วันเด็ก
ประวัติความเป็นมาของวันเด็ก
นายวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเด็ก และเพื่อกระตุ้นเตือนให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง
งานวันเด็กแห่งชาติในเมืองไทยครั้งแรกนั้น จัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ 2498 และได้จัดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี จนถึง พ.ศ. 2506 จึงมีความคิดว่าควรจะเปลี่ยนไปจัดงานวันเด็ก ในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงที่พ้นจากฤดูฝนมาแล้วและเป็นวันหยุดราชการทำให้เกิดความสะดวกด้วยประการทั้งปวง
ในปี พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2508 ซึ่งถือเอาวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ มาจนบัดนี้
รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข