'อดีตเด็กหัวทึบ'รวยความรู้ 'จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์'พลิกชีวิตแบบ ไม่รอพึ่งโชค
หลายวันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ พบบทความเกี่ยวกับคนคนหนึ่ง เฮ้ย นี่เจ้าโอ๋นี่นา ที่จำได้ เพราะเคยเจอและทำงานร่วมกันในสองสามปีนี้สัก 2-3 ครั้ง เป็นลูกศิษย์ที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่งจริง คิดจะเอาชีวิตเจ้าโอ๋มาเขียนให้รุ่นน้องในศ.ท.และที่อื่นได้เห็นว่า เด็กที่เรียนไม่เก่งแล้วประสบความสำเร็จได้อย่างไร เมื่อมาเจอใน หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เลยไม่เขียนละ ขออนุญาตเอามาลงเลยแล้วกัน เรื่องดีดีแบบนี้ ถ้าเจออีกครั้งจะเอาแบบละเอียดมาเล่าอีกแล้วกันครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพทั้งสองภาพจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
'อดีตเด็กหัวทึบ'รวยความรู้ 'จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์'พลิกชีวิตแบบ ไม่รอพึ่งโชค
เพื่อนทุกคนยังงงว่าเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? แม้ตัวเธอเองก็ยังงงและตั้งคำถาม แต่โดยส่วนตัวมองว่า...โชคดีที่ได้รับโอกาส และอาจเพราะจังหวะชีวิตขณะนั้นอยู่ในช่วงที่ดี หรืออีกอย่างเมื่อวิเคราะห์ลึก ๆ กันจริงจังก็อาจเป็นไปได้ว่า... เพราะสมัยเธอนั้น
เส้นทางชีวิตของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน บางคนเดินตามที่ใครต่อใครขีดไว้ ขณะที่บางคนได้เดินตามความฝันตามความต้องการของตนเอง ในจำนวนนี้ย่อมมีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและคนที่พบกับความล้มเหลว แต่แม้ว่าจะผิดหวัง ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเรื่องของการเรียนรู้-เป็นประสบการณ์ หากยังไม่เลิกที่จะฝัน...ก็ห้ามที่จะหยุดเดิน อย่างเช่นเรื่องราวชีวิตที่วันนี้ทีม “วิถีชีวิต” จะนำเสนอ กับชีวิตของ... “ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์”
ดร.จุฬากรณ์ คนนี้เป็นนักวิชาการด้านการศึกษา ที่วันนี้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันรามจิตติ ซึ่งเธอเล่าถึงชีวิตว่า... แม้คุณปู่ของเธอจะเป็นถึงเจ้าสัวในเวิ้งนาครเขษม แต่รากฐานของครอบครัวเธอก็เริ่มต้นสร้างขึ้นจากความอุตสาหะของคุณพ่อและคุณแม่ โดยคุณพ่อทำกิจการโรงงาน ขณะที่คุณแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูก ๆ โดยครอบครัวเธอมีพี่น้องรวมทั้งหมด 4 คน ซึ่งหากจัดอันดับความฉลาดและเรียนเก่ง เธอบอกว่า...ในจำนวนพี่น้องเรื่องการเรียนเธออยู่ที่โหล่ท้ายสุด เพราะเรียนไม่เก่ง ถึงขนาดคุณครูบางท่านปรามาสว่า... ชีวิตของเธอคงไปได้ไม่ถึงไหน แต่ใครจะเชื่อ! อดีตเด็กหัวทึบคนนี้ ปัจจุบันเป็น “นักวิชาการการศึกษา” แถมมีดีกรีจบถึงระดับ “ดอกเตอร์” เป็น ผอ.สถาบันรามจิตติ และมีผลงานวิชาการมากมายที่ได้รับรางวัล อาทิ รางวัลงานวิจัยดีเด่นจาก สกว. ในปี 2547 จากงานวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน (วพร.) หรือ โครงการวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2550 และรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี 2551 จากผลงานเรื่อง นโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาแบบมุ่งอนาคตเพื่อเด็กและเยาวชนไทย
ความสำเร็จเหล่านี้ ดร.จุฬากรณ์ ระบุว่า... เพื่อนทุกคนยังงงว่าเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? แม้ตัวเธอเองก็ยังงงและตั้งคำถาม แต่โดยส่วนตัวมองว่า...โชคดีที่ได้รับโอกาส และอาจเพราะจังหวะชีวิตขณะนั้นอยู่ในช่วงที่ดี หรืออีกอย่างเมื่อวิเคราะห์ลึก ๆ กันจริงจังก็อาจเป็นไปได้ว่า... เพราะสมัยเธอนั้น การศึกษาเปิดกว้างและมีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งถ้ามีทิศทางการศึกษาแบบเดียว ชีวิตการเรียนเธอเองก็คงจบไปตั้งแต่ชั้น ม.6 แล้ว
อะไรทำให้ชีวิตพลิกผัน? เรื่องนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้ผลงานที่กล่าวมาข้างต้น โดย ดร.จุฬากรณ์ กล่าวว่า...เป็นเด็กหลังห้องมาตลอด เพราะเรียนหนังสือไม่เก่ง ไม่ใช่เด็กเรียน หรือที่ผู้ใหญ่ชอบพูดว่า...เป็นพวกปัญญาทึบ! ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพี่ชายของเธอด้วยแล้ว ยิ่งห่างไกลกันไปใหญ่ เพราะพี่ชายเรียนหนังสือเก่งมาก ๆ เรียกว่าเก่งขั้นอัจฉริยะ ทำให้ท้อแท้และคิดที่จะเลิกเรียนอยู่หลายครั้ง โชคดีที่คุณพ่อขู่แกมบังคับโดยบอกว่า...“ต้องเรียนให้ได้มากที่สุด”
ดร.จุฬากรณ์ ยังบอกอีกว่า...ตอนเด็กเป็นคนไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ ผิดกับคุณพ่อที่เป็นคนใฝ่รู้ และพยายามเคี่ยวเข็ญ ให้ลูกทุกคนเรียนหนังสือ ไม่เว้นแม้แต่คนหัวไม่ดีอย่างเธอ ตอนนั้นคุณพ่อบังคับให้ไปเรียนภาษาจีนกับโรงเรียนจีนที่จะเปิดสอนเฉพาะช่วงเย็น ซึ่งเธอ ก็ต้องไป แต่เรียนไปก็นั่งหลับไป ต่อมาได้มาเรียนชั้นมัธยมศึกษาต่อ ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เพราะใกล้บ้าน ซึ่งชีวิตการเรียนนั้น นักวิชาการคนนี้ บอกว่า...ไม่เคยเรียนอยู่ห้องคิงเลย ได้แต่เรียนอยู่ ห้องท้าย ๆ มาตลอด ทั้งนี้ ถึงแม้การเรียนจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่ที่ทำได้ดีสิ่งหนึ่งคือการ เล่นดนตรีไทย หลังเข้าเรียนก็เลือกเข้าชมรมดนตรีไทย ซึ่งเธอเล่นเก่งจนออกไปคว้ารางวัลได้ในระดับประเทศมาแล้ว ต่อมาได้หันไปสนใจกีฬาบาสเกตบอล และเล่นได้ดีจนเป็นนักกีฬาโรงเรียนด้วย จึงคิดจะเอาดีด้านนักกีฬานี้ แต่คุณครูแนะนำว่า... อาชีพนักกีฬามีข้อจำกัดเรื่องกายภาพและอายุ หากอายุมากหรือเจ็บก็ต้องเลิกเล่น แต่ดนตรีอายุมากแค่ไหนก็ยังเล่นได้ จึงคิดว่าเธอควรทุ่มเทให้ดนตรีจะดีกว่า...สุดท้ายจึงตัดสินใจเป็นนักดนตรีไทยต่อไป
ในขณะที่เพื่อน ๆ กำลังขะมักเขม้นกับการอ่านหนังสือเพื่อสอบเอน ทรานซ์ แต่เธอสามารถเข้าเรียนต่อในคณะมนุษย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จากโควตานักดนตรีได้เลย เรียกว่า...มีประโยชน์ในที่สุด ที่ไม่ทิ้งเรื่องนี้ไว้กลางคัน หลังจากนั้นช่วงที่เรียนอยู่ปี 3 ได้ลองไปสมัครสอบเพื่อเรียนต่อระดับ “ปริญญาโท” ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบได้ แต่ตั้งใจว่า...จะทำงาน จะไม่เรียนต่อ เมื่อคุณพ่อรู้ก็บังคับให้เรียนเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี ทำให้จำใจต้องเข้าไปเรียน ซึ่งช่วง แรก ๆ เรียนไม่ได้ ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะยังปรับตัวกับ “ระบบ” ไม่ได้ ถึงขนาดคิดจะลาออก แต่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่อนุมัติโดยได้พยายามหาทางช่วย ด้วยการบอกว่า...ให้ทำวิทยานิพนธ์มาแทน จึงเสนอหัวข้อที่จะทำคือ การศึกษากระบวนการและผลของโครงการสื่อชาวบ้านเพื่อพัฒนามนุษย์และสังคมในภูมิภาค ที่ต่างกัน : กรณีศึกษาคณะละครมะขามป้อม โดยให้เหตุผลว่า...จะเป็น “กระแสการศึกษาในอนาคต” โดยหัวใจวิทยานิพนธ์ดังกล่าว คือการพิสูจน์ว่า...หัวใจของการศึกษานั้น ไม่ได้อยู่ที่แค่เฉพาะการเรียนในห้องเรียน หากแต่ยังต้องประกอบด้วยเรื่อง “การเรียนรู้จากชุมชนและสังคมรอบตัว” ด้วย โดยกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ขณะนั้น คือ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ นั่นเอง
หลังเรียนจบปริญญาโท ดร.จุฬากรณ์ เข้าทำงานที่สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยนาน 5 ปี ก่อนไปเรียนต่อระดับ “ปริญญาเอก” ทั้งที่ความจริงแล้วไม่คิดมาก่อนด้วยซ้ำว่า... จะสามารถเรียนสูงจนถึงระดับ “ดอกเตอร์” โดยถึงขนาดบอกคุณพ่อตั้งแต่สมัยยังเรียนปริญญาโท ด้วยซ้ำว่า... “เรียนมาได้ถึงขนาดนี้ ถือว่าเกินคาดหมายมากแล้ว”
“สาเหตุที่ต้องเรียนต่อ เพราะพอเราทำงานไปแล้ว เกิดปัญหาคือ ความรู้มันยากจน ไปต่อไม่ได้แล้ว จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกสาขาพัฒนศึกษา ที่คณะครุศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะต้องการความรู้เพิ่ม ส่วนการศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ก็ไปลง เรียนเพิ่มตามหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีการเปิด สอน ระหว่างเรียนปริญญาโทจนไปต่อปริญญาเอก ก็มีโอกาสได้ทำงานเรื่องการศึกษาชุมชนกับอาจารย์อมรวิชช์มาตลอด และร่วมกันผลักดันจนเกิดสถาบันรามจิตตินี้ขึ้นมา เพราะประเทศไทยช่วงนั้น งานด้านการศึกษากำลังขยายใหญ่ขึ้น มีเรื่องให้ศึกษา และมีปัญหาเกิดขึ้นมาก ทำให้เราทุกคนที่ทำงานคิดกันว่า...เราเองก็ต้องขยายพื้นที่ เราเองก็ต้องพัฒนาให้ทันกับกระแสและยุคสมัยของโลกด้วย เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องทางการศึกษา”...ดร.จุฬากรณ์ ระบุถึงชีวิตเธอที่เดินมาได้ไกลกว่าที่คาด ฝันไว้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะทุ่มเทให้กับเรื่อง “การศึกษา” ของไทย...
ในมุมชีวิต กับชีวิตของ ดร.จุฬากรณ์ ที่เดินมาไกล จากเด็กเรียนไม่เก่ง ที่ถูกครูระบุว่า... “หัวทึบ” แต่สุดท้ายกลายเป็น “นักวิชาการด้านการศึกษา” และมีดีกรีทางวิชาการมากมาย จนที่สุดมานั่งแท่นในองค์กรด้านการพัฒนาการศึกษา เธอคนนี้กล่าวว่า...“เคยมานั่งคิดแบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ก็อาจเป็นไปได้ว่า... ชีวิตของเรามันอาจจะถูกวางมาแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้ ที่คิดว่าไปไม่ได้ก็ไปได้ แบบบางคนยังงง ๆ ว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” อย่างไรก็ตาม นักวิชาการคนนี้ก็แนะนำเยาวชนไทยว่า...การอ่านหนังสือ การเข้าห้องเรียน การใฝ่เรียน คือหน้าที่และความรับผิดชอบของนักเรียนที่มีต่อตัวเอง การที่คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้อง “หาเส้นทางชีวิตตนเองให้เจอให้ได้” จากนั้นจึงค่อยเดินหน้ามุ่งไปหาจุดหมายนั้น...
โดยที่ไม่นั่งรอคอยโชคชะตา
ไม่รอพึ่งพาคนอื่นมาช่วย...
วันอาทิตย์ 28 กันยายน 2557 เวลา 00:00 น.
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน
ภานุพงศ์ พนาวัน : ภาพ
ที่มาของภาพ : http://www.trf.or.th/images/stories/newsimages/2014-images/01-10-2557/img001.jpg
ที่มารูปภาพ : http://www.trf.or.th/images/stories/newsimages/2014-images/19-08-2557/3.JPG
ที่มารูปภาพ : http://www.trf.or.th/images/stories/newsimages/2013-images/030120325252.jpg