ปริมาณเงิน
เงิน คือ อะไรก็ตามที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการใช้ซื้อ-ขายสินค้า
และบริการ รวมไปถึงการใช้ชำระหนี้ โดยในสมัยก่อน คนอาจจะใช้เปลือกหอย หรือทอง
หรือโลหะอะไรก็ได้เพื่อใช้เป็นเงิน ตราบเท่าที่คนในสังคมยอมรับค่าของสิ่งนั้น ๆ แต่ทั้งนี้
ก็ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เมื่อกำหนดค่าของเงินแล้ว ค่านั้นจะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
รวดเร็ว ไม่ใช่วันนี้มีค่า 1 บาท แต่อีกวันมีค่าแค่ 50 สตางค์ หรืออีกวันมีค่าถึง 100 บาท
เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สิ่งๆ นั้นยังสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในสังคมได้
เนื่องจากหากค่าของเงินไม่คงที่ เช่น ด้อยลงเรื่อย ๆ คนในสังคมก็จะขาดความเชื่อถือ
และไม่ยอมรับเงินนั้นเป็นสื่อกลาง รวมทั้งไม่ยอมรับให้เป็นสิ่งที่ใช้ชำระหนี้ในอนาคต
เมื่อรู้เรื่องของเงินแล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็มาดูเรื่องของคำว่า “ปริมาณเงิน”
ที่มักจะมีการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ในสื่อต่าง ๆ ว่าคืออะไร
ปริมาณเงิน (Money supply หรือ Supply of money) แบ่งได้ 2 ความหมาย
• ความหมายของปริมาณเงินอย่างแคบ (Narrow money) หรือที่เรียกว่า M1 จะหมายถึง
M1 = ธนบัตร + เหรียญกษาปณ์ + เงินฝากกระแสรายวัน (Demand deposit)
ปริมาณเงินคือเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชน ประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่อยู่ในมือประชาชน
และรวมถึงเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกที่ประชาชนฝากไว้ที่ระบบธนาคาร อาทิ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ
• ความหมายของปริมาณเงินอย่างกว้าง (Broad money) ความครอบคลุมตามนิยามนี้ก็เป็นเช่นเดียว
กับชื่อที่ใช้คือ ค่อนข้างครอบคลุมไปถึงเงินในหลายรูปแบบ โดยในช่วงก่อนหน้านี้ เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า M2 M2a M3
ในไทย หรือ M4 รวมทั้ง M5 ในต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละประเทศเลือกที่จะรวบรวมปริมาณเงินในแต่ละนิยาม
(ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล) ไว้เพื่อติดตามและวิเคราะห์อย่างไร แต่ทั้งหมดที่กล่าวนี้ก็คือความหมายของปริมาณเงินอย่างกว้าง อาทิ
o M2 จะหมายถึง M1 + เงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำของประชาชน
o M2a จะหมายถึง M2 + เงินฝากของประชาชนที่อยู่ในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุน
o M3 จะหมายถึง M2a + เงินฝากของประชาชนที่ธนาคารเฉพาะกิจ
แต่ ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่นิยามใหม่ของปริมาณเงิน โดยนิยามของปริมาณเงินที่ใช้กันอยู่ล่าสุด
จะเหลือเพียงปริมาณเงินใน 2 นิยามเท่านั้น คือ
o ปริมาณเงินตามความหมายแคบ องค์ประกอบยังเหมือนเดิมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ในส่วนของเงินฝาก
กระแสรายวัน ซึ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกที่ประชาชนฝากไว้ที่ระบบธนาคารนั้น เปลี่ยนเป็นเงินฝากกระแสรายวันที่
สถาบันรับฝากเงิน (Demand deposits at depository corporations) ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน ธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและ
สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market mutual fund)
o ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง จะประกอบไปด้วยเงินฝากของประชาชนทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในรูปของ
เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เงินฝากในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุน เงินฝากของประชาชนที่ธนาคารเฉพาะกิจ
รวมไปถึงที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ให้อยู่ในนิยามนี้ด้วยได้แก่ เงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในรูปของตั๋วแลกเงิน
เงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ และมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มีความครอบคลุมถึงปริมาณเงิน
ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น