บทความการปั้นตุ๊กตาดินเผาชาวบ้าน

 การปั้นตุ๊กตาดินเผาชาวบ้าน
      ตุ๊กตาดินเผาของไทย เป็นศิลปะพื้นบ้านที่ทำติดต่อกันมานานและทำขึ้นตามคติประเพณีการใช้สอยในชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่เกิดขึ้นตามลักษณะนิสัยของคนไทย เป็นความคิดในการประดิษฐ์ให้เป็นตุ๊กตาชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านมิได้มีการเรียนรู้จากโรงเรียน แต่เป็นการเรียนรู้โดยการถ่ายทอดจากการสังเกต และการสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของชาวไทยโดยเฉพาะ ฉะนั้นงานตุ๊กตาชาวบ้านจึงเต็มไปด้วยความมีชีวิตความเรียบง่ายแฝงอยู่ในลักษณะของงานในท้องถิ่นนั้นๆ

 ตุ๊กตากับความผูกพันกับชาวบ้าน
      การปั้นตุ๊กตาชาวบ้านส่วนใหญ่จะผูกพันถึงเรื่องไสยศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้าน การปั้นตุ๊กตาดินเผาหรือตุ๊กตาดินเหนียวของไทยในอดีต หรือปัจจุบันก็ยังมีอยู่เพื่อการเซ่นไหว้ การบวงสรวง ตามความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้นว่า การใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนศัตรูหรือการทำลายล้างศัตรู ด้วยการใช้เวทมนต์คาถาอาคมเสกเป่า ทำร้ายด้วยการใช้เข็มเสียบตามอวัยวะตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของศัตรู หรือด้วยการหักแขน หักขา ศัตรูเพื่อให้เกิดอันตราย เกิดความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้นแก่ฝ่ายตรงกันข้าม
      นอกจากนั้นมีตุ๊กตาอีกชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นตามความเชื่อถือของชาวบ้าน คือ ตุ๊กตาเสียกบาลเป็นตุ๊กตาที่ทำขึ้น เพื่อปัดเป่าอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนเจ็บป่วย ด้วยการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ นั่งพับเพียบ ตุ๊กตาตัวนี้อาจเป็นดินเหนียวธรรมดา หรือดินเผา มีการทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนใหญ่จะพบตุ๊กตาไม่มีหัวจะพบที่สมบูรณ์ก็มีอยู่บ้าง ตามเตาเผาของสุโขทัยบ้าง จึงทำให้เรียกว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล” คือ “เสียหัว”

       ตุ๊กตาเสียกบาล ส่วนใหญ่ยังคงมีการทำอยู่ตามชาวชนบทหรือตามท้องถิ่น ที่ยังคงมีความเชื่อต่างๆ แฝงอยู่ เช่น ความเชื่อถือทางด้านคาถา, ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของท้องถิ่นซึ่งต้องอาศัยสิ่งอื่นมาช่วยชีวิตของคนให้ดีขึ้น

 ตุ๊กตาชาวบ้านที่อยุธยา
      นางสาวสุดใจ เจริญสุข ปัจจุบันอายุ 31 ปี ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 40 ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เล่าว่า เมื่ออายุได้ 2 ขวบ ได้ไปอยู่กับคุณปู่ชื่อ นายอุทัย สุวรรณนิล ที่กรุงเทพมหานคร คุณปู่ของเธอเป็นช่างปั้นพระ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้นำวิธีการปั้นพระมาดัดแปลงปั้นตุ๊กตา ครั้งแรกปั้นให้มีขนาดใหญ่ก่อน แล้วจึงปั้นย่อส่วนให้เล็กลงจนเหลือขนาดเล็กมาก (ขนาดนิ้วเด็กทารก) เนื่องจากมีเหตุผลให้แตกต่างไปจากตุ๊กตาอื่น ๆ ต่อมาลองปั้นคนและสิ่งของต่าง ๆ เธอเห็นวิธีการปั้นของคุณปู่ก็จดจำ และลองปั้นบ้างตามประสาเด็ก เมื่อคุณปู่เห็นเธอสนใจเรื่องการปั้น จึงได้สอนวิธีการปั้นให้แก่เธอ โดยเริ่มปั้นผลไม้ให้มีขนาดเท่าของจริงก่อน แล้วจึงค่อย ๆ หัดย่อส่วนให้เล็กลง ได้พยายามฝึกตนเองตลอดมาด้วยใจรัก
      ต่อมา คุณปู่ของเธอได้รับพระราชทานโล่ที่ระลึกผลงานช่างดีเด่น จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปอยู่ในวัง เธอจึงกลับมาอยู่กับมารดา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับเข้าศึกษาที่โรงเรียนจิระศาสตร์ เมื่อจบการศึกษา ก็เริ่มงานปั้นอย่างจริงจัง จนสามารถทำเป็นงานอาชีพหลักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
      ตุ๊กตาชาวบ้านที่อยุธยา จัดเป็นศิลปะพื้นบ้านแขนงหนึ่งที่มีการถ่ายทอดในระบบครอบครัวจาก ปู่ – จนถึงหลาน เป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง นับตั้งแต่การปั้นประกอบเป็นตัวจนสำเร็จออกมาเป็นผลงาน ด้วยการใช้อุปกรณ์ง่ายๆ คือมีดเล็กๆ เพียงเล่มเดียว แต่ใช้ฝีมือตกแต่งด้วยมืออันคล่องแคล่วที่ช่างปั้นอื่นๆน้อยคนจะทำได้ การปั้นตุ๊กตาชาวบ้านนั้น นอกจากจะใช้ฝีมือที่ละเมียดละไม เก็บความมีชีวิต ให้มีอยู่กับตุ๊กตาตัวน้อยๆ แต่ละตัวช่างปั้นได้เพียรพยายามปั้นให้มีขนาดเล็กๆ มากจนแทบจะกล่าวออกมาไม่ได้ว่า นี่คือการปั้นด้วยการใช้ฝีมือของช่างปั้น ที่เก็บลักษณะท่าทางเลียนแบบออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด

 กรรมวิธีการต่างๆ ในการเตรียมดิน
       การเตรียมดิน ขั้นแรกจะต้องไปเลือกดินที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น เลือกดินเหนียวที่ไม่มีเม็ดทราย กรวด ด้วยการขุดหน้าดินทิ้งก่อน เลือกเอาส่วนที่เป็นดินเหนียว เอามานวดผสมน้ำ ด้วยการใช้มือขยำดินไปมา จนเห็นว่าดินนั้นมีความเหนียวมากพอสมควรก็จะนำมาเก็บด้วยการใช้ผ้าคลุมดินชั้นหนึ่งก่อน แล้วห่อด้วยพลาสติกอีกทีหนึ่ง จะช่วยให้ดินมีความชื้น เวลาใช้ปั้นจะสะดวกในการปั้นมาก 

การปั้นส่วนประกอบอื่นๆ
             การปั้นส่วนประกอบ เช่น ควาย, บ้าน, รถ หรือส่วนอื่นๆ จะปั้นเป็นส่วนๆ ด้วยการเก็บไว้ก่อน แล้วจึงนำมาประกอบกันในภายหลัง หลังจากที่ปั้นตุ๊กตาและส่วนประกอบอื่น ๆ แล้วก็จะนำสิ่งของเหล่านี้มาผสมให้แห้ง 1 วัน จนเห็นว่าแห้งสนิทดีแล้วก็เป็นขั้นเตรียมเผาต่อไป 

 ขั้นตอนการเผาดิน
      เตรียมตุ๊กตาและส่วนประกอบอื่นๆ ใส่หม้อดินเผาตั้งบนเตาก่อน แล้วใส่ไฟอ่อน ๆ ด้วยการใช้ถ่านติดไฟ เรียกว่า “โลมไฟ” ใช้เวลาในการเผานั้นประมาณ 1 ช.ม. และคอยดูว่า ตุ๊กตาที่อยู่ในหม้อนั้นออกสีดำ จะมีลักษณะแข็งตัว ก็เอาหม้อลงจากเตาไป เอาถ่านใส่ในเตาไฟให้มากขึ้นและนำหม้อใบเดิมวางลงบนเตาไฟอีกครั้งหนึ่งแล้วเอาถ่านวางล้อมรอบหม้อดินรอบนอก พร้อมกับปิดฝาหม้อด้วยเสร็จแล้วรอประมาณ 1ช.ม. ครึ่ง ถ่านจะลุกแดงมากค่อยๆ โทรมลง รอจนหม้อดินเผาเย็นก็เก็บตุ๊กตาออกจากหม้อได้ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเผา

 การตกแต่งขั้นสุดท้าย
       นำตุ๊กตาที่เผาเสร็จแล้ว มาทาสีด้วยการใช้พู่กันกลมเบอร์ 3,4 ระบายสีบนตุ๊กตา ตกแต่งรายละเอียดให้สมบูรณ์ สีที่ใช้ ใช้สีน้ำมันกระป๋อง ผสมน้ำมันก๊าซ รอจนแห้งสนิทแล้ว นำไปติดลงบนแป้นไม้ต่อไป


 


 

สร้างโดย: 
ครูขวัญ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 340 คน กำลังออนไลน์