Medicine

  ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล


ยาคืออะไร? มีบทบาทอย่างไรกับชีวิตประจำวันของมนุษย์? 

 


โดยความหมายทั่วไป ยา หมายถึงสารที่ใช้เพื่อการป้องกัน บำบัดรักษา หรือตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งอาจจะได้มาจากการสังเคราะห์หรือจากแหล่งธรรมชาติก็ได้ ส่วน โรค นั้นหมายถึงความเจ็บป่วยของร่างกายหรือจิตใจซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์เองหรือเกิดโดยการรุกรานจากภายนอก เช่น จากเชื้อโรค เป็นต้น ดังนั้นยาจึงเป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอมของร่างกายมนุษย์ที่ต้องควบคุมการใช้ให้เหมาะสมถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงร้ายต่อตัวผู้ป่วยเองโดยธรรมชาติ เมื่อมนุษย์เกิดความเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อใดก็จะหาทางทำให้บรรเทาหรือหายขาดไปด้วยวิธีการต่างๆ บางคนอาจจะไปพบแพทย์ บางคนอาจจะหาซื้อยารับประทานเอง บางคนอาจจะหาสมุนไพรมาใช้ หรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือใช้กรรมวิธีทางไสยศาสตร์ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเชื่อของแต่ละบุคคล ในปัจจุบันยามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากเนื่องจากสาเหตุหลายประการ กล่าวคือเมื่อความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ ทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตามมนุษย์กลับมีโอกาสออกกำลังกายน้อยลงและต้องสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆ เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยนั้นมากมายจนการบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลของรัฐมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับการใช้บริการดังกล่าวจากโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาด้วยการหาซื้อยาตามร้านขายยาและกลายเป็นเหมือนวัฒนธรรมการรักษาโรคด้วยตนเองในสังคมไทยจะเห็นได้ว่าปัจจุบันยากลายเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเจ็บป่วย ดังนั้นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับยา จะมีส่วนช่วยอย่างมากให้การใช้ยาเป็นไปอย่างปลอดภัย

  พฤติกรรมการใช้ยามีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร?

พฤติกรรมการใช้ยาของมนุษย์ถูกกำกับโดยปัจจัยทางสุขภาพคือความเจ็บป่วยของร่างกายและปัจจัยทางจิตวิท-ยาคือสภาพแวดล้อมสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้คือ

- การใช้ยาทางการแพทย์ หมายถึงการใช้ยาที่อิงวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยเป็นการใช้ยาเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคที่วินิจฉัยแล้วโดยแพทย์ในกระบวนการรักษาโรคในโรงพยาบาลหรือคลินิก หรือการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยตัวผู้ป่วยเองอย่างถูกต้องหลักการ

- การใช้ยาคลาดเคลื่อนหลักการแพทย์ หมายถึงการใช้ยาที่ยังอิงวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ แต่การใช้ยาดังกล่าวไม่ถูกหลักการแพทย์ เช่น การใช้ยาขนาดต่ำหรือสูงกว่าที่แพทย์สั่ง การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบกำหนดเวลา การใช้ยาสมุนไพรโดยไม่มีหลักฐานยืนยันสรรพคุณที่เชื่อถือได้ หรือการใช้ยานอนหลับและยาคลายกังวลพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น เป็นต้น สาเหตุของการใช้ยาอาจเกิดจากความไม่รู้จริง ความเข้าใจผิด หรือการเชื่อคำชักชวนหรือโฆษณา

- การใช้ยานอกทางการแพทย์หรือการใช้ยาในทางที่ผิด หมายถึงการใช้ยาที่ไม่อิงวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ แต่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ขัดต่อการยอมรับของสังคมหรือกฏหมาย เช่น การใช้ยาแอมเฟทตามีนหรือยาบ้ากระตุ้นให้ไม่ง่วงนอนและทำงานได้ทนขึ้นการใช้มอร์ฟีนหรือยานอนหลับเพื่อทำให้เกิดภาวะเคลิ้มฝัน สาเหตุของการใช้อาจเกิดจากความตั้งใจของผู้ใช้ยา การอยากลอง การหลงผิด การถูกหลอกลวง หรือความรักสนุก

- การติดยา หมายถึงการใช้ยาที่ตัวผู้ใช้เองไม่สามารถควบคุมการใช้ดังกล่าวได้ แต่จำเป็นต้องใช้เนื่องจากร่างกายต้องอาศัยยานั้นในการทำงานตามปกติ หรือกล่าวได้ว่าในกรณีการติดยานั้นยาเป็นตัวควบคุมผู้ใช้ยาเสียเอง เช่น การติดยาบ้า การติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนเป็นต้น ส่วนใหญ่การติดยามีสาเหตุมาจากการใช้ยาในทางที่ผิดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้สารบางอย่างซึ่งไม่ได้เป็นยาในทางที่ผิดจนเกิดการติดยาเช่น การใช้โคเคน ยาอี แอลเอสดี สารระเหย ซึ่งแม้บางตัวจะเรียกชื่อเหมือนยาแต่ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ยา ดังนั้นปัจจุบันจึงอาจใช้คำว่า สาร แสดงภาพรวมแทนคำว่า ยา ได้ เช่นการใช้สารในทางที่ผิด การติดสารเสพย์ติด เป็นต้น

 

ทำไมยาจึงสามารถรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยต่างๆ ได้

 


โรคหรือความเจ็บป่วยเป็นความผิดปกติของร่างกายซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่บกพร่องหรือแปรปรวนของระบบต่างๆ ในร่างกาย หรือเกิดจากการรุกรานจากศัตรูภายนอก เช่น เชื้อโรค ไวรัส ความผิดปกติดังกล่าวมีทั้งที่เกิดทางกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานโรคแผลในทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง และเกิดทางใจหรือจิตอารมณ์ เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ยาที่ใช้รักษาโรคจะออกฤทธิ์ไปทดแทน ปรับเปลี่ยนต่อต้าน หรือหักล้างกระบวนการในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับโรคทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายกลับมาสู่สภาวะที่ใกล้เคียงปกติที่สุด ผลรวมที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยก็คืออาการโรคบรรเทาลง ต้นเหตุโรคหมดไป หรือร่างกายปรับตัวไปอยู่ที่สมดุลย์ใหม่ ตัวอย่างเช่น กรณีของโรคแผลในทางเดินอาหารที่เกิดจากกระเพาะอาหารหลั่งกรดเกิน ยาที่ใช้รักษาอาจจะออกฤทธิ์ต่างกันได้หลายแบบ เช่น สะเทินกรดที่หลั่งออกมาแล้วให้เป็นกลางเพื่อไม่ให้ทำอันตรายต่อผนังกระเพาะลดการหลั่งกรดให้น้อยลง หรือเพิ่มความต้านทานของเยื่อบุผนังลำไส้ให้ทนกรดมากขึ้น โรคเบาหวานเกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนที่ช่วยในการใช้น้ำตาลของเซล มีผล
ทำให้น้ำตาลหลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดมาก ดังนั้นยาที่ใช้รักษาอาจเป็นฮอร์โมนอินซูลินที่ให้ทดแทน ยาที่กระตุ้นการผลิตและการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน หรือยาที่เร่งให้เซลใช้น้ำตาลได้มากขึ้นก็ได้ โรคจิตเภทเกิดจากการทำงานมากเกินไปของสารสื่อประสาทในสมองบางตัวทำให้การรับรู้และความนึกคิดผิดเพี้ยน ยาที่ใช้รักษาก็จะไปต่อต้านการทำงานของสารสื่อประสาทดังกล่าวให้น้อยลงกระบวนการต่างๆ ที่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยอาจมีผล

รักษาได้ระดับหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาจริงก็ได้ทั้งนี้โดยอาศัยความคาดหวังหรือความศรัทธาของผู้ป่วยต่อกระบวนการรักษา ผลเช่นนี้เรียกว่าผลของยาหลอกหรือผลทางจิตใจ เกิดขึ้นในหลายกรณีโดยเฉพาะกับโรคทางจิตอารมณ์สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมการรักษาทางไสยศาสตร์ น้ำมนต์ คาถา การรักษาโดยใช้ยาที่โฆษณาเกินจริง การให้กำลังใจ หรือแม้แต่การพบปะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงทำให้ผู้ป่วยบางรายทุเลาจากความเจ็บป่วยได้ ด้วยเหตุนี้ในกระบวนการรักษาโรคทั่วไป สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรที่มีส่วนร่วมในการรักษาจึงมีความสำคัญต่อผลของการรักษาเป็นอย่างมาก

 

วิธีการใช้ยาทั่วไปมีกี่แบบและมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร?

 


ในการรักษาโรคด้วยยาสามารถใช้ยาได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่นรูปแบบยาที่มีอยู่ขณะนั้น ความรุนแรงของโรค ความฉับไวของผลยาที่ต้องการ ราคายาในรูปแบบต่างๆ และความสะดวกต่อผู้ป่วย ประการสำคัญที่สุดคือความร่วมมือจากผู้ป่วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลรักษาสูงสุดโดยมีผลไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด วิธีที่ใช้อยู่ทั่วไปได้แก่

 

การให้ยาทางปาก วิธีหลักคือการรับประทานซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันบ่อยที่สุด ข้อดีของวิธีนี้คือความสะดวก ปลอดภัย ราคายารับประทานมักถูกกว่ารูปแบบอื่น ขั้นตอนการใช้ไม่ยุ่งยากและใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ ข้อเสียของวิธีนี้คือยาจะต้องผ่านทางเดินอาหารและดูดซึมผ่านผนังกระเพาะและลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด จึงออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแปรผันแตกต่างตามสภาพการดูดซึม โดยทั่วไปยาน้ำมักถูกดูดซึมได้เร็วกว่ายาเม็ดหรือยาแคปซูล ยาที่ไม่ปะปนกับอาหารในกระเพาะจะมีโอกาสถูกดูดซึมได้มาก ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่มีข้อจำกัดใดๆ ควรรับประทานยาในขณะที่ท้องว่าง ได้แก่ก่อนอาหารประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงหรือหลังอาหารประมาณสองถึงสามชั่วโมง ตัวอย่างยาที่จำเป็นต้องรับประทานเช่นนี้ได้แก่ยาที่ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารหรือจับควบกับส่วนประกอบของอาหารได้มาก เช่นยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลลิน เตตร้าซัยคลิน เป็นต้น อย่างไรก็ดียาบางอย่างมีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหารหรือกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาแก้อักเสบของกล้ามเนื้อ-ไขข้อ-กระดูก ก็จำเป็นต้องเลี่ยงไปรับประทานหลังอาหารทันที ยาลดกรดและยาขับลมชนิดเม็ดควรจะเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อให้แตกเป็นชิ้นเล็กจะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะได้มากขึ้น ยาบางชนิดควรกลืนทั้งเม็ดไม่ควรขบให้เคลือบยาแตกก่อนกลืนเพราะเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้เม็ดยาค่อยๆ ละลายทีละน้อยเป็นต้น ดังนั้นการรับประทานยาควรจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

 

การให้ยาด้วยการฉีด ได้แก่การฉีดเข้าหลอดเลือด การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เป็นต้น ข้อดีของวิธีนี้คือยาจะเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วเนื่องจากอุปสรรคของการดูดซึมมีน้อย หรือในกรณีการฉีดเข้าหลอดเลือดยาจะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง เมื่อเข้ากระแสเลือดได้เร็วก็จะกระจายไปยังบริเวณที่เกิดโรคได้เร็วและเห็นผลยาได้เร็ว วิธีเหล่านี้จึงเหมาะสำหรับใช้เพื่อการรักษาที่ต้องการเห็นผลอย่างฉับพลัน โดยทั่วไปการฉีดยาเข้าหลอดเลือดจะเห็นผลเร็วที่สุด ข้อเสียของวิธีนี้คือไม่สะดวกเพราะต้องอาศัยทักษะในการให้ยาจึงต้องกระทำโดยแพทย์หรือพยาบาล การให้ยามักทำให้เจ็บปวด ราคายาค่อนข้างแพง มีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายจากผลข้างเคียง ผลพิษ และการแพ้ยาสูง ดังนั้นการให้ยาด้วยการฉีดจึงมักจะใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เช่น อาการของโรครุนแรง ยาดูดซึมไม่เพียงพอจากการรับประทาน เป็นต้น

การให้ยาเฉพาะที่ หมายถึงการให้ยาที่ต้องการให้ออกฤทธิ์ ณ จุดที่มีการเกิดโรคเท่านั้นส่วนใหญ่เป็นการให้ยาภายนอก ได้แก่การหยอดยา การเหน็บยา การพ่นยา การทายาการนวดยา เป็นต้น ข้อดีของวิธีนี้คือยาจะมีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้นและมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดน้อยจึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย ข้อเสียคือใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณพื้นผิวร่างกายเท่านั้นและอาจเกิดความเลอะเทอะ ฤทธิ์ของยาอยู่ไม่ได้นาน

การให้ยาวิธีอื่นๆ ได้แก่ การอมใต้ลิ้น การฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง การดมยา การแปะแผ่นยาซึ่งแต่ละวิธีจะมีจุดมุ่งหมายพิเศษ เช่น การอมใต้ลิ้นใช้กับยาที่ต้องการเห็นผลรวดเร็วและลดการทำลายฤทธิ์ยาโดยตับ เนื่องจากกระแสเลือดที่นำยาจากอุ้งปากนั้นไม่ผ่านตับโดยตรง การฉีดเข้าน้ำไขสันหลังเพื่อให้ยาเข้าสมองได้เนื่องจากน้ำไขสันหลังติดต่อโดยตรงกับสมอง ใช้กับยาที่รักษาโรคในสมองแต่ไม่สามารถผ่านจากกระแสเลือดเข้าสู่

สมองได้ การดมยาเป็นวิธีที่แพทย์ใช้ให้ยาสลบแก่ผู้ป่วยเพื่อการผ่าตัด การแปะแผ่นยาบนผิวหนังส่วนที่มีเลือดเลี้ยงมากและใกล้กับตำแหน่งออกฤทธิ์ของยาเพื่อให้ยาค่อยๆ ซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด ใช้สำหรับยาที่ต้องการให้ออกฤทธิ์ในร่างกายโดยไม่ต้องรับประทาน การใช้ยาเหล่านี้ผู้ใช้ยาจะต้องมีทักษะพอสมควร

 

 

 ผลเสียจากการใช้ยามีอะไรบ้าง?

แม้วัตถุประสงค์หลักของการใช้ยาคือ ผลรักษา ก็ตาม แต่จะมีผลอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยแล้วแต่คุณสมบัติของยาและสภาพของผู้ใช้ยา ได้แก่  

ผลข้างเคียง เป็นผลของยาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับผลรักษา และผู้ป่วยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้บางครั้งอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย บางครั้งก่อให้เกิดความรำคาญหรือผลเสียต่อผู้ป่วย เช่นผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ส่วนใหญ่ คืออาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง อาการง่วงนอนนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียน การขับรถในตอนกลาง  วัน แต่อาจทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายในตอนกลางคืน ในบางกรณีผลข้างเคียงของยาในการรักษาโรคอย่าง หนึ่งอาจนำไปใช้เป็นผลรักษาโรคอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น ผลข้างเคียงของยาลดความดันเลือดบางตัวทำให้ขน ดกถูกนำไปใช้เป็นยาปลูกผมสำหรับคนศีรษะล้าน เป็นต้น

ผลพิษ เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือผลของยาโดยตรงก็ ได้ เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอลหากรับประทานมากเกินไปหรือติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เกิดพิษทำลายตับได้ ยาหลายชนิดทำให้เกิดผลพิษได้ในขนาดที่ใช้ปกติเช่น ยารักษาโรคลมชักบางตัวมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ ยารักษาโรคจิตบางตัวทำให้เกิดพิษต่อระบบการสร้างเม็ดเลือด ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มทำให้เกิดพิษต่อไต เป็นต้น ในกรณีการใช้ยา
เหล่านี้แพทย์หรือเภสัชกรจะต้องชี้แจงและเตือนให้ผู้ใช้ยาเฝ้าระวังอาการอันส่อถึงผลพิษดังกล่าวเสมอ ผลพิษส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและมักทุเลาหรือหมดไปเมื่อหยุดใช้ยาต้นเหตุ แต่ผลพิษบางอย่างอาจเกิดขึ้นเป็นการถาวร เช่น ผลพิษทำลายเซลประสาทสมองของยาบ้า เป็นต้น

การแพ้ยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ของยาที่เกิดน้อยครั้งและคาดคะเนได้ยาก การแพ้ยานั้นเกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีปฏิกริยาโต้ตอบต่อยามากเกินไป โดยพยายามใช้กลวิธีต่างๆ กำจัดยาซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย แล้วผลสืบเนื่องจากการกำจัดยาโดยภูมิต้านทานนั้นเองทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆผู้ป่วยแต่ละคนจะมีโอกาสแพ้ยาได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของยาที่ใช้นั้นและสถานภาพภูมิต้านทานของผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงคาดคะเนได้ยากว่าใครจะแพ้ยาอะไร แต่โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด-ต้านอักเสบ ยาต้านมะเร็ง มีโอกาสทำให้แพ้ได้มากกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ การแพ้ยาอาจมีอาการได้ต่างๆ กัน เช่น เป็นผื่น ปื้นบวม คัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ หอบหืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเดินความดันเลือดต่ำ มึนงง หมดสติ เป็นต้น

การติดยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวผู้ใช้ยาและสังคม เกิดจากยาทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานไปจากเดิม กลายเป็นต้องอาศัยอิทธิพลจากยาในการทำหน้าที่ปกติ ดังนั้นเมื่อใดที่ไม่ ได้รับยาจิตใจและร่างกายก็จะโหยหายาดังกล่าวทำให้เกิดอาการอยากยา แสดงอาการขาดยาหรือลงแดง อาการอยากยาทำให้ผู้ติดยาต้องพยายามแสวงหายามาใช้ต่อโดยวิธีต่างๆ ทั้งชอบและมิชอบ ดังนั้นอาจกล่าวว่าการติดยาเป็นสภาวะที่ผู้ใช้ยาอยู่ภายใต้การควบคุมของยาก็ได้

ที่มา http://www.pharm.chula.ac.th/surachai/Academic/CNS-Drgs/radio06.htm

----------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย: 
อ.ขนิษฐา ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 493 คน กำลังออนไลน์