ไข้หวัดคืออะไร

ไข้หวัดคืออะไร

ไข้หวัด หรือ Common cold คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่เยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งอาจจะลุกลามไปสู่โพรงไซนัสบริเวณข้างโพรงจมูก หูชั้นกลางและหลอดลม


 

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับไข้หวัด

กายวิภาคของโพรงจมูก
ภายในโพรงจมูกประกอบด้วยผนังที่มีลักษณะคล้ายหิ้งวางของที่เรียกว่า "Turbinate" ซึ่งมีหน้าที่ในการที่จะดักอนุภาคเล็กที่เข้ามาภายในโพรงจมูก และจะค่อยเคลื่อนย้ายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นไปทางด้านหลังของโพรงจมูก และโดยเฉพาะที่บริเวณส่วนที่เรียกว่า Adenoid ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองที่มี cellที่เป็นเป้าหมายของเชื้อไวรัสไข้หวัด

Rhinovirus: ตัวก่อการร้าย

ในปัจจุบันพบว่ามีไวรัสกว่า 100ชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด โดยตัวการสำคัญที่สุดคือ Rhinovirus ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดไข้หวัดถึง 50%ของผู้ป่วยไข้หวัดทั้งหมด 
เชื้อไวรัสเหล่านี้จะแบ่งจำนวนได้ก็ต่อเมื่ออยู่ใน cell เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดไข้หวัดเฉพาะกับคนหรือลิงชิมแปนซี หรือลิงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคนเท่านั้น ไม่ติดต่อในสัตว์ชนิดอื่น
นอกจากนี้แล้วเชื้อแบคทีเรียก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของไข้หวัด ซึ่งอาจจะลุกลามลงไปทำให้เกิดเป็นคออักเสบ (acute pharyngitis) หรือ ทอนซิลอักเสบ (acute tonsillitis) ได้

เชื้อโรคไข้หวัดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร

เชื้อหวัดเข้าสู่โพรงจมูกส่วนหน้าโดยติดมากับนิ้วมือเวลาที่แคะจมูก หรือหายใจสูดเอาละอองเสมหะจากการไอหรือจามของคนที่เป็นโรคนี้เข้าไป หลังจากนั้นก็จะถูก cell ที่สามารถพัดโบกให้อนุภาคไวรัสเคลื่อนไปที่บริเวณผนังด้านหลังซึ่งจะมีที่เกาะให้กับไวรัส (receptor) ที่ผนังของ cell เยื่อบุทางเดินหายใจ และจะนำไวรัสเข้าสู่ cellได้ หลังจากที่เข้าสู่ cell แล้วเชื้อไวรัสก็จะเพิ่มปริมาณและทำให้ cell นั้นตายไป จากนั้นก็จะเข้าสู่ cell ข้างเคียงต่อไป ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ระยะเวลาตั้งแต่ที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่โพรงจมูกจนกระทั่งทำให้เกิดอาการของโรค(Incubation period) นี้ใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10-12ชั่วโมง จากนั้นอาการจะแสดงมากที่สุดเมื่อได้รับเชื้อไปแล้ว 36-72 ชั่วโมง เชื้อหวัดสามารถทำให้เกิดโรคได้ง่ายมากเพราะปริมาณไวรัสเพียงแค่ 1-30 particles ก็เพียงพอที่จะก่อให้เกิดอาการต่างๆของไข้หวัดได้แล้ว

การแพร่กระจายของเชื้อหวัด

กล่าวโดยสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

  1. ติดต่อทางการหายใจสูดเอาละอองเสมหะหรือน้ำมูกของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อยู่แล้ว เนื่องจากพบเชื้อโรคชนิดนี้อยู่เป็นปริมาณในน้ำมูกหรือเสมหะ
  2. ติดต่อโดยการที่มือไปสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับบุคคลอื่น เครื่องใช้ในที่สาธารณะเช่น โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์หรือราวบันได 
  3. ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจจะมีคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่แล้ว หลังจากการสัมผัสนั้น เราก็นำเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการที่มือมาสัมผัสกับจมูกหรือช่องปากของเราเอง
  4. เชื้อกระจายเข้าสู่ร่างกายโดยที่มือที่ไปสัมผัสเชื้อ มาสัมผัสกับดวงตาของเรา ซึ่งเชื้อจะไหลลงไปกับน้ำตาลงสู่ท่อน้ำตา ที่จะเทลงสู่โพรงจมูกต่อไป ทำให้เชื้อเข้าไปในโพรงจมูกได้
อาการแสดงต่างๆและการดำเนินโรคของไข้หวัด


ผู้ป่วยส่วนมากก็จะมีอาการจาม(sneezing) น้ำมูกไหล(running nose) โพรงจมูกตีบหรือตัน(nasal obstruction) เจ็บคอ(sore throat) ไอ เสียงแหบ(hoarseness) และอาการตามร่างกายทั่วๆไปเช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว(malaise) เป็นต้น
โดยทั่วไปอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่นานประมาณหนึ่งสัปดาห์ ถ้ารายที่เป็นไม่มากก็จะมีอาการเพียงแค่สองสามวัน ในขณะที่กลุ่มที่รุนแรงอาจจะมีอาการนานถึงสองสัปดาห์ได้
อาการแสดงต่างๆเหล่านี้บางครั้งก็คล้ายๆกับไข้หวัดใหญ่หรือที่เราเรียกว่า Influenza แต่ต่างกันที่อาการของไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า เช่นมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากกว่า หรือไออย่างรุนแรงกว่า อย่างไรก็ตามไข้หวัดใหญ่ชนิดที่ไม่รุนแรงก็มีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดามากจนแยกจากกันไม่ออก
โดยทั่วไปผู้ใหญ่คนหนึ่งๆจะเป็นหวัดปีละ 2-3ครั้ง และเด็กปีละ 6-10 ครั้ง จากการศึกษาพบว่าจมูกของเด็กเป็นแหล่งสำคัญของเชื้อหวัด

ผลแทรกซ้อนหรือปัญหาที่เกิดตามมาของไข้หวัด

1. การอักเสบของไซนัสที่เกิดจากการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย
2. การอักเสบของหูชั้นกลาง
3. หอบหืด
4. สำหรับผู้ที่มีโรคถุงลมในปอดโป่งพอง ไข้หวัดจะทำให้อาการทางปอดเรื้อรังเป็นมากขึ้นอย่างรุนแรง

การป้องกันและการปฏิบัติตัวในระหว่างที่เป็นไข้หวัด


หลักการทั่วไป
เนื่องจากไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดกับเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูกลงไปถึงบริเวณคอหอย เชื้อที่ก่อโรคจะมีปริมาณมากอยู่ในน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วย ดังนั้นหลักการทั่วๆไปของการป้องกันก็คือ

  1. ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยหรอสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย 

  2. ล้างมือบ่อยๆหรือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ในที่สาธารณะเช่น โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์หรือราวบันได ประโยชน์ของการล้างมือคือ ชะล้างเอาเชื้อโรคที่เกาะอยู่ที่มือออกไป โดยเฉพาะก่อนและหลังการสัมผัสผู้ป่วย แต่พึงระลึกไว้ว่าน้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อโรคนั้นไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดได้ เพียงแต่ชะล้างออกไปเท่านั้นเอง

  3. อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา

  4. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม

การรักษาไข้หวัด

หลักการที่สำคัญคือการเริ่มให้การรักษาเร็วที่สุด ทันทีที่เริ่มมีอาการ
การรักษาอาการโดยทั่วไป

  1. การดื่มน้ำมากๆ ช่วยทำให้น้ำมูกหรือเสมหะใสขึ้นและทำให้ขับน้ำมูกหรือเสมหะได้ง่ายขึ้น น้ำอุ่นจะทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณคอหอยละลายได้ง่ายกว่าน้ำเย็น แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีหลักฐานทางการแพทย์ชี้ชัดว่าลงไปว่าอะไรดีกว่ากันระหว่างการดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น 

  2. พักผ่อนให้เพียงพอและทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ไม่ควรร้อนเกินไป

  3. หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสได้โดยง่ายและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในไซนัสได้

  4. ทำอากาศให้ชื้นมากขึ้นด้วยเครื่องทำละอองความชื้น (Humidifier) เพราะจะทำให้อากาศไม่แห้งและทำให้เยื่อบุโพรงจมูกชุ่มชื้น น้ำมูกจะใสขึ้นและถูกขับออกมาได้ง่าย

  5. อยู่ในสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี

  6. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่หรือควันไฟมากเพราะจะทำให้เยื่อบุระคายเคืองอีกทั้งทำให้การระบายน้ำมูกหรือเสมหะเป็นไปได้ลำบาก

การรักษาด้วยยา 

  1. ยาต้านฮิสตามิน (antihistamine) เพื่อลดการคัดจมูกและ ลดน้ำมูก
  2. ยาแก้อักเสบ (ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะนะครับ) ในกลุ่ม Non-steroidal anti-inflammatory 
    drugs (NSAID) ช่วยลดอาการทางร่างกายทั่วไปเช่นปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หรือไข้ รวมทั้งอาจจะช่วยลดอาการไอได้ด้วย
  3. ยาลดบวมในโพรงจมูก และยาแก้ไอ
  4. ยาปฏิชีวนะ จะเริ่มให้เมื่อเริ่มมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเขียว 

 

คำถามที่ถูกถามบ่อยๆในเรื่องไข้หวัด


คำถามส่วนใหญ่ที่ถามมาผมไม่สามารถหาหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันได้ชัดเจน จึงขออาศัยหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายครับ ดังนั้นบางคำตอบอาจจะไม่ได้ถูกต้องจริงๆก็ได้ เพราะเป็นความคิดเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียว

1. ถ้าจะเดินผ่านฝนที่ตกปรอย ๆ หรือน้อยมาก ๆ ต้องเอาอะไรมาคลุมไม่ให้ฝนโดนเส้นผม ไม่งั้นจะเป็นหวัด และเสี่ยงที่จะเป็นหวัดได้ง่ายกว่าฝนตกแรงๆ .... จริงหรือไม่
ตอบ จริงครับ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการทำให้เส้นผมเปียก แต่เพราะว่าฝนที่ตกปรอยๆมีขนาดของเม็ดฝนเล็ก สามารถเข้าสู่โพรงจมูกได้ง่าย ทำให้เชื้อโรคที่มากับเม็ดฝนเล็ดลอดเข้าไปในช่องจมูกได้สะดวกขึ้น

2. การโดนละอองฝน แค่ชื้น ๆ ไม่แฉะ จะทำให้เป็นหวัด...จริงหรือไม่
ตอบ เป็นความจริงครับ ด้วยเหตุผลตามข้อหนึ่ง

3. คนที่ผ่าทอนซิลออกแล้วหลายปี มีอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย อย่างนี้เป็นอาการเริ่มต้นก่อนเป็นหวัด....จริงหรือไม่
ตอบ การผ่าทอนซิลไปแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้เจ็บคอ เพราะการที่เป็นหวัดนั้นทำให้ผนังเยื่อบุบริเวณคอหอยอักเสบได้อยู่ดี ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าการที่มีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นอีกคืออาการของการที่เริ่มเป็นหวัด ก็ถูกต้องแล้วครับ

4. ถ้าโดนแดดแรง ๆ ตอนกลางวันแล้ว จะทำให้ตอนกลางคืนเป็นหวัด
ตอบ ไม่จริงเสมอไปครับ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันคำกล่าวนั้นครับ แต่แสงUltravioletที่เป็นส่วนประกอบในแสงแดดสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ครับ

5. ถ้าเป็นหวัดแล้ว พยายามอย่าให้น้ำโดนหัว ไม่งั้นหวัดไม่หาย (สรุปง่าย ๆ ว่าห้ามสระผม)...จริงหรือไม่
ตอบ ไม่ทราบครับ ไม่เคยพบเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในวารสารทางการแพทย์และวารสารอีเลคโทรนิคครับ

6. ถ้าไอเจ็บคอ ต้องเอาผ้ามาพันคอ จะช่วยให้อาการดีขึ้น...จริงหรือไม่
ตอบ การที่ไอเกิดเนื่องจากมีการระคายคอ หรือไม่ก็เกิดจากการที่มีเสมหะออกมาแล้วกระตุ้นให้มีการไอเกิดขึ้น การที่จะไอได้ดีนั้นต้องประกอบไปด้วยเสมหะที่ไม่เหนียวข้นเกินไป 

7. ในระหว่างที่เป็นหวัด และมีอาการไอ การกินของทอด ทำให้ไอมากขึ้น ....จริงหรือไม่
ตอบ ใช่ครับ เนื่องจากของทอดจะระคายเคืองเยื่อบุบริเวณคอหอยได้อย่างง่ายดายทำให้กระตุ้นให้เกิดการไอ

8. ระหว่างเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง...จริงหรือไม่
ตอบ เรื่องน้ำเย็นยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าจะมีผลทำให้อาการแย่ลงหรือไม่ ไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัด เพราะที่จริงความเย็นที่เกิดจากการดื่มน้ำเย็นหรือรับประทานน้ำแข็งจะอยู่เพียงแค่ระยะสั้นๆ หลังจากกลืนลงไปไม่นานอุณหภูมิของเยื่อบุบริเวณช่องปากก็จะกลับมาสู่ปกติ ซึ่งไม่น่าจะมีผลอะไรต่อไข้หวัดครับ

< กลับสู่หน้าหลัก

สร้างโดย: 
นายฌัฐพล ชัญศรี

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 281 คน กำลังออนไลน์