user warning: Duplicate entry '536306482' for key 'PRIMARY' query: INSERT INTO accesslog (title, path, url, hostname, uid, sid, timer, timestamp) values('ประวัติจังหวัดพะเยา', 'node/56875', '', '18.190.25.193', 0, '6c61248c393d57a4baddb12361140d82', 182, 1716243114) in /home/tgv/htdocs/modules/statistics/statistics.module on line 63.

การตี

 

การตี

การตีฉาก
         มีวิธีตีระนาดเอกขั้นพื้นฐานที่สำคัญวิธีหนึ่งเรียกว่า "การตีเก็บ" เป็นวิธีตีซึ่งใช้อยู่เสมอในการบรรเลงระนาดเอก การตีเก็บคือการตีไม้ระนาดในมือทั้งสองข้างลงไปกระทบลูกระนาด 2 ลูกพร้อมกัน โดยตีลงบนลูกระนาดซึ่งมีเสียงตัวโน้ตเดียวกันแต่อยู่ห่างกันคน ละระดับเสียงเช่นเสียง ซอล (ต่ำ) กับเสียง ซอล (สูง) และเนื่องจากตำแหน่งของคู่เสียงดังกล่าวอยู่ห่างกันแปดลูกจึงเรียกวิธีตีแบบนี้ว่า "ตีคู่แปด" การที่จะตีเก็บคู่แปดให้ได้เสียงระนาดเอกที่ไพเราะน่าฟังนั้นมีพื้นฐานสำคัญมาจากการฝึกตีระนาดที่เรียกกันว่า "ตีฉาก" คือการกำหนดรู้การใช้กำลังกล้ามเนื้อแขนเพื่อให้ได้เสียงระนาดที่ดังเท่ากันทั้งสองมือ ผู้ที่เรียนระนาดเอกทุกคนจะต้องฝึกการตีฉากเพื่อปรับน้ำหนักมือทั้งสองข้างให้เสมอกันเสียงระนาดเอกจึงจะคมชัดเจน
         ลักษณะการตีฉากคือ มือทั้งสองข้างจับไม้ระนาดเอกในลักษณะการจับแบบปากกา ระยะห่างจากหัวไม้ประมาณ 8 นิ้ว โดยใช้นิ้วกลาง, นิ้วนาง และ นิ้วก้อย จับก้านไม้ระนาดให้แน่น แขนและไม้ตีอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน วางหัวไม้ระนาดเอกไว้ตรงกลางของลูกระนาด จากนั้นยกไม้ตีระนาดขึ้นช้าๆให้สูงจากผืนระนาดประมาณ 1 ฟุต แล้วตีหรือทุบลงบนลูกระนาดอย่างรวดเร็ว โดยการเกร็งกล้ามเนื้อแขนและข้อมือให้ไม้ตีและท่อนแขนอยู่ในแนวเดียวกัน หัวไม้ตีจะต้องสัมผัสลูกระนาดเต็มหน้าไม้และตั้งฉากกับผิวหน้าของลูกระนาด การตีฉากแต่ละครั้ง น้ำหนักของทั้งสองมือที่ตีลงไปต้องเท่ากัน เพื่อให้เสียงที่เกิดจากการตีมีคุณภาพ เสียงต้องโปร่งใส เวลาตีต้องใช้กำลังประคองไม้ระนาดในการยกขึ้นให้สูงเท่ากัน และใช้น้ำหนักมือในการตีโดยให้หัวไม้ระนาดทั้งสองสัมผัสกับผิวลูกระนาดพร้อมกัน และรีบยกหัวไม้ระนาดขึ้นระดับสูงสุดทันทีโดยใช้ข้อศอกเป็นจุดหมุน ซึ่งจะทำให้ข้อมือและแขนไม่มีการขยับหรืองอและยังคงเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน
การตีสงมือหรือการตีสิม
         คือการตีเก็บสองมือพร้อมกันโดยยกไม้ระนาดให้มีความสูง 1 ใน 4 ของการตีฉาก ให้เสียงลงเท่ากัน แล้วรีบยกมือขึ้นโดยเร็ว และต้องรู้จักการประคองน้ำหนักให้เหมาะสมการตีลักษณะนี้เหมาะกับการตีระนาดเอกมโหรี ซึ่งเป็นการประดิษฐ์เสียงระนาดให้มีความคมชัดไพเราะ ผู้ที่จะทำเสียงนี้ได้ต้องผ่านการฝึกการตีฉากมาแล้ว
การตีครึ่งข้อครึ่งแขน
         คือการตีโดยใช้กล้ามเนื้อแขนสลับกับกล้ามเนื้อข้อมือโดยการผ่อนแขนและข้อมือให้มีการเกร็งน้อยลง (เกร็งไหล่ ผ่อนแขน) ทำให้เกิดเสียงที่นุ่มนวล และยังเป็นพื้นฐานในการประดิษฐ์เสียงระนาดเอกแบบต่างๆอีกมากมาย
การตีสับ
         คือการตีระนาดโดยการสลับมือตามแบบวิธีตีฆ้อง
การตีกรอ
         การตีกรอเป็นวิธีตีระนาดเพื่อให้ได้พยางค์เสียงยาว ตามปกติเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเช่น ระนาดเอกนั้น มีพยางค์เสียงสั้นเพราะเสียงที่ตีเกิดจากการกระทบกันของไม้ระนาดและลูกระนาดเป็นครั้งๆไป เมื่อจะบรรเลงเพลงที่ต้องการพยางค์เสียงยาวจึงต้องใช้ วิธีตีกรอคือการตีลูกระนาด 2 ลูกสลับมือกันเร็วๆ ด้วยน้ำหนักมือทั้งสองข้างที่เท่ากันโดยให้มือซ้าย (เสียงต่ำ) ลงก่อนมือขวา แต่ทั้งสองมือไม่ได้ตีอยู่ที่เดียวกัน มักจะตีเป็นคู่ 2, 3, 4, 5, 6, หรือ 8 เป็นต้น 
        วีธีฝึกควรเริ่มต้นจากการ กรอหยาบ ก่อน คือการตีมือซ้ายสลับมือขวาช้าๆ (ลงมือ ซ้ายก่อน) แล้วค่อยๆเร่งความเร็วชึ้นจนสุดกำลังโดยรักษาความชัดเจนและน้ำหนักมือให้เท่ากัน ส่วนในการบรรเลงจริงจะใช้การกรอที่ละเอียดที่สุดทันทีไม่ต้องเริ่มจากการกรอหยาบก่อน 
การตีเก็บ
        คือการตีระนาดที่เพิ่มเสียงสอดแทรกให้มีทำนองถี่ขึ้นมากกว่าเนื้อเพลงธรรมดา ซึ่งถ้าเขียนเป็นโน้ตสากลตัวเขบ็ต 2 ชั้นในจังหวะ 2/4 ก็จะเป็นจังหวะละ 4 ตัว ห้องละ 8 ตัว การบรรเลงทางเก็บในเพลงที่เป็น ทางเดี่ยว จะมีความพลิกแพลงโลดโผนกว่าการตีเก็บแบบธรรมดาแต่ก็เรียกว่า "ทางเก็บ" เช่นเดียวกัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ทางพัน"
การตีทดมือ,ทดเสียง 
        คือการบรรเลงแบบเสี้ยวมือ เมื่อต้องการให้ได้เสียงสูงขึ้น
การตีเสี้ยวมือ
        คือการตีระนาดโดยใช้มือหนึ่งตียืนอยู่กับที่ ในขณะที่อีกมือหนึ่งตีดำเนินทำนองไปตามลูกระนาดอื่นๆ ทำให้เกิดเสียงประสานที่ไพเราะน่าฟัง 
 การตีสะเดาะ
        คือการตีสะบัดยืนเสียงคู่แปด 3 พยางค์ห่างเท่าๆกันด้วยความเร็ว โดยยืนเพียงเสียงเดียว มีพื้นฐานมาจากการตีฉากแล้วเพิ่มความถี่ให้ละเอียดขึ้น ในการบรรเลงจริงใช้การตีในความถี่สูงสุดเท่าที่จะทำได้
 การตีสะบัด
        คือการตีคู่แปด 3 พยางค์ห่างเท่ากันด้วยความเร็ว โดยให้เสียงเคลื่อนที่เป็นคู่เสียงต่างๆ เช่น สะบัด 2 ลูกระนาด สะบัด 3 ลูกระนาด สะบัดข้ามลูกระนาด มีวิธีการฝึกคล้ายการตีสะเดาะ การสะบัดสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆดังนี้
        1. สะบัดที่ลูกระนาดลูกเดียวให้เป็น 3 พยางค์ บางครั้งเรียกว่าการ สะเดาะ
        2. สะบัดที่ลูกระนาดสองลูกให้เป็น 3 พยางค์ (ลูกใดลูกหนึ่งจะตี 2 พยางค์)
        3. สะบัดที่ลูกระนาดสามลูกๆละพยางค์
การสะบัดยังสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นได้แก่
        1. สะบัดร่อนผิวน้ำ สะบัดโดยดึงมือขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้กล้ามเนื้อครึ่งข้อครึ่งแขน
        2. สะบัดร่อนน้ำลึก เสียงจะลึกและแน่นกว่า การสะบัดร่อนผิวน้ำ
        3. สะบัดร่อนริดไม้ สะบัดโดยดึงข้อมือขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการใช้กล้ามเนื้อทั้งแขน เสียงจะเบาร่อน
        4. สะบัดตัดคอ สะบัดโดยการใช้การตีแบบเสียงโตน้ำลึก โอกาสใช้น้อย มักจะใช้ตอนขึ้นเพลงเพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม แสดงพลังอำนาจ
การตีกระพือ
        คือการตีเน้นคู่แปดให้เสียงดังเจิดจ้ากว่าปกติอย่างเป็นระเบียบ หรือเป็นการเร่งจังหวะขึ้น
การตีกลอน
        คือการบรรเลงทำนองในลักษณะต่างๆอย่างมีความสัมพันธ์และสัมผัสกันโดยแปลจากทำนองฆ้องซึ่งเป็นทำนองหลักของเพลง
ลักษณะและข้อสังเกตของกลอนระนาดเอก
        1. กลอนระนาดต้องมีความสัมพันธ์กัน ระหว่างวรรคแรกและวรรคหลัง จะต้องเป็นกลอนลักษณะเดียวกัน (1 วรรค มีความยาวเท่ากับ 4 ห้องโน้ตไทย)
        2. ในแต่ละกลอนสามารถแปรผันได้หลายรูปแบบ บางเพลงที่ทางฆ้องเอื้ออำนวย ก็จะสามารถแปลทางระนาดในลักษณะเดียวกันได้ตลอดทั้งเพลง เช่น การใช้กลอนไต่ลวด
        3. ในบางกรณีที่ทางฆ้องไม่เอื้ออำนวย วรรคแรกและวรรคหลังอาจใช้กลอนที่ไม่เหมือนกันก็ได้
        4. ควรศึกษาว่ากลอนประเภทใดเหมาะกับเพลงประเภทใด รวมถึงแนวความช้า เร็ว ในการบรรเลง
การตีรัว
        คือการตีสลับมืออยู่ที่ลูกระนาดลูกเดียวกันโดยใช้มือซ้ายลงก่อนมือขวาให้มี ความละเอียดซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บรรเลง มีรูปแบบต่างๆ เช่น
        1. รัวลูกเดียว
        2. รัวเป็นคู่ต่างๆ
        3. รัวขึ้น-รัวลง
        4. รัวคาบลูกคาบดอก คือการตีรัวเป็นทำนองเป็นวรรคตอนหรือประโยค ต่อด้วยการตีเก็บทำนองเป็นวรรคตอน ประโยค ตามทำนองเพลง มิใช่ตีเป็นทำนองเพลงที่ซ้ำกันกับการตีรัว ทั้งนี้ยกเว้นกรณีที่เป็นทำนองซ้ำกัน
        5. รัวเป็นทำนอง (รัวพื้น) คือการดำเนินทำนองด้วยวิธีการรัวโดยตลอดทั้งท่อน
        6. รัวกรอด คือการตีรัวโดยการบังคับเสียงช่วงท้ายให้สั้นลงโดยวิธีการกดหัวไม้ตี
        7. รัวกรุบ คือการตีรัวโดยการกดหัวไม้ บังคับให้เสียงสั้นลงอย่างฉับพลันในช่วงเริ่มต้น
        8. รัวดุ คือการตีรัวเน้นกล้ามเนื้อแขนและหัวไหล่พร้อมทั้งเกร็งข้อมือ ใช้นิ้วชี้กดหัวไม้เพื่อให้เสียงมีน้ำหนัก ดังหนักแน่น
        9. รัวเสียงโต คือการตีรัวด้วยการบังคับกล้ามเนื้อเหมือนการรัวดุ แต่บังคับให้เสียงโปร่งกว่าโดยไม่กดหัวไม้ ไม่กดนิ้วชี้ เรียกอีกชื่อว่ารัวเปิดหัวไม้
       10. รัวฉีกอก คือการตีรัวแล้วแยกมือจากกันไปหาเสียงต่างๆที่ต้องการ
       11. รัวก้าวก่าย คือการตีรัวดำเนินทำนองด้วยวิธีพิเศษในลักษณะการตีสลับมือเป็นเสียงเป็นทำนองต่างๆ
       12. รัวไขว้มือ คือมือซ้ายตีอยู่เสียงหนึ่ง มือขวาจะไขว้ข้ามมือซ้ายตีรัวเป็นคู่เสียงต่างๆ ตีไขว้เป็นคู่เสียงอยู่กับที่ หรือตีไขว้เป็นคู่เสียงเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงตามทำนองเพลง
       13. รัวกระพือ คือการตีรัวแล้วเร่งเสียงให้ดังขึ้นกว่าปกติ
       14. รัวปริบ คือการตีรัว แต่กดไม้ให้การสั่นสะเทือนมีน้อยที่สุดและห้ามเสียงโดยกดหัวไม้ที่เสียงสุดท้าย
การตีขยี้
      คือการตีเสียงให้ถี่กว่าการตีเก็บอย่างน้อยสองเท่าโดยการเพิ่มพยางค์ในประโยคเพลงให้มากขึ้นกว่าการบรรเลงปกติ ทำได้สอง     วิธีคือ
       1. เพิ่มโดยเติมพยางค์ให้มากขึ้นก่อนจะถึงลูกตกท้ายประโยค
       2. เพิ่มโดยการบรรเลงประโยคนั้นให้เร็วขึ้นเป็นหลายครั้งภายในเวลาที่เท่ากับการบรรเลงเดิม
การขยี้วิธีหลังนี้ ผู้มีความสามารถสูงอาจทำได้ถึง 6 ครั้งในหนึ่งช่วงเวลาบรรเลงปกติ เรียกว่า "ขยี้ 6 ชั้น" 
 การตีตวาด
       คือการตีเน้นเสียงมือขวาให้หนักในเสียงพยางค์แรก
การตีกวาด
       คือการใช้ไม้ระนาดกวาดระไปโดยเร็วหรือช้าบนผืนระนาดในลักษณะต่างๆ 
การตีไขว้ 
       เป็นวิธีการบรรเลงที่อวดฝีมือใช้ในเพลงเดี่ยว โดยจะใช้มือขวาข้ามมือซ้ายไปตีเสียงต่ำ หรือมือซ้ายข้ามมือขวามาตีเสียงสูงก็ได้ การไขว้มีหลายลักษณะแล้วแต่จะคิดประดิษฐ์ขึ้นและมีชื่อเรียกต่างๆกันไป
การตีเก็บคู่ 16
       คือการตีโดยมือซ้ายและมือขวาแยกห่างในเสียงเดียวกันโดยแยกเป็น 2 ช่วงคู่แปด มักใช้ในการบรรเลงทางเดี่ยว
การตีเน้น
       คือการตีเสียงดังขึ้นกว่าปกติตามที่ผู้บรรเลงต้องการ
การตีถ่างมือ (ตีเก็บผสมแยก)
       คือวิธีตีเก็บคู่แปด ผสมแยกคู่เสียง
การตีปริบ, กริบ
       ตีเช่นเดียวกับการตีกรอ แต่กดไม้ให้การสั่นสะเทือนมีน้อยที่สุดและห้ามเสียงโดยกดหัวไม้ที่เสียงสุดท้าย
การตีเสียงกลม
       คือลักษณะของเสียงที่นุ่มนวล กลมกล่อม ไพเราะน่าฟัง เป็นเสียงที่มีคุณค่าและปฏิบัติได้ยากมาก กล่าวคือผู้ปฏิบัติต้องใช้ความปราณีตบรรจงเป็นพิเศษในการที่จะสร้างเสียงให้มีความพอดี ฟังนุ่มนวลละมุนละไม ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ โดยวิธี "ตีสงมือ" จับไม้แบบปากนกแก้ว ตีฉากลงตรงกลางลูกระนาด แล้วรีบยกขึ้นอย่างทะนุถนอม เหมาะที่จะใช้บรรเลงเพลงที่มีท่วงทำนองอ่อนหวาน
การตีเสียงกรู
       คือเสียงที่เกิดจากการรัวเสียงเดียว
การตีเสียง "ครู"
       คือเสียงที่เกิดจากการตีกรอคู่ 2
การตีเสียงโรย
       การตีโดยผ่อนจังหวะให้ช้าลงพร้อมทั้งลดน้ำหนักของเสียงที่บรรเลงเพื่อให้ได้เสียงดนตรีที่อ่อนหวานนุ่มนวล
การตีเสียงกรอด หรือเสียงมอดกัดไม้
       คือการกรอโดยกดหัวไม้ ใช้ในกรณีที่ต้องการแสดงอำนาจ
การตีเสียงกริก 
       เป็นการกรอที่มีลักษณะของเสียงสั้นกว่าเสียงกรอด นิยมใช้ในโอกาสที่ต้องการเน้นเสียงสุดท้ายในแต่ละประโยคของเพลงหรือทำนองเพลง เป็นการสอดแทรกในท่วง ทำนองระยะสั้นๆ โดยการตีเปิดหัวไม้
การตีเสียงแก้ว
       คือลักษณะของเสียงที่นุ่มนวล กังวาน และสดใสดุจแก้ว โดยเฉพาะในการตีระนาดเอกมโหรีจะต้องจับไม้ตีให้หัวแม่มือเน้นที่ปลายก้านไม้ตีให้แน่นและตีทั้งแขนหรือทั้งตัวแล้วรีบยกขึ้นโดยเร็ว เสียงจึงจะแข็งเป็นกังวานออกมาเป็นเสียงแก้ว
การตีเสียงโต แบ่งเป็น
       1. การตีเสียงโตผิวน้ำ ใช้กล้ามเนื้อครึ่งข้อครึ่งแขนตีโดยการเปิดหัวไม้
       2. การตีเสียงโตน้ำลึก ใช้กล้ามเนื้อทั้งตัว เกร็งข้อ แขน ตีโดยการเปิดหัวไม้ทำให้เกิดเสียงที่ลึกมีอำนาจ
การตีเสียงกรุบ
       คือการกรอและหยุดบรรเลงในลักษณะฉับพลันให้มีเสียงสั้นกว่ากริกและกรอด มักใช้ในประโยคสุดท้ายของเพลง ตีโดยการเปิด     หัวไม้
การตีเสียงร่อนใบไม้ไหว (การกรอใบไม้ไหว)
       คือการกรอให้เสียงไหลเลื่อนไปตามทำนองเพลง โดยเสียงไม่สะดุด เรียกอีกอย่างว่า กลอกกลิ้ง เหมาะสำหรับทำนองเพลงที่อ่อนหวาน
การตีเสียงโปร่ง
       คือการตีฉาก แล้วรีบยกไม้ขึ้นอย่างรวดเร็ว 
 การตีเสียงเกลือก
       คือลักษณะของเสียงที่ผู้บรรเลงไม่สามารถบังคับมือให้รักษาแนวการบรรเลงที่ดีได้ ทำให้เสียงที่บรรเลงไม่สม่ำเสมอ

แหล่งข้อมูล  : http://www.horhook.com/section/sec6art/ranad/chap5/fc5s3p1.htm

สร้างโดย: 
นางณัฏฐกัญญา เดชชนาพรสิทธิ์ หัวหน้าทีม และ นส.สุรัตติกรณ์ สุวรรณพรหม นักเรียน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 321 คน กำลังออนไลน์