พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

รูปภาพของ ssspoonsak

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law6-050258-7.pdf

 

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานัดแถลง 4 ส.ค. ปรับเนื้อหากฎหมายให้เป็นภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย ร่ายยาวรายละเอียด 8 ประเด็น

 

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1438661619 

               ภายหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมเป็นต้นไป หากผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำข้อมูลผู้อื่นมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ แล้วไม่ให้เครดิตหรือนำไปใช้เพื่อการค้า อาจมีความผิด โดยกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดอัตราโทษนักก๊อบปี้นักแชร์ทั้งหลายที่ไม่ให้เครดิตเจ้าของผลงานปรับ 1 หมื่น-1 แสนบาท หากกระทำเพื่อการค้ามีโทษปรับตั้งแต่ 5 หมื่น-4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

               ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับเนื้อหาของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ให้เป็นภาษาที่ประชาชนเข้าใจง่าย โดยจะนำเสนอเนื้อหาผ่านทางเว็บไซต์ของกรมเป็นเบื้องต้น ส่วนเอกสารคู่มือที่เผยแพร่จะดำเนินการในขั้นต่อไป นอกจากนี้ กรมได้นำเสนอเนื้อหาของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ของกรมให้ประชาชนสามารถเข้ามาอ่านได้อีกทางแล้ว ส่วนรายละเอียดเรื่องต่างๆ ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นั้น จะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 สิงหาคม เวลา 10.30 น.

 

               หัวใจหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือหากไม่ใช่การทำเพื่อการค้า มีการอ้างอิงที่มาก็สามารถทำได้ ภายใต้ข้อยกเว้นคือต้องทำให้ผลประโยชน์ของเข้าของลิขสิทธิ์ลดลง หรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของ

 

               สำหรับการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปเล่าในรายการเล่าข่าวนั้นหากเป็นเพียงการนำเอาข้อเท็จจริงไปนำเสนอในลีลาของตัวเองถือว่าไม่มีความผิด แต่ก็จะต้องไม่ทำให้ยอดขายของหนังสือพิมพ์ลดลง เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการส่งต่อรูปดอกไม้ต่างๆ ในแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเป็นรูปที่มีลิขสิทธิ์ถือว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้

 

               นางมาลีกล่าวว่า กฎหมายลิขสิทธิ์มีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงอยากฝากเตือนประชาชนหากไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ก็ไม่ควรทำ ทั้งนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องเป็นผู้แจ้งร้องทุกข์หากเกิดความเสียหาย

 

1. ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

 

ตอบ ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

 

2. เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเตอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้ไหม

 

ตอบ การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรีก็สามารถดาวน์โหลดได้แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้ว จึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

 

3. การก๊อปปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่

 

ตอบ บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fairuse)ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

 

4. การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

 

ตอบ การนำงานมาใช้และเผยแพร่ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอจึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

 

5. การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวีดิโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิทัลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด

 

ตอบ การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจ หรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิทัลออก โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิดก่อให้เกิดให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ

 

ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอของผู้อื่น และโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

 

โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ปรับ 20,000บาท ถึง 200,000 บาท
เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท
เพื่อการค้า ปรับ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

6. การก๊อปปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต

 

ตอบ กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

 

7. การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูปมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

 

ตอบ การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูปมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อก และถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

 

ในกรณีของการแชร์ลิงค์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

 

8. หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่

 

ตอบ การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

 

9. ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัพโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์

 

ตอบ ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

 

10. จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ตอบ เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล

 

สร้างโดย: 
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 163 คน กำลังออนไลน์