สัมภาษณ์พิเศษนักเรียนทุนปริญญาตรี-โทแบงก์ชาติ

          อีกสุดยอดหนึ่งของทุนที่เด็กมัธยมปลาย โดยเฉพาะคนเรียนเก่ง ๆ นึกถึงคือ ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนทุนที่มอบให้ในแต่ละปีมีไม่มาก เช่นในปี 2551 ที่ผ่านมา ประกาศให้เพียง 2 ทุน ซึ่งปิดรับสมัครไปตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  และประกาศรายชื่อผู้รับทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
          ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อไปศึกษาต่อปริญญาตรี ณ ต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทุนประเภทบุคคลที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย และทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ ซึ่งประเภทหลังนี้เป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกพันกับธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเว้นว่าต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย แต่ถ้ามีความประสงค์ที่จะเข้าทำงานกับ ธปท. จริง ๆ ก็จะได้รับการพิจารณาเข้าทำงานในสาขาที่เป็นประโยชน์โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก (สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับทุน และข้อผูกพัน ติดตามประกาศปีล่าสุดได้หลังบทสัมภาษณ์ “คุณสุคนธ์พัฒน์ จันทพันธ์” อดีตนักเรียนทุนธปท.) 
          คุณสุคนธ์พัฒน์ จันทพันธ์ ไม่ได้เป็นแค่นักเรียนทุนปริญญาตรีเท่านั้น แต่ยังได้รับทุนเรียนปริญญาโทอีกใบ ตำแหน่งปัจจุบัน คือ ผู้ตรวจสอบอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
          เขาคว้าทุนประเภทบุคคลที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา  
          คุณสุคนธ์พัฒน์ ใช้เวลานั่งทบทวนเพื่อนึกภาพในวันตัดสินใจสมัครสอบชิงทุนด้วยเวลาพอสมควร ก่อนที่จะให้คำตอบว่า สาเหตุที่เลือกสมัครขอทุนธปท. เพราะเห็นว่าเพื่อน ๆ สอบทุนอื่นกันเยอะ! ฟังดูเป็นคำตอบง่าย ๆ แต่เป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งของการเลือกสอบทุนที่มีสัดส่วนคนสมัครไม่มาก เมื่อคู่แข่งน้อย โอกาสได้ทุนก็มีมาก
          คุณสุคนธ์พัฒน์ เป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าที่นี่คือสังคมของคนเก่ง ข่าวสารเรื่องทุนเป็นที่รู้กันว่ามีอยู่มากมาย 
          “สมัยก่อนสอบทุนคิง ทุนแบงก์ชาติ ทุนกระทรวงต่างประเทศพร้อมกัน ต้องเลือกสอบทุนใดทุนหนึ่ง อาศัยว่าเพื่อนไปสอบทุนคิงกัน ผมก็เลยมาเลือกทุนแบงก์ชาติ เพราะคู่แข่งขันน้อยลงและสนใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย” 
          เขาบินไปเรียนปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ Australian National University ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 1998 เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาทำงาน 3 ปีครึ่งที่ธปท. ตามเงื่อนไขของการชดใช้ทุน หลังจากนั้นได้รับทุนเรียนต่อปริญญาโท การเงิน Carnegie Mellon University ประเทศอเมริกา ปี 2006  
          ตอนสอบคัดเลือกยากไหม?
          “สอบยากเหมือนกัน สอบแล้วยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะได้ สอบกันประมาณ 50 คน บรรยากาศห้องสัมภาษณ์ มีผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติ 3 คน ถามคำถามทั่วไป ไม่ได้ถามความเห็นแบบ get to know
          เช่น ทำไมถึงอยากทำงานแบงก์ชาติ คำตอบต้องแสดงความเป็นตัวเราออกไป”
          ชีวิตที่ออสเตรเลียเป็นอย่างไรบ้าง?
          คำตอบของคุณสุคนธ์พัฒน์ ไม่ได้แสดงถึงอารมณ์ของคนไกลบ้านอย่างที่คนอื่น ๆ เป็น เขาไม่ได้รู้สึกโฮมซิค ไม่ใช่เพราะว่าเคยไปเที่ยวต่างประเทศ (สิงคโปร์) มาแล้ว แต่คิดอยู่ตลอดเวลา “ยังไงก็ต้องไปเรียนเมืองนอกให้ได้” 
          ก่อนเข้าเรียน Australian National University ที่แคนเบอร์รา คุณสุคนธ์พัฒน์เรียน foundation 1 ปีที่ Wollongong 
          “ไปเมืองนอกตื่นเต้นแต่ไม่กลัว เราน่าจะเอาตัวรอดได้ น่าจะมีคนช่วยเหลือ ก็เลยไม่กลัวการไปคนเดียว
          ไม่เหงาเลย เพื่อนมากมาย ทั้งคนไทยและต่างชาติ ไปเรียนปริญญาตรี กลับมาเมืองไทยปีละครั้ง”
          เรียนยากไหม? 
          “ใช้เวลาปรับตัวเรื่องภาษาประมาณ 2 ปี การเรียนด้วยภาษาอังกฤษไม่ยาก พื้นฐานของคนไทยทั่วไปใช้ได้ ขาดแค่ความกล้า ถ้ามีความกล้าก็ไม่มีปัญหา  ถ้าไม่กล้าก็ไม่ได้สิ่งที่เราอยากได้ ผมใช้วิธีดูทีวี ดูทั้งข่าวและซีรีส์ พยายามฟังเยอะๆ และพูดตาม พอจะเข้าใจประโยคได้ เช่น ถ้าถามแบบนี้จะตอบอย่างไร”
          ถ้าให้เลือกใหม่จะเรียนอะไร?
          “ให้เลือกอีกทีก็ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ ส่วนโทการเงิน เลือกเรียนเพราะคิดว่ามีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ไปแล้วหนึ่งด้าน และการเงินเป็นสาขาขาดแคลนที่น่าไปเรียน”
          รวมระยะเวลาการใช้ทุนตามเงื่อนไขที่ธปท.กำหนด เขาต้องทำงานอยู่ในองค์กรนี้ไม่น้อยกว่า 10 ปี นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่รักจะทำงานที่นี่ตั้งแต่ต้น
          “หน่วยงานที่เราขอทุน เป็นองค์กรที่อยากไปทำงานหรือเปล่า ถ้าใช่ เวลา 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ไม่ได้มีความหมาย มองอีกแง่หนึ่งเขาลงทุนกับเราไป ดังนั้นก็เป็นเงื่อนไขก่อนรับทุนที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว”
          ออสเตรเลียในความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง?
          “ออสเตรเลียเป็นประเทศใหญ่ มีเที่ยวเยอะ อากาศดี ผู้คนก็ดี เฮฮา รักกีฬา การเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่คนไทยน่าเอาอย่าง อยู่ที่แคนเบอร์ facility สะดวกสบาย ทำให้มีโอกาสเที่ยวได้ง่าย แม้เป็นนักเรียน และเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ เหมาะสำหรับการเรียน”
          แล้วที่อเมริกาล่ะ?
          “อเมริกาแตกต่างกับออสเตรเลีย แต่ยังนึกไม่ออก เมืองที่ไปอยู่คือ พิตส์เบิร์ก ปัจจุบันเป็นเมืองการศึกษาพอสมควร เมื่อก่อนเป็นเมืองถ่านหิน ทำเหล็ก อากาศที่พิตส์เบิร์กหนาว ส่วนที่ออสเตรเลียสบาย ๆ มีคนไทยเรียนเยอะ เป็นเด็กทุนพอสมควร ทั้งทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทุนก.พ.”
          ช่วยให้คำแนะนำในฐานะรุ่นพี่ที่เคยไปนอก
          “ขึ้นอยู่กับสาขาที่เลือกเรียน ถ้าเรียนด้านการเงิน ต้องไปที่อเมริกาได้เปรียบกว่า เพราะวอลสตรีทก็อยู่ที่นั่น ไปเรียนใกล้แหล่งความรู้ แต่ถ้าชั่งน้ำหนักด้วยเรื่องอื่น เช่น ค่าครองชีพ อาจไปเรียนที่ออสเตรเลีย”
          “การไปเรียนต่างประเทศคือการฝึกตัวเอง ไม่มีใครบังคับ คุณ control ตัวเองได้ก็ดี เรียนที่นั่นเข้าเรียนหรือไม่เข้าก็ได้ คนที่เรียนไม่จบเพราะไม่มีใครดูแล และไม่ได้ดูแลตัวเองด้วย”
          สำหรับพ่อแม่ที่มีความกังวลว่าลูกจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลัวส่งลูกไปแล้วมีความเสี่ยง เพราะกลัวว่าลูกต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าลูกทำได้ เขาให้กำลังใจในเรื่องนี้ว่า “การได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ควบคุมตัวเองได้ ถือเป็นความเสี่ยงที่คุ้ม” 
          ระดับชั้นที่เหมาะกับการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ อาจไปได้ตั้งแต่ยังเด็ก หรือไปเรียนปริญญาตรี จะได้รับความรู้ที่เข้มข้น ส่วนระดับปริญญาโทเป็นการเรียนเพื่อต่อยอดความรู้ที่มี
          เงินพอใช้หรือเปล่า? 
          “เงินที่ได้รับก็พอใช้ เพราะเรียนอย่างเดียว ไม่ได้เอาเงินพ่อแม่ไปเลย เงินที่มีพอเที่ยวได้ ท้ายสุดอยู่ที่เราใช้เงินกับเรื่องไหน ความสุขของเราอยู่ที่ไหน ถ้าใครไปด้วยทุนพ่อแม่ จะเล่นยังไงก็ได้ ต้องตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เที่ยวเล่นเต็มที่ แต่ต้องเรียนให้จบ เอาตัวรอดได้”
          มีของที่ระลึกกลับมาบ้างไหม?
          นั่งคิดอยู่นาน คุณสุคนธ์พัฒน์ บอกว่าของที่ระลึกจากออสเตรเลียน่าจะเป็นเสื้อรักบี้ เพราะตอนอยู่แคนเบอร์รา แม้ว่าชอบเล่นบอล แต่ชอบไปดูรักบี้  “ส่วนอเมริกานึกไม่ออก (หัวเราะ) มีแต่ตำรา”
          สำหรับคุณผู้หญิงที่กลัวน้ำหนักขึ้นตอนอยู่เมืองนอก เขาย้ำว่าขึ้นชัวร์!  “ไม่ต้องคิดมาก เดี๋ยวกลับมาลดเมืองไทยก็ได้ (หัวเราะ)”
          มีเคล็ดลับฝากคนอยากได้ทุนบ้างไหม?
          “ผมว่าเป็นเรื่องของโอกาส ทุนบางทุนเปิดโอกาสอยู่แต่คนรู้น้อย เราต้องขวนขวายหาโอกาส บางทุนคนแข่งเยอะ บางทุนคนแข่งน้อย”
         

          ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย
          1.ทุนประเภทบุคคลที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย 
          2.ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์
          คุณสมบัติของผู้สมัครขอรับทุน
          1.มีสัญชาติไทย
          2.เป็นโสด
          3.เป็นผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี 
          4.เป็นผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนของทุนเล่าเรียนหลวง ประจำปี 2551 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ หรือแผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะต้องได้คะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.50
          5.เป็นผู้ที่ไม่สอบตกในวิชาใดวิชาหนึ่งตลอดหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
          6.เป็นผู้มีศีลธรรม วัฒนธรรม และความประพฤติดี
          7.ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
          8.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ หรือเป็นโรคอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา หรือเป็นโรคติดต่ออันพึงรังเกียจ
          9.เป็นผู้ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองให้ไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศได้
          10.เป็นผู้ที่ไม่อยู่ระหว่างการรับทุนที่มีสัญญาผูกพันในการปฏิบัติงานชดใช้ทุนใด ๆ
          การสมัครสอบ           
          ขอรับใบสมัครที่ ทีมคัดสรร 2 อาคาร 1/3 ชั้น 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม ระหว่างเวลา 8.30-16.30 น. หรือดาวน์โหลดจาก
www.bot.or.th : สมัครงาน ฝึกงานและทุน : ทุนการศึกษา         
          เอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร
          -ใบสมัคร พร้อมรูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1x1.5 นิ้ว ถ่ายครั้งเดียวกันในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 4 รูป
          -สำเนาระเบียนแสดงผลการเรียนรวมทุกภาคการศึกษาเท่าที่ผ่านมา (ใบ รบ.1-ป.) ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1 ชุด
          -หนังสือรับรองความประพฤติและความเหมาะสมในการรับทุนจากอาจารย์ประจำชั้น (ตามแบบฟอร์ม ธปท.1) หรือดาวน์โหลดจาก
www.bot.or.th : สมัครงาน ฝึกงานและทุน : ทุนการศึกษา
          -หนังสือยินยอมจากผู้ปกครองให้ไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ (ตามแบบฟอร์ม ธปท.2) หรือดาวน์โหลดจาก
www.bot.or.th : สมัครงาน ฝึกงานและทุน :ทุนการศึกษา
          -สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตร หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน อย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวน 1 ชุด
          การสอบคัดเลือก
          -ประเมินความเหมาะสมในการรับทุน โดยกระบวนการ Assessment 70 คะแนน 
          -สัมภาษณ์ 30 คะแนน
          ผู้มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาเพื่อรับทุนจะต้องได้คะแนนประเมินความเหมาะสมในการรับทุนและสัมภาษณ์รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และได้คะแนนสูงสุดลงมาตามลำดับเท่ากับจำนวนทุน        
          สิทธิ์และข้อผูกพันในการรับทุน
          1.ผู้ได้รับทุนจะได้รับค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด
          2.ผู้ได้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาทุนประเภทบุคคลที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายตามที่ ธปท.กำหนด  ธปท.จะรับเข้าเป็นพนักงานตามข้อบังคับของ ธปท. ทั้งนี้ ธปท.สงวนสิทธิ์ในการรับเข้าทำงาน ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม
          ผู้ได้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์  ภายหลังสำเร็จการศึกษา ผู้ได้รับทุนไม่มีข้อผูกพันต้องกลับมาทำงานชดใช้ ธปท. แต่ต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่ได้รับทุน และผู้ได้ทุนต้องรายงานตัวที่ ธปท.เป็นระยะ ๆ ทุก 6 เดือน หรือตามระยะเวลาที่ ธปท.กำหนด นับตั้งแต่วันที่ ธปท.กำหนดให้ผู้ได้ทุนทำงานเป็นต้นไปจนกว่าจะครบกำหนดทำงานชดใช้ทุน
          3.ผู้ได้รับทุนประเภทบุคคลที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายต้องทำงานให้ ธปท.เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน  สำหรับผู้ได้รับทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์  หากประสงค์จะเข้าทำงานกับ ธปท.จะพิจารณารับเข้าทำงานเฉพาะสาขาวิชาที่เป็นประโยชน์ต่องาน ธปท. โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ทั้งนี้ ผู้ได้ทุนต้องแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าทำงานกับ ธปท. ภายใน 1 ปี หลังสำเร็จการศึกษา
          4.ผู้ได้รับทุนประเภทบุคคลที่สำเร็จประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย หากสละสิทธิ์การรับทุนภายหลังได้ศึกษาไปแล้วหรือไม่ศึกษาวิชาตามที่ ธปท.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เข้าทำงานใน ธปท. หรือทำงานให้ไม่ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ด้วยประการใด ๆ ผู้ได้รับทุนต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายที่ ธปท.จ่ายไปทั้งหมด และต้องจ่ายเงินอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเท่ากับเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับแก่ ธปท.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ธปท.เรียกร้อง
          สำหรับผู้ได้รับทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ กรณีที่ผู้ได้ทุนสละสิทธิ์การรับทุนภายหลังจากที่ได้ศึกษาไปแล้วหรือไม่ศึกษาวิชาตามที่ ธปท.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือทำงานให้ไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดด้วยประการใด ๆ ผู้ได้รับทุนต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายที่ ธปท.จ่ายไปทั้งหมด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ธปท.เรียกร้อง
          5.ผู้ได้รับทุนต้องยินยอมให้ ธปท.คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของจำนวนเงินที่คงค้างชำระนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ

          เขียนโดย ป.วรัตม์ นิตยสารการศึกษาวันนี้ E-mail:watta.ryo@gmail.com

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 540 คน กำลังออนไลน์