ภาพรวมของเรื่องสังข์ทอง

          บทละครนอกของไทยเป็นเรื่องประเภทที่เรียกว่า “จักรๆ วงศ์ๆ” ซึ่งตัวเอกเป็นกษัตริย์หรือคนชั้นสูง แต่ก็สะท้อนให้เห็นสภาพสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ความคิด และค่านิยมในบุคคลของสังคม ดังนั้นเรื่องสังข์ทองจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับบทละครนอกทั่วๆ ไป ดังนี้
          ๑.ที่มาของเรื่อง  ละครดั้งเดิมของไทยมีอยู่แต่เฉพาะละครรำอย่างเดียว  มีกำเนิดมาจากการละเล่นพื้นบ้านและผูกเรื่องจากนิทานพื้นบ้านที่เล่ากันด้วยปากต่อๆ กันมาโดยไม่ปรากฏนามผู้แต่ง  เรื่องที่เป็นนิทานพื้นบ้านโดยตรงคือเรื่องไกรทอง  ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของเมืองพิจิตร  บทละครบางเรื่องก็มีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับนิทานชาดก  ซึ่งนิทานชาดกนี้ก็มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านนั่นเอง
เรื่องสังข์ทอง  เป็นนิทานปัญญาสชาดก  ชื่อเรื่องสุวัณณสังขชาดกซึ่งมีที่มาจากอินเดีย  แต่คนไทยบางส่วนเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี่เอง  เช่น  พวกชาวเมืองเหนือ  (อุตรดิตถ์)  อ้างว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองท้าวสามนต์  และยังมีลานศิลาแลงที่เชื่อกันวาเป็นสนามตีคลีของพระสังข์  ส่วนทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตกก็อ้างว่าเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท้าวสามนต์อีกแห่งหนึ่ง  เรียกภูเขาลูกหนึ่งว่า  เขาขมังม้า  และกล่าวว่าเมื่อพระสังข์ตีคลีชนะก็ได้ขี่ม้าเหาะข้ามภูเขาลูกนั้น
          ๒.การสร้างตัวละคร  ผู้แต่งสร้างตัวละครขึ้นมาโดยอาศัยบุคลิกของผู้แต่งเอง  หรือผู้ที่ผู้แต่งได้รู้จัก  ได้พบเห็น  หรือจินตนาการขึ้นมาผสมผสานกับวามรู้ความคิด  ความฝันของผู้แต่ง  ลักษณะของตัวละครส่วนใหญ่  ในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง  จึงเป็นลักษณะของคนไทยทั่วๆ ไป  คือ  มีความโอบอ้อมอารี    เมตตากรุณา  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก  เช่น  ตายายที่ให้ความช่วยเหลือนางจันท์เทวี  พญานาคและนางพันธุรัตที่ให้ความช่วยเหลือพระสังข์  นายประตูผู้ให้ความช่วยเหลือท้าวทศวิมล 
นอกจากนี้การกระทำของตัวละครบางตัวก็แสดงให้เห็นค่านิยมในสมัยก่อนว่า  ยกย่องนับถือผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง  เช่น  การเลือกคู่ของหกนางคนที่ฐานะต่ำต้อย  เช่น  เจ้าเงาะมักจะถูกเหยียดหยามดูหมิ่น  ค่านิยมในการมีภรรยายิ่งมีมากก็ยิ่งมีบุญวาสนาสูง  เป็นต้น  ค่านิยมในการรับข้าราชการเป็นขุนนาง  เช่น  ตอนนางจันท์เทวีไปขอทำงานกับพวกวิเสท  เป็นต้น  การปฏิบัติตนของสตรี  เช่น  การครองตัวของนางจันท์เทวี  เป็นต้น
          ๓.ความเชื่อของตัวละคร  ความเชื่อเป็นสิ่งที่คนในสังคมมีหรือสร้างขึ้นมา  อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม  เช่น  ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาสมัยก่อนมีมาก  ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากขึ้นความเชื่อนี้ก็ลดลง  คนเรามักจะมีความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดา  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  และนรกสวรรค์  เรื่องความฝัน  เรื่องไสยศาสตร์  โหราศาสตร์  ดังที่ท้าวยศวิมลเชื่อว่าพระโอรสที่กำเนิดเป็นหอยสังข์เป็นกาลกิณีตามคำทำนายของโหร  เป็นต้น
          ๔.ขนบธรรมเนียมประเพณี  ตัวละครจะยึดถือปฏิบัติตามขนบประเพณีที่ปรากฏอยู่ในสังคม  เพราะวรรณคดีเหล่านี้มักจะดำเนินเหตุการณ์ตามปฏิทินธรรมชาติ  จะเห็นได้ในเรื่องการแต่งกาย  การสนุกสนานรื่นเริงในงาน  มหรสพและการละเล่นต่าง ๆ
          ๕.การสร้างฉาก  ผู้แต่งได้แสดงให้เห็นสภาพบ้านเมือง  การปกครอง  ความเป็นอยู่ของประชาชน  อาชีพ  เป็นฉากสมัยที่ผู้แต่งมีชีวิตอยู่และได้พบเห็นได้ใช้ชีวิตอยู่ในระหว่างเวลานั้น  บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้บรรยายถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน  ซึ่งน่าจะเป็นภาพของกรุงเทพมหานครในสมัยรัชกาลที่  ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง
          ๖.การใช้ถ้อยคำในการแต่งบทละคร  บทละครนอกมีอารมณ์ขันเป็นหลักของเรื่อง  จึงใช้ถ้อยคำง่าย  ไม่มีศัพท์ยากและมุ่งเน้นความตลก  ตัวละครที่เป็นกษัตริย์ก็ใช้ถ้อยคำแบบคนสามัญ  เช่น  ตอนที่นางรจนาทะเลาะกับหกนางหรือตอนบรรยายถึงเจ้าเงาะว่าเป็นคนบ้าใบ้  มักใช้คำหยาบ  ด่าทอกันเหมือนกับคำพูดของชาวบ้านจริง ๆ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงนำเรื่องเดิมมาดัดแปลงโดยตัดคำที่หยาบคายออกไปบ้าง  แต่ก็ไม่ทำให้เสียอรรถรส  ของละครนอกแต่อย่างใด
          ๗.เนื้อหาของบทละคร  ประกอบด้วยเรื่องของไสยศาสตร์  เวทมนตร์คาถา  ความเชื่อเรื่องโชคลาง  โหราศาสตร์  การแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์  และความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งต่าง ๆ  มาแทรกปนอยู่ทำให้เนื้อเรื่องมีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น  เรื่องสังข์ทองนี้มีทั้งเรื่องการทำนายฝัน  การทำนายเหตุการณ์  การทำเสน่ห์เล่ห์กล  ความเชื่อว่าคนคลอดลูกเป็นสัตว์  ซึ่งความเชื่อเช่นนี้มีอยู่ในสมัยโบราณและปรากฏอยู่ในวรรณกรรมหลายเรื่อง
          ๘.บทละครนอกเรื่องสังข์ทองแสดงให้เห็นความดีและความชั่วอย่างชัดเจน  โดยตัวเอกเป็นตัวแทนของฝ่ายดี  ตัวโกงเป็นตัวแทนของฝ่ายชั่ว  ในที่สุดฝ่ายดีก็จะได้รับชัยชนะ  คือ  พระสังข์ชนะใจท้าวสามนต์  ได้ครอบครองเมืองสามนต์  ท้าวยศวิมลเห็นคุณงามความดีของนางจันท์เทวี  นางจันทาถูกลงโทษ  หกเขยต้องอับอายขายหน้าไปตลอดชีวิต  เรื่องจบลงด้วยความสุข  เมื่อตัวละครผ่านอุปสรรคและเหตุการณ์ร้าย ๆ  จนหมดสิ้นแล้ว

         

         

         

   

สร้างโดย: 
นางสาวกิตติยา วิทยานารถไพศาล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 219 คน กำลังออนไลน์