กีฬาแบดมินตัน

รูปภาพของ bp26369

สวัสดีครับ~~~~

วันนี้ผมจะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกีฬาแบดมินตันกันนะครับ

กีฬาแบดมินตัน เป็นกีฬาที่เหมาะสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

เล่นง่าย เล่นได้ทุกสถานที่ ใช้พื้นที่ในการเล่นไม่มาก

งั้น เรามารู้จักกีฬาที่เรียกว่า "แบดมินตัน" กันเลยดีกว่า

แบดมินตัน เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่ใช้ไม้ตีลูก ลูกสำหรับใช้ตีนั้น เรียกกันมาช้านานว่า "ลูกขนไก่" เพราะสมัยก่อนกีฬานี้ใช้ขนของไก่มาติดกับลูกบอลทรงกลมขนาดเล็ก ปัจจุบันลูกขนไก่ผลิดจากขนเป็ดที่คัดแล้ว ลูกบอลทรงกลมขนาดเล็กที่ทำเป็นหัวลูกขนไก่ทำด้วยไม้คอร์ก ราคาลูกขนไก่ที่ใช้ในการแข่งขันจะอยู่ที่ประมาณลูกละ40-50บาท

กีฬาแบดมินตันจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย และแบ่งการแล่นออกเป็น 2 ประเภท คือ "ประเภทเดี่ยว" แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 1 คน และ "ประเภทคู่" แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายละ 2 คน การเล่นรอบหนึ่งเรียกว่า 1 แมทช์ แมทช์ละ 3 เกม(บางคนเรียกเซ็ท) ตัดสินแพ้ชนะ2ใน3เกม มีกำหนดคะแนนสูงสุด 21 คะแนน ฝ่ายใดทำคะแนนได้ถึง 21 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะในเกมนั้น

ประวัติกีฬาแบดมินตัน

กีฬาแบดมินตันมีความเป็นมาไม่ชัดเจนนัก ซึ่งจากหลักฐานต่างๆ จะสามารถบ่งบอกที่มาของกีฬาประเภทนี้ไว้ที่หลายยุค เช่น

  • ในจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีภาพวาดเก่าๆ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการใช้ขนไก่มาทำเป็นลูกขนไก่ใช้ในการเล่น ซึ่งตอนนั้นจะใช้เท้าเตะกัน 2 คนหรือจะตั้งวงกัน 3-4 คน
  • คริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวอินเดียแดงในอเมริกาตอนใต้ ใช้ขนนกหรือขนไก่พูกติดกับลูกกลมโดยลูกบอลกลมนั้นใช้หญ้าฟางพันขมวดเข้าด้วยกัน และให้ขนไก่ชี้ไปทางเดียวกันและเวลาเล่นใช้มือจับลูกขนไก่นั้นปาใส่ผู้เล่นคนอื่น
  • คริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาวญี่ปุ่นได้มีการใช้ขนไก่ หรือขนนกเสียบผูกติดกับหัวไม้ และใช้ไม้ตีลูกขนไก่นั้น โดยไม้ที่ใช้ตีทำมาจากไม้กระดาน ตีลูกขนไก่ไปมา
  • ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในแถบยุโรปมีการเขียนภาพสีน้ำมันถึงการเล่นกีฬาแบดมินตันในราชสำนักต่าง ๆ
    • พระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนทรงจำลองไม้แบดมินตันมาจากแร็กเกตในกีฬาเทนนิส และใช้ขนไก่หรือขนนกเสียบติดกับหัวไม้ก๊อก
    • เจ้าฟ้าชายเฟรดเดอริค มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน แต่ในตอนนั้นเรียกแบดมินตันว่า "แบทเทิลดอร์กับลูกขนไก่"
  • คริสต์ศตวรรษที่ 18 ในเยอรมนีกษัตริย์ของปรัสเซียเฟรดเดอริคมหาราช และพระเจ้าหลานเธอเฟรดเดอริค วิลเลียมที่สอง ทรงแบดมินตันในลักษณะเดียวกัน และในประเทศอังกฤษมีเรื่องเล่าว่าในปี ค.ศ. 1870 นายทหารคนหนึ่งที่ไปประจำการอยู่ในเมืองปูนา ประเทศอินเดียได้เห็นกีฬาตีลูกขนไก่จึงนำกลับไปเล่นในอังกฤษ และในอังกฤษ ณ คฤหาสน์ “แบดมินตัน” ของดยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่ตำบลกล๊อสเตอร์เชอร์ ในปี ค.ศ. 1873 เกมกีฬาตีลูกขนไก่จึงถูกเรียกว่า “แบดมินตัน” ตามชื่อของสถานที่นับตั้งแต่นั้นมา

กติกาการเล่นแบดมินตันเบื้องต้น

  1.  
    1. 1.การออกนอกเส้น มีการกำหนดเส้นออกแต่งต่างกันในกรณีเล่นเดี่ยวและเล่นคู่
    2. 2.การเสิร์ฟลูก ตามกติกา ที่ถูกต้อง คือ
      1.    1)หัวไม้ขณะสัมผัสลูกต้องต่ำกว่าข้อมืออย่างเห็นได้ชัด 
      2.    2)หัวไม้ขณะสัมผัสลูกต้องต่ำกว่าเอวอย่างเห็นได้ชัด
      3.    3)ผู้เล่นต้องไม่ถ่วงเวลา หรือเสริฟช้า หรือเสริฟ 2 จังหวะ การเสริฟ ต้องเสริฟไปด้วยจังหวะเดียว
      4.    4)ขณะเสิร์ฟ ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าทั้ง 2 ข้างต้องสัมผัสพื้นตลอดเวลา
      5.    5)การเสิร์ฟลูกที่ถูกต้อง ต้องให้แร็กเก็ตสัมผัสกับหัวลูกก่อน หากโดนขนก่อนถือว่าผิดกติกา
    3. 3.ขณะตีลูกโต้กัน ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายหรือไม้แบดไปสัมผัสกับเน็ท
    4. 4.ห้ามตีลูกที่ฝั่งตรงข้ามโต้กลับมาในขณะที่ลูกยังไม่ข้ามเน็ทมายังแดนเรา(Over net)
    5. การดิวส์
    6. หากผู้เล่นทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้เท่ากันในคะแนนที่ 20 จะมีการเล่นต่อ จนกว่าว่าจะมีคะแนนมากกว่าฝ่ายตรงข้าม 2 คะแนน แต่ถ้ายังไม่สามารถทำคะแนนห่างกัน 2 แต้มได้ จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ แต่ เมื่อแต้มได้ 29 เท่ากัน ใครที่ทำได้แต้ม 30 ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ

    7. เทคนิคการเล่นแบดมินตัน

    8. คำแนะนำง่าย ๆ สำหรับนักเล่นหัดใหม่

      ไม่ต้องคิดมาก ถ้ารักชอบกีฬาแบดมินตัน ก็หาไม้แร็กเก็ตกับลูกขนไก่ หาเพื่อนมาอีกคน แล้วหวดกันเข้าไป ตีลูกโด่งไปมาอย่าให้ลูกตก ตีให้นานเท่าที่จะทำได้

       
      เริ่มต้นควรจับแร็กเก็ตให้ถูก จับเป็นรูป V Shape ถ้าไม่เข้าใจ หาผู้รู้สอนให้ จับไม้ให้ถูก เป็นเบสิคสำคัญ เพราะจะทำให้ตีลูกได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหน้ามือโฟร์แฮนด์ หลังมือแบ๊คแฮนด์ ลูกงัด ลูกตบ ลูกดาด ฯลฯ ตีได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้าเล่นเป็น เล่นเก่งถึงขั้นบังคับลูกได้ สนุกเชียว อย่าบอกใคร วันไหนไม่ได้เล่นแบดฯ หงุดหงิดเอาเชียวแหละ! เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก

      เอ้า! แนะวิธีจับไม้ให้ก็ได้ วิธีจับแบบ รูปตัว V คือ ใช้มือซ้ายจับแร็กเก็ต แล้วหันบิดสันไม้ให้ตรงกับแสกหน้า
      (ดูภาพ) แล้วยื่นมือขวาไปข้างหน้า ในแบบวิธีเช็คแฮนด์แบบฝรั่ง แล้วใช้ฝ่ามือสวมจับด้ามไม้ ง่ามมือระหว่างหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จะเป็นรูปตัว V นั่นแหละ คือการจับไม้แร็กเก็ตที่ถูกวิธี เห็นม๊ะ! ง่ายกว่าปลอกกล้วยซะอีก

      จับแรกเก็ตแบบถูกวิธี
      ผิด เพราะจับแบบกำฆ้อน


      จับแร็กเก็ตถูกวิธี เหวี่ยงไม้ไปมาซ้ายขวาหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้ชินกับการจับแร็กเก็ต V-Shape สังเกตนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย รวมทั้งหัวแม่มือที่จับแร็กเก็ต ควรเรียงเป็นแนวมุม 45 องศา (ดูภาพ) ไม่ใช่กำแน่นเหมือนจับฆ้อนตอกตะปู การจับแร็กเก็ตถูกวิธี ไม่เพียงจะทำให้ตีลูกได้รอบตัวเท่านั้น แต่ยังทำให้ไม่เกิดอาการ Badminton Elbow หรือ Shoulder คือไม่ปวดข้อศอก หรือหัวไหล่ แรงของการตีลูกจากแหล่งต่าง ๆ สามารถถูกส่งไปเหวี่ยงตีลูกได้อย่างเต็มที่


      การจับแร็กเก็ตแบบ V-Shape สันของหน้าไม้จะตรงกับแสกหน้า การตีลูกแต่ละครั้ง จะต้องยึดหลักใหญ่ ๆ 2 ข้อ คือ 1) เอียงตัวหันข้างให้กับตาข่ายเล็กน้อย และ 2) บิดแขนเพื่อตั้งหน้าไม้ให้ตรง เพื่อให้หน้าแร็กเก็ตหันตรงไปยังเป้าหมายที่ต้องการจะตี หน้าไม้ตรงจะทำให้แรงเหวี่ยงสปริงของแร็กเก็ตที่ส่งตรงไปยังเอ็น ดีดตีลูกได้อย่างเต็มเหนี่ยว ไม่เกิดการฝานลูกหรือตีแฉลบ

      หัดตีบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าลืมว่า แบดมินตันจะตีได้ดี และเป็นเร็ว อยู่ที่การตีเล่นบ่อย ๆ และจับเคล็ดจังหวะของการเหวี่ยงตีลูก คุณไม่สามารถจะเล่นแบดมินตันได้ดีด้วยการนั่งจ้องดูคนอื่นเขาเล่น หรือนั่งคลำจ้องมองแร็กเก็ตกับลูกขนไก่ คุณจะเล่นแบดมินตันได้ดีและเป็นเร็ว ก็ต่อเมื่อคุณลงไปฟาดเจ้าลูกขนไก่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


      ข้อควรจำ “3 อย่า” สำหรับการจับแร็กเก็ต คือ 1. อย่าจับแร็กเก็ตหน้าเดียว 2. อย่าจับแร็กเก็ตจนแน่นเกร็ง 3. อย่าจับแร็กเก็ตรวมนิ้วทีบแบบกำฆ้อน
  2. รู้จักแหล่งที่มาของแรงตีลูก

    นักเล่นหัดใหม่ตีลูกไปสักพักหนึ่ง ก็เริ่มจะฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมการตีลูกของตนถึงไม่มีแรงส่งอย่างใจนึก เหวี่ยงแร็กเก็ตหวดตีลูกเต็มแรงแล้วลูกยังไปไม่ถึงหลัง ให้เรามาช่วยกันคิดค้นดูว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

     
    คำตอบก็คือ การตีลูกในกีฬาแบดมินตัน ไม่เหมือนกับการตีลูกเทนนิส หรือสคว๊อช เพราะเจ้าลูกขนไก่มีน้ำหนักเบา การตีลูกขนไก่ให้พุ่งไปข้างหน้าอย่างแรง จึงต้องอาศัยจังหวะที่สมบูรณ์ผสมผสานกันของแรงเหวี่ยงที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ของแรงตีลูก

    แหล่งที่มาของแรงตีลูกจำแนกออกได้จาก 3 แหล่งใหญ่ คือ.-
             1. แรงที่เกิดจากการถ่ายเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า
             2. แรงที่เกิดจากการเหวี่ยงของลำแขน
             3. แรงที่เกิดจากการตวัดและการสะบัดอย่างแรงของข้อมือ

    จังหวะการประสานของแรงตีลูกที่มาจากแหล่งต่าง ๆ สังเกตุแขนที่เหยียดตรง
    และจังหวะการตวัดของข้อมือ


    การตีลูกให้แรงในกีฬาแบดมินตัน จะต้องเกิดจากจังหวะการประสานงานระหว่างแรงเหวี่ยงตีลูกของแขน เสริมด้วยแรงตวัดและแรงสะบัดของข้อมือ หนุนด้วยแรงที่เกิดจากกการเปลี่ยนน้ำหนักตัวของฟุตเวิร์ค จากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า ที่ผสมผสานกลมกลืนกัน ถ้าการประสานงานขององค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เกิดผิดจังหวะในช่วงใดช่วงหนึ่ง การตีลูกจะมีผลที่ไม่สมบูรณ์ ลูกที่พุ่งจากหน้าแร็กเก็ตจะไม่แรงตามต้องการ                  


    แรงดีดสะบัดของข้อมือ มีช่วงเวลาของการดีดตวัดสั้นกว่าการเหวี่ยงตีลูกด้วยลำแขน แรงที่เกิดการดีด ตวัดและสะบัดของข้อมือนี้ จึงมีช่วงเวลาจำกัด แรงตีลูกที่ว่านี้จึงต้องนำออกใช้ในเสี้ยววินาทีที่ถูกต้อง ไม่ก่อนหรือหลังเกินไปในจังหวะที่แร็กเก็ตกระทบตีถูกลูกขนไก่

    แรงดีด ตวัด และสะบัดของข้อมือ นอกจากใช้เสริมแรงตีลูกในวินาทีที่ถูกต้องแล้ว ยังมีบทบาทในการบังคับทิศทางวิ่งของลูกขนไก่ไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ได้หลากหลาย ความเร็วที่เกิดจากการดีด ตวัด สะบัด และพลิกข้อมือ สามารถทำให้คู่แข่งไม่อาจจะจับทางของลูกที่พุ่งข้ามตาข่ายไปได้ ยากแก่ฝ่ายตรงข้ามในการเดาเป้าหมายของลูก                    

    เพื่อการตีลูกที่เกิดจากแรงเหวี่ยงสมบูรณ์แบบ ผู้เล่นควรเริ่มต้นที่ฟุตเวิร์คก่อน สำหรับคนถนัดขวา ก่อนการตีลูกน้ำหนักตัวจะหนักอยู่ที่เท้าขวาหลัง ในช่วงที่กำลังจะตีลูก น้ำหนักตัวจะเริ่มถ่ายไปสู่เท้าซ้ายหน้า การถ่ายเปลี่ยนน้ำหนักตัวนี้จะดำเนินไปพร้อมกับแรงตีลูกที่มาจากอีก 2 แหล่ง คือ การเหวี่ยงของแขน และการดีดตวัดสะบัดข้อมือให้กลมกลืนเป็นจังหวะเดียวกัน เมื่อเหวี่ยงตีลูกไปแล้ว แรงตีลูกได้ถูกนำออกใช้ทั้งหมดเป็นแรงตีลูกในครั้งเดียว จะเกิดวงสะวิงของแร็กเก็ตหรือที่ฝรั่งเรียกว่า Follow Through ให้เป็นไปตามธรรมชาติ การพยายามฝืนวงสะวิงด้วยการกระชากแร็กเก็ตกลับเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่แขนหรือที่หัวไหล่ได้

    การฝึกหัดตีลูกในขั้นต้น ควรเริ่มฝึกตีเฉพาะลูกโด่งเหนือศีรษะ (Overhead) เพราะเป็นลูกเบสิคที่ตีได้ง่าย เหวี่ยงตีตามถนัด ฝึกฝนให้มาก ๆ จนเกิดความแม่นยำ จับจังหวะการเหวี่ยงตีและการใช้แรงจากแหล่งของการตีลูกต่าง ๆ ให้ผสมผสานเป็นจังหวะเดียว

  3. ฟุตเวิร์คกับจังหวะของการตีลูก

    กีฬาแบดมินตัน เป็นเกมเล่นที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต้องมีการเคลื่อนย้ายตัววิ่งไล่ตีลูกตลอดเวลา ผู้เล่นจึงต้องรู้จักการวิ่งเข้าออก การประชิดลูกในจังหวะที่ถูกต้อง เคลื่อนย้ายตัวเองไปอยู่ในจุดที่ถูกต้อง ตีลูกได้ถนัด ตีด้วยความสะดวก ตีลูกด้วยความง่ายดาย และสิ้นเปลืองพลังงานของตัวเองให้น้อยที่สุด

    ฟุตเวิร์ค หรือจังหวะเท้าสำหรับการเล่นแบดมินตันมีความสำคัญมากที่สุด

    ฟุตเวิร์คที่ดีจะทำให้การออกตัวสืบเท้า พาตัวพุ่งไปสู่ทิศทางต่าง ๆ รอบสนามกระทำได้ด้วยความคล่องแคล่วและฉับไว เพราะหลักการสำคัญที่สุดในกีฬาแบดมินตันสำหรับผู้เล่นทุกคนที่เล่นเพื่อความเป็นเลิศในระดับแข่งขัน จะต้องจำไว้ให้แม่นก็คือ
          - จะต้องวิ่งเข้าไปหาลูกเสมอ อย่าทิ้งช่วงปล่อยให้ลูกวิ่งมาหา
          - จะต้องพุ่งตัวเข้าตีลูกให้เร็วที่สุด และตีลูกขณะที่อยู่ในระดับสูงที่สุด

    เพราะฉะนั้น ในเกมเล่นแบดมินตัน การคาดคะเน (Anticipation)เป้าหมายการตี กับวิถีทางตีลูกของฝ่ายตรงข้าม จึงจำเป็นต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ บางครั้งยังต้องใช้เทคนิคการ “ดักลูก” หรือ Interception เข้ามาช่วยอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นประเภทคู่ จะต้องอาศัยการจับทางของคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด เพื่อการพุ่งเข้าประชิดตีลูกในระดับบนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

    การตีลูกในระดับสูง จะทำให้ผู้เล่นมีโอกาส “กดลูก” บีบเกมเล่นให้ฝ่ายตรงข้ามต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ อีกทั้งยังมี “มุมลึก” กับ “เป้าหมาย” สำหรับการตีลูกได้มากขึ้น ยิ่งตีลูกจากระดับสูงได้มากเท่าใด ย่อมจะมี “มุมลึก” หรือ Steepness ของเป้าหมายได้มากเท่านั้น เช่น การกระโดดตบพร้อมทั้งใช้ข้อมือตวัดตีลูกจิก จะทำให้ลูกสามารถข้ามไปในมุมที่ลึกกว่าการตบลูกจากระดับธรรมดา ถ้าทำอย่างนี้ได้ จะทำให้ลูกที่ตีข้ามไปนั้น เกิดวิถีลูกที่ข้ามไปหลากหลาย(Varieties of Strokes) ทำให้คู่ต่อสู้เดาการเล่นของเราไม่ถูก หรือคาดการณ์ไม่ออกว่าเราจะส่งลูกไปในลักษณะใด

    ฟุตเวิร์ค จังหวะเท้าที่ดี เริ่มต้นที่ผู้เล่นทิ้งน้ำหนักตัวบนปลายเท้าทั้งสอง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่ควรยืนด้วยการทิ้งน้ำหนักตัวบนแผ่นเท้าทั้งสอง ในขณะที่ยืนปลายเท้า ควรวางเท้าทั้งสองแยกและอยู่เหลื่อมกันเล็กน้อยตามถนัด การยืนในลักษณะนี้ทำให้ผู้เล่นพร้อมที่จะพาตัวพุ่งออกจากจุดศูนย์กลางได้อย่างฉับไว การพุ่งออกไปไม่ว่าจะไปทางด้านหน้า ด้านหน้าซ้ายขวา ด้านข้างซ้ายขวา หรือด้านหลัง หรือหลังซ้ายขวา ผู้เล่นสามารถเคลื่อนย้ายตัวไปครอบคลุมพื้นที่สนามได้ทั้งหมด

    จังหวะเท้าอาจจะซอยถี่ เป็นช่วงสั้น หรือยาวตามแต่สถานการณ์ ในกรณีที่ต้องวิ่งในระยะทางไกล ควรสาวก้าวยาว เมื่อถึงจังหวะที่จะเข้าประชิดลูกก็อาจจะซอยฟุตเวิร์คสั้นลง เพื่อเสาะหาจังหวัดการตีลูกให้กับตัวตามถนัด

    การสืบเท้าเข้าประชิดลูก ไม่ว่าเป็นก้าวสั้นหรือก้าวยาว ออกซ้ายหรือขวา จะทำได้ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับ “เวลา” ที่มีอยู่สำหรับการตีแต่ละลูก (Execution of Stroke) เช่น ลูกโยนโด่งที่ข้ามตาข่ายมา ย่อมเอื้อเวลาให้แก่ผู้ตีมากกว่าลูกตัดหยอดที่พุ่งลงหน้าตาข่าย ระยะทางวิ่งของลูก กับวิถีทางวิ่งของลูก ทำให้เวลาเกิดความแตกต่าง

    การสืบเท้าเข้าประชิดลูก ไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่า ควรจะพาตัวเข้าใกล้ลูกในระยะใด ผู้เล่นควรคำนึงถึงความจริงว่า ถ้าลูกห่างไกลจากตัวมาก ผู้เล่นจะเอื้อมตีลูกด้วยความลำบาก แรงที่ส่งมาจากแหล่งต่าง ๆ ของการตีลูกไม่มีโอกาสได้รวมพลังใช้อย่างเต็มที่ ในทำนองเดียวกัน ถ้าประชิดลูกในระยะใกล้เกินไป วงสะวิงของการเหวี่ยงตีลูกแคบ แขนติดที่ช่วงไหล่ ก็จะทำให้แรงตีลูกไม่สามารถนำออกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ระยะห่างจากตัวผู้เล่นในขณะประชิดตีลูกควรจะอยู่ในระหว่าง 2-3 ฟุตจากลำตัว เป็นระยะที่กว้างพอสำหรับการเหวี่ยงตีลูกได้อย่างถนัดและเต็มเหนี่ยว

    ฟุตเวิร์ค หรือจังหวะเท้า จะวางอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ลืมเบสิคการตีลูกพื้นฐาน ลูกหน้ามือ เท้าซ้ายอยู่หน้า เท้าขวาอยู่หลัง และลูกหลังมือ เท้าขวาจะอยู่หน้า เท้าซ้ายจะอยู่หลัง (สำหรับผู้เล่นถนัดขวา ถ้าถนัดซ้ายให้สลับกัน) ฝึกฟุตเวิร์คจังหวะเท้าไปสักพักใหญ่ ๆ ทุกอย่างจะดำเนินไปโดยธรรมชาติ ผู้เล่นจะไม่คำนึงหรือกังวลเรื่องของฟุตเวิร์คอีกเลย

การตีลูกหลังมือ แบ๊คแฮนด์


นักเล่นหัดใหม่ หรือแม้แต่คนที่เล่นแบดมินตันมานาน มักจะบ่นกันเสมอว่า การตีลูกหลังมือ หรือแบ๊คแฮนด์ ทำไมถึงตียากตีเย็น เหวี่ยงตีเต็มที่แต่ลูกไม่วิ่งไกล ตีลูกไม่ถึงหลังสนามฝ่ายตรงข้าม หรือตีได้แรงเหมือนกับการตีลูกหน้ามือโฟร์แฮนด์ ลองมาค้นหาสาเหตุแก้ไขปัญหาของการตีลูกหลังมือ


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อน แรงของการตีลูกมาจาก 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ
1. แรงเหวี่ยงของแขน
2. แรงตวัดบวกกับการสะบัดของข้อมือ และ
3. แรงโถมจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า


แต่การตีลูกหลังมือ จะมีแรงตีลูกที่มาจาก 2 แหล่งแรกเท่านั้น โดยไม่มีแรงโถมจากตัวที่เกิดจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวที่ถ่วงจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้าเป็นแรงเสริม เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องใช้แรงตีลูกทั้ง 2 ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้


ในการตีลูกหน้ามือ โฟร์แฮนด์ ในขณะที่แร็กเก็ตกระทบสัมผัสลูกขนไก่นั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรง เพื่อเปิดโอกาสให้แรงเหวี่ยงตีลูกจากทั้ง 3 แหล่งผ่องถ่ายไปสู่การปะทะตีลูกอย่างเต็มเหนี่ยว ตั้งหน้าแร็กเกตให้ตรง เพื่อให้เอ็นมีส่วนผลักดันลูกให้พุ่งออกจากแหล่งอย่างเต็มที่อีกแรงหนึ่ง


เมื่อเป็นเช่นนี้ การตีลูกหลังมือ ผู้เล่นจะต้องไม่ลืมเทคนิคขั้นพื้นฐานดังกล่าว นำมาใช้กับการตีลูกหลังมืออย่างเต็มที่เช่นกัน กล่าวคือ ขณะที่เหวี่ยงตีลูกหลังมือนั้น ข้อศอกต้องงอพับเพื่อสร้างวงสะวิงในการเหวี่ยงตีลูก แต่ในขณะที่แร็กเก็ตกระทบสัมผัสตีลูกขนไก่นั้น แขนของผู้เล่นต้องเหยียดตรง (ดูภาพประกอบ) เพื่อให้แรงเหวี่ยงตีลูกที่มาจาก 2 แหล่ง ได้ผ่องถ่ายไปสู่การปะทะตีลูกหลังมืออย่างสุดกำลัง ตั้งหน้าแร็กเก็ตให้ตรง ในลักษณะเดียวกับการตีลูกหน้ามือ หรือโฟร์แฮนด์

พึงรำลึกไว้เสมอว่า การตีลูกหลังมือ เพื่อให้แรงเหวี่ยงตีลูกที่มีอยู่จำกัดได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ ในขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสกระทบตีลูกนั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรงเสมอ

ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่ผู้เล่นที่ตีลูกหลังมือไม่แรงบ่อย ๆ นั้น เป็นเพราะผู้เล่นไม่ได้เหยียดแขนในแนวตรงขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสลูกขนไก่ หรือไม่ก็เป็นเพราะตั้งหน้าแร็กเก็ตไม่ตรง หน้าแร็กเก็ตเอียง
ไปเพียงนิดเดียว จะทำให้ผลกระทบ (Impact) ของการตีลูกลดน้อยลงไปอย่างมากมาย

ลูกหลังมือ หรือแบ๊คแฮนด์ เป็นลูกที่จัดอยู่ในประเภทของการรับ (Defensive) ผู้เล่นหลาย ๆ คนอาจจะเลือกใช้ลูกคร่อมเหนือศีรษะ หรือ โอเวอร์เฮ็ด(Overhead)แทน เป็นลูกที่จัดอยู่ในประเภทรุก(Offensive) แต่การตีลูกคร่อมศีรษะนั้นกินแรงมากกว่าตีลูกหลังมือ อีกประการหนึ่งถ้าลูกที่พุ่งมาทางด้านซ้ายของผู้เล่นมากเกินไป ก็ไม่อาจจะใช้ตีด้วยลูกโอเวอร์เฮ็ดได้ แต่ก็มีผู้เล่นมากรายที่สามารถพัฒนาฝึกซ้อมจนการตีลูกหลังมือกลายเป็นจุดแข็ง ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเดาไม่ออกว่าลูกที่จะข้ามไปนั้น จะข้ามไปในลักษณะใด จะเป็นการโยนโด่งสองมุมหลัง หรือแตะหยอดสองมุมหน้า หรือแม้แต่การตบลูกหลังมือด้วยลูกหลังมือแบ๊คแฮนด์ ก็ยังสามารถกระทำได้ด้วยความรุนแรง เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพของฝ่ายรับให้เป็นฝ่ายรุกได้

การตีลูกหลังมือ แบ๊คแฮนด์ให้แรง ต้องขยันฝึกตีลูกให้มากเป็นพิเศษ เหวี่ยงตีจนผู้เล่นสามารถจับจังหวะการตีลูกได้แรงตามต้องการ ต้องรำลึกไว้เสมอว่า แรงตีลูกที่มีเพียงการเหวี่ยงของแขน กับการตวัดกระชากของข้อมือเพียงสองแรงเท่านั้น ให้นำมาใช้เหวี่ยงกระตุกตีลูกให้แรงอย่างเต็มที่ และกระแทกตีลูกให้ปลิวออกจากแร็กเก็ตพุ่งไปยังจุดหมายตามต้องการ

ลูกหลักในเกมแบดมินตัน

ลูกหลักในกีฬาแบดมินตัน แบ่งออกได้เป็น 4 จำพวกใหญ่ ๆ คือ
   - ลูกโยน (Lob or Clear)
   - ลูกตบ (Smash)
   - ลูกดาด (Drive)
   - ลูกหยอด (Drop)


ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเล่นหัดใหม่ หรือเล่นถึงระดับแชมเปี้ยน คุณก็หนีการเล่นลูกจำพวกนี้ไม่พ้น เป็นลูกหลักอันเป็นแม่บทของการเล่นแบดมินตัน แต่ละจำพวกของการตีลูกที่กล่าวมานี้ จะมีวิธีการตี การวางเท้าหรือฟุตเวิร์ค กับจังหวะการตีลูกที่แตกต่างกัน

ผู้เล่นที่ชำนาญแล้ว จะสามารถตีและบังคับลูก 4 จำพวกนี้ ให้ข้ามตาข่ายไปด้วยความหลากหลาย อาจจะมีความแตกต่างกันในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เช่น วิถี ความเร็ว ความยาว ความกว้าง ความสูง ความลึก การฉีกมุม ความหนัก แรง เบา ความเฉียบคม ถ้าทำอย่างนี้ได้ และสามารถนำเอาความหลากหลายไปใช้ในสถานการณ์ที่ถูกต้องนั่นคือศิลปสุดยอด ของการเล่นกีฬาแบดมินตันที่จะยังผลให้ผู้เล่นมีสไตล์หลากหลายของการตีลูก (Varieties of Strokes) ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดไม่ถึง เดาไม่ออกว่าเราจะส่งลูกข้ามไปในลักษณะใด แต่ละลูกที่ตีข้ามไปนั้น ล้วนแต่แฝงไปด้วยอัตราส่วนแห่งการหลอกล่อ(Deception)แฝงอยู่ในตัวอย่างมีประสิทธิพล สร้างแบบฉบับเกมเล่นแบดมินตันของตนเองให้เข้มแข็ง มีสไตล์การเล่นในเชิงรุก ดุดัน ยากแก่การพ่ายแพ้

ลูกโยน (Lob or Clear)
คือ ลูกที่ตีพุ่งโด่งข้ามไปในระดับสูง และย้อยตกลงมาในมุม 90 องศาในแดนตรงข้าม เป็นลูกที่ตีจากเหนือศีรษะ หรือ Overhead หรือจะงัดจากล่าง หรือ Underhand ก็ได้ ตีได้ทั้งหน้ามือ โฟร์แฮนด์ และหลังมือ แบ็คแฮนด์

ลักษณะการตีลูกโยน หรือ ลูกโด่ง


ลูกโยน เป็นลูกเบสิคขั้นพื้นฐาน นักเล่นหัดใหม่จะเริ่มจากการหัดตีจากลูกโยน จึงเป็นลูกเบสิคที่สุดในกีฬาแบดมินตัน มองเผิน ๆ แล้วส่วนมากจะคิดว่า ลูกโยนเป็นลูกที่ใช้สำหรับแก้ไขสถานการณ์ โยนลูกข้ามไปสูงโด่งมากเท่าใด ก็จะมีเวลาสำหรับการกลับทรงตัวของผู้เล่นมากเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ลูกโยนอาจจะใช้สำหรับเป็นการเล่นในเชิงรุกก็ได้ เช่น การตีลูกโยนแบบพุ่งเร็วจี้ไปยังมุมหลังทั้งสองด้าน (Attacking Clear) จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกเป็นฝ่ายรับ ถ้าอยู่ในสถานการณ์เสียหลักจวนตัว จะทำให้การแก้ไขกลับการทรงตัวได้ยากยิ่งขึ้น


ลูกโยน มีจังหวะการตีคล้ายคลึงกับการตบลูก แต่ไม่ต้องใช้แรงกดมากเท่า แทนที่จะตีกดลูกลงต่ำ กลับเป็นการตีเสยลูกให้พุ่งโด่งขึ้นไปด้านบน สุดแท้แต่ว่าผู้เล่นจะบังคับให้ลูกพุ่งข้ามไปในระดับ วิถี ความเร็วตามต้องการลูกโยนที่ข้ามไปอย่างสมบูรณ์แบบ จะต้องมีแรงวิ่งไกลถึงสุดสนามตรงข้าม และต้องไม่ดาดจนคู่แข่งสามารถดักตะปบตีลูกได้ครึ่งทาง ลูกโยนที่ไม่ถึงหลัง หรือตีเข้าสู่มือคู่ต่อสู้ จะทำให้ฝ่ายเราเสียเปรียบ
การตีลูกโยน ให้กลับไปดูบทก่อน ๆ ที่ว่าด้วยการตีลูก แรงของการตีลูก และจังหวะฟุตเวิร์คของการตีลูก ฝึกฝนให้ดีจนสามารถจับจังหวะการเหวี่ยงตีลูกโยนไปถึงด้านหลังของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างง่าย ๆ และสบาย ๆ ในจังหวะ วิถี และระดับที่เราสามารถบังคับให้ลูกข้ามไปตามที่เราต้องการ
ซูซี่ ซูซานติ แชมเปี้ยนโลกเดี่ยวหญิง และแชมเปี้ยนเหรียญทองโอลิมปิคหญิงเดี่ยวคนแรกของโลกจากอินโดนีเซีย มีลูกโยนที่เล่นได้เยี่ยมสุดยอด ลูกโยนของเธอตีง่าย ๆ ตีเนิบ ๆ แต่หนักแน่นและลึกถึงหลัง เธอสามารถตีป้อนโยนเข้ามุมหลังทั้งสองข้างได้ลึก และแม่นยำ จึงทำให้เธอได้ครองความเป็นราชินีแห่งการเล่นเดี่ยวหญิงของโลกอย่างต่อเนื่องหลายปีด้วย

ลูกโยน อาจจะแบ่งออกมาได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
    - ลูกโยนหน้ามือ (Forehand Clear)
    - ลูกโยนหลังมือ (Backhand Clear)
    - ลูกงัดโยน (Underhand Clear)

ลูกโยนหน้ามือ
แรงตีเกิดจากการประสานของแรงเหวี่ยง แรงตวัด การสะบัดของลำแขน ข้อมือ จังหวะฟุตเวิร์คที่ถูกต้อง บวกกับการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า โดยที่แรงตีที่ผ่านแร็กเก็ตไปสัมผัสลูกในช่วงวินาทีที่ถูกจังหวะจะโคน รวมแรงดีด ผลัก ดันให้ลูกพุ่งสูงโด่งไปยังสนามตรงข้าม ตามเป้าหมายที่ต้องการ (ดูภาพสาธิตประกอบ)

ลูกโยนหลังมือ
แรงตีเกิดจากการประสานงานเช่นเดียวกับการตีลูกหน้ามือ แต่การวางฟุตเวิร์คสลับกัน และไม่มีแรงโถมที่มาจากการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหลังไปสู่เท้าหน้า แรงตีลูกหลังมือเกือบทั้งหมดจึงมาจากแรงเหวี่ยง แรงตวัด และการสะบัดของลำแขน กับข้อมือ เท่านั้น โดยเหตุที่การตีลูกหลังมือ แหล่งที่มาของแรงตีลูกมีจำกัด แรงเหวี่ยง แรงตวัดของลำแขนที่มาจากหัวไหล่ กับแรงที่เกิดจากการสะบัดข้อมือ จึงจำเป็นต้องประสานงานสอดคล้องกันอย่างกลมกลืนเป็นจังหวะเดียว

โดยทฤษฎีแล้ว ลูกหลังมือน่าจะเป็นลูกรับสำหรับแก้ไขสถานการณ์มากกว่าเป็นลูกบุก แต่ถ้าฝึกตีลูกให้แรง และมีความคล่องแคล่วชำนาญ จะกลายเป็นการตีลูกที่ผู้เล่นสามารถสร้างเขี้ยวเล็บให้แก่การตีลูกหลังมือ ของตนกลายเป็นการเล่นเชิงรุก(Offensive Play)ได้ จังหวะของการดีด สะบัดข้อที่กระทำได้ในเสี้ยววินาทีกับแรงเหวี่ยงของแร็กเก็ตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เล่นสามารถพลิกโฉมจากเกมรับเป็นเกมรุกได้ในบัดดล เพียงแต่บิดหน้าแร็กเก็ต เปลี่ยนจุดเป้าหมายการตี ลูกก็จะวิ่งไปอีกทางหนึ่ง ทำให้ผู้เล่นสามารถสร้างสัดส่วนของการเล่นลูกหลอก(Deceptive Play)ได้อย่างแพรวพราวด้วยลูกหลังมือ ไม่ว่าจะเป็นลูกโยนหลังมือกระแทกไปมุมหนึ่งมุมใดของสองมุมหลัง หรือแตะหยอดด้วยหลังมือ บังคับให้ลูกวิ่งเข้าสู่มุมซ้ายขวาด้วยความเร็ว หรือบางทีอาจจะใช้ข้อตวัดตบด้วยหลังมือขนานเส้น หรือทะแยงมุมก็สามารถจะทำได้

ลูกงัดโยน
ลูกงัด คือการตีลูกโดยช้อนตวัดตีลูกจากล่างสะบัดขึ้นด้านบน หรือ Underhand เป็นการช้อนตีลูกจากต่ำไปสู่สูง เป็นลูกที่ไม่ต้องใช้แรงเหวี่ยงตีมากเท่าไหร่ ใช้ข้อกระตุกหรือสะบัดลูกก็จะปลิวออกจากแร็กเก็ตอย่างง่ายดาย ส่วนมากจะเป็นลูกที่เข้าประชิดด้านหน้าของสนาม เช่น การเข้ารับลูกแตกหยอดหรือลูกหยอดที่ฝ่ายตรงข้ามส่งข้ามมา หรือการรับลูกตบ เป็นต้น



ลูกงัดใช้ตีได้ทั้งหน้ามือและหลังมือ เป็นลูกที่ได้แรงตีมาจากการตวัด กระตุกหรือสะบัดของข้อมือมากกว่าแรงตีจากแหล่งอื่น การตีลูกงัดผู้เล่นต้องยืดแขนและตีลูกสุดช่วงแขน

ลูกงัดบริเวณหน้าตาข่าย ถ้าเข้าประชิดลูกได้เร็ว มีโอกาสตีลูกในระดับสูง จะใช้เป็นลูกหลอกล่อคู่ต่อสู้ด้วยการเล่นลูกสองจังหวะ เหยียดแขนยื่นแร็กเก็ตออกไป จะทิ้งเป็นลูกหยอดก็ได้ หรือจะกระแทกลูกไปด้านหลังของสนามตรงข้ามก็ได้ จะเป็นการเล่นลูกหลอกสองจังหวะที่สำคัญอีกลูกหนึ่งในเกมเล่นแบดมินตันที่ผู้เล่นทุกคนจะมองข้ามไม่ได้


"ลักษณะของการเข้าประชิดตีลูกงัดโฟร์แฮนด์ และแบ๊คแฮนด์ หน้าแร็กเก็ตจะวางเหมือนกับการหยอดลูก ที่สามารถใช้เป็นลูกหลอกสองจังหวะด้วยการผลักลูกไปด้านหลังสนามแบบงัดดาดได้"


การงัดลูกแบ่งเป็นสองวิถีใหญ่ ๆ คือ การงัดลูกให้พุ่งข้ามไปโดยไม่โด่งนัก ใช้เป็นการงัดลูกแบบรุก อีกวิถีหนึ่งคือการงัดลูกโด่ง ดึงให้คู่ต่อสู้ไปด้านหลังสนาม เพื่อให้เวลาสำหรับการกลับทรงตัวสู่จุดศูนย์กลางได้มากขึ้น


ฝึกหัดตีลูกโยนตามหลักวิธีที่แนะนำมาถึงขั้นตอนนี้ โปรดอย่าลืมหลักขั้นพื้นฐานที่ได้อธิบายไว้แล้วในบทก่อน ๆ ทุกครั้งที่ตีลูก จะต้องไม่ลืมหลักการตีลูกใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ
    หน้าแร็กเก็ตต้องตั้งให้ตรงขณะตีลูก
   ขณะที่แร็กเก็ตสัมผัสกระทบตีลูกนั้น แขนของผู้เล่นจะต้องเหยียดอยู่ในแนวตรงเสมอ
    วิ่งเข้าไปหาลูก อย่ารอให้ลูกวิ่งเข้ามาหาเรา
    เข้าประชิดตีลูกในระดับสูงที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ และ
    ต้องรู้จักดักลูก และเข้าปะทะ (Intercept) ลูกให้เร็วขึ้นเสมอ

วิธีตีลูกหลัก
ในเกมแบดมินตัน - การตบลูก

ได้อธิบายวิธีการตี ลูกโยน ลูกงัด ซึ่งเป็นลูกหลักในเกมแบดมินตันไว้ในบทก่อน คราวนี้จะได้กล่าวถึงวิธีการตีลูกหลักอีกลูกหนึ่ง คือ ลูกตบ (Smash)

ลักษณะของการตบลูก และการเหวี่ยงตามของแขน (ฟอลโลว์ทรู)

ลูกตบ (Smash)
ในเกมแบดมินตัน ลูกตบ เป็นลูกเด็ดขาดที่ตีจากเบื้องสูง กดลูกลงสู่เป้าหมายให้พุ่งลงสู่พื้นในวิถีตรงที่รุนแรง และรวดเร็ว (ดูภาพ ) เป็นลูกที่พุ่งไปสู่เป้าหมายด้วยความเร็วที่สูงกว่าเกมเล่นอื่น ๆ ที่ใช้แร็กเก็ต เป็นลูกที่ใช้บีบบังคับให้คู่ต่อสู้ต้องตกเป็นฝ่ายรับ มีเวลาจำกัดสำหรับการเตรียมตัวตอบโต้ ลูกตบเป็นลูกฆ่า เป็นลูกทำแต้มที่ได้ผล ถ้ารู้จักใช้อย่างถูกต้อง

ลูกตบใช้ในโอกาสต่าง ๆ คือ
1. เมื่อคู่ต่อสู้โยนลูกข้ามตาข่ายมาเพียงรึ่งสนาม หรือส่งลูกข้ามมาไม่ถึงหลัง
2. เมื่อต้องการบีบให้คู่ต่อสู้เสียหลัก ผละออกจากจุดศูนย์กลาง
3. เมื่อต้องการให้คู่ต่อสู้กังวลใจ พะวงอยู่กับการตั้งรับ
4. เพื่อผลของการหลอกล่อ เมื่อคู่ต่อสู้เกิดความกังวลใจ ทำให้ประสิทธิผลของการใช้ลูกหลักอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
5. เมื่อต้องการเผด็จศึก ยุติการตอบโต้ หรือใช้เมื่อคู่ต่อสู้เผลอตัว หรือเสียหลักการทรงตัว บุกทำคะแนนด้วยลูกเด็ดขาด

ที่จะตบลูกพุ่งเข้ามาหาตัวก็ได้

 

วิถีของลูกตบ

วิถีของลูกตบ


การตบลูกไม่ควรตบข้ามไปในวิถีเดียว ควรบังคับให้ลูกตบข้ามไปในลักษณะต่างกัน สั้นบ้าง ยาวบ้างสลับกันไป การตบลูกให้ข้ามไปในลักษณะช่วงสั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งโยนข้ามมาครึ่งสนาม หรือบางครั้งผู้เล่นที่มีรูปร่างสูงยาว อาจจะใช้การกระโดดตัวลอยจากพื้น เพื่อสร้างมุมตบลูกได้ในระดับสูง เพื่อปักหัวลูกให้ลึกไปยังแดนตรงข้ามได้มากตามระดับที่ตัวเองสามารถกระโดดลอยตัวขึ้นตบลูกได้ (ดูภาพที่ ) ซึ่งบางครั้งผู้ตบยังสามารถใช้ลูกท้อปสะปิน หรือครึ่งตบครึ่งตัด สร้างลูกตบข้ามไปในวิถีประหลาด ๆ ยากแก่การเดาของคู่ต่อสู้ได้

การกระโดดถีบตัวขึ้นตบลูก นอกจากทำให้ผู้ตบตีลูกในระดับสูงได้ และทำให้มีมุมลึกในการตบลูกแล้ว บางครั้งยังใช้เป็นการหลอกล่อ (Deception) คู่ต่อสู้ได้ แทนที่จะตบลูกด้วยความรุนแรงเพียงอย่างเดียว อาจจะแตะหยอดสลับก็ได้ ทำให้เกิดความหลากลายในการตีลูก เกิด Varieties of Strokes

วิถีหลากหลายของลูกตบ

ลูกตบคร่อมศีรษะ (Overhead Smash)
ลูกตบคร่อมศีรษะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ลูกตบโอเวอร์เฮ็ด บางทีก็เรียกกันว่าลูกตบอ้อมศีรษะ เป็นลูกที่ใช้เล่นแทนลูกหลังมือ หรือแบ็คแฮนด์กันบ่อยที่สุด ผู้เล่นที่ใช้สไตล์การเล่นแบบรุก จะนิยมใช้ลูกโยนหรือลูกตบคร่อมศีรษะกันมาก เพราะจู่โจมคู่ต่อสู้ได้ดีกว่า มีประสิทธิผลมากกว่า แทนการใช้ตีด้วยลูกหลังมือที่ต้องหันข้าง หรือหันหลังให้ตาข่ายกับคู่ต่อสู้
ลูกคร่อมศีรษะ เป็นการตีลูกจากระดับสูง ผู้เล่นจึงมีโอกาสเลือกมุมกับเป้าหมายการตีได้กว้างลึกกว่า เล็งกำหนดเป้าหมายให้เป็นลูกตบยาว หรือสั้นก็ได้ เป็นการตีลูกที่ผู้เล่นหันหน้าเข้าหาสนามคู่แข่ง การเคลื่อนไหวหรือตำแหน่งที่ยืนของคู่แข่งย่อมอยู่ในสายตา การกำหนดวางเป้าหมายย่อมกระทำได้ง่ายขึ้น

เป้าหมายการตบลูกคร่อมศีรษะที่ใช้กันมาก และใช้ได้ผลมากที่สุด ได้แก่การตบขนานเส้นข้าง (Pararel Smash) และการตบทแยงสนาม (Cross Court Smash) (ดูภาพที่ หมายเลข 1 และ 2) เพราะเป็นการตบลูกที่ทำให้คู่ต่อสู้เดาหรือคาดคะเนได้ยาก ดูไม่ออกว่าเป้าหมายการตบนั้นจะพุ่งไปสู่ด้านซ้ายหรือด้านขวาของสนาม เป็นการตบตวัดลูกที่มีความเร็วในการเปลี่ยนทิศทางของเป้าหมาย ถ้าทำได้อย่างแนบเนียน จะสร้างความปั่นป่วนระส่ำระสายแก่ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก
การตบลูกขนานเส้นข้าง (หมายเลข 1) มีแนวโน้มที่จะตบออกนอกเส้นได้ง่าย เพราะการจับแร็กเก็ตแบบตัว วี. หน้าแร็กเก็ตจะหันออกด้านซ้าย ลูกที่ตบข้ามไปมักจะเฉออกทางด้านซ้ายของสนาม การเล็งเป้าหมายตบลูกจึงต้องเล็งเผื่อเข้ามาในสนามเล็กน้อย ในทำนองเดียวกัน การตบลูกขนานเส้นด้านขวา (หมายเลข 4) ลูกที่ตบข้ามไปจะมีความแน่นอนกว่า เพราะวิถีของลูกจะมีแนวโน้มเฉเอียงเข้ามาในสนาม
การตบลูกทแยงสนาม ต้องตวัดลูกข้ามไปด้วยการพุ่งเร็ว และพึงระวังการดักลูก (Intercept) ของคู่ต่อสู้ ณ จุดหมายเลข 3 การตบลูกทแยงสนามสามารถทำได้ทั้งสองด้าน ทั้งคร่อมศีรษะและด้านโฟร์แฮนด์ (ดูภาพที่ ) จะเป็นลูกตบที่สร้างความลำบากใจแก่ฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก เพราะวิถีกับมุมของลูกตบที่ข้ามไปมีหลากหลาย ยากแก่การเดาและคาดคะเนของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ก็เป็นลูกที่ข้ามตาข่ายอย่างเฉียดฉิว ง่ายแก่การตีติดตาข่ายถ้าการตบมีการกดลูกมากเกินไป

เป้าหมายของการตบลูก
เป้าหมายของลูกตบ แบ่งออกได้เป็น
1. ตบลูกให้ห่างตัวผู้รับ
2. ตบลูกพุ่งเข้าหาตัวผู้รับ

ตบลูกห่างตัวผู้รับ – เป็นการตบลูกแบบเบสิคพื้นฐาน บีบบังคับให้คู่ต่อสู้ผละออกจากศูนย์กลางสนาม ละจากจุดศูนย์กลางเพื่อไปรับลูก ณ อีกจุดหนึ่ง ระหว่างที่ต้องเคลื่อนย้ายผละจากที่มั่นเดิม คู่แข่งอาจจะกระทำการผิดพลาดในจังหวะใดจังหวะหนึ่ง ยังผลให้ตีหรือรับลูกกลับมาผิดพลาด สั้นไปหรือยาวเกินไป ทำให้เปิดโอกาสให้เราซ้ำเติมในลักษณะการรุกโจมตีซ้ำดาบสองได้
ในทำนองเดียวกัน การฉีกแยกคู่แข่งออกจากจุดศูนย์กลาง ย่อมทำให้อีกด้านหนึ่งของสนามเกิดช่องว่างมากขึ้น ทำให้เราสามารถตีโยกบีบให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดการเพลี่ยงพล้ำขึ้นโดยง่าย หรือบางครั้งอาจจะบีบให้ตีลูกเสียเอง หรือเกิด Unforced Error อย่างคาดไม่ถึงก็ได้

ตบลูกพุ่งเข้าหาตัวผู้รับ – เป็นการตบลูกสวนทางกับหลักการเลือกเป้าหมายการตีลูกในเกมแบดมินตัน แต่อาศัยที่ลูกตบเป็นลูกที่พุ่งเร็วและแรง การตบลูกพุ่งเข้าหาตัวคู่ต่อสู้อาจจะทำให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำอย่างง่ายๆ ก็ได้ เพราะความเร็วกับความแรงของลูกทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีเวลาสำหรับเตรียมการตอบโต้ ยิ่งผู้เล่นที่อ่อนฟุตเวิร์คจัดจังหวะเท้าไม่ถูก จัดจังหวะเท้าไม่คล่องตัว ก็อาจจะเอี้ยวตัวหลบไม่ทัน เพื่อเปิดมุมสะวิงสำหรับเหวี่ยงตีลูกได้ถนัด หรือบางครั้งคาดไม่ถึง
คิดว่าผู้ตบมีแนวโน้มที่จะกำหนดเป้าหมายการตบลูกไปอย่าง ส่วนว่างของสนามมากกว่าที่จะตบลูกพุ่งเข้ามาหาตัวก็ได้

การตีลูกหลักในเกมแบดมินตัน - ลูกดาด

ลูกดาด (Drive) คือ ลูกดาดที่พุ่งเฉียดข้ามตาข่าย มีวิถีพุ่งข้ามขนานไปกับพื้นสนาม ผู้เล่นตีลูกดาดสูงในระดับอก ตีได้ทั้งหน้ามือโฟร์แฮนด์ และหลังมือแบ็คแฮนด์ทั้งจากด้านซ้ายและขวาของลำตัว (ดูภาพที่ 1)

(ภาพที่ 1) วิถีของลูกดาด

ลูกดาดที่ตีจากระดับต่ำ ลูกที่ข้ามไปจะเป็นลอยสูงไม่ขนานกับพื้นสนาม มีแนวโน้มที่จะข้ามตาข่ายไปในลักษณะของลูกงัดโด่ง

ลูกดาดใช้สำหรับสร้างสถานการณ์เป็นฝ่ายรุกโจมตี ไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบโต้กลับมาด้วยลูกตบ เป็นลูกที่พุ่งข้ามตาข่ายด้วยความเร็วในวิถีตรง โดยที่ผู้เล่นสามารถวางเป้าหมายให้ลูกพุ่งไปสู่ทุกจุดของสนามตรงจ้าม อาจจะเป็นลูกดาดสุดสนาม (ดูภาพที่ หมายเลข 1) ดาดครึ่งสนาม (หมายเลข 3) หรือตีเบา ๆ ให้กลายเป็นลูกแตะหยอด (หมายที่ 2)

(ภาพที่ 2) ลูกดาดวิถีต่าง ๆ


ลูกดาดใช้กันมากในประเภทคู่ เพราะลูกดาดรักษาความเป็นฝ่ายรุก หลีกเลี่ยงการส่งลูกโด่งเปิดโอกาสให้คู่แข่งใช้ลูกตบได้ อีกทั้งยังบีบบังคับให้คู่แข่งมีเวลาสำหรับการตีโต้กลับมาด้วยช่วงเวลาสั้น ยิ่งถ้าคู่แข่งเสียหลักถลำไปอีกซีกหนึ่งของสนาม ลูกดาดที่พุ่งไปอีกด้านหนึ่งของสนาม จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะกลับตัวมาตีลูกได้

ในการเล่นประเภทคู่ ลูกดาดแทงครึ่งสนามยังใช้สำหรับหลบผ่านผู้เล่นที่อยู่ด้านหน้าของอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกันวิถีดาดของลูกที่ข้ามไป ผู้เล่นมือหลังก็ไม่อาจจะตอบโต้กลับมาด้วยลูกตบได้ ถ้าใช้ลูกดาดพุ่งไปยังมุมที่สามของฝ่ายตรงข้าม ในหลาย ๆ ครั้งจะพลิกสถานการณ์จากการเป็นฝ่ายรับให้กลายเป็นฝ่ายรุกได้ทันที

ลูกดาด เป็นแรงตีที่มาจากแรงเหวี่ยงของแขน ผสมผสานกับแรงตวัดของข้อมือ อาจจะมีแรงโถมของน้ำหนักตัว หรือไม่มีเลยก็ได้

การกำหนดแรงตี จะทำให้ลูกดาดข้ามไปยังเป้าหมายที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นลูกดาดสุดสนาม แรงเหวี่ยงตีกับการตวัดของข้อมือก็ต้องออกแรงเต็มที่ ถ้าเป็นลูกดาดครึ่งสนามก็ต้องลดความแรงลงบางส่วน แต่ก็ยังต้องใช้การดีดตวัดของข้อมือช่วยส่งลูก เพื่อให้ลูกดาดที่ข้ามตาข่ายไปนั้น มีวิถีวิ่งที่ฉวัดเฉวียนรวดเร็ว คู่ต่อสู้ไม่อาจจะมาดักตะปบลูกได้

หรือบางครั้งจะใช้เป็นลูกหลอก แทนที่จะเป็นลูกดาดพุ่งเร็ว อาจจะตีเป็นลูกแตะหยอดทิ้งไว้หน้าตาข่ายของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ แต่ต้องเป็นวิถีการตีลูกที่เร็ว ไม่อ้อยอิ่งจนอีกฝ่ายหนึ่งพุ่งเข้ามาแย๊ปได้

ลูกดาดที่สมบูรณ์ ต้องข้ามตาข่ายไปในวิถีตรง ลูกพุ่งข้ามไปด้วยความเร็ว ในขณะเดียวกันต้องข้ามไปในวิถีวิ่งเลียดตาข่าย ลูกดาดที่พุ่งสู่เป้าหมายห่างตัวคู่ต่อสู้มากเท่าใด จะเป็นการวางลูกที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ตี และบีบให้อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเป็นฝ่ายรับ ในหลาย ๆ กรณีต้องตอบโต้กลับมาเป็นลูกงัด หรือลูกโยนโด่ง เปิดโอกาสให้เราเป็นฝ่ายทำ เป็นฝ่ายรุกโจมตีได้

ลูกดาดที่ตีง่าย และถนัด ได้แก่ลูกที่พุ่งมาสองด้านของลำตัว เพราะมีมุมสำหรับเหวี่ยงตีลูก แต่ในบางกรณี ลูกที่พุ่งตรงเข้ามาหาลำตัว ผู้เล่นจำเป็นที่จะต้องใช้จังหวะเท้าฟุตเวิร์คดันตัวเองให้พ้นวิถีลูก เพื่อเปิดมุมสำหรับเหวี่ยงตีลูกได้ ควรกำหนดระยะการประชิดให้พอที่จะตีลูกได้อย่างสบาย ปล่อยลำแขนเหวี่ยงตีลูกและตวัดข้อมือได้อย่างเสรี ควรตีลูกในระดับสูง และเป็นฝ่ายวิ่งเข้าไปหาลูกเสมอ

ลูกดาด - ด้วยการนั่งย่อตี

การตีลูกดาดด้วยการนั่งย่อตี กล่าวได้ว่าเป็นวิธีการตีแบดมินตันที่คนไทยริเริ่มขึ้น มาจากการเล่นประเภทสาม หรือเกมเล่นที่มีผู้เล่นฝ่ายละสามคน
การนั่งย่อตัวตีสวนลูกใช้ได้ผลดีในประเภทคู่ ถึงกระนั้นก็ไม่ควรใช้บ่อย เพราะการนั่งย่อตัวตีลูก ทำให้การกลับลำทรงตัวช้า บางครั้งอาจจะทำให้พลาดพลั้งหรือเสียการทรงตัว แต่การนั่งย่อตีสวนลูกดาดในจังหวะที่เหมาะสม กลายเป็นวิธีการเล่นที่ส่งลูกข้ามตาข่ายไปในวิถีที่ฝ่ายตรงข้ามคาดไม่ถึง อาจใช้ในกรณีที่จวนตัว หรือลูกที่พุ่งตรงเข้าหาลำตัว เป็นการแก้ไขพลิกสถานการณ์จากฝ่ายรับให้เป็นฝ่ายรุกได้
การฝึกตีลูกดาด ให้ผู้เล่นสองคนอยู่คนละฝ่ายของสนาม ตีลูกดาดด้วยการยืนอยู่ประมาณครึ่งสนาม ตีซ้ายขวาข้ามไปมาช้า ๆ พยายามบังคับให้ลูกวิ่งเลียดข้ามโดยไม่ติดตาข่าย ในระยะแรก ๆ ให้เผื่อข้ามเลยตาข่ายไว้ก่อน เมื่อเกิดความชำนาญ เกิดทักษะ จึงค่อยทวีความแรง กับความเร็วมากขึ้น

หวังว่าคงได้เทคนิคดีๆที่จะนำไปเล่นนะครับ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมครับ

สร้างโดย: 
Ekkawee
รูปภาพของ bp26465

โอ้โห~!!! ว่าที่นักกีฬาเเบดมินตัน...ขอให้สมปราถนานะเพื่อน(ก่อนอื่นไปฝึกให้ได้เหมือนในรูปเเละมาชนะเราก่อนนะจ๊ะ)

รูปภาพของ bprorachorn

เยี่ยมมาก  ขอบใจหลายๆๆเด้อ

เก็บไว้ดูก่อนสอบได้ มีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย  

ทำได้เลย กี่เรื่องก็ได้ อย่าลืมส่งชื่อมาบอกกันด้วยจะได้ up เป็นผลงานไว้ให้

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 526 คน กำลังออนไลน์