เอกสารประกอบการเรียนรู้ เรื่องยุคสมัยของดนตรีตะวันตก
เอกสารประกอบการเรียนรู้เรื่องยุคสมัยของดนตรีตะวันตกดนตรีในยุคกลาง (Middle Ages ค.ศ. ๑๐๐ – ๑๔๐๐)
ในยุคกลางนี้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นเป็น ๓ กลุ่ม คือกลุ่มขุนนาง กลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มนักบวช กลุ่มขุนนางจะดำรงชีวิตอยู่ในปราสาทราชวัง เวลามีศึกสงครามก็ออกไปรบ ทิ้งให้พวกผู้หญิงดูแลบ้านเมือง ในเวลาปกติพวกขุนนางก็จะใช้เวลาไปในการเข้าป่าล่าสัตว์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นพวกชาวบ้านที่ยากจน ทำงานเป็นกรรมกรแบกหาม อย่างไรก็ตาม ทุกชนชั้นต่างก็อยู่ใต้อำนาจและอิทธิพลของโบสถ์โรมันคาทอลิก ต่างมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในเรื่องนรกสวรรค์ นักบวชถือเป็นชนชั้นซึ่งเป็นที่เคารพยำเกรงของคนทั่วไป เพราะโบสถ์จะเป็นศูนย์กลางของความรู้ทั้งหลาย ในขณะที่ผู้คนในสมัยนั้นไม่สามารถอ่านออกเขียนได้
นักดนตรีในสมัยนั้นจะเป็นนักบวชหรือคนที่ทำงานอยู่ในโบสถ์ เด็กผู้ชายจะได้รับการศึกษาด้านดนตรีจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ร้องเพลงในโบสถ์ แต่สามารถร้องในคอนแวนต์ได้
ดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคนี้จะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ศาสนามีความเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตอยู่มาก เพลงสวดที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในพิธีศาสนาเรียกโดยรวมว่า เกรกอเรียน ชานท์ (Gregorian Chant) ซึ่งตั้งชื่อตามสันตะปาปา เกรกอรี่ที่ ๑ เพลงสวดนี้จะเป็นเพลงแนวเดียว หรือโมโนโฟนี ร้องโดยไม่มีเครื่องดนตรีเล่นประกอบ มีจังหวะที่อิสระ ไม่มีแบบแผน ภาษาของคำสวดเป็นภาษาละตินและร้องโดยนักบวช
นอกเหนือจาดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมแล้ว ชาวบ้านทั่วไปก็มีเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงทั่ว ๆ ไป เพลงพวกนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ธรรมชาติ หรือเรื่องเล่าในอดีต
ทั่วประเทศอังกฤษจะพบนักดนตรีที่แต่งและร้องเพลงประเภทนี้ ซึ่งจะเป็นพวกที่เดินทางเร่ร่อนไปยังสถานที่ต่าง ๆ เราเรียกนักดนตรีกลุ่มนี้ว่า มินสเตรล หรือกลีแมน นอกจากนี้ในประเทศฝรั่งเศสจะพบนักดนตรีที่เรียกว่า ทรูบาดอร์ และทรูแวร์ ซึ่งมีแนวทางการแต่งเพลงคล้าย ๆ กัน ส่วนใหญ่ในประเทศเยอรมัน เพลงที่แต่งเพื่อความบันเทิงนี้จะแต่งโดยพวกที่เรียกว่า มินเนสซิงเกอร์ หรือ ไมสเตอร์ซิงเกอร์
ประมาณศตวรรษที่ ๙ ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีเกิดขึ้น กล่าวคือ เริ่มมีการแต่งดนตรีที่มีมากกว่า ๑ แนวเสียง หรือ โพลีโฟนี ทำให้ดนตรีเริ่มมีสีสีนเพิ่มขึ้น ซึ่งการคิดค้นนี้ได้นำไปสู่วิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของดนตรีในยุคสมัยต่อ ๆ มา
ดนตรีประเภทแรกที่นำวิธีการแต่งแบบโพลีโฟนีมาใช้ คือ ดนตรีที่ใช้ในพิธีศาสนาที่เรียกว่า ออกานุม โดยจะเป็นการเติมแนวเสียงที่ ๒ ให้อยู่เหนือหรือใต้แนวทำนองของเพลงชานท์ แนวที่ ๒ นี้จะเคลื่อนที่ขนานเป็นขั้นคู่ ๔ หรือ คู่ ๕ กับแนวเพลงชานท์
ต่อมาการแต่งแนวที่ ๒ จะมีอิสระมากขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเคลื่อนที่ขนานกับแนวเพลงชานท์ แต่สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลง เป็นขั้นคู่ต่าง ๆ ได้
ดนตรีที่แต่งขึ้นเพื่อการบรรเลงโดยเฉพาะ ก็สามารถพบเห็นได้ในยุคกลาง ส่วนมากจะเป็นการใช้เครื่องดนตรีเล่นขนานไปกับแนวร้องหรือเป็นการบรรเลงประกอบการเต้นรำ เครื่องดนตรีที่นิยมกันส่วนมากจะเป็นเครื่องสายและเครื่องเป่า
ในยุคกลางนี้ ระบบการบันทึกโน้ตดนตรีเป็นไปอย่างหยาบมาก ยังไม่มีความชัดเจน จนกระทั่งเกือบสิ้นยุคนี้ การเขียนตัวโน้ตและจังหวะมีความแน่นอนขึ้น และได้รับการพัฒนาจนเป็นระบบในยุคต่อ ๆ มา คีตกวีในยุคกลาง
Leonin (๑๑๕๐ - ๑๒๐๑) เลโอแนง หรือ เลโอนิอัส เป็นนักประพันธ์คนสำคัญคนแรกที่ประพันธ์เพลงแบบ Polyphonic Organum (ทำนองเพลงสวดในโบสถ์ที่มีเสียงร้องอย่างน้อยหนึ่งเสียงเพื่อเพิ่มทำนองประสานที่พัฒนาขึ้นในยุคกลาง Middle Ages) เชื่อกันว่าเขาอาจจะเป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะพำนักและทำงานในปารีสที่มหาวิหารนอร์ทเทรอ-ดาม (Notre Dame Cathedral) และยังเป็นสมาชิกรุ่นแรกๆของโรงเรียนสอนการประสานเสียง Notre Dame school of polyphony ที่มีชื่อเสียง ชื่อ Leonin ของเขามาจากคำว่า "Leoninus" ในภาษาละตินที่แปลว่า Leo หรือ Leo ในภาษาฝรั่งเศส
ประวัติของเขาเท่าที่ทราบ มาจากการบันทึกของนักเรียนในรุ่นหลังๆ ของโบสถ์ที่ชื่อ Anonymous IV นักเขียนชาวอังกฤษที่ได้ฝากผลงานเขียนทฤษฎีทางดนตรีของเขาเอาไว้ โดยกล่าวถึงเลโอแนงว่าเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงชุด Magnus Liber ผลงานเขียนเพลงสวดที่ยิ่งใหญ่ (The "Great book" of Organum) บทประพันธ์ส่วนใหญ่ใน Magnus Liber จะใช้เทคนิคการประพันธ์แบบ Clausulae - Melistic (การประพันธ์โดยใช้เสียงหลายเสียงโดยแปรเปลี่ยนท่วงทำนองเพลงสวดเดิม – การเปลี่ยนระดับเสียงโน้ตแต่ละพยางค์ในขณะร้อง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเพลงสวดแบบ Gregorian Chant (เพลงศาสนาดั้งเดิมที่มีระดับเสียงเดียว มีเพียงทำนองแต่ไม่มีเสียงประสาน ใช้ในพิธีทางศาสนา) ที่ถูกนำมาแยกออกเป็นหลายเพลง โดยที่ท่วงทำนองของโน้ตเดิมจะค่อนข้างช้ามาก และผสานเข้ากับท่วงทำนองที่เคลื่อนไหวเร็วกว่า นอกจากนั้น เลโอแนงยังอาจเป็นนักประพันธ์คนแรกที่ใช้เทคนิคการประพันธ์แบบ Rhythmic mode (รูปแบบการประพันธ์ที่ใช้อัตราจังหวะสั้นหรือยาวเพื่อกำหนดการเขียนโน้ต) และอาจเป็นไปได้ว่าเขายังเป็นผู้คิดค้นระบบการเขียนโน้ตระบบนี้ขึ้น
Adam de la Halle (๑๒๓๗ – ๑๒๘๗) อดัม เดอ ลา ฮาล เป็นทรูแวร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งนักประพันธ์และนักดนตรี มีผลงานเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน
Guillaume de Machaut (๑๓๐๐ – ๑๓๗๗) กิลโยม เดอ มาเชาว์ เป็นคีตกวีชาวฝรั่งเศสที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ ๑๔ นอกเหนือไปจากการเป็นคีตกวีแล้วยังเป็นนักประพันธ์และนักทฤษฎีอีกด้วย ดนตรีของมาเชาว์มีทำนองที่ไพเราะ เสียงประสานที่กลมกล่อมจากการใช้ขั้นคู่ ๓ และ ๖ มาเชาว์แต่งทั้งเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมและเพลงเพื่อความบันเทิง
Francesco Landini (๑๓๒๕ -๑๓๙๗) ฟรานเชสโก ลานดินี เป็นคีตกวีชาวอิตาเลียนในศตวรรษที่ ๑๔ ถึงแม้จะตาบอดแต่กำเนิด ลานดินีก็สามารถเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิดได้อย่างเชี่ยวชาญ และแต่งเพลงเพื่อความบันเทิงทุกรูปแบบเป็นจำนวนมากกว่า ๑๕๐ เพลงดนตรีในยุคสมยัฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance ศ.ศ. ๑๔๐๐ – ๑๖๐๐)
ในช่วง ๒๐๐ ปีนี้ จัดเป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงและการค้นพบอารยธรรมใหม่ ๆ ดนตรีในยุคนี้แพร่หลายขึ้นมาก วิวัฒนาการด้านการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ช่วยถ่ายทอดผลงานของคีตกวีต่าง ๆ ไปสู่ดินแดนอื่นได้อย่างรวดเร็ว จำนวนของนักดนตรีและคีตกวีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ผู้ที่มีการศึกษาทุกคนจะได้รับการศึกษาด้านดนตรี โบสถ์ยังคงเป็นศูนย์กลางของดนตรีอยู่พร้อม ๆ กับการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมด้านดนตรีตามราชสำนักต่าง ๆ ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในการแสดงดนตรี ผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการมีนักดนตรีประจำราชสำนัก
เพลงร้องยังคงมีความสำคัญมากกว่าเพลงบรรเลง เนื่องจากในยุคนี้ผู้คนสนใจในด้านการใช้ภาษา คีตกวีจึงพยายามที่จะแต่งดนตรีที่ช่วยส่งเสริมความหมายของเนื้อร้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบในยุคสมัยก่อนหน้านี้ ความยิ่งใหญ่ของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกถูกลดทอนลงจากการจัดตั้งนิกายโปรเตสแตนท์ โดยนักบวชชาวเยอรมัน ชื่อ มาร์ติน ลูธอร์ ซึ่งมีความต้องการจะสร้างดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาให้แตกต่างจากของนิกายคาทอลิก โดยจะไม่นำเพลงสวดที่เรียกว่าชานท์มาใช้ หากแต่จะแต่งเพลงประเภทใหม่ขึ้นมาเรียกว่า คอรัล ซึ่งเป็นเพลงที่มี ๔ แนวเสียง ร้องเป็นภาษาเยอรมัน และประชาชนที่มาร่วมพิธีจะเป็นผู้ร้องเอง
ส่วนดนตรีของนิกายคาทอลิกก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คีตกวีถูกว่าจ้างให้แต่งเพลงที่มีความไพเราะ เพื่อจะนำมาใช้ในพิธีทางศาสนา ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้คนยังคงมีศรัทธาในนิกายนี้อยู่ รูปแบบของเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมยังคงเป็น แมส และ โมเต็ต ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่แมสมีความยาวมากกว่า ดนตรี ๒ ชนิดนี้ ยังคงมีที่มาจากเพลงชานท์ แต่มีการเพิ่มแนวเสียงเป็น ๔ – ๘ แนว คีตกวีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้คือ จีโอ วานนี กาเบรียลลี (๑๕๕๗ – ๑๖๑๒) จีโอวานนี ปิแอร์ลิวจิ ดา ปาเลสตรินา (๑๕๒๕ – ๑๕๙๔)
ดนตรีเพื่อความบันเทิงได้รับการสนับสนุนมากในยุคนี้โดยเฉพาะเพลงร้องที่แต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ฟรอตโตล่า ในอิตาลี ชองซอง ในฝรั่งเศส แอร์ ในอังกฤษ และ ลีด์ ในเยอรมัน แต่รูปแบบที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดคือ เพลงร้องแมดริกัล
แมดริกัล มีรากฐานมาจากอิตาลี เป็นเพลงที่มี ๔ – ๖ แนวเสียง เนื้อร้องมักกล่าวถึงความรัก ความตาย การชมธรรมชาติหรือความผูกพันธ์ฉันท์มิตร คีตกวีที่มีชื่อเสียงในการแต่งแมดริกัล คือ คลอดิโอ มอนติแวร์ดี (๑๕๖๗ – ๑๖๔๓) จอห์น ดาวแลนด์ (๑๕๖๒ – ๑๖๒๖) และธอมัส มอร์เลย์ (๑๕๕๗ – ๑๖๐๓)
ดนตรีที่แต่งขึ้นเพื่อการบรรเลงมีบทบาทมากขึ้น จากที่เคยเป็นเพียงการบรรเลงประกอบการร้องเพลง ได้มีการแต่งเพลงขึ้นเพื่อเป็นเพลงเต้นรำและให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีโดยเฉพาะ นักดนตรีมีโอกาสแสดงความสามารถทางการบรรเลง เครื่องดนตรีที่นิยมในยุคนี้เป็นเครื่องสายทั้งที่ใช้การสีและการดีด เครื่องเป่าลมไม้และคีย์บอร์ด มีการเล่นรวมวงโดยเครื่องดนตรีหลายประเภทคีตกวีในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา
คีตกวีหลายคนในยุคนี้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแนวนิยมในการแต่งเพลง ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา มีแนวการแต่งเพลงที่แตกต่างกัน ๒ แนว ซึ่งเป็นของชาวเบอร์กันเดียน (ชาวฝรั่งเศสทางตะวันออก) ซึ่งรุ่งเรืองในครึ่งแรกของศตวรรษที่ ๑๕ และชาวเฟลมมิชหรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งรุ่งเรืองในช่วงปี ค.ศ. ๑๔๕๐ - ๑๖๐๐ นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีคีตกวีจากหลาย ๆ ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ สเปน เยอรมัน อิตาลี
Guillaume Dufay (๑๔๐๐ – ๑๔๗๔) กิลโยม ดูเฟย์ จัดเป็นผู้นำของเบอร์กันเดียน สกูล ดนตรีของเขาให้ความสำคัญกับแนวทำนองบนมาก มีการใช้เครื่องดนตรีเล่นประกอบบ้าง ดูเฟย์แต่งทั้งเพลงในพิธีกรรมและเพลงเพื่อความบันเทิง
Josquin des Prez (๑๔๔๖ – ๑๕๒๑) จัสแกง เด เปร คีตกวีของเฟลมมิช สกูล ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในยุคนั้น เขาจึงเป็นที่ยอมรับและมีอิทธิพลต่อนักดนตรีคนอื่น ๆ อีกด้วย
Johannes Ockeghem (๑๔๒๐ – ๑๔๙๖) โยฮาน ออกเขเคม เป็นลูกศิษย์ของดูเฟย์และเป็นผู้นำของเฟลมมิช สกูล ใช้เทคนิคการเลียนแบบ ในการแต่งเพลง เป็นคีตกวีคนแรก ๆ ที่แต่งเพลง ๔ แนว
Gioranni Pierluigl da Palestrina (๑๕๒๕ – ๑๕๙๔) จีโอวานนี ปิแอร์ลิวจิ ดา ปาเลสตรินา เป็นชาวอิตาลี มีชื่อเสียงในการแต่งเพลงพิธีกรรมของนิกายโรมันคาทอลิก
Thomas Morley (๑๕๕๗ – ๑๖๐๒) ธอมัส มอร์ลีย์ คีตกวีชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงในการแต่งเพลงร้อง แมดริกัล และบัลเลต์ เป็นผู้จัดพิมพ์ “Triumphs of Oriana” ซึ่งเป็นการรวมเพลงแมดริกัล ๒๕ เพลง แต่งโดยคีตกวี ๒๓ คน เนื้อเพลงเป็นการสดุดีพระราชินีอลิซาเบธที่ ๑
ใบงานชื่อ............................................ชั้น ม.๔/.......เลขที่........คำสั่ง ให้นักเรียนศึกษาในเรื่องยุคสมัยของดนตรีตะวันตก แล้วตั้งคำถามพร้อมทั้งเขียนคำตอบจำนวน ๑๒ ข้อ