ทวงคืนผืนป่า เมืองนอกตีค่าป่ากันอย่างไร

รูปภาพของ pornchokchai
ทวงคืนผืนป่า เมืองนอกตีค่าป่ากันอย่างไร
  AREA แถลง ฉบับที่ 068/2566: วันอังคารที่ 24 มกราคม 2566


ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4


 

            เราคงเคยได้ยินวาทกรรม “ทวงคืนผืนป่า”  มานานแล้ว แต่เชื่อว่าป่าไม้ไทยมีแต่นับวันจะหมดตัวลง ที่มีตัวเลขเหลืออยู่มากมายอาจเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น ก่อนที่จะทวงคืนอะไร เราต้องรู้มูลค่าก่อน จะได้รักและหวงแหนอย่างแท้จริง เมืองนอกเขาตีค่าป่าไม้กันอย่างไร มาศึกษากันให้ชัดๆ

 

            ก่อนอื่นมาดูสถานการณ์ในไทยเสียก่อน โดยคุณชุลีพร บุตรโคตร ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ “‘ยุทธการทวงคืนผืนป่า’ ปัญหาไก่กับไข่ ชาวบ้านรุกที่รัฐหรือที่รัฐทับที่ชาวบ้าน” (https://bit.ly/3CisaPA) โดยระบุว่า “ภายหลังการเข้ายึดอำนาจ. . .(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557. . .คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก. . .แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้ผลกระทบต่อชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีความยากจน ไม่มีพื้นที่ทำกิน ลดน้อยลง ทำให้ปัจจุบัน ยังคงเกิดการร้องเรียน  เรียกร้องความเป็นธรรมในที่ดินทำกินหลังปฏิบัติการของ คสช. จนมาสู่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง”

            ในบาทความยังกล่าวว่า “จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทย ช่วงปี 2551 ที่ผ่านมาระบุว่า มีผู้บุกรุกที่ดินของรัฐทั่วประเทศรวม 370,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 ล้านไร่ แยกเป็นบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 58,000 ราย เนื้อที่ 1.5 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 37,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ ที่ดินราชพัสดุ 190,000 ราย เนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ 55,000 ราย เนื้อที่ 1.1 ล้านไร่ และบุกรุกที่ดินรัฐประเภทอื่น ๆ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. 25,000 ราย เนื้อที่ 490,000 ไร่”

            อย่างไรก็ตามปรากฏว่า “นโยบายรัฐแต่ละยุคส่งเสริมให้มีการบุกรุกป่า. . .นำผืนป่าเสื่อมโทรม มาจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่นพื้นที่ปฏิรูปเพื่อการเกษตร พื้นที่นิคมสร้างตนเอง พื้นที่นิคมสหกรณ์ เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของแนวเขตที่ดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวเขตที่ดินของรัฐและแนวเขตป่าไม้ทับซ้อนกัน เพราะแผนที่แนวเขตของแต่ละหน่วยงานไม่ได้จัดทำบนพื้นฐานเดียวกัน จึงทำให้เกิดความสับสนและยากต่อการป้องกันและปราบปรามการบุกรุก และการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิผล”

            สำหรับการดำเนินการ “ทวงคืนผืนป่า” ในทางปฏิบัติปรากฏว่านอกจาก. . . “เป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกโดยนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ แล้ว อีกส่วนหนึ่งจำนวนมากเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคยได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และทำกินอยู่แต่เดิมตามนโยบายของรัฐบาลในยุคก่อน ทำให้การยึดพื้นที่คืนไม่เพียงแต่จะได้ผืนป่ากลับมาจากนายทุนเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงชาวบ้านในพื้นที่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน”

            ประเด็นที่พึงพิจารณาก็คือการให้ชาวบ้านทำกินแบบนี้ มันคุ้มค่าต่อทุกฝ่ายคือชาวบ้านเอง สังคมและประเทศชาติหรือไม่ สมมติการที่ชาวบ้านได้อยู่ในป่า ไม่ต้องเช่าบ้าน ก็อาจประหยัดไปเป็นเงิน 3,000 บาทต่อเดือน สามารถสร้างรายได้ได้อีกครอบครัวละ 10,000 บาทต่อเดือน ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อีก 2,000 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท หรือปีละ 180,000 บาท หากประมาณการผลตอบแทนในการลงทุนเป็น 8% ก็เท่ากับว่ามูลค่าที่ชาวบ้านได้ เป็นเงิน 2.25 ล้านบาท (180,000 บาทหารด้วย 8%)

            ถ้ารัฐบาลสามารถหางานอื่นให้ประชาชนได้ทำโดยมีรายได้เดือนละ 15,000 บาทโดยไม่ต้องไปบุกรุกทำลายป่า เช่น งานในพื้นที่ราบ หรืองานการเกษตรอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่ทำลายป่า ก็จะทำให้เป็นทางเลือกในการดำรงชีวิต ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าโดยภาคประชาชนก็จะหมดไป และเมื่อประสานกับการปราบปรามอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ป่าได้รับการฟื้นฟูได้

 

            ในประเทศญี่ปุ่น ในการประเมินค่าป่าไม้ มีหลักการคือ:

            1. พิจารณาจากผลประโยชน์ซึ่งประเมินค่าเป็นตัวเงินที่จะได้รับจากต้นไม้และผืนป่า และอีกแนวทางหนึ่งก็คือการประเมินด้วยวิธีต้นทุนของการสร้างผืนป่าขึ้นมาทดแทนใหม่

 

            2. ป่าประกอบด้วยที่ดินและต้นไม้ ในแง่หนึ่งเราจึงควรแยกมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ เช่น ซุง ออกมาให้เห็นชัดเจนด้วย

            3. มูลค่ามาจากการพิจารณาราคาที่เคยซื้อขาย ราคาที่จะซื้อจะขาย ความคาดหวังต่อราคา ราคาที่คาดหวังว่าจะซื้อจะขายได้ในอนาคต ต้นทุนค่าสร้างทดแทน และอื่นๆ

            4. ในการประเมินต้นไม้ ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ รูปทรงของต้นไม้ อายุของต้นไม้ คุณภาพหรือเกรดของไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ปริมาตรไม้ ความยาวของท่อนไม้ เป็นต้น

            5. การประเมินค่ายังคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติจากการมีป่าไม้มาประกอบด้วย

 

            ในกรณีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)กล่าวถึงมูลค่าของทรัพยากรป่าไม้มาจากมูลค่าของสิ่งที่สามารถซื้อ-ขายได้โดยตรง อันได้แก่

            1. ต้นไม้ (เช่น การขุดล้อมต้นไม้) เนื้อไม้ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น เป็นวัสดุก่อสร้าง หรือใช้เพื่อการเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

            2. ของป่าที่จะหาได้จากป่าไม้นั้นๆ

            3. สัตว์ป่า

            4. รายได้จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับป่าไม้ รวมทั้งที่พัก ที่สันทนาการ ประชุมสัมมนาในพื้นที่เขตป่าหรือเขตอุทยานแห่งชาติ

 

            นอกจากนี้ยังมีมูลค่าของทรัพย์สินในกรณีของการดำรงอยู่ของป่าไม้ เช่น ป่าไม้ช่วยป้องกันพายุ โดยวัดจากความเสียหายหากไม่มีป่าไม้ การป้องกันการพังทลายของดิน การดูดซับแก๊สพิษต่างๆ  การเป็นแหล่งต้นน้ำของสายธารหรือแม่น้ำลำคลองต่างๆ   ถ้าขาดป่าไม้ผืนนี้จะทำให้เกิดความเสียหายประการใดบ้าง ซึ่งสามารถตีค่าเป็นจำนวนเงิน เพื่อการวัดคุณค่าของป่าไม้นั้นๆ

            อย่างไรก็ตามในการวัดค่าจริงๆ บางครั้งอาจไม่มีข้อมูลราคาซื้อขายจริง ก็อาจสมมติเป็นราคาซื้อขายสินค้าที่เทียบเคียงกันได้ เช่น ถ้าไม่มีไม้ อาจต้องใช้พลาสติกแทน หรือวัสดุก่อสร้างอื่น หรือถ้าไม่มีข้อมูลตลาดของการซื้อขาย ก็อาจใช้ต้นทุนการก่อร่างสร้างป่า ลบด้วยมูลค่าที่พึงได้ หรืออาจพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีของป่าแต่ละพื้นที่และป่าแต่ละประเภท

 

            ในการคำนวณการปลูกป่าสำหรับกรณีในประเทศไทย เช่น ที่จังหวัดน่าน เป็นดังนี้:

            1. ต้นทุนค่าเวนคืนที่ดินจากประชาชนสมมติที่  5,000 บาทต่อไร่ (จากข้อมูลการศึกษานี้ https://bit.ly/3vwqEWs)

            2. ต้นทุนค่าปลูกป่าทั่วไปเป็นเงิน 3,900 บาทต่อไร่ (https://bit.ly/3iaCFxC)

            3. พื้นที่ถูกบุกรุกทั้งหมดในจังหวัดน่าน 1.664 ล้านไร่ (https://bit.ly/3CiIn7B)

 

 

            การนี้แสดงว่ารัฐบาลต้องใช้เงินลงทุนถึง 14,809.6 ล้านบาทเพื่อทวงคืนผืนป่า และยังคงต้องจัดงบประมาณในการตรวจตราเพื่อการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งโดยมีบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการนี้อีก เช่น ประมาณ 5,000 นาย เป็นเงินค่าจ้างคนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงินอีก 900 ล้านบาทต่อปี จึงจะค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ได้สำเร็จ

            ถ้าลงเงินจำนวนนี้เพื่อฟื้นฟูป่าเพื่อส่วนรวม ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

 

 

 
 
 
 
 
 


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 521 คน กำลังออนไลน์