นอกเหนือจากการ “ทำให้ง่าย” แล้ว ยังทรงนำความจริงในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปรกติให้ เข้าสู่ระบบที่เป็นปรกติเช่น การนำน้ำดีขับไล่น้ำเสีย หรือเจือจางน้ำเสียให้กลับเป็นน้ำดี ตามจังหวะ การขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำ การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซับสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำดังพระราชดำรัสว่า “ใช้อธรรมปราบอธรรม”
แนวพระราชดำริที่พระราชทานในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาขยะ และน้ำเสีย ที่นับวันจะก่อตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง ที่มีกิจกรรมการผลิตหลากหลาย เช่น อาคาร ห้างร้าน โรงงานอุตสหกรรม บ้านเรือน ภาคการเกษตร ล้วนมีส่วนทำให้เกิดน้ำเสียและขยะจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายเมือง ทั้งในด้านของสถานที่กำจัดขยะ ความรู้และเทคโนโลยีการจัดการ รวมถึงงบประมาณที่ใช้ในปริมาณสูง
ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้บรรยายเรื่องน้ำเสียและขยะ ในการเสวนา “เกษตรยั่งยืน ฟื้นฟูภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” ในงานทักษิณวิชาการ-เกษตรแฟร์ ครั้งที่ 6 และนิทรรศการปิดทองหลังพระ วันที่ 27 สิงหาคม 2554 ดังนี้
น้ำเสีย” จริงๆ แล้วน้ำไม่ได้เสีย แต่มีสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในโมเลกุลของน้ำ การบำบัดน้ำเสีย คือ การขจัดสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในโมเลกุลของน้ำออกเสีย ซึ่งสามารถกระทำได้ 3 วิธี คือ กระบวนการทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มต้นด้วยวิธีการไหน ซึ่งทางเราจะเน้นกระบวนการทางด้านชีววิทยาคือการใช้วิธีการทางธรรมชาติมา เยียวยาธรรมชาติมากที่สุด ทำอย่างไรให้แบคทีเรียสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ทั้งในน้ำเสียและในขยะ โดยการสร้างองค์ประกอบอย่างง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ในน้ำเสียจะใช้พืชน้ำเข้ามาช่วยบำบัด จะเป็นจำพวกสาหร่ายเซลเดียว ธูปฤาษี พืชกึ่งบกกึ่งน้ำ หรือบางกรณีใช้พืชลอยน้ำ ในทางฟิสิกส์นั้นน้ำจะหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาด้วยการเคลื่อนที่จากแนวตั้งไป แนวนอน เมื่อน้ำเกิดการระเหยจะทำให้เกิดสมดุล
ขยะ” ขยะมีหลายประเภท หลักการคือทำอย่างไรให้ขยะอินทรีย์ถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายให้หมดไป ซึ่งจุลินทรีย์ต้องการออกซิเจนเป็นพลังงานในการย่อยสลาย หากไม่มีออกซิเจน แบคทีเรียก็จะไปดึงออกซิเจนจากสารประกอบที่อยู่ในสารอินทรีย์มาใช้ ทำให้เกิดมีกลิ่นเหม็น การจัดการขยะตามแนวพระราชดำริ คือ การทำให้ขยะย่อยสลายและเป็นปุ๋ยโดยใช้อากาศ ทรงเน้นย้ำว่าทำอย่างไรคนไทยจึงจะแยกขยะ และนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก นำเอาส่วนที่เป็นขยะรีไซญเคิลมาประดิษฐ์เป็นวัสดุของใช้ และแปรสภาพขยะอันตรายให้ไม่มีพิษ”
กล่าวโดยสรุป แนวพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม จะใช้แนวทาง “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ซึ่งแนกเป็น 2 ด้าน คือ การจัดการน้ำเสีย และการกำจัดขยะ
การจัดการน้ำเสีย
การจัดการน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ ได้หลักการ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” หลักการบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้คือ
1.) การใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ซึ่งเป็นการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจางและใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรง โน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) หลักการคือ ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไปและช่วยให้น้ำเน่าเสียมี สภาพเจือจางลง ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ ให้รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือจากแหล่งน้ำภายนอกส่งไปตามคลองต่างๆ ดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ “…แต่ ๓,๐๐๐ ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน้นต้องสูบไปไม่ไหว แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้สำหรับเวลาหน้าน้ำมีน้ำเก็บเอาไว้ หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมาสำหรับล้างกรุงเทพ ได้เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่างๆ…”
2.) เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ เป็นการใช้ผักตบชวาในปริมาณที่เหมาะสมทำหน้าที่ดูดซับความสกปรก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย ตามหลัก “อธรรมปราบอธรรม” มีตัวอย่างการนำมาใช้ที่บึงมักกะสัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบบึงมักกะสันเป็นเสมือนไต ของกรุงเทพฯ เป็นสถานที่กำจัดสิ่งสกปรกในน้ำเน่าเสียที่ไหลตามคลองสามเสนให้ผ่านการกรอง โดยวิธีธรรมชาติ ก่อนระบายไปยังคลองสามเสนและคลองแสนแสบ

3.) สระเติมอากาศชีวภาพบำบัด เป็นการจัดการน้ำเสียโดยใช้เครื่องจักรกลเติมอากาศมาช่วยเพิ่มออกซิเจนละลาย น้ำ ซึ่งใช้ออกซิเจนตามธรรมชาติจากพืชน้ำและสาหร่าย โดยได้นำมาทดลองใช้ที่บึงพระราม 9 ด้วยการสูบน้ำจากคลองลาดพร้าวเข้าในบ่อเติมอากาศ เพื่อให้แบคทีเรียย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียโดยปฏิกิริยาแบบการให้ ออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจะไหลไปยังบ่อกึ่งไร้อากาศเพื่อบำบัดสารอินทรีย์ที่หลงเหลือในบ่อน้ำ ก่อนปล่อยทิ้งในคลองลาดพร้าวเดิม ผลปรากฎว่าคุณภาพน้ำในคลองดีขึ้น

4.) การผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ โดยใช้ธรรมชาติผสมผสานกับเทคโนโลยี โดยการก่อสร้างบ่อดักสารแขวนลอย ปลูกต้นกกอียิปต์เพื่อใช้ดับกลิ่น และปลูกผักตบชวาเพื่อดูดสิ่งสกปรกและโลหะหนัก จากนั้นใช้กังหันชัยพัฒนาและแผงท่อเติมอากาศให้กับน้ำเสียตามความเหมาะสม ตลอดจนให้ตกตะกอนก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ โดยนำมาทดลองที่หนองสนม จังหวัดสกลนคร ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณภาพน้ำในหนองสนมใสสะอาดยิ่งขึ้น
5.) หลักธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ คือการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและพืชน้ำ ประกอบด้วย ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบบ่อชีวภาพ ระบบหญ้ากรอง และระบบบำบัดน้ำเสียโดยป่าชายเลน ดังเช่น โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี นอกจากนี้ ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาทดลองวิจัยดูว่า จะใช้ปลาบางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ ปลาเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฎว่าปลาบางสกุลมีอวัยวะพิเศษในการหายใจ เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิด เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย และชอบกินสารอินทรีย์ จึงช่วยลดมลภาวะในแหล่งน้ำ วิธีการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดน้ำเสียได้ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได้อีกทางหนึ่ง

6.) การเติมอากาศโดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งมีใบพัดเคลื่อนน้ำและซองรับน้ำไปสาดกระจายเป็นฝอย เพื่อให้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง ทำให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงที่น้ำเสียถูกยกขึ้นมากระจายสัมผัสกับอากาศตกลงไปยังผิวน้ำ จะทำให้เกิดฟองอากาศจมตามลงไป ก่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกังหันน้ำชัยพัฒนาจะใช้ประโยชน์ได้ทั้งการเติมอากาศ การกวนแบบผสมผสานและการทำให้เกิดการไหลตามทิศทางที่กำหนด
การกำจัดขยะ
จากกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลว่า

สิ่งโสโครกจากบ้านเรือนที่ให้เทศบาลสูบไป มักนำไปปล่อยลงคลอง ลงแม่น้ำ ถ้าหาที่แห่งหนึ่งนอกเมือง ทำถังหมักสิ่งโสโครกไว้ 10 วัน สิ่งที่เป็นสิ่งโสโครกก็หายโสโครก เชื้อโรคอะไรก็หมดไป ถ้าให้ดีเอาไว้ 28 วัน ให้มันจริงๆจังๆ พวกเชื้อที่ร้ายแรงที่ยังมีอยู่ก็หมด แม้แต่กลิ่นก็หายหมด เสร็จแล้วเอามาตากใช้ประโยชน์ได้ ทั้งส่วนที่เป็นของแข็งและส่วนที่เป็นน้ำเป็นปุ๋ยที่ไม่เหม็น เทศบาลต่างๆ ที่มีปัญหานี้ก็ต้องพยายามพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป

จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น นายสาโรจน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการนนทบุรีในขณะนั้น จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำแนวทางตามโครงการ พระราชดำริฯ มาดำเนินการต่อ เพื่อแก้ปัญหาการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ อันเป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
ด้วย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 นนทบุรี ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ให้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง “บ่อหมักสิ่งปฏิกูล” ตามแนวพระราชดำริ ขนาดความจุ 15 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 32 บ่อ ณ วัดสวนแก้ว จ. นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิชัยพัฒนา

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มิติ “สิ่งแวดล้อม” บ่อหมักสิ่งปฏิกูลวัดสวนแก้ว โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเครื่องกลเติมอากาศ เรือหางกุดกับการบำบัดน้ำ การบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution) โครงการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration) บึงมักกะสัน การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบทางเติมอากาศ ณ หนองสนม–หนองหาน การบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 โดยใช้กระบวนการทางชีวภาพวิทยาผสมผสานกับเครื่องกลเติมอากาศแบบสระเติมอากาศ ชีวภาพบำบัด ตามแนวพระราชดำริ
กรณีตัวอย่างจัดการขยะและน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ
นางฉลวย กาเหล่านาค ประธานเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์น้ำ อ.เมือง จ.ปทุมธานี เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี นายกรทัศน์ คุณาวุฒิ ผู้จัดการ ห.จ.ก. สมศักดิ์แกลง เซอร์วิส จ.ระยอง นายสุเทพ นุชทรวง นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผอ.โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จังหวัดเพชรบุรี สตรีไทย พุ่มไม้ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จังหวัดเพชรบุรี ดร.ภูมิพัฒน์ พัทดิพันธ์ปรีดา คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์
ที่มา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
๙๘๙ อาคารสยามทาวเวอร์ ชั้น ๒๖ ปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๓๐