คว้าทุนเกาหลีเรียนต่อโซล

          รอฟังข่าวดีมาตั้งแต่ปีก่อน ในที่สุดอาจารย์กนกกร ตัลยารักษ์ ก็ผ่านฉลุย ได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศเกาหลีในปีการศึกษานี้
          “การศึกษาวันนี้” ค่อนข้างคุ้นเคยกับอาจารย์กนกกร หรืออาจารย์นก ในฐานะนักเขียนอีกคนหนึ่งของนิตยสารการศึกษาวันนี้ ที่ได้ส่งผลงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกับอาจารย์สิทธินี ธรรมชัย ให้กับสำนักพิมพ์ ในคอลัมน์ที่มีชื่อว่า “เล่าเรื่องเมืองกิมจิ” ปัจจุบันคอลัมน์นี้ยังนำเสนออย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามได้จากการศึกษาวันนี้ทุกสัปดาห์ หรืออ่านฉบับย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์
www.elearneasy.com
          เป็นความตั้งใจของอาจารย์นกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ที่อยากบินเดี่ยวไปเกาหลี
          ไป..เพื่อหาความรู้ ไม่ใช่ไป..เพื่อตามความคลั่งไคล้ในกิมจินิยม และก่อนหน้านี้ก็เคยมีโอกาสไปเรียนภาษาเกาหลีมาแล้ว 1 ปี
          อาจารย์นกจบเอกภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2546 เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งเลขานุการ ทำหน้าที่เป็นล่ามเกาหลี “ทำ ๆ ไปรู้ว่าความรู้ด้านภาษาเกาหลีไม่พอ จึงไป take course ภาษาที่ Kyong hee University กรุงโซล ประมาณ 1 ปี เลือกไปที่นี่เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ดูแลนักเรียนต่างชาติดี พอไปแล้วมีบัดดี้ให้ เป็นชาวเกาหลี คอยช่วยเหลือการบ้าน หรือสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรม”
         
ทุนพัฒนาครูสอนเกาหลี
          แม้จะเรียนมาโดยตรงทางด้านภาษาเกาหลี สิ่งที่อาจารย์นกมองว่าควรหาความรู้เพิ่มเติม คือ ความรู้ด้านการสอน การจัดทำหลักสูตร จึงตัดสินใจขอทุน Foundation’s Fellowship for Korean Language Education จากองค์กร Korea Foundation รัฐบาลเกาหลี ซึ่งเป็นปีที่สองของการประกาศให้ทุน และเป็นปีที่สองเช่นกัน ที่อาจารย์นกสมัครขอรับทุนนี้ โดยในปีนี้มีจำนวนทุนที่มอบให้ทั่วโลก 3 ทุน
          อาจารย์นกอาจจะพลาดไปเมื่อปีก่อน แต่ปีนี้ความพยายามก็สำเร็จ และเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับทุนครั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับทุนเมื่อปีที่แล้ว เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
          คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัคร ต้องผ่านการสอบวัดระดับภาษาเกาหลี ระดับ 5
          ผู้ที่ได้รับทุน Foundation’s Fellowship for Korean Language Education จะต้องเข้าศึกษาต่อที่ Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล) กรุงโซล มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศ วัตถุประสงค์ของทุนดังกล่าว ต้องการพัฒนาครูสอนภาษาเกาหลี เนื่องจากมีคนจบปริญญาตรี สอนภาษาเกาหลีจำนวนมาก
          “ทุนนี้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายประจำเดือน 1 ล้านวอนต่อเดือน หรือประมาณ 4 หมื่นบาท (100 วอน 4 บาท) คิดว่าเยอะนะ เพราะค่าเงินสูงกว่าบ้านเรา 3-4 เท่า ขึ้นอยู่กับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้วย เงินที่ให้ 1 ล้านวอน ผู้รับทุนต้องไปจัดสรรเอง ทั้งค่าอาหารและที่พัก”
          “หลักสูตรที่ไปเรียนเป็นหลักสูตรปริญญาโท ใช้เวลาเรียน 2 ปี เนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการสอนภาษาเกาหลีให้คนต่างประเทศ ซึ่งสนใจด้านนี้อยู่แล้ว”
          อยากได้อะไรกลับมา
          ถ้าอาจารย์นกเดินทางไปเรียนหลักสูตรนี้ด้วยเงินในกระเป๋าตัวเอง อาจต้องจ่ายมากถึงเทอมละ 3.5 ล้านวอน ทุนนี้จึงน่าสนใจในแง่ที่เป็นทุนให้เปล่า และให้การสนับสนุนสำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์
          “เขาถามว่าจบมาอยากเป็นอะไร ถ้าอยากเป็นอาจารย์จะส่งเสริมมากเป็นพิเศษ ก็ควรจะกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยให้ได้อย่างน้อย 5 ปี หลังจากทำงานที่นี่ (มศว) มาแล้ว 3 ปี”
          “สิ่งที่อยากได้คือสิ่งที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย การใช้ชีวิต การปฏิเสธ การตอบรับ มารยาททางสังคมของเกาหลี เช่น คนไทยอาจแค่พูดว่าขอบคุณ แต่คนเกาหลีมีคำพูดมากกว่านั้น เช่น ขอบคุณนะคะที่วันนี้มารบกวนเวลา  หรือขอบคุณนะคะที่อุตส่าห์เสียเวลามาวันนี้”


         
การหาที่พัก
          อาจไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินทาง แต่ก็รู้สึกอดตั้งคำถามถึงการเตรียมความพร้อมเมื่อต้องเดินทางกลับไปในดินแดนที่คุ้นเคยอย่างเกาหลีไม่ได้ เรื่องความเป็นอยู่ อาจารย์นกอาจได้เปรียบตรงที่มีเพื่อนทั้งคนไทยและเกาหลีอยู่ที่แดนโสม การหาที่พักไม่ใช่เรื่องใหญ่ และที่สำคัญคือชอบกินอาหารทุกชนิดในเกาหลี
          “หอพักมีหลายแบบ เช่น หอพักในมหาวิทยาลัย แต่มีค่อนข้างจำกัด เด็กต่างชาติต้องอยู่หอต่างชาติ ซึ่งมีเวลาเข้าออก อีกประเภทหนึ่งคือโฮมสเตย์ ภาษาเกาหลีเรียกว่า ฮาซุกจิบ มีอาหารให้ตอนเช้าและตอนเย็นสองมื้อ ราคาประมาณ 5-6 แสนวอน กำหนดเวลาอาหารเช้ากี่โมง เย็นกลับมากินกี่โมง จึงไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว มีเว็บนายหน้าหาที่พักเหมือนกัน แต่ไม่เคยใช้วิธีนั้น ส่วนใหญ่เพื่อนที่นั่นช่วยหาให้ สำหรับบางคนมีเงินก้อน สามารถเช่าห้องอยู่ จ่ายเป็นเงินก้อน 50 ล้านวอน และเสียค่าน้ำค่าไฟในแต่ละเดือน พอคืนห้องเขาจ่ายคืนให้ 50 ล้านวอน เหมาะสำหรับคนมีเงินก้อน อีกประเภทคือ ชาชีปัง ห้องพักทั่วไป พักแบบจ่ายมัดจำก่อน 1 ล้านวอน สัญญา 6 เดือน แต่ละเดือนจ่ายค่าเช่า 2-3 แสนวอน พอตอนออกได้เงินมัดจำคืน 1 ล้านวอน สำหรับราคาที่พักในเกาหลี 3-4 แสนวอน ประมาณ 12,000 บาท เทียบกับบ้านเรามีทั้งแอร์ เตียง ตู้เย็น แต่ที่เกาหลีมีแค่ห้องเปล่า อย่างมากได้เตียงกับตู้ขนาดเล็กมาก”
         
เตรียมตัวก่อนเดินทาง
          “อาหารแห้งสำคัญมาก เช่น น้ำพริก หมูหยอง มีติดไปบ้าง แต่หลักการนำเข้าประเทศ ไม่ให้เอาเนื้อหมูเข้า แต่ถ้าแพ็กใส่กระเป๋าเสื้อผ้าไม่ตรวจ ถ้าใส่ลัง เขาอาจรื้อลัง แต่ทุกอย่างหากินได้ที่เกาหลี ที่นั่นมีเอเชียมาร์ท แม้กระทั่งผักชีก็หาซื้อได้”
          “ของที่ระลึกที่เตรียมไปด้วย มีที่คั่นหนังสือ และพวงกุญแจ ส่วนความเป็นไทยเป็นไปโดยอัตโนมัติ เวลาคุยกับคนเกาหลี เรารู้ว่าเขาเป็นแบบไหน เช่นเดียวกับคนเกาหลีเจอคนไทย จะรู้ว่าคนไทยเป็นแบบไหน”
         
งานพาร์ตไทม์
          งานพาร์ตไทม์ที่สามารถหารายได้พิเศษระหว่างเรียนอยู่ที่เกาหลีได้ เช่น เป็นล่ามให้กับคนไทย หรือเป็นไกด์ วิธีหางาน อาจารย์นกแนะนำว่าใช้วิธีบอกปากต่อปาก หรือมีคนแนะนำจากมหาวิทยาลัยที่ทำงานอยู่ สำหรับรายได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้าง
         
แหล่งท่องเที่ยว
          ย่านท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด นอกจากเกาะเชจู หรือเชจูโด เกาะนามิ ก็มีที่มยองดง เทียบได้กับสยามสแควร์ มีความนำสมัยทั้งแฟชั่นเกาหลี เสื้อผ้า ความบันเทิง อาหาร ถ้าอยากท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ต้องไปเที่ยวถนนสายวัฒนธรรม อินซาดง ประสบการณ์ทั้งเรียนและเที่ยวที่เกาหลี แน่นอนว่าประโยชน์ที่ได้อย่างไม่รู้ตัวคือ รู้ภาษามากขึ้นนอกเหนือจากความรู้ในห้องเรียน
          “เวลาเรียนในห้อง รู้แค่ในห้อง ตอนที่ไปเรียนเกาหลี 1 ปี สื่อสารกับอาจารย์ในห้องรู้เรื่อง พอไปพูดกับแม่ค้า คนขายนาฬิกา หรือตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) เขาไม่เข้าใจ ทำไมเขาฟังเราไม่รู้เรื่อง ต้องปรับสำเนียงภาษาอีกเยอะ”
          วางแผนกลับไทยไหม
          “ช่วงแรกอาจไม่กลับ ได้ยินเพื่อนที่นั่นบอกว่าเรียนหนักสุด ๆ อาจรอเวลาสักสองเทอมค่อยกลับ”
         
เป้าหมายหลังจากเรียนจบ
          “เป็นอาจารย์ต่อไป แม้จะไม่เคยคิดว่าอยากเป็นครูมาก่อน เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นครู แม่สอนนักเรียนประถม พ่อเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ภูเก็ต เราฝังใจ โตขึ้นทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่อาจารย์ ไปเป็นเลขาฯ อยู่ช่วงหนึ่ง รู้สึกว่าไม่ชอบ ไม่ใช่ พอได้มาเป็นอาจารย์ มีความรู้สึกว่าใช่ ชอบ”
          “เมื่อก่อนเป็นคนเรียนไม่เก่ง ได้เกรด 2 กว่า มีความคิดว่าจะเป็นอาจารย์ต้องได้เกียรตินิยม พอได้คะแนนขนาดนี้ เราจะตกงานไหม เป็นดวงของคนด้วย ตอนที่ไปสัมภาษณ์เลขาฯ สถานทูตติดต่อไปที่มหาวิทยาลัย เขาเลือกจากนักศึกษา 21 คน เหลือ 3 คน ไม่รู้วัดจากอะไร พอเรียนจบไปสอบสัมภาษณ์ ในจำนวน 3 คน เราคะแนนแย่สุด คนอื่นได้เกรด 3 กว่า คิดว่ารู้เลยผลคืออะไร ตอนไปสัมภาษณ์ได้รับแจ้งว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก คือ กนกกร มีความรู้สึกว่าทำไม ไม่คิดว่าจะได้ เรียนก็ไม่เก่ง เขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเราสงสัยอะไรก็ถาม ไม่เข้าใจอะไรก็บอกไม่รู้ คนเกาหลีชอบคนตรง พูดตรง ๆ และรับสภาพความกดดันได้ดี เพราะบางทีตำหนิค่อนข้างแรง เรายอมรับ ทำให้รู้ว่าการทำงานของเกาหลีชอบคนตรง ๆ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ คนไทยชอบการประนีประนอมมากกว่า”
          “พอมาเป็นอาจารย์ ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่พอได้สอน เราเข้าใจความรู้สึกของเด็กที่เรียนอ่อน เพราะอาจารย์ที่เรียนเก่ง มักไม่เข้าใจว่าเด็กเรียนอ่อนเป็นอย่างไร หรือไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้เวลาเรามาสอนจริง จุดที่เขาไม่เข้าใจ เราสามารถอธิบายได้อย่างละเอียด เออ! ใช่เรา ชอบการสอน”
          งานของอาจารย์นกไม่ได้มีแค่การสอนหนังสือเท่านั้น ยังมีงานแปลการ์ตูนเพื่อการศึกษาเป็นผลงาน 5-6 เล่ม และมีความตั้งใจว่าเรียนจบเมื่อไหร่น่าจะมีผลงานแปลมากกว่านี้
          วัยของอาจารย์นกเพิ่งเรียนจบไม่กี่ปี อายุใกล้เคียงกับนิสิต เคล็ดลับสำคัญจึงอยู่ที่การวางตัว และการใช้วาจาที่แสดงถึงความเป็นผู้นำ
         
การหาข้อมูลไปเรียนต่อเกาหลี
          “หาได้ไม่ยาก ประเทศทางตะวันตกอย่างอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นอย่างไรไม่รู้ เพราะไม่เคยหาข้อมูล  แต่ทางเกาหลี ตอนนี้กำลังโปรโมต ทำให้มีทุนการศึกษาและข้อมูลข่าวสารเยอะ สามารถค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ต อาจไม่มีเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับทุนโดยตรง ถ้าสนใจให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือเว็บของ Korea Foundation จากนั้นคลิก scholarship และถ้าสนใจไปเรียนต่อเกาหลี ตัดสินใจไปได้ในทุกช่วงวัย แต่ถ้ากำลังเรียนในระดับมัธยมศึกษา การรับรู้ภาษาต่างชาติจะไปได้เร็วกว่าผู้ใหญ่”
         
อาหารเกาหลีที่ไทยกับเกาหลีต่างกันไหม
          “ในเมืองไทย ชาวเกาหลีอาจเป็นคนทำอาหารเอง ทำให้รสชาติอาจไม่แตกต่าง แต่บรรยากาศตอนกินที่เกาหลีอร่อยมากกว่า”
         
คนไทยเริ่มไปเรียนเกาหลีเยอะขึ้น
          “ส่วนใหญ่ไปเรียนภาษา ส่วนหนึ่งบ้าดารา เพื่อจะได้ดูซีรี่ส์รู้เรื่อง”
         
ถ้าเจอคนเกาหลีในเมืองไทยมีวิธีพูดอย่างไร
          “คนเกาหลีไม่เข้าใจว่าพูดเล่นคืออะไร เพราะเขาจริงจัง แรกพบควรพูดสุภาพมากที่สุด เพราะวัฒนธรรมเขาค่อนข้างมีภาษาสุภาพ และรักษามารยาทมาก ๆ”
       
   ภาษาเกาหลีอยู่ในเทรนด์
          “ใครอยากเรียนเกาหลีต้องรีบเรียน เพราะยังอยู่ในกระแส ไม่ใช่ตามกระแสนะ ถ้าคิดว่ากลัวตกงาน ตลาดเกาหลีมาแรง เท่าที่รู้คนเรียนจบไปไม่มีใครตกงาน”
          ข้อมูลปัจจุบัน มศว มีลูกศิษย์ใหม่เอกเกาหลีรุ่นนี้ประมาณ 30 คน เป็นหนึ่งใน 13 วิชาเอกของคณะมนุษยศาสตร์ และเป็นวิชาเอกที่ได้รับความนิยมจากจำนวนผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่เรียนจบแล้วอยากเป็นไกด์ ล่าม แอร์โฮสเตส มีส่วนน้อยมากที่อยากเป็นอาจารย์ ซึ่งความรู้ภาษาเกาหลีของนิสิตปี 3 สามารถรับจ๊อบพิเศษ สอนคนเกาหลีพูดไทยได้แล้ว
          กำหนดการเดินทางไปร่ำเรียนที่เกาหลีของอาจารย์นก คือ เดือนสิงหาคม ทางทีมงานยังเชิญอาจารย์ส่งงานเขียนในบรรยากาศแดนโสมจริง ๆ มาฝากผู้อ่านนิตยสารการศึกษาวันนี้
          แอบกระซิบถามอาจารย์นกไปแล้ว บินไปคราวนี้สงสัยจะไม่ได้แอบปิ๊งหนุ่ม ๆ กิมจิ เพราะไม่ใช่สเปก แต่ถ้าถามสาว ๆ รุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่นั่งกรี๊ดหน้าทีวี.ในเมืองไทย คงยกมือกันให้พรึ่บ เอาหนุ่ม ๆ มาฝากด้วยคน!!!
         
ปิดท้ายด้วยประโยคที่ลักจำมาฝากคนอ่าน เผื่อบังเอิญพบชาวเกาหลีในเมืองไทย
          มัน-นา-ซอ-พัน-กับ-ซึม-นีดา/ยินดีที่ได้รู้จัก
          โต๊ะ-เพบ-เกิด-ซึม-นี-ดา/พบกันใหม่


ข้อมูลจาก นิตยสารการศึกษาวันนี้ ฉบับ 386 คอลัมน์พิชิตทุน โดย ป.วรัตม์ watta.ryo@gmail.com www.elearneasy.com

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 307 คน กำลังออนไลน์