ช่างประดับกระจก
ช่างประดับกระจก
งานช่างประดับกระจก หรือ บางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก เป็นงานช่างรัก ประเภทหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังได้รับการจัดให้เป็นประณีตศิลป หรือ มัณฑนศิลปอีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยงานช่างประดับกระจก เป็น งานตกแต่งสิ่งอุปโภค หรือ ครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความงามเพิ่มเติมสมบูรณ์ขึ้น ด้วยศิลปลักษณะบนผิวภายนอกของสิ่งนั้นๆ โดยการประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ผิวมันวาว ซึ่งได้รับการตัดแบ่ง และแต่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ติดต่อกันเป็นลวดลาย เป็นลายหลากหลายแบบด้วยกันขึ้นบนศิลปภัณฑ์นั้นๆ
งานช่างประดับกระจกก็ดี ความนิยมต่องานประดับกระจกก็ดี เนื่องมาแต่สาระซึ่งผู้คนแต่ก่อน เห็นความ สำคัญในคุณลักษณะของกระจก ที่เป็นทั้งสี และมีความมันแวววาว กับยังเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเปล่งประกายออกได้ คล้ายกับอัญมณี เมื่อได้รับแสงสว่างส่องมากระทบผิวกระจกนั้น กระจกสีจึงได้รับการนำมาประดับลงในบางสิ่ง ที่พึ่งประดับด้วยอัญมณีจริง หรือ ประดับเป็นอย่างของเทียมแทนจะใช้อัญมณี นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่มีคุณภาพแข็ง คงทนถาวรต่อแดด ฝน เป็นเครื่องช่วยป้องกัน มิให้วัตถุที่กระจกปิดทับเสื่อมสลายง่าย จึงเป็นเหตุให้เกิดมีงานเครื่องประดับกระจก และกระบวนการช่างประดับกระจก เป็นขนบนิยมขึ้นในแวดวงช่างสิบหมู่ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วัตถุที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานประดับกระจก คือ กระจก หรือ แก้วที่ทำเป็นแผ่นบางๆ ใช้กันมาแต่โบราณ มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน ดังนี้
๑. กระจกแก้ว ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ รูปร่างสี่เหลี่ยม มีสีต่างๆ กระจกแต่ละแผ่นฉาบด้านหลังด้วยแผ่นบางๆ ของโลหะเงิน หรือโลหะเจือปรอท ผิวหน้าเป็นมันวาว เนื้อกระจกแข็ง
๒. กระจกเกรียบ ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีต่างๆ ด้านหลังเป็นดีบุก ด้านหน้าผิวมัน กระจกชนิดนี้เนื้ออ่อน อาจตัดแบ่งเป็นชิ้นได้ด้วยกรรไกร กระจกเกรียบนี้ในบางแห่งเรียกว่า แก้วชื่น แก้วจืน หรือ แก้วพุก่ำ