นิราศอสังหาฯ 5 เมือง 4 ประเทศใน1 เดือน

รูปภาพของ pornchokchai
นิราศอสังหาฯ 5 เมือง 4 ประเทศใน1 เดือน
  AREA แถลง ฉบับที่ 617/2566: วันพฤหัสบดีที่ 03 สิงหาคม 2566


ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            ตลอดเดือนมิถุนายน 2566 ผมเดินทางไปต่างประเทศถึง 5 เมือง 4 ประเทศ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง คือลงทุนสร้างเครือข่ายระดับโลกที่ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาที่ดินหรือที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ ก็ควรจะดำเนินการ

            สำหรับที่แรกที่ผมได้เดินทางไปก็คือที่นครไมอามี มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไปประชุม FIABCI World Congress ในระหว่างวันที่ 4-14 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นการประชุมของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกนับล้านคน โดยในประเทศไทย ผมเป็นนายกสมาคม FIABCI-Thai หรือสมาคมลูกประจำประเทศไทย เพื่อให้เป็นหน้าต่างติดต่อนักอสังหาริมทรัพย์จากทั่วโลกนั่นเอง

            การเดินทางไปสหรัฐอเมริกาก็ถือว่าสุดโหดเพราะใช้เวลานาน แต่ก่อนอาจมีเครื่องบินของการบินไทยไปถึงนิวยอร์กในเวลา 18 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้ก็ยกเลิกไปแล้ว ส่วนผมบินด้วยสายการบินเอมิเร็ตต์ จากกรุงเทพมหานครถึงดูไบและตรงไปไมอามีเลย ใช้เวลา 25 ชั่วโมง ถึงแม้ไปงานประชุมระดับโลก แต่ผมก็ไปชั้นประหยัด เป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แต่ถ้าชั้นธุรกิจก็คงเป็นเงินแสนกว่าบาท ผมยังนึกอยู่ในใจ นี่ถ้ามีตั๋วยืน 10,000 บาท ผมก็จะยืน เพราะอาจประหยัดไปได้ 40,000 บาท  ค่าตัวผมตอนไปทำงานให้สหประชาชาติวันหนึ่งก็ได้แค่นี้เท่านั้น

            การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอหัวข้อความรู้ที่น่าสนใจมากมาย ท่านผู้เป็นนักพัฒนาที่ดิน นายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและอื่นๆ สมควรไปร่วมงานนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้พบกับนักพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดทั้งในไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ รวมทั้งผู้นำวงการอสังหาริมทรัพย์จากทั่วโลก  เป็นโอกาสอันดียิ่งในการสร้างเครือข่ายเพื่อการซื้อ-ขาย ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยแท้

            แต่ข้อจำกัดของการเข้าร่วมงานระดับโลกนี้ก็คือ ค่าลงทะเบียนอาจแพงหน่อย คือประมาณ 1,700 เหรียญสหรัฐหรือเกือบ 60,000 บาท ส่วนค่าที่พักในโรงแรมที่จัดงานก็เป็นเงินคืนละประมาณ 450 เหรียญ (รวมภาษีแล้ว) หรือเท่ากับ 16,000 บาท แต่ในเรื่องที่พัก เราก็อาจเลี่ยงได้ เพราะมีผู้ไปร่วมงานจากหลายประเทศพักโรงแรมที่ถูกกว่า เช่น Holiday Inn  ส่วนผมไปพักโรงแรมเล็กๆ สนนราคาเพียง 2,000 บาทต่อคืน แต่อยู่ห่างจากโรงแรมจัดงานเพียง 8 นาทีด้วยการเดินเท่านั้น  แต่ก็ไม่มีใครรังเกียจใครในด้านนี้ เพราะต่างก็มาแสวงหาพันธมิตรธุรกิจมากกว่า

            ในงานนอกจากมีการเข้าร่วมสัมมนาแล้ว ยังมี Networking Breakfast และ Networking Lunch ตกค่ำก็ยังมีงานเลี้ยงต้อนรับ งานเลี้ยงมอบรางวัลอสังหาริมทรัพย์ดีเด่น งานเลี้ยงอำลา เป็นต้น ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น และสามารถสานต่อธุรกิจกันได้ในอนาคต ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมนับพันจาก 50 ประเทศทั่วโลก (สมาชิกจริงมี 70 ประเทศ) แต่ปีนี้จัดที่สหรัฐอเมริกา อาจทำให้มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าปกติ และที่นี่มักมีการคัดสรรผู้ที่จะได้รับวีซาที่เข้มงวดด้วย

            งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการมอบรางวัล FIABCI World Prix d’Excellence Awards ซึ่งเป็นเสมือนรางวัล “ออสการ์” ในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยมีโครงการที่ได้รับการคัดสรรจาก FIABCI ในแต่ละประเทศทั่วโลกมาแข่งกันและรับรางวัล อันเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติยิ่ง แตกต่างจากรางวัลของสื่อมวลชนต่างๆ หรือแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่พยายามจัดงานมอบรางวัลเช่นกัน

            เสร็จจากงานนี้ผมก็เดินทางไปนครนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา ซึ่งเป็นโปรแกรมพิเศษเฉพาะผมเท่านั้น เพราะผมไปศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของพายุเฮอริเคนแคทรีนาที่พัดผ่านนครนี้เมื่อปี 2548 หรือราว 18 ปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นพายุดังกล่าวสร้างความเสียหายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2548 (ความเร็วลม 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พายุดังกล่าวทำความเสียหายในพื้นที่ประมาณ 233,000 ตารางกิโลเมตร หรือครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,836 ราย สูญหายไป 705 ราย ความเสียหายเกือบ 3 ล้านล้านบาท (พอๆ กับงบประมาณแผ่นดินไทย)

            ผมได้มีโอกาสไปพบ New Orleans Assessor หรือผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งนครนิวออลีนส์นี้ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งติดต่อกับมา 30 ปีแล้ว ทำหน้าที่ประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานนี้อีกด้วย และได้ข้อมูลมากมายมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลที่กำลังดำเนินการอยู่ และเมื่อแล้วเสร็จก็จะได้นำเสนอต่อไป  ยิ่งกว่านั้นผมยังไปสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ ไปดูสุสานของผู้วายชนม์จากพายุนี้ รวมทั้งไปดูสถานที่เกิดเหตุในบริเวณต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสำรวจวิจัยอีกด้วย

            ผมกำลังทำหนังสือเรื่องพิบัติภัยธรรมชาติกับผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สิน โดยกรณีศึกษาที่นครนิวออลีนส์นี้จะเป็นเรื่องล่าสุดก่อนรวมเล่มหนังสือ ทั้งนี้ผมได้รวบรวมผลกระทบของสึนามิต่อนครอาเจะห์ เกาะภูเก็ต ปี 2547 สึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนไดปี 2554 พายุไห่เยียนกับนครทาโคลบันในปี 2556 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเนปาลปี 2558 อันที่จริงผมจะสำรวจผลกระทบของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 2529 ด้วย ผมเคยเดินทางไปครั้งหนึ่ง แต่ขณะนี้ยูเครนกำลังมีสงครามกับรัสเซีย  จึงไม่สามารถเดินทางไปได้

            เมื่อกลับถึงกรุงเทพมหานครในเช้ามืดวันที่ 14 มิถุนายนแล้ว ก็ปรากฏว่าในบ่ายวันที่ 15 มิถุนายน ผมก็เดินทางไปนครปากเซ แขวงจำปาสัก เพื่อดูงานอสังหาริมทรัพย์ ได้พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจและถือโอกาสท่องเที่ยวด้วย โดยผมเองเป็นคนจัดในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 25 คน ได้ทั้งความสนุกสนามและความรู้ รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ที่ลาว และกลับมาในค่ำวันที่ 18 มิถุนายน โดยคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ผมคงได้ไปจัดอบรมหรือสัมมนาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าว

            จากนั้นในระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 ผมก็ได้รับเชิญจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติเวียดนามที่นายกสมาคมต้องมาจากภาครัฐ โดยเคยเป็นรัฐมนตรีและคณะกรรมการพรรคสาขาฮานอยมาก่อน รวมทั้งได้ร่วมงานเลี้ยงของสมาคมนายหน้าเวียดนามที่มีสมาชิกนับหมื่นคน  ผมเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม จัดทำ Roadmap การประเมินค่าทรัพย์สินเวียดยาม ทำให้เขามีมาตรฐานวิชาชีพแล้ว แต่ไทยเรายังไม่มีเลยจนบัดนี้ ผมยังได้ทำแบบสอบถามความเห็นของนักวิชาชีพที่ฟิลิปปินส์เพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย เมื่อวิจัยเสร็จจะได้นำเสนต่อไป

            และล่าสุดในระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 ผมก็ไปนครเซบู ฟิลิปปินส์ โดยใน 2 วันแรก ผมไปสอนวิชาการประเมินค่าทรัพย์สิน นับเป็นการสร้างชื่อให้กับประเทศไทยโดยตรง เป็นผู้ลงนามในวุฒิบัตรและมอบวุฒิบัตรด้วย  ผมเคยไปสอนมาแล้วหลายประเทศ ทั้งกัมพูชา ญี่ปุ่น เนปาล ลาว บราซิล บรูไน เมียนมา ยูกันดา ยูเครน เวียดนาม สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และอื่นๆ  จากนั้นในช่วงถัดมาก็เป็นการสัมมนาอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ โดยผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรร่วมบรรยายด้วยอีกต่างหาก  และแน่นอนก็ได้เครือข่ายมามากมายเช่นกัน

            บางทีการเดินทางไปต่างประเทศอาจจะเหนื่อยสักหน่อย เราก็ต้องพยายามฟิตตัวเองไว้ และการสร้างเครือข่ายนี้ก็จะทำให้เราไม่ใช่เป็นแค่แบรนด์ระดับประเทศ แต่เป็นในระดับภูมิภาและระดับโลก เป็นการกระจายความเสี่ยง แสวงหาโอกาสและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

 

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 655 คน กำลังออนไลน์