สถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม

สถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192440237.jpg

               ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2503 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น มีพื้นที่ 812 ตารางเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2506 จากนั้นกรมศิลปากรได้มอบหมายให้หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี และนายทิพา สังขะวัฒนะ  นายช่างศิลป์โท กองสถาปัตยกรรม ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรให้เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ  ด้านศิลปะโบราณคดีและตามหลักวิชาโบราณสถาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2507 
               ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 รั ฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารเป็นการร่วมฉลอง 700 ปี  ของการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยและตั้งชื่ออาคารหลังนี้ว่า อาคารอนุสรณ์ 700ปี ลายสือไท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมารได้เสด็จทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นห้องประชุมและห้องจัดนิทรรศการชั่วคราว

การจัดแสดง

               ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ส่วนใหญ่เป็นศิลปะสุโขทัย ซึ่งเก็บรวบรวมจากการขุดค้น ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา บางส่วนได้จากบริเวณเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และพิจิตร อีกส่วนหนึ่งเป็นของพระราชประสิทธิคุณ  อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานี เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยและประชาชนมอบให้  ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดงได้แก่ ศิ ลาจารึกสมัยสุโขทัย  เครื่องถ้วยสังคโลก พระพุทธรูปแบบต่างๆ พระพิมพ์ที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถาน เทวรูป และอาวุธโบราณ ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง มีอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร 2 หลัง ประกอบด้วย
               1. อาคารลายสือไท เป็นอาคารชั้นเดียว จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสุโขทัยในทุกด้าน ตั้งแต่ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงการพัฒนาเมืองสุโขทัยให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ภายในอาคารยังมีห้องประชุมสำหรับการสัมมนา บรรยายพิเศษ ส่วนบริการนักท่องเที่ยว ที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก
               2. อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่งและบูรณะแหล่งโบราณคดีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และจังหวัดใกล้เคียง โดยแบ่งการจัดแสดงเป็นกลุ่มสำคัญๆ ดังนี้

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192440782.jpg

               1. ประติมากรรมปูนปั้นที่ได้จากวัดพระพายหลวงและวัดมหาธาตุ มีทั้งรูปบุคคล เทวดา และพระพุทธรูป ลักษณะของพระพุทธรูปปูนปั้นจากวัดพระพายหลวง  จะมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม  พระขนงโก่ง พระโอษฐ์เล็กบาง  พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยเล็ก ชายผ้าสังฆาฏิจะพับทบกันหลายชั้น  กำหนดอายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ประติมากรรมจากวัดมหาธาตุ พระพักตร์จะเป็นรูปไข่ ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอย  กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20  สำหรับรูปเทวดาหรือรูปบุคคลนั้น  วัดพระพายหลวงจะมีพระพักตร์หรือใบหน้าค่อนข้างกลม แต่ของวัดมหาธาตุจะเป็นรูปไข่
               2. กลุ่มประติมากรรมก่อนศิลปะสุโขทัย ได้จากศาลตาผาแดง วัดพระพายหลวง วัดศรีสวาย จัดเป็นศิลปะลพบุรี กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18
               3. ศิลปะสุโขทัยพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 ศิลปะสุโขทัยเริ่มตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระ ศิลปะสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด  มีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด  โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่เด่นชัด คือ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง  ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย  พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม (ตามแบบบุรุษ) พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่  บั้นพระองค์เล็ก  ครองจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี  ปลายจีวรเป็นลายเขี้ยวตะขาบ ในสมัยสุโขทัยยังนิยมทำพระพุทธรูปสี่อิริยาบทคือ ยืน เดิม นั่ง และนอน
               4. ศิลปะอู่ทอง ประติมากรรมรูปเคารพเนื่องในพุทธศาสนา มีทั้งปูนปั้นและสำริด สามารถพบพระพุทธรูปในศิลปะอู่ทองตามวัดต่างๆ ในเมืองสุโขทัย สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงเวลาที่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติระหว่างราชวงศ์สุโขทัยบางส่วนกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ ลักษณะของพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเส้นไรพระศกหนา ขมวดพระเกศากลมเล็กคล้ายหนามขนุน พระอุษณีย์เป็นรูปมะนาวตัด พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง
               5. ศิลปะอยุธยา  พระพุทธรูปที่จัดแสดงลักษณะโดยทั่วไปยังคงมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย  พระพักตร์รูปไข่  มีเส้นไรพระศกเล็ก ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยเล็ก พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กบาง นอกจากนี้ ในระยะหลังนิยมสร้างทรงเครื่อง กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 - 23
               6. เครื่องถ้วยจีน ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองสุโขทัย พบทั้งสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และชิง
               7. เครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาทุเรียง เมืองสุโขทัย เตาป่ายาง และเตาเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย รูปแบบภาชนะเป็นแบบถ้วย กระปุก โถ แจกัน ชาม จาน คนโฑ กาน้ำ ตลับ รวมไปถึงตุ๊กตา และเครื่องประดับสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะต่างๆ น้ำยาเคลือบมีทั้งประเภทเคลือบสีเขียวหรือเซลาดอน เคลือบสีน้ำตาล เคลือบขาวหม่นหรือขาวน้ำนม เคลือบใสเขียนลายใต้เคลือบ และเคลือบสองสีคือขาวและน้ำตาล เป็นต้น
              8. พระพิมพ์ มีทั้งพระพิมพ์ดินเผาและเนื้อชิน ได้จากวัดพระพายหลวง วัดมหาธาตุ และวัดป่ามะม่วง เป็นต้น
              9. ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์ฯ ได้นำโบราณวัตถุบางส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง เช่น ใบเสมาหินชนวน ทับหลังหินทราย ฐานประติมากรรมหินทราย  ระฆังหิน  ลูกกรงที่ทำเป็นเครื่องเคลือบ  สังคโลกจากวัดมังกร เตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลก (จำลอง) และช้างปูนปั้นซึ่งจำลองมาจากวัดช้างล้อมเมืองสุโขทัย วั ดช้างล้อมเมืองศรีสัชนาลัย  และวัดช้างรอบเมืองกำแพงเพชร อีกส่วนหนึ่งได้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นลักษณะศิลปะพื้นบ้านสุโขทัย

เวลาเปิดทำการ เปิดบริการทุกวัน ระหว่างเวลา 9.00 - 16.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม       ชาวไทย คนละ 10.- บาท
                              ชาวต่างประเทศ คนละ 30.- บาท

บัตรรวม         ชาวไทย คนละ 30.- บาท
                   ชาวต่างประเทศ คนละ 150.- บาท
สามารถเข้าชมได้ 8 แห่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นใน   อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกด้านเหนือ (เฉพาะวัดศรีชุม)อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นนอกด้านตะวันตก(วัดสะพานหิน)    อุทยานประวัติศาสตร์ชั้นนอกด้านตะวันออก(เฉพาะวัดช้างล้อม)    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก    อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย    ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

 

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192442436.jpg

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192442452.jpg

              อยู่ที่ตำบลวังไม้ขอน หลังวัดสวรรคาราม หรือ วัดกลาง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เป็นสถานที่แสดงศิลปโบราณวัตถุส่วนใหญ่ซึ่งเป็นมรดกของพระสวรรควรนายก (ทองคำ จิตรธร)  เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม ท่านเจ้าคุณสวรรควรนายกเป็นผู้ที่สะสมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ ในขณะที่ท่านได้ดำรงชีวิตอยู่ได้แสดงเจตนาไว้ว่า หากท่านมรณภาพแล้ว ให้ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาติ โดยจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นในวัดสวรรคาราม  หลังจากที่พระสวรรควรนายกได้มรณภาพ  คณะกรรมการวัดและบรรดาสานุศิษย์ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับศิลปโบราณวัตถุเหล่านี้  เนื่องจากไม่พบพินัยกรรมมอบหมายให้ผู้ใดดำเนินการ  คณะกรรมการวัดจึงได้ตกลงมอบให้กรมศิลปากร โดยมีเงื่อนไขว่า  กรมศิลปากรจะต้องสร้างพิพิธภัณฑสถานขึ้นในเขตของวัดสวรรคาราม  ตามประสงค์ของพระสวรรควรนายก กรมศิลปากรจึงได้ตั้งงบประมาณสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  และได้รับอนุมัติงบประมาณให้สร้างอาคาร  เป็นเงินหนึ่งล้านสองแสนบาท

              ในบริเวณหลังวัดสวรรคาราม มีเนื้อที่ที่ทางวัดจัดสรรให้ประมาณ 7 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ไม่เพียงพอในการดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรจึงได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก จำนวน 14 ไร่ ดังนั้นจึงมีเนื้อที่ทั้งหมด 21 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา

              เมื่อกรมศิลปากรได้รับงบประมาณก่อสร้างแล้ว จึงมอบให้สถาปนิกกองสถาปัตยกรรม เป็นผู้ออกแบบอาคาร  เมื่อการก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ กรมศิลปากรก็ยังไม่สามารถนำศิลปโบราณวัตถุเหล่านั้นมาจากวัดสวรรคารามได้ เนื่องจากมีข้อขัดแย้งบางประการในเรื่องการมอบศิลปโบราณวัตถุ  ต่อมาได้เกิดการโจรกรรมพระพุทธรูปที่เก็บรักษาไว้ที่วัดสวรรคารามไปจำนวนหนึ่ง เมื่อพระครูวินัยธร (ยิ้ม) เจ้าอาวาสวัดสวรรคารามมรณภาพลงในปี พ.ศ. 2524 พระครูสุธรรมนิเทศ รองเจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก ได้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวรรคารามจึงได้ดำเนินการ ตรวจสอบศิลปโบราณวัตถุทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง จึงมีหนังสือลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รักษา  โดยมีนายขุนทอง ภูผิวเดือน  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบ  และเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระสวรรควรนายก กรมศิลปากรจึงได้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก

              เมื่อได้รับมอบศิลปโบราณวัตถุแล้ว กรมศิลปากรจึงมอบกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดำเนินการจัดแสดงให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการประกอบพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ให้ทันภายในปีแห่งการเฉลิมฉลอง 700 ปี ลายสือไทย

              ในการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก กรมศิลปากรได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2527

              ในปี พ.ศ. 2544 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก ได้เริ่มจัดทำโครงการ ปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ให้เป็นศูนย์ศึกษาเครื่องถ้วยสุโขทัย หรือเครื่องถ้วยสังคโลกอย่างแท้จริง โดยรวบรวมลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยสุโขทัย และนำตัวอย่างเครื่องถ้วยสุโขทัยชิ้นสำคัญที่ยังเหลืออยู่จัดแสดง

              การจัดแสดงภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก  แบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 เรื่อง  คือ พัฒนาการเครื่องถ้วยสุโขทัย และ พุทธประติมากรรมในศิลปะสมัยต่างๆ  โดยจัดแสดงแนวเรื่องทั้งสองผ่านศิลปวัตถุที่นำเสนอในชั้นล่าง และชั้นสองของอาคาร

              ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของเครื่องถ้วยสุโขทัย  โดยมีศิลปวัตถุที่เป็น  เครื่องถ้วยที่ได้จากการรวบรวมของพระสวรรควรนายก เครื่องถ้วยที่กรมศิลปากรได้จากการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดี  บริเวณเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเครื่องถ้วยที่กรมศิลปากรได้จากแหล่งเรืออับปางในอ่าวไทย คือ บริเวณเกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี การจัดแสดงในส่วนนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้เรื่องเครื่องถ้วยสังคโลก หรือเครื่องถ้วยสุโขทัย

              ชั้นสอง จัดแสดงเรื่องพุทธประติมากรรมในศิลปะต่างๆ โดยเน้นศิลปะสุโขทัยเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปวัตถุที่พระสวรรควรนายกเก็บรวบรวมไว้  และบางส่วนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง  ซึ่งจำแนกกลุ่มพระพุทธรูปที่แสดงได้ตามช่วงระยะเวลา และรูปแบบของศิลปะดังนี้
              1. อิทธิพลเขมร ก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18
              2. ศิลปะล้านนา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-22
              3. ศิลปะสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20
              4. ศิลปะอู่ทอง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19
              5. ศิลปะอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-23
              6. ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 24-25

เวลาเปิดทำการ เปิดบริการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00น. ปิด วันจันทร์ถึงวันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าธรรมเนียมการเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
                             ยกเว้นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร

 

 

พิพิธภัณฑ์ปลาในวรรณคดี

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192462181.jpg

              อยู่ภายในสวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ริมถนนสายพิษณุโลก-สุโขทัย (ทางหลวงหมายเลข 12) เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงพันธุ์ปลาที่อยู่ในวรรณคดีไทย โดยทางจังหวัดสุโขทัยจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ปลาขึ้นเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ที่จะให้มีการจัดแสดงพันธุ์ปลาที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยสมัยต่างๆ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 และแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2539
              ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ จำนวน 34 ชนิด มีปลาในวรรณคดีไทย  เช่น ปลาน้ำผึ้ง ปลาแก้มช้ำ ปลาก้างพระร่วง ปลากา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปลาสวยงาม เช่น ปลาตะเพียนทอง ปลากระทิงไฟ ปลากราย ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาเสือตอ ที่เป็นปลาเศรษฐกิจก็มี เ ช่น ปลาค้าว ปลาเทโพ ปลาเทพา ปลายี่สก ปลาหมอ เป็นต้น โดยจัดแสดงในตู้  มีคำอธิบายลักษณะ ถิ่นที่อยู่อาศัย ชื่อสามัญและชื่อทางวิทยาศาสตร์ เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพันธ์ปลาในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

              เวลาเปิดบริการ เปิดบริการทุกวัน เวลา 9.00-16.00 น โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

 

 

พิพิธภัณฑ์สังคโลก

 

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192463052.jpg

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192463052.jpg

              ตั้งอยู่บริเวณริมถนนเลี่ยงเมือง หมู่ 4 ตำบลบ้านลุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑ์ สังคโลกเกิดขึ้นจากความคิดและความตั้งใจของคุณดำรงค์ และคุณกุศล สุวัฒนเมฆินทร์  ซึ่งเป็นชาวสุโขทัยโดยกำเนิด มุ่งหวังจะนำความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเมืองสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย  และผลงานศิลปะชั้นเอกสมัยสุโขทัย  มานำเสนอให้คนไทยและชาวต่างชาติ ได้ร่วมกันประจักษ์ในความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเมืองสุโขทัย  ท่านได้นำของสะสมที่เก็บรวบรวมมาเป็นเวลากว่า 50 ปี อันได้ แก่พระพุทธรูป เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญยิ่งคือ เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย มาจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย และได้มาตรฐานเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนสุโขทัยในสมัยโบราณ 

             นอกจากนิทรรศการอันเกิดจากความภาคภูมิใจในความเป็นคนสุโขทัยแล้ว ความรักในเครื่องสังคโลกที่สูงด้วยคุณค่าอมตะและกลายเป็นสินค้าสำคัญเมื่อ 700 ปีก่อน ทำให้เกิดการสะสมผลงานเครื่องสังคโลกจากล้านนา ซึ่งงดงามเป็นเอกด้วยฝีมือช่างศิลปะที่เยี่ยมยอด ดังนั้นในพิพิธภัณฑ์สังคโลกนี้จึงมีเครื่องสังคโลกจากล้านนาตั้งแสดงอยู่ด้วย
             พิพิธภัณฑ์สังคโลกมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,376.75 ตารางเมตร ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายมณฑปสี่เหลี่ยมสมัยสุโขทัย ภายในแบ่งพื้นที่จัดแสดงศิลปวัตถุเครื่องสังคโลกและศิลปวัตถุโบราณ โดยใช้รูปแบบก้าวหน้าทันสมัยเช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ นอกจากจะเข้าชมโดยศึกษาจากคู่มือนำชมแล้วยังมีการจัดทำเทปบรรยายการจัดแสดงศิลปวัตถุเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอื่นอีกด้วย

             ห้องโถงกลาง ประดับภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย ทั้ง 4 ด้าน แสดงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในราชอาณาจักรสุโขทัย ความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และแผนที่ของราชอาณาจักรสุโขทัยโบราณ
             ชั้นที่ 1 ส่วนจัดแสดงวิถีชีวิตของคนสุโขทัยสมัยโบราณ แสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อ ของโบราณต่างๆ ที่ขุดค้นได้ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงความยิ่งใหญ่ของสุโขทัย ในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องสังคโลก ซึ่งส่งเป็นสินค้าออกสำคัญไปยังประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์
             ชั้นที่ 2 ส่วนจัดแสดงงานชิ้นเอก เช่น เครื่องเคลือบดินเผาล้านนา ซึ่งงดงามและแฝงไว้ด้วยปรัชญาอย่างลึกซึ้ง
             ชั้นใต้ดิน ส่วนศึกษา เป็นส่วนที่ให้ความรู้ทางด้านการจัดเก็บและการรักษาโบราณวัตถุ รวมทั้งการแยกแยะประเภทและแหล่งที่มาในรูปแบบนิทรรศการ  อนาคตจะมีห้องฉายภาพยนตร์  รวมทั้งสื่อประสมคอมพิวเตอร์  เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองสุโขทัย และเครื่องสังคโลก

             พิพิธภัณฑ์สังคโลก เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนจังหวัดสุโขทัยทุกคน ที่ได้แวะชม จะได้เห็นภาพความรุ่งเรืองของสุโขทัยในอดีตอย่างชัดเจนและมีหลักฐานยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรือง ด้านวัฒนธรรมผ่านเครื่องมือเครื่องใช้ สำริด เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป เครื่องประดับ ตุ๊กตาเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ
             สิ่งที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง คือ มีการจัดสร้างทางลาดและลิฟท์สำหรับผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นหรือ ผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์สังคโลกได้อย่างสะดวกสบาย

เวลาเปิดบริการ เปิดบริการ ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม    ผู้ใหญ่ 250 บาท
                           เยาวชน (อายุไม่เกิน 17 ปี) 50 บาท
                           นักเรียนในเครื่องแบบ 20 บาท

 

 

อาณาจักรพ่อกู สังคโลก

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192464173.jpg

             ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นพิพิธภัณฑ์สังคโลก และศูนย์สาธิตหัตถกรรมเครื่องสังคโลก ดำเนินงานโดย คุณสมเดช พ่วงแผน และคุณประจวบ พ่วงแผน อาณาจักรพ่อกู สังคโลก ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 เป็นวาระครบรอบ 700 ปี กำเนิดลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ขึ้น

             เครื่องสังคโลกสุโขทัย  เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทรงคุณค่า  ทั้งในรูปลักษณ์และแสดงถึงภูมิปัญญาไทย ปัจจุบันเป็นศิลปวัตถุที่หายากยิ่ง มีผู้สนใจเสาะหาและซื้อขายกันในราคาสูง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์เครื่องถ้วยสังคโลกให้คงอยู่กับชาวสุโขทัย  และส่งเสริมให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณสมเดช  และคุณประจวบพ่วงแผน จึงได้ศึกษาเครื่องสังคโลก ตั้งแต่ลักษณะรูปแบบ เนื้อดิน น้ำเคลือบ การเผา จนมีความรู้และสามารถทำเครื่องสังคโลกได้เหมือนเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย และริเริ่มสร้าง อาณาจักรพ่อกู สังคโลก ขึ้น เพื่อสืบสานการผลิตเครื่องสังคโลก ให้เป็นงานฝีมือและสินค้าไทยที่ทรงคุณค่า ทั้งยังจัดแสดงเครื่องสังคโลกสุโขทัย  ที่บรรพบุรุษได้สะสมไว้ให้ ในลักษณะพิพิธภัณฑ์เปิดโดยใช้เทคนิคแสงและเสียงประกอบการนำชม

             เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่จะบริจาคบำรุงโครงการตามกำลังศรัทธา

 

 

สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ

http://www.siamfreestyle.com/forum_classic/uploads/post-1-1192464791.jpg 

             อยู่ที่บ้านหาดเสี้ยว  ตำบลหาดเสี้ยว  บริเวณเดียวกับร้านสาธรศูนย์จำหน่ายผ้าทอพื้นเมืองสุโขทัย คุณสาธร โสรัจประสพสันติ เจ้าของร้านสาธรเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวผ้าทอมือลายโบราณและผ้าที่มีความวิจิตรงดงามที่เก็บสะสมด้วยใจรัก และด้วยความผูกพัน  มาเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำบ้านหาดเสี้ยว  การสะสมผ้าเก่าที่มีอายุเกิน 100 ปี  ผ้าตีนจกลายต่างๆ  ผ้าคลุมหัวช้างลวดลายโบราณ ผ้าขิด ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า การเก็บบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวของผ้าทอมือลายโบราณ เ ป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความวิจิตรงดงามเหล่านี้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย และยังเป็นพิพิธภัณฑ์ทางปัญญาสำหรับผู้สนใจใฝ่เรียนรู้เรื่องผ้าทอมือของไทยได้เป็นอย่างดี

             คุณสาธร โสรัจประสพสันติ ได้รวบรวมผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ 9 ลายไว้อย่างครบถ้วน ผ้าซิ่นตีนจกเหล่านี้มีอายุมากกว่าร้อยปี การให้รายละเอียดและสีสันบนตัวผ้าของผ้าซิ่นเหล่านี้เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่สวยงาม และหาดูได้ยากยิ่ง

             ในพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำบ้านหาดเสี้ยว มีจุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในพิธีแต่งงานของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว เครื่องกองบวช เครื่องแต่งกายสตรีไทยพวนในอดีต ยังมีผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ เช่น จากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดอุตรดิตถ์

             ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์  จัดแสดงเรือนไทยของชาวไทยพวน และเครื่องมือเครื่องใช้  เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว  เคียวเกี่ยวข้าว เกวียน ฯลฯ และยังสาธิตการทอผ้าซิ่น ผ้าพันคอ เป็นต้น

 

สร้างโดย: 
นางสาว ชยาดา ฟองทิพย์สุคนธ์ ม.6/7 เลขที่ 5

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 401 คน กำลังออนไลน์