จันทรุปราคาในวันลอยกระทง 8 พฤศจิกายน 2565
จันทรุปราคา
ในวันลอยกระทง 8 พฤศจิกายน 2565
เวลาหัวค่ำของวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ทั้งดวงผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก นอกจากนี้ ยังเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสในเวลาเดียวกันอีกด้วย
ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีรูปร่างเป็นดวงกลมสว่าง ทำให้เงาของโลกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนมืดเรียกว่าเงามืด บริเวณที่มืดน้อยกว่ามากเรียกว่าเงามัว ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามัว ดวงจันทร์มีความสว่างลดลงเพียงเล็กน้อย แทบไม่สามารถสังเกตได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ ช่วงที่เกิดจันทรุปราคาบางส่วนหรือเต็มดวง ผิวดวงจันทร์ส่วนที่อยู่ในเงามืดจะมืดลงอย่างชัดเจน สามารถสังเกตเห็นรูปร่างและสีสันของดวงจันทร์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยตาเปล่า
เหตุการณ์ | เวลา |
---|---|
1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก | 15:02:15 (ไม่เห็น เนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น) |
2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน | 16:09:12 (ไม่เห็น เนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น) |
3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง | 17:16:39 (ไม่เห็น เนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น) |
4. ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด | 17:59:10 (ขนาดอุปราคา = 1.3592) |
5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง | 18:41:39 (ดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืด) |
6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน | 19:49:05 (ดวงจันทร์กลับมาสว่างเต็มดวง) |
7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก | 20:56:11 |
ที่มา http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/uploads/2021/media-4178-61c2c947ac777.png
เมื่อสังเกตจากประเทศไทย จันทรุปราคาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เริ่มขึ้นก่อนที่ดวงจันทร์จะโผล่เหนือขอบฟ้า และดวงอาทิตย์ยังไม่ตก เราจึงไม่สามารถเห็นในช่วงเริ่มปรากฏการณ์ได้ เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์จะขึ้นเหนือขอบฟ้าในทิศตรงกันข้าม เราอาจต้องรอให้ดวงจันทร์เคลื่อนสูงขึ้นและท้องฟ้ามืดลงอีกเล็กน้อย จึงเริ่มสังเกตเห็นดวงจันทร์ได้ ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง หากขอบฟ้าทิศตะวันออกไม่มีสิ่งใดบดบัง เราอาจเห็นดวงจันทร์ได้ราง ๆ เนื่องจากขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ไม่ได้มืดมิดไปทั้งหมด แสงอาทิตย์ที่หักเหและกระเจิงผ่านบรรยากาศโลก ทำให้ผิวดวงจันทร์ไม่มืดสนิท
ที่มา http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/uploads/2022/media-4538-635b409a77840.jp
เมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์และดาวต่าง ๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกจะค่อย ๆ เคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนของโลก พร้อมกับที่ดวงจันทร์เคลื่อนออกจากเงาโลก ดวงจันทร์อยู่ใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุดในเวลา 17:59 น. ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก ภาคใต้ตอนล่างเห็นดวงจันทร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากที่สุด (และอาจมีโอกาสเห็นได้ยากที่สุด) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงจันทร์อยู่สูงที่สุด และท้องฟ้ายังสว่างอยู่ด้วยแสงสนธยา
จันทรุปราคาเต็มดวงจะสิ้นสุดลงในเวลา 18:42 น. เป็นจังหวะที่เริ่มมีแสงสว่างขึ้นที่ขอบดวงจันทร์ และท้องฟ้ามืดลงพอสมควรแล้ว จากนั้นดวงจันทร์จะออกจากเงามืดทั้งดวง หรือสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 19:49 น. แม้ว่าดวงจันทร์จะกลับมาสว่างเต็มดวงแล้ว แต่ปรากฏการณ์ยังไม่สิ้นสุดเสียทีเดียว ผิวดวงจันทร์ยังคงหมองคล้ำอยู่เล็กน้อยต่อไปอีกราว 1 ชั่วโมง จนกระทั่งดวงจันทร์ออกจากเงามัวในเวลา 20:56 น.
เวลาสัมผัสเงาในแต่ละขั้นตอนของจันทรุปราคาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ตำแหน่งดวงจันทร์ที่มองเห็นจากแต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน ดังแสดงตัวอย่างในตารางต่อไปนี้
สถานที่ | บังลึกที่สุด 17:59 น. |
สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 18:42 น. |
สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 19:49 น. |
---|---|---|---|
กรุงเทพฯ | 3° | 12° | 28° |
ขอนแก่น | 6° | 15° | 31° |
จันทบุรี | 4° | 13° | 29° |
เชียงใหม่ | 3° | 12° | 27° |
นครพนม | 8° | 17° | 33° |
นครราชสีมา | 5° | 14° | 30° |
นราธิวาส | 2° | 12° | 27° |
ประจวบคีรีขันธ์ | 2° | 11° | 27° |
ภูเก็ต | - | 9° | 24° |
หาดใหญ่ | 1° | 10° | 26° |
อุบลราชธานี | 7° | 17° | 32° |
จากตารางพอจะกล่าวได้ว่า หากไม่คำนึงถึงสภาพอากาศหรือปริมาณเมฆ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ซึ่งสังเกตจันทรุปราคาครั้งนี้ได้ดีกว่าภาคอื่น ๆ