มาตรการเพื่อการซื้อบ้านในไทยของคนต่างชาติ

รูปภาพของ pornchokchai
มาตรการเพื่อการซื้อบ้านในไทยของคนต่างชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 186/2566: วันพุธที่ 08 มีนาคม 2566

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

 

            มาตรการเพื่อการซื้อบ้านในไทยของคนต่างชาติควรจะเป็นสากล เพื่อว่าประเทศไทยจะได้ไม่เสียเปรียบประเทศอื่น

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ประเมินว่าในปี 2566  จะมีชาวต่างชาติซื้อห้องชุดในไทย 7,700 หน่วย คิดเป็น 14% เฉพาะชาวจีนซื้อ 4,400 หน่วย คิดเป็น 8% ของจำนวนหน่วยห้องชุดทั้งหมดที่เปิดขายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

หรือประมาณ 53.3% ของที่อยู่อาศัยที่ซื้อโดยคนต่างชาติ อิทธิพลจีนจึงสูงมาก

            อย่างไรก็ตามหากต้องการส่งเสริมให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในไทย และสร้างประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรมีมาตรการที่รัดกุมไม่ให้ชาวต่างชาติเอาเปรียบหรือแย่งคนไทยซื้อที่อยู่อาศัย

 

            สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกซื้อบ้านของคนต่างชาติ รวมทั้ง “จีนสีเทา” ด้วย ก็เช่น

            1. การปราบปรามการใช้นอมินี (Nominee) โดย ซื้อขายบ้านแบบจดทะเบียนเป็นบริษัท โดยมีคนไทยที่มักถูกทำสัญญากู้ยืมเงินไว้เพื่อกันการ “เบี้ยว” 49% เป็นของคนจีนรายที่ซื้อ 49% และเป็นของบริษัทกฎหมายอีก 2% การซื้อขายบ้านในลักษณะนี้ทั้งหมู่บ้านแสดงถึงความต้องการเลี่ยงกฎหมายชัดเจน ต้องเพิกถอนบริษัทเสีย จับคนจีนรายนั้น และคนไทยรวมถึงบริษัทกฎหมายมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างจริงจัง รายอื่นๆ ที่คิดจะทำก็จะเลิกไป การใช้นอมินีนี้ ยังทำให้รัฐบาลไม่ได้ภาษีและค่าธรรมเนียมโอน จึงไม่ได้เงินภาษีมาพัฒนาประเทศแต่อย่างใด

 

            2. การปรับปรุงระบบภาษีเฉกเช่นกรณีคนไทยไปซื้อบ้านในยุโรปและอเมริกา เช่น

            2.1 ให้ต่างชาติเสียภาษีซื้อ ซึ่งอาจกำหนดไว้ 20% โดยไซปรัสกำหนดไว้ 19% ฮ่องกงกำหนดไว้ 30% และสิงคโปร์กำหนดไว้ 30-35% เป็นต้น

            2.2 ให้ต่างชาติเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 1% ของราคาตลาด ไม่ใช่ 0.02% ของราคาประเมินราชการ เฉกเช่นที่คนไทยไปซื้อบ้านในต่างประเทศ

            2.3 ให้ต่างชาติเสียภาษีกำไรจากการขายต่อ 20%

            2.4 ให้ต่างชาติเสียภาษีมรดก เช่น 10-50% ของราคาตลาดของกองมรดกในอัตราก้าวหน้า เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีกองมรดกที่มีมูลค่าเกินกว่า 150 ล้านบาทสูงถึง 55% เป็นต้น

 

            3. มีข้อกำหนดตามสากลอื่นๆ เช่น

            3.1 กำหนดราคาขั้นต่ำที่คนต่างชาติจะซื้อบ้านได้ เช่น มาเลเซียกำหนดไว้ที่อย่างน้อยราคา 1-2 ล้านริงกิต (ประมาณ 8-16 ล้านบาท)

            3.2 ห้ามต่างชาติซื้อบ้านมือสองเพื่อป้องกันไม่ให้มาแย่งซื้อจากคนไทย โดยอีกนัยหนึ่งให้ขายต่อเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น หมายความว่าต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรหรือห้องชุดได้ แต่คนซื้อต้องเป็นคนไทยเท่านั้น เป็นต้น ทั้งนี้ในออสเตรเลียก็กำหนดไว้เช่นนี้ และถ้าต่างชาติรายใดละเมิดจะถูกปรับ 3 ล้านบาทและติดคุก 3 ปี

            3.3 ห้ามขายต่อภายในกำหนด 3 ปีแรก โดยไต้หวันกำหนดไว้เพื่อป้องกันการซื้อขายเก็งกำไร ซึ่งเป็นการสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ

 

            4. ห้ามต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลนิวซีแลนด์ และแคนาดา เพื่อป้องกันกระแสการโหมซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนจีน

            5. ใช้มาตรการแบบเดียวกับรัฐบาลจีนใช้กับคนจีนทุกคนในประเทศจีน ก็คือกำหนดเวลาครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในไทย ไม่เกิน 70 ปีไม่ใช่ซื้อขายขาด

            6. เลิกประกาศตั้งแต่ปี 2542 ของรัฐบาลที่ให้ต่างชาตินำเงินเข้ามา 40 ล้านบาท ก็ซื้อที่เพื่อการอยู่อาศัยได้ 1 ไร่ เพราะที่ผ่านมามาตรการแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้มีการซื้อขายจริง แต่ในอนาคตจีน อินเดียและตะวันรออกกลางมีกำลังซื้อที่เข้มแข็งจริงแล้ว คงจะมากอบโกยที่ดินในไทยเป็นอย่างมาก

            7. เลิกมาตรการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 6/2565 ที่ให้ต่างชาติซื้อที่ดินนิคมอุตสาหกรรมได้ 5 ไร่เพื่อประกอบการ 10 ไร่ เพื่อการอยู่อาศัยของผู้บริหารต่างชาติ และ 20 ไร่ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนงานของกิจการนั้นๆ (ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ติดกัน) เพราะเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้ต่างชาติมาซื้อครอบครองที่ดินไทยโดยตรง

 

            8. แก้ไข พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เช่น 

            8.1 ให้เลิก มาตรา 35 ที่ให้สํานักงานและผู้ซึ่งทําธุรกรรมกับสํานักงานในกิจการเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์บรรดาที่กฎหมายกําหนดให้ต้องมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายนั้น

            8.2 ให้เลิก มาตรา 49 ที่ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รบอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน (และ) ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจํากัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

            8.3 ให้เลิก มาตรา 52 ที่ว่า การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ มิให้นําความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ (และ) การเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ทําสัญญาเช่าเป็นกําหนดเวลาเกินห้าสิบปี ถ้าได้ทําสัญญากันไว้เป็นกําหนดเวลานานกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นห้าสิบปี การต่อสัญญาเช่าอาจทําได้แต่จะต่อสัญญาเกินสี่สิบเก้าปีนับแต่วันครบห้าสิบปีไม่ได้

            8.4 ให้เลิก มาตรา 58 ที่ว่า ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ. . .มีสิทธิ ดังต่อไปนี้

            (1) ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด

            (2) สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชําระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ. . .

            8.5 ให้เลิกมาตรา 59 ที่ว่า

            (1) ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกําหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด สามารถประกอบวิชาชีพนั้นเพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด

            (2) สิทธิและประโยชน์อื่นตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย. . .

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2566 หน้า 1และ 9

 
 
 
 
 
 


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 585 คน กำลังออนไลน์