เผยแพร่ผลงานทางวิชาการเรื่อง รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครูอิลองก์อร จาร

รูปภาพของ inla_ongorn

รายงานผลการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อิลองก์อร  จารุจิต โรงเรียนโยธินบูรณะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1                บทคัดย่อ                          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตที่มีต่อทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจและการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มที่ใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2553 ที่มีคะแนนแบบประเมินทักษะชีวิตตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 ลงมา และเป็นผู้สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 คน กลุ่มทดลองผู้วิจัยให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 18 ครั้งๆ ละ 55 นาที โดยผู้วิจัยเป็นผู้จัดกิจกรรมด้วยตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) แบบประเมินทักษะชีวิต (Life Skills Test) หาค่าความเที่ยงโดยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟา (a-Coefficient) ได้ค่าความเที่ยง 0.89                2) ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต และ 3) เอกสารความรู้เรื่อง “ทักษะชีวิตที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ t-test (dependent)              ผลการวิจัยพบว่า      1) กลุ่มทดลองหลังการทดลองมีทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์                 การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาโดยส่วนย่อยในแต่ละด้านและโดยรวมสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05    2) ผู้วิจัยได้ติดตามผลหลังการเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตโดยการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนของข้าพเจ้า ครูคนอื่นๆ และผู้ปกครอง       สรุปผลได้ดังนี้                                 2.1) การสังเกตพฤติกรรมควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนของผู้วิจัยพบว่า นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์เพื่อเข้าใจความสามารถ ความถนัด จุดเด่น-จุดด้อยของตนเองและพร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาโดยการมีวินัยในการเรียน มีมุ่งมั่น เพียรพยายาม รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ส่งงานตรงตามเวลา ตั้งใจเรียน ทำงานหรืออ่านหนังสือเมื่อมีเวลาว่าง ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง สนใจและใฝ่รู้ใฝ่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการคิดวางแผนและตัดสินใจเลือกแนวทางการศึกษาและอาชีพของตนเอง นักเรียนสามารถตั้งเป้าหมายการเรียนและอาชีพได้สอดคล้องกับตนเอง รู้จักคิดทางบวกโดยคิดว่าทุกปัญหามีทางออกและตนเองสามารถทำได้ มีการช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในการเตรียมตัวหรือวางแผนในการเรียน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นักเรียนมีสีหน้าเบิกบานแจ่มใส มีความกระตือรือร้น และนักเรียนรู้สึกมีความสุขในการเรียน                                 2.2) ผลจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับครูคนอื่นๆ พบว่า นักเรียนมีความรับผิดชอบต่องานที่ครูมอบหมาย ส่งงานตรงเวลา มีความมุ่งมั่นสนใจและตั้งใจเรียนมากขึ้นเพราะนักเรียนเข้าใจว่าสิ่งที่เรียนสามารถนำไปใช้ในการศึกษาต่อ นักเรียนศึกษาค้นคว้าข้อมูลและปรึกษากับเพื่อนๆ และครูเพื่อเตรียมตัวในการเรียนต่อ เข้าร่วมและกล้าแสดงออกในกิจกรรมต่างๆ นักเรียนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ร่าเริงแจ่มใส ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้ดี มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนๆ และส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและครู                                2.3) ผลจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองบอกว่าเมื่อก่อนนักเรียนเครียดและวิตกกังลเกี่ยวกับอนาคต ไม่รู้จะเรียนอะไร ไม่มั่นใจตัวเอง คิดว่าตัวเองทำไม่ได้จึงไม่เอาหลายๆ อย่าง รู้สึกเบื่อและอยากอยู่เฉยๆ แต่ตอนนี้เด็กรู้จักคิดว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร มีความคิดของตัวเองรู้ว่าอยากเรียนอะไรและคิดว่าตนเองทำได้และอยากพยายามทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รู้จักคิดในแง่ดีว่าการที่มีคนมาเลือกเรียนคณะเดียวกับเราเยอะเป็นแรงผลักดันให้ต้องขยันมากขึ้น ต้องอดทนอ่านหนังสือให้มากขึ้น ไม่กลัวคนอื่นมาแย่งเรียน หลังรับประทานอาหารเย็นลูกจะไปอ่านหนังสือ  ทำการบ้านเองโดยผู้ปกครองไม่ต้องบอก รู้จักวางแผนในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ติดเกม  ไม่ติดหนังหรือละคร ช่วยเหลือทำงานบ้านมากขึ้น ลูกไม่หงุดหงิด ไม่เครียด มีเหตุผล ไม่ก้าวร้าว ตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้เกรดดีๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นทำให้ผู้ปกครองรู้สึกสบายใจและมีความสุข มากขึ้น คำสำคัญ  ทักษะชีวิต  ชุดกิจกรรมแนะแนว บทนำ                         สังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ มากมายส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไป คนที่ปรับตัวได้ดีก็จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะประสบกับปัญหาต่างๆ ตามมา และวัยที่น่าจะมีปัญหาในการปรับตัวมากคือ วัยรุ่นเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มักประสบกับปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยู่เสมอทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา (ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2549) และยังต้องเผชิญกับความคาดหวังของพ่อแม่และสังคมทำให้ต้องมีการปรับตัวหลายด้านพร้อมๆ กัน วัยรุ่นจึงเป็นวัยอาจเกิดปัญหาได้มาก ถ้าวัยรุ่นสามารถปรับตัวได้ดีก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และยังช่วยป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้น การเข้าใจพัฒนาการวัยรุ่นจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมพัฒนาการของวัยรุ่น โดยวัยรุ่นจะมีพัฒนาการด้านการคิดเกี่ยวกับตนเอง มีความตระหนักรู้ในตนเอง สามารถรับรู้ตนเองในด้านต่างๆ ได้แก่ รู้ในสิ่งตนเองชอบ สิ่งที่ตนเองถนัด วิชาที่เขาชอบเรียน กีฬาที่ชอบเล่น งานอดิเรก เริ่มมีความสนใจในการเลือกอาชีพ เด็กอาจจะสนใจอาชีพในลักษณะเพ้อฝันหรืออาจสนใจหลายๆ อาชีพ ซึ่งการใช้สติปัญญาคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลจะทำให้วัยรุ่นตระหนักรู้ในตนเองตรงตามที่เป็นจริง (Realistic) แต่ถ้าวัยรุ่นเข้าใจตนเองตามที่ผู้อื่นบอกหรือใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไปก็จะมองตนเองไม่ตรงตามความเป็นจริงอาจก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ไม่สามารถวางแผนตัดสินใจเลือกเรียนหรือวางแผนอาชีพให้สอดคล้องเหมาะสมกับตนเองทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตประจำวัน (พนมเกตุมาน, 2550) และจากประสบการณ์ที่ผู้วิจัยเป็นครูแนะแนวมานานกว่า 20 ปี พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสอนบางคนยังไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ทำให้ไม่รู้ว่าตนเองมีความสามารถหรือความถนัดอะไร มีจุดเด่น-จุดด้อยอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าอยากเรียนทางไหนหรืออยากทำอาชีพอะไร ไม่ค่อยอยากทำกิจกรรมเพราะคิดว่าตนเองคงทำได้ไม่ดีและคนอื่นเก่งกว่าตนเองมาก ไม่สามารถวางแผนศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้ทำให้สับสน ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดแรงจูงใจในการเรียนทำให้มีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ตั้งใจเรียน หนีเรียน เกียจคร้าน สับสน วิตกกังวล  คับข้องใจ เครียด และพบว่ากลุ่มเพื่อนจะมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการคิดตัดสินใจและการแสดงออกทำให้นักเรียนตัดสินใจและทำตามเพื่อนซึ่งก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากต่างๆ ตามมามากมาย ซึ่งผู้วิจัยพบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่นักเรียนขาดทักษะชีวิตจึงทำให้ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ทำให้ไม่สามารถเข้าใจตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงและไม่สามารถคิดวางแผนเพื่อตัดสินใจเลือกเรียนหรือวางแผนอาชีพได้เหมาะสมกับตนเอง ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทำให้มีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม   การแนะแนวเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาในของนักเรียนโดยการช่วยให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจตนเองโดยการช่วยให้นักเรียนรู้จักคิดตัดสินใจด้วยตนเอง มีทักษะในการตัดสินใจวางแผนเลือกแนวทางศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคตได้อย่างเหมาะสมกับตนเอง ดังนั้นการพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนจึงควรคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี แนวทางหนึ่งที่อาจนำไปใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นคือ การใช้กิจกรรมแนะแนว เนื่องจากกิจกรรมแนะแนวเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง ความคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจและการแก้ปัญหาของนักเรียนและเป็นการส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนให้พัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ รักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น พึ่งตนเอง มีทักษะในการเลือกแนวทางการศึกษา การงานและอาชีพ ชีวิตและสังคม                   มีสุขภาพจิตที่ดี มีจิตสานึกในการทำประโยชน์ต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551)            จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าทักษะชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นสามารถปรับตัวได้ดีและดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุข    แต่เนื่องจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 บางคนยังประสบปัญหาในการคิดคิดวิเคราะห์ทำให้ไม่รู้จักตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงทำให้ไม่สามารถตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อและประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับตนเองส่งผลให้มีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ตั้งใจเรียน หนีเรียน เกียจคร้าน สับสน วิตกกังวล คับข้องใจ เครียด ดังนั้นผู้วิจัยในฐานะครูแนะแนวจึงต้องการที่จะแก้ปัญหาของนักเรียนดังกล่าวแต่เนื่องจากยังไม่มีชุดกิจกรรมแนะแนวที่สอดคล้องและตรงกับปัญหาของนักเรียน ผู้วิจัยจึงสร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมแนะแนวนี้ขึ้นเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีและเพื่อแก้ปัญหาให้กับนักเรียนโดยพัฒนาทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาเพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผล รู้จักและเข้าใจตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถคิดตัดสินใจวางแผนเลือกแนวทางการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคตได้เหมาะสมกับตนเองและแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้และมีพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสม สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ    วัตถุประสงค์ของการวิจัย                         1.  เพื่อศึกษาผลของการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตที่มีต่อทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5                         2.  เพื่อเปรียบเทียบทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการทดลองของกลุ่มที่ใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต สมมติฐานการวิจัย                         จากการศึกษาวรรณคดีที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นผู้วิจัยจึงตั้งสมมติฐานในการวิจัยดังนี้                         นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง                   การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาโดยใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตหลังการทดลองมีทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาสูงกว่าก่อนทดลอง  กลุ่มตัวอย่าง                          การเลือกกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยมีขั้นตอนในการเลือกกลุ่มตัวอย่างดังนี้                         กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2553 ที่มีคะแนนแบบประเมินทักษะชีวิต ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 ลงมา และเป็นผู้สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 คน  แบบแผนการทดลอง (Experimental Design)                         ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว มีการทดสอบก่อนและภายหลังการทดลอง (One Group Pretest-Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย                         เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่                         1.  แบบประเมินทักษะชีวิต (Life Skills Test) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น                         2.  ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัย               สร้างขึ้น ได้แก่ กิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและเอกสารความรู้เรื่อง “ทักษะชีวิต”  การดำเนินการทดลอง                1.  การดำเนินการทดลอง                   กลุ่มทดลอง                         1.1  ผู้วิจัยทดสอบนักเรียนก่อนเรียนด้วยแบบประเมินทักษะชีวิต                         1.2  ผู้วิจัยได้เตรียมความพร้อม สร้างความคุ้นเคย แนะนำวิธีการเรียน วัตถุประสงค์ บทบาท หน้าที่ ลักษณะงานในการเข้าร่วมกิจกรรม (ปฐมนิเทศ) แก่นักเรียนกลุ่มทดลอง 1 ครั้ง และร่วมกิจกรรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน 17 กิจกรรม จำนวน 18 ครั้งๆ ละ 55 นาที (กิจกรรมที่ 17 จำนวน 2 ครั้ง) โดยผู้วิจัยเป็นผู้จัดกิจกรรมด้วยตนเอง                        1.3  ภายหลังการทดลอง ผู้วิจัยได้ทดสอบนักเรียนด้วยแบบประเมินทักษะชีวิตชุดเดียวกับที่ใช้ทดสอบก่อนเรียน  การวิเคราะห์ข้อมูล                                     การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ในการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้                         1.  คำนวณค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา ก่อนและหลังการทดลองของนักเรียน                    กลุ่มทดลอง                         2.  วิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา โดยส่วนย่อยในแต่ละด้านและโดยรวมก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนกลุ่มทดลองโดยใช้ t-test (dependent) สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล                         กลุ่มทดลองหลังการทดลองมีทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาโดยส่วนย่อยในแต่ละด้านและโดยรวมสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05    สรุปผลจากการสังเกตและสัมภาษณ์                                       ผู้วิจัยได้ติดตามผลหลังการเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตโดยการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนของข้าพเจ้า ครูคนอื่นๆ และผู้ปกครอง สรุปผลได้ดังนี้                          1) การสังเกตพฤติกรรมควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์นักเรียนของผู้วิจัยพบว่า นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์เพื่อเข้าใจความสามารถ ความถนัด จุดเด่น-จุดด้อยของตนเองและพร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาโดยการมีวินัยในการเรียน มีมุ่งมั่น เพียรพยายาม รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ ส่งงานตรงตามเวลา ตั้งใจเรียน ทำงานหรืออ่านหนังสือเมื่อมีเวลาว่าง ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง สนใจและใฝ่รู้ใฝ่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการคิดวางแผนและตัดสินใจเลือกแนวทางการศึกษาและอาชีพของตนเอง นักเรียนสามารถตั้งเป้าหมายการเรียนและอาชีพได้สอดคล้องกับตนเอง รู้จักคิดทางบวกโดยคิดว่าทุกปัญหามีทางออกและตนเองสามารถทำได้ มีการช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในการเตรียมตัวหรือวางแผนในการเรียน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นักเรียนมีสีหน้าเบิกบานแจ่มใส มีความกระตือรือร้น และนักเรียนรู้สึกมีความสุขในการเรียน                          2) ผลจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับครูคนอื่นๆ พบว่า นักเรียนมีความรับผิดชอบต่องาน                 ที่ครูมอบหมาย ส่งงานตรงเวลา มีความมุ่งมั่นสนใจและตั้งใจเรียนมากขึ้นเพราะนักเรียนเข้าใจว่าสิ่งที่เรียนสามารถนำไปใช้ในการศึกษาต่อ นักเรียนศึกษาค้นคว้าข้อมูลและปรึกษากับเพื่อนๆ และครูเพื่อเตรียมตัวในการเรียนต่อ เข้าร่วมและกล้าแสดงออกในกิจกรรมต่างๆ นักเรียนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ร่าเริงแจ่มใส ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ ได้ดี มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนๆ และส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและครู                         3) ผลจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองบอกว่าเมื่อก่อนนักเรียนเครียดและวิตกกังลเกี่ยวกับอนาคต ไม่รู้จะเรียนอะไร ไม่มั่นใจตัวเอง คิดว่าตัวเองทำไม่ได้จึงไม่เอาหลายๆ อย่าง รู้สึกเบื่อและอยากอยู่เฉยๆ แต่ตอนนี้เด็กรู้จักคิดว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร มีความคิดของตัวเองรู้ว่าอยากเรียนอะไรและคิดว่าตนเองทำได้และอยากพยายามทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รู้จักคิดในแง่ดีว่าการที่มีคนมาเลือกเรียนคณะเดียวกับเราเยอะเป็นแรงผลักดันให้ต้องขยันมากขึ้น ต้องอดทนอ่านหนังสือให้มากขึ้น ไม่กลัวคนอื่นมาแย่งเรียน หลังรับประทานอาหารเย็นลูกจะไปอ่านหนังสือ ทำการบ้านเองโดยผู้ปกครองไม่ต้องบอก รู้จักวางแผนในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ติดเกม ไม่ติดหนังหรือละคร ช่วยเหลือทำงานบ้านมากขึ้น ลูกไม่หงุดหงิด ไม่เครียด มีเหตุผล ไม่ก้าวร้าว ตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้เกรดดีๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นทำให้ผู้ปกครองรู้สึกสบายใจและมีความสุขมากขึ้น การอภิปรายผล                         จากการที่ผลการวิจัยเป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง ความคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาสามารถพัฒนาขึ้นได้ในโรงเรียน เมื่อนักเรียนได้รับการฝึกอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่นักเรียนมีความตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้นอาจเนื่องมาจากการออกแบบกิจกรรมแนะแนวที่ผู้วิจัยได้สร้างและพัฒนาขึ้นจะเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเองว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานในด้านใดบ้าง เมื่อนักเรียนทำงานได้สำเร็จนักเรียนจะรู้ถึงความสามารถของตนเอง เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความมั่นใจในคุณค่า และความสามารถของตน สอดคล้องกับงานวิจัยของกรมสุขภาพจิต (2545); ประวิตเอราวรรณ์ (2546); WHO (1997); Smith, et al., (2000) มนัส บุญประกอบ และสาลิกา เมธนาวิน (2544) การรู้จักตนตามความเป็นจริง รู้ว่าตัวเรามีความรู้ ความถนัด ความสามารถ และคุณธรรมเท่าไร อย่างไร และรู้จักแก้ไขปรับปรุง ปรับปรุงตนให้มีความเจริญงอกงามในทุกด้าน (พระธรรมปิฎก ป.. ปยุตโต, 2546; นันทนา ธรรมบุศย์, 2540) ทำให้ตนเองเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดี รู้คุณค่าของตนเองมากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยของเรียม ศรีทอง (2542); ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร (2550) ที่พบว่า การควบคุมตนเองนำไปสู่การพัฒนาสัมพันธภาพเชิงบวก แสดงพฤติกรรมที่ดี และวางเป้าหมายในชีวิตได้อย่างเหมาะสม สามารถเผชิญปัญหาหรือความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นสุข นอกจากนี้กิจกรรมยังให้โอกาสนักเรียนประเมินตนเอง (Self-Evaluation) โดยให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ความสนใจ ความถนัด ความสามารถของตนเองและตัดสินใจว่าตนเองควรปรับปรุงหรือพัฒนาในด้านใด และควรแสดงออกอย่างไร นักเรียนจะมีเกณฑ์ของตนเอง และใช้ความเพียรพยายามในการทำงานทำให้นักเรียนมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือเพื่อนคนอื่นๆ ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ มีคุณค่ามากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยของนวรัตน์ สมนาม (2546) และสมพร สุทัศนีย์ (2551) ที่พบว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางช่วยให้นักเรียนเกิดการตระหนักรู้ในตนเอง                           การที่นักเรียนมีความคิดวิเคราะห์สูงขึ้นอาจเนื่องมาจากการออกแบบกิจกรรมแนะแนวที่ผู้วิจัยได้สร้างและพัฒนาขึ้นนักเรียนจะได้รับการฝึกความคิดวิเคราะห์ในทุกขั้นตอนของกิจกรรม เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานในด้านใดบ้าง ฝึกให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และตัดสินใจว่าตนเองควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรบ้างโดยให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและประเมินปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมด้วยตนเอง ในกิจกรรมผู้วิจัยได้ให้นักเรียนพิจารณาประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหาเพื่อให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจอยากแก้ปัญหา นักเรียนจะพยายามค้นคว้า หาเหตุผลและใช้เหตุผลโดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ใบความรู้ เอกสารความรู้ทักษะชีวิต รวมไปถึงการดึงข้อมูลจากประสบการณ์เดิมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและมีจำนวนมากที่สุดเพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ ในภาพรวม (Ennis, 1985, 1991; Herick, 1995) ตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ จากหลายแง่หลายมุมเพื่อให้ได้ความคิดที่ผ่านการกลั่นกรองพิจารณามาอย่างดี สอดคล้องกับงานวิจัยของ Ruggiero (1998; McKowen (1986); McKowen (1986) และกองวิจัยทางการศึกษา (2541) ที่พบว่าการฝึกความคิดวิเคราะห์โดยให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและประเมินปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมด้วยตนเองค้นคว้า หาเหตุผลและใช้เหตุผลโดยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ จากหลายแง่หลายมุมจนได้เหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอมาสนับสนุนความคิดของตนเองเป็นทักษะสำคัญของการคิดวิเคราะห์                          การใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนี้ผู้วิจัยได้กำหนดกิจกรรมให้มีลักษณะเฉพาะมุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์ ความสามารถ ความถนัด ความสนใจและความต้องการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ตัดสินใจวางแผนด้านการศึกษาและอาชีพ และเพื่อให้นักเรียนมีการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ สอดคล้องกับงานวิจัยของ WHO (1997); Ennis (1991); เพ็ญพิศุทธิ์ เนคมานุรักษ์ (2537) ที่พบว่า การพัฒนาการคิดวิเคราะห์ควรกำหนดเนื้อหาให้มีลักษณะเฉพาะจะทำให้มีประสิทธิภาพดีกว่าการสอนในรายวิชาปกติ เนื่องจากสามารถจัดรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้มากกว่า ซึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ผู้วิจัยได้นำเสนอสถานการณ์ที่เป็นปัญหาให้แก่นักเรียนนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ และมีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน กิจกรรมมีลักษณะกระตุ้นการคิดซึ่งประกอบด้วย การใช้คำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดแก้ปัญหาโดยให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองและระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เช่น ให้นักเรียนอภิปรายแสดงความคิดเห็นร่วมกัน สอดคล้องกับงานวิจัยของสุวิทย์ มูลคำ (2547); McCown, Driscoll and Roop (1996) และในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่ม ผู้วิจัยพบว่านักเรียนมีการตั้งคำถามถามเพื่อนๆ ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจมากขึ้นมีการซักถามพูดคุยกันมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือหาข้อสรุปได้ดีส่งผลให้เกิดการคิดวิเคราะห์มากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยของ Pual (1992) ); George and Straton; (1999); De Bono (1995); Beyer (1987); Yinger (1980); McKowen (1986) ที่พบว่าการขยายเครือข่ายความรู้ที่มีอยู่ออกไปอย่างกว้างขวางเกิดจากการแสดงออกทางภาษา ได้แก่ การพูดและการเขียน ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่มนักเรียนเปิดใจกว้างในการพิจารณาความคิดเห็นเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งอาจมีความคิดเห็นหรือเหตุผลแตกต่างไปจากแนวคิดของตนเองทำให้ผู้เรียนมีความคิดที่หลากหลายโดยสมองจะทำหน้าที่ประมวลความรู้ วิเคราะห์ เลือกและตัดินใจเพื่อจำแนกเปรียบเทียบ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคุณสมบัติ ประโยชน์และโทษตามเหตุและผล นักเรียนสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองผ่านกิจกรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาสมองของผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากขึ้น                         การที่นักเรียนมีการตัดสินใจที่ดีมากขึ้นอาจเนื่องมาจากการออกแบบกิจกรรมแนะแนวที่ผู้วิจัยได้สร้างและพัฒนาขึ้นเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดว่าตนเองมีความสามารถในการทำงานในด้านใดบ้างพร้อมทั้งให้นักเรียนได้ประเมินปัจจัยต่างๆ เพื่อนำมาตัดสินใจว่าตนเองควรเลือกทางเลือกใดที่เหมาะสมกับตนเอง สอดคล้องกับงานวิจัยของ Ennis (1991) และ Facione & Facione (2007) ที่พบว่าการฝึกการตัดสินใจโดยการระบุเป้าหมาย ระบุทางเลือก และพยายามค้นหาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดโดยการแสวงหาข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม ทันสมัยและเพียงพอ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนทำให้นักเรียนมีความคิดที่หลากหลาย มีมุมมองที่กว้างขึ้น และสอดคล้องกับงานวิจัยของGeorge and Straton (1991); De Bono (1995) ที่พบว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเพื่อนำมาพิจารณาวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อกำหนดทางเลือกที่อาจเป็นไปได้เพิ่มเติม ข้อมูลที่นักเรียนใช้พิจารณา ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองเป็นการพิจารณาจุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ สามารถนำมาพิจารณาประกอบในการตัดสินใจได้ และสอดคล้องกับ Facione & Facione (2007); Plous (1993); Lee & Cummins (2004) ที่พบว่า การประมวลข้อมูลเพื่อเลือกและตัดสินใจโดยจำแนกเปรียบเทียบ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคุณสมบัติ ประโยชน์และโทษตามเหตุและผล เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติและประเมินทางเลือกที่นำไปใช้ แม้ว่าทางเลือกที่คิดว่าดีที่สุดแล้วแต่เมื่อนำไปใช้อาจพบข้อบกพร่องที่ไม่ได้คิดมาก่อน เพราะฉะนั้นจะต้องพร้อมที่จะยอมรับและหาทางปรับปรุงแก้ไขผลเสีย  ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้นๆ นอกจากนี้การใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตยังมีลักษณะบูรณาการแนวคิดทางพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจโดยให้นักเรียนฝึกตัดสินใจโดยมองโลกตามความจริงด้วยใจที่สงบ ไม่อยู่ในภาวะอารมณ์โลภ โกรธ หลง หรือประมาท และควรค้นหาข้อมูลและสาเหตุจากแหล่งต่างๆ ให้มากเพียงพอและเป็นปัจจุบัน ตลอดจนพิจารณาตนเองประกอบในการตัดสินใจและปฏิบัติตามแนวมรรค 8 หรือทางสายกลางเพื่อพิสูจน์ผลการเลือกและตัดสินใจให้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองทำให้นักเรียนมีการตัดสินใจที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (พระธรรมปิฎก ป..ปยุตโต, 2546; สาระ (นามแฝง), 2552)                         การที่นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหามากขึ้นอาจเนื่องมาจากกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ผู้วิจัยให้นักเรียนพิจารณาคำถาม ปัญหา หรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหาซึ่งจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นในการคิดหาคำตอบรวมถึงการสร้างแรงจูงใจในการค้นคว้า และแสวงหาคำอธิบายสถานการณ์ที่เป็นปัญหา มีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั้งจากการสังเกตหรือจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ใบความรู้ เอกสารความรู้ทักษะชีวิต จากประสบการณ์เดิมและจากการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่ม การตั้งคำถามถามเพื่อนๆ ในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ การได้ซักถามพูดคุยกันมากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมและมีจำนวนมากส่งผลให้นักเรียนเกิดการคิดที่หลากหลายในการพิจารณาไตร่ตรองข้อมูลอย่างรอบคอบ สอดคล้องกับ Bowell and Kemp (2003); De Bono (1995); Ennis (1985); (1991); Herick (1995) Decaroli (1973); McKowen (1986); ทิศนา แขมมณี (2549) ที่พบว่าการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างข้อมูลเพื่อใช้ในการคาดคะเนคำตอบหรือระบุทางเลือกที่เป็นไปได้ทำให้เกิดขอบเขตและแนวทางในการพิจารณาหาข้อสรุปหรือคำตอบของประเด็นปัญหา และการมีเป้าหมายทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถประเมินตรวจสอบได้ด้วยตัวบุคคลเอง นอกจากนี้ในการอภิปรายภายในกลุ่มนักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งในสถานการณ์ต่างๆ และวิธีการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้นซึ่งเป็นการฝึกคิดเพื่อปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้โดยจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ได้ดี มีความสามารถในการแก้ปัญหาสูงขึ้นซึ่งลักษณะของการแก้ปัญหาส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล  ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้                         จากผลการวิจัยพบว่า การใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตสามารถพัฒนาทักษะชีวิตด้านการตระหนักรู้ในตนเอง ความคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีทักษะชีวิตสูงขึ้น ดังนั้นครูอาจารย์หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถนำชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตในงานวิจัยนี้ไปใช้พัฒนาทักษะชีวิตกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนอื่นๆ ได้   ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป                         1.  ควรจะมีการสร้างแบบฝึกทักษะชีวิตที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในกลุ่มสาระวิชาต่างๆ                      2.  เนื่องจากพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน ดังนั้นน่าจะมีการศึกษาเนื้อหา รูปแบบการพัฒนาทักษะชีวิตแบบอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละวัย รายการอ้างอิงกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.  2545.  คู่มือการสอนทักษะชีวิตในสถานศึกษาระดับมัธยม                ศึกษา.  กรุงเทพมหานคร: ยูเรนัส อิมเมจ กรุ๊ป จำกัด.คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักงาน.  2545.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง)                 พุทธศักราช 2545.  กรุงเทพมหานคร: พริกหวานกราฟฟิค.ทิศนา แขมมณี.  2549.  14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ.  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. นวรัตน์ สมนาม.  2546.  หลักการสอน.  กรุงเทพมหานคร: คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.นันทนา ธรรมบุศย์.  2540.  การเข้าใจตนเองและผู้อื่น. วารสารแนะแนว, 13(168): 19-13.ประวิต  เอราวรรณ์.  2546.  รายงานการวิจัยเรื่อง การสร้างแบบประเมินทักษะชีวิตและผลการส่งเสริม                   ทักษะชีวิตโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน.  กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.พนม เกตุมาน.  2550.  พัฒนาการวัยรุ่น.  [ออนไลน์].  ค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2551, จาก                    http://www.psyclin.co.th/new_page_56.htmพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต).  2546.  พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ.  พิมพ์ครั้งที่ 11.                     กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.เพ็ญพิศุทธิ์ เนคมานุรักษ์.  2537.  การพัฒนารูปแบบพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณสำหรับนักศึกษา                   ครู. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.เรียม ศรีทอง.  2542.  พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน.  กรุงเทพมหานคร: เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร.  (2550, มิถุนายน-กันยายน).  การรู้จักและเข้าใจตนเอง: ฐานในการพัฒนาตนเอง                   ของผู้บริหารมืออาชีพ.  วารสารบริหารการศึกษา มศว, 4(8): 31.ศรีเรือน แก้วกังวาล.  2549.  จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย. พิมพ์ครั้งที่ 9.  กรุงเทพมหานคร:                    สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.สมพร  สุทัศนีย์.  2551.  มนุษยสัมพันธ์. พิมพ์ครั้งที่ 9.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์    มหาวิทยาลัย.สาระ (นามแฝง).  2552.  การตัดสินใจ.  [ออนไลน์].  ค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2552, จาก    http://www.forthais.org/sara/making-decisions.htmสุวิทย์ มูลคำ.  2547.  กลยุทธ์การสอนคิดวิเคราะห์.  กรุงเทพมหานคร: ภาพการพิมพ์.มนัส บุญประกอบ และสาวิกา เมธนาวิน.  2544.  ความฉลาดทางอารมณ์กับครอบครัว.  อีคิว:                   จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ, 1(1), 149-178.อังคณา เมตุลา.  2546.   ผลการใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวแบบบูรณาการที่มีต่อการรู้จักและเห็นคุณค่า                   ในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จังหวัดนครพนม.                     วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการแนะแนว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ภาษาอังกฤษBeyer, B.K.  1987.   Practical Strategies for the Teaching of Thinking.  Boston: Allyn & Bacon.DeBono, E.  1995.  Parallel Thinking.  New York: The Penguin Press.Decaroli, J.  1973.  Critical Thinking.  Social Education, (37), 67-69.Ennis, R. H.  1985.  Critical Thinking and the Curriculum.  National Forum: Phi Kappa Phi Journal,                 65, (1), 28-31. Ennis, R. H.  (1991, Aprill).  Critical Thinking Conception. Draft for Presentation at Area in Chicago.Facione, P.A., and Facione, N.C.  (March-April, 2007).  Talking Critical Thinking, Change: The                 Magazine of Higher Education, George A  Linda A. and  Straton, C Jack .  1999.   Approaching Critical Thinking Through Science.                   The Journal of General Education, 48 (2), 111-117.Herrick, J. A.  1995.  Argumentation: Understanding and Shaping Arguments.  Boston:                 Massachusetts: Allyn & Bacon.Lee, M., and Cummins, T.  2004.  Evidence Accumulation in Decision Making: Unifying the ‘Take                 the Best’ and Rational Models.  Psychonomic Bulletin & Review, 11(4), 343-352.McCown, R., Driscoll, M. and Roop, P.G.  1996.  Educational Psychology 2nd ed.  Massachusetts:                 Allyn & Bacon. McKowen, C.  1986.  Thinking about Thinking: A fifth-Generation Approach to Deliberate Thought                 Crisp Thinking, Critical Thinking, Whole-Brained Thinking.  Los Altos: William                 Kaufmann.Paul, R.W.  1992.  Critical Thinking: What, Why and How.  Critical Thinking.  Educational                 Imperative, (7): 13-15.Plous, S.  1993.  The Psychology of Judgment and Decision Making.  New York: McGraw-Hill.Ruggiero, V.R.  1998.  The Art of Thinking: A Guide to Critical and Creative Thought.  5th ed.           New York: Longman.Smith, D. C., Larson, J., DeBaryshe, B., and Salzman, M.  2000.  Anger Management for Youth:                 What Works and for Whom?  Violence in American Schools: A Practical Guide for                 Counselors.  Reston, Virginia: American Counseling Association.World Health Organization (WHO).  1997.  Life Skills Education for Children and Adolescents in                 Schools. Program on  Mental Health. Geneva.Yinger, J. Robert.  1980.  "A Study of Teacher Planning." Elementary School Journal, 80:107-127.  

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 555 คน กำลังออนไลน์