อยุธยา

ประวัติอยุธยา

กรุงศรีอยุธยามีชื่อเดิมที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกและตำนานบางเรื่องว่า "กรุงอโยธยา" ซึ่งเป็นการนำชื่อเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์มาใช้ ชื่อกรุงอโยธยาคงจะถูกเปลี่ยนเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอยู่ในระยะเวลาตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสมัยที่หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เก่าที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้รับการเขียนและคัดลอกกันต่อๆ มา เป็นต้นฉบับตัวเขียนที่เก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ หนังสือพงศาวดารฉบับนี้ก็ได้กล่าวถึงเมืองที่มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา เอาไว้ด้วย คนรุ่นหลังจึงได้เรียกชื่อนี้กันต่อมาจนถึงปัจจุบัน ความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยานั้นปรากฏเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันในลักษณะของตำนาน โดยเฉพาะตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง จะมีอยู่หลายตำนานและปรากฏในหลายท้องที่ ตำนานท้าวอู่ทองบางเรื่องกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับดินแดนแถบจังหวัดกำแพงเพชร บางเรื่องปรากฏเป็นตำนานของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางในจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เมืองนครศรีธรรมราชก็มีตำนานที่เล่าถึงท้าวอู่ทองกับพระยาศรีธรรมาโศกราช ที่ตกลงรวมดินแดนนครศรีธรรมราชเข้ากับกรุงอโยธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตำนานบางเรื่องในหนังสือพงศาวดารเหนือที่รวบรวมจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการเป็นเมืองที่มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ และมีเครือข่ายที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากหลักฐานด้านโบราณคดีว่า มีความเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรขอมกัมพูชา ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องมิติของเวลา ตำนานต่างๆ เกี่ยวกับท้าวอู่ทองและเรื่องในพงศาวดารเหนือสามารถสะท้อนภาพของส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบเข้าเป็นกรุงศรีอยุธยาได้ อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ นั้น ได้กล่าวถึงสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีว่าได้ไปครองเมืองลพบุรีอีกทั้งเอกสารที่เป็นจดหมายเหตุของจีนได้เรียกกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาว่า หลอหู ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่จีนใช้เรียกเมืองลพบุรีมาก่อนด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่า ราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรีที่เป็นศูนย์อารยธรรมเก่าแก่แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางมาก่อน และเมื่อได้พิจารณาประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการพบที่อยุธยา ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะก่อนสมัยอยุธยา ที่วัดธรรมิกราช พระพนัญเชิงซึ่งสร้างก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปทั้งสององค์มีรูปแบบศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะอู่ทองรุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะลพบุรีด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชี้อย่างชัดเจนว่า ได้มีการขยายตัวของเมืองลพบุรีลงมาทางใต้บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อพ.ศ. ๑๘๙๓ การขยายตัวของเมืองลพบุรีลงมาที่อยุธยาเมื่อพิจารณาในด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจก็อาจอธิบายได้ว่า เป็นการขยายที่ตั้งการค้าออกไปใกล้ทะเลเพื่อการค้ากับดินแดนโพ้นทะเล เพราะอยุธยามีลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเรือเดินทะเลใหญ่ในสมัยนั้นสามารถเข้ามาถึงตัวเมืองได้ อีกทั้งที่ตั้งของอยุธยาเป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายคือแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งของอยุธยาจึงมีลักษณะเป็นชุมทางที่สามารถติดต่อเข้าไปยังแผ่นดินภายในได้หลายทิศทางให้ประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ส่งมาจากที่ต่างๆ ได้สะดวก และสามารถเป็นตลาดกลางขนาดใหญ่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับทั้งภายในทวีปและดินแดนโพ้นทะเลได้เป็นอย่างดี การขยายตัวของเมืองลพบุรีมาที่อยุธยานั้นคงจะมีขึ้นตั้งแต่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นมามีฐานะเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครอง หรือเป็นเมืองหลวงของกรุงศรีอยุธยา จึงไม่เหมือนกับการเกิดขึ้นของเมืองเชียงใหม่และเมืองสุโขทัย เพราะทั้งสองเมืองมีลักษณะของการเป็นบ้านเมืองของผู้นำที่ค่อยๆ รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าไว้ด้วยกัน และเติบโตสร้างความเป็นปึกแผ่นของแว่นแคว้นเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุด เมืองซึ่งเป็นที่ประทับของผู้นำของแว่นแคว้นก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครองดินแดนที่รวบรวมเข้ามาได้ ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็เป็นเมืองที่มีพื้นฐานอันเป็นเครือข่ายของเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่แต่โบราณแล้ว คือ บ้านเมืองในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูลที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบเดียวกันติดต่อไปถึงเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา ส่วนเรื่องพระเจ้าอู่ทองในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชได้แสดงให้เห็นว่า เป็นดินแดนที่ได้รับการผนวกเข้ากับอยุธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวการรวบรวมดินแดนนครศรีธรรมราชในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่เวลาของการสถาปนา แต่กลับปรากฏในบันทึกของชาวยุโรปในสมัยอยุธยาตอนต้นว่า ดินแดนตลอดแหลมมลายูนั้นเป็นของสยาม ซึ่งมีศูนย์กลางเป็นเมืองใหญ่อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ในพระราชพงศาวดารฉบับที่เขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการกล่าวถึงกษัตริย์องค์ต่อมาหลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคตว่า มาจากเมืองสุพรรณบุรีด้วยท่าทีที่มีอำนาจแล้วขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมาทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๑) ได้มีการขยายความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เขียนในภายหลังว่า กษัตริย์จากสุพรรณบุรีนี้คือ พ่องั่ว ผู้เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แม้ว่าจะเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในภายหลังก็ตาม แต่เรื่องราวต่อๆมาในพระราชพงศาวดารก็สามารถให้ภาพรวมว่า ในช่วงระยะเวลาแรกแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๙๕๒ นั้น กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์ที่ผลัดกันครองราชบัลลังก์อยู่ ๒ สาย สายหนึ่งคือ สายที่สืบราชตระกูลมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนาเมือง และอีกสายหนึ่งคือราชตระกูลที่มาจากเมืองสุพรรณบุรี การผลัดกันขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของทั้ง ๒ ราชตระกูลนั้นเป็นการยึดอำนาจมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง ชื่อของเมืองสุพรรณบุรีมีที่มาจากหนังสือพระราชพงศาวดารเช่นเดียวกับชื่อของกรุงศรีอยุธยา เพราะจากเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกหรือเรื่องในตำนานบางเรื่องนั้น ชื่อเดิมของเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้นคือ เมืองสุพรรณภูมิ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงที่เล่าเรื่องราวในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิรวมอยู่ในกลุ่มเมืองที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง คือเมืองแพรก (ในจังหวัดชัยนาท) เมืองสุพรรณภูมิเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ซึ่งในท้องที่ของเมืองเหล่านี้ล้วนมีโบราณสถานที่มีอายุไม่น้อยกว่าเมืองลพบุรีอยู่ด้วย ดังนั้น การที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิอยู่รวมกับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาในลักษณะของเมืองที่มีอำนาจ ที่เจ้าเมืองสามารถเข้ามาสืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้ด้วยนั้น แสดงว่านอกจากการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นการสืบอำนาจต่อจากเมืองลพบุรีโดยการสืบราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว ยังประกอบด้วยดินแดนของสุพรรณภูมิที่มีกษัตริย์ต่างราชวงศ์ปกครองสืบทอดกันมาอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาจึงมีอาณาเขตที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางทั้งหมด เป็นราชอาณาจักรที่มีอิทธิพลครอบงำตลอดทั้งแหลมมลายูและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือการวมตัวกันได้ระหว่างดินแดนที่สืบมาจากเมืองลพบุรีเดิมกับดินแดนของสุพรรณภูมินั้นสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการเป็นเครือญาติที่สืบเนื่องมาจากการสมรสกันของราชวงศ์ทั้งสองพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบางฉบับที่เขียนขึ้นภายหลัง ที่กล่าวว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ หรือขุนหลวงพ่องั่ว เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้น อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของดินแดนทั้งสองได้ กลายเป็นราชอาณาจักรที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า ราชอาณาจักรสยาม โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือเมืองหลวง ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษแรกของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า การรวมตัวกันระหว่างสองราชวงศ์ คือราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับราชวงศ์ของสุพรรณภูมิ ยังไม่ราบรื่นนักดังจะเห็นได้จากการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างทายาทของทั้งสองราชวงศ์ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต ราชสมบัติตกอยู่กับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ โดยการยินยอมของสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งกลับไปครองเมืองลพบุรี แต่เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จจากลพบุรีเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์จากโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จสวรรคตแล้ว โอรสของพระองค์คือสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ได้สืบราชสมบัติต่อไปสมเด็จพระราเมศวรและสมเด็จพระรามราชาธิราช เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาสืบทอดต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ ๒๑ - ๒๒ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๒     

 

 

 

สร้างโดย: 

น.ส.ปัญจาภรณ์ พิรุณ เลขที่ 14 ม.4/2

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 933 คน กำลังออนไลน์