พระราชประวัติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายการประสูติ และทรงมีพระนามที่บรรดาข้าราชบริพารเรียกกันทั่วไปว่า "ทูลกระหม่อมน้อย"
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มการศึกษาระดับอนุบาลในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ที่โรงเรียนจิตรลดา ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๓ พระชันษาเศษ ทรงมีพระสหายร่วมชั้นเรียนอีก ๒๐ คน ซึ่งมาจากบุตรหลานของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนมหาดเล็กผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาร่วมเรียนด้วยโดยปราศจากชั้นวรรณะ วิชาที่ทรงศึกษาในชั้นอนุบาลนี้ คือ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เลขคณิต และขับร้อง พระอาจารย์ที่ถวายพระอักษรขณะนั้นได้แก่ อาจารย์ท่านผู้หญิงทัศนีย์ บุณยคุปต์, อาจารย์คุณหญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ และอาจารย์คุณหญิงสุนามัน ประนิช ทั้งนี้ปรากฎว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดโรงเรียน พระอาจารย์ และพระสหายเป็นอันดี
เมื่อทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ได้ทรงสอบร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสอบกระทรวงศึกษาธิการ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบได้ที่หนึ่ง ได้คะแนนรวมร้อยละ ๙๖.๖๐ อันเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับระดับชั้น
ประถมศึกษาปีที่เจ็ด จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ ๓๑ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๑ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาแทบทุกด้าน เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รำไทย
ดนตรีไทย และวาดเขียน เป็นต้น ซึ่งมักจะทรงได้คะแนนมากว่าพระสหายในชั้นเดียวกันอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังโปรดทรงหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงพระปรีชาสามารถในทางร้อยแก้วและร้อยกรองอย่างยิ่ง ทรงเริ่มบทพระนิพนธ์ต่างๆตั้งแต่เมื่อทรงพระชนมายุได้เพียง ๑๒ พระชันษา เป็นต้นมา บทพระราชนิพนธ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายในหนังสือหลายเล่ม ตัวอย่างเช่น "อยุธยา" "เจ้าครอกวัดโพธิ์" " ศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร" เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ"พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง" ซึ่งทรงถอดมาจากภาษาบาลี และ "กษัตริยานุสรณ์" ซึ่งทรงทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๑๖ (ขณะนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พระชันษา)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่รักของพระสหายเพราะทรงไว้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเสียสละ ความมีน้ำใจนักกีฬา และความอดทน เคยมีตัวอย่างว่า ทรงวิ่งเล่นกับพระสหายและทรงล้มลงจนได้รับบาดเจ็บ มีพระโลหิตออก บางครางถึงกับพระทนต์บิ่น แต่ก็ไม่กันแสง และไม่ทรงบ่นรำพันถึงความเจ็บปวดเลย
ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดานี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศแผนกศิลปะ ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕ ได้คะแนน ๘๙.๓๐ % ยังความภาคภูมิแก่คณะพระอาจารย์ผู้ถวายการสอน และยังความปีติยินดีแก่ประชาชนทั้ง
ประเทศผู้เฝ้ามองการเจริญพระชนมายุของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
นอกจากพระสติปัญญายอดเยี่ยมที่กล่าวมาแล้ว ยังทรงมีอุตสาหะวิริยะอันยอดเยี่ยมอีกด้วย เนื่องจากระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงมีพระราชภาระที่จะต้องติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่สะดวกต่อการศึกษาเล่าเรียน แต่ก็ทรงติดตามการเรียนอยู่ตลอดเวลา ่ โดยทรงอาศัยเวลาว่างจากการปฎิบัติพระราชกิจประจำวันเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปในบรรดาพระสหายร่วมชั้นเรียนของพระองค์ และในยามที่ทรงมีโอกาสได้เข้าศึกษาด้วยพระองค์เองแล้ว บรรดานิสิตอักษรศาสตร์จะได้เห็นภาพที่เจนตา คือภาพที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถือหนังสือเต็มพระหัตถ์ และทรงหิ้วพระกระเป๋าใบโตบรรจุสรรพตำราเป็นจำนวนมาก ทรงพระดำเนินไปยังห้องเรียนต่างๆ อยู่เป็นประจำ เป็นที่สะดุดตาพิเศษ เนื่องจากนิสิตทั่วๆไป มักถือสมุดหนังสือกันคนละ ๓-๔ เล่มเท่านั้น
ต่อจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยทรงเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับที่หนึ่ง ผลการสอบปรากฎว่าทรงได้ที่ ๔ แต่เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงเลือกเฉพาะวิชาที่สนพระทัย เช่น ภาษไทย ภาษาต่างประเทศ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น ในภาคการศึกษาแรกนั้นเอง ก็ทรงสอบได้เป็นที่หนึ่งของนิสิตชั้นปีที่ ๑ คณะอักษรศาสตร์ ด้วยแต้มเฉลี่ย ๓.๙๔ และทรงสอบได้เป็นที่หนึ่งเช่นนี้ทุกปี จนถึงปีสุดท้ายทรงสอบไล่ได้แต้มเฉลี่ย ๓.๙๘ นับเป็นที่หนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ เช่นเคย จึงทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ และในวันรุ่งขึ้นยังทรงได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทองในฐานะที่ทรงสอบได้ที่หนึ่งมาทุกปีอีกด้วย
แม้จะทรงคร่ำเคร่งต่อการศึกษาเล่าเรียนเช่นนี้ แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ยังทรงปลีกเวลาส่วนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมของคณะอยู่เสมอ เช่น เมื่อทรงศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๑ ก็ทรงเข้าร่วมซ้อมร้องเพลงเชียร์เช่นเดียวกับนิสิตน้องใหม่อื่นๆ ซึ่งการซ้อมร้องเพลงเชียร์นี้มักเริ่มขึ้นในเวลาเที่ยงตรง อันเป็นเวลารับประทานอาหารกลางวัน ดังนั้นนิสิตน้องใหม่ที่จะเข้าซ้อมร้องเพลงเชียร์จะต้องรีบกระวีกระวาด รับประทานอาหารกลางวันเสียตั้งแต่ในช่วงเวลา ๑๐.๕๐ น.-๑๑.๑๐ น. ซึ่งเป็นเวลาหยุดให้นิสิตได้พักผ่อนหรือดื่มน้ำ (ประมาณ ๒๐ นาที) หากอาจารย์ผู้สอน สอนเกินเวลา เวลารับประทานอาหารของนิสิตน้องใหม่ในช่วงนี้ก็จะสั้นลงไปอีก แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงสามารถเสวยพระกระยาหารกลางวันในช่วงเวลาสั้นเเพียงสิบกว่านาที แล้วทรงเข้าร่วมร้องเพลงเชียร์ในฐานะนิสิตน้องใหม่ได้เสมอ
กิจกรรมอื่นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าร่วม คือทรงสมัครเรียนเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย และชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประชาชนทั่วไปมักจะได้พบเห็นภาพที่ทรงดนตรีไทยในโอกาสต่างๆของมหาวิทยาลัยอยู่เนืองๆ โดยโปรดทรงซอด้วงเป็นพิเศษ แม้ว่าจะทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิดก็ตาม ส่วนทางด้านกิจกรรมของชมรมวรรณศิลป์นั้น เคยทรงร่วมกับพระสหายอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้แทนคณะอักษรศาสตร์ แข่งขันกลอนสดระหว่างคณะในมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้ว โดยก่อนการแข่งขันนั้นต้องทรงสละเวลาในชั่วโมงที่ว่างเรียนมาทรงซ้อมกลอน และทรงแสดงความเป็นปฏิภาณกวีให้บรรดาพระสหายเห็นประจักษ์ในการซ้อมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่พระองค์สนพระทัยฝักใฝ่ในวรรณกรรมต่างๆ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์นั่นเอง
นอกจากกิจกรรมของทางสโมสรนิสิตจุฬาฯ แล้ว ยังทรงเป็นสมาชิกชมรมภาษาไทย ชมรมภาษาตะวันออก และชมรมประวัติศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์ และยังทรงเป็นกรรมการ จัดหาเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ "อักษรศาสตร์พิจารณ์" ของชุมนุมวิชาการคณะ
อักษรศาสตร์อีกด้วย ในบางครั้งก็พระราชทานบทพระนิพนธ์ลงพิมพ์ด้วย เช่นเรื่อง"การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุ๊สตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ แห่งประเทศสวีเดน " และร้อยกรองต่างๆ กล่าวได้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความร่วมมือแก่ทางคณะและมหาวิทยาลัยมากว่านิสิตบางคนด้วยซ้ำไป และทรงปฏิบัติพระองค์ตามระเบียบประเพณีของทางมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด ทรงเข้าร่วมพิธีต่างๆทุกพิธีที่ทางมหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์จัดขึ้น เช่น พิธีรับน้องใหม่ พิธีไหว้ครู พิธีปฏิญาณตนเป็นนิสิตใหม่คณะอักษรศาสตร์ เป็นต้น ในพิธีรับร้องใหม่นั้น เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นน้องใหม่ที่พี่ๆ มีความตื่นเต้นสนใจเป็นพิเศษ จึงทรงถูก "รับ" จนเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง พระเสโทหลั่งไหลตลอดเวลา แม้กระนั้นพระองค์ก็แย้มพระสรวลเสมอ ไม่เคยทรงแสดงว่าเบื่อหน่ายหรือรำคาญใครๆเลย นอกจากนี้ ในคราวที่คณะอักษรศาสตร์จัดการพัฒนาคณะ เกณฑ์นิสิตมาช่วยกันเก็บเศษกระดาษ ทำความสะอาด ตลอดจนปลูกต้นไม้ประดับคณะเพิ่มเติม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงเข้าร่วมอย่างขยันขันแข็ง โดยทรงจับจอบฟันดินด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับฉายาว่าเป็น"หนอนหนังสือ" พระองค์หนึ่ง นอกจากจะสนพระทัยในการอ่านหนังสืออย่างจริงจังแล้วยังทรงเป็นนักสะสมหนังสือด้วย หนังสือที่มีคุณค่าบางเล่ม ซึ่งไม่ทรงมี แต่พระสหายมีก็จะทรงยืมหนังสือเหล่านั้นจากพระสหายไปอ่าน เพื่อมิให้พลาดหนังสือเล่มนั้นไป จากการอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากนี่เอง ทำให้ทรงรอบรู้ในวิชาการต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาไทย และภาษาตะวันออก เป็นอย่างดี
สิ่งซึ่งสนับสนุนการศึกษาประการหนึ่งของพระองค์ ก็คือพระพลานามัยอันสมบูรณ์ ทรงโปรดกีฬา และการออกกำลังกายต่างๆ ระหว่างทรงศึกษาอยู่นั้น หามีการแข่งขันกีฬาก็จะทรงเข้าร่วมด้วยอย่างเต็มพระทัย เคยทรงร่วมการแข่งขันฟุตบอลในคณะอักษร
ศาสตร์ และทรงร่วมทีมนิสิตน้องใหม่ชักคะเย่อกับทีมอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทรงปฏิบัติด้วยความร่าเริงแจ่มใส เป็นที่ประทับใจแก่บรรดาพระสหายรุ่นพี่และรุ่นน้องอย่างยิ่ง หลังจากทรงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตร์บัณฑิตแล้ว
ได้ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในบัณฑิตวิทยาลัย ทั้งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยยาลัย และคณะโบราณคดี มหาวิทาลัยศิลปากร ที่คณะอักษรศาสตร์ ทรงเลือกศึกษาวิชาบาลีและสันสกฤต ส่วนที่คณะโบราณคดี ทรงศึกษาวิชาจารึกภาษา
ตะวันออก
การที่นิสิตผู้ใดจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทนั้น มิใช่เรื่องง่าย และการศึกษาระดับปริญญาโททั้งสองมหาวิทยาลัยพร้อมกันยิ่งเป็นเรื่องยากกว่าหลายเท่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกิจมากเกินกว่าจะทรงทำวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทของทั้งสองมหาวิทยาลัยได้พร้อมกัน จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง" เพื่อรับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้ได้ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการไปด้วยดี ทำให้ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิตของหมาวิทยาลัยศิลปากร จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ และ หลังจากนั้น ก็รงขะมักเขม้นศึกษาต่อที่บัณฑิตวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต ได้ทรงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง"ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท" จนทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ และพระองค์ มิได้ทรงหยุดยั้งการใฝ่หาวิชาความรู้ ได้ทรงศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อไปอีก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเน้นหนักทางด้านพระปรีชาสามารถในการศึกษา และการวางพระองค์ในหมู่พระสหาย แต่นอกเหนือจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงปฏิบัติพระภารกิจสำคัญที่ทรงได้รับมอบหายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ลุล่วงไปด้วยดี เช่น การเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุ๊สตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ ณ กรุงสต็อคโฮม ประเทศสวีเดน ในปี ๒๕๑๖ (ซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องการเดินทางนี้ไว้ด้วยตามที่กล่าวมาแล้ว) และการเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอิสราเอลและอิหร่าน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอิสราเอล และเจ้าชายเรซา ปาห์เลวี และเจ้าหญิงฟาราห์นาซ ปาห์เลวี แห่งอิหร่าน เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาของประเทศทั้งสอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๐
ต่อจากนั้น ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน - ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงร่วมพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์ขึ้นเป็นพระราชินีแห่งประเทศเนเธอแลนด์ ในปีเดียวกัน ระหว่างวันที่ ๑๙ พฤษภาคม -๓ มิถุนายนได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ไปทรงเยือนประเทศฝรั่งเศส ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลฝรั่งเศส และเยือนประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๘-๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๓ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อทอดพระเนตรกิจการด้านการศึกษาและวัฒนธรรม กิจกรรมด้านกาชาด ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศทั้งสอง ทั้งยังเสด็จฯประเทศเบลเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ ในฐานะราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและพระราชินีฟาบิโอลา ระหว่างวันที่ ๓-๕ มิถุนายน ๒๕๒๓ ด้วย
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๐ พฤษภาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนประเทศจีน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทรงเป็นอาคันตุกะของนายจ้าว จื่อหยาง นายกรัฐมนตรีในโอกาสนี้ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือชื่อ "ย่ำแดนมังกร" บรรยายเรื่องการเดินทาง และบุคคล ตลอดจนสิ่งที่พระองค์ได้ทรงพบปะไว้อย่างละเอียดและสนุกสนานชวนอ่านยิ่ง เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ศกเดียวกัน ก็ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จฯไปทรงร่วมในพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารของอังกฤษ และเลดี้ ไดอาน่า ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ดังนี้ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕ เสด็จฯเยือนสวิส เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเยี่ยมองค์การกาชาดสากล และห้องสมุด
สหประชาชาติ แล้วเสด็จฯ เมืองโลซานน์ เพื่อเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระหว่างวันที่ ๑-๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ เสด็จฯเยือนสาธารณรัฐออสเตรีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลออสเตรีย และโดยเฉพาะที่ออสเตรียนี้ สภามหาวิทาลัยอันน์สบรุก ได้
ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์ (Honorary Senator ) แห่งมหาวิทยาลัยอินน์สบรุก เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสายสร้อยทอง ( Gold Chain ) ซึ่งนับเป็นสตรีเอเซียคนแรก และเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่
ได้รับเกียรตินี้ ต่อจากนั้นระหว่างวันที่ ๙-๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๕ จึงได้เสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งทุกสถานที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ประทับใจ ทั้งของชาวไทยที่พำนักในประเทศนั้นๆ และชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘ อันเป็นวันคล้ายพระราชสมภพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงทหาร และตำรวจพิการจากโรงพยาบาลต่างๆ ณ ศาลาดุสิดาลัย และในโอกาสนี้ ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิสายใจไทยขึ้นโดยพระราชทานให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธานมูลนิธิ เนื่องจากทรงตระหนักดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเป็นผู้มีพระทัยอ่อนโยน ทรงพระเมตตา และทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของผู้อื่นอยู่เสมอ เหมาะสมกับตำแหน่งนี้เป็นอย่างยิ่งในวันนั้นสมเด็จพระนางเจ้าพรระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งเป็นทุนเริ่มแรก และได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบโดยเสด็จพระราชกุศลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธินี้ มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือทหารตำรวจพลเรือน ตลอดจนอาสาสมัครที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันประเทศชาติ โดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินหรือส่งเสริมอาชีพแก่ครอบครัวหรือตัวผู้ประสบเคราะห์ร้ายนั้น เพื่อให้เขาเหล่านั้นตระหนักว่าแม้จะพิการหรือเสียชีวิต เขาหรือครอบครัวของเขาก็มิได้ถูกทอดทิ้ง
ปัจจุบัน มูลนิธิสายใจไทยฯได้มีที่ทำการถาวรแล้วที่ถนนศรีอออยุธยาข้างสถานีตำรวจพญาไทที่ตึกนี้มีการเปิดจำหน่ายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิสายใจไทยฯและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯในวันและเวลาราชการด้วย
นับวันมูลนิธิสายใจไทยฯก็จะเติบโตและทวีรายจ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะองค์ประทานมูลนิธิฯจึงได้ทรงพระวิตก และทรงพยายามหารายได้ทุกวิถีทางให้แก่มูลนิธิฯอยู่เสมอ ทั้งที่กำลังทรงศึกษาอยู่นั้นไม่ว่าใครจะจัดงานหาเงินเพื่อ
มูลนิธิสายใจไทยฯถ้าเชิญเสด็จพระราชดำเนินแล้วถ้าทรงว่างพอก็มักไม่ทรงขัดข้อง
จากพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจอันดีเลิศเช่นนี้เองจึงทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ดังที่ประชาชนได้ทราบอยู่แล้ว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชภาระมากยิ่งขึ้นตามวันและเวลาที่ล่วงไป แต่ก็ทรงตั้งพระทัยปฏิบัติพระราชกิจอย่างเข้มแข็ง นอกจากจะทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเก้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบริหารงานของสภากาชาดไทยด้วยความเอาพระทัยใส่ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมประชุมคณะกรรมการของสภากาชาดอยู่เสมอ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมในกิจการของสภากาชาดอยู่เนืองๆ ทรงชักนำให้สภากาชาดมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น และได้เสด็จ พระราชดำเนินออกไปทรงช่วยเหลือประชาชนด้วยพระองค์เอง เช่น เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๒ ได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกันที่บริเวณสถานีรถไฟตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยราษฎรเหล่านี้อย่างยิ่ง จึงทรงนำเจ้าหน้าที่กองบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกำลังรับการรักษาในโรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลวิชิระ จำนวน ๔๑ ราย ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ และเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๒ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมทหารและราษฎร อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ที่อพยพหลบหนีมาจากชายแดน ซึ่งกำลังมีภัยจากการปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชาสองฝ่าย ราษฎรเหล่านี้เสียขวัญและหวาดผวา ไม่กล้าประกองบอาชีพยังภูมิลำเนาเดิม เพราะบางครั้งก็มีกระสุนปืนตกเข้ามาถึงเตไทย บางครั้งก็มีทหารกัมพูชาออกลาดตระเวนหาเสบียงอาหารตามชายแดน ราษฎรจำต้องโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ห่างจากชายแดนพอสมควร เพราะไม่แน่ว่าการปะทะกันนั้นจะล้ำเข้ามาในเขตไทยเมื่อใด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกำลังใจ และพระราชทนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนเหล่านั้น นอกจากนั้นยังทรงห่วงใหญ่ในสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ของกาชาดที่ไปปฏิบัติงานช่วยเหลือราษฎรผู้อพยพกับชาวกัมพูชาผู้ลี้ภัย รวมทั้งทหาร ตำรวจ และผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ชายแดน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมสถานีกาชาด หน่วยทหาร และตำรวจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๒ และพระเมตตาบารมียังได้แผ่ไปถึงชาวกัมพูชานับแสนๆคนที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ตามชายแดนด้วย ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้ลี้ภัย ณ ศูนย์อพยพบ้านแก้ง ตำบลบ้านแก้ง อำเภอสระแก้ว สถานีกาชาดอรัญประเทศ ราษฎรอพยพหนีภัยบานป่าไร่ และบ้านโคกเพ็ก ตำบลตาพระยา อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๒
ตลอดเวลาที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จะทรงบันทึกข้อมูลต่างๆถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดุจราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้ประกอบพระวิจารณญาณในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการชลประทานและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมการอบรมวิทยาการสมัยใหม่ด้านการศึกษาข้อมูลระยะไกล ที่ศูนย์ศึกษาข้อมูลระยะไกล (ASIAN INSTITUTE OF
TECHNOLOGY CENTER ) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ASIAN INSTITUTE OF TECHNOLOGY) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สถาบัน เอ.ไอ.ที (A.I.T.) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗
หลักสูตรที่ทรงศึกษานั้นประกอบไปด้วยภาคทฤษฎี มีการศึกษาข้อมูลจากระยะไกลเกี่ยวกับระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ระบบเครื่องมือบันทึกข้อมูล ระบบเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลทฤษฎีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสายตาและคอมพิวเตอร์ ภาคปฏิบัติมีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสายตาในห้องปฏิบัติการและวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังมีภาคสนาม คือาการออกไปสนามเพื่อรวบรวมข้อมูล และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลภาพถ่าย ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่ปรากฎจริงบนภาคพื้นดิน
วิทยาการที่ทรงศึกษานั้นสมารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านผลผลิตทางการเกษตรการลดการป่าไม้ การบริการแหล่งน้ำการสำรวจทางธรณีวิทยา การหาแหล่งแร่ และน้ำมันปิโตรเลียม การทำแผนที่ การใช้ที่ดิน และการวาแผนงานสำหรับในเมืองและชนบท
ประชากรศาสตร์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตลอดจนงานเพื่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์แก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชกรณียกิจของพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี นั้นมีมากมายจนมิอาจบรรยายให้ครบถ้วนได้ แต่ละอย่างล้วนยิ่งใหญ่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งสิ้น ดูประหนึ่งว่าสตรีธรรมดาผู้ใดก็มิอาจจะรับภาระนี้ไว้ได้ แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ก็ทรงรับไว้ด้วยความเต็มพระทัย ด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยและพระคุณธรรมอันล้ำเลิศของพระองค์ ดังนี้ พระองค์จึงคู่ควรแก่ความเป็น "ปิยชาติ"โดยแท้