บรรณาธิการ

บรรณาธิการ

ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๓๘, หน้า ๔๖๑) ให้คำนิยามไว้ว่า บรรณาธิการ คือผู้จัด เลือกเฟ้นรวบรวม ปรับปรุงและรับผิดชอบเรื่องที่ลงพิมพ์บรรณาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวให้ต้นฉบับงานเขียนสำเร็จเป็นสิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยอาจดำเนินการคนเดียว หลายคนหรือเป็นคณะ และอาจมีคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะ ปริมาณความลึกซึ้งหรือหลากหลาย ความซับซ้อนของส่วนประกอบเนื้อหาหรือโอกาสสำคัญที่จะจัดพิมพ์ต้นฉบับ งานเขียนชิ้นนั้น

หัวใจของงานบรรณาธิการคือการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์คือสิ่งพิมพ์ลูกค้าคือผู้อ่าน ทำอย่างไรให้ต้นฉบับกลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ประณีตด้วยเทคนิคเนื้อหาทรงคุณค่าให้ประโยชน์คุ้ม และได้รับการยกย่องในวงการ (จารุวรรณ สินธุโสภณ , ๒๕๔๒, หน้า๔-๕)

งานบรรณาธิการเป็นงานอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ด้านบรรณาธิการ (Editing) มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้กระบวนการจัดทำหนังสือเป็นไปอย่างราบรื่นจนสามารถผลิตหนังสือที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลการจัดพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน ราว ค.ศ. ๘๖๘และมีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันมีวิธีการและแนวปฏิบัติจนเกิดเป็นระบบการจัดทำหรือการผลิตหนังสือตามมาตรฐานขึ้นโดยอาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดบางประเด็นแต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีรูปแบบการจัดทำที่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในเอเชียที่มีการผลิตหนังสือที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกงอินเดีย เป็นต้น

การพิมพ์และการผลิตหนังสือในเมืองไทยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการผลิตหนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มในรูปแบบนิตยสาร วารสารและหนังสือเป็นเล่ม พัฒนาการทางการพิมพ์และการจัดทำหนังสือในเมืองไทยมีความเจริญรุดหน้ามาโดยตลอดโดยเฉพาะระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยในปัจจุบันจนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความเจริญในด้านระบบการพิมพ์และการผลิตสิ่งพิมพ์ก้าวหน้าไม่น้อยกว่าประเทศใดในแถบเอเชียยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้น

แต่พัฒนาการด้านการจัดทำหนังสือในแง่ของการเขียนเนื้อหาสาระและการเปลี่ยนสภาพต้นฉบับงานเขียนให้ออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือที่น่าอ่านตามมาตรฐานสากลหรือที่เรียกว่า การบรรณาธิกร นั้น กล่าวได้ว่าแทบไม่มีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งในแง่การปฏิบัติจริงในสำนักพิมพ์ทั้งหลายหรือในแง่การศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ในขณะที่การจัดทำหนังสือพิมพ์รายวัน หรือการจัดทำนิตยสาร/วารสารมีการเรียนรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีผู้สำเร็จการศึกษาออกมาปฏิบัติงานสืบทอดวัฒนธรรมการทำหนังสือพิมพ์ตามมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง

ในทางกลับกันการจัดทำหนังสือเล่มยังไม่มีบุคลากรมืออาชีพหรือบรรณาธิการมืออาชีพมาสืบสานวัฒนธรรมการผลิตหนังสือเล่มอย่างจริงจังส่วนใหญ่จะเป็นผู้รักการทำหนังสือ เรียนรู้จากการปฏิบัติตาม ๆ กันมาหรืออาจได้รับการอบรมเบื้องต้นมาบ้างจากสถาบันการศึกษาแต่เมื่อต้องมาปฏิบัติงานอย่างจริงจังมักเกิดความไม่มั่นใจได้แต่อาศัยการศึกษาจากคู่มือปฏิบัติงานบรรณาธิกรที่ผู้มีประสบการณ์ทางด้านนี้ได้รวบรวมไว้ (จินตนา ใบกาซูยี , ๒๕๔๓, หน้า๖)

มกุฎ อรฤดี (๒๕๔๕)กล่าวในการอบรมวิชาหนังสือสำหรับบุคคลภายนอก ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ากระบวนการผลิตหนังสือนั้น มีรายละเอียดอันละเอียดอ่อนประณีตมากมาย การจะเรียนรู้รู้จัก รู้สึก นึกคิด และทำหนังสือให้ดี ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ข้อสำคัญคือต้องมีรากฐานด้านความงาม ภาษา เข้าใจความเรียบง่าย เข้าใจชีวิตสนใจและรู้จักมนุษย์ใฝ่รู้วิทยาการทั้งสิ้นทั้งปวงอันประกอบกันขึ้นเป็นสังคมหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต และไกลกว่าอนาคต

ประเทศไทยยังขาดหนังสือและขาดบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือทุกด้าน ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็น นักเขียนบรรณาธิการต้นฉบับ บรรณาธิการต้นฉบับแปล ผู้ตรวจทานต้นฉบับ ผู้เขียน รูปประกอบออกแบบปก จัดรูปเล่มแม้แต่นักวิจารณ์หนังสือก็แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีเลยหรือกรรมการตัดสินต้นฉบับกรรมการตัดสินหนังสือ อันเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริมการเขียน ก็ขาดแคลนส่งผลให้การพิจารณาต้นฉบับและหนังสือที่ส่งเข้าประกวดด้อยคุณค่าไปด้วยดังเห็นได้จากหนังสือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลสำคัญหลายเล่มมีข้อผิดพลาดด้านภาษาไทยและเนื้อหานับร้อยแห่ง ทั้ง ๆ ที่มีกรรมการมากกว่า ๗ คนมีบรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เขียนคำนิยมที่มีชื่อเสียงลงชื่อรับรองสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การทำงานด้านหนังสือโดยไม่มีผู้ตรวจทานทุกขั้นตอนไม่เชื่อระบบบรรณาธิการและระบบการตรวจสอบ ข้อบกพร่องผิดพลาดต่างๆอันรวมกันเข้าจนทำให้หนังสือที่ผลิตออกมาด้อยคุณภาพนั้น มีจุดสรุปปลายทางอยู่ที่สำนักพิมพ์ผู้ที่รับเคราะห์ก็คือคนอ่าน โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชน

            ภารกิจของบรรณาธิการงานบรรณาธิการเป็นทั้งศิลปะและงานฝีมือ(Art and craft) คือศิลปะที่เป็นความรู้เกี่ยวกับต้นฉบับว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับงานนั้นและเป็นงานฝีมือในด้านการจัดเตรียมต้นฉบับให้น่าอ่านเป็นที่ยอมรับของผู้อ่านโดยทั่วไป(O’Connor, 1978, p. 1) ภารกิจหลักของบรรณาธิการก็คือการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดมาเผยแพร่รองลงมาก็คือการช่วยเหลือผู้เขียนเพื่อจัดทำหรือผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา (O’Connor,1978, p. 19)

บรรณาธิการมีงานหลายด้าน ทั้งบริหารจัดการ หาเทคนิคที่เหมาะสมมาใช้จัดพิมพ์ถ้าทำหน้าที่เฉพาะด้านจะมีชื่อหรือตำแหน่งโดยเฉพาะ เช่นบรรณาธิการใหญ่หรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ (Chief Editor) รองบรรณาธิการใหญ่ ( Associate Editor) บรรณาธิการต้นฉบับ (Copy Editor) บรรณาธิการศิลป์ (Art Editor) (จารุวรรณ สินธุโสภณ , ๒๕๔๒, หน้า๕) ใน บางสำนักพิมพ์ มีการแบ่งแยกงานออกเป็นอิสระจากกันเป็น ๒ ลักษณะ คือบรรณาธิการฝ่ายจัดหาต้นฉบับหรือฝ่ายสำนักพิมพ์ และฝ่ายต้นฉบับหรือฝ่ายวิชาการบทบาทหน้าที่สำคัญของบรรณาธิการ คือ การทำให้หนังสือที่ผู้เขียนแต่งขึ้นมีความน่าอ่านสำนักพิมพ์บางแห่งมีความคาดหวังสูงมาก กล่าวคือ ให้บรรณาธิการรับผิดชอบดูแลต้นฉบับจนถึงขั้นการจัดพิมพ์ แต่บางแห่งเพียงให้ตรวจสอบด้านภาษา การสะกดคำและการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเท่านั้น

จินตนา ใบกาซูยี (๒๕๔๒, หน้า ๓๒๖) กล่าวว่า โดยสรุปภารกิจหลักของบรรณาธิการมี ๒ ประการ คือ การจัดหาต้นฉบับและการบรรณาธิกรต้นฉบับการบรรณาธิกรประกอบด้วย การตรวจแก้โครงสร้าง เนื้อหาสาระสำคัญและการตรวจแก้ต้นฉบับทั้งเล่ม

บรรณาธิการฝ่ายจัดหาต้นฉบับจะทำหน้าที่เสาะแสวงหาต้นฉบับและเจรจาต่อรอง ทำสัญญากับผู้เขียนรวมทั้งพิจารณาต้นฉบับอย่างละเอียดในด้านขอบเขตเนื้อหา โครงสร้างความยาวของเนื้อหา รวมทั้งตรวจหาข้อความอันเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นอย่างร้ายแรงและการละเมิดลิขสิทธิ์

การที่มีข้อความระบุไว้ในสิ่งพิมพ์บางชิ้นเช่น ในวารสาร บรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับความเห็นของผู้แต่งก็ไม่หมายความว่าบรรณาธิการจะปลอดจากความรับผิดชอบที่ได้พิมพ์เผยแพร่เรื่องนั้นไปได้โดยเฉพาะถ้าเป็นความเห็นในประเด็นที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทเป็นลายลักษณ์อักษรหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีจรรยาบรรณของนักวารสารศาสตร์เป็นสิ่งที่บรรณาธิการละเลยไม่ได้ (จารุวรรณ สินธุโสภณ, ๒๕๔๒, หน้า ๕)

นอกจากนี้ยังต้องประเมินแนวโน้มความต้องการของผู้อ่าน และรูปแบบช่องทางการจำหน่ายอีกด้วยอีกด้านหนึ่ง บรรณาธิการฝ่ายนี้ยังทำหน้าที่ว่าจ้างการเขียนหนังสือบางเล่มที่คิดว่าจะทำตลาดได้ดีและประเมินข้อเสนอการว่าจ้างจากผู้เขียน หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการแก้ไขโครงสร้างเนื้อหาต้นฉบับและการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ดูแลการผลิตเอกสารด้านส่งเสริมการขายและการติดต่อกับผู้เขียนในบางครั้งบรรณาธิการกลุ่มนี้ยังต้องช่วยออกแบบหนังสือและดูแลจัดการด้านรายรับรายจ่ายของสำนักพิมพ์อีกด้วย

ในปัจจุบันนี้ยังมีผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการประจำ (In-house) ทำงานเต็มเวลาอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนสำนักพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่แทบไม่มีผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการอย่างแท้จริงเลยนอกจากนี้ สำนักพิมพ์บางแห่งเริ่มมีแนวคิดที่จะจ้างบรรณาธิการการอิสระ (Freelancers) ทำงานเป็นชิ้นงานโดยทั่วไปแล้วบรรณาธิการอิสระนี้ มักทำงานในขอบเขตหน้าที่ ที่จำกัด กล่าวคือทำหน้าที่บรรณาธิการฝ่ายต้นฉบับเฉพาะชิ้นงานเท่านั้น (จินตนา ใบกาซูยี, ๒๕๔๒,หน้า ๓๒๗)

ขั้นตอนและวงจรงานของบรรณาธิการอาจลำดับได้ดังนี้

๑. การวางแผนการทำงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ การแบ่งงานการกำหนดผู้รับผิดชอบ ขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลา ประมาณการค่าใช้จ่าย การคาดคะเนผล

๒. การจัดหาต้นฉบับ บรรณาธิการมีหน้าที่เสาะหาต้นฉบับที่มีข้อมูลถูกต้องบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา มีการอ้างอิงแหล่งที่ดี สื่อความได้ชัดเจนให้ความรู้สึกเพลินอารมณ์ ผู้อ่านได้รับทั้งความรู้และอยากเรียนรู้ต่อไป

๓. การรับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิกรณีเนื้อหามีความซับซ้อน หรือมีประเด็น ที่อาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหรือข้อทักท้วงทั้งในทางวิชาการหรือทางกฎหมาย

๔. การทำความตกลงกับผู้เขียนกรณีมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของแต่ละฝ่ายการทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจะรัดกุมกว่าด้วยวาจา ส่วนหนึ่งอาจนำไปสู่การทำสัญญาต่อไป งานด้านนี้อาจต้องมีนิติกรร่วมด้วย

๕. การจัดทำแฟ้มต้นฉบับเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ เช่น การติดต่อระหว่างผู้เขียนกับบรรณาธิการข้อตกลง สัญญา ข้อมูล เนื้อหา ภาพหลักฐานอ้างอิงที่ค้นเพิ่มเติมระหว่างการตรวจแก้ต้นฉบับ

๖. ประมาณการและกำหนดรูปเล่มในด้านความยาวของเนื้อหา ขนาดรูปเล่ม ตัวพิมพ์ การวางรูปหน้ากระดาษ

๗. การอ่านตรวจต้นฉบับอย่างละเอียดเรียกตามศัพท์บัญญัติว่า การบรรณาธิกรต้นฉบับโดยใช้คู่มือตรวจตามแบบเฉพาะของสำนักพิมพ์เอง หรือ แบบเฉพาะอื่นๆเพื่อตรวจแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้องทั้งด้านเนื้อหาและส่วนประกอบ ความต่อเนื่องของเนื้อหา ระบบการจัดโครงสร้างเนื้อหาการอ้างอิง รวมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้น

๘.การแจ้งให้ผู้เขียนรับรู้การแก้ไขต้นฉบับการแก้ไขต้นฉบับขึ้นอยู่กับบรรณาธิการและผู้เขียน และเป็นเรื่องเฉพาะกรณีรวมทั้งการเก็บบันทึกเรื่องนี้ไว้ในแฟ้มต้นฉบับด้วย

๙. การพิมพ์ต้นฉบับโดยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบต่าง ๆ แล้วแต่สำนักพิมพ์

๑๐. การตรวจพิสูจน์อักษรต้องทำหลายครั้งและหลายคน ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน(จารุวรรณ สินธุโสภณ , ๒๕๔๒,หน้า ๔)

คุณลักษณะของบรรณาธิการWilliam G. Connolly Jr. บรรณาธิการของThe New York Times Week in Review ได้กล่าวว่าคุณลักษณะของบรรณาธิการต้นฉบับที่ดีนั้น ควรมีคุณลักษณะดังนี้ (Bowles& Borden, 2000, p. 7-8)

๑.มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Confidence) ไม่ว่าจะเป็นความรอบรู้ด้าน ต่าง ๆทักษะการเขียน กระบวนการผลิต นโยบาย

๒. ไม่เอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ (Objectivity) พิจารณาผลงานในมุมมองของผู้เขียน

๓. มีความตระหนักรู้ (Awareness) ในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับผู้เขียนแนวทางของสำนักพิมพ์ หรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น

๔. มีความเฉลียวฉลาด (Intelligence) ในการตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าอะไรผิดอะไรถูก

๕. มีความสงสัยเป็นธรรมชาติ (QuestioningNature) เพื่อแสวงหาคำตอบที่กระจ่างชัดเพราะหากตนยังสงสัยผู้อ่านก็เกิดคำถามเช่นเดียวกัน

๖. มีทักษะในการเจรจา (Diplomacy) ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญเนื่องจากต้องติดต่อพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้เขียนในลักษณะต่าง ๆ

๗. มีความสามารถในการเขียน (Abilityto Write) เพื่อจะได้เข้าใจความคิดและแนวทางของผู้เขียนนอกเหนือไปจากการเป็นนักอ่านที่ดีที่จะต้องมีอยู่แล้ว

๘. มีอารมณ์ขัน (Sense of Humor) เพราะคนที่อารมณ์เสียมักทำให้ผลงานออกมาไม่ดี          ประเภทของบรรณาธิการ            แบ่งออกเป็น๒ ประเภทใหญ่ คือ บรรณาธิการต้นฉบับ และบรรณาธิการรูปเล่มบรรณาธิการต้นฉบับ

การที่หนังสือพิมพ์ นิตยสารหนังสือเล่ม การนำเสนอข่าวทางวิทยุหรือโทรทัศน์ จะได้รับการกล่าวขานถึงในทางที่ดีได้นั้นสิ่งหนึ่งที่ทุกสื่อจะต้องมีก็คือ กองบรรณาธิการที่ดีในการทำงานผู้เขียนหรือผู้รายงานข่าวอาจได้รับการเอ่ยนามถึงแต่บรรณาธิการต้นฉบับนั้นไม่ถูกเอ่ยอ้างแต่บุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้กลับมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากต่องานที่จะเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณชนเนื่องจากมีบทบาทสำคัญยิ่งในการอ่านต้นฉบับทุกบรรทัดทุกหน้าอย่างละเอียดเพื่อแก้ไขเครื่องหมายวรรคตอน การสะกดคำ โครงสร้างประโยคไวยากรณ์ ให้มีความถูกต้องสม่ำเสมอ ปรับปรุงการจัดย่อหน้า ติดต่อกับผู้เขียนในกรณีที่มีข้อสงสัยดูแลแนวการเขียนให้มีความสม่ำเสมอตลอดทั้งเล่ม และอาจช่วยชี้แนะการออกแบบหนังสือตรวจสอบต้นฉบับให้พร้อมก่อนที่จะจัดส่งไปให้ผู้พิมพ์เพื่อประเมินราคาพิมพ์

บรรณาธิการต้นฉบับ มี ๒ ลักษณะงานดังนี้ (วัลยา วิวัฒน์ศร , ๒๕๔๗, หน้า๓๗๕ อ้างอิงจาก มกุฎ อรฤดี, ๒๕๔๔)

๑. บรรณาธิการต้นฉบับเขียน คือผู้ทำหน้าที่ตรวจแก้ต้นฉบับของนักเขียน แบ่งตามลักษณะหน้าที่ เป็น ๒ ลักษณะ

๑.๑ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการทำงานของนักเขียนตั้งแต่เริ่มต้น ทำงานร่วมกันในการวางแผนการเขียนวางเค้าโครงเรื่อง กำหนดรายละเอียด จนกระทั่งขั้นตอนการเขียน รับเป็นที่ปรึกษาในกรณีนักเขียนมีปัญหา ไปจนจบเรื่องและทำหน้าที่ตรวจแก้ต้นฉบับในตอนท้ายสุดบรรณาธิการต้นฉบับประเภทนี้ยังไม่มีเป็นทางการในประเทศไทยหรือยังไม่มีระบบนี้เหมือนในต่างประเทศ และยังไม่อาจยึดถือเป็นอาชีพได้เพราะนักเขียนยังไม่มีรายได้มากพอที่จะจ้างบรรณาธิการส่วนตัวสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของหน้าที่นี้

๑.๒ทำหน้าที่เฉพาะตรวจแก้ต้นฉบับเพียงอย่างเดียว ไม่รับรู้ความเป็นมาในการทำงานของนักเขียนอาจจะไม่มีความผูกพันส่วนตัว ส่วนใหญ่บรรณาธิการต้นฉบับจะเป็นคนของสำนักพิมพ์รับเงินค่าจ้างจากสำนักพิมพ์ การทำงานของบรรณาธิการต้นฉบับนี้อาจติดต่อกับนักเขียนหรือไม่ก็ได้

           ๒. บรรณาธิการต้นฉบับแปล คือ ผู้ทำหน้าที่ตรวจแก้ต้นฉบับของนักแปล แบ่งเป็น๒ ประเภท คือ

๒.๑บรรณาธิการต้นฉบับแปลของสำนักพิมพ์ รับจ้างสำนักพิมพ์เพื่อตรวจงานของ นักแปลถือเป็นอาชีพ ทำงานตามคำสั่งของสำนักพิมพ์จะติดต่อหรือไม่ติดต่อกับผู้แปลตามความเห็นของสำนักพิมพ์

๒.๒บรรณาธิการต้นฉบับแปลของผู้แปล ส่วนใหญ่ทำงานเป็นส่วนตัว สนิทสนมคุ้นเคยกับผู้แปลอาจจะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ ตามแต่จะตกลงกัน              

บรรณาธิการต้นฉบับ เป็นศาสตร์และศิลป์เหมือนการสอนวาดรูป เราสอนเรื่ององค์ประกอบศิลป์ ได้สอนเรื่องกายวิภาคได้สอนเรื่องทฤษฎีสีได้ แต่เมื่อลงมือวาดรูปจริง ๆกลับเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ต้องเรียนรู้เอง เป็นเรื่องของความรู้สึกรสนิยมของคำที่สอนกันไม่ได้ และบางครั้งเหมือนเส้นผมบังภูเขา ในที่สุดทฤษฎีไม่มีความหมายวันหนึ่งเมื่อประสบการณ์มากขึ้น แก่กล้ามากขึ้น จะรู้เองหน้าที่ของบรรณาธิการต้นฉบับจึงไม่เพียงแต่การตรวจแก้ต้นฉบับให้ถูกต้องใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมมากที่สุดการทำต้นฉบับให้ดีขึ้นในด้านการใช้ภาษา การสื่อความหมาย รายละเอียดในเรื่องค้นคว้าเพิ่มเติมในส่วนที่ตกหล่นขาดหายไป ทำให้อ่านโดยไม่สะดุดทำให้ผู้อ่านรู้สึกดีต่อเรื่องที่อ่านและผู้เขียนรวมทั้งผู้แปลอีกด้วยการตรวจแก้ต้นฉบับ มีทั้งต้นฉบับเขียนและต้นฉบับแปลทั้งสองประเภทมีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกัน แต่การตรวจ แก้ต้นฉบับแปลนั้นบรรณาธิการต้นฉบับจะต้องเทียบเคียงกับต้นฉบับภาษาเดิมด้วย กรณีที่ไม่รู้ภาษาเดิมต้องใช้ประสบการณ์ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาเพื่ออ่านนิสัยใจคอ น้ำเสียงลีลา ของผู้ประพันธ์

นอกจากนั้นการตรวจแก้ต้นฉบับแต่ละประเภท ยังต้องมีกลวิธีพิเศษเฉพาะเจาะจงลงไปในการตรวจ เช่นวรรณกรรมสำหรับเด็ก ผู้ตรวจแก้ต้องมีจินตนาการ มองโลกด้วยสายตาเด็ก ๆสวมวิญญาณเด็กได้จะยิ่งดี ถ้าไม่คิดแบบเด็กอาจทำให้การตรวจแก้ผิดพลาดได้ง่ายเพราะผู้ใหญ่คิดและรู้สึกไม่เหมือนเด็กถ้าเป็นเรื่องจินตนาการเหนือจริงหรือแฟนตาซีต้องรู้ให้ได้ว่าในเรื่องที่ผู้เขียนสื่อสารนั้นตรงไหนต้องการให้เหมือนจริงตรงไหนเหนือจริง และจะใช้ภาษาอย่างไร ประเภทประวัติศาสตร์ต้องคำนึงถึงยุคสมัยของภาษาเป็นสำคัญ ประเภทความเรียงและปรัชญาต้องทำความเข้าใจเรื่องคำเป็นพิเศษ พยายามหาคำที่อธิบายนัยให้ชัดเจนส่วนต้นฉบับกวีนิพนธ์ มีลักษณะพิเศษซึ่งผู้ตรวจแก้จะต้องทำความรู้จักให้ลึกซึ้งเสียงทอดแต่ละคำมีความสำคัญด้วยโครงสร้างของกวีนิพนธ์ คือ ฉันทลักษณ์จึงไม่สามารถตัดสินได้ด้วยการอ่านในใจ ต้องอ่านออกเสียงจึงจะมองเห็นความผิดพลาด

         บรรณาธิการรูปเล่ม

คือผู้ตรวจแก้ไขและปรับปรุงลักษณะของต้นฉบับให้เป็นไปตามรูปแบบหนังสือตามที่สำนักพิมพ์หรือสถาบันผู้ผลิตกำหนด รูปแบบของหนังสือในที่นี้หมายถึงรูปแบบใน ๒ลักษณะคือส่วนประกอบของหนังสือโดยทั่วไปและการจัดลำดับเนื้อหาในแต่ละบทหรือแต่ละเรื่อง

๑. ส่วนประกอบของหนังสือหนังสือโดยทั่วไปจะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ๔ ส่วนด้วยกันคือ ส่วนปก (Binding) ส่วนนำหน้า (Preliminary Pages) ส่วนเนื้อหา (Text) และ ส่วนอ้างอิง (Reference Materials)

๑.๑ส่วนปก ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้

๑.๑.๑ปกหนังสือ หรือบางที่เรียก ปกนอก ทำหน้าที่หุ้มห่อหนังสือให้อยู่ด้วยกันป้องกันการฉีกขาด และช่วยให้จับถือได้ง่าย ปกหนังสือบางเล่มอาจจะมีลักษณะเรียบ ๆบางเล่มอาจจะมีรูปภาพตกแต่งงดงาม บนหน้าปกอาจมีชื่อผู้แต่งและชื่อหนังสือปรากฏอยู่

๑.๑.๒ใบหุ้มปก (Book Jacket หรือ Dust Jacket) หนังสือปกแข็งบางเล่มอาจมีใบหุ้มปกหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ใบหุ้มปกมักมีข้อมูลหรือภาพเดียวกันกับปก

๑.๑.๓สันปก (Spine) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมปกหน้าและปกหลังเข้าด้วยกันและอาจมีชื่อเรื่องสั้นๆชื่อผู้แต่งและชื่อสำนักพิมพ์

๑.๑.๔ใบยึดปก (End Paper) ซึ่งเป็นกระดาษที่ปะติดกับปกด้านในทั้งปกหน้าและปกหลังเพื่อยึดปกให้แข็งแรงขึ้นบนใบยึดปกนี้อาจจะบรรจุข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเช่น ตาราง แผนที่สูตรต่าง ๆ กราฟ เป็นต้น

๑.๒ส่วนนำหน้าส่วนนี้ประกอบด้วยแผ่นกระดาษที่ไม่มีเลขกำกับหน้าเป็นส่วนที่อยู่นำหน้าเนื้อหาของหนังสือประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้

๑.๒.๑หน้ารองปก (Flyleaves) ซึ่งเป็นกระดาษว่าง ๆอยู่ต่อจากใบยึดปกทั้ง สองด้าน

๑.๒.๒หน้าชื่อเรื่อง (Half title Page) เป็นหน้าที่อยู่ถัดไปทำหน้าที่ป้องกันหน้าปกใน ซึ่งอยู่ในหน้าถัดไป มีชื่อหนังสือสั้นๆปรากฏอยู่และหากหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือชุด (Series) ก็จะมีชื่อชุดปรากฏอยู่บนหน้านี้

๑.๒.๓หน้ารูปภาพนำ (Frontispiece)

๑.๒.๔หน้าปกใน (Title Page) เป็นหน้าที่สำคัญเป็นอันดับแรกของหนังสือหนังสือทุกเล่มจะต้องมีหน้านี้ เพราะจะมีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ ปรากฏอยู่อย่างสมบูรณ์ คือ ชื่อเรื่อง ชื่อรอง ชื่อผู้แต่ง ชื่อบรรณาธิการชื่อผู้วาดรูป ผู้แปล ชื่อผู้เขียนคำนำ ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ ผู้พิมพ์และปีที่พิมพ์ ด้านหลังของหน้าปกในจะเป็น

๑.๒.๕หน้าลิขสิทธิ์ (Copyright Page) อยู่ด้านหลังของหน้าปกในบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดพิมพ์ ได้แก่ เจ้าของลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์ จำนวนพิมพ์ชื่อและสถาบันที่จัดพิมพ์นอกจากนี้อาจมีข้อมูลบัตรรายการห้องสมุดที่สำนักพิมพ์จัดให้ (Catalog inPublication หรือ CIP) เลขประจำหนังสือสากล (InternationalStandard Book Number หรือ ISBN) หรือรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดพิมพ์อื่นๆ

๑.๒.๖หน้าคำอุทิศ (Dedication Page) เป็นหน้าที่อยู่ต่อจากหน้าปกในมีชื่อบุคคลที่ผู้แต่งอุทิศหนังสือเล่มนั้นๆให้

๑.๒.๗หน้าคำนำ (Preface) เป็นหน้าที่ผู้แต่งหรือผู้จัดพิมพ์อธิบายสาระสำคัญของหนังสืออย่างสังเขปมีคำอธิบาย เหตุผลในการเขียนมีคำขอบคุณผู้ที่ได้ช่วยเหลือในการเขียนหนังสือเล่มนั้น อธิบายลักษณะการเรียบเรียงสัญลักษณ์และข้อมูลพิเศษอื่นๆที่ต้องการจะให้ผู้อ่านทราบ

๑.๒.๘หน้าสารบัญ ( Table of Contents) ซึ่งเป็นบัญชีชื่อบทตอน ของหนังสือตามลำดับพร้อมทั้งมีเลขหน้ากำกับสารบัญละเอียดจะมีลักษณะเป็นโครงเรื่องของหนังสือเล่มนั้น หน้าสารบัญจึงเป็นหน้าที่ผู้อ่านสามารถสำรวจโครงเรื่องของเนื้อหาว่าครอบคลุมเนื้อเรื่องเพียงพอกับความต้องการหรือไม่

๑.๒.๙หน้าสารบัญภาพประกอบหรือสารบัญตาราง (Lists of Illustration Materials) หนังสือบางเล่มที่มีภาพประกอบหรือตารางเป็นจำนวนมากก็จะมีสารบัญด้วย

๑.๓ส่วนเนื้อหา ส่วนนี้เป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยหน้าหนังสือที่มีเลขหน้ากำกับจัดเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของหนังสือ จัดเป็นภาค ตอน บท หน่วยหรือเรื่องตามลำดับการนำเสนอ

๑.๔ส่วนอ้างอิง ส่วนนี้ประกอบด้วยสิ่งที่ใช้อ้างอิงอ่านประกอบเพิ่มเติม ได้แก่

๑.๔.๑บรรณานุกรม (Bibliography) ซึ่งเป็นรายชื่อแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนใช้อ้างอิงและค้นคว้าในการเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันให้ผู้อ่านได้ทราบว่า ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ผู้แต่งได้ค้นคว้าหาหลักฐานมาอ้าอิงอย่างดีแล้วนอกจากนี้ความใหม่และความทันสมัยของรายการหนังสือในบรรณานุกรมที่ผู้เขียนใช้อ้างอิงก็จะแสดงให้เห็นถึงความทันสมัยของหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วย ๑.๔.๒ ภาคผนวก (Appendix) เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลหรือข้อความที่เป็นข้ออ้างอิงหรือสนับสนุนเนื้อหาสาระในเล่มแต่ไม่เหมาะสมที่จะแทรกอยู่ในเนื้อหา เพราะอาจทำให้เกิดความสับสนได้

๑.๔.๓อภิธานศัพท์ (Glossary) เป็นส่วนที่อธิบายคำศัพท์ที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถค้นอ่านเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่พบในเนื้อหา

๑.๔.๔บันทึก (Notes) อาจเป็นเชิงอรรถอ้างอิงที่มิได้ลงรายการไว้ที่ด้านล่างในส่วนของเนื้อหาหรืออาจเป็นคำอธิบายในส่วนเนื้อหาก็ได้

๑.๔.๕ดรรชนี (Index) เป็นรายชื่อคำและบุคคลในเนื้อหาที่นำมาจัดเรียงตามลำดับอักษรและมีหมายเลขหน้าที่คำนั้นๆ ปรากฏเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาคำ ข้อความชื่อที่ต้องการในหนังสือเล่มนั้น ๆ

ส่วนต่าง ๆของหนังสือตามที่ได้กล่าวมานี้เป็นส่วนประกอบของหนังสือโดยทั่ว ๆ ไปส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของรูปแบบนั้น สำนักพิมพ์แต่ละแห่งจะกำหนดเองและผู้ตรวจแก้ไขต้นฉบับจะต้องทราบลักษณะของรูปแบบที่ใช้เพื่อจะได้แก้ไขให้เป็นไปตามรูปแบบที่สำนักพิมพ์กำหนด

๒.การจัดลำดับเนื้อหาในแต่ละบทหรือแต่ละเรื่องการตรวจแก้ไขการจัดลำดับเนื้อหาในที่นี้มิได้หมายถึงการตรวจแก้วิธีการเสนอเนื้อหาสาระ แต่หมายถึงวิธีจำแนกแยกหัวข้อของเนื้อหาในแต่ละบทหรือแต่ละหน่วยที่สำนักพิมพ์อาจจะกำหนดรูปแบบไว้โดยเฉพาะผู้ตรวจแก้ไขต้นฉบับมีหน้าที่ตรวจแก้ไขการจัดลำดับเนื้อหาดังกล่าวนี้ให้เป็นไปตามรูปของสำนักพิมพ์หรือของสถาบันหรือหากไม่มีการกำหนดไว้ ผู้ตรวจแก้ไขต้นฉบับต้องตรวจหัวข้อต่างๆที่นำเสนอเป็นหัวข้อในลักษณะเดียวกันและไม่ขาดหายไป เช่นในตอนต้นผู้เขียนเสนอว่าจะเสนอเรื่องทั้งหมด ๓ หัวข้อแต่เมื่ออธิบายไปแล้วเหลือเพียง ๒ หัวข้อเป็นต้นการตรวจในขั้นนี้ผู้ตรวจจึงควรเขียนหัวข้อทั้งหมดที่ผู้แต่งเสนอหลังตรวจสอบเนื้อหาไปทีละข้อ ๆ ให้ได้รูปแบบที่สมบูรณ์ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๓๔, หน้า๔๕๘-๔๖๖)

       ความสำคัญของบรรณาธิการ

ทุกวันนี้หนังสือถือว่าเป็นสื่อที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หนังสือเป็นรากฐานของความรู้ที่มนุษย์จะต้องเอาความรู้ที่ได้จากการหนังสือไปใช้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองในอนาคต  ทุกคนเกิดมาจะต้องรู้จักหนังสือ ได้อ่านหนังสือต้องเรียนหนังสือ แม้ว่าในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในสังคม ในสถานศึกษาแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของหนังสือลดน้อยลงไปหนังสือก็ยังมีบทบาทและทำหน้าที่ให้ความรู้ได้ดีเหมือนเดิม  ยังมีการผลิตหนังสือ พัฒนาในเรื่องของการนำเสนอและเทคนิคต่างๆ อย่างต่อเนื่องแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังของการทำหนังสือเป็นอย่างไรและมีใครเป็นผู้รับผิดชอบ

                ผู้ที่รับผิดชอบในการทำหนังสือก็คือ บรรณาธิการบรรณาธิการก็คือผู้คัดเลือกงานเขียนของนักเขียนหรือหนังสือจากทุกแห่ง ที่คิดว่าดีมีประโยชน์แก่ผู้อ่าน  รับผิดชอบต้นฉบับของนักเขียน  ตรวจสอบการสะกดคำ  การใช้เครื่องหมายต่างๆ ให้ถูกหลักไวยากรณ์     จนกระทั่งการจัดพิมพ์  บรรณาธิการก็จะเป็นผู้ที่เรียบเรียงภาษาของนักเขียนให้น่าอ่านขึ้น   แต่ยังคงสำนวนภาษาของนักเขียนไว้คงเดิม

บรรณาธิการคือบุคคลสำคัญในการผลิตหนังสือทางด้านความคิด  มีความสามารถในการเขียน  คุณสมบัติสองอย่างนี้ต้องอยู่ในคนๆเดียวกัน   ซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคสมัยและสังคมในปัจจุบัน   ความรู้รอบตัว  รู้ไปทุกเรื่อง  รู้ลึกรู้จริง ทั้งนี้ยังสามารถสร้างจินตนาการและรู้ความคิดของผู้อ่าน บรรณาธิการเป็นผู้เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือหรือเป็นนักเขียนด้วยเหมือนกันเป็นผู้ตรวจทานต้นฉบับ   ดูแลการจัดทำรูปเล่มภาพประกอบ  ควบคุมการจัดพิมพ์ บรรณาธิการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตรวจต้นฉบับ เพราะต้นฉบับที่จะเป็นหนังสือในวันหน้าต้องออกสู่สายตาของผู้อ่าน ผู้อ่านต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดจากสิ่งที่เขาได้จากหนังสือเล่มนั้น   บรรณาธิการจะตรวจทานทุกอย่างด้วยความรอบครอบทุกสิ่งที่ปรากฏบนหนังสือไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

นอกจากบรรณาธิการแล้วหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่าบรรณาธิกรแล้วคงจะสงสัยว่าบรรณาธิการและ บรรณาธิกร สองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร  บรรณาธิกรก็คือ งานตรวจแก้ต้นฉบับซึ่งหมายความว่าในการทำหนังสือทุกเล่มต้องเป็นไปอย่างพิถีพิถัน    การจัดลำดับเนื้อหาแต่ละบทของหนังสือ  การตรวจหรือการพิจารณาแก้ไขเครื่องหมาย  การสะกดคำ  ประโยค ไวยากรณ์  การย่อหน้า  การเว้นวรรคตอน การจัดรูปเล่ม ประโยคสำคัญไม่ควรตัดตอน  ไม่กำกวม ไม่ใช้คำซ้อน สิ่งเหล่านี้จะผิดไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิด   ถ้าหากเกิดผิดพลาดขึ้นมาก็เท่ากับว่าความรู้ของผู้อ่านเกิดความผิดพลาดเช่นกัน  เหมือนกับการป้อนข้อมูลที่ผิด  ที่ไม่ดีให้กับคนบริสุทธิ์   พวกเขาไม่ผิดอะไร  แต่ต้องมารู้ในสิ่งที่ผิดเพียงเพราะสิ่งที่เขาอ่านไม่ได้รับการตรวจทานที่ดี   ทุกอย่างในหนังสือต้องได้รับการตรวจสอบตั้งแต่หน้าปกตลอดจนจบเล่ม  หน้าปกสอดคล้องกับเนื้อเรื่องหรือไม่   

มีความชัดเจนของรูปภาพ  สมจริง ภาพประกอบในเล่มก็ต้องสอดคล้องเช่นกัน  แต่ละตอนต้องสื่อให้ตรงกับเนื้อเรื่อง หนังสือบางเล่มต้องดูว่าสมควรที่จะมีภาพประกอบหรือไม่  เพื่อไม่ให้จินตนาการของผู้อ่านสูญเสียไปจากเดิม   การบรรณาธิกรต้องรู้จักสังเกตรูปประกอบ  การจัดรูปเล่มให้เหมาะสม  การเรียงลำดับเนื้อเรื่อง ใช้ขนาดของตัวหนังสือให้เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน  เพื่อเป็นการถนอมสายตาของผู้อ่านไปในตัว เช่น การที่นำการบรรยายภาพไว้ข้างบนภาพเป็นสิ่งที่เกิดความซับซ้อนได้ควรเอาคำบรรยายไว้ใต้ภาพทุกครั้งและอ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพที่นำมาลงในเนื้อเรื่อง

ภายในหนังสือจะต้องดูว่ามีความกลมกลืนระหว่างเนื้อเรื่องกับภาพประกอบหรือไม่ จัดเรียงเนื้อหาให้อยู่เป็นหมวดหมู่ไม่กระจัดกระจาย   อ่านแล้วลื่นไหล  ไม่สะดุด ตัวหนังสือที่พิมพ์บนกระดาษควรดูความเหมาะสมของสีของกระดาษ  หากสีกระดาษเข้มสีตัวหนังสือก็ควรจะสีอ่อน  หากสีกระดาษอ่อนสีหนังสือก็ควรจะเข้ม  ไม่ควรพิมพ์ตัวหนังสือลงบนภาพวาด  เพราะจะทำให้ไม่เห็นตัวหนังสือ  อ่านยาก และเป็นการทำลายภาพไปโดยปริยาย เรื่องการใช้ตัวอักษรก็เช่นกัน หากตัวหนังสือเป็นตัวหนาแล้วก็ไม่ควรขีดเส้นใต้  หรือในทางกลับกันถ้าขีดเส้นใต้ก็ไม่ควรทำตัวหนา ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นการเน้นข้อความเหมือนกัน

หากลองนึกดูว่าถ้าในโลกนี้ไม่มีบรรณาธิการเป็นผู้คอยตรวจแก้สิ่งที่ผิดในหนังสือให้กลายเป็นสิ่งถูกและไม่มีการบรรณาธิกรหนังสือแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหนังสือที่ผลิตออกมาจะเป็นเช่นไร อาจจะพูดได้ว่าหนังสือก็ยังคงมีรูปร่างสี่เหลี่ยม มีเนื้อหาที่ให้สาระ แต่สิ่งที่ขาดหายไปก็คือคุณภาพหรือคุณค่าของหนังสือ ผู้อ่านอาจจะได้สาระได้ความรู้จากเรื่องที่อ่านก็จริง แต่ความรู้ในเรื่องของการใช้ภาษา สำนวนคำสะกดต่างๆก็คงจะผิด เหมือนครูกับนักเรียน ถ้าหากว่าไม่มีครูซึ่งเป็นผู้คอยอบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจ จิตสำนึกของนักเรียนแล้ว เด็กก็อาจจะเป็นเด็กที่ก้าวร้าวได้จมอยู่กับความคิดหรือการกระทำที่ผิด จริงอยู่การที่เด็กไม่มีครูคอยห้ามคอยอบรมสั่งสอน เขาก็จะได้รับการเรียนรู้ของเขาอย่างอิสระ อย่างเต็มที่ รู้มากแต่เขาจะรู้หรือไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดเมื่อเขาไม่รู้เขาก็จะคิดว่าทำอย่างนั้นมันถูกแล้วก็จะกลายเป็นการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดของเขาให้เกิดความเข้าใจที่ผิดได้การทำหนังสือก็เช่นกันผู้เขียนเขาก็มีความรู้ความเข้าใจในภาษา เข้าใจคำเข้าใจประโยคในแบบของเขา เขาไม่รู้หรอกว่าบางทีประโยค คำหรือสำนวนภาษาที่เขาเขียนขึ้นมานั้นมันผิดก็จะมีบรรณาธิการนี่แหละเป็นคนคอยแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม

เพราะวัตถุประสงค์ของการผลิตหนังสือถ้าไม่นับรวมในเรื่องของธุรกิจแล้วการผลิตหนังสือก็เพื่อให้ทุกคนได้อ่าน อ่านเพื่อที่จะได้รับความรู้นอกจากความรู้จากเนื้อหาในเรื่องแล้ววัตถุประสงค์ของการทำหนังสือในทางอ้อมก็คือเป็นการฝึก ปลูกฝังให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในภาษาได้อย่างถูกต้องไปในตัวเพราะเมื่อไรก็ตามที่เขาหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเขาจะค่อยๆซึมซับสิ่งที่เขาอ่านไปเรื่อยๆ ถ้าหนังสือที่เขาอ่านเป็นหนังสือที่ดี  มีการใช้คำ ใช้ภาษาที่ถูกต้องเขาก็จะซึมซับเอาสิ่งดี สิ่งที่ถูกต้องเข้าไป เขาก็จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแต่หากเขาอ่านหนังสือที่ไม่ได้รับการตรวจแก้  ไม่ได้รับการบรรณาธิกรอย่างในเรื่องของภาษาถ้าในหนังสือเล่มนั้นใช้ภาษาที่ผิด  เขียนคำผิด สะกดผิดเขาก็จะซึมซับเอาสิ่งที่ผิดเข้าไปเช่นกัน

การบรรณาธิกรหนังสือไม่ได้ทำเพียงเพื่อที่จะให้หนังสือดูมีกระบวนการหรือวิธีการทำที่ยากแล้วใช้ข้ออ้างนี้เป็นข้อต่อรองในการตั้งราคาหนังสือแต่นั่นหมายถึงคุณภาพของคนในประเทศ หากหนังสือที่ทำนั้นดี มีคุณภาพคนในประเทศก็ย่อมที่จะมีคุณภาพตามไปด้วยแต่ในทางตรงกันข้ามหากหนังสือที่ทำออกมาเป็นหนังสือที่ไร้คุณภาพนึกถึงแต่เรื่องธุรกิจเป็นสำคัญ สักแต่ว่าจะทำเพื่อให้ได้ขายคนในประเทศก็คงจะไร้คุณภาพเหมือนกับหนังสือ

คุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  นักเขียนเจ้าของนามปากกาสิงห์ สนามหลวง และผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกดได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการวิจัยพฤติกรรมการอ่านของคนไทยและคนเวียดนามที่ปรากฏว่าคนเวียดนามอ่านหนังสือ 60 เล่มต่อคนต่อปี ในขณะที่คนไทยอ่าน 2 เล่มต่อคนต่อปี ว่า

จากผลวิจัยว่า ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งข้อสงสัยว่าเรามีวัฒนธรรมการอ่านจริงหรือเปล่าเพราะวัฒนธรรมการอ่านมันควรจะเติบโตไปพร้อมกับวัฒนธรรมการพิมพ์เรามีหนังสือมากมายหลากหลาย แต่มากกว่า 50% เป็นหนังสือขยะหนังสือที่ทำตามๆกันเป็นหนังสือที่หากินจากความอ่อนแอของคน  ที่สำคัญงานทุกประเภทในสังคมบ้านเรานั้นถูกโยนเข้าตลาดในลักษณะที่ต้องวิ่งแข่งกันหมดเพราะฉะนั้นถ้าใครสายป่านสั้นหรือทำหนังสือเฉพาะกลุ่มก็จะไม่มีวันยืนพื้นที่ได้ในระยะยาว บ้านเราไม่มีการจัดระบบหนังสือให้เป็นโครงสร้างที่ชัดเจน ทุกคนฟรี ตลาดเสรีลงทุนได้เหมือนกันหมด ฉะนั้นทุกคนก็จะพิมพ์หนังสือที่คิดว่าจะขายได้ส่งผลให้ตลาดมีหนังสือขยะมากกว่า 50%และในเมื่อโครงสร้างมันเป็นอย่างนี้ก็แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อคุณภาพการอ่านและมีผลต่องานของนักเขียน ซึ่งต้องเขียนอะไรที่ขายได้ หรือสำนักพิมพ์รับพิมพ์

เห็นได้ว่าการบรรณาธิกรหนังสือเป็นเรื่องที่จำเป็นหนังสือที่ผลิตออกมาหากไม่ได้รับการบรรณาธิกรก็ไม่ต่างอะไรกับขยะที่นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์เราด้วย การบรรณาธิกรหนังสือไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆผู้ที่จะบรรณาธิกรหนังสือได้ต้องมีความรู้ ความคิด  ความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆมีความละเอียดลออ  ประณีต  มีความสร้างสรรค์ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หาได้ในตัวคนทุกคน                จรรยาบรรณของบรรณาธิการ

(วัลยาวิวัฒน์ศร , ๒๕๔๗, หน้า ๓๗๖ อ้างอิงจาก มกุฎ อรฤดี, ๒๕๔๔)

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเภทใดบรรณาธิการต้นฉบับต้องรับผิดชอบต่อต้นฉบับต่องานแปล และต่อผู้อ่านโดยมีจรรยาบรรณเป็นตัวกำหนด เช่น ไม่เปิดเผยการตรวจแก้ต้นฉบับต่อสาธารณะไม่อ้างความดีใส่ตนในการทำงานระวังหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดเนื้อหาที่อาจทำให้ผู้อ่านทำตามแล้วเกิดผลเสียอย่างคาดไม่ถึงตามมาเช่น การฆ่าตัวตาย รายละเอียดการใช้ยาเสพติด เป็นต้นจรรยาบรรณของบรรณาธิการต้นฉบับอาจกำหนดได้ดังนี้

๑.ไม่อ้างความดีใส่ตนในการทำงานตรวจแก้ต้นฉบับบรรณาธิการต้นฉบับต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดว่าการตรวจแก้ต้นฉบับเป็นหน้าที่และความลับ เมื่อเป็นหน้าที่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดและไม่ควรอ้างความดีความชอบในการทำหน้าที่นั้น และยิ่งเมื่อเป็นความลับก็ต้องปิดบัง ไม่นำความไปแพร่กระจายให้ผู้อื่นรู้การอ้างความดีใส่ตัวโดยการป่าวประกาศหรือบอกผู้อื่นว่าเพราะตนเป็นผู้ตรวจแก้ต้นฉบับเรื่องนั้น งานจึงออกมาดี นั่นเท่ากับบอกว่าเจ้าของต้นฉบับทำไว้ไม่ดีบรรณาธิการต้นฉบับต้องยอมรับตั้งแต่แรกที่เริ่มทำงานนี้ว่า งานบรรณาธิการต้นฉบับไม่ใช่งานที่จะหวังชื่อเสียงเกียรติยศได้เหมือนงานอื่นในบางกรณีมิได้ระบุไว้ในหนังสือด้วยซ้ำว่าใครเป็นบรรณาธิการต้นฉบับในกรณีที่สำนักพิมพ์บางแห่งระบุว่ามีบรรณาธิการต้นฉบับก็เพื่อยืนยันว่ามีการทำงานเป็นระบบมีการตรวจสอบเพื่อให้หนังสือเล่มนั้นมีความถูกต้องสมบูรณ์ดียิ่งขึ้นมิใช่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เขียนหรือผู้แปลการที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้รับความสำเร็จ หรือกลายเป็นหนังสือมีชื่อเสียงโด่งดังบรรณาธิการต้นฉบับไม่อาจอ้างต่อสาธารณะได้ว่าเป็นความสำเร็จของตนเว้นแต่ผู้เขียนหรือผู้แปลจะเป็นผู้ประกาศหรือกล่าวถึงและการที่ผู้แปลหรือผู้เขียนกล่าวถึงบรรณาธิการต้นฉบับก็มิได้ทำให้เกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้เขียนหรือผู้แปลต้องตกต่ำลงแต่ประการใด

๒.ไม่เปิดเผยการตรวจแก้ต้นฉบับต่อสาธารณะบรรณาธิการต้นฉบับไม่มีสิทธิ์นำรายละเอียดหรือหลักฐานการตรวจแก้ต้นฉบับไปเปิดเผยต่อสาธารณะเพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้แปลหรือเจ้าของต้นฉบับได้หากน้ำเสียงของการเผยแพร่ข่าวเป็นไปในทางลบ การเปิดเผยรายละเอียดต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถทำได้ในกรณีที่ต้องอ้างต่อศาล หรือการเป็นพยานศาล หรือตามข้อบังคับของกฎหมาย

๓. ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บุคคลและสิ่งที่เกี่ยวข้องบรรณาธิการต้นฉบับมีความรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อสำนักพิมพ์ ผู้เขียนต้นฉบับเดิมผู้แปล ต้นฉบับแปล และประเทศชาติ ความรับผิดชอบใหญ่หลวงเหล่านี้เป็นสิ่งที่บรรณาธิการต้นฉบับจะต้องระลึกอยู่เสมอ

    การตรวจแก้ไขเนื้อหาของบรรณาธิการ

การตรวจแก้ต้นฉบับ หมายถึงการตรวจแก้ข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่อาจจะมีอยู่ในต้นฉบับที่ได้รับมา เช่นข้อบกพร่องด้านไวยากรณ์ ข้อบกพร่องด้านข้อเท็จจริง และข้อบกพร่องด้านตัวสะกดคำ(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๓๔, หน้า ๓๑๕) โดยพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

๑. ความถูกต้องของเนื้อหาข้อเขียนทุกชิ้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่านดังนั้นเนื้อหาทางวิชาการที่ถูกต้อง ข้อมูล สถิติตัวเลขที่ตรงกับข้อเท็จจริงเป็นสิ่งจำเป็นที่บรรณาธิการจะต้องพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาสาระนี้นอกจากจะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวแล้วยังต้องพิจารณาด้วยว่าเนื้อหาในต้นฉบับที่ได้รับนั้นล้าสมัยไปแล้วหรือยังหากมีการอ้างอิงเพื่อสนับสนุนข้ออภิปรายต่างๆ ในงานเขียนนั้นๆต้องพิจารณาว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวเป็นกลางหรือไม่ผู้เขียนมีอคติหรือลำเอียงในเรื่อง เพศ เชื้อชาติ ศาสนาหรือไม่ เป็นต้น

๒. ความเหมาะสมของเนื้อหาพิจารณาได้จากความยากง่ายของเนื้อหาสาระว่าเหมาะสมกับผู้อ่านทั้งในแง่วัยวุฒิประสบการณ์ และพื้นฐานความรู้เดิมการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้บรรณาธิการจะต้องสมมติตนเองเป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้อ่านตามวัตถุประสงค์ของงานเขียนชิ้นนั้นนอกจากนี้ รูปแบบและวิธีการเสนอเนื้อหาก็จำเป็นที่จะต้องใช้ให้เหมาะสมเพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนสัมพันธ์กับคุณลักษณะของผู้อ่านและลักษณะของเนื้อหาสาระด้วย

๓.ความถูกต้องในการอ้างอิงงานของผู้อื่น การตรวจสอบในเรื่องนี้ จะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้จัดพิมพ์ว่าผู้เขียนมิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยการนำผลงานของผู้อื่นมาคัดลอกตัดต่อเป็นของตนเองดังนั้นบรรณาธิการจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์สำหรับในกรณีที่ผู้เขียนอ้างอิงข้อมูลต่างๆจากผลงานของผู้อื่นบรรณาธิการต้องตรวจดูว่าผู้เขียนได้อ้างอิงผลงานชิ้นนั้นหรือไม่ และถูกต้องหรือไม่โดยทั่วไปการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกมาโดยตรงนำแนวคิดของเขามาปรับปรุงเขียนใหม่ หรือใช้ตาราง แผนภูมิ รูปภาพก็จะต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาทั้งสิ้นยกเว้นในกรณีที่อ้างถึงข้อเท็จจริงที่เป็นที่ทราบกันทั่วไป เช่น โลกกลม สูตร H₂Oหมายถึง น้ำ เป็นต้น

วิธีการอ้างอิงงานของผู้อื่นใช้วิธีการลงรายการเชิงอรรถและบรรณานุกรมเพื่อบอกรายละเอียดของเอกสารที่นำมาใช้ว่าผู้เขียนคือใคร ชื่อเรื่องที่อ้างอิงคืออะไร พิมพ์ที่ไหน เมื่อไร หน้าอะไรการลงรายการเชิงอรรถ และบรรณานุกรมนี้ นอกจากจะเป็นการให้เกียรติแก่ผู้เขียนแล้วยังเป็นการช่วยผู้อ่านที่ต้องการจะค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปจะได้ติดตามหาอ่านได้สะดวกนอกจากนี้ความใหม่และทันสมัยของเอกสารอ้างอิงยังแสดงให้เห็นถึงความทันสมัยของเนื้อหาสาระด้วย

๔. ความถูกต้องในเชิงกฎหมายเนื้อหาสาระในงานเขียนบางเรื่อง ข่าว หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับ สถาบันหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใด อาจมีลักษณะละเมิดสิทธิ หมิ่นประมาทผู้อื่นดังนั้นในการตรวจแก้เนื้อหาสาระบรรณาธิการจะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยข่าวหรือข้อเท็จจริงบางอย่างแม้จะเป็นความจริงก็ไม่อาจนำลงเผยแพร่ได้ เพราะอาจผิดกฎหมายในเรื่องของการละเมิดสิทธิหรือขัดต่อความมั่นคงของประเทศชาติเป็นต้น (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ๒๕๓๔หน้า ๔๖๙-๔๗๓)

วิเคราะห์ประเภทของบรรณาธิการในบทเรียนเรื่องบก. ที่รักในเรื่อง บ.ก. ที่รัก จะมีจดหมาย 2 ฉบับ คือจดหมายที่ น้องส้ม ส่งถึงคุณป้า บก. ที่เคารพรัก และ ที่คุณกรรณิการ์  ศึกษาดี ส่งถึงบรรณาธิการวารสารชวนเที่ยว ซึ่งแต่ละอันเป็นการส่งถึงบรรณาธิการเหมือนกันซึ่งเราจะมาวิเคราะห์ประเภทของบรรณาธิการในบทเรียนเรื่องบก. ที่รัก

                จดหมายแรกเป็นจดหมายที่น้องส้ม ส่งถึงคุณป้า บ.ก. ที่เคารพรักเป็นจดหมายที่บรรยายเกี่ยวกับกิจกรรมที่น้องส้มทำมา เช่น ในวันปิดเทอมใหญ่ขณะวันสงกรานต์น้องส้มได้ไปประกวดหนูน้อยสงกรานต์ ไปทำบุญ ไปเล่นน้ำสงกรานต์และมีความสุขมากๆ และยังได้อธิบายถึงเพื่อนรักของเขา ที่มีชื่อว่า กุ๊กไก่และแมวถึงคุณป้า บ.ก. (บรรณาธิการ) ที่เคารพรัก

                ซึ่งในจดหมายนี้ไม่ได้กล่าวถึงคุณป้าบ.ก. ที่เคารพรัก แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ บรรยายให้คุณป้าฟัง ฉะนั้นจึงสรุปไม่ได้ว่าเป็นประเภทใด

                จดหมายฉบับที่2 เป็นจดหมายที่คุณกรรณิการ์  ศึกษาดีส่งถึงบรรณาธิการวารสารชวนเที่ยว ซึ่งเป็นจดหมายที่บรรยายเกี่ยวกับการสั่งซื้อหนังสือที่เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในตราด ว่ามีหนังสือหรือเปล่าซึ่งครอบครัวเขาจะไปกันแต่ไม่ค่อยรู้สถานที่ท่องเที่ยวในตราด

                บรรณาธิการที่กล่าวมานี้น่าจะเป็นบรรณาธิการต้นฉบับเพราะบรรณาธิการรูปเล่มมีหน้าที่ตรวจสอบแก้ไข ปรับปรุงให้เข้ากับตามรูปแบบหนังสือส่วนบรรณาธิการต้นฉบับ มีหน้าที่ ตรวจสอบคำ ไวยากรณ์ และ ความหมายว่าถูกต้องตามที่ผู้เขียนจะสื่อ หรือเปล่า ซึ่งบรรณาธิการต้นฉบับก็น่าจะรู้เนื้อหามากกว่าบรรณาธิการรูปเล่มซึ่งก็จะสามารถหาหนังสือของผู้ที่จะซื้อได้

                                                          

         บรรณานุกรม

ทิพภา ปลีหะจินดา และคณะ. “การศึกษาแนวโน้มความต้องการบัณฑิตในสาขาบรรณาธิการ”. bflybook. ไม่ปรากฏวัน

เดือนปีที่เผยแพร่. สำนักพิมพ์ผีเสื้อ. 2 พฤศจิกายน2553. <http://www.bflybook.com/Article/

EditorialCourse2/EditorialCourse2.htm>

วิกีพีเดีย. “บรรณาธิการ”. wikipedia. 6 ตุลาคม2553. มูลนิธิวิกิพีเดีย. 2 พฤศจิกายน 2553. <http://th.wikipedia.

 org/wiki/บรรณาธิการ>             

วรรณประภา เอี่ยมฤทธิ์. “ความสำคัญของบรรณาธิการ”. hu-sobuu. 2 ตุลาคม2551. ไม่ปรากฏผู้รับผิดชอบ. 2

พฤศจิกายน 2553. <http://hu-sobuu.exteen.com/20081002/entry-11>

ศึกษาธิการ, กระทรวง. วิวิธภาษา. ครั้งที่ 5. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สกสค. , 2551, 173 หน้า.

สร้างโดย: 
บอล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 507 คน กำลังออนไลน์