สุภาษิตไทย

ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล


 สุภาษิตไทย

สุภาษิต คือ คำพูดที่พูดออกมา  ไม่ว่าจะเป็นทำนองสำนวนโวหาร หรือคำพังเพย แต่มีเนื้อความหรือความหมายที่ดี  เป็นคำตักเตือนสั่งสอน  และสะกิดใจให้ระลึกถึงอยู่เสมอ มีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือเข้าใจเนื้อความได้ทันที   โดยไม่ต้องแปลความหมาย  ตีความหมายเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
2. คำสุภาษิตประเภทที่ พูด อ่าน หรือฟังแล้วยังไม่เข้าใจเนื้อความนั้นในทันที ต้องนึกตรึกตรอง ต้องแปลความ  ตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบเนื้อแท้ของคำเหล่านั้น  เช่น  ผีบ้านไม่ดีผีป่าก็พลอย

 ตัวอย่างคำสุภาษิตไทย

กินน้ำใต้ศอก : หมายไปในทางที่ว่าถึงจะได้อะไรสักอย่างก็ไม่เทียมหน้าหรือไม่เสมอหน้าเขา เช่นหญิงที่ได้สามี แต่ต้องตกไปอยู่ในตำแหน่งเมียน้อย   ก็เรียกว่า "กินน้ำใต้ศอกเขา" ที่มาของสำนวนนี้ คนในสมัยก่อนอธิบายว่า คนหนึ่งเอาสองมือกอบน้ำมากิน มากิน อีกคนหนึ่งรอหิวไม่ไหวเลยเอาปากเข้าไปรองน้ำที่ไหลลงมาข้อศอก ของคนกอบน้ำกินนั้นเพราะรอหิวไม่ทันใจ
กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ : สำนวนพังเพยนี้ มาจากการคั่วถั่วกับงาในกระทะเดียวกัน ถั่วเป็นของสุกช้างาสุกเร็วมัวรอไห้ถั่วสุก งาก็ไหม้เสียก่อน สำนวนนี้หมายถึงการทำอะไรสองอย่างพร้อมกันหรือทำอะไรสักอย่างที่ไม่รอบคอบ มัวคิดแต่จะได้ทางหนึ่งต้องเสียทางหนึ่งในความหมายอีกแง่ก็แปลว่าการทำอะไรมัวรีรออยู่ ไม่รีบลงมือทำเสียแต่แรกครั้นพอลงมือจะทำ ก็ไม่ทันการเสียแล้วเพราะคนอื่นเขาเอาไปทำเสียก่อน
ขี่ช้างจับตั๊กแตน  : หมายความว่า  ลงทุนเสียมากมายเพื่อทำงานเล็ก ๆ เท่านั้น  เป็นทำนองว่าผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับที่ลงทุน  หรือทำให้เป็นการใหญ่โตเลย  หรือแปลความหมายสั้น ๆ "ทำงานใหญ่เกินตัว"
เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า  : สำนวนนี้  เวลาพูดมักจะใช้คำตรง ๆ ว่า "เขียนด้วยมือลบด้วยตีน" เป็นความเปรียบเปรยถึง  คนที่แต่แรกทำความดีจนเป็นที่เชื่อถือไว้แล้ว แต่ภายหลัง กลับทำความชั่วลบล้างความดีของตนเสียง่าย ๆ หรือเปรียบอีกทางหนึ่งถึงคนที่ออกคำสั่ง หรือให้สัญญาไว้แต่แรกอย่างหนึ่ง แล้วปุบปับกลับเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือสัญญานั้นเสีย ให้อยู่ในลักษณะตรงข้ามโดยไม่มีเหตุผล
คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย  : สำนวนนี้เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อเวลาไปไหนคนเดียวไม่ปลอดภัยนัก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรียกว่า "หัวหาย" ถ้าไปด้วยกันสองคน ก็อาจจะช่วยขจัดเหตุร้ายหรือเป็นเพื่อนอุ่นใจได้ดีกว่าไปคนเดียว.
คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล  : สำนวนนี้ มีความหมายหรือคำบรรยายอยู่ในตัวแล้ว คือคบคนชั่ว คนชั่วก็ชักพาเราให้พลอยไปทำชั่วด้วย ถ้าคบคนดีมีความรู้ ก็ทำให้เราได้รับผลดีหรือได้รับความรู้ดีตามไปด้วย
ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก : สำนวนนี้หมายถึง การที่จะทำงานใหญ่ ๆ เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับจำนวนมาก ๆ แล้ว ก็อย่าเสียดายเงินทองหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องเสียที่เดียวนัก เปรียบเหมือนฆ่าควายทั้งตัวเพื่อจะปรุงอาหารมาก ๆ ก็อย่าเสียดายพริกที่จะต้องใช้แกงหรือผัด มิฉะนั้นอาหารจะเสียรสเพราะเนื้อควายกับพริกแกงไม่ได้สัดส่วนกัน.
ฆ่าช้างเอางา  : หมายความว่า ลงทุนลงแรงเพื่อทำลายของหรือสิ่งสำคัญใหญ่ ๆ โต ๆ เพียงเพื่อต้องการจะได้ของสำคัญชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น ไม่สมกับค่าของ ๆ ที่ถูกทำลายลงไป เช่นทำลายชีวิตคน เพื่อต้องการทรัพย์สิน หรือของมีค่าเล็กน้อยของคนผู้นั้นมาเป็นประโยชน์ของตน โดยไม่คิดว่าชีวิตของผู้นั้นมีค่ากว่าทรัพย์สินก้อนนั้น หรือเป็นการไม่สมควรเพราะผิดกฎหมายร้ายแรง เช่นนี้ก็เรียกว่า "ฆ่าช้างเอางา" ได้เช่นเดียวกัน
งมเข็มในมหาสมุทร  : สำนวนนี้เปรียบเทียบ มหาสมุทรซึ่งเป็นสถานที่กว้างใหญ่ลึกลับ เมื่อเข็มเย็บผ้าเพียงเล่มเดียวที่ตกลงไปยังก้นมหาสมุทร จึงย่อมค้นหาไม่ใช่ของง่ายนัก หรือไม่อาจจะค้นหาได้ เปรียบได้กับการที่เราจะค้นหาอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่ในวงกว้าง ๆ ไม่มีขอบเขต ย่อมสุดวิสัยที่เราจะค้นหาได้ง่าย.
งูเห็นนมไก่ ไก่เห็นตีนงู  : คำพังเพยสำนวนนี้ จะพูดสลับกัน คือเอาประโยคหลังขึ้นก่อนก็ได้ว่า "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" เพราะความหมายสัมพันธ์กัน ซึ่งตามธรรมชาติแล้วเราจะไม่เคยได้เห็น "ตีนงู" หรือ "นมไก่" เลย เพราะงูไม่มีตีนและไก่ก็ไม่มีนม ความหมายของสำนวนจึงแปลว่า คนสองคนต่างคนต่างเห็นหรือรู้เรื่องเดิมหรือรู้ความในกันดี แต่คนอื่นอาจไม่เห็น หรือไม่รู้เรื่องของคนสองคนนี้เลย เช่น คนสองคนทำตนเป็นคนมั่งมีหรือมีความรู้สูงเพื่ออวดคนอื่น ๆ แต่ทั้งสองคนนี้ต่างรู้ไส้กันดีว่าแท้จริงแล้วต่างคนต่างไม่มีเงิน หรือไม่มีความรู้เลยเมื่อมาพบกันเข้าจึงเท่ากับว่า "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่"
จุดไต้ตำตอ  : สำนวนนี้ หมายถึงการพูดกล่าวขวัญหรือทำอะไรสักอย่าง  โดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้จักคนผู้นั้นครั้นพอรู้ความจริง  ผู้พูดหรือผู้ทำกลายเป็นคน  "ห้าแต้ม"  ไปเลย  ถ้าเป็นการพูดกล่าวขวัญในทางร้ายหรือนินทาด่าคนผู้นั้นเข้า  ดีไม่ดีก็ต้องเคราะห์ร้ายเปรียบเหมือนจุดไต้ไปตำเข้ากับตอถึงไฟดับ  สำนวนนี้เข้าใจว่า  มาจากการจุดไต้ให้ไฟสว่างของคนสมัยโบราณ  ซึ่งใช้เป็นไฟฉายส่องทาง  แล้วเอาไต้ไฟไปชนเข้ากับต่อถึงดับ
โจรปล้น ๑๐  ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว  : สำนวนนี้มีความหมายอธิบายอยู่ในตัวแล้ว ถึงแม้คนเราจะถูกโจรขึ้นปล้นบ้านสัก ๑๐  ครั้งหรือมากกว่านั้น  ก็ยังไม่ทำให้ข้าวของ  หรือทรัพย์สินบางอย่างภายในบ้านเราถึงขนาดหมดเกลี้ยงตัวเลยทีเดียวนัก  แต่ไฟไหม้ครั้งเดียว  เผาผลาญทั้งทรัพย์สิน  และที่อยู่เราวอดวายเป็นจุลไปหมด  โบราณจึงว่า  "โจรหรือขโมยขึ้นบ้านสัก ๑๐ ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว"
ช้า ๆ ได้พร่าเล่มงาม  : สำนวนพังเพยนี้  หมายถึง การทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  ถ้ามุ่งจะให้ได้ประโยชน์สมบูรณ์ก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ  หรือไม่รีบร้อนจนเกินไปนัก  หรือไม่หมายความว่าจะทำให้งาน  "ล่าช้า" จนเกินไป  แต่มีความหมายว่า  ให้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ  สำนวนนี้ คนในสมัยปัจจุบันยังข้องใจอยู่ว่าจะขัดกับสำนวนพังเพยที่ว่า  "น้ำขึ้นให้รีบตัก" ซึ่งแปลว่าให้รีบฉกฉวยโอกาส  ตรงกันข้ามกับสำนวนนี้ที่ว่า  "ได้พร้าเล่มงาม"  แต่แท้จริงแล้ว  เป็นคำพังเพยที่เตือนให้เราเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมต่างหาก  จะช้าหรือรีบร้อนจึงต้องแล้วแต่โอกาส
ชักใบให้เรือเสีย  : หมายถึง การพูดหรือทำอะไรให้เป็นที่ขวาง ๆ หรือทำให้เรื่องในวงสนทนาต้องเขวออกนอหเรื่องไป  โดยไม่คิดว่าเรื่องที่เขากำลังพูดหรือทำอยู่นั้นจะมีความสำคัญขนาดไหน
ดูช้างให้ดูหาง  ดูนางให้ดูแม่  : สำนวนทำนองนี้  มีอยู่ด้วยกันหลายประโยค  และมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน  เช่น  "ดูวัวให้ดูหาง  ดูนางให้ดูแม่" "ดูข้างให้ดูหน้าหนาว  ดูสาวให้ดูหน้าร้อน" ดังที่ได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว  แต่สำนวนที่ว่า  "ดูช้างให้ดูหาง" นี้  มุ่งให้ดูหางช้าง  ที่บอกลักษณะว่าเป็นช้างดีหรือช้างเผือก  เพราะที่ปลายหางของมันยังเหลือให้เห็นสีขาวอยู่ตามเรื่องที่เล่าว่า  เวลาช้างพังตกลูกเป็นช้างเผือกสีประหลาด  พวกช้างพลายและช้างพังจะช่วยกัน  "ย้อม" กลายลูกมันเสีย  ด้วยการใช้ใบไม้หรือขี้โคนดำ ๆ  พ่นทับ  เพื่อมิให้คนรู้ว่าเป็นช้างเผือกแล้วมาจับไป  หรืออย่างไรไม่แน่ชัด  แต่การย้อมลูกของมันด้วยสีเผือกให้เป็นสีนิลนั้น  ก็ยังเหลือร่องรอยอยู่อย่างหนึ่ง  คือที่ปลายหางเป็นสีขาว  เหตุนี้เขาจึงให้สังเกตลักษณะของช้างเผือกที่ตรงหางไว้เป็นหลักสำคัญ
เดินตามหลังราชสีห์  ดีกว่าเดินตามก้นสุนัข  : ไม่ทราบที่มาของสำนวนนี้แน่ชัดนัก  แต่เข้าใจว่า  เป็นสำนวนที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้  หรือไม่มีนานมานี้นัก  จำได้ว่าอดีตนักศิลปินผู้หนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว  คือคุณเสน่ห์  โกมรชุนนำมาใช้เป็นมติของเขาครั้งหนึ่ง  สมันที่ร่วมวงกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง  ซึ่งเรืองอำนาจในสมัยนั้น  โดยถือคติยอมเป็นสมัคพรรคพวกของผู้มีอำนาจราชศักดิ์ดีกว่ายอมร่วมวงกับผู้ที่ปราศจากอำนาจราชศักดิ์หรือทรัพย์สิน
ตกกระไดพลอยโจน  : สำนวนนี้ทางหนึ่งหมายถึง ว่ากันว่าการทำอะไรที่บังเอิญเกิดผิดพลาดขึ้น  โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง  หรือทำไปได้ครึ่งแล้ว  ก็จำต้องทำมันต่อไปให้เสร็จสิ้นเสียเลยเรียกว่า  "พลอยโจน" อีกทางหนึ่ง  คงจะหมายถึงการพลอยผสมโรงหรือพลอยตามไปด้วยกับเขา  ทำนองเดียวกับที่ว่า  เห็นคนอื่นตกกระได  ตนเองก็เลยพลอยโจนตามโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง  แต่อีกทางหนึ่ง  อาจหมายความได้ว่าการกระทำอะไรบังเอิญผิดพลาด  คือ  "ตกกระได"  ก็เลยใช้วิธีกระโจนลงไปเสีย  เพื่อไปตั้งหลักเอาใหม่ดีกว่าปล่อยให้ตกกลิ้งลงไป
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ  : สำนวนนี้  โบราณมักใช้พูดกันมาก  หมายถึงการกระทำอะไรสักอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือได้สมดุลกัน  หรือใช้จ่ายทรัพย์ลงทุนไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย  เช่นลงทุนเล็กน้อยเพื่อทำงานใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินมาก ๆ ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ง่าย  ต้องสูญทุนไปเปล่า ๆ เปรียบเหมือนตำน้ำพริกเพียงครกเดียว  เอาไปละลายในแม่น้ำกว้างใหญ่  เมื่อละลายไปก็จะสูญหายไปหมดสิ้นไปทำให้แม่น้ำเกิดอะไรผิดปกติขึ้น  เสียน้ำพริกไปเปล่า ๆ
ถ่มน้ำลายรดฟ้า  : สำนวนนี้ใช้เป็นความหมายถึง  คนที่คิดร้ายหรือดูหมิ่นบุคคลที่สูงกว่า  คำว่า  "ถ่มน้ำลาย" เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปเกือบทุกชาติแล้วว่า  คือการแสดงกิริยาดูถูกดูหมิ่น  และมักใช้เป็นกิริยาแสดงออกให้อีกฝ่ายเห็นได้ชัด  เรียก  "ถ่ม" หรือ  "ถุ่ย" แตกต่างกับลักษณะของการ  "บ้วนน้ำลาย" เมื่อพูดว่า  "ถ่มน้ำลายลดฟ้า" ก็หมายถึง  ดูเหมือนบุคคลที่สูงกว่า  การถ่มน้ำลายขึ้นไปที่สูงคือฟ้าน้ำลายนั้นก็ย่อมจะตกลงมาถูกหน้าตาของตนเองความหมายจึงอยู่ที่ว่า  การดูหมิ่น  หรือคิดร้ายต่อบุคคลที่สูงกว่าหรือที่เคารพทั่วไป  มักจะกลับเป็นผลร้ายหรืออภัยแก่ตนเองได้
ถ่านไฟเก่า  : สำนวนนี้  มีความหมายโดยเฉพาะสำหรับชายหญิงที่เคยเป็นคู่รักหรือเคยมีสัมพันธ์กันมาก่อนแล้วเลิกร้างกันไป  หรือห่างไประยะหนึ่ง  เมื่อกลับมาพบกันใหม่  ก็ทำท่าจะตกลงปลงใจ  คืนดีกันได้ง่าย  เปรียบเหมือนถ่านไฟที่เคยติดแล้วมอดอยู่หรือถ่านดับไปแล้ว  แต่พอได้เชื้อไฟใหม่ก็คุติดไฟลุกขึ้นมาได้เร็วกว่าถ่านที่ยังไม่เคยได้เชื้อไฟหลายเท่า
ทำคุณบูชาโทษ  โปรดสัตว์ได้บาป  : สำนวนนี้  หมายความว่า  การทำคุณหรือการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเจตนาดี  แต่กลับกลายเป็นได้รับโทษตอบแทนหรือเข้าทำนองที่ว่า  ยุ่งไม่เข้าเรื่องอะไรทำนองนั้นสำนวนนี้นิยมใช้ประโยคแรกประโยคเดียวพูดก็เป็นที่เข้าใจกัน
เทศน์ตามเนื้อผ้า  : แปลว่า  จะพูดหรือสั่งสอนใครก็พูดเรื่อยไปตามตำราหรือแบบแผน  ไม่มีการดัดแปลงให้เข้ากับคนฟังหรือให้เหมาะสมกับกาลเทศะจึงย่อมจะมีผู้ฟังบางคนไม่เข้าใจก็ได้
น้ำขึ้นให้รีบตัก  : เป็นสำนวนสุภาษิตที่หมายถึงว่า  เมื่อมีโอกาสหรือได้จังหวะ  ในการทำมาหากินหรือช่องทางที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนแล้ว  ก็ควรจะรีบคว้าหรือรีบฉวยโอกาสอันดีนี้เสีย  อย่าปล่อยโอกาสหรือจังหวะเวลาให้ผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดาย  สำนวนนี้เอาไปเปรียบกับอีกสำนวนที่ว่า  "ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม" แล้ว  หากคุณไม่เข้าใจความหมายก็อาจจะทำให้พะวักพะวงใจอยู่บ้าง  เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อสำนวนไหนดี  อย่างไรก็ควรดูคำแปลความหมายของอีกสำนวนนั้นเสียก่อน
น้ำนิ่งไหลลึก  : เป็นสำนวนที่หมายถึง  คนที่ดูภายนอกสงบเสงี่ยมหรือเป็นคนหงิม ๆ ไม่ค่อยพูดจา  แต่มักจะเป็นคนมีความคิดฉลาด  หรือทำอะไรได้แคล่วคล่องว่องไว  เปรียบเหมือนน้ำที่ดูตอนผิวหนังที่สงบนิ่ง  แต่ลึกลงไปข้างใต้นั้นกลับไหลแรง
เบี้ยล่าง  เบี้ยบน  : สำนวนนี้เปรียบเทียบเอาว่า  "เบี้ยบน" คือฝ่ายที่กำชัยชนะ  หรือมีอำนาจอยู่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง  ซึ่งเปรียบเหมือน  "เบี้ยล่าง" เรียกว่า  เบี้ยบนเป็นต่อกว่าเบี้ยล่าง  หรือเบี้ยล่างเป็นรองเบี้ยบน  สำนวนนี้มาจากการเล่นหรือการพนันทั่วไป
บัวไม่ให้ช้ำ  น้ำไม่ให้ขุ่น  : หมายความว่า  จะทำอะไรก็ค่อย ๆ พูดจากัน  อย่าให้มีเรื่องมีราวเดือดร้อนเกิดขึ้นกีบอีกฝ่ายหนึ่ง
ปลาหมอตายเพราะปาก  : หมาถึงคนที่ชอบพูดพล่อย ๆ รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือพูดแสดงความอวดดี  จนตัวเองต้องรับเคราะห์ก็เพราะปากของตนเอง  สำนวนนี้มาจากปลาหมอที่อยู่ในลำน้ำ  มักชอบผุดขึ้นฮุบเหยื่อหรือน้ำบ่อย ๆ จนเป็นที่สังเกตของนักจับปลาได้ว่า  ปลาหมออยู่ตรงไหน  ก็เอาเบ็ดล่อลงไปรงนั้นไม่ค่อยพลาด  จึงเรียกว่า  ปลาหมอตายเพราะปาก
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่  ผูกอู่ตามใจผู้นอน  : สำนวนนี้มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งสองประโยค  เป็นสุภาษิตพังเพยที่สอนว่า  การทำอะไรก็ตามแต่จะต้องตามใจผู้ที่จะได้รับโดยตรง  เช่น  พ่อแม่ที่คิดจะหาสามีให้บุตรสาวของตนเอง  ก็ควรจะเลือกผู้ชายที่บุตรสาวของตนเอง  ก็ควรจะเลือกผู้ชายที่บุตรสาวของตนมีใจสมัคอยู่ด้วย  จึงจะชอบ
ผงเข้าตาตนเอง  : โดยหลักธรรมดาที่ว่า  ผงเข้าตาผู้อื่นเขาวานให้เราเขี่ยผงออก  เราย่อมจะทำได้  แต่ถึงคราวที่ผงเข้าตาเราเองเข้าบ้าง  เราย่อมไม่มีปัญญาเขี่ยออกได้แน่  ก็ต้องวานคนอื่นเขาเขี่ยบ้างเปรียบได้ว่า  ปัญหาของคนอื่นเราแก้ให้เขาได้แต่ถึงคราวเราเกิดมีปัญหาลับคับอกขึ้นมาบ้าง  เราเองกลับแก้ไม่ตก
แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา  : หมายความว่า  แผ่นดินนี้ไม่ใช่จะมีแต่ผู้หญิงหรือผู้ชายคนเดียวเท่านั้นเป็นเชิงสอนมิให้คนเราคิดลุ่มหลงรักใคร่จนเกินไปนัก
ฝากเนื้อไว้กับเสือ  : แปลว่า  ไว้เนื้อเชื่อใจโดยฝากสิ่งใดไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้น  สิ่งนั้นก็ย่อมจะสูญได้เช่นฝากสาวงามไว้กับผู้ชายเจ้าชู้  เจ้าชู้ผู้นั้นหรือจะอดได้
ฝนตกอย่าเชื่อดาว  มีเมียสาวอย่าไว้ใจแม่ยาย  : เป็นสำนวนสุภาษิตที่สอนให้ว่า  อย่าไว้ใจอะไรที่เดียวจนเกินไปนัก  เปรียบกับที่ว่า  เห็นดาวอยู่เต็มท้องฟ้า  ไม่มีท่าว่าฝนจะตกลงมาเลย  แต่ฝนก็อาจจะตกลงมาได้  ส่วนที่ว่า  "มีเมียสาวอย่าไว้ใจแม่ยาย" นั้นคงเข้าทำนองที่ว่า  แม่ยายที่มีลูกสาวสวยนั้นก็อย่าเพิ่งไปไว้ใจว่า  แม่ยายจะไม่คิดพรากลูกสาว  หรือเมียสาวของเราไปให้กลับผู้ชายที่มีฐานะดีกว่า  เพราะอาจมีแม่ยายบางคนที่เห็นแก่เงินก็ได้
พิมเสนแลกกับเกลือ  : หมายความว่า  ยอมลดตัวเองไปทำในสิ่งที่ต่ำกว่า  หรือไม่คู่ควรกัน  ความหมายของ  "พิมเสน" ย่อมมีราคากว่า  "เกลือ" การทำตนเองให้มีราคาตัวของตนตกต่ำลงไปก็เท่ากับว่า  เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ
แพ้เป็นพระ  ชนะเป็นมาร  : สำนวนนี้  มาจากธรรมเทศนาที่สอนให้คนเรารู้จักอดกลั้นใจ  หรือระงับยับยั้งความโกรธในการที่คิดจะสู้กับฝ่ายศัตรู  มิให้เป็นเรื่องราวลุกลามใหญ่โตเกิดขึ้น  โดยที่ฝ่ายรู้จักคิดอดกลั้นไม่ต่อกรด้วย  ถึงจะเป็นผู้แพ้ก็ได้ชื่อว่า  เป็นผู้ประเสริฐกว่าผู้ที่คิดจะทำร้ายเขาเพื่อเอาชนะ
ฟังหูไว้หู  : หมายถึง  การรับฟังคำพูดหรือเรื่องราวต่าง ๆ ไว้  แต่เพียงรับฟังเท่านั้น  อย่าเพิ่งเชื่อไปเสียหมดแปลตามสำนวนก็ว่า  ฟังด้วยหูข้างเดียว  อีกหูปิดไว้อย่าฟัง  หรืออย่าเปิดทั้งสองหูฟังหมด
ฟังไม่ได้ศัพท์  จับเอามากระเดียด  : ได้ยินหรือได้ฟังมาไม่ถนัดชัดเจน  ก็นำเอามาพูดบอกผิด ๆ ถูก ๆ หรือมาใช้ผิด ๆ พลาด ๆ
มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ  : เป็นสำนวนที่หมายถึง  คนที่ไม่ช่วยเขาทำงานแล้ว  ยังไปทำตัวให้เป็นที่กีดขวางเกะกะแก่งานของเขาอีกด้วย  เพราะเมื่อเอาเท้าหรือตีนไปราน้ำเวลานั่งเรือที่เขาพายอยู่ด้วยนั้น  ก็ย่อมจะทำให้เท้าไปต้านน้ำไว้  ทำให้เรือแล่นช้าลงอีก
ไม่รู้จักเสือ  เอาเรือเข้ามาจอด  ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาแหย่  : ทั้งสองสำนวนนี้  แปลว่า  การทำอะไรที่แสดงความเซ่อเขลาของตนโดยไม่พิจารณาเสียก่อนมักมุ่งหมายไปในทำนองที่ว่า ไปต่อสู้หรือแข่งขันกับคนที่เขาชำนาญกว่าหรือเก่งกว่า  โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร  เช่นหลงไปเล่นการพนันกับนักพนันที่เก่งและชำนาญเข้าโดยไม่รู้จัก  เปรียบได้กับเอาเรือเข้าไปจอดในป่าที่มีเสือดุ ๆ หรือเอาไม้เข้าไปแหย่ให้มอดกัดกินเล่นสบาย
ย้อมแมวขาย  : หมายความว่า  เอาของไม่ดีมาตบแต่งเสียใหม่  แล้วเอามาหลอกลวงว่าของดี  มูลของสำนวนคงมาจากการนิยมเลี้ยงแมวของคนไทยในสมัยก่อนที่มักตกแต่งแมวเลี้ยงของตนเอง  ด้วยสีของขมิ้นบ้าง  ปูนบ้าง  ทำให้เป็นสีต่าง ๆ ก็ได้
ยื่นแก้วให้วานร  : หมายถึง  เอาของมีค่าหรือของดีไปให้กับคนที่ไม่รู้จักค่าของของนั้น  ทำให้เปล่าประโยชน์ความหมายอย่างเดียวกับ  "ไก่กับพลอย"
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี  : ถ้ารักวัวก็ให้ผูกล่ามขังไว้  มิฉะนั้นวัวจะถูกลักพาหรือหนีหายไปส่วนรักลูกให้เฆี่ยน  ก็หมายถึงให้อบรมสั่งสอนลูกและทำโทษลูกเมื่อผิด
รักยาวให้บั่น  รักสั้นให้ต่อ  : สำนวนนี้  เป็นสำนวนปริศนาที่ตีความยาก  แต่ก็พอมีเค้าให้เข้าใจได้ว่า  การทำอะไรก็ตามแต่  ควรทำให้พอดี  อย่าให้มากเกินไป  ถ้าเห็นว่าจะเกินไปทำให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อผู้อื่น  ก็ระงับยับยั้งไปเสียหรือจะทำอะไรที่เรียกว่าง่าย ๆ สั้น ๆ เกินไปก็อย่าด่วนทำควรค่อยคิดค่อยทำต่อไปให้เหมาะสม
เล่นกับหมาหมาเลียปาก  เล่นกับสากสากต่อยหัว  : สำนวนต่อเนื่องกันทั้งสองประโยคนี้  มีความหมายว่าการลดตัวเองลงไปเล่นหัวคลุกคลีกับคนที่ต่ำกว่าหรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่ามาก  คนผู้นั้นหรือเด็กนั้นก็อาจจะเลียตีเสมอลามปามเข้าให้  สำนวนที่ว่า  "เล่นกับหมาหมาเลียปาก " นั้นมีประสบการณ์ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เพราะธรรมชาติของหมาเป็นเช่นนั้น
เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง  : หมายถึง  ผู้ที่ทำหน้าที่อะไรก็ตามแต่แล้วพลอยได้มีส่วนผลประโยชน์จากหน้าที่  ที่ตนทำอยู่นั้น  โดยไม่บริสุทธิ์นัก  หรือไปในทำนองที่ไม่ชอบธรรม  สำนวนนี้มาจากสมัยโบราณ  ซึ่งคงจะเป็นที่พบเห็นกันว่า  คนเลี้ยงช้างของหลวงในสมัยนั้น  คงมีผลประโยชน์พลอยได้จากค่าเลี้ยงดูช้างอยู่บ้างก็ได้  แต่คงไม่มากนัก
วัวสันหลังขาด  : สำนวนนี้  ยังมีต่อสร้อยด้วยว่า  "วัวสันหลังขาด  เห็นกาบินผาดก็ตกใจ" มีความหมายถึงคนที่มีอะไรพิรุธหรือมีการกระทำไปแล้ว  ในทำนองไม่สู่ดี  มักมีอาการคอยหวาดระแวงอยู่เสมอ  กลัวว่าจะมีคนรู้เห็นหรือมารื้อฟื้นกล่าวโทษขึ้น  สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า  "วัวสันหลังหวะ" ซึ่งแปลตามสำนวนก็ว่า  วัวสันหลังเป็นแผลหวะ  หรือมีบาดแผลที่หลัง  กาจะบินมาจิกแผลตนเอง
วัวหายล้อมคอก  : หมายความว่า  เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวถึงขั้นเสียหายขึ้นเสียก่อน  แล้วจึงค่อยมาคิดแก้ภายหลัง   หรือไม่คิดหาทางป้องกันไว้แต่แรก  ได้คิดก็ต่อเมื่อเกิดการเสียหายขึ้นแล้ว
สอนจระเข้ว่ายน้ำ  : หมายถึงการชี้ทางหรือสอนให้คนที่เป็นอยู่แล้วให้เก่งหรือชำนาญขึ้นไปอีก  แต่มักมุ่งหมายโดยเฉพาะถึงการสอน  หรือแนะนำคนชั่วประพฤติไม่ดีส่วนมาก
สิบคนเข้าไม่เท่าคนหนึ่งออก  : สำนวนนี้  หมายถึงคนในครอบครัวเรากับคนภายนอกบ้าน  คือคนที่อยู่กับเราภายในบ้านนั้นย่อมมีความสัมพันธ์และคุ้นเคยรู้อกรู้ใจกันมากับเราเป็นอย่างดี  หรือเปรียบได้กับคนที่ทำงาน  อยู่ในบังคับบัญชาของเรามานาน ๆ ย่อมจะมีความชำนาญในหน้าที่ต่าง ๆ เป็นอย่างดีเมื่อมีคนต้องออกไปแล้ว  คนจะหาคนมาอยู่ใหม่  แทนกี่สิบคนก็คงสู้คนเก่าที่ออกไปไม่ได้
หมากัดอย่ากัดหมา  : หมายความว่า  คนชั่ว  คนชั้นต่ำ  หรือพวกอันธพาลคิดร้ายหรือประทุษร้ายเราอย่างใดอย่าทำตอบ  แต่ควรหลีกเลี่ยงไปเสีย
หมาเห่าใบตองแห้ง  : หมายถึง  คนที่ชอบเอะอะโวยวายเป็นที่อวดตัวว่า  ตนเก่งกล้า  แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นคนขี้ขลาด  ไม่กล้าเผชิญกับศัตรู  เปรียบได้กับใบตองแห้งที่ติดกับต้นกล้วย เวลาลมพัดมามีเสียงดังแกรกกรากหมาได้ยินเข้าหน่อยก็มักจะเห่าส่งเดช
อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย  ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น  : สำนวนนี้มีความหมายอธิบายอยู่แล้ว  คือเมื่ออาศัยอยู่บ้านใคร  ก็อย่าอยู่เปล่า  ควรช่วยทำงานทำการให้เป็นประโยชน์ต่อเขาบ้าง  เพียงแค่เอาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตาให้เด็ก ๆ ลูกหลานในบ้านท่านเล่นก็ยังดี  แต่ประโยคนี้  เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า  เพียงแต่ช่วยดูแลเด็กเล็กในบ้านให้แก่ท่านผู้นั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์ดีกว่าอยู่เปล่าๆ
เอาจมูกคนอื่นมาหายใจ  : สำนวนนี้  บางทีก็ว่า  "ยืมจมูกคนอื่นเขามาหายใจ" มีความหมายไปในทำนองที่ว่า  อาศัยความคิดหรือแรงของคนอื่นมาทำงานให้ตน  โดยไม่คิดว่าจะได้รับผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับที่ตนเองทำหรือไม่  และมักจะไม่ได้ผลดังที่ตนต้องการทีเดียวนัก

สร้างโดย: 
รัตนา สถิตานนท์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 393 คน กำลังออนไลน์