ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ

ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อในท้องถิ่น

ประเพณีวันปีใหม่เมือง

ความสำคัญ
ชาวล้านนาให้ความสำคัญวันปีใหม่เมืองมากเพราะถือว่าเป็นการแสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนา แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ความสามัคคีและสนุกสนานในหมู่คณะ และยังเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องซึ่งแยกย้ายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ได้มีโอกาสกลับมาพบปะสังสรรค์กัน จึงนับเป็นการรวมญาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปี พิธีกรรม วันแรกของงาน คือ วันที่ ๑๓ เมษายน ตามประเพณีพื้นเมืองเรียกว่า วันสังขานต์ล่อง คือ หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ การยิงปืนและการจุดประทัดนี้ มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร นอกจากนั้นชาวบ้านก็จะกวาดขยะมูลฝอยตามลานบ้านไปกองไว้แล้วจุดไฟเผาเสียและทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยเก็บเสื้อผ้ามุ้งหมอนผ้าปูที่นอนไปซัก อุปกรณ์ที่ซักไม่ได้ก็นำออกไปผึ่งแดดเสร็จแล้วก็ชำระร่างกายสระผม (ดำหัว) ให้สะอาด และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองด้วย
ถัดจากวันสังขารล่อง คือ วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา หรือ วันเน่า ในวันนี้ตามประเพณีถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต จะได้ประสบแต่ความดีงามตลอดปี จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่นด่าทอ หรือทะเลาะวิวาทกัน ตอนเช้าต่างก็จะไปตลาดเพื่อจะจัดซื้ออาหารและข้าวของมาทำบุญเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันดา (คือวันสุขดิบทางใต้) ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดโดยขนจากแม่น้ำปิงแล้วนำไปยังวัดที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่าง ๆ ธงสีนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า ตุง ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่าง ๆ ติดปลายไม้ อีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ติดปลายไม้เรียกว่า ช่อ การทานหรือถวายตุงหรือช่อนี้ถือกันว่าเมื่อตาย (สำหรับผู้ที่มีบาปหนักถึงตกนรก) จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยช่อและตุงนี้ ส่วนการขนทรายเข้าวัดนั้นถือว่าเป็นการทดแทนที่เมื่อตนเดินผ่านหรือเข้าออกวัด ทรายในวัดย่อมจะติดเท้าออกไปนอกวัดเป็นบาปกรรม ทางวัดจะได้ใช้ทรายเพื่อประโยชน์ในการสร้างหรือถมลานวัด เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น และจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย
ในวันขนทรายนี้ จะมีการเล่นรดน้ำกันและเป็นการเล่นอย่างสนุกสนานที่สุดวันหนึ่ง ผู้หญิงจะแต่งกายพื้นเมืองจะนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาวทัดดอกเอื้องที่มวยผม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองคล้องคอด้วยดอกมะลิ ถือขันหรือโอคนละใบใส่น้ำเพื่อรดกันอย่างสนุกสนาน และขนทรายเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุก ๆ คน
วันที่สาม ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน จะมีการ ดำหัว ซึ่งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเมืองเหนือ คือ การนำลูกหลานญาติพี่น้องไปขอขมาลาโทษ(สูมาคาระวะ) ต่อผู้ใหญ่ในตอนเย็น วันนี้ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาวใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันว่า ทานขันข้าว เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้องบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย รวมทั้งถวายเจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง ถือว่าเป็นอานิสงส์
สาระ ประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวที มีความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่พี่น้องและชุมชน ด้วยการร่วมกันทำอาหารคาว - หวาน สำหรับไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ การขนทรายเข้าวัดเพื่อถวายทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุง รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ด้วยการร่วมตกแต่งเครื่องสักการะดำหัว ตลอดจนการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง ประจำวัดและประจำบ้าน

แหล่งอ้างอิง

http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north/view.asp?id=0255

 

 

ชื่อ ประเพณีก๋วยสลากภาคเหนือ ช่วงเวลา ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า กินก๋วยสลาก ได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปีเกือบทุกวัด เริ่มจะไม่มีกำหนดตายตัว อาจจะทำในช่วงเข้าพรรษาก็เคยมีความสำคัญเป็นงานประเพณีของท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปี ทุกบ้านจะหยุดงานเพื่อมาร่วมกันเตรียมงาน เตรียมกองสลาก เตรียมจัดอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานพิธีกรรมเมื่อได้กำหนดวันตานก๋วยสลากแล้ว ทางวัดจะแจ้งให้ผู้มีจิตศรัทธาทราบเพื่อจัดเตรียมอาหารสิ่งของต่าง ๆ ที่พระภิกษุจำเป็นต้องใช้ อาจทำเป็นบุคคลหรือคณะก็ได้ แต่ละกอง สิ่งของที่เตรียมมานี้จะทำภาชนะบรรจุอย่างสวยงาม ประดับตกแต่งเป็นก๋วยหรือตระกร้า ตั้งเรียงรายรอบพระอุโบสถหรือรอบบริเวณที่วัดจัดไว้ให้ วันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญทางวัดจะจัดเตรียมอาหารคาวหวาน เลี้ยงอาหารแก่ผู้มาในงานนี้อย่างเต็มที่ บุคคลที่จะได้จับสลากก็คือ พระภิกษุที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าอาวาสหรือพระภิกษุที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือ เมื่อมาพร้อมกันแล้วก็เข้าพระอุโบสถทำพิธีสวดมนต์บทต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลของพุทธศาสนิกชน ต่อจากนั้นก็เริ่มจับสลาก พระภิกษุรูปใดจับได้หมายเลขหรือชื่อที่ตรงกับก๋วยสลากหมายเลขหรือชื่อนั้นก็ไปรับถวายพร้อมด้วยอนุโมทนา ก็เสร็จพิธีทุกคนก็แยกย้ายกันกล้บบ้านพร้อมกับอิ่มบุญทุกถ้วนหน้าสาระเป็นประเพณีของชาวพุทธที่มีการทำบุญให้ทานรับพรจากพระ จะทำให้เกิด สิริมงคลแก่ตน และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ และเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชน 

http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north/view.asp?id=0260

 

สร้างโดย: 
ครูสายสวาท เหลี่ยมพันธุ์ โรงเรียนอนุบาลเชียงของ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 435 คน กำลังออนไลน์