คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง
คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง
พัฒนาการคอมพิวเตอร์ที่กล่าวมาแล้วทำให้การผลิตชิพที่เป็นซีพียูมีจำนวนทรานซิสเตอร์อยู่ในชิพได้มากมายหลายล้านตัว เช่น เพนเตียมโฟร์ มีจำนวนทรานซิสเตอร์ในชิพมากกว่า 30 ล้านตัว ขนาดของทรานซิสเตอร์ภายในชิพมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 0.09 ไมโครเมตร (1 ไมโครเมตร เท่ากับ หนึ่งในล้านเมตร) แนวโน้มในส่วนนี้ยังคงทำให้วงจรซีพียูมีความซับซ้อนขึ้นได้อีก
การที่คอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มิได้อยู่ที่การเพิ่มความเร็วของจังหวะการคำนวณภายในชิพอย่างเดียวยังขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำงานที่เป็นแบบขนาน ซีพียูรุ่นใหม่ เช่น เพนเตียมโฟร์ ได้รับการพัฒนาให้ทำงานภายในเป็นแบบขนาน หมายความว่า ซีพียูอ่านคำสั่งหลายคำสั่งเข้าไปทำงานพร้อมกัน ภายในซีพียูเองก็มีหน่วยคำนวณและตรรกะหลายชุด การทำงานแบบขนานนี้ทำให้การทำงานโดยรวมสูงขึ้น
เพื่อให้คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงมีผู้ออกแบบให้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งมีซีพียูหลายตัวเพื่อช่วยกันทำงาน เรียกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์แบบมัลติโพรเซสเซอร์ (multiprocesser)
ตัวอย่างมัลติโพรเซสเซอร์
บางบริษัทได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นแบบมัลติโพรเซสเซอร์โดยให้ซีพียูแต่ละตัวมีรูปแบบการคำนวณหรือการแบ่งแยกงานและทำงานขนานกันไป เรียกคอมพิวเตอร์ชนิดนี้ว่า คอมพิวเตอร์แบบขนาน (Massively Parallel Processor : MPP)
เครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับการออกแบบให้มีจำนวนซีพียูและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ จำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ดีขึ้นเรียกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง (High Performance Computer : HPC ) เครื่องคอมพิวเตอร์พวกนี้เหมาะกับงานคำนวณที่ซับซ้อนและต้องคำนวณตัวเลขจำนวนมาก เช่น งานพยากรณ์อากาศงานจำลองระบบมลภาวะเกี่ยวกับน้ำท่วม หรือการจำลองสภาพจราจร เป็นต้น
ปัจจุบันได้มีการนำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจำนวนมากมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงมากขึ้น เรียกว่าระบบคลัสเตอร์ (cluster) เช่นการนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมต่อเพื่อสร้างฉากภาพยนตร์ในเรื่องไททานิก
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการคำนวณ โดยใช้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องบนเครือข่ายคำนวณร่วมกัน เรียกว่าคอมพิวเตอร์แบบกริด (grid computer)
ระบบคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องไททานิก