร้าวทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น อภิปรายผล                         เมื่อเปรียบเทียบกันภายในกลุ่มระหว่างก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มทดลองพบว่า  หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีความฉลาดทางอารมณ์โดยรวมสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมสามารถพัฒนาขึ้นได้ในโรงเรียน สอดคล้องกับผลการวิจัยของ Sternberg and Okagaki (1990); Cumming and Haggerty (1997) และ Goleman (1998) และพบว่าเมื่อนักเรียนได้รับการฝึกอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพซึ่งการเรียนแบบร่วมมือที่บูรณาการกับโยนิโสมนสิการมีโครงสร้างที่สำคัญคือ แต่ละกลุ่มจะมีสมาชิก 3-4 คน ซึ่งเป็นขนาดของกลุ่มที่มีขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยนักเรียนเก่ง ปานกลาง อ่อน เป็นชายและหญิง นักเรียนทุกคนภายในกลุ่มมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแสดงออกตลอดจนลงมือกระทำ มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น เด็กเก่งช่วยคนที่ไม่เก่ง                ทำให้นักเรียนที่เก่งรู้จักสละเวลาช่วยเหลือเพื่อน นักเรียนที่ไม่เก่งก็รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจเพื่อน                       มีความอบอุ่น รู้สึกเป็นกันเอง กล้าซักถามข้อสงสัยมากขึ้น สอดคล้องกับ Arends (1994) Johnson and Johnson (1993; 1999) ที่พบว่าการเรียนแบบร่วมมือนักรียนมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนคนอื่นมากกว่าการเรียนแบบอื่นๆ เนื่องจากนักเรียนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกภายในกลุ่ม ทำให้มีโอกาสฝึกทักษะทางสังคมในการทำงานร่วมกับเพื่อนเป็นกลุ่มซึ่งเ็นการช่วยพัฒนาทักษะการติดต่อสื่อสารและทักษะการร่วมมือให้เกิดมากขึ้นด้วย                          การเรียนร่วมกันภายในกลุ่มนักเรียนจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ภายในกลุ่มแล้วอาจมีการช่วยอธิบายให้เพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ภายในกลุ่มเข้าใจในสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้                     ซึ่งในการอธิบายหรือสอนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ให้แก่เพื่อนเป็นการฝึกทักษะการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะทางสังคมอย่างหนึ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย เด็กที่เรียนอ่อนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกคนอื่นๆ ภายในกลุ่มมากกว่าการเรียนแบบอื่นๆ และพบว่านักเรียนจะกล้าตั้งคำถามถามเพื่อนๆ สมาชิกมากกว่าถามครูในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ สอดคล้องกับ Arends (1994) Slavin (1989, 1990) ที่พบว่าการเรียนแบบร่วมมือนักเรียนรู้สึกสบายใจ ไม่กดดันในการอภิปรายกันภายในกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาหรือหาข้อสรุป และส่งผลต่อทัศนคติและอารมณ์ของเด็กโดยเด็กอ่อนจะมีทัศนคติต่อตนเองเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่คิดว่าตนเองโง่ สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ทำให้มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นและเข้าใจวิธีการติดต่อสื่อสารที่ดี มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ มากขึ้นทั้งในและนอกห้องเรียน มีพัฒนาการทางสังคมที่ดีขึ้นและยังส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์โดยเฉพาะเด็กที่เรียนอ่อนมีแนวโน้มที่จะได้คะแนนกลุ่มสูงขึ้นกว่าคะแนนเดิมที่เขาได้รับทำให้เขามีความรู้สึกดีและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เด็กกลุ่มนี้จะมีความสุขและสนุกสนานกับการเรียนร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ                 มากขึ้นซึ่งการให้คะแนนโดยให้คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มเป็นคะแนนที่นักเรียนแต่ละคนได้จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพึ่งพากัน นักเรียนที่เรียนเก่งในตอนแรกที่เริ่มเรียนอาจไม่พอใจเด็กที่เรียนอ่อน                             ที่ทำงานช้าหรือทำงานได้ไม่ดีและทำให้กลุ่มได้รับคะแนนน้อยทำให้เด็กเก่งต้องใช้ความพยายามและความอดทนในการพยายามควบคุมอารมณ์และต้องใช้ทักษะการร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเด็กอ่อน สอดคล้องกับ Aronson (2000); Johnson and Johnson (1993); Arends (1994) ที่พบว่าการเรียนแบบร่วมมือเป็นการพัฒนาความสามารถทางด้านอารมณ์ให้กับเด็กเก่งโดยเป็นการฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเอง และในขณะที่ทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันนักเรียนจะมีการติดต่อสื่อสาร ฝึกการเป็นผู้นำ การตัดสินใจ การช่วยเหลือ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นการช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของนักเรียน                          ความสามารถทางด้านอารมณ์ สังคมและสติปัญญาเกิดขึ้นจากการนักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล สอดคล้องกับ Artzt & Newman (1990); Sutton (1992); สุมน อมรวิวัฒน์ (2544) ที่ระบุว่าการให้นักเรียนรับผิดชอบในกระบวนการเรียนรู้ของตนเองและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือการได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น การได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันแล้วมีการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้โดยเน้นผลย้อนกลับจากสมาชิกคนอื่นๆ การประเมินตนเองจากผลงานที่ทำเป็นการช่วยให้นักเรียนแต่ละบุคคลได้สามารถวิเคราะห์ความสามารถของตนเองในสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีขึ้น ช่วยให้นักเรียนได้ประเมินตนเองจากผลงานที่ทำและนำข้อมูลมาช่วยปรับปรุงการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถวิเคราะห์ความสามารถของตนเองและค้นพบความสามารถของตนเองทำให้นักเรียนตระหนักรู้ในตนเองมากยิ่งขึ้นและทำให้การเรียนรู้มีความหมายและเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ Deci and Ryan, (1985); Johnson and Johnson (1985) Blumenfeld (1992) ที่พบว่าการที่นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้และการได้ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเป็นรางวัลหรือแรงเสริมให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น และเพื่อให้สิ่งที่เรียนรู้มีความคงทนผู้วิจัยได้ให้การเสริมแรงทางบวกแก่นักเรียน ได้แก่ คำชมเชย ซึ่งเป็นการให้กำลังใจอย่างดีแก่นักเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ                         การเรียนที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยการทำงานร่วมกันภายในกลุ่มเป็นการ              ช่วยให้นักเรียนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเองและมีการพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เนื่องจากเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการทางสติปัญญาหรือความสามารถในการเรียนรู้อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน     การที่เด็กอ่อนได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เก่งกว่าจะช่วยให้เด็กอ่อนเกิดการเรียนรู้ได้ดี ซึ่งในการให้ความช่วยเหลือจะเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับ Johnson and Johnson (1991); Cohen (1994) และสอดคล้องกับ สุมน อมรวิวัฒน์ (2542); พระธรรมปิฎก ป..ปยุตโต (2546) ที่ระบุว่าหลักการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาต้องอาศัยปัจจัยหลักจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในได้แก่ ตัวนักเรียน ให้นักเรียนคิดโดยใช้โยนิโสมนสิการหรือคิดแบบแยบคายแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญญา และปัจจัยภายนอก ได้แก่ ครูซึ่งเป็นกัลยาณมิตรโดยครูจะมีบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมชี้นำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สนับสนุน กระตุ้น ส่งเสริม และจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่อบอุ่น ความรัก ความเอาใจใส่ จริงใจ มีเมตตาและปรารถนาดีต่อนักเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี                          ในกระบวนการฝึกจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นโดยสมาชิกแต่ละคนจะรับผิดชอบในการเรียนรู้ร่วมกันและในขณะที่ทำงานร่วมกันนักเรียนอาจระบายความคับข้องใจต่อปัญหาต่างๆ ให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกันฟังทำให้เพื่อนสมาชิกภายในกลุ่มเข้าใจกันและส่งผลให้คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น สอดคล้องกับการศึกษาของ Davidson and Worsham (1992); Aronson (2000) ที่พบว่าโครงสร้างของการเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองว่าตนเองมีความสามารถทำงานในด้านใดบ้าง และเมื่อนักเรียนทำงานได้สำเร็จนักเรียนก็จะ รู้ในความสามารถของตนเองและเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง อีกทั้งการได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนๆ ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้นักเรียนตระหนักรู้ในความสามารถของตนเอง ส่วนการที่นักเรียนได้แบ่งงานกันทำและต้องพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จเป็นการฝึกให้นักเรียนต้องควบคุมตนเอง สอดคล้องกับงานวิจัยของ Johnson and Johnson (1989; 1993; 1999); Arends (1994)                          นอกจากนี้แบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการสร้างให้ครอบคลุมองค์ประกอบทั้ง 5 ด้านของความฉลาดทางอารมณ์ ได้แก่ ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคมโดยผู้วิจัยได้กำหนดเนื้อหาสาระสำคัญในแบบฝึก ใบความรู้ กรณีตัวอย่างหรือสถานการณ์จำลอง และใบงานให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนรับผิดชอบและคิดวิเคราะห์โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการแบบต่างๆ และให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเอกสารความรู้เรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์” เป็นการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้แบบฝึกและเอกสารความรู้ฯได้ผ่านขั้นตอนการสร้างที่มีระบบและมีวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมโดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาเอกสาร บทความ ตำรา วารสารและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์ การเรียนแบบร่วมมือ วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการแล้วนำผลที่ได้จากการศึกษามาสังเคราะห์เป็นเนื้อหาจุดประสงค์ เนื้อหาสาระสำคัญ กระบวนการฝึก และการประเมินผลและได้รับการตรวจสอบแก้ไขจากผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบบฝึกและเอกสารความรู้ฯก่อนที่จะนำไปใช้ทดลองกับนักเรียนเป็นรายกลุ่มขนาดเล็กและกลุ่มขนาดใหญ่ก่อนที่จะนำไปใช้ในการทดลองจริง ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทดลองใช้และเพื่อนำมาปรับปรุงแบบฝึกและเอกสารความรู้ฯให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น ในการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ผู้วิจัยได้จัดเรียงลำดับการฝึกองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ต่างๆ ไว้ดังนี้คือ การตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และทักษะทางสังคม ในการฝึกผู้วิจัยฝึกทักษะทางสังคมในการปฐมนิเทศเพื่อเป็นการเตรียม        ความพร้อมให้นักเรียนนำทักษะสังคมไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งต่อๆ ไป และทักษะทางสังคม              จะเป็นทักษะที่นักเรียนได้รับการพัฒนาในทุกแบบฝึกเนื่องจากการฝึกความฉลาดทางอารมณ์ในครั้งนี้เป็นการบูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการ นักเรียนต้องใช้ทักษะทางสังคมในการเรียนร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆในกลุ่ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนแบบร่วมมือในกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี และในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้บูรณาการแนวคิดทางตะวันตกและแนวคิดทางตะวันออกในแนวพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน ดังนั้นองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ด้านต่างๆ จะมีลักษณะเชื่อมโยงสัมพันธ์และผสมกลมกลืนกันทุกด้าน ผู้วิจัยได้นำแนวคิดในทางพุทธศาสนามาใช้ในกระบวนการฝึกคือ การเรียนรู้จะต้องอาศัยทั้งปัจจัยการเรียนรู้ ได้แก่ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในซึ่งปัจจัยภายนอกเป็นแนวทางให้เกิดการเรียนรู้ทำให้เกิดศรัทธา ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการเรียนรู้ คำสั่งสอนที่เป็นสาระความรู้น่าสนใจ วิธีการสอนที่ดี และสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน ความเป็นกัลยาณมิตรของครู   ที่ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ รักและเมตตาต่อศิษย์ ซึ่งเมื่อนักเรียนเกิดศรัทธาก็จะทำให้นักเรียนสนใจใฝ่รู้และตั้งใจแ่วแน่ในการเรียน ส่วนปัจจัยภายในผู้วิจัยได้มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการคิดแบบแยบคายเพื่อให้เกิดปัญญาโดยในทางพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาทั้งชีวิตและจิตใจของตนเอง ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้                         จากผลการวิจัยพบว่าชุดแบบฝึกที่บูรณาการการเรียนแบบร่วมมือกับโยนิโสมนสิการการ                       บูรณาการสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การควบคุมตนเอง การมีแรงจูงใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และการมีทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ ดังนั้นครูอาจารย์สามารถนำชุดแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ในงานวิจัยนี้ไปใช้พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป                         1.  ควรจะมีการสร้างแบบฝึกความฉลาดทางอารมณ์ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ                      2.  เนื่องจากพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน ดังนั้นน่าจะ              มีการศึกษาเนื้อหา รูปแบบการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์แบบอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละวัย รายการอ้างอิงภาษาไทยพระธรรมปิฎก (..ปยุตโต).  2546.  พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 11.                       กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.ศรีเรือน แก้วกังวาล.  2545.  จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย. พิมพ์ครั้งที่ 8 (แก้ไขเพิ่มเติม).                     กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.สุมน  อมรวิวัฒน์.  2542.  การพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวพุทธศาสตร์: ทักษะกระบวนการเผชิญ                   สถานการณ์.  นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.ภาษาอังกฤษArends, R.  1994.  Learning to Teach.  New York: McGraw-Hill, Inc.Aronson, E.  2000.  Learning strategies: Classroom environment, teaching-technique, empathy.                     Humanist, 6: 17-22.Artzt, A. F., and Newman, C.  September 1990.  Implementing the standards: Cooperative learning.                     Mathematics Teacher, 83: 448-452.Blumenfeld, P.  1992.  The Task and The Teacher: Enhancing student thoughtfulness in science.                  Advances in research on teaching.  Greenwich, Connecticut: JAI.Cohen, E. G.  1994.  Designing Groupwork: Strategies for The Heterogeneous Classroom 2nd ed.                                          New York: Teachers College Press.Cumming, C., and Haggerty, K. P.  May 1997.  Raising healthy children.  Educational Leadership,                           28-33.Deci, E. L., and Ryan, R. M.  1985.  Intrinsic Motivation and Self-Determination in Human                 Behavior.  New York: Plenum Press.Feldman, S.R.  1996.  Understanding  Psychology. 4th ed. New York: McGraw-Hill.Goleman, D.  1998.  Working with Emotional Intelligence.  New York: Bantam.Johnson, D. W., and Johnson, R.T.  1985.  Motivational processes in cooperative, competitive, and                 individualistic learning situations.  Research on motivation in education: The classroom Milieu.  San Diego: Academic Press.Johnson, D. W., and Johnson, R.T.  1991.  Learning Together and Alone. 3rd ed.  Englewood Cliffs, New Jersey: Allyn & Bacon.Johnson, D. W., and Johnson, R.T.  1993.  Impact of cooperative learning and individualistic learning on high-ability students’ achievement, self-esteem, and social acceptance.  Journal of Social                 Psychology, 13(3): 839-844. Johnson, D. W.  1999.  Group Process: Influence of Student-Student Interaction on School Outcome.                  Social Psychology of School Learning.  New York: Academic Press.Myers, G.D.  1998.  Psychology. 5th ed.  New York: Worth.Slavin, R. E.  1989.  Cooperative Learning and Student Achievement.  School and Classroom                 Organization.  Hillsdale, New Jersey: Erlbaum.Slavin, R. E.  1990.  Cooperative Learning: Theory, Research and Practice.  Englewood Cliffs,                        New Jersey: prentice-Hall.Sternberg, R. J., and Okagaki, L.  September 1990.  Practical intelligence for success in school.                  Educational Leadership, 48: 35-42.Sutton, G. O.  January 1992.  Cooperative learning works in mathematics.  Mathematics Teacher, 85:                 63-66.

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 468 คน กำลังออนไลน์