เมืองลพบุรี

ลพบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลาง มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองกำลังทั้งทหารบกและทหารอากาศหลายหน่วย และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วัดเขาวงกต และทุ่งทานตะวันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (มีพื้นที่ถึง 14,000 ไร่)

 

ตราประจำจังหวัด

 

"วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์"

ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดลพบุรีตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 47 องศา 37 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศา 25 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางเหนือตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ประมาณ 155 กิโลเมตร หรือทางรถไฟสายเหนือประมาณ 133 กิโลเมตร มีพื้นที่ 6,586.67 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,116,668 ไร่

จังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ 8 จังหวัดดังนี้ คือ ด้านตะวันออกติดกับจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ ด้านเหนือติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้านตะวันตกติดกับนครสวรรค์และสิงห์บุรี ด้านใต้ติดกับสระบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

 

ประวัติศาสตร์

พื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายสมัย

พระปรางค์สามยอด

 เดิมเรียก ละโว้ นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ มีหลักฐานที่สำคัญคือ พระปรางค์สามยอด (อยู่ในเขตอำเภอเมืองลพบุรี) เป็นศิลปะเขมรสมัยบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 และมีศาลพระกาฬซึ่งเก่าแก่ในสมัยเดียวกัน

ลพบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ติดต่อกันนานนับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ปีมาแล้ว จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก รวมทั้งมีหลักฐานเอกสารและจารึกต่าง ๆ กล่าวถึงเมืองลพบุรีอยู่หลายชิ้นเช่นในพุทธศตวรรษที่ 11-15 มีหลักฐานคือพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระยากาฬวรรรณดิศได้ให้พราหมณ์ยกพลมาสร้างเมืองละโว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1002 นอกจากนี้ยังมีตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญไชยใน พ.ศ. 1204 ต่อมาอีก 2 ปี คือ พ.ศ. 1206 ได้ส่งทูตล่องลำน้ำปิงไปเมืองลวปุระทูลขอเชื้อสายกษัตริย์ลวปุระให้ไปปกครอง กษัตริย์ลวปุระจึงได้พระราชทานพระนางจามเทวี พระราชธิดา ให้ไปครองเมืองหริภุญไชย ทรงสร้างวัดจามเทวีที่เมืองหริภุญไชย ชื่อเมืองลวปุระในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เป็นที่ยอมรับว่าคือเมืองลพบุรีในปัจจุบัน จึงสรุปได้ว่าลพบุรีคงเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง แว่นแคว้นอื่นจึงได้ยอมรับและขอเชื้อสายไปปกครอง

ในระยะราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ละโว้หรือลพบุรีตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการของอาณาจักรเขมรเป็นครั้งคราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เกิดความอ่อนแอในอาณาจักรเขมรทำให้รัฐต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจปลีกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งละโว้ด้วย ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏหลักฐานว่าเมืองลพบุรี น่าจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทองเคยครองราชย์มาก่อนที่จะย้ายไปสถาปนาอาณาจักรอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้เองที่ลพบุรีเจริญรุ่งเรืองที่สุด เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) ได้สถาปนาลพบุรีเป็นราชธานีที่สอง หลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วลพบุรีขาดความสำคัญลงมากจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดสถาปนาเมืองลพบุรีเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าเมืองลพบุรีมีความสำคัญติดต่อกันมายาวนานนับพันปี

 

 ภูมิประเทศ

ภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

  • ที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ 1,170 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ของอำเภอท่าวุ้งทั้งหมด ตอนกลาง และตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี ตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอโคกสำโรง และส่วนใหญ่ของอำเภอบ้านหมี่ พื้นที่ราบตอนกลางของอำเภอเมืองลพบุรี บริเวณหมู่บ้านสะพานอิฐ และหมู่บ้านหินสองก้อนจะมีดินสีขาวที่สามารถนำมาทำดินสอพองได้ และดินสอพองของจังหวัดลพบุรีได้ชื่อว่าเป็นดินสอพองที่ดีที่สุดของเมืองไทย
  • ที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา มีเนื้อที่ 4,816.67 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมี่บางส่วน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกของอำเภอโคกสำโรงและอำเภอท่าหลวง

มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน นั่นคือ แม่น้ำป่าสัก โดยมีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อกักเก็บน้ำ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจังหวัดลพบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังมี แม่น้ำลพบุรีผ่านทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดด้วย รวมทั้งมีระบบคลองชลประทานที่เป็นประโยชน์ในทางเกษตรกรรมอีกด้วย

 

ภูมิอากาศ

สภาพโดยทั่วไปมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันและพายุไต้ฝุ่นอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน มีอุณหภูมิเฉลี่ย 28.3 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละประมาณ 1,147.6 มิลลิเมตร สำหรับมีฤดูกาลต่าง ๆ มี 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม อากาศจะร้อน และแห้งแล้ง
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม อากาศจะชุ่มชื้นในเดือนกันยายน
  • ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นสลับกับอากาศร้อน

 

 หน่วยการปกครอง

การปกครองแบ่งออกเป็น 11 อำเภอ 124 ตำบล 1110 หมู่บ้าน

  1. อำเภอเมืองลพบุรี
  2. อำเภอพัฒนานิคม
  3. อำเภอโคกสำโรง
  4. อำเภอชัยบาดาล
  5. อำเภอท่าวุ้ง
  6. อำเภอบ้านหมี่
  1. อำเภอท่าหลวง
  2. อำเภอสระโบสถ์
  3. อำเภอโคกเจริญ
  4. อำเภอลำสนธิ
  5. อำเภอหนองม่วง
 

 

 สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

  • ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกพิกุล (Mimusops elengi)
  • ต้นไม้ประจำจังหวัด: พิกุล (Mimusops elengi)
  • คำขวัญประจำจังหวัด: วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง เมืองแห่งดินสอพอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์

 

 ประชากร

ประชากรของจังหวัดลพบุรีส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายลาวแต่ปัจจุบันมีหลายกลุ่มที่รู้สึกมีความเป็นไทย ชาวไทยภาคกลางนั้นจะหนาแน่นแถบอำเภอเมืองใกล้รอยต่อระหว่างลพบุรี-อยุธยา-อ่างทอง รอบนอกเมืองลพบุรีส่วนใหญ่จะเป็นพวกมีเชื้อสายลาวทุกอำเภอ ซึ่งแต่เดิมปรากฏว่ามีการใช้ภาษาลาวด้วย แต่ปัจจุบันหลายชุมชนในอำเภอเมืองมีแนวโน้มในการใช้ภาษาลาวลดลง และมีชนเชื้อสายจีนปะปนอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีชนเชื้อสายลาวพวนส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอบ้านหมี่ มีบ้างในตำบลถนนใหญ่ และโคกกระเทียมในอำเภอเมือง ชนเชื้อสายมอญอาศัยอยู่ในเขตท้องที่ตำบลบางขันหมากส่วนล่าง (ส่วนบนส่วนใหญ่เป็นชาวไทย) อำเภอเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังมีชาวไทเบิ้ง ซึ่งเป็นชนกลุ่มเดียวกับชาวไทยโคราช ที่ส่วนใหญ่อาศัยในอำเภอพัฒนานิคม ส่วนชาวอีสานนั้นเข้ามาทางตะวันออกซึ่งติดกับจังหวัดนครราชสีมา กับจังหวัดชัยภูมิ และอาศัยทางโคกเจริญ ชัยบาดาล ฯลฯ ชาวไทยเชื้อสายปากีสถานและอินเดียก็อาศัยในอำเภอเมืองและชัยบาดาล (ในเมืองลพบุรีจะมีชนกลุ่มนี้แถบโกษา และตรอกมโนราห์) ซึ่งชนเชื้อสายต่าง ๆ นี้ยังคงรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ลักษณะนิสัยต่างๆจึงแตกต่างกัน แต่ก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับประชากรส่วนใหญ่ได้ดี

จำนวนประชากรทั้งหมดของจังหวัดลพบุรี จากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ช่วงปี พ.ศ. 2540-2550 มีประชากรนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2539 มีจำนวนทั้งสิ้น 787,768 คน แยกเป็นเพศชาย 410,775 คน เพศหญิง 376,993 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 127 คนต่อตารางกิโลเมตร เนื่องจากจังหวัดลพบุรีเป็นเมืองยุทธศาสตร์การทหารจึงทำให้มีประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย แนวโน้มจำนวนประชากรในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2540-2550) คาดว่าในปี พ.ศ. 2550 ประชากรจังหวัดลพบุรีจะมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 906,149 คน รายได้เฉลี่ยของประชากรในปี พ.ศ. 2537 คือ 34,301 บาท/คน/ปี พ.ศ. 2540 จำนวน 47,335 บาท/คน/ปี และคาดว่าในปี พ.ศ. 2550 จะเท่ากับ 76,446 บาท/คน/ปี

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อยน้ำตาล ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ประชากรในจังหวัดลพบุรีมีด้วยกันหลายกลุ่ม เช่น ไทยภาคกลาง ไทยพวน (เดิมเรียก ลาวพวน) และไทยเบิ้ง (หรือไทยเดิ้ง) ไทยอีสาน (พูดภาษาอีสาน) ไทยมอญ นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายอินเดียจำนวนไม่น้อยอีกด้วย

 

การคมนาคม

ลพบุรีอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก มีทางรถไฟเส้นทางสายเหนือผ่าน ส่วนทางรถยนต์ก็มีเส้นทางหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตัดผ่าน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางคมนาคมสายสำคัญซึ่งตัดผ่านจังหวัดข้างเคียง คือ เส้นทางรถไฟสายอีสาน และทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันคือจังหวัดสระบุรี และยังมีถนนสายเอเชียตัดผ่านจังหวัดที่มีเขตติดต่อกันคือจังหวัดสิงห์บุรี

 

 ของดีจังหวัดลพบุรี

ลพบุรีมีสินค้าหัตถกรรมมากมาย เช่น ปลาส้มฟัก ดินสอพอง (มีการทำไข่เค็มจากดินสอพองด้วย) ผลิตภัณฑ์จากดอกทานตะวัน  และผ้าขาวม้าลายไส้ปลาไหลและผ้ามัดหมี่ เป็นต้น

 

 สถานที่ท่องเที่ยว

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท พระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์

เมืองลพบุรีมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีโบราณสถานมากมาย และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น

  1. พระราชวังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ถนนสรศักดิ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี
  2. ศาลพระกาฬ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี
  3. พระปรางค์สามยอด ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี
  4. เทวสถานปรางค์แขก ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี
  5. บ้านวิชาเยนทร์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี
  6. วัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง
  7. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม
  8. หมู่บ้านหินสองก้อน ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี
  9. พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี
  10. พระปรางค์นางผมหอม อำเภอลำสนธิ
  11. แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม
  12. วัดมณีชลขันธ์ ตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมืองลพบุรี
  13. น้ำตกวังก้านเหลือง อำเภอชัยบาดาล
  14. วัดมหาธาตุ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี
  15. สวนสัตว์ลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี
สร้างโดย: 
นายอภิสิทธิ์ สมพงษ์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 457 คน กำลังออนไลน์