โลกร้อน โรคร้าย ภัยสาธารณะ
ย่างเข้าหน้าร้อนอีกแล้ว ปีนี้อากาศไต่ระดับความร้อนพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ ที่เป็นเช่นนี้ ต่างก็ลงความเห็นกันว่าเป็นเพราะ "โลกร้อน" หลายฝ่ายจึงออกมารณรงค์ต้านโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกก็เช่นกัน ได้ออกมาเตือนให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม "ร่วมกันลดภาวะโลกร้อน" เนื่องในวันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี
โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญ วันอนามัยโลกว่า "รักษ์สุขภาพอนามัยพร้อมใจต้านโลกร้อน" (Protecting Health from Climate Change) เพื่อให้ ทุกประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันแก้ไขสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน
ที่องค์การอนามัยโลกออกมารณรงค์ในเรื่องนี้ เพราะภาวะโลกร้อนนั้นได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชากรโลก ทำให้อัตราป่วยและตายเพิ่มสูงขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือคลื่นความร้อนทำให้เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจเจ็บป่วยและเสีย ชีวิตสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำเพิ่มมากขึ้น จากการขาดแคลนน้ำและอาหารสะอาด รวมทั้งการระบาดของโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออกและไข้มาลาเรียก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข ไม่เข้มแข็งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ในประเทศไทยมีสัญญาณภัยสุขภาพที่เป็นผลจาก โลกร้อนที่สำคัญ เช่น ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า การระบาดของโรคไข้เลือดออกในรอบ 3 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 30 ไข้มาลาเรียผู้ป่วยเพิ่มจาก 28,962 ราย ในปี 2549 เป็น 31,001 ราย ในปี 2550 โดยในรอบ 3 เดือนปีนี้พบ ป่วยแล้ว 3,023 ราย เสียชีวิต 10 ราย ส่วนอหิวาตกโรคในปี 2550 มีผู้ป่วย 988 ราย เสียชีวิต 7 ราย รอบ 3 เดือนปีนี้ พบแล้ว 32 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ประชาชนทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องพร้อมรับมือกับภัยสุขภาพที่มากับภาวะโลกร้อน ยิ่งเข้าสู่หน้าร้อนแบบนี้ ยิ่งต้องระมัดระวังและดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและคนในครอบครัวเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะโรคร้ายในที่สาธารณะที่อาจแผลงฤทธิ์ แพร่เชื้อได้มากและเร็วขึ้น เช่น บนรถเมล์ โรงหนัง ห้องน้ำสาธารณะ ราวบันไดห้าง โทรศัพท์สาธารณะฯลฯ เรียกว่าในที่สาธารณะอาจมีโรคร้ายแฝงตัวอยู่อย่างที่เรายังไม่ทันระวังตัวก็ ได้
เชื้อโรคพวกนี้ มีทั้ง วัณโรค (ตอนนี้กำลังระบาด) ที่เกิดการติดเชื้อได้จากการไอ จาม และติดต่อได้ง่ายในที่สาธารณะที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งสามารถรับเชื้อได้โดยการสูดหายใจเข้าไปโดยตรง เชื้อไข้หวัด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสั้ ถ้ามีน้ำมูกแล้วน้ำมูกไปติดอยู่ที่ตัวเครื่องรับโทรศัพท์ ตามราวบันไดห้าง ประตูลูกบิดห้องน้ำ ฯลฯ เมื่อไปสัมผัสจับต้อง สารคัดหลั่งเหล่านั้นแล้วนำมาป้ายโดนจมูกก็มีโอกาสติดเชื้อได้
ส่วนเชื้อเริม ก็ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง ถ้าผู้ป่วยเริมมีแผลอยู่แล้วไปใช้โทรศัพท์ เมื่อคนที่มาใช้โทรศัพท์คนต่อไปไปจับต้องเชื้อไวรัส แล้วใช้มือขยี้ตาหรือป้ายโดนปาก โดนน้ำลาย ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเหล่านั้นได้
อย่างไรก็ตามโอกาสในการติดเชื้อจากการใช้บริการของโทรศัพท์สาธารณะ รวมทั้งการสัมผัสสิ่งต่างๆ ในสถานที่คนใช้บริการกันมากก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ (ถ้าไม่โชคร้ายจริงๆ) ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อว่ามีปริมาณมากหรือน้อย และเชื้อดังกล่าวที่อยู่ในบริเวณนั้นตายไปหรือยัง
สำหรับการใช้บริการจากห้องน้ำสาธารณะนั้น นับว่ามีความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เชื้อในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อหนองใน เชื้อเริม และเชื้อที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อหิวาตกโรคหรือไข้รากสาด เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ เป็นต้น เชื้อพวกนี้อาจแฝงอยู่ ตามจุดต่างๆ ของห้องน้ำ เช่น ชักโครก ก๊อกน้ำ อ่างล้างมือ หรือแม้กระทั่งลูกบิดประตู
แต่โอกาสที่เราจะติดเชื้อพวกนี้จนทำให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายนั้นน้อยมาก เพราะเชื้อพวกนี้จะสามารถก่อให้เกิดโรคได้ต้องมีปริมาณที่มากพอ เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้ออกมาสัมผัสกับแสงและอุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เชื้อมักจะมีชีวิตอยู่ไม่นานพอที่จะติดต่อไปสู่คนอื่นได้ และหากได้รับเชื้อ เข้าไปจริง ร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยจัดการ เจ้าเชื้อโรคแปลกปลอมนี้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท เราควรทำธุระในห้องน้ำสาธารณะให้สั้นมากที่สุดเท่าที่จะสั้นได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ชักโครกต้องเลือกที่ดูสะอาด ทำความสะอาดที่รองนั่งด้วยกระดาษทิชชูแล้วจึงใช้งาน เมื่อเสร็จกิจธุระแล้วต้องล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคติดมากับมือของเรา
อย่าลืมว่า เมื่อโลกร้อนขึ้น เชื้อโรคต่างๆ เหล่านี้อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะเชื้อโรคจากระบบทางเดินอาหารและระบบการหายใจ ซึ่งอาจเป็นภัยที่เราไม่ทันได้ฉุกคิดก็ได้ !!!