นกพิราบ

เป็นนกพื้นบ้าน ซึ่งได้รับการเพาะเลี้ยงด้วยจุดประสงค์ต่างๆกันมากว่า 3000 ปี สืบเชื้อสายมาจาก Rock dove หรือ Rock pigeon ซึ่งอาศัยอยู่ตามหน้าผาหินและแตกแขนงสายพันธุ์รูปลักษณ์ ไปตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ columba livia สำหรับในประเทศไทย นกพื้นบ้านเหล่านี้ ได้แก่นกพิราบตามท้องไร่ท้องนา ซึ่งต่อมาได้ปรับตัวเข้ามาอยู่ในเมือง ตามอาคารบ้านเรือน วัดวาอารามต่างๆ และอีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีก็คือ นกเขาที่มีเสียงขันที่ไพเราะนั่นเอง

จุดประสงค์ในการเพาะเลี้ยงนกพิราบ มีอยู่ 4 ประการ

  1. การเพาะเลี้ยงเพื่อคัดเอาความสามารถในการบิน ( flying ability ) เช่น การบินทน บินเร็ว บินฉวัดเฉวียน บินโฉบ และความสามารถในการบินกลับกรง (homing) ซึ่งได้แก่นกพิราบพันธุ์สื่อสาร หรือนกพิราบแข่งนั่นเอง
  2. การเพาะเลี้ยงเพื่อคัดเลือกเสียงขันที่ไพเราะ ซึ่งได้แก่นกเขาชนิดต่างๆ นกTrumpeters นก laughers
  3. การเพาะเลี้ยงเพื่อความสวยงามของรูปร่างหน้าตาและสีขน ( Fancy pigeon ) เช่น นกพิราบหางแพน ( fantail ) นก jacobin
  4. การเพาะเลี้ยงเพื่อชำแหละเป็นนกเนื้อ เช่น พันธุ์ king พันธุ์ carneau พันธุ์ texan และที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็คือ พันธุ์ roman ซึ่งมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.5-2.5 กก

สีของนกพิราบ

สีพื้นฐานของนกพิราบ มีอยู่ 5 สี คือ

 

 

  • สีเทาฟ้าที่มีแถบดำ 2 เส้นพาดขวางบริเวณปีกทั้งสองข้าง (blue-bar) เป็นสีพื้นฐานที่พบมากที่สุด
  • สีกระ (checker,check) ลักษณะพื้นฐานคล้ายสีเทาฟ้าแต่มีหย่อมสีดำกระจายทั่วปีก ถ้าหย่อมสีดำหนาแน่นเรียกว่าสีดำกระ (dark blue check) ถ้าไม่หนาแน่นเรียกว่าสีเทากระ (blue check)
  • สีโกโก้ (ash red and brown) เป็นสีที่พบได้น้อย สำหรับนกสีโกโก้ที่มีแถบสีโกโก้เข้ม 2 เส้นพาดขวางบริเวณปีกทั้งสองข้างเราจะเรียกว่า red bar
  • สีดำ (black) เป็นสีที่พบได้น้อยเช่นกัน ลักษณะสีดำสนิททั้งตัว
  • สีขาว (white) เป็นสีที่พบได้น้อย เกิดจากการผ่าเหล่า (mutation) ของนกสีต่างๆที่กล่าวมาแล้ว เป็นนกเผือกคือสีขาวปลอดทั้งตัวและดวงตาจะมีสีไม่เหมือนนกพิราบปกติแต่จะเป็นสีดำทึบ (dark or bull's eye)

การสังเกตุเพศ

ตัวผู้ ตัวเมีย
หัว ใหญ่และกว้าง เล็กและเรียว
ปาก สั้นและหนา ยาวและเรียว
จมูก ใหญ่และหนา เล็กและเรียว
รูปร่าง ใหญ่และบึกบึน เพรียวบาง
การขัน ขันเสียงดังเมื่อพบตัวเมีย พร้อมๆกับผงกหัวขึ้นลง และแพนหางลง ไม่ขัน


สำหรับในเรื่องของการแยกเพศนกพิราบว่าตัวไหนเป็นตัวผู้ ตัวไหนเป็นตัวเมียนั้น ในคนที่เลี้ยงนกพิราบใหม่ๆ อาจจะยังไม่มีความชำนาญในการแยกเพศเท่าไรนัก แต่เดี๋ยวทำไปนานๆ ก็ชินไปเอง หลักการง่ายๆ ในการแยกเพศของนกพิราบก็คือ ตัวผู้นั้นจะมี่ร่างกายที่บึกบึนมากกว่า ตัวสูงกว่า และหัวกะโหลกมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีนิสัยชอบก่อการร้าวราญ หรือหาเรื่องทะเลากับตัวผู้ด้วยกันเอง จะไม่ค่อยรังแกนกตัวเมีย

ส่วนตัวเมียนั้น เมื่อยืนบนพื้นที่ราบเรียบในสภาพที่ปกติแล้ว เส้นหลังจะทอดเป็นระดับมากว่าตัวผู้ และไม่ค่อยทะเลาะกันเองเท่าไร นอกเสียจากจะแย่งรังกันวางไข่ เมื่อโตเต็มที่ถึงวัยผสมพันธุ์แล้วเท่านั้น

การเพาะเลี้ยง

นกพิราบสามารถจับคู่ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และสภาพแวดล้อม สามารถออกไข่ฟักลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่เหมาะสมคือช่วงที่ไม่มีฝน นกพิราบไม่ชอบทำรังบนต้นไม้ เนื่องจากมันสืบสายพันธุ์มาจากนกที่อยู่ตามผาหิน ดังนั้น มันจึงชอบทำรังบนพื้นแข็งที่เป็นช่องหรือซอ? เช่น ใต้ชายคาบ้าน ใต้หลังคาหรือซอกอาคาร ของโบสถ์ วิหาร สำหรับผู้เพาะเลี้ยงสามารถหาจานไข่สำเร็จรูปที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ แล้วใส่ใบไม้แห้ง เศษฟาง หรือ ทรายแห้ง เพื่อรองบริเวณก้นจาน ตัวเมียจะวางไข่หลังจากเข้าคู่แล้วประมาณ 10 วัน ไข่ใบแรกมักจะออกในช่วงเย็นประมาณ 17.00-18.00 น. ไข่ใบที่สองจะออก 2 วันต่อมา และมักจะออกในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 15.00-17.00 น. หลังจากไข่ครบ 2 ใบแล้ว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะผลัดกันฟักไข่ โดยตัวผู้จะกกในช่วงเวลา 10.00-17.00 น. นอกนั้นตัวเมียจะกกเอง ประมาณ 18 วัน ลูกนกจะฟักออกจากไข่ทีละใบห่างกัน 1 วัน ทั้งพ่อนกและแม่นกจะช่วยกันป้อนอาหารให้แก่ลูกนก โดยในช่วงสัปดาห์แรก พ่อและแม่นกจะขย้อนสารอาหารที่มีโปรตีนสูง ลักษณะคล้ายน้ำนมที่เรียกว่า pigeon milk ให้กับลูกอ่อน และจะค่อยๆทดแทนด้วยเมล็ดธัญญาหารเมื่อลูกนกโตขึ้น ขนลำตัวและขนปีกจะงอกเต็มที่เมื่อลูกนกอายุได้ 35 วัน สำหรับนกเลี้ยง เรามักจะใส่ห่วงขานกในขณะที่เป็นลูกอ่อน หลังออกจากไข่ประมาณ 5-7 วัน ห่วงขาที่ใส่จะติดตัวนกไปตลอดชีวิตและไม่สามารถถอดหรือเปลี่ยนได้ ตัวห่วงจะบอกปี คศ. ที่นกเกิด ลำดับตัวเลขที่ไม่ซ้ำกัน และชื่อย่อสมาคมนกพิราบที่ผลิตห่วงออกจำหน่าย

อาหาร

นกพิราบเป็นนกที่กินเมล็ดธัญญพืช เช่น ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง เมล็ดทานตะวันดำ และกินกรวดหรือเศษอิฐเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร เปลือกหอยป่นก็เป็นสารอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับลูกนกที่กำลังเจริญเติบโตและต้องการแคลเซี่ยมเพื่อการสร้างกระดูก การให้อาหาร ควรให้เป็นเวลา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น น้ำดื่มที่สะอาดควรจัดเตรียมเอาไว้ในกรงให้นกได้ดื่มตลอดเวลา กรง ขนาดและรูปแบบของกรงจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของนกพิราบที่เลี้ยง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ สภาพภายในกรงจะต้องแห้ง ไม่เปียกชื้น เพราะความเปียกชื้นเป็นบ่อเกิดของโรคชนิดต่างๆที่จะทำให้นกพิราบป่วยและตายได้ กรงควรจะโปร่งลมถ่ายเทได้สะดวก แดดสามารถส่องเข้าไปในกรงได้ในบางช่วงของวันและถ้าเป็นแดดในช่วงเช้าจะดีที่สุด

อุปกรณ์การเลี้ยง

นกพิราบนั้น ถึงแม้จะเป็นสัตว์จำพวกนก แต่การเลี้ยงดูก็แตกต่างกันไป ดังนั้นอุปกรณ์สำหรับนกพิราบก็ย่อมแตกต่างจากนกประเภทอื่นด้วย

สิ่งที่ควรจะเตรียมเอาไว้สำหรับนกพิราบได้แก่

หิ้งนอน เนื่องจากว่านกพิราบเป็นนกที่ไม่ชอบเกาะคอน แต่จะชอบนอนบนหิ้งนอนมากกว่า ฉะนั้นเราจึงควรทำหิ้งนอนเอาไว้สำหรับเค้า ขนาดที่เหมาะสมคือกว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวตอนละ 1 ฟุต มีผนังกั้นเป็นตอนๆ ถ้าเลี้ยงเอาไว้เป็นจำนวนมากก็ต้องทำหิ้งซ้อนๆ กัน เรียงไว้หลายแห่ง นกก็จะเลือกที่นอนของตัวเองและนอนอยู่อย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนที่ใหม่

รังหีบ อาจจะทำไว้ใต้ที่นอนติดเรียงไปตามผนังของสถานที่เลี้ยง โดยให้สูงจากพื้นมากที่สุด เพราะจะง่ายในการทำความสะอาด โดยที่เราไม่ต้องก้มๆ เงยๆ ขนาดที่เหมาะสมคือกว้าง 24 นิ้ว ลึก 18 นิ้ว เป็นอย่างต่ำ และควรจะมีกระจกกั้นเป็นฉาก เมื่อนำคู่ของนกที่จะผสมพันธุ์เข้าไปไว้ในการผสมพันธุ์ครั้งแรก และเมื่อให้นกคู่นี้ผสมเป็นครั้งที่ 2 อาจทำรังหีบขนาด 9 นิ้วไว้ใช้ข้างหลังรังหีบนี้ ส่วนลูกที่ฟักเป็นตัวในการผสมพันธุ์ครั้งแรกก็ให้ปล่อยไว้ในหีบตามเดิม

ภาชนะใส่อาหาร รางหรือภาชนะที่ใช้ใส่อาหารจะต้องจัดไว้ให้ทุกครั้งที่เลี้ยง ภาชนะที่ใส่ควรเป็นแบบเปิดก้นได้และต้องล้างทำความสะอาดทุกวัน

ภาชนะใส่น้ำ เราจะต้องจัดน้ำกินไว้ให้นกได้ดื่มอยู่เสมอและยิ่งเป็นฤดูร้อนควรดูแลมากหน่อย เพราะโดยธรรมชาติของนกพิราบนั้นชอบอาบน้ำเล่นน้ำตลอดทั้งปี เราจึงต้องมีภาชนะไว้ให้นกได้เล่นน้ำด้วย อาจจะเป็นวัตถุเคลือบหรืออ่างดินเผาและจะต้องสามารถเปิดก้นทิ้งน้ำได้ เพราะเมื่อนกเล่นน้ำแล้วจะสกปรกควรไขน้ำทิ้งเพื่อไม่ให้นกดื่มกิน

นกพิราบขาวพันธุ์สื่อสาร

นกพิราบพันธ์สื่อสารที่มีสีขาวล้วน ดูสวยงามและโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า ในวันที่ท้องฟ้าสดใส แสงแดดจะกระทบกับปีกที่กำลังกระพือเห็นเป็นสีขาวตัดกับสีท้องฟ้า หากบินเกาะกลุ่มกันเป็นฝูงก็ยิ่งทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก นกพิราบสีขาวเกิดจากการผ่าเหล่าและเป็นลักษณะด้อย ในที่นี้หมายความว่า หากทำการจับคู่นกพิราบสีขาวกับนกพิราบสีอื่นๆ จะไม่ได้ลูกนกพิราบสีขาวอีกเลย ฉะนั้น หากต้องการเพาะลูกนกให้มีสีขาว ต้องใช้พ่อนกและแม่นกที่มีสีขาวเท่านั้น แต่ในเชิงปฏิบัติมักจะไม่ได้ลูกนกสีขาวล้วน มักจะมีสีอื่นๆปนเปื้อนเป็นจุด เป็นแต้ม เป็นปื้นหรือเป็นแถบเสมอ ดังนั้นการจะสร้างสายพันธุ์นกพิราบสีขาวล้วนจึงเป็นงานที่ต้องใช้เวลาหลายปี ( 5-10 ปี ) กว่าจะได้เป็นสายพันธุ์แท้ที่ให้ลูกเป็นนกพิราบสีขาวล้วน ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรป มีผู้เพาะเลี้ยงและปรับปรุงสายพันธุ์นกพิราบสีขาวล้วนหลายราย แต่ละรายจะมีนกพิราบขาวในสต๊อกตั้งแต่ 300-400 ตัวขึ้นไป โดยมีจุดประสงค์ในการเพาะเลี้ยง 2 ประการ คือ เพี่อการแข่งขันบินทางไกล และ เพี่อเป็นนกปล่อยในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส พิธีเปิดการแข่งขันกีฬา เป็นต้น นกพิราบขาวพันธุ์สื่อสารที่เคยมีชื่อเสียงว่าสวยที่สุดในโลก คือสายพันธุ์ที่เรียกว่า pletinckx ซึ่งพัฒนาโดยผู้เพาะเลี้ยงในประเทศเบลเยี่ยม มีลักษณะสีขาวล้วน รูปทรงสวยงาม และบินเร็ว และมามีชื่อเสียงสูงสุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1960-1970 เมื่อ วอลท์ ดิสนีย์ นำมาแสดงในภาพยนตร์ เรื่อง " Pigeon Fly Home " ปัจจุบันยังมีนกพิราบสายพันธุ์นี้ได้รับการเลี้ยงดูและปล่อยบินอวดความสวยงามอยู่ในสวนพักผ่อนหย่อนใจของอาณาจักรดิสนีย์แลนด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

โรคของนกพิราบ
สามารถแบ่งออกเป็นหลายๆชนิด ทั้งที่เกิดอยู่ภายในระบบทางเดินหายใจ เช่นในปากและลำคอ หรือที่เกิดอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เช่นในลำใส้ เป็นต้น โรคต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพของนกพิราบทั้งนั้น ตราบใดที่นกของเราต้องผจญกับภัยคุกคามเหล่านี้ ย่อมทำให้นกไม่สามารถแสดงออกความสามารถที่มันมีได้ และผลงานในการแข่งขันย่อมฟ้องตัวมันเองอย่างแน่นอน

โรคต่างๆของนกพิราบ

  • Trichomoniasis (Canker)

    ไทรโคโมเนียซิส หรือ อีกชื่อที่เราเรียกกันว่าแคงเกอร์ เกิดจากเซลล์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากซึ่งจะฝังตัวอยู่ในบริเวณลำคอของนก โดยปรกติ นกพิราบส่วนมากจะมีเชื้อนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจทั้งนั้น ซึ่งก็ไม่เป็นอันตรายต่อนกนักถ้ามีในปริมาณที่น้อย แต่ถ้ามีเยอะก็เป็นอันตรายถึงตายได้เช่นกัน เชื้อนี้จะแพร่โดยการแบ่งตัวของเซลล์ แต่ไม่สามารถรวมตัวกันโดยปราศจากพาหะได้ เพราะฉนั้นเชื้อจะตายลงอย่างรวดเร็วถ้ามันอยู่ภายนอกตัวนกพิราบเชื้อ Trichomoniasis สามารถเกิดขี้นได้กับนกทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกนกที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ลักษณะของเชื้อที่มองด้วยตาเปล่าเห็นจะเป็นก้อนเหลืองๆในช่องคอของนก ซึ่งอาจจะลามไปถึงตับได้ ซึ่งต้องใช้กล้องเพื่อส่องดู อาการของนกที่ติดเชื้อนี้ก็คือน้ำหนักตัวจะเบาลง ท้องเสีย มีขี้เหลวเป็นสีเขียวเข้ม ถึงแม้เราจะไม่สามารถมองเห็นจากในลำคอนกก็ตาม อย่างไรก็ดี นี่เป็นแค่อาการอย่างนึงที่เราควรสังเกตุเท่านั้น เพราะไม่ใช่การติดเชื้อนี้อย่างเดียวที่จะทำให้น้ำหนักนกเบาลง

    ในกรณีที่นกติดเชื้อนี้ในปริมาณมากจนถึงตับแล้ว อีกอาการนอกเหนือจากน้ำหนักลดก็คือการบวมหรือพองออกของช่องท้อง บางทีจะสามารถสังเกตุเห็นถึงสีเหลืองในช่องลำคอและบริเวณตาขาวได้ ลูกนกที่ถูกป้อนอาหารจากพ่อแม่อยู่จะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนี้ โดยอาการก็คือมีขนที่ไม่เรียบและจะกินได้น้อย

    การติดเชื้อเกิดได้จาก 3 วิธีคือ 1)เมื่อพ่อแม่นกที่มีเชื้อนี้อยู่แล้วป้อนอาหารให้กับลูกนก เชื้อนี้ก็จะถูกถ่ายไปยังลูกนกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 2)เมื่อมีการดื่มน้ำหรือกินอาหารร่วมกันระหว่างนกที่ติดเชื้อกับนกปรกติ วิธีป้องกันก็คือเราควรทำความสะอาดภาชนะที่ใช้เลี้ยงนกให้ดี 3)เมื่อนกที่ติดเชื้อถูกกินโดยสัตว์อื่น ก็จะทำให้เชื้อนั้นเข้าสู่ร่างกายของสัตว์นั้นๆได้เช่นกัน

    ยาที่นิยมใช้ในการรักษาโรคนี้คือ Emtryl (เอ็มทิล) เป็นยาแบบผงไว้สำหรับละลายในน้ำให้นกดื่ม ให้นกกินต่อเนื่องอย่างน้อย 5 วันแต่ไม่เกิน 7 วัน ในบางครั้งการให้ยานี้ก็ก่อให้เกิดผลร้ายได้ เนื่องจากนกได้รับปริมาณยาที่มากเกินไป ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในฤดูร้อนหรือนกกำลังอยู่ในช่วงป้อนลูกนกอยู่ เพราะนกจะต้องดื่มน้ำมากนั่นเอง อาการของนกที่ได้รับตัวยามากเกินไปก็คือมันจะกลิ้งหรือนอนตีลังกาอยู่บนพื้นกรง เพราะตัวยาที่มากไปมีผลต่อระบบประสาทของนก วิธีรักษาก็คือให้นำน้ำที่ผสมยาออก แล้วให้น้ำเปล่าที่สะอาดแทน อาการก็จะหายไปในเวลาวันถึงสองวัน วิธีที่เหมาะสมก็คือในฤดูร้อนที่นกจะดื่มน้ำมากกว่าปรกติ ให้ลดปริมาณของยาที่ผสมน้ำลง แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการดื้อยาของเชื้อนี้เช่นกัน

    ถ้าเป็นไปได้ก็ให้เลี่ยงการให้ยานี้ในฤดูร้อน หรือในช่วงที่พ่อแม่นกกำลังป้อนลูกนกอยู่ แต่ถ้านกเกิดมีอาการที่จะต้องเยียวยาทันที ก็ควรจะให้ยานะครับ เพราะไม่คุ้มที่เราจะรอ เพราะนกอาจจะป่วยจนยากที่จะเยียวยาทัน

    ในฤดูการแข่งขัน คุณเคยสังเกตูเห็นนกที่ติดอันดับอยู่ดีๆ แล้วหล่นหายไปจากใบจัดอันดับเลยหรือเปล่า ทั้งๆที่นกก็ดูดีอยู่ สาเหตุก็คือว่าเมื่อนกต้องบินระยะไกลเป็นเวลานานๆ มันต้องใช้พลังงานที่สะสมมาก ความทรหดหรือความแข็งแรงย่อมน้อยลง นั่นเป็นโอกาสที่เชื้อโรคต่างๆจะโจมตีนกของเรา เชื้อแคงเกอร์ก็เช่นกัน มันสามารถทวีคูณจำนวนของมันได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเราสังเกตุดูในช่องปาก อาจจะเห็นการบวมแดงของลำคอได้ ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะทำให้เกิดการคันในช่องคอ โดยธรรมชาติต่อมในช่องคอของนกก็จะผลิตเมือกเหลวมาห่อหุ้มเชื้อเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เราเห็นเป็นก้อนสีเหลืองในภายหลัง

    นอกจาก Emtryl แล้ว ยังมีตัวยาอื่นๆที่คุณสามารถเลือกได้ เช่น Ronidazole, Turbisole, Ridsol-S, Flagyl หรือ Spartrix จะเป็นการดีถ้าสามารถเปลี่ยนตัวยาอยู่เรื่อยๆ เช่นครั้งนี้รักษาด้วย Emtryl ครั้งหน้าก็เปลี่ยนเป็น Ronidazole เพราะจะช่วยป้องกันการดื้อยาของเชื้อได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือการให้ในปริมาณที่ทางผู้ผลิตยาแนะนำ

  • Pox

    Pox หรือฝีเป็นอีกโรคที่นกพิราบมักจะเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูฝนที่ยุงชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกนก เมื่อยุงกัดบริเวณจมูก ขา หรือขอบตาของนก จะทำให้เกิดฝีเป็นเม็ดๆ บางทีมากซะจนนกไม่สามารถลืมตาได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านกที่โตแล้วจะไม่เป็น

    โรคฝีในนกพิราบสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบที่เกิดกับผิวหนังและแบบที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ

    เชื้อไวรัสจะสามารถเข้าสู่ร่างกายนกได้จากผิวหนังที่เป็นสะเก็ดหรือแผลจากการกัดของยุง ทำให้เป็นตุ่มแข็งบริเวณนั้น อย่าพยายามตัดหรือแกะเพราะจะทำให้เลือดออกได้ ส่วนที่เกิดกับระบบหายใจก็จะเป็นภายในช่องปาก ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้นกไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำได้ตามปรกติ

    ถ้านกของเรามีความเสี่ยงต่อการเกิดฝีสูงเช่นมียุงชุมบริเวณกรง การป้องกันทำได้โดยการติดมุ้งลวดไม่ให้ยุงสามารถเข้าไปกัดนกเราได้ อีกวิธีก็คือการให้วัคซีนป้องกัน ส่วนนกที่เป็นแล้วสามารถรักษาโดยการให้ยา Livimun เพื่อกระตุ้นให้เกิดการต้านทานเชื้อ ให้วิตามิน (Multivitamin EB12)ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้นกฟื้นตัวเร็วขึ้น ในระหว่างการรักษา

  • Paramyxo

    Paramyxo เชื้อ Paramyxo เกิดขึ้นจากไวรัสชนิดหนึ่งเรียกว่า Paramyxovirus-1 (PMV-1) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคนิวคาสเซิลในไก่ เพราะมีสื่อตัวเดียวกันคือ PMV-1 เชื้อนี้ถูกพบครั้งแรกในอเมริกาเหนือ ก่อนที่จะลุกลามไปยังยุโรปจนถึงเอเซีย

    การติดเชื้อนี้ของนกพิราบ มักแสดงออกให้เห็น 2 ทางคือทางระบบประสาทและระบบขับถ่าย ทางระบบประสาทก็คือ นกจะมีอาการเหมือนไม่สามารถพยุงตัวเองได้ คล้ายๆคนเมานั่นแหละครับ คอเอียง บางทีจะมีอาการอัมพาติของปีกและขา ไม่สามารถจิกกินอาหารที่อยู่บนพื้นได้ โดยมันจะจิกอยู่ข้างๆเมล็ดถั่ว ทั้งนี้เนื่องจากระบบประสาทของสายตากับร่างกายทำงานไม่สัมพันธ์กันนั่นเอง อย่างไรก็ดี นกที่ติดเชื้อไวรัสนี้สามารถรักษาให้หายได้ ถ้ามันยังสามารถกินอาหารและดื่มน้ำได้ตามปรกติ

    ส่วนทางระบบขับถ่ายนั้นหมายถึงน้ำหรือของเหลวได้ไหลผ่านไตโดยมิผ่านกระบวนการทำงานของไตได้อย่างปรกติ นั่นเป็นเพราะว่าเชื้อไวรัสได้ทำลายไตของนกที่ติดเชื้อนั่นเอง เราจะสังเกตุได้ง่ายจากพื้นกรงที่จะเต็มไปด้วยขี้ที่มีลักษณะเหลวเป็นเมือก ซึ่งอันนี้จะแตกต่างจากโรคท้องร่วง เนื่องจากของเหลวนี้จะมาจากไต ไม่เหมือนกับท้องร่วงที่มาจากลำไส้

    วิธีป้องกันก็คือการฉีดวัคซีนให้แก่นกพิราบ โดยมีทั้งวิธีให้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นคือ LaSota โดยการหยอดเข้าจมูก หรือเชื้อตาย Colombovac หรือ Newcavac โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

    วัคซีนเชื้อเป็น LaSota มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้รวดเร็ว แต่ภูมิคุ้มกันคงอยู่ได้ในช่วงเวลาสั้น จึงต้องให้ซ้ำบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเขตที่มีการระบาดของโรค อาจให้ซ้ำทุก 2-3 เดือน โปรแกรมการให้วัคซีนเชื้อเป็น คือให้ครั้งแรกที่ลูกนกอายุ 3 สัปดาห์ ครั้งที่สองที่อายุ 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ซ้ำทุก 2-3 เดือน วิธีการให้โดยการหยอดจมูกหรือหยอดตา

    ส่วนวัคซีนเชื้อตาย (Colombovac, Newcavac) จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ช้า แต่ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นาน ถ้าผู้ฉีดไม่มีความชำนาญ อาจจะทำให้นกช๊อคหรือตายได้ เนื่องจากการดิ้นรนของนกระหว่างการทำวัคซีน ปฏิกิริยาที่พบหลังจากฉีดวัคซีนคือ เกิดเป็นเม็ดตุ่มเล็กๆขึ้น ทั้งนี้เป็นการตอบสนองของร่างกายเมื่อได้รับวัคซีน เราจะพบเม็ดตุ่มเหล่านี้เป็นเวลา 10-14 วันและจะหายไปเองภายใน 2-4 สัปดาห์ เม็ดตุ่มนี้อาจจะมีผลทำให้นกบินไม่ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งถ้าหากเกิดเม็ดตุ่มที่บริเวณปีก

    วัคซีนเชื้อตายสำหรับนกพิราบจะมีสื่อพิเศษเฉพาะ ไม่ใช่เป็นสื่อน้ำมันเช่นเดียวกับวัคซีนเชื้อตายสำหรับป้องกันโรคนิวคาสเซิลในไก่ โดยพบว่าหากนำวัคซีนเชื้อตายที่ใช้สำหรับไก่มาฉีดให้กับนกพิราบแล้ว จะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นมาก ดังนั้นจึงมีการแนะนำให้ใช้วัคซีนเชื้อตายสำหรับนกพิราบเท่านั้น ซึ่งจะให้ผลที่ดีและปลอดภัยกว่า โปรแกรมการให้วัคซีนเชื้อตาย คือให้ครั้งแรกที่อายุ 6-8 สัปดาห์ และให้ซ้ำทุกปีๆละครั้ง โดยวัคซีนจะให้ความคุ้มครองนาน 1 ปี วิธีการให้วัคซีน ทำได้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณกลางคอด้านหลังของนกพิราบ ตัวละ 0.2 ซีซี โดยใช้เข็มและไซริงค์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ อย่าปล่อยให้บินออกกำลังและอย่าให้นกอาบน้ำ

  • Coccidiosis

    ค็อกซิดิโอสิส (Coccidiosis) เป็นโรคนกพิราบชนิดหนึ่งที่มักเกิดกับลูกนกที่เราเพิ่งแยกออกจากพ่อแม่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่

    เหมือนนกที่โตแล้ว เช่นเดียวกันกับไข่พยาธิ เชื้อ coccidiosis ซึ่งเราเรียกว่าอูซิส (oocyst) จะอยู่ในอุจจาระของนก ซึ่งจะยังไม่มีอันตรายมากนัก แต่ถ้าอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นใจ เช่นมีความเย็นอับชื้น เชื้อก็จะสามารถพัฒนาสู่ขั้นอันตรายได้

    เชื้อนี้สามารถแพร่สู่นกตัวอื่นๆได้ดังนี้ นกพิราบที่จิกกินอาหารจากพื้นที่สกปรกหรือจากน้ำที่ไม่ได้เปลี่ยนทุกวัน จะกลืน oocyst เข้าไป ในระหว่างนั้นเชื้อพยาธิก็จะเพิ่มและฝังตัวอยู่ในผนังลำไส้ ซึ่งจะทำให้เกิดการบวมของลำไส้ และท้องเสีย น้ำหนักลด และไม่ว่าจะให้อาหารมากแค่ไหน ก็ดูเหมือนว่าจะไม่หนักขึ้นซักเท่าไหร่ เราสามารถสังเกตุว่านกเรามีการเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเปล่าได้ตั้งแต่ยังอยู่ในชามฟัก ถ้าลูกนกมีการถ่ายเหลวมากๆ ซึ่งเราดูได้จากบริเวณขอบชาม เราควรจะตั้งสมมติฐานว่าเป็นเชื้อนี้ได้ ถ้าเราไม่ทำการให้ยารักษาทันที ลูกนกตัวนั้นก็จะเติบโตขึ้นมาอย่างไม่สมบูรณ์ มีขนไม่เรียบเงา กระดูกที่ไม่แข็งแรงและลำไส้ที่ไม่ดี นกจะไม่สามารถสร้างพลังงานสะสมได้อย่างนกปรกติ

    การรักษาดูแลกรงนกให้มีความสะอาดอยู่เสมอจะช่วยป้องกันการฟักตัวหรือการแพร่ขยายของเชื้อได้มากกว่า 90% แต่ก็จะไม่กำจัดได้อย่างสิ้นซาก ยกเว้นการรมไฟที่มีความร้อนสูงถึง 400-500 องศาเซลเซียส ในกรณีที่ต้องมีการให้ยารักษา เราสามารถให้ยาประเภท sulphamides แก่นกเราได้ หรือ ยา Vetisulid (sodium sulphachlorpyridazine) หรือ Amprol และ Baycox

    อีกสิ่งที่จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อนี้ ก็คือระบบการถ่ายเทที่ดี ถ้าแสงแดดสามารถส่องถึงภายในกรงนกได้ มีอากาศถ่ายเทดี ก็จะสามารถช่วยป้องกันได้เช่นกัน

    เราจะมาสรุปถึงวงจรชีวิตของ coccidiosis กันอีกทีนะครับ นกพิราบจะกลืน oocyst เข้าไป --> เมื่อเข้าไปในลำไส้ เชื้อก็จะฝังตัวเข้าไปในผนังลำไส้ -->เชื้อจะพัฒนาและแบ่งตัวออกหลายเท่าเป็น schizonts --> Schizonts จะผลิต merozoites ซึ่งจะฝังลึกเข้าไปในผนังลำไส้เช่นกัน --> Merozoites เหล่านี้จะก่อให้เกิด schizon 2 ซึ่งจะผลิตเชื้อผู้และเมียของ gametocysts ซึ่งทำให้เกิด oocyst ที่มีอยู่ในมูลของนก

นกพิราบขาวสยาม

เป็นนกพิราบพันธุ์สื่อสารสีขาวล้วนที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่โดยคนไทย จากจุดอ่อนของนกพิราบขาวที่มีดวงตาเป็นสีดำทึบ ได้รับการปรับปรุงลักษณะสีของดวงตาให้มีสีสดใสและหลากหลาย เช่น สีแดง สีชมพู สีเงิน สีส้ม และสีเหลือง ทำให้นกพิราบขาวสยามสวยเด่นกว่านกพิราบขาวทั่วๆไป และขณะนี้เป็นที่ยอมรับของผู้เพาะเลี้ยงนกพิราบจากทั่วทุกมุมโลกแล้วว่า นกพิราบขาวสยามเป็นนกพิราบขาวพันธุ์สื่อสารที่สวยที่สุดในโลก

 

ประกายความคิด

จากการสังเกตุคนผิวขาวชาวเอเชียที่มีดวงตาสีดำน้ำตาลเหมือนกันหมด เปรียบเทียบกับคนผิวขาวที่มีเชื้อสายคอเคเชี่ยนซึ่งมีสีของดวงตาเป็นสีสดใสและหลากหลาย ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนานกพิราบสีขาวให้มีสีของดวงตาหลากหลายขึ้นมาบ้าง

จุดเริ่มต้น

ประมาณ 20 ปีย้อนหลัง ได้ทำการเสาะหานกพิราบสีขาวพันธุ์สื่อสารทุกรูปแบบเท่าที่จะหาได้เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มได้เป็น 4 ชนิด คือ

  • นกพิราบสีขาวล้วน ดวงตามีสีดำทึบ (Albino)
  • นกพิราบสีขาวที่มีสีอื่นๆปนเป็นปื้นหรือเป็นแถบ (Splash) ดวงตาอาจจะมีสีหลากหลายหรือสีดำทึบ
  • นกพิราบสีขาวที่มีแต้มสีดำกระจายทั่วตัว (Grizzle) ดวงตามักจะเป็นสีหลากหลาย
  • นกพิราบขาวที่เกิดจากนกสีโกโก้ที่มีความผิดปกติในการสร้างสี ( Dilution ) สีโกโก้จะจางลงมากจนสีพื้นเกือบเป็นสีขาวและมีลายสีโกโก้เข้มหรืออ่อนแซมอยู่ แต่ลักษณะที่เด่นที่สุดคือ ดวงตาจะมีสีสดใส

จากการทดลองผสมนกพิราบสีขาวทั้ง 4 ชนิดสลับไปมา พบว่าลูกนกที่ได้จากการผสมของสายพันธุ์ที่ 1 และสายพันธุ์ที่ 4 มีแนวโน้มที่จะได้เป็นนกพิราบสีขาวที่มีดวงตาหลากสี จึงได้ทำการผสมลงลึกและคัดสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดได้นกพิราบสีขาวล้วนที่มีดวงเป็นสีหลากสี เป้าหมายต่อไปคือการพัฒนารูปร่างให้ได้สัดส่วนและสวยงาม ขั้นตอนสุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพในการบินเร็ว เพื่อใช้แข่งขันในกีฬานกแข่ง

คุณสมบัติ พิราบขาวสยาม เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่ง ที่สามารถเลี้ยงให้เชื่องกรงได้ เวลาปล่อยออกจากกรง จะบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยความปราดเปรียว ขณะบินเดี่ยว ชอบบินฉวัดเฉวียน บินดิ่ง และบินทะยาน ถ้ามีหลายตัว ชอบบินเกาะกลุ่มไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ท้องฟ้ามีอากาศแจ่มใส พิราบขาวสยามจะบินเล่นไต่ระดับขึ้นไปสูงถึงตึก 20-30 ชั้น แสงแดดจะสะท้อนกับปีกที่ขยับบิน เห็นเป็นแสงระยิบระยับ เป็นธรรมชาติที่ดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เมื่อบินเล่นจนพอใจแล้ว จะบินกลับและเข้ากรงได้เอง เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงนกพิราบแข่งที่จะเลี้ยงนกพิราบขาวสยามไว้ดูเพลิดเพลินและคลายเครียดจากการแข่งขัน สำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยงทั่วๆไป นกพิราบขาวสยามก็เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่น่าสนใจและมีอนาคต จากคุณสมบัติที่สวยงามและหายาก หากได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง ที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย

คุณประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ

เนื่องจากเป็นนกพิราบพันธุ์สื่อสารที่มีความสวยงาม ดังนั้น ตลาดโดยตรงของนกพิราบสายพันธุ์นี้ คือ ผู้เพาะเลี้ยงนกพิราบพันธุ์สื่อสารและพันธุ์สวยงาม ซึ่งมีจำนวนนับล้านคนทั่วโลก ที่ต้องการสะสมนกที่สวยงามและหายากเอาไว้ในสต๊อกของตนเอง นอกจากนี้หากทำการโปรโมทเข้าไปในตลาดผู้รักสัตว์เลี้ยงทั่วๆไปด้วยแล้ว ก็จะสามารถขายนำเงินตราเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากพิราบขาวสยามเป็นนกพิราบสายพันธุ์ใหม่ จึงสามารถกำหนดราคาได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องการแข่งขันตัดราคา และคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีหลังการเปิดตัวของนกพิราบขาวสยามในตลาดโลก คู่แข่งขันจึงจะสามารถพัฒนาขึ้นมาทัดเทียม ซึ่งก็จะส่งผลดีกลับมาอีกครั้ง เพราะตลาดจะกว้างออกไป ขณะที่ผู้ริเริ่มยังคงความได้เปรียบในด้านความหลากหลายของสายพันธุกรรมที่มีอยู่ในสต๊อก

แนวทางการพัฒนาสายพันธุ์ในอนาคต

ลักษณะภายนอกสีขาวล้วน ช่วงปีกและลำตัวยาวสมส่วน ยืนสง่า ดวงตามีสีสดใสและหลากหลาย ความท้าทายข้างหน้าคือการทำสีตาให้เป็นสีเขียวและสีฟ้า

 

คลิกกลับหน้าหลัก

สร้างโดย: 
muc255203

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 273 คน กำลังออนไลน์