อย่าให้ใครหลอกไปซื้อบ้านในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น

รูปภาพของ pornchokchai
อย่าให้ใครหลอกไปซื้อบ้านในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น
  AREA แถลง ฉบับที่ 200/2566: วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            พวกนายหน้าข้ามชาติ มักจะชวนให้เราไปซื้อบ้านในต่างประเทศกันมากมาย หลายคนมองว่าเป็นการลงทุนที่ดี แต่นั่นอาจเป็นกับดักก็ได้ เรามาดูกันให้ดีๆ

            อังกฤษ

            เศรษฐีหลายคนถูก “หลอก” ให้ไปซื้อบ้านในอังกฤษ นัยว่าจะได้ดูดีเป็นเศรษฐีผู้ดีอังกฤษ และเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ค่าใช้จ่ายมีมากมาย เช่น ค่านายหน้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ค่าเงินดาวน์สำหรับเงินผ่อนบ้านประมาณ 5-20% ค่าธรรมเนียมในการจำนอง นายหน้าจำนอง ค่าธรรมเนียมรังวัด ค่าธรรมเนียมทนายความหยุมหยิมไปหมด ส่วนภาษีซื้อ เช่น ถ้าซื้อบ้านในราคา 925,001-1.5 ล้านปอนด์ (38 – 62 ล้านบาท) ต้องเสียภาษี 10% สำหรับบ้านหลังแรก และ 13% สำหรับบ้านหลังที่สอง ถ้าซื้อในราคาที่สูงกว่านี้ ก็ต้องเสีย 12%-15% เลยทีเดียว

            สำหรับสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในสหราขอาณาจักรนั้น ราคาเพิ่มขึ้นถึง 12.6%  ในรอบปี (ตุลาคม 2564-2565) แสดงว่าตลาดอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ราคาบ้านในสหราชอาณาจักรเป็นเงินหน่วยละ 296,000 ปอนด์ (12 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30,000 ปอนด์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในอังกฤษ ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 13.2% เวลส์ 11.8% สกอตแลนด์ 8.5% และไอร์แลนด์เหนือ 10.7%

            เยอรมนี

            เช่นเดียวกับอังกฤษมีการเก็บภาษีหยุมหยิมไปหมด นอกจากนั้นยังเสียภาษีซื้อประมาณ 3.5% - 6.5% อีกด้วย และค่าจดทะเบียนและทนาย 1.5% - 2.0% ยังมีค่านายหน้าอีกประมาณ 7.0% ภาษีเหล่านี้เสียเฉพาะตอนซื้อ ส่วนเมื่อครอบครองแล้ว ยังต้องเสียภาษีอีกมาก ซึ่งจะได้แจกแจงในส่วนต่อไป ตลาดที่อยู่อาศัยในเยอรมีก็ยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” เพราะราคาบ้านเพิ่มขึ้น 10.2% ในรอบ 1 ปีล่าสุด แม้ตอนนี้ราคาบ้านจะไม่ร้อนแรงเท่าเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยังมีอัตราเพิ่มที่สูงกว่าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นปีละ 3-4% เท่านั้น

            อื่นๆ

            การซื้อบ้านในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ก็สามารถซื้อได้เช่นกัน แต่อาจมีข้อจำกัด ยิ่งไม่ได้เป็นเป็นพลเมืองในอียู โดยเฉพาะเป็นคนในภาคพื้นเอเชียไปซื้อก็อาจมีข้อจำกัดเช่นกัน ในไซปรัส เขาคิดภาษีจากการซื้อสูงถึง 19% ซึ่งอาจถือว่าสูงสุดแห่งหนึ่งในยุโรป การซื้อบ้านในประเทศในยุโรป ก็ใช่ว่าจะได้รับสิทธิการได้ถิ่นฐานในประเทศนั้นๆ ซึ่งต้องแยกออกจากกัน เป็นต้น

            สหรัฐอเมริกา    

            ต้นทุนในการซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกาก็คล้ายกับในยุโรป และอาจระบุเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ เช่น ค่านายหน้าในฝั่งคนซื้อประมาณ 3% ค่าตรวจสอบเอกสารสิทธิ์และประกันประมาณ 0.5% - 1 % ค่าจดทะเบียนทรัพย์ประมาณ

0.2% - 0.5% ค่าทนายและค่าใช้จ่ายด้านข้อกฎหมาย 0.5% - 1% ของราคาทรัพย์สินที่เราซื้อจริง ราคาประเมินของทางราชการและราคาซื้อขายจริงจะใกล้เคียงกันมาก ไม่ใช่ต่างกันแบบ “ฟ้ากับเหว” เช่นในกรณีประเทศไทย

            สำหรับราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา เป็นเงินเฉลี่ยหน่วยละ 382,000 บาท หรือ 13 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา เริ่มตกต่ำลงเดือนละ 1% ซึ่งอาจทำให้เห็นว่าวิกฤติราคาบ้านในสหรัฐอเมริกากำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกับในช่วงโควิด-19 เมื่อ พ.ศ.2563-2565 ราคาบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสวนกระแสจริง

            ญี่ปุ่น

            จะซื้อบ้านในญี่ปุ่นก็คล้ายกับในสหรัฐอเมริกา คือต้องเสียค่านายหน้า 3% ไม่ใช่ว่าผู้ขายจะเสียฝ่ายเดียวและผู้ซื้อไม่ต้องเสียเช่นในประเทศไทย ภาษีในการโอน-จดทะเบียนทรัพย์สิน ค่าธรรมเนียมบริการทางกฎหมายต่างๆ นอกจากนี้ยังมีภาษีซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกราว 3% ต่างหาก สมมติเราซื้อบ้านที่เพิ่งสร้างใหม่ก็จะเสียภาษีประมาณ 1.5% ของราคาที่ดินตามราคาประเมินราชการ (ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด) และ 0.4% ของราคาอาคาร และยังมีภาษีท้องถิ่นอีกต่างหาก

            สำหรับราคาบ้านในญี่ปุ่นในรอบ 1 ปีล่าสุด (ไตรมาสที่ 3/2564-2565) เพิ่มขึ้น 8.2% นับว่าเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป  จากประสบการณ์การพาคณะไปดูงานอสังหาริมทรัพย์นับสิบครั้งที่ผ่านมาทั้งในโตเกียวและโอซากา ปรากฏว่าที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นน่าอยู่ สงบสุขและเป็นระเบียบมาก ที่สำคัญห้องชุดหรูๆ ราคาก็ไม่แพง (ประมาณ 300,000 บาทต่อตารางเมตร) เมื่อเทียบกับในกรุงเทพมหานครที่บางแห่งราคาสูงถึง 600,000-800,000 บาทต่อตารางเมตร เพียงแต่คนนอกเช่นคนไทยอาจจะกลัวเรื่องแผ่นดินไหว หรือความหนาวเย็นบ้าง

            ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

            ในการซื้อบ้านในประเทศตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังต้องเสียภาษีอีกหลายประการ เช่น

            1. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประมาณ 1% ต่อปีตามราคาตลาดของที่อยู่อาศัยที่เราซื้อ เช่น ผู้ว่าฯ ชัชชาติมีบ้านในสหรัฐอเมริกาที่มีราคา ณ วันนี้ประมาณ 70 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีประมาณ 700,000 บาททุกปี (ล้านละ 100,000 บาท) แต่ถ้าต่างชาติมาซื้อบ้านหรู 70 ล้านบาทในไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษีนี้ เพราะราคาประเมินราชการอาจจะเพียง 20-40 ล้านบาท ของไทยจะเสียภาษีหากบ้านหลังแรกที่ซื้อมีราคา 50 ล้านบาทตามราคาประเมินราชการ และจะเสียภาษีราวล้านละ 200 บาท!

            2. ภาษีกำไรจากการขาย เช่น ผู้ว่าฯ ชัชชาติซื้อบ้านมาในราคา 30 ล้านบาท แต่ขณะนี้หากขายเป็นเงิน 70 ล้านบาท ส่วนกำไร 40 ล้านบาทนั้น 8 ล้านบาทแรกไม่ต้องเสีย ส่วนที่เกิน คือ 32 ล้านก็จะเสียภาษีประมาณ 20% ยิ่งถ้าเป็นผู้มีรายได้สูงก็จะเสียเพิ่มอีก 3.8% แต่ที่ประเทศไทย แทบไม่เก็บและเก็บจากราคาประเมินราชการ คนรายได้สูงๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษีมากเช่นในสหรัฐอเมริกา

            3. ภาษีมรดก ก็ต้องเสียกันหนักมากในยุโรปและอเมริกา ยิ่งถ้าเป็นในญี่ปุ่นนั้นยิ่ง “น่ากลัวมาก” เช่น ถ้าเรามีบ้านเป็นกองมรดก ต้องเสียภาษีดังนี้

  • ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท เสียภาษี 10%
  • 2.51-7.5 ล้านบาท เสียภาษี 15%
  • 7.51-12.5 ล้านบาท เสียภาษี 20%
  • 12.51-25 ล้านบาท เสียภาษี 30%
  • 25.1-50 ล้านบาท เสียภาษี 40%
  • 50.1-75 ล้านบาท เสียภาษี 45%
  • 75.1-150 ล้านบาท เสียภาษี 50%
  • 150.1 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 55%

            แต่สำหรับประเทศไทย เก็บภาษีมรดกก็ต่อเมื่อกองมรดกมีราคา 100 ล้านบาทตามราคาประเมินราชการ (หรืออาจสูงถึง 300 ล้านบาทตามราคาตลาด) และเก็บในอัตราต่ำมากเพียง 5% แถมถ้าระหว่างมีชีวิตอยู่ ยกให้ทายาทปีละ 20 ล้านบาท ค่อยๆ ผ่องถ่ายไป ก็ไม่เสียภาษี

            4. นอกจากนั้นยังมีภาษีจากการซื้อ เช่น ในสิงคโปร์กำหนดไว้ที่ 30-35% ฮ่องกง 30% เป็นต้น

            ดังนั้นการไปซื้อบ้านในต่างประเทศ ก็เท่ากับเราไปติดกับดักโดยแท้ แต่ถ้าเรามีเงินมากมายเพียงพอ โดยเฉพาะเงินสีเทา ก็ควรไปซื้อไว้ฟอกเงินได้

            ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือการเอาใจคนรวยของประเทศไทย ทำให้ต่างชาติที่มาซื้อบ้านในไทยสบายใจเพราะแทบไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับเราขายชาติชัดๆ

 

 

 

 

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 485 คน กำลังออนไลน์