เครื่องบิน แบบที่ 20 ของกองทัพอากาศไทย

รูปภาพของ dsp7761

กว่าจะมาเป็น เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๒๐ แห่งกองทัพอากาศไทย
..................................โดย พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
............................................................................................................................
เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี ๒๕๔๐ จนเป็นผลให้โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F/A-18 C/D จำนวน ๘ เครื่อง ว่าที่เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๒๐ “บ.ข.๒๐” มีอันต้องยกเลิกโครงการลงทั้งๆที่เราได้จ่ายเงินมัดจำไปจำนวนหนึ่งแล้ว...ด้วยความจำเป็นของสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และแม้ว่าความต้องการในการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องบินขับไล่ที่ปลดประจำการไปก่อนปี ๒๕๓๗ จะมีความจำเป็นอย่างสูงก็ตามที แต่ด้วยเหตุแห่งสภาวะเศรษฐกิจตามที่กล่าวข้างตน กองทัพอากาศจึงได้ชะลอโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น
นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา กองทัพอากาศได้ตั้งโครงการที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ทดแทนเครื่องบิน F-5 เพื่อจัดเตรียมไว้ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 B/E ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ ที่มีแผนจะปลดประจำการในปี ๒๕๕๐ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าสถานภาพการเงินและงบประมาณของประเทศยังไม่พร้อม กองทัพอากาศ จึงชลอโครงการนี้ไว้ก่อน และแม้ว่าจะยังไม่มีโครงการจัดซื้อแต่ในช่วงหลายปีนั้นกองทัพอากาศก็ได้ทำการศึกษาเรื่องของเครื่องบินขับไล่ชั้นนำแบบต่างๆ เพื่อเป็นโครงการจัดหาในอนาคตเมื่อมีงบประมาณพอเพียง
ในอดีตนั้นอาจจะมองว่ากองทัพอากาศจัดหาแต่เครื่องบินรบจากสหรัฐอเมริกาเพียงชาติเดียว ความจริงแล้วเมื่อก่อนนั้นเครื่องบินขับไล่ที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกานั้นจัดได้ว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะสูงเชื่อถือได้ทั้งการบินการปฏิบัติการรบ ระบบอาวุธ และระบบการส่งกำลังบำรุง ปัจจุบันชาติต่างๆ ในโลกมีศักยภาพในการสร้างเครื่องบินขับไล่ไม่แพ้สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีนเอง ตรงนี้เองเราก็มามองว่าในขณะนั้นเรามีความต้องการเครื่องบินระดับไหน กองทัพอากาศมีความต้องการเครื่องบินขับไล่ในยุคที่ ๔.๕ ส่วนในยุคที่ ๕ นั้นมันเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็ยังอยู่ในระหว่างการประจำการและการพัฒนาไปพร้อมๆกัน เช่น เครื่องบินแบบ F-22
สำหรับเครื่องบินในยุค ๔.๕ นี้ได้กำหนดคุณลักษณะไว้ ๔ ประการคือ Stealth, Strike-Precision , Stand Off/Fire Forget และ Situation Awareness – Network Centric อุปกรณ์เครื่องวัดเป็นแบบดิจิตอล Glass cockpit, เรดาร์ตรวจจับระยะไกลแบบ Active phased array วัสดุพื้นฐานผิวและโครงสร้างเป็นแบบวัสดุผสม Composite แผนแบบด้วยเทคโนโลยีล่องหน (Stealth) ติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางหรือ Network Centric Operations : NCO สามารถติดต่อระหว่างเครื่องบินกับภาคพื้นดิน พื้นน้ำ กับศูนย์บัญชาการ และควบคุม ข้อมูลถูกส่งผ่านได้ตลอดทั่วถึงกันทั้งเครือข่ายในเวลาพร้อมกัน เป็นการทวีอำนาจกำลังรบ (Force multiplier) มีกำลังน้อยเหมือนมีกำลังมาก ตอบสนองต่อการป้องกันประเทศ การป้องกันภัยทางอากาศ การรบร่วมกับหน่วยภาคพื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเครื่องบินที่อยู่ในกลุ่มนี้ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 C/D ของสหรัฐฯ เครื่องบินขับไล่ Su-30 ของรัสเซีย เครื่องบินขับไล่ Jas-39 ของสวีเดน และเครื่องบินขับไล่แบบราฟาล ของฝรั่งเศส
กองทัพอากาศได้ตั้งคณะกรรมขึ้นมาพิจารณาในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนเครื่องบิน F-5 B/E โดยคณะกรรมการเหล่านี้จะทำการศึกษาข้อมูลของเครื่องบินแบบต่างๆ โดยละเอียดในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ความต้องการด้านการใช้ปฏิบัติภารกิจ ความเหมาะสมตามสภาพภูมิยุทธศาสตร์ การฝึกอบรม การซ่อมบำรุง การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค อาคารสถานที่ โดยได้กำหนดความต้องการของกองทัพอากาศ ออกเป็น ๔ ประการคือ
๑.ต้องมีสมรรถนะและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคต มีขีดความสามารถทัดเทียมหรือไม่ด้อยกว่าเครื่องรบที่มีประจำการหรือกำลังนำเข้าประจำการใหม่รอบบ้านของไทย
๒. มีความเหมาะสมตามสภาพภูมิยุทธศาสตร์ในการวางกำลังทางภาคใต้ในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ สามารถสนับสนุนและปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพอื่นตลอดจนคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๓. เป็นพื้นฐานในการพัฒนากองทัพอากาศในด้านต่างๆ ต่อไป ทั้งบุคลากรการถ่ายทอดเทคโนโลยีของอากาศยาน การฝึกศึกษา เพื่อให้สามารถดูแลและบำรุงรักษาได้บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยได้รับ Source Code Data ซึ่งหมายถึง รหัสข้อมูลต้นแบบซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของอากาศยาน ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบอาวุธ ระบบการซ่อมบำรุง และอื่นๆ จะช่วยให้บุคลากรของกองทัพอากาศได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีต่อไป ในอนาคตได้ด้วยตนเอง
๔. สามารถพัฒนาระบบบัญชาการและควบคุม ตลอดจนระบบควบคุมและแจ้งเตือน ซึ่งเป็นความต้องการหลักและจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติการทางอากาศ การปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพเพื่อการป้องกันประเทศและคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ซึ่งเครื่องบินที่มีขีดความสามารถที่ต้องการสำหรับเครื่องบินรบในยุคที่ ๔.๕ และราคาเหมาะสมสามารถจัดซื้อได้ตามสภาพงบประมาณของประเทศ มีพิจารณาได้ ๓ แบบ คือ F-16C/D จากสหรัฐฯ , Su-30 MK จากรัสเซีย และ Gripen 39 C/D จากสวีเดน กองทัพอากาศได้ทำการศึกษาประเมินค่าเครื่องบินทั้งสามแบบ โดยคณะกรรมการที่กองทัพอากาศตั้งขึ้นนั้น นอกจากจะพิจารณาด้านข้อมูลต่างๆแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเดินทางไปดูงานเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ณ ประเทศผู้ผลิต และนักบินลองเครื่องของกองทัพอากาศ ยังได้ขึ้นทำการทดสอบบินเพื่อประเมินค่าของเครื่องบินขับไล่ทั้งสามแบบด้วย และผลการศึกษาในหลายๆด้านสรุปได้ว่า
Su-30 MK เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีขนาดใหญ่ บรรทุกอาวุธได้มากเหมาะสำหรับการโจมตีข้ามทวีปหรือประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างรัสเซีย จึงมีจุดอ่อนในการตรวจจับได้ง่ายจากระยะไกลเนื่องจากขนาดของเครื่องบิน ต้องจัดซื้อระบบซ่อมบำรุงและอาวุธใหม่ทั้งหมด ต้องเตรียมสร้างอาคารสถานที่ โรงเก็บ โรงซ่อม ซองจอด ใหม่ทั้งหมด การใช้งานมีอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ในเกณฑ์สูงมาก โครงสร้างเครื่องยนต์มีวงรอบการตรวจซ่อมถี่ อาวุธมีอายุสั้น เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งาน (Life Cycle Cost) อยู่ในเกณฑ์สูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องบินอีกสองแบบ
F-16 C/D เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ขนาดกลาง มีขีดความสามารถด้านปฎิบัติการทางอากาศและโจมตีภาคพื้นดิน อัตราความสิ้นเปลืองอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ระบบการส่งกำลังบำรุงสามารถใช้จาก F-16 A/B ที่กองทัพอากาศใช้งานอยู่ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงมีความคุ้นเคย แต่การซ่อมบำรุงและการใช้งานบางส่วน มีเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายตลอดเวลาการใช้งาน จำกัดด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขีดความสามารถและอาวุธที่ต้องการหากจัดซื้อจะได้เพียงเครื่องบินและขีดความสามารถบางส่วน
GRIPEN 39 C/D เป็นเครื่องบินที่มีขีดความสามารถเทียบเท่าเครื่องบินในยุค ๔.๕ แบบอื่นๆ ออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันและตอบโต้กับกลุ่มประเทศ Warsaw Pact ในยุคสงครามเย็น ระบบอาวุธและการซ่อมบำรุง ตามมาตรฐาน NATO มีความอ่อนตัว คล่องตัวในการใช้งานและสภาพภูมิประเทศที่จำกัด ข้อเสนอหลักประกอบด้วยเครื่องบินรบ เครื่องบินในระบบบัญชาการและควบคุมพร้อมเทคโนโลยีทั้งระบบของกำลังทางอากาศสมัยใหม่ ให้การถ่ายทอดเทคโนโลยี การซ่อมบำรุง และการฝึกศึกษาด้านเทคโนโลยี
ปัจจุบันในหลายกองทัพอากาศให้ความสนใจในการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ หรือ Multi-Role Combat Aircraft มากขึ้น เพราะเครื่องบินแบบเดียวสามารถสนองตอบต่อภารกิจต่างๆของกองทัพอากาศนั้นๆได้ โดยไม่ต้องมีการจัดซื้อจัดหาอากาศยานมากแบบ เป็นผลดีต่อการซ่อมบำรุง และประหยัดงบประมาณ ความจริงแล้วในส่วนกองทัพอากาศของเราก็เริ่มปรับเปลี่ยนการจัดหาอากาศยานรุ่นใหม่มาเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบ F-16 มาก่อนแล้ว
Multi-Role Combat Aircraft นั้นจะมีหลากหลายในภารกิจ คือสามารถเป็นทั้งเครื่องบินขับไล่สกัดกั้น เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดและเครื่องบินลาดตระเวน
สำหรับ JAS-39 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ได้รับการออกแบบมาให้เป็น เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ โดยชื่อของมัน อักษร J มาจากคำในภาษาสวีเดนว่า Jakt หรือ Fighter ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง “เครื่องบินขับไล่” อักษร A มาจากคำว่า Attack หรือ “เครื่องบินโจมตี” และ อักษร S มาจากคำว่า Spaning หรือ Reconnaissance หรือ “เครื่องบินลาดตระเวน”
JAS-39 Gripen ถูกออกแบบมาให้มีความอ่อนตัวสามารถใช้ในหลากหลายภารกิจ เช่น ภารกิจอากาศสู่อากาศ สามารถปฏิบัติการในภารกิจ
- ตอบโต้ทางอากาศเชิงรุก (Offensive Counter Air ; OCA)
- ตอบโต้ทางอากาศเชิงรับ (Defensive Counter Air ; DCA)
- ลาดตระเวนรักษาเขต (Combat Air Patrol) นาน ๒.๔ ชั่วโมง
- สกัดกั้นด้วยความเร็วเหนือเสียง (Subsonic Intercept) รัศมีปฏิบัติการ ๕๐๐ ไมล์ทะเล
- กวาดล้างทางอากาศ (Fighter Sweep)
- คุ้มครองทางอากาศ (Force Protection sub-roles)
ภารกิจอากาศสู่พื้น โดยสามารถติดตั้งอาวุธภายนอกน้ำหนักสูงสุด ๑๑,๔๐๐ ปอนด์ บรรทุกระเบิดน้ำหนักรวมสูงสุด ๕,๐๐๐ ปอนด์ (๑,๐๐๐ ปอนด์ จำนวน ๕ ลูก) สามารถปฏิบัติการ ในภารกิจ
- กดดันระบบป้องกันทางอากาศของข้าศึก (Suppression of Enemy Air Defenses : SEAD)
- โจมตีทางยุทธศาสตร์ (Strategic Strike)
- ขัดขวางทางอากาศ (Air interdiction : AI)
- ขัดขวางทางอากาศในพื้นที่การรบ (Battlefield Air Interdiction : BAI)
- โจมตีทางทะเล (Maritime Strike) ด้วยอาวุธนำวิถี Rbs 15
- สนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด (Close Air Support : CAS)
- ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ (Reconnaissance & Surveillance)
นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้พัฒนาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบ F-4 , F-16 และ F/A-18 ออกมาใช้งาน จากนั้นชาติต่างๆที่มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตเครื่องบินเองได้ ก็ปรับเปลี่ยนมาพัฒนาเครื่องบินประเภท Multi-Role Combat Aircraft ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตนับตั้งแต่นี้ไป ก็จะมีแต่เครื่องบินประเภทขับไล่อเนกประสงค์ออกมาให้ประเทศต่างๆจัดหาเพื่อบรรจุเข้าประจำการอยู่แล้ว

โครงการจัดซื้อเครื่องบิน GRIPEN 39 นี้ กองทัพอากาศดำเนินการอย่างโปร่งใส มีการชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน เป็นโครงการที่จัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ผ่านผู้แทนรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งและ การจัดการที่เป็นสากล โดยดำเนินการตามขั้นตอนมากว่า ๔ ปีแล้ว สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Gripen 39 C/D ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๘ ก/ข ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการและครบกำหนดจะปลดประจำการทั้งหมดในปี ๒๕๕๔ โดยมีมติให้กองทัพอากาศก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๕ จัดซื้อเครื่องบิน Gripen 39 C/D ระยะที่ ๑ จำนวน ๖ เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ การฝึกอบรม การปรับปรุงอาคารสถานที่ และการบริหารโครงการ วงเงิน ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยใช้งบประมาณของกองทัพอากาศที่ได้รับการจัดสรรประจำปีตามปกติ และมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยลงนามในข้อตกลงการซื้อขาย (Agreement) ตลอดจนให้กองทัพอากาศรับข้อเสนอพิเศษจากรัฐบาลสวีเดนตามที่กำหนดไว้ในร่างข้อตกลงการซื้อขาย
กองทัพอากาศได้แต่งตั้งคณะกรรมการการจัดซื้อขึ้นโดยมี พลอากาศเอก ไพศาล สีตะบุตร รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน เพื่อจัดทำร่างสัญญาเจรจาต่อรองการจัดซื้อเครื่องบิน Gripen 39 C/D กับผู้แทนรัฐบาลสวีเดน โดยฝ่ายสวีเดนได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหน่วยงาน FMV หรือ Swedish Defense Material Administration (FMV เป็นหน่วยงานขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหมสวีเดน มีหน้าที่ในการจัดเตรียมยุทธภัณฑ์ให้กับกองทัพสวีเดน รวมทั้งการส่งออกยุทธภัณฑ์แก่มิตรประเทศ) เป็นผู้แทนรัฐบาลสวีเดนซึ่งได้ดำเนินการเจรจา และจัดทำร่างข้อตกลงการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว สำหรับเอกสารข้อตกลงการซื้อขาย ครอบคลุมข้อสัญญาและเงื่อนไขเกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบเครื่องบิน, การฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่, การส่งกำลังบำรุง และงวดการชำระเงิน ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้รับความร่วมมือจากสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเป็นที่ปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการจัดซื้อ เพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ รัดกุม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ได้มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อไปเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา
สรุปสาระสำคัญในร่างข้อตกลงการซื้อขาย แบ่งเป็น ๒ ส่วน
ส่วนที่ ๑ ข้อเสนอหลัก และการปรับปรุงอาคารสถานที่และการบริหารโครงการ
ประกอบด้วยเครื่องบิน Gripen 39 C/D จำนวน ๖ เครื่อง เป็นเครื่องบินที่นั่งเดี่ยวจำนวน ๒ เครื่อง และที่นั่งคู่จำนวน ๔ เครื่อง พร้อมอุปกรณ์และระบบสนับสนุน การส่งกำลังบำรุง การฝึกอบรม การบริหารโครงการในส่วนที่สวีเดนรับผิดชอบ อุปกรณ์อื่นและการบริการ รวมเป็นเงิน ๑๘,๒๘๔ ล้านบาท
ด้านการปรับปรุงอาคารสถานที่ และการบริหารโครงการประกอบด้วย การปรับปรุงอาคารสถานที่และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ณ กองบิน ๗ จ.สุราษฎร์ธานี การเดินทางไปฝึกอบรมตามโครงการ และการบริหารโครงการ ในส่วนที่กองทัพอากาศรับผิดชอบ รวมเป็นเงิน ๗๑๖ ล้านบาท รวมงบประมาณการจัดซื้อเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙,๐๐๐ ล้านบาท ตามกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐
ส่วนที่ ๒ เป็นข้อเสนอพิเศษจากรัฐบาลสวีเดน โดยกองทัพอากาศจะได้รับมอบเครื่องบิน Saab 340 สำหรับการฝึกจำนวน ๑ เครื่อง และเครื่องบิน Saab 340 ติดตั้งเรดาร์แจ้งเตือนในอากาศแบบ Erieye จำนวน ๑ เครื่อง
พร้อมกันนี้จะได้รับการตอบแทนในลักษณะความร่วมมือทวิภาคี ประกอบด้วย
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ และกองทัพไทย เริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๑
- ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสวีเดน จำนวน ๙๒ ทุน ระหว่างปี ๒๕๕๒ - ๒๕๕๕ ซึ่งจะมีทุนการศึกษาจำนวน ๘๐ ทุน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และอีก ๑๒ ทุนจะเป็นทุนสำหรับข้าราชการของกองทัพอากาศและเหล่าทัพอื่นในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสวีเดน ได้แก่ Royal Institute of Technology Stockholm, Chalmers Technical University in Gothenburg และ Linköping University ระหว่างปี ๒๕๕๒-๒๕๕๕
- ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ในด้านวิชาการ การลงทุน การผลิตสินค้า และการบริการ ซึ่งจะมีส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดรายละเอียดต่อไปภายหลัง
แผนการดำเนินงานโครงการที่สำคัญ ได้แก่
- การผลิตและส่งมอบเครื่องบินขับไล่ Gripen 39 C/D ใช้ระยะเวลา ๓๖ เดือนหลังจากลงนามในหนังสือข้อตกลงการซื้อขาย
- การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทุกส่วนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง และการส่งมอบอะไหล่และอุปกรณ์ รวมทั้งการเตรียมรับนั้นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน การส่งมอบเครื่องบิน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมในประเทศสวีเดนเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๑และการส่งมอบอะไหล่และอุปกรณ์เริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๓
- การฝึกอบรมนักบิน ครูการบินและนักบินลองเครื่อง รวม ๑๐ คน ใช้ระยะเวลาประมาณ ๑๒ เดือน รวมทั้งการฝึกเจ้าหน้าที่เทคนิคของเครื่องบิน Gripen 39 C/D และเครื่องบิน Saab 340 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการฝึก ณ ประเทศสวีเดน ในปี ๒๕๕๓ นอกจากนี้จะมีนักบินสวีเดน ๒ คน และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาสนับสนุนในประเทศไทยเป็นเวลา ๒ ปี
- การส่งมอบเครื่องบิน Saab 340 ทั้ง ๒ เครื่อง ดำเนินการได้ในปลายปี ๒๕๕๓
- การส่งมอบเครื่องบิน Gripen 39 C/D ทั้ง ๖ เครื่องจะดำเนินการได้ภายในต้นปี ๒๕๕๔ โดยจะส่งมอบเครื่องบิน ๓ เครื่องแรกในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ และอีก ๓ เครื่องในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อฝึกเพิ่มเติมให้หน่วยบิน มีความพร้อมปฏิบัติการได้ภายในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ สอดคล้องกับแผนการปลดประจำการของเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 ที่สุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ในระยะยาว กองทัพอากาศจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ใช้งานเครื่องบิน Gripen และดำเนินการซ่อมบำรุงแบบ Pooling Program กล่าวคือ เป็นการรวมอะไหล่ไว้ในหมู่ประเทศสมาชิก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสะสมอะไหล่ ลดระยะเวลาในการซ่อมบำรุง และเป็นระบบการซ่อมบำรุงสำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกด้วย


 


ติดต่อ : เจ้าบ้าน  [ 12 ก.พ. 51 ] 
 
 
http://www.pantown.com/market.php?id=32248&name=market6&area=3&topic=2&action=view

รูปภาพของ dspnatthanan

ส่งงานช้ากว่ากำหนด แล้วการนำงานมาใช้ได้อธิบายแล้วว่าให้นำไปวางใน Notepad ก่อนนำมาวางใน Blong

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 491 คน กำลังออนไลน์