ศิลปะบำบัดกับอารมณ์ของเด็ก

  ศิลปะบำบัดกับอารมณ์ของเด็ก 

       งานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 3 (Book Festival for Young People) เมื่อวันที่ 6 - 10 กรกฎาคม 2548 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
  
Image
     
       ดิฉันได้มีโอกาสไปเสวนาร่วมกับคุณหมอจอม ชุมช่วย นักจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ และคุณอนุพันธ์ พฤกษ์พันธุ์ขจี นักศิลปะบำบัด ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง หัวข้อเสวนาในวันนั้นคือ “เด็กที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ ดูแลด้วยศิลปะบำบัดอย่างไร” น่าเสียดายที่งานเสวนาในวันนั้นไปตรงกับวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันธรรมดา ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ทำให้ผู้คนค่อนข้างบางตา ทั้งที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว
       
       
ประเด็นปัญหาเรื่องพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ของเด็กในปัจจุบันมีปัญหามากขึ้นกว่าในอดีต

       คุณหมอจอมเปิดประเด็นสนทนาว่า ในอดีต คุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกมารับการรักษาทางด้านพฤติกรรม และปัญหาทางด้านอารมณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กที่แสดงอาการออกมาชัดเจน และเป็นกลุ่มเด็กพิเศษเป็นส่วนใหญ่ เช่น เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กที่บกพร่องทางด้านการเรียนรู้ หรือ LD (Learning Disability) ฯลฯ แต่ในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้มีคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาพบจิตแพทย์มากขึ้น และพฤติกรรมที่ผู้ปกครองมักจะพาลูกมารับการรักษาคือ อาการเด็กก้าวร้าว

Image
       
       จากนั้นเมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจรักษา และได้วินิจฉัยว่าเด็กมีอาการในระดับไหน แล้วจะใช้การบำบัดรักษาแบบใดบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นเด็กเล็ก คุณหมอจะใช้เรื่องศิลปะเข้ามาช่วยทำการบำบัด เพราะศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก โดยคุณหมอจะส่งเคสต่อไปให้คุณอนุพันธ์ ซึ่งเป็นนักศิลปะบำบัด  เมื่อคุณอนุพันธ์ได้รับข้อมูลและประวัติของคนไข้ ก็จะเริ่มจดบันทึกเรื่องการใช้สีของเด็ก เพราะสีที่เด็กเลือกใช้สามารถบอกเล่าลักษณะและอารมณ์ของตัวเด็กได้ เด็กบางคนจะเลือกหยิบเฉพาะสีแดงทุกครั้ง ในขณะที่บางคนระหว่างทำงานศิลปะก็จะต้องเข้าห้องน้ำล้างมือบ่อยมาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองมือสกปรกอยู่ตลอดเวลาก็มี มีบางกรณีที่มากหน่อย ก็คือมีเรื่องกังวลตลอดเวลา เช่น มีอยู่กรณีหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงมีความวิตกอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าอยู่กับผู้ชายสองคนกลัวจะถูกข่มขืน ซึ่งแรกๆ ก็เป็นปัญหากับคุณอนุพันธ์ค่อนข้างมาก เพราะเด็กจะกลัว แต่เมื่อได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันก็ดีขึ้น
       
       กรณีของเด็กหญิงที่กลัวจะถูกข่มขืน คุณหมอจอมเล่าให้ฟังว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กคนนี้พบเห็นข่าวสารอยู่ทุกวี่วัน และได้ยินคำพูดซ้ำๆ ทำให้เกิดเป็นภาพฝังใจ และวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา กรณีนี้คุณหมอต้องใช้การรักษาแบบอื่นร่วมด้วย ทั้งยา และครอบครัวบำบัด
 
Image
      
       เรื่องครอบครัวบำบัดเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเด็กที่เกิดปัญหา ยกตัวอย่าง กรณีที่เด็กพบเห็นพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ เด็กก็ซึมซับ และเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าพ่อแม่จะแยกทางกัน ก็ทำให้เด็กเครียด เด็กบางคนอาจแสดงออกมาด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ซึ่งหากเด็กได้รับการบำบัดจากคุณหมอ แต่ถ้ายังไปพบเห็นพฤติกรรมนั้นๆ ที่บ้านเป็นประจำ ก็ไม่ทำให้เด็กดีขึ้น
       
       ฉะนั้น คุณหมอจะทำความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่ว่าต้องมีส่วนช่วยเหลือร่วมกัน ต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัวด้วย คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่เป็นปัญหาต้องพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว การรักษาก็ไม่เป็นผล

       ส่วนเรื่องศิลปะบำบัด คุณอนุพันธ์เล่าให้ฟังว่า ศิลปะทั่วไปต่างจากศิลปะบำบัด เพราะศิลปะทั่วไป เด็กๆ จะเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ เรียนรู้เรื่องการใช้สี และเลือกงานศิลปะที่ตนเองชอบ ในขณะที่ศิลปะบำบัด ชื่อก็บอกแล้วว่าเพื่อการบำบัด ฉะนั้น จะต้องมีความแตกต่างอย่างแน่นอน เรื่องของสีที่นำมาใช้ในการรักษา ก็ต้องเป็นสีนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะในบ้านเรายังไม่มี สีที่ใช้จะเป็นสีที่ปลอดสารพิษ (Non Toxic)
       
       ขั้นตอนในการบำบัดก็คือ การสังเกตและเก็บข้อมูล โดยการจดบันทึก ซึ่งต้องทำงานร่วมกับจิตแพทย์เด็กด้วย ต้องใช้ระยะเวลาในการบำบัด เพราะเรื่องของพฤติกรรมทางด้านพฤติกรรมและทางด้านอารมณ์ต้องใช้เวลา เพราะไม่สามารถหายได้ทันที ต่างจากการรักษาทางด้านร่างกายที่บางครั้งปวดหัว พอกินยา ก็มีอาการดีขึ้น
       
       ปัจจุบันในต่างประเทศเรื่องศิลปะบำบัดเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ในขณะที่บ้านเรายังเป็นเรื่องใหม่ และบุคลากรในบ้านเราก็ยังน้อย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ
       
       เรื่องศิลปะในบ้านเรายังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย ทั้งที่จริงเด็กทุกคนเกิดมา ก็มีความใฝ่เรียนรู้ และชอบเรื่องศิลปะอยู่ในตัว สังเกตได้จากการที่เด็กๆ ชอบเรื่องสีสัน และชอบจินตนาการเรื่องราว โดยแต่งแต้มเติมศิลป์เข้าไปกับเรื่องราวที่เขาหรือเธอตัวน้อยชอบวาดภาพ แต่ด้วยค่านิยมของบ้านเรายังคงเน้นไปในเรื่องวิชาการ อยากให้ลูกเป็นเด็กเก่งเรื่องวิชาการ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความทุ่มเทในเรื่องการเรียนกวดวิชา และละเลยทางด้านศาสตร์ของศิลป์ เมื่อเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน
       
       ในที่สุดความสนใจของเด็กเหล่านั้นก็หดหายไป..!!

 
โดย : สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
ผู้จัดการ Online
13 กรกฎาคม 2548

สร้างโดย: 
ครูขวัญ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 454 คน กำลังออนไลน์