"นักวิชาการ"ข้องใจกรณีวิ่งเต้นยุบปชป.คนแต่งตั้งเลขาฯควรแสดงความรับผิดชอบ?"ภูมิใจไทย"นายกฯกล้าไหม!

รูปภาพของ ssspoonsak

 วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11:59:51 น.  มติชนออนไลน์

"นักวิชาการ"ข้องใจกรณีวิ่งเต้นยุบปชป.คนแต่งตั้งเลขาฯควรแสดงความรับผิดชอบ?"ภูมิใจไทย"นายกฯกล้าไหม!

สุดสัปดาห์นี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บรรณาธิการเว็บไซต์ www.pub-law.net แสดงความเห็นผ่าน บทบรรณาธิการเรื่อง "ถามหาความรับผิดชอบ" ทั้งจากกรณีเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปมีส่วนพัวพันกับปัญหาการวิ่งเต้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหลายเรื่องในรัฐบาล  ดังนี้


@ ถามหาความรับผิดชอบ กรณีเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  

มีผู้สื่อข่าวหลายคนสอบถามความเห็นของผมเกี่ยวกับกรณีที่เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปมีส่วนพัวพันกับปัญหาการวิ่งเต้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผมก็ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรทั้งนั้นเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” ที่ผู้กล่าวอ้างและผู้ถูกกล่าวอ้างมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าควรต้องให้ความสำคัญกับคำว่า “ความรับผิดชอบ” กันบ้างเพราะ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนพูดเรื่องความรับผิดชอบกันเท่าไรนัก ทำผิดแล้วเงียบหรือไม่ก็เถียงเอาชนะ !!

 

 

บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบโดยจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อไม่กี่วันมาดูกันเล่น ๆ สักสองเรื่องเพื่อ “ถามหาความรับผิดชอบ” จากผู้เกี่ยวข้อง เรื่องแรกคือ การแต่งตั้งบุคคลให้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลาย ๆ อย่าง การคัดสรรคนเข้ามารับตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นเลขานุการหรือที่ปรึกษานั้น เท่าที่ผมทราบก็คือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เป็นดุลพินิจของผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละคนที่จะตั้งใครมาก็ได้ 
   
ในส่วนตัวผมเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทำให้ทราบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนที่ตั้ง “นักวิชาการ” เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลืองานด้านวิชาการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ ส่วนคนอื่นตั้งใครมาก็ไม่ทราบ ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน

  

แต่จากข้อมูลที่ได้รับทราบ คนเหล่านั้นมีบางคนที่เป็น “เครือญาติ” บางคนก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ เมื่อตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มีเงินค่าตอบแทน บางคนเอาลูกหลานตัวเองมาเป็นเลขานุการก็เคยมีมาแล้ว ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังมีผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดยังทำเช่นนั้นอยู่หรือไม่ คงต้องหาทางเอาข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบเพราะการตั้งคนมาเป็นเลขานุการหรือเป็นที่ปรึกษาคนระดับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น

 

@   ผู้แต่งตั้งควรแสดงความรับผิดชอบ !!!

  

แม้จะไม่มีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง แต่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมี “สำนึก” ว่าจะต้องตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถและเคยมีประสบการณ์ในการทำงาน ลักษณะดังกล่าวมาแล้ว เมื่อบุคคลใดได้รับการแต่งตั้งเข้ามาแล้วก็จะต้องรับทราบสถานะของคนที่ตนจะต้องมาทำงานด้วยและต้องประพฤติตน ดำรงตน ไม่แตกต่างไปจากผู้แต่งตั้งครับ
  

ส่วนตัวผู้แต่งตั้งนั้น จริงอยู่ที่บุคคลที่เป็นที่ปรึกษาหรือเลขานุการ แม้ในเชิงโครงสร้างจะไม่ได้มีอำนาจอะไร แต่ก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าในสังคมอุปถัมภ์ การแต่งตั้งคนสนิท คนใกล้ชิด หรือเครือญาติมาเป็นที่ปรึกษาหรือเลขานุการ ถึงจะไปบอกบุคคลอื่นว่าไม่มีอำนาจ ถามจริง ๆ ใครจะเชื่อครับ !!!

 

 เพราะฉะนั้น จึงขอฝากไปยังสื่อมวลชนทุกประเภทด้วยว่าช่วยกรุณาตรวจสอบผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามา “ช่วย” ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นใครกันบ้าง มีความสามารถอย่างไร ได้ค่าตอบแทนเท่าไร เปิดมาดูกันให้หมดจะได้รู้กันไปเสียทีว่าอะไรเป็นอะไร


ส่วนบุคคลที่มีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้วันนี้จะถูกปลดออกไปแล้วก็ตาม แต่ก็ควรมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบว่า คน ๆ นั้นเป็นใคร มีที่มาอย่างไร ชำนาญการเป็นเลขานุการมากแค่ไหน ได้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นอย่างไรบ้างและที่สำคัญก็คือในช่วงเวลาที่ผ่านมามีบทบาทอย่างไรในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเท่าที่ได้ยินมานั้น “ไม่เบา” เลยครับ !!! 

 

นอกจากนี้ ก็อยากฝากเป็นคำถามไว้กับสังคมไทยของเราด้วยว่า การใช้ดุลพินิจตั้งคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง ต่อมาบุคคลดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับองค์กร ผู้แต่งตั้งควรแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง จริงอยู่แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีการกำหนดให้ผู้แต่งตั้งต้องรับผิดชอบ แต่ในทางจริยธรรมและในระบบการบริหารราชการที่ดีนั้น ผู้แต่งตั้งจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบซึ่งก็คงไม่ใช่เพียงแค่ “ขอโทษ” แล้วจบกันนะครับ

  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเพราะ “ระดับ” ความรับผิดชอบของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกันครับ บางคนเลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ ปล่อยให้เรื่องผ่านไปโดยตัวเองก็ยังคงมีงานทำ มีเงินใช้ต่อไป สบายกว่าลาออกเป็นไหนๆ ครับ!!!
                  
เรื่องต่อมา สืบเนื่องจากบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วที่ผมได้กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีว่าไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงเนื่องจากต้องพึ่งพาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นที่มาร่วมรัฐบาล วันนี้ นายกรัฐมนตรีมาในมาดใหม่แล้วครับ จากคำให้สัมภาษณ์ที่ได้อ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ว่า หากรู้สึกอึดอัด ขอให้บอกมาอย่างเป็นทางการจะปรับออกให้ ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่ด้วยกันต้องทำตามกติการ่วมกันของรัฐบาล ทำให้รู้สึกว่า นายกรัฐมนตรีพยายามที่จะเรียกความถูกต้องคืนมา เพราะที่ผ่านมาเกือบสองปีนั้น มีข่าวคราวของการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองและในส่วนของพรรคภูมิใจไทย

    

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีความพยายามในการแก้ปัญหา เช่น ปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบางคนที่มี “เรื่องอื้อฉาว” แต่การปรับเปลี่ยนก็ยังไม่ใช่คำตอบที่สังคมต้องการรับทราบเพราะเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวมีหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

   

 

ทุกครั้งนายกรัฐมนตรีก็จะพูดเหมือน ๆ กันคือ เรื่องนี้ต้องมีคำตอบ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ แต่จนกระทั่งปัจจุบัน เราก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบอะไรทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีปลากระป๋องเน่า กรณีโครงการชุมชนพอเพียง กรณีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง ก็ไม่ทราบว่าจะต้องรอคำตอบกันไปอีกนานแค่ไหนสำหรับกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจากคนของพรรคประชาธิปัตย์ครับ
     
@ ทำไมสังคมจึงตั้ง “ข้อสงสัย” กับพรรคภูมิใจไทย           
 
กลับมาดูในส่วนของพรรคภูมิใจไทยกันดีกว่า ผมชอบใจคำถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ถามนักข่าวและก็เป็นข่าวไปทั่วว่า อะไรที่เกี่ยวกับภูมิใจไทยถึงเป็นเรื่องที่ไม่โปร่งใสไปเสียหมด น่าเสียดายที่ผมไม่ใช่นักข่าวคนนั้นเพราะถ้าผมเป็นนักข่าวคนนั้นผมจะต้องตอบกลับไปว่า ผู้ที่ตอบคำถามดังกล่าวได้ดีที่สุดก็คือผู้ถามนั่นเองครับ
               
 ทำไมสังคมและสื่อมวลชนจึงตั้ง “ข้อสงสัย” กับพรรคภูมิใจไทยกันมากในเรื่องของการกระทำที่ไม่โปร่งใส เราคงไม่ต้องย้อนไปดูในรายละเอียดกันว่า พรรคภูมิใจไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ประกอบด้วยใครบ้างและแต่ละคนมี “ประวัติความเป็นมา” อย่างไรเพราะอาจทำให้เกิด “อคติ” มากกว่าที่มีอยู่ก็เป็นได้ ผมคิดว่าเราน่าจะจำกัดการมองพรรคภูมิใจไทยอยู่ที่ “ผลงาน” ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลจะดีกว่า
                 
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าพรรคภูมิใจไทยดูแลรับผิดชอบกระทรวงสำคัญ ๆ อย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทั้ง 3 ถือได้ว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของประเทศ เป็นกระทรวงที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ความชำนาญที่สุดในแต่ละด้านเข้ามาทำงานเพราะความเจริญของประเทศขึ้นอยู่กับกระทรวงทั้ง 3 แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า บุคคลทั้ง 3 ที่พรรคภูมิใจไทยส่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้ง 3 นั้น เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญที่สุดในแผ่นดินไทยหรือไม่

  

 

ผมคงไม่ต้องตอบหรืออธิบายอะไรในเรื่องนั้นครับ เพียงแต่คิดง่าย ๆ ว่าประเทศชาติไม่ใช่ห้องทดลองหรือสถานที่ฝึกงานของคนแค่นั้นเอง ส่วนที่มีปัญหาจริง ๆ ก็คือ การทำงานของกระทรวงทั้ง 3 ที่จะว่าไปแล้วก็มีข่าวออกมาอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คาบลูกคาบดอกกับการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยกระทรวงมหาดไทยก็มีเรื่องเกี่ยวกับ “การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ” ที่วันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้สั่งให้ยกเลิกการแต่งตั้งนายอำเภอ 41 ตำแหน่ง
 
@ จาก 41 นายอำเภอถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ....งามหน้าไหม

 

 

เนื่องจาก “คำสั่งแต่งตั้งมาจากกระบวนการคัดเลือกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา” งามหน้าไหมครับ !!! ก็ต้องดูกันต่อว่าเรื่องนี้จะมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบกันบ้างหรือจะรอให้มีการ “ลากคอ” ผู้กระทำความผิดมาลงโทษก็ไม่ทราบ ส่วนเรื่อง “การแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย” ก็ใช่ย่อย เมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 31 สิงหาคม 2553 ให้การแต่งตั้งอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยแทนอธิบดีกรมการปกครองที่ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว ผมรับทราบเรื่องดังกล่าวจากการอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ทราบว่ามติคณะรัฐมนตรีเป็นลักษณะนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องขอให้บรรดาผู้รู้ทั้งหลายช่วยอธิบายหน่อยว่า ข้าราชการขอไม่รับตำแหน่งที่ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งได้ด้วยหรือครับ ผมเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้

 

 

ตอนที่มีการแต่งตั้งตำรวจคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญแต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลต่างชาติแสดงความไม่เห็นด้วย ก็มีข่าวว่าตำรวจคนนั้นขอไม่รับตำแหน่งเช่นกันครับ !!!

 

 

จริง ๆ แล้วเรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในโครงการประมูลเช่าคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทยในวงเงิน 3,490 ล้านบาท ที่ขณะนี้ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนขึ้นมาดำเนินการค้นหาความจริงแล้วครับ เพราะฉะนั้น เรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่คณะรัฐมนตรีต้องให้ความระมัดระวังว่าหากจะแต่งตั้งใครสักคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็จะต้องทำการตรวจสอบคุณสมบัติให้ถูกต้องเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดอาการแบบนี้คือ ตั้งแล้วเปลี่ยนซึ่งเป็นการทำลายระบบราชการอย่างมาก

 

 @ โชคดีที่เป็นรัฐบาลนี้ทำเลยไม่ค่อยเป็นปัญหา

  

 โชคดีที่เป็นรัฐบาลนี้ทำเลยไม่ค่อยเป็นปัญหา ถ้าเป็นรัฐบาลทักษิณคงถูกนำมาโจมตีและโยงไปถึงเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแล้วเพราะเท่าที่ทราบจากข่าวได้มีการเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่เข้าสู่กระบวนการไปแล้ว เข้าใจว่ารอโปรดเกล้าฯ อยู่แล้วก็คงมีการถอนเรื่องออกมา รัฐบาลคงต้องระมัดระวังให้มากกว่านี้
                
  กระทรวงคมนาคมของพรรคภูมิใจไทยก็เช่นเดียวกัน การเช่ารถเมล์ 4,000 คันที่แพงกว่าซื้อเป็นเรื่องที่เข้า ๆ ออก ๆ การประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง เป็นเรื่องที่หลาย ๆ ส่วนของสังคมตั้งข้อสงสัยใน “ความโปร่งใส” แล้วก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน เข้าใจว่าเรื่องนี้คงยังไม่จบง่าย ๆ ล่าสุดที่เป็นข่าวดังไปทั่วก็คือ เรื่องลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิที่น่าอดสูใจเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องที่คาดว่าจะตามมาที่เพิ่งอ่านเจอในหนังสือพิมพ์คือ หลังน้ำท่วมกระทรวงคมนาคมต้องใช้งบอีกพันล้านบาทเพื่อซ่อมแซมถนนและทางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้นก็มีข่าวออกมาตลอดในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องการขายข้าว เป็นต้น ผมคงไม่สามารถนำทุกเรื่องมากล่าวไว้ได้หมดในที่นี้ครับ
                  
รวมความแล้ว 3 กระทรวงสำคัญที่พรรคภูมิใจไทยรับผิดชอบมีข่าวคราวในเรื่องความไม่โปร่งใสออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรคภูมิใจไทยสงสัยว่าทำไมมีข่าวดังกล่าวก็คงต้องให้ความกระจ่างกับสังคมนะครับ คงต้องตอบคำถามกันอย่างเป็นทางการ เป็นระบบ ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ใช่ตอบคำถามแบบแปลก ๆ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
                 
 รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดก็เพราะระหว่างที่เป็นรัฐบาล กระบวนการตรวจสอบภายในรัฐบาลเองทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อพ้นจากตำแหน่งจึงมีการขุดคุ้ยกันออกมามากมายหลายเรื่อง ทำให้ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีบางคนต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวและคณะรัฐมนตรีก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบในบางเรื่องด้วย ตัวอย่างดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลนี้ต้องพึงระลึกถึงอยู่เสมอ
   

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ วันข้างหน้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล โอกาสที่จะถูก “เอาคืน” มีอยู่สูงมาก และในวันนั้นอาจมีหลายคนที่ต้อง “รับโทษ” เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาก็เป็นได้
                 
กลับมาสู่คำถามที่นายกรัฐมนตรีต้องตอบก็คือ กล้าแค่ไหนที่จะจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นอยู่ในวันนี้ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ การตัดสินใจอะไรจึงควรยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ความรับผิดชอบดังกล่าวต้องนำมาวางไว้บนตาชั่งด้านหนึ่งเสมอครับ !!!
                
แหล่งที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1287835297&grpid=00&catid=

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 484 คน กำลังออนไลน์