การแสดงพื้นเมือง

รูปภาพของ trmploykan

 

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ
 
         ในภาคเหนือภูมิประเทศเป็นป่าเขา  ต้นน้ำลำธาร  อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  การทำมาหากินสะดวกสบาย  ชาวเหนือจึงมีอุปนิสัยอ่อนโยนยิ้มแย้มแจ่มใส  มีน้ำใจไมตรี การแสดงพื้นเมืองจึงมีลีลาอ่อนช้อยงดงามละเมียดละไมเนิบนาบอ่อนหวาน
         การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือเรามักเรียกว่า “ ฟ้อน “ มีลักษณะคล้ายระบำ คือมีผู้แสดงหลายคนเป็นชุดเป็นหมู่  ร่ายรำทำท่าเหมือนๆกัน  แต่งกายเหมือนกัน มีการแปรแถวแปรขบวนต่างๆ  แต่ที่ไม่เรียกว่าระบำ เพราะฟ้อนมีจังหวะและลีลาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนระบำหรือการแสดงอื่นๆ
 การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือมีหลายอย่าง ได้แก่
 - ฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเมือง 
 - ฟ้อนเทียน   
 - ฟ้อนลาวแพน                                                                                                          
 - ฟ้อนรัก   
 - ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา  
 - ฟ้อนเงี้ยว
 - ฟ้อนดวงเดือน  
 - ฟ้อนเจิงและตบมะผาบ 
 - ฟ้อนบายศรี
 - ฟ้อนดวงดอกไม้  
 - ฟ้อนดาบ
 ฟ้อนเทียน  
         เดิมคงเป็นการฟ้อนสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ต่อมาแสดงในงานพิธีสำคัญในคุ้มเจ้าหลวง ผู้ฟ้อนเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน เมื่อ พ.ศ. 2469  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองเหนือ เจ้าดารารัศมีทรงฝึกหัดสาวเหนือฟ้อนรับเสด็จและครูนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร  ได้นำมาสอนในวิทยาลันนาฏศิลป์ต่อมา
 ลักษณะการแสดง  ผู้ฟ้อนเป็นหญิงล้วน ถือเทียนจุดไฟมือละเล่มนิยมแสดงในเวลากลางคืน  ความงามของฟ้อนเทียนอยู่ที่แสงเทียน  เต้นระยิบระยับขณะที่ผู้ฟ้อนหมุนข้อมือ และลีลาการเคลื่อนไหวช้าๆเห็นแสงเทียนเดินเป็นทาง  มีการแปรขบวนควงคู่สลับแถว  เข้าวง  ต่อมือ ฯลฯ งดงามมาก
 การแต่งกาย  นุ่งซิ่นยาวกรอม สวมเสื้อแยนยาวคอปิด  คาดเข็มขัดทับ ห่มสไบ เกล้าผมมวยสูงประดับดอกไม้ล้อมมวย  ห้อยอุบะยาวเคลียไหล่   ถือเทียนมือละเล่ม
 ดนตรีประกอบ  มีปี่แน  กลองแอว์  กลองตะโล้ดโป้ด  ฉาบใหญ่  ฆ้องโหม่ง และฆ้องหุ่ย
 ถ้าแสดงกลางวันนิยมแสดงฟ้อนเล็บ คือ ผู้ฟ้อนสวมเล็บยาว 8 เล็บแทนการถือเทียน  ลีลาการฟ้อนคล้ายคลึงกัน  การแต่งการและดนตรีก็เหมือนกัน

 

ที่มาของภาพ : หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๕๔)

เรื่อง    การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน
 
         ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง  ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ  ฤดูแล้งจะกันดาร  ฤดูฝนน้ำจะท่วม  แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก  จึงหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส
         การแสดงของภาคอีสาน  มักเกิดจากกิจวัตรประจำวันหรือประจำฤดูกาล เช่น เซิ้งบั้งไฟ แห่นางแมว  เซิ้งสวิง  เซิ้งกระติบข้าว เต้นสาก  รำลาวกระทบไม้  เป็นต้น
         ลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอีสาน คือ ลีลาและจังหวะในการก้าวมีลักษณะคล้ายการเต้น แต่นุ่มนวลไม่ตึงตังอย่างการเต้นโขน  มักเดินด้วยปลายเท้าและสบัดเท้าไปข้างหลังสูง  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการแสดงของอีสานที่เรียกว่า “ เซิ้ง “
 ดนตรีพื้นเมืองอีสาน  ได้แก่ กลองยาว  กรับ  ฉาบ  โหม่ง  แคน  โปงลาง  โหวด  ไหซอง
 เซิ้งสาวไหม
           เป็นการแสดงื้นเมืองภาคอีสาน  ท่วงทีลีลาและท่ารำ  แตกต่างจากฟ้อนสาวไหมของภาคเหนือ เซิ้งสาวไหมของภาคอีสานนี้นางเปรมฤดี  มุสิกพนันทน์ (เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์อยู่ที่สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) เป็นผู้คิดกระบวนการแสดงและประดิษฐ์ท่ารำขึ้นแสดงในงาน 8 วิทยาเขต  ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคามเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2520
 ลักษณะการแสดง  ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน  ร่ายรำท่าทางเลียนแบบขั้นตอนการทอผ้าไหม เริ่มตั้งแต่เก็บใบหม่อน  เกลี่ยดักแด้  ตีหม้อสาวไหม   สาวไหม  เก็บไหมเป็นไจ    เอาไหมใส่อัก เอาไหมใส่กี่  ทอผ้าไหม  ได้ผ้าไหมเป็นผืนชื่นชมความงาม
 การแต่งกาย  การสาวไหมเป็นกิจกรรมที่ทำอยู่ใต้ถุนบ้าน  จึงกำหนดให้ผู้แสดงนุ่งซิ่นสั้นเพียงเข่า  ห่มผ้าแถบห้อยชาย  เกล้าผมติดดอกไม้
 ดนตรีประกอบการแสดง  มีแคน  พิณ  โปงลาง  โหวด  โหม่ง  ฉาบ  ไหซอง  กั๊บแก๊บและฉิ่ง  เป็นการบรรเลงล้วนๆไม่มีบทร้อง

 

 ที่มา:www.lks.ac.th/thaidance

เรื่อง    การแสดงพื้นเมืองใต้
 
          ภาคใต้เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก  ทางด้านใต้ติดกับมลายู  ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้างและมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและบุคลิคบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น  พูดเร็ว  อุปนิสัยว่องไว  ตัดสินใจรวดเร็วเด็ดขาด  การแต่งกาย  เพลง  และดนตรี  คล้ายคลึงกันมาก  การแสดงพื้นเมืองภาคใต้อาจแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. มหรสพ  คือการแสดงเป็นเรื่อง เช่น  หนังตลุง  มีตัวหนัง  มีคนเชิด  มีการร้องและเจรจา  อีกอย่างหนึ่งคือ ลิเกป่า หรือลิเกลำมะนา หรือลิเกแขกแดง หรือลิเกแขกเทศ หรือลิเกบก ซึ่งมีผู้แสดงร้องโต้ตอบกันเป็นเรื่องราว อีกอย่างคือ  โนรา  ถ้าเล่นเป็นเรื่องก็ถือเป็นมหรสพ แต่ถ้าร่ายรำเป็นชุดไม่จับเรื่องก็ถือเป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด  นอกจากนี้ก็มี  มะโย่ง  ซึ่งเล่นเป็นเรื่อง
2. การแสดงเบ็ดเตล็ด  คือการรำเป็นชุด เช่น โนรา  ร็องเง็ง  ซัมเป็ง  ตารีกีปัส  และระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นระบำศิลปาชีพ  เช่น  ร่อนแร่  กรีดยาง  ฯลฯ
           เนื่องจากการแสดงพื้นเมืองภาคใต้มีทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว  ทำให้ลักษณะการแต่งกาย แตกต่างหันไป  แต่ก็พอดูออกว่าเป็นของภาคใต้
 ดนตรีของภาคใต้  มีกลองแขก  และรำมะนาเป็นสำคัญ  และมีปี่  ทับ  โหม่ง  ฉิ่ง  ซอ  บางทีมีไวโอลิน  แมนโดลิน  กีตาร์ เข้าผสมด้วย
 ร็องเง็ง
         การเต้นร็องเง็ง  สัณนิษฐานว่าชาวไทยได้รับมาจากไทยมุสลิม  ซึ่งรับมาจากมลายู  และมลายูรับมาจากสเปนหรือโปตุเกสที่เข้ามาค้าขาย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2000 เศษๆการเต้นร็องเง็งนี้จะมีในวังหรือบ้านของเจ้านาย  เมื่อมีงานเลี้ยงเจ้าของงานจะจัดผู้หญิงไว้เป็นคู่เต้นของแขกผู้ชาย  ร็องเง็งแพร่หลายไปสู่ประชาชนชาวบ้าน  เพราะผู้แสดงมะโย่งนำไปแสดงสลับฉาก  และเชิญชวนผู้ชมขึ้นไปเต้นด้วย  โดยต้องจ่ายเงินให้คู่เต้น  การกระทำเช่นนี้ทำให้มีผู้มองว่าเป็นการไม่สมควร  จึงพากันเสื่อมความนิยมจนถึง พ.ศ. 2494  จึงได้มีการฟื้นฟูขึ้มมาใหม่  ปรับปรุงทั้งเพลงและเต้นจึงทำให้แพร่หลายออกไป
 ลักษณะการแสดง  เป็นการเต้นคู่ชายหญิง (ใช้เท้ามากกว่ามือจึงไม่เรียกว่า “ รำ “ ) มีลีลาการเคลื่อนไหวที่อ่อนหวานนุ่มนวล  เข้ากับจังหวะของดนตรีและทำนองเพลง  เพลงที่นิยมมีอยู่ 10 กว่าเพลง  และมีท่าเต้นประจำเพลง ลีลาและจังหวะจะสลับกัน ช้า – เร็ว มีการควงคู่  แปรแถว  งดงาม  บางท่านว่า เพลงจะสลับเป็นการเต้น 1 เพลง และรำ 1  เพลง  ทำให้มีลีลาไม่จืดตา
 ลักษณะการแต่งกาย  แต่งอย่างชาวไทยมุสลิม
 ดนตรีประกอบการแสดง  มีไวโอลิน  รำมะนา  และฆ้อง

 ที่มา:www.lks.ac.th/thaidance

เรื่อง    การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง
 
            ภาคกลางภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม  มีแม่น้ำหลายสายเพมาะแก่การกสิกรรม  ทำนา  ทำสวน  ประชาชนอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์  จึงมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆมากมาย  ทั้งตามฤดูกาล  และตามเทศกาล  ตลอดจนตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง
 ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม  การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกัน และพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆ  จนบางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี  เช่น รำวง  เป็นต้น  และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง  ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด  แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลางคือ  การร่ายรำที่ใช้มือ  แขน  และลำตัว เช่นการจีบมือ  ม้วนมือ  ตั้งวง  การอ่อนเอียงและยักตัว  สังเกตได้จาก  รำลาวกระทบไม้  ที่ดัดแปลงมาจาก เต้นสาก  การเต้นเข้าไม้ของอีสานในการเต้นสากก็เป็นการเต้นกระโดดตามลีลาอีสาน แต่การรำลาวกระทบไม้ที่กรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นใหม่นั้น  นุ่มนวลอ่อนหวาน กรีดกรายร่ายรำ แม้การเข้าไม้ก็นุ่มนวลมาก
            การแสดงพื้นเมืองภาคกลางมีหลายอย่าง เช่น รำวง  รำเหย่อย  เต้นกำรำเคียว  เพลงเรือ  ลำตัด  เพลงพวงมาลัย  ฯลฯ
 เต้นกำรำเคียว
            เต้นกำรำเคียว  เป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครสวรรค์  นิยมเล่นกันในท้องนาขณะมีการลงแขกเกี่ยวข้าว  ใครเหนื่อยก็หยุดเกี่ยว  ร้องรำทำเพลงกันเพื่อความบันเทิง  และผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยด้วย  บทร้องก็เป็นไปในทางเกี้ยวพาราสีกัน  เมื่อ พ.ศ. 2504  กรมศิลปากรได้นำศิลปินไปหัดร้องและรำมาจากชาวนา ตำบลย่านมัทรี  อำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์  และกรมศิลปากรได้แต่งเพลง  ดนตรีเข้าประสานการเล่นเพื่อให้เหมาะแก่การที่จะนำออกแสดง ในงานบันเทิง
 ลักษณะการแสดง  ชายหญิงจะแยกกันออกเป็น  2 แถว แล้วมาตั้งเป็นครึ่งวงกลม  ออกไปร้องรำตรงกลางทีละคู่ ผู้ที่ไม่ได้รำ ช่วยตบมือเป็นจังหวะ และคอยร้องรับเป็นลูกคู่  เมื่อร้องแก้กันจบแล้วก็รำกลับเข้ายืนตามที่เดิม  คู่อื่นก็ออกไปร้องรำ จนครบทุกคู่
 การแต่งกาย
 ชาย  นุ่งกางเกงขาก๊วย  สวมเสื้อม่อฮ่อม  มีผ้าขาวม้าคาดเอว  สวมหมวกสาน
 หญิง  นุ่งโจงกระเบน  หรือผ้าถุง สีดำ  สวมเสื้อคอกลม  แขนกระบอกสีน้ำเงิน
สวมงอบ    ทั้งชายและหญิง มือขวาถือเคียว  มือซ้ายถือกำรวงข้าว
 ดนตรีประกอบ ที่ชาวนาเล่นกัน ไม่มีดนตรี  ที่ปรับปรุงแล้ว ใช้วงปี่พาทย์ประกอบ

 

ที่มา: http://www.trueplookpanya.com

 

สร้างโดย: 
นางสาวพลอยกาญจน์ เพ็งเลา

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 476 คน กำลังออนไลน์