เส้นทางการค้าสังคโลก

 

 รูปที่ 11 แผนที่แสดงตำแหน่งที่ผลิตสังคโลก และบริเวณที่พบเรือจม
แหล่งที่มาของภาพ ธิดา สาระยา เมืองศรีสัชนาลัย น.137 กรุงเทพ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ 2537

การค้าสังคโลกน่าจะเริ่มเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไป พบเครื่องปั้นดินเผาและสังคโลกจากเตาสุโขทัย ศรีสัชชนาลัย และเตาลุ่มน้ำน้อยคละอยู่กับเครื่องถ้วยจีนและอันนัมบริเวณซากเรือจมในอ่าวไทยแสดงถึงการ มีเครือข่ายการค้ากว้างขวางตามชุมชนชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยและชุมชนโพ้นทะเล ถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

เครื่องถ้วยเชลียงยุคต้นแพร่หลายสู่การรับรู้ของสังคมชายฝั่งทะเล เช่น ที่เมืองศรีพโล (ชลบุรี) เพราะได้พบเครื่องถ้วยดังกล่าวพร้อมกับเครื่องถ้วยจีนและอันนัมจากการขุดค้น ณ เมืองนี้ ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจอยู่ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 แต่อย่างไรก็ตามปริมาณที่พบก็ยังน้อยเกินกว่าจะลงความเห็นว่า มีการค้าสังคโลกมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 อีกทั้งการขยายการผลิตสังคโลกจนกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ไม่น่าเกิดขึ้น ได้ก่อนการเกิดเมืองสำคัญ ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19

การขยายตัวทางการผลิตในพุทธศตวรรษที่ 19 และเป็นสินค้าสำคัญอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับการขยายอำนาจของ ทั้งสุโขทัย และอยุธยา ขณะนั้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบน และตอนล่างยังไม่มีเอกภาพทางการเมือง แต่การรวมตัวของรัฐอยุธยาซึ่งสามารถคุมอ่าวไทยไว้ได้ส่งผลต่อการขยายการผลิต เครื่องสังคโลกอย่างมากซึ่งต้องการความสนับสนุนทั้งทางด้านกำลังคน การเรียนรู้ พัฒนาเทคโนโลยี่ การขนส่งออกสู่มือผู้ซื้อ ตลอดจนรู้ทิศทางความต้องการของผู้บริโภค เหล่านี้เป็นภาระของรัฐอยุธยาทั้งสิ้น ทั้งเตาลุ่มน้ำน้อย ลุ่มน้ำสุพรรณบุรี หรือแม้แต่แหล่งเตาที่พิษณุโลก อันเป็นหัวเมืองเหนือ

การผลิตสังคโลกเริ่มสมัยสุโขทัย แต่ได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้าและขยายการผลิตจำนวนมากสมัยอยุธยาเป็น ราชธานีในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เราอาจสันนิษฐานได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงและพระเจ้าลิไทแห่งสุโขทัยน่าจะได้มี บทบาทในการค้าช่วงต้นนี้ การค้นพบเครื่องสังคโลกปะปนอยู่กับเครื่องปั้นดินเผาขอมที่เมืองพระรถและ เมืองศรีพโล ตั้งแต่ยุคนี้ ช่วยยืนยันว่ามีการแลกเปลี่ยนเครื่องสังคโลกตามชุมชนชายฝั่งทะเลหรือในเส้น ทางการค้า ซึ่งรับกับหลักฐานการพบเครื่องสังคโลกกับเครื่องถ้วยจีนสมัยเหม็งของพุทธ ศตวรรษที่ 18-19 ที่ฟิลิปปินส์ และเครื่องสังคโลกจากเตาเผารุ่นแรกรวมอยู่กับเครื่องถ้วยสีเขียวของจีนสมัยราชวงศ์หยวนในซากเรือรางเกวียนประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 19


ทำเลที่ตั้งของอยุธยาที่คุมเส้นทางออกทะเล สามารถติดต่อกับชุมชนชายฝั่งในอ่าวไทยได้ดีกว่าสุโขทัย ส่งเสริมให้อยุธยามีบทบาทสำคัญในการค้าสังคโลก และเมื่อสุโขทัยถูกลิดรอนอำนาจทางการเมืองลงทีละน้อย อยุธยาก็ไม่น่ามีคู่แข่งการค้าด้านนี้เลย ประกอบกับการค้าสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาของล้านนาจำกัดวงอยู่เฉพาะทาง ภาคเหนือขึ้นไป และตามหัวเมืองภายในหรือในหมู่ชาวเขา เส้นทางออกทะเลทางด้านตะวันตก ผ่านลุ่มน้ำสาละวินสู่อ่าวเบงกอลเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งหลังศึกยวนพ่ายในพุทธศตวรรษที่ 21 การแบ่งปริมณฑลทางอำนาจการเมืองระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยาและ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ค่อนข้างชัดเจนส่งผลต่อการแบ่งเขตการค้าสังคโลกด้วย ผลของสงครามคราวยวนพ่ายที่มีต่อการผลิตและการค้าสังคโลกโดยตรงก็คือ ทำให้อยุธยาสามารถขยายการผลิตสังคโลกจากเตาเกาะน้อยไปที่เตาป่ายาง เพราะแหล่งเตาป่ายางนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการขยายตัวทางการผลิตเครื่องสังคโลก ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21,22 หลังศึกยวนพ่าย ไม่ได้มีวิวัฒนาการมาแต่แรกเริ่มแบบเตาเกาะน้อย โดยเหตุที่เตาป่ายางเป็นเตาที่เกิดขึ้นเพื่อการขยายการผลิต “ ช่าง ” ผ่านการพัฒนาฝีมือมายาวนานตั้งแต่ครั้งเตาเกาะน้อยมีทั้งการพัฒนากรรมวิธี การเคลือบและการเขียนสี ของที่ผลิตจากเตานี้จึงมีคุณภาพและฝีมือดีจนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เตาป่ายางเป็น “ เตาหลวง"

การขยายผลผลิตที่เตาป่ายางสัมพันธ์กับความต้องการของชุมชนบ้านเมืองรอบ ๆ อ่าวไทยด้วย ดังเช่นเครื่องสังคโลกจากแหล่งเตาป่ายาง มีทั้งประเภทเซลาดอนสีเขียวอ่อน ประเภทมีลายเขียนสีดำ – น้ำตาลใต้เคลือบประเภทสีขาวขุ่นหรือสีครีม ผลผลิตเหล่านี้เนื้อดินละเอียดแน่น – แกร่ง สีขาวแกมเทาเผาภายใต้อุณหภูมิสูง ลักษณะดังกล่าวเป็นแบบเดียวกับเครื่องสังคโลกพบในซากเรือจมในอ่าวไทยช่วง พุทธศตวรรษที่ 21,22 เรือเหล่านั้นเป็นเรือที่ใช้แล่นเลียบชายฝั่ง สามารถติดต่อกับชุมชนและบ้านเมืองในอ่าวไทยได้สะดวก เช่น เรือสัตหีบ เรือพัทยา เรือเกาะสมุย จึงลงความเห็นได้ว่าผลผลิตจากเตาป่ายางนั้นเป็นสินค้าส่งไปขายตามชุมชนบ้าน เมืองรอบอ่าวไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากเป็นที่ต้องการของชุมชนบ้านเมืองรอบอ่าวไทยแล้ว ยังปรากฏว่าชุมชนโพ้นทะเลบางแห่งนิยมเครื่องสังคโลกด้วย ดังเช่นเครื่องสังคโลกที่พบในซากเรือสำเภาเกาะกระดาด ซากเรือแสมสาร และแหล่งโบราณคดีหมู่เกาะสุลาเวสี เกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย เป็นแบบเดียวกับเครื่องสังคโลกผลิตจากเตาหมายเลข 5 แหล่งเตาป่ายาง มีทั้งพวกภาชนะเคลือบสีเขียวอ่อนแบบเซลาดอนเคลือบสีขาวขุ่น กระปุกลายเขียนสีดำน้ำตาลใต้เคลือบสีนวล กาน้ำ คนที ตลับ เคลือบสองสี คือน้ำตาลและขาวขุ่นมีลายขีดรูปพันธุ์พฤกษา และตุ๊กตารูปบุคคลเคลือบ

 

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 285 คน กำลังออนไลน์