รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน


 

พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน

 

 


ได้แก่ พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาล และพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน คือ พระราชลัญจกรที่ใช้สืบเนื่องมาจากรัชกาลก่อนๆ ได้แก่ พระราชลัญจกรมหาโองการ พระราชลัญจกรหงสพิมาน พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์ใหญ่) พระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) และพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ ซึ่งจะขอกล่าวถึงพระราชลัญจกรแต่ละองค์ตามสมควร

พระราชลัญจกรประจำพระองค์


พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์มีพระราชลัญจกรเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ต่างกัน ดังปรากฏในเงินพดด้วง หรือปกคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นในรัชกาล เช่น ที่หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร พระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ดังกล่าว ได้แก่

พระราชสัญลักษณ์ประจารัชกาลที่ ๑ เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ “อุ” หรือเลข ๙ ไทยกลับข้างอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัว ทั้งนี้เพราะรูปพระอุณาโลมคล้ายกับพระมหาสังข์ของเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ทรงได้มา และโปรดพระมหาสังข์องค์นี้มาก
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๓ เป็นรูปปราสาท มาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม “ทับ” ที่แปลว่า เรือนที่อยู่
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๔ เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม “เจ้าฟ้ามงกุฎ”
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๕ เป็นรูปพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ คือยอดของมงกุฎมาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับผม (จุก) ดังนั้น คำว่า “พระเกี้ยว-จุฬาลงกรณ์-จุลจอมเกล้าจึงมีความหมายเหมือนกัน
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๖ เป็นรูปวชิราวุธ มาจากพระบรมนามาภิไธยเดิมเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๗ เป็นรูปพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต และพระแสงศรอัคนิวาต สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม “เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” “เดชน์” แปลว่า ลูกศร
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๘ เป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน ซึ่งหมายถึงแผ่นดินพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธย “อานันทมหิดล” แปลว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดินดุจพระโพธิสัตว์ได้เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์
พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น “อุ” หรือเลข ๙ รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร ๗ ชั้น ตั้งบนพระที่นั่งอัฐทิศที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมความหมายถึง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ สืบเนื่องมาจากพระบรมนามาภิไธย “ภูมิพล” คือทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นกำลังของแผ่นดิน

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลปัจจุบันเป็นตรางา มีลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดกว้าง ๕ เซนติเมตร ยาว ๖.๒ เซนติเมตร รวมด้ามสูง ๙.๔ เซนติเมตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดสร้างขึ้น สำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญส่วนพระองค์เช่น ประกาศนียบัตรกำกับเหรียญรัตนาภรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเข้าร่วมในการพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช ๒๔๙๖ และเชิญใช้ประทับตั้งแต่นั้นมา

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาล


พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์เป็นพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินคือ พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ มีทั้งพระราชลัญจกรประจำชาดและประจำครั่ง สำหรับผนึกพระราชสาส์นและหนังสือสัญญากับต่างประเทศต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะใช้พระราชลัญจกรองค์นี้เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน คือประจำรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบเขียนลายใหม่ทั้งนี้ ทรงพระราชดำริว่า เพื่อให้สมกับชื่อ “พระครุฑพ่าห์” จึงไม่ควรมีพระนารายณ์ให้มีแต่ครุฑสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ดังกล่าวได้ทรงออกแบบลายใหม่ให้มีแต่ครุฑ ไม่มีนาคประกอบ เพราะมีพระดำริว่า ครุฑไปไหนก็ต้องหิ้วนาคซึ่งเป็นอาหารไปด้วย ดูเป็นการตะกลามไป จึงทรงเขียนให้ครุฑกางมือ และทำท่ารำแบบครุฑนารายณ์ทรงของเขมร ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริว่าสมควรใช้พระราชลัญจกรพระครุฑ พ่าห์เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินของทุกรัชกาลสืบไปจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยเพียงแต่เติมพระปรมาภิไธยของรัชกาลปัจจุบันแต่ละรัชกาลไว้ที่ขอบนอก จึงได้ถือปฏิบัติเป็นพระราชประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน พระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายนพุทธศักราช ๒๔๙๓ ดังได้กล่าวมาแล้ว และได้เชิญออกมาใช้ประทับเอกสารสำคัญของทางราชการตลอดมาเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี และเอกสารในระยะหลัง ก็มีจำนวนมากถึงประมาณปีละ ๒๕๐,๐๐๐ ฉบับ พระราชลัญจกรองค์นี้จึงมีสภาพชำรุดตามระยะเวลาของการใช้ ดังนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร จึงได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง ทำด้วยทองคำเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีจารึกพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์เป็นทองคำเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชลัญจกรองค์ใหม่นี้สร้างด้วยทองคำหนัก ๑,๑๐๐ กรัม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘.๔ เซนติเมตร สูง ๑๓.๔ เซนติเมตร มีลวดลายเช่นเดียวกับพระราชลัญจกรองค์เดิมที่เป็นตรางาทุกประการ
พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ใช้ประทับร่วมกับพระราชลัญจกรองค์อื่น สำหรับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญอันเป็นราชการแผ่นดินทั้งปวงในรัชสมัย ได้แก่ รัฐธรรมนูญพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนดประกาศประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราช ประกาศประจำองค์สมเด็จพระราชาคณะ และรองสมเด็จพระราชาคณะ สัญญาบัตรสมณศักดิ์สัญญาบัตรยศทหาร ตำรวจ อาสารักษาดินแดนส่วนประกาศพระบรมราชโองการต่างๆ ที่ใช้พระราชลัญจกรองค์นี้องค์เดียวประทับบนเอกสารสำคัญ เช่น ประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชนิด

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน

พระราชลัญจกรที่ใช้ทุกรัชกาล เพื่อประทับกำกับเอกสารที่ออกในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และยังคงใช้ในปัจจุบันมี ๕ องค์ ได้แก่
พระราชลัญจกรมหาโองการ หรือมหาอุณาโลม เป็นพระราชลัญจกรที่มีมาแต่โบราณเป็นตราประจำชาดสำหรับประทับพระราชสาส์นและใบกำกับพระสุพรรณบัฏ พระราชโองการแต่งตั้งเจ้าประเทศราช มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗.๘ เซนติเมตร สูง ๑๓.๕ เซนติเมตร ลายในดวงตราเป็นรูปบุษบกมีเกริน บนเกรินตั้งฉัตรขนาบบุษบกทั้งสองข้าง ในบุษบกมีรูปอุณาโลมอยู่เบื้องบน ใต้นั้นมีรูปวงกลม ใต้วงกลมเป็นรูปพาลจันทร์ ใต้พาลจันทร์เป็นตัว“ อุ” อักษรขอม
พระราชลัญจกรมหาโองการใช้ประทับร่วมกับพระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหญ่ และพระราชลัญจกรหงสพิมาน เรียงจากซ้ายไปขวาตามลำดับ และมีพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลอยู่เบื้องล่าง เอกสารสำคัญที่ต้องประทับพระราชลัญจกรทั้ง ๔ องค์ร่วมกัน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดพระราชกฤษฎีกา ใบกำกับพระสุพรรณบัฏ สุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ ประกาศพระบรมราชโองการต่างๆ เช่น ประกาศสถาปนาพระราชวงศ์ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
พระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหญ่และองค์กลาง เป็นตราเก่ามีทั้งที่เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และมีแต่ช้าง ใช้ประทับบนพระราชสาส์นและประกาศแต่งตั้งเจ้านายทรงกรมครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรไอยราพตองค์ใหม่เป็นตราประจำชาด ๓ องค์ คือ องค์ใหญ่ องค์กลาง และองค์น้อย องค์ใหญ่เป็นรูปกลม สร้างด้วยโลหะสีเงิน ลายตรงกลางเป็นรูปช้างสามเศียรยืนบนแท่น บนหลังช้างมีบุษบก ในบุษบกมีอุณาโลมแวดล้อมด้วยฉัตรข้างละ ๒ คัน และมีลายกระหนกแทรกอยู่ตามที่ว่างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๑ เซนติเมตร รวมด้ามสูง ๑๙.๘ เซนติเมตร องค์กลางเป็นรูปกลมรีตั้งทำด้วยหินโมราสีน้ำผึ้ง แกะทั้งสองด้านด้านหน้ามีลายตรงกลางเช่นเดียวกับองค์ใหญ่ด้านหลังเป็นภาษาละตินแปลว่า “นี้คือพระบรมราชโองการที่แท้จริงแห่งพระบรมมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม และจ้าแห่งประเทศราชทั้งปวง” มีขนาดกว้าง ๔.๔ เซนติเมตร ยาว ๕.๕ เซนติเมตร รวมด้ามสูง ๑๐.๑ เซนติเมตร ตามพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มาตรา ๔ กำหนดให้พระราชลัญจกรไอยราพตประจำชาดองค์ใหญ่ สำหรับประทับในประกาศใหญ่อยู่ในระหว่างกลางพระราชลัญจกรมหาโองการ และพระราชลัญจกรหงสพิมาน องค์กลางสำหรับประทับในประกาศพระราชบัญญัติ ใบกำกับสุพรรณบัฏหิรัญบัฏ และประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์ส่วนองค์น้อยสร้างด้วยทองคำรูปกลมรี มีขนาดย่อมลงมา ด้ามทำด้วยแก้วขาว ปัจจุบันพ้นสมัยการใช้ประทับแล้ว และเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สำนักพระราชวัง
พระราชลัญจกรหงสพิมาน เป็นพระราชลัญจกรที่มีใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณเรียกว่า พระราชลัญจกรพรหมทรงหงส์ มี ๓ องค์ คือ องคใหญ่ องค์กลาง องค์น้อย ต่อมาพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระราชลัญจกรหงสพิมาน ในคราวที่ทรงสร้างพระราชลัญจกรมหาโองการกลางและพระครุฑพ่าห์กลาง เพื่อให้ครบพระเป็นเจ้าทั้งสาม แต่มาสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีลายเป็นรูปหงส์อยู่เหนือกอบัว มีบุษบกอยู่บนหลังและมีลายเมฆแทรกประกอบ เป็นตรางารูปไข่ กว้าง ๔.๖ เซนติเมตร ยาว ๕.๖ เซนติเมตร รวมด้ามสูง ๙.๔ เซนติเมตร ใช้ประทับเบื้องขวาของพระราชลัญจกรไอยราพต
พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ เป็นพระราชลัญจกรที่เคยมีใช้มาตั้งแต่โบราณ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชลัญจกรองค์ใหม่แทนองค์เดิม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเป็นรูปกลมรี ไต้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล จึงโปรดให้เปลี่ยนรูปแบบพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง กว้าง ๔.๗ เซนติเมตร ยาว ๕.๗ เซนติเมตร สูง ๘.๔ เซนติเมตร ลายตรงกลางเป็นรูปพระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ จักร ตรี พระขรรค์ ธารพระกรวาลวิชนี พระมหาสังวาลนพรัตน์ ฉลองพระบาทและเปลี่ยนอักษรขอมเป็นอักษรไทยว่า “พระบรมราชโองการ” ยังคงใช้ประทับบนเอกสารสำคัญ ได้แก่ สัญญาบัตรยศทหาร ตำรวจและอาสารักษาดินแดน

นอกจากนั้นยังมีตราพระบรมราชโองการเป็นตราดุนกระดาษตีพิมพ์อยู่เหนือประกาศพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาต่างๆ ดังที่ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หรือใบประกาศพระบรมราชโองการต่างๆ
พระราชลัญจกรประจำพระองค์เก็บรักษาไว้ที่สำนักราชเลขาธิการ ส่วนพระราชลัญจกรองค์อื่นที่ยังใช้ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เก็บรักษาไว้ที่กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีการใช้พระราชลัญจกรประทับในเอกสารสำคัญต่างๆ จึงมีความสำคัญ หมายถึงการสืบต่อราชประเพณีที่มีมานานแล้ว เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่สมควรรักษาไว้ชั่วกาลนาน

ที่มา : [sanook.com] [พระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน จากหนังสือสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน ฉบับกาญจนาภิเษก

สร้างโดย: 
โรงเรียนอนุบาลยอดไม้งาม
ล็อกอิน เพื่อแสดงความคิดเห็น |  อ่าน 10527 ครั้ง |  Tags: ช่วงชั้น 2 (ป.4-6), สังคม ศาสนา วัฒนธรรม

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 207 คน กำลังออนไลน์