รากฐานที่ยั่งยืน
รากฐานที่ยั่งยืน [6 พ.ค. 51 - 17:51]
นโยบายขับเคลื่อน 4 ล้อ แนวรุกใหม่ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า"
“แนวคิดหลักในการทำงาน คือการสืบสานเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของคุณหมอสงวน โดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวม เน้นผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้เป็นหลัก เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความยั่งยืน ประชาชนสามารถเข้าถึงและผู้ให้บริการมีความสุข”
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดใจกับ ทีมข่าวสาธารณสุข ภายหลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน
ในฐานะรองเลขาธิการ สปสช. นานกว่า 5 ปี อาจกล่าวได้ว่า นพ.วินัย เป็นผู้หนึ่งที่มีความเข้าใจถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ ในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาโดยตลอด ทำให้สามารถมองงานได้ทะลุ และนำมาสู่การทำคลอดนโยบายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่นับจากนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลักๆ เหมือนรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆกันทุกด้าน
“นโยบายแรกเลย ผมคิดว่าจะต้องเริ่มที่การพัฒนาองค์กร คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน” คุณหมอวินัยเล่าถึงนโยบายข้อแรก
องค์ประกอบ 4 ส่วนหลักๆ ในเรื่องขององค์กร ก็คือ การสร้างกระบวนการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ให้เป็นเอกภาพ รอบคอบและรวดเร็ว
การรักษาความเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ โปรงใส และตรวจสอบได้ โดยเน้นการได้รับความไว้วางใจจากทุกภาคส่วนว่า สปสช. เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล
เสริมสร้างความเข้มแข็งของ สปสช. เขตพื้นที่ ทั้งในด้านการกระจายอำนาจ การบริหาร การเพิ่มศักยภาพบุคลากร และระบบสนับสนุนอื่นๆ
และ...การจัดระบบสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ เสริมสร้างขวัญ กำลังใจให้บุคลากรของ สปสช. เป็นคนดี แข็งแรง และมีความสุข
นโยบายดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า หากองค์กรมีการพัฒนาไปในทางที่ดีแล้ว ผลงานก็ย่อมจะต้องดีและมีประสิทธิภาพตามไปด้วย
นโยบายที่ 2 การทำงานกับหน่วยงานและองค์กรภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา สปสช.ถูกมองว่ามีปัญหาในการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอวินัยบอกว่า “ผมจะสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน งานหลักประกันสุขภาพเป็นงานหนัก หนักเกินกว่าที่จะทำคนเดียว ดังนั้น ต่อไปนี้ สปสช.ต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนถือเงิน การจัดสรรงบประมาณ จะต้องมีกรรมการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สปสช. รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สำคัญที่สุด คือ ต้องเสริมสร้างความเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของหน่วยงาน องค์กรวิชาชีพ และภาคีอื่นๆ ตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติการ การควบคุมกำกับ การประเมินผล และการแบ่งปันผลสำเร็จของงาน
ซึ่งจากนโยบายดังกล่าว ในอนาคตก็คือ การขยายผลงานหลักประกันสุขภาพไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการ ผู้ป่วย ญาติ และเครือข่ายต่างๆ ที่จะต้องมีการประสานงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆ ในระดับชาติและระดับสากล
สำคัญที่สุด คือการเน้นเรื่องจิตอาสา มิตรภาพบำบัด และความสมาน-ฉันท์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ
จากองค์กร สู่ การทำงาน นโยบายที่ 3 ก็คือ การพัฒนางานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่ง นพ.วินัยบอกว่า มีด้วยกัน 4 ประเด็นหลักๆ คือ
การพัฒนาระบบข้อมูลและไอที ให้สามารถสนับสนุนการวิเคราะห์ วางแผนงาน ควบคุมกำกับ ประเมินผล และบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาระบบการบริหารกองทุน การชดเชยบริการ การเบิกจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว ถูกต้องและระบบตรวจสอบให้ครอบคลุมทุกด้าน
เร่งรัดการดำเนินงานและการสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์ การคุ้มครองสิทธิและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบบริการสุขภาพ โดยเน้นการทำงานเชิงรุก
การประสานความร่วมมือและใช้ทรัพยากรบริหารร่วมกันของ 3 กองทุน เน้นให้เกิดรูปธรรมของการพัฒนาระบบข้อมูล สิทธิประโยชน์ การจ่ายเงิน การควบคุมคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
และนโยบายข้อสุดท้าย ก็คือ การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ซึ่ง เลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า นโยบายข้อนี้ สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาระบบบริการส่งเสริม สุขภาพและป้องกันโรค โดยเน้นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอดส์ วัณโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูง อายุในชุมชน
การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยเน้นการมีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวในศูนย์แพทย์ชุมชน และมีพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไปในศูนย์สุขภาพชุมชน
สนับสนุนการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิชั้นสูง เน้นโรคมะเร็ง หัวใจ ภาวะฉุกเฉิน รวมถึงภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า เพียงชั่วระยะเวลา 6 ปี งานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จากคนที่ไม่มีสิทธิได้รับสิทธิ ขยายต่อถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงวันนี้เท่ากับมีการก้าวเดินจากความฝันสู่เจตนารมณ์ไปในระดับที่น่าพอใจ
และจากวันนี้ เราก็หวังที่จะเห็นการผลักดันเจตนารมณ์สู่การสานต่อนโยบาย พลังขับเคลื่อน 4 ล้อ ของเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ เพื่อการดำเนินงานงานแปรผลสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงและยั่งยืน
คนไทยได้อุ่นใจมากขึ้น เพราะจะไม่มีใครต้อง “ป่วย” และ “ตาย” อย่างไร้ศักดิ์ศรีอีกต่อไป.
ทีมข่าวสาธารณสุข