วัยรุ่น**

ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล


วั ย รุ่ น  **

การเปลี่ยนแปลงของร่างการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
 สามารถแบ่งกล่าวได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้


 1. พัฒนาการทางร่างกาย


     พัฒนาการทางด้านร่างกาย ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่  เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Ductless Gland)  ซึ่งจะเริ่มทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน  อันจะมีผลต่อ พฤติกรรม และพัฒนาการของเด็กมาก เด็กที่ไม่ได้รับคำแนะนำให้มีความรู้พื้นฐานในเรื่องการเปลี่ยนแปลง ทางร่างกาย จะทำให้เด็กวัยรุ่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็น ความผิดปกติที่ไม่เหมือน คนอื่นมีผลทำให้เด็กเกิดความ ไม่แน่ใจและขาดความมั่นใจในตัวเองแต่เมื่อผ่านช่วงวัยของวัยรุ่นตอนต้นมาแล้ว  เด็กจะมีความมั่นใจใน ตัวเองมากขึ้นเพราะพบว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ของตนนั้นก็เกิดขึ้น  ภายในร่างกายของตนนั้น ก็เกิดขึ้นกับผู้อื่นด้วยเหมือนกันโดยทั่วไป  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  สามารถแยกเป็นสองส่วนได้  คือ การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย และ การเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกาย

การเจริญเติบโตของร่างกายจะสมบูรณ์เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่จะไม่ได้สัดส่วนกันโดยปกติเด็กวัยรุ่น ชายจะมีวุฒิภาวะทางร่างกายช้ากว่าเด็กวัยรุ่นหญิง ทำให้พัฒนาการของลักษณะเพศ ขั้นที่สอง จะเกิดขึ้น ช้ากว่าเด็กหญิง กล่าวได้ว่าพัฒนาการทางร่างกายของเด็กวัยรุ่น เฉพาะช่วงตอนต้น เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระดูก แขน ขา เท้า นั่นคือพัฒนาการทางด้านความสูง น้ำหนัก แต่อวัยวะดังกล่าว เติบโตไม่สัมพันธ์กันจนดูเก้งก้างไม่ได้สัดส่วน ต่อมเหงื่อขับเหงื่อออกมามาก เนื่องจากรูขุมขนขยาย เริ่มมี กลิ่นตัว เริ่มมีสิวขึ้นบนใบหน้าทั้งในเด็กหญิงและ เด็กชาย ลักษณะเพศขั้นที่สอง (Secondary Sex Characteristics) ของเด็กชายและเด็กหญิงจะมี การเจริญเติบโตไปตามเพศของตนเอง โดยมีลักษณะ ที่มองเห็นได้มีดังนี้
 1. การเปลี่ยนแปลงของเสียง การเปลี่ยนแปลงของเสียงในเด็กชายเกิดจากการกระตุ้นของ ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนที่กล่องเสียง เมื่อกล่องเสียงโตขึ้นเสียงของเสียงจะแตกและแหบพร่ามาก ขึ้น  โดยปกติเสียงจะเริ่มเปลี่ยนเมื่ออายุประมาณ 13-14 ปี และจะเริ่มแตกห้าวเมื่ออายุ 16-18 ปี หลังจากอายุ 20 ปีไปแล้ว เด็กจะเริ่มบังคับเสียงได้ จะเริ่มมีเสียงนุ่มนวลขึ้น อายุเฉลี่ยของเสียง แตกพร่า ในเด็กชายที่ สำรวจในปี ค.ศ. 1749 เกิดในราวอายุประมาณ 18 ปี และต่อมาเปลี่ยนเป็น อายุประมาณ 13.5 ปี ในปัจจุบัน ส่วนเด็กหญิงจะเริ่มมีเสียงแหลมเล็กขึ้น
 2. การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและกระดูกในเด็กวัยรุ่นชาย ช่วงไหล่จะเริ่มกว้างและมีกล้ามเนื้อ มากขึ้น นมจะใหญ่ขึ้นอย่างที่เรียกกันว่า “นมแตกพาน” ความสูงเฉลี่ยของเด็กวัยรุ่นชาย อายุ ประมาณ 17-18 ปี จะมีร่างการสูงชะลูดและมีกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ มากกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน  เนื่องจากฮอร์โมน เอสโตรเจนทำให้เกิดการเพิ่มพูนของมันใต้หนังมากขึ้นในขณะที่ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนจะกระตุ้นความ เจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ในเด็กวัยรุ่นหญิงจะมีสะโพกผายทรวงอกขยาย และเอวคอด
 3. การมีขนขึ้นตามร่างกาย หนวดเคราและขนเป็นปรากฏการณ์สำคัญในวัยรุ่นชายเพราะการ เปลี่ยนแปลงระยะแรกของเด็กหนุ่มจะมองเห็นไม่ชัดเหมือนการเติบโตของเต้านมของเด็กสาว หนวดจะเริ่ม มองเห็นได้ที่ตรงมุมของริมฝีปากบนในลักษณะของขนบาง ๆ อ่อนนุ่มก่อนต่อไปจะดกดำ แข็ง และหนาขึ้น เป็นหนวดได้ชัดเจน ขนที่ปรากฏต่อมาจะมีมากขึ้นที่แก้มส่วนบน และที่ใต้ริมฝีปากล่าง นอกจากนั้น ยังเกิดมีขนบริเวณอวัยวะเพศและ รักแร้ด้วยส่วนเด็กวัยรุ่นหญิงนั้น  โดยปกติเพศหญิง จะไม่มีขนดก เหมือนเพศชาย แต่อาจมีในบางรายที่ได้รับจากพันธุกรรม จะปรากฏขนอ่อนเหนือริมผีปาก และตามแขน ขา แต่ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนเท่าเด็กชาย
 4. การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งเด็กวัยรุ่นชายและเด็กวัยรุ่นหญิงจะมีขนาดของอวัยวะ สืบพันธุ์ภายนอกที่สมบูรณ์แต่การทำงานของอวัยวะเพศจะยังไม่สมบูรณ์พร้อมต่อการสร้าง ชีวิตใหม่ อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายคือการเติบโตของต่อมอัณฑะซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมน ชนิดหนึ่ง ก่อนและตามด้วยฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเวลาต่อมาระดับของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน ที่มีมากขึ้น จะกระตุ้นการเจริญขององคชาต (Penis) และส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ ของผู้ชาย

 การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย


 1. ระบบการย่อยอาหาร เมื่ออยู่ในระยะวัยรุ่น ส่วนของลำไส้จะยาวและกลมมากขึ้น ผนัง ลำไส้ จะเพิ่มความหนาและความแข็งแรงทำให้ย่อยอาหารได้มากขึ้น กระเพาะอาหารขยาย ใหญ่ ขึ้นสิ่งเหล่านี้ เองที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กวัยรุ่นรับประทานจุและหิวบ่อย การรับประทานจุบจิบและ มีความต้องการอาหาร มากกว่าวัยอื่น
 2. ระบบการหมุนเวียนของโลหิตช่วงอายุ 17-18 ปี เป็นช่วงที่หัวใจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก  ผนังเส้นเลือดของหัวใจจะเพิ่มความยาว และความหนามากขึ้น
 3. ระบบการหายใจความสามารถในการทำงานของปอดในเด็กวัยรุ่นหญิงจะได้มาตรฐาน  เมื่อ อายุ ประมาณ 17 ปี ส่วนเด็กวัยรุ่นชายจะมีพัฒนาการช้ากว่าเล็กน้อย
 4. ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อจำนวนต่อมไร้ท่อทั้งหมดที่มีอยู่จะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของ เด็กวัยรุ่นอย่างมาก ต่อมเหล่านี้จะทำงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะเริ่มทำหน้าที่ ผลิตฮอร์โมนอันจะมีผล ต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก ต่อมไร้ท่อที่สำคัญมีดังนี้
  4.1  ต่อมพิทูอิทารี่ (Pituitary Gland) หรือต่อมใต้สมอง เป็นต่อมที่ควบคุมการทำงาน ของต่อมอื่น ๆ  เกือบทั่วร่างกาย ต่อนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย และ ควบคุมการเผาผลาญอาหาร (Metabolism) ในร่างกาย
  4.2  ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) เป็นต่อมที่อยู่ตรงคอติดกับหลอดลม จะเริ่มทำงาน  ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดาและทำงานต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่  ต่อมไทรอยด์จะสร้างฮอร์โมนไทรอกซิน ซึ่งมีไอโอดีนเป็นสารประกอบควบคุมการเผาผลาญอาหารและการเจริญเติบโตของร่างกาย  ถ้าต่อม ไทรอยด์ ทำงานน้อยเกินไป การเจริญเติบโตทางสมองและร่างกายจะล่าช้า  แต่หากทำงานมากเกินไป จะทำให้เป็นเด็กอยู่ไม่สุขสมองจะถูกกระตุ้มให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
  4.3  ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathtroid Gland) เป็นต่อมเล็ก ๆ อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ มี 4 ต่อม สร้างฮอร์โมนพาราทาร์มานควบคุมปริมาณแคลเซียมและการเผาผลาญอาหาร (CalciumMetebolism)  และยังช่วยในการเสริมสร้างกระดูก
  4.4  ต่อมอะดรีนัล (Adrenal Gland) ตำแหน่งของต่อมนี้อยู่เหนือไตประกอบด้วย 2 ต่อมย่อยอยู่ติดกัน คือ
   Medulla  เป็นต่อมที่อยู่ส่วนกลาง ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอะดรีนาลีน
   Cortex  เป็นส่วนที่ห่อหุ้ม Medulla ไว้ส่วนนี้ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนมากมายหลายชนิด  และทำหน้าที่ต่างกัน ตามปกติต่อมอะดรีนัลจะผลิตฮอร์โมนออกมาน้อย แต่หากบุคคลมีอารมณ์โกรธหรือ มีความตึงเครียด  ต่อมนี้ก็จะผลิตฮอร์โมนออกมามาก
  4.5  ต่อมเพศ (Gonads) ในเพศชายคือ อัณฑะ ในเพศหญิงคือ รังไข่ ต่อมนี้จะไม่ ทำงาน ในวัยเด็กฮอร์โมนจากรังไข่ในเด็กหญิงจะทำงานเร็วกว่าต่อมอัณฑะในเด็กชายถ้าต่อมทั้งสองนี้ทำงาน ล่าช้า  เด็กก็จะมีลักษณะเป็นเด็กตลอดเวลา  แต่ถ้ามีฮอร์โมนเพศมากเกินไปก็จะทำให้เป็นหนุ่มสาวเร็ว ฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมเพศจะเสริมสร้างลักษณะทางเพศเบื้องต้น   (Primary Sex Characteristics)   คือกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ กระตุ้นให้อัณฑะผลิตอสุจิ และยังทำให้ขนาดของอวัยวะ เพศเจริญมากขึ้น
  4.6 ต่อมไทมัส (Thymus Gland)อยู่เหนือหัวใจจะทำงานตอนระยะวัยเด็กมีหน้าที่ควบคุม ไม่ให้เด็กมีความต้องการทางเพศเร็วเกินไป และพอเข้าสู่วัยรุ่นต่อมนี้จะหายไป
  4.7 ต่อมไพนีล (Pineal Gland) ตำแหน่งของต่อมอยู่ใกล้กับมันสมอง ต่อมนี้จะทำงาน ในวัยเด็ก เช่นเดียวกันกับต่อมไทมัส  และจะทำงานช้าลงเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว (จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์ 2543:13-36)


 2. พัฒนาการทางอารมณ์


 ลักษณะของอารมณ์พื้นฐานของวัยรุ่น


 1. อารมณ์รัก ความรัก (Affection) เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ที่แสดงต่อ บุคคล หรือสิ่งของ ความรักเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เช่น การแสวงหา เกียรติ ชื่อเสียง ฐานะตำแหน่งในสังคมกล่าวได้ว่าความรักเป็นกระบวนการทางสัญชาติ ญาณ และ การ เรียนรู้ความรักในทางจิตวิทยาเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและมีความลึกซึ้ง ให้ความสุข และสมหวัง ในชีวิต ได้ ขอบข่ายในเรื่องของความรักไม่ใช่เรื่องจำกัดแคบแค่ความรักฉันหนุ่มสาว   แต่ความรักมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่รักของพ่อแม่ รักของญาติพี่น้อง คนรัก ตลอดจนชาติบ้านเมือง ลักษณะของความรัก จะแผ่ขยาย วงกว้างขึ้นออกจากตนเองไปสู่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด จนถึงบุคคลภายนอก ความรักจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ ทางสังคมหรืออีกนัยหนึ่งคือเกิดจากการเรียนรู้ บุคคลเรียนรู้ที่จะรักจากประสบการณ์วัยเด็กที่ได้รับจาก พ่อแม่ และบุคคลรอบข้างในครอบครัว เด็กที่ไม่ได้รับความรัก จากผู้ใดในครอบครัวย่อมไม่มีวันจะรักใคร ได้ เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นจึงมี พฤติกรรมก้าวร้าว ระราน ก่อปัญหา สังคม ด้านต่างๆ ได้ง่าย ความรักของ วัยรุ่นนั้นเป็นสิ่งที่แปลก และน่าตื่นเต้น ความรักเพศตรงข้ามเป็นความรักที่เกิดจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งแต่เดิม มีเพียง ความรัก และผูกพันภายในครอบครัว  ต่อมาจึงหันมาสนใจเพื่อนรุ่นเดียวกัน และ เพศตรงข้าม  ซึ่ง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ความรักในวัยรุ่นสามารถแบ่งออกเป็น ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
  1.1  ความรักตนเอง  เกิดจากการเห็นความสำคัญของตนเอง การเริ่มดูแลสุขภาพร่างกาย  ด้วยการออกกำลังกาย  การบริหารร่างกายการระมัดระวังดูแลรักษาทรวดทรงให้สวยงาม  การดูแล   บุคลิกภาพ  ด้านการแต่งกาย  ทรงผม   พิถีพิถันในเรื่องการเลือกซื้อเสื้อผ้า รองเท้ากระเป๋าหรือสิ่งประกอบ อื่น ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง
  1.2  ความรักเพื่อน ในช่วงวัยแรกรุ่นเด็กจะมีเพื่อนมากมายกลุ่มเพื่อนจะรวมผู้ที่มีลักษณะ นิสัย ใจคอและรสนิยมเหมือนกันโยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนเพศเดียวกัน  ลักษณะการคบ  จะเป็นการคบกัน  ในกลุ่มใหญ่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย จำนวนเพื่อนในกลุ่มจะลดลงโดยให้ความสนิทสนม เฉพาะคน ที่ตนพอใจเท่านั้น เด็กจะคบกันเพื่อการกินการเที่ยวการเล่นเพื่อให้มีความสนิทสนมกันมากขึ้นและ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการติดต่อสัมพันธ์กันตลอดเวลา แม้ว่า จะพบเจอกันที่โรงเรียนแล้วก็ตาม ยังต้องมีการเขียนจดหมายหรือคุยโทรศัพท์กันอีกได้นาน ๆ
  1.3  ความรักที่มีต่อบุคคลที่ตนชื่นชมเป็นพิเศษ เป็นความรู้สึกที่เด็กวัยรุ่นมีตอบุคคลที่ เก่งมีความสามารถในด้านที่ตนสนใจอยู่จะเป็นความรู้สึกเหมือนบุคคลนั้นเป็นวีรบุรุษและจะเอาเป็นแบบ อย่าง เด็กจะพยายามติดตามข่าวสาร ผลงาน ความเคลื่อนไหว บุคคลที่เด็กวัยรุ่นนิยมชมชื่นมักเป็น นักกีฬา นักดนตรี นักร้อง นักแสดง หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ในการเรียน การ ทำงาน เด็กวัยรุ่นจะพยายามเลียนแบบวีรบุรุษของตนในด้านต่าง ๆ เช่น การแต่งกาย ทรงผม การพูดหรือ วิธี การทำงาน เด็กจะใช้ความพยายามที่จะรู้รายละเอียดของบุคคลเหล่านี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  จะพบได้จากการเขียนจดหมายไปสอบถามตามนิตยสารต่าง ๆ  ที่ เสนอคอลัมน์ เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ตน สนใจ หรือโทรศัพท์ไปถามเรื่องราวส่วนตัวหรือขอที่อยู่เพื่อ ติดต่อเองในบางราย ที่มีความเพียรพยายาม มาก จะไปดักพบเพื่อขอลายเซ็น ซึ่งบางครั้งจำเป็น ต้องหนีโรงเรียนไปสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่ เกิดในช่วงวัยรุ่นทั้งสิ้น  ผู้ใหญ่จึงควรให้แนว คิดที่ถูกต้องแก่เด็ก ในกรณีที่เห็นว่า เด็กมี อาการหลงใหล มากเกินกว่าเหตุหรือมีพฤติกรรม การเลียนแบบที่ไม่ดี อันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเสีย ทางด้าน การเรียน และชีวิตในอนาคต
  1.4  ความรักเพื่อนต่างเพศ  เนื่องจากฮอร์โมนต่อมเพศเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่น นี้เด็ก วัยรุ่น จึงมีความตื่นตัวทางเพศสูง มีความต้องการที่จะได้เป็นที่รักที่ปรารถนาที่กล่าวขวัญถึงเพศตรงข้าม จึงมีความพยายามที่จะทำตัวให้เป็นจุดเด่น  โดยจะเริ่มทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจของเพศตรงข้าม ด้วยวิธีการ ต่าง ๆ นานา เช่น การแต่งกายที่สะดุดตา การพูดจาที่สะดุดหู มีการบัญญัติคำใหม่ ๆ หรือที่ เรียกว่า ภาษา สแลงของวัยรุ่นขึ้น  การพูดเสียงดังเพื่อดึงดูดความสนใจเป็นต้น เด็กวัยรุ่น มักจะคิดว่าตน เป็นผู้ใหญ่  แล้วและสามารถมีคู่รักได้
 2. อารมณ์อิจฉาริษยา (Envy&Jealousy)  ความอิจฉาริษยาเป็นปฏิกิริยาปกติที่พบได้ในบุคคล ทั่ว ๆ  ไป เป็นลักษณะของอารมณ์ ที่เกิดจากผลของการอบรมเลี้ยงดูในวัยเยาว์ทีมีสาเหตุ ที่ค่อนข้าง     ซับซ้อน เด็กอาจมีปมด้อยในบางเครื่อง เช่น รูปร่างหน้าตาไม่สวย เรียนไม่เก่ง ยากจน ขี้โรค หรืออาจมี สาเหตุมาจากการขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว เช่น บิดามารดาหย่าร้างกัน  การขาดบิดา หรือ มารดาเลี้ยงที่ไม่ลงรอยกัน โดยปกติอารมณ์ริษยาจะเกิดคู่กับความหึงหวง ในตัวบุคคลหรือ สิ่งของที่ตนรัก เช่น ความรู้สึกริษยาที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนมาใกล้ชิดคนที่ตนรัก เช่น พ่อแม่พี่น้องหรือบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว  ความอิจฉาระหว่างพี่น้อง  (Sibing rivalry)   เป็นความอิจฉาที่เกิดขึ้น ในระหว่าง พี่น้องนี้ หากได้รับการ แก้ไขที่เหมาะสม จะนำไปสู่การเกิดทักษะ ทางสังคมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ตลอดจนความรู้ความ เข้าใจที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก
 3. อารมณ์สุข (Happiness) อารมณ์แห่งความสุขเป็นอารมณ์ที่รวมถึงอารมณ์ซาบซึ้ง ประทับใจ (Appreciation) สิ่งที่ทำให้เด็กวัยรุ่นมีความสุข มักมีสาเหตุมาจากการเกิดความรู้สึกว่า ตนมีสถานภาพ เหนือคนอื่น ความแน่ใจตัวว่ามีข้อดี การได้ระบายพลังงานในตัวเองออกไปบ้าง  รวมทั้งการรับรู้เรื่อง ตลก ขบขัน เด็กวัยรุ่นมักซาบซึ้งประทับใจง่ายกับการกระทำของคนอื่น  เนื่องจากมีอารมณ์ อ่อนไหวง่าย และ มีจินตนาการสูง ความสุขของเด็กวัยรุ่นมักเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มเพื่อนที่ถูกใจ  รู้ใจจะพูดคุยกัน ด้วยเรื่องจิปาถะ จะลืมความทุกข์ ความกังวลใจ ไปสิ้นในชั่วระยะหนึ่ง
 4. อารมณ์โกรธ (Anger) เป็นอารมณ์หนึ่งที่พบเห็นได้ง่ายในเด็กวัยรุ่นนักจิตวิทยาพบว่า สาเหตุที่ ทำให้เด็กโกรธ  ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุจาก  ความสัมพันธ์ทางสังคมมากกว่ากิจวัตรประจำวัน  เนื่องจากเด็ก วัยรุ่นมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและรุนแรงจึงมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบใจตัวเองง่ายมากแต่พฤติกรรม ที่แสดงอารมณ์โกรธของเด็กวัยรุ่นจะแตกต่างจากวัยเด็ก โดยปกติเด็กเล็กมัก จะใช้วิธีการร้องไห้โวยวาย ดิ้น ทำลายสิ่งของเป็นการแสดงความไม่พอใจ แต่เด็กวัยรุ่นมีพฤติกรรมตอบสนองที่ตรงไปตรงมาต่อ บุคคลที่ทำให้โกรธ มีการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น ไม่มีการควบคุมอารมณ์  ขาดความยั้งคิด พฤติกรรมที่พบเห็นทั่วไปเมื่อเด็กวัยรุ่นมีอารมณ์โกรธ เช่น การชกต่อย ทุบตี การฟัน ให้ได้รับบาดเจ็บ ในบางครั้งเด็กอาจเก็บเอาไว้ในใจหรือทำตัวเองบาดเจ็บ หรือมีอารมณ์พาล โกรธลงโทษสิ่งอื่น ๆ
 5. อารมณ์กลัว (Fear)  อารมณ์กลัวเกิดจากประสบการณ์ ซึ่งขึ้นอู่กับความทรงจำของเด็ก แต่ละ คน เป็นพันธุกรรมสนองต่อประสบการณ์อารมณ์กลัวของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล กล่าวกันว่า อารมณ์กลัวเกิดจากการเรียนรู้ เด็กๆ จะรับรู้ถึงสิ่งที่น่ากลัวจากผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กอาจไม่เข้าใจ ว่าเพราะเหตุใดตนจึงต้องกลัว ความกลัวเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความปลอดภัยหรือภาวะที่คิดว่า มีอันตรายเกิดขึ้น มนุษย์จะมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ที่ทำให้ตนไม่ปลอดภัย
 

3. พัฒนาการทางสังคมของวัยรุ่น


     การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของวัยรุ่นถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกด้านหนึ่งเมื่อเด็กเข้า สู่วัยรุ่น จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเจตคติและพฤติกรรมทางสังคมทุกอย่างวัยรุ่นต้องการอิสระ เสรีภาพใน ด้านการคบเพื่อน การเที่ยวเตร่เมื่อวัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองขาดความมั่นใจพวกเขาจะชดเชยความรู้สึกนั้น  ด้วยการหันเข้าหาเพื่อน การเลือกเข้ากลุ่มเพื่อนเป็นการชดเชยสิ่งที่เขาต้องการ  ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ ผู้ ปกครอง ไม่สามารถตามใจได้เนื่องจากยังมองเห็นว่ายังเด็กอยู่ หรือ ยังเล็กเกินไปจึงมักไม่ค่อยอนุญาต ให้ไปเที่ยงกันตามลำพัง เด็กวัยรุ่นมักมีพฤติกรรมต่อต้าน และ ไม่ค่อยอยากสนทนากับสมาชิก ในบ้าน แต่อยากคุยกับเพื่อนมากกว่าเพราะรู้สึกเป็นอิสระดี การที่เด็กได้คบเพื่อนตามความพอใจของตนหรือ การได้อยู่กับกลุ่มเพื่อนนั้นก็ให้ประโยชน์หลายอย่างแก่เด็ก เช่น การปรับตัว การวางตัวให้ เป็นที่ยอมรับ ของเพื่อน การประนีประนอมกันระหว่างกลุ่ม กล่าวได้ว่า การปรับตัวให้เข้ากับสังคมถือเป็นงานพัฒนาการ ที่ยากที่สุดของเด็กวัยรุ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวให้เข้ากับเพศตรงข้าม เด็กมีความพยายามที่จะ หาเอกลักษณ์ของตนเองให้ได้ (Ego Identity)  เพื่อจะได้มีความมั่นใจในตัวเอง และพร้อมที่จะก้าวสู่วัย ผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อวัยรุ่น พัฒนามากขึ้น  เขาจะสามารถพัฒนาภาพพจน์ของตน เองอย่างแท้จริงได้โดยไม่ต้อง การเพื่อน  เพื่อมาชดเชยในสิ่งที่เขาขาดอีกต่อไปเด็กจะเริ่มค้นหาเพื่อนแท้   ที่แสดงตัวเองอย่างแท้จริง และ พร้อมที่จะปกป้องเพื่อนด้วยกัน

ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคมของวัยรุ่น


           อิริคสัน (Efikson 1963)  นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันที่ให้ความสำคัญของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางจิตใจที่มีผลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์  เขากล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์ในช่วงวัย   12-18  ปี ว่าเป็นช่วงวัยที่สามารถหาเอกลักษณ์ของตนเองได้ (Identity) และมีลักษณะของความปรารถนา ที่จะเป็นเหมือนผู้หนึ่งผู้ใดในสังคม (Identification) หมายถึงขบวนการของการเลือกคุณลักษณะบางอย่าง ของผู้อื่นมาใช้เป็นลักษณะของตนเอง และส่วนใหญ่ตัวแบบ คือ พ่อ แม่ หรือจากครู อาจารย์ในโรงเรียน การลอกเลียนแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะทางดีเสมอไปเด็กวัยรุ่นที่ได้รับประสบการณ์ที่รุนแรง โหดร้าย ในชีวิต อาจจะรับเอาคุณสมบัติที่ แข็งกร้าว ก้าวร้าว รุนแรงมาไว้ได้ เด็กวัยนี้จะเริ่มต้องการคนเข้าใจ เพื่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และความรู้สึกต้องการแสดงให้พ่อแม่เห็นว่า เขาพึ่งพิงตนเองได้ และจะมีความ รู้สึกที่ภาคภูมิใจใน ตนเอง  อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยรุ่นไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้นั้น คือการ ที่ยังต้อง อาศัยเงินของพ่อแม่ นอกจากนั้น ฟรอยด์  (Freud)  เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psycho analysis) ยังได้ กล่าวว่า ความสำคัญของปมออดิปุสคอมเพล็กซ์ (Oedipus Complex)  นั้นส่งผลมาถึง ช่วงวัยรุ่นตอนต้นเป็นอย่างมาก การที่เด็กชายมีความรู้สึกรักแม่ หวงแหนแม่ในวัยเด็กได้พัฒนามาเป็น ความสนใจในเพื่อนหญิง  จากการศึกษาพบว่าเพื่อนหญิงคนแรก ของเด็กวัยรุ่นชายจะมีลักษณะบางอย่าง ที่ทำให้เขานึกถึงแม่ อาจเป็นรูปร่าง หน้าตา น้ำเสียงหรือ แม้กระทั่งการมีอาชีพเดียวกันกับแม่  ในทำนอง เดียวกันเพื่อนชายคนแรกของเด็กวัยรุ่นหญิง มักจะมี คุณสมบัติบางประการที่คล้ายคลึงกับพ่อ เช่น ท่าทาง อาชีพ ลักษณะนิสัย หรืออารมณ์ นอกจากนั้นวัย นี้ยังเต็มไปด้วย พลังของความต้องการทางเพศ  (Sexual Instinct)  ที่อยู่ใต้อำนาจของมโนธรรม ความถูกต้อง ศีลธรรม และระเบียบของสังคม (Super Ego) เด็ก วัยรุ่น จะมีความรู้สึกผิดละอาย และเป็นบาป ที่มีความต้องการทางเพศเกิดขึ้น และมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างมาก


 ลักษณะทางสังคมของวัยรุ่น


 เด็กวัยรุ่นทั่วไปมีลักษณะทางสังคมดังนี้
 1.  มีความสนใจในเรื่องต่าง ๆ น้อยลงแต่มองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ความสนใจในเรื่องบาง อย่าง อาจมีอิทธิพลมาจากเพื่อนวัยเดียวกัน เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับ เพื่อนการเที่ยวเตร่ การสนทนา ในเรื่องต่าง ๆ อาจเป็นสาเหตุแห่งการเริ่มสนใจในเรื่องบางเรื่องและต้องการรู้ ให้ลึกซึ้ง ขึ้นเด็กจะแสวงหา ความรู้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น หาหนังสืออ่าน ซักถามจากผู้รู้   เขียนจดหมาย หรือใช้โทรศัพท์เพื่อซักถาม
 2. มีการแสดงออกที่เหมาะสมตามเพศและวัยมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงทางเจตคติ และ พฤติกรรม ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามเพศและวัย เด็กจะมีความพยายามในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานภาพทาง สังคมของตนเองมากขึ้น เด็กในกลุ่มจะมีอิทธิพลต่อกัน เด็กจะเรียนรู้การรักษา มิตรภาพ ความซื่อสัตย์ ต่อกลุ่ม
 3. การคบเพื่อนจะเริ่มมีมาตรฐานทางวัฒนธรรมแบบผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่นจะพัฒนารูปแบบตลอดจน เหตุผลในการเลือกคบเพื่อนมากขึ้นตามวัย แนวคิดในการเลือกเพื่อนจะเปลี่ยนไป  เช่น ในวัยเด็กจะมีการ คบเพื่อนกลุ่มใหญ่ คบเพื่อเที่ยวหรือเล่นด้วย แต่เมื่อเติบโตขึ้นจำนวนสมาชิก ในกลุ่มจะเริ่มลดน้อยลง จะมีการเลือกสรรมากขึ้น มีการเลือกคบเพื่อนที่เข้าใจกัน มีความเห็นอก เห็นใจซึ่งกันและกัน และมีความ ลึกซึ้งผูกพันกันมากขึ้น วัยรุ่นมักมีเพื่อนสนิท 1-2 คนที่สามารถ พูดคุย และระบายสิ่งต่าง ๆ ให้กันและ กันฟังได้ แต่บางคนอาจมีเพื่อนจากกลุ่มย่อยหลายกลุ่มมารวมกัน แต่ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าใดกลุ่มเพื่อน ที่วัยรุ่นคบกันอยู่ จะมีการแสดงออกที่แสดงให้เห็น การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และได้ทำสิ่งต่าง ๆ ที่สนใจร่วมกัน สถานภาพของเด็กวัยรุ่น จะได้รับการยอมรับในกลุ่มมากกว่า จาก พ่อแม่ บางคนไม่กล้า แต่งตัวหรือทำสิ่งใดที่ผิดจากกลุ่มเลย แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย เด็กจะค่อย ๆ แยกตัวเองออกจากกลุ่ม และเริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ในกลุ่มด้วย ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีความมั่นใจใน ตัวเองมากขึ้น และ สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ เขาจะเริ่มเบื่อความคิดของกลุ่มและหันมาสร้างสรรค์ แบบแผนของตนเอง นั่นคือ การก้าวสู่ภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้ หมายความว่าเขาจะต้อง ทิ้งเพื่อนไปเสียหมด เพียงแต่เป็นการมองเพื่อนในอีกมุมมองหนึ่งเท่านั้น
 4. ยอมรับการเป็นสมาชิกของหมู่คณะตามค่านิยมและความสนใจในสิ่งเดียวกัน เด็กเริ่มมีความ เป็นตัวของตัวเอง ความเข้าใจในตัวเอง ต้องการเลือกกลุ่มเพื่อนเพื่อให้มีความรู้สึกมั่นใจ และ ปลอดภัย และสามารถถกปัญหากันได้  จากการศึกษาของ สนิฟลี่  (Snively 1986)  พบว่าเด็กส่วนมากได้ ประสบการณ์ และการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ จากสภาพการเรียนการสอนที่มา จากการแสดง ความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยม และความรู้สึกของกลุ่มเพื่อนร่วมชั้น และเพื่อนร่วมกลุ่ม
 5. มีความคิดถึงเรื่องฐานะ ยศศักดิ์และตำแหน่งมากขึ้น เด็กวัยรุ่นเริ่มมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง ต้องการมีผู้นำกลุ่ม ในกรณีของการเป็นผู้นำกลุ่ม โดยทั่วไปมักเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีสถานภาพ ทางสังคมและเศรษฐกิจดี    เพราะสามารถเข้ากับสังคมทุกรูปแบบได้ในการดำเนินการ กิจกรรม ต่างๆ มักมีการเลือกสรรตัวแทน หรือมีการแต่งตัว ตั้งตำแหน่งต่าง ๆ  เพื่อมอบหมายหน้าที่ในแต่ละบทบาทให้ ชัดเจน
 6. มีกิจกรรมทางสังคมที่มีพิธีรีตองมากขึ้น มีความรับผิดชอบในสังคมมากขึ้นต้องการมีส่วนเข้า ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกับผู้ใหญ่
 7. มีการนัดพบเพื่อนต่างเพศบ่อยขึ้น มีความสัมพันธ์เพื่อการมีครอบครัวมากขึ้น  เด็กวัยรุ่นจะ แสวงหาวิธี การอ่านใจเพื่อน เพศตรงข้ามที่ตน สนใจด้วยวิธีการต่าง ๆ การคบหาสมาคม ในชั้นแรก ๆ นั้นเป็นในลักษณะศึกษานิสัยใจคอซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การมีชีวิตคู่ร่วมกันต่อไป


 4. พัฒนาการทางสติปัญญา


     นักจิตวิทยาหลายคนที่พยายามศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ และมี ความเห็นตรงกันว่า สติปัญญาของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างอายุ 18-20 ปี และยังพบว่ามีความ สัมพันธ์ ระหว่างสติปัญญาของเด็กกับตัวแปรอื่นอีกหลายตัว ได้แก่
 1. ปฏิสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว เช่น ความรัก ความผูกผันในบ้านเป็นส่วนหนึ่งที่ ช่วยทำ ให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาสูงหรือต่ำได้
 2. วัฒนธรรมในสังคมไทยมีการอบรมสั่งสอนให้ฟังเชื่อผู้ใหญ่ ไม่ให้เถียงต่อปากต่อคำ ไม่ขัดแย้ง เมื่อผู้ใหญ่ให้ข้อคิดเห็น สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้เด็กไทยไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ และมี พัฒนาการด้าน ต่าง ๆ ช้ากว่าเด็กทางยุโรปและอเมริกา
 3. ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว จากสถิติพบว่าการตายของเด็กทารกมัก เกิดขึ้น ในครอบครัวที่มี รายได้ต่ำมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูง ยิ่งกว่านั้นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าและมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูง
 4. ขนาดของครอบครัว จากการสำรวจและทดสอบโดยทั่วไปพบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวขนาด เล็ก จะมีสติปัญญาสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพราะครอบครัวขนาดเล็ก ดูแลเอาใจใส่ ลูกหลานในครอบครัวได้ดีกว่าครอบคัวขนาดใหญ่ นอกจากนี้แล้วยังพบอีกว่า เด็กใน รุ่นลูก หลานเหลน จะมีสติปัญญาสูงกว่ารุ่นพ่อ รุ่นปู่ ทั้งนี้เนื่องมาจากผลกระทบของสิ่งแวดล้อม
 
 ความสนใจเรื่องเพศและเพื่อนต่างเพศ
     

          เด็กวัยรุ่นต้องการทำตัวให้เป็นที่พอใจของเพศตรงข้าม มีความพยายามในการเรียนรู้เรื่องราว ของเพศตรงข้าม สนใจในการสร้างเสน่ห์และความประทับใจแก่เพื่อนต่างเพศ วัยรุ่นมี ความสนใจที่จะ แสวงหา ความรู้และบทบาทเกี่ยวกับเรื่องเพศจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เพราะความรู้เกี่ยวกับเพศเป็นสิ่ง สำคัญและมีความจำเป็นต่อการปรับตัวทางเพศก่อนที่จะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตการแต่งงาน  ในวัยผู้ใหญ่ แหล่งความรู้เรื่องเพศ คือ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง กลุ่มเพื่อน หนังสือ และสื่อสารมวลชนต่าง ๆ จากรายงาน กรมสามัญศึกษาที่ศึกษากลุ่มวัยรุ่นระหว่างอายุ 10-19 ปี พบว่าวัยรุ่นไทยมีปัญหาสุขภาพทางเพศที่ เด่นชัด นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับความรู้ทางเพศจากหนังสือเรียน 17.9% ได้รับความรู้จากครู 17.7% ได้จากเพื่อน 17.0% และพบว่า เมื่อเด็กมีปัญหา จะปรึกษาเพื่อน 32%  ปรึกษาพ่อแม่ 24% และมีความ ต้องการให้ฝ่ายแนะแนวในโรงเรียนเป็นที่ปรึกษา 99.5%  (จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์ 2543: 132-136)

  ความรักเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่น

 

 


          เนื่องจากฮอร์โมนต่อมเพศเริ่มทำงานในช่วงวัยรุ่นนี้ เด็กวัยรุ่นจึงมีความตื่นตัวทางเพศสูง มีความ ต้องการที่จะได้เป็นที่รัก ที่ปรารถนา และที่กล่าวขวัญถึงเพศตรงข้าม จึงมีความพยายามที่จะทำตัวให้เป็น จุดเด่น โดยจะเริ่มทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจของเพศตรงข้ามด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา  เช่น การแต่งกายที่ สะดุดตา การพูดจาที่สะดุดหูมีการบัญญัติคำใหม่ ๆ หรือที่เรียกว่าภาษาแสลง ของวัยรุ่นขึ้น การพูดเสียง ดังเพื่อดึงดูดความสนใจ เป็นต้น เด็กวัยรุ่นมักจะคิดว่าตนเป็นผู้ใหญ่ แล้วและสามารถมีคู่รักได้ ความรัก ในช่วงวัยรุ่นนี้ จะมีหลายประเภทได้แก่
 1. ความรักแบบเด็ก ๆ (Puppy love) เป็นความรักแบบหลงใหล ใฝ่ฝัน งมงาย ชั่วครูชั่วยาม เป็น ความรักชนิดไม่มีเหตุผล ไม่สนใจสิ่งใด ๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วงตอนต้นและตอนกลาง ความรักชนิดนี้ไม่จีรัง ยั่งยืน หากพบคนใหม่ที่ถูกใจกว่า สวยกว่า หล่อกว่าก็จะเปลี่ยนใจได้ง่าย ๆ
 2. ความรักแบบชื่นชมบูชา (Hero Worshipping) เป็นความรักที่อาจจีรังยั่งยืนหรือไม่ก็ได้ความรัก ชนิดนี้เป็นไปตามความสนใจของคนใกล้ชิดหรือกลุ่มสนิท เช่น การคลั่งดารา คลั่งนักกีฬา เด็กวัยรุ่นมีความ คลั่งไคล้บุคคลที่เป็นเสมือนตัวแทนของความใฝ่ฝันของตนเองที่มีอยู่ในใจ
 3. ความรักในเพศเดียวกันหรือผิดเพศ (Sex Aversion) พฤติกรรมรักเพศเดียวกันมีปรากฏทั้งใน เพศหญิงและเพศชาย เป็นลักษณะของการไม่สนใจเพศตรงข้าม (จันทร์วิภา  ดิลกสัมพันธ์ 2543:81-82)
 
 การคบเพื่อนต่างเพศในวัยเรียน


          ในสังคมไทย ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา เป็นปัจจัย ที่มีผลต่อพฤติกรรมองคนในสังคมโดยเฉพาะเรื่องเพศ  หากจะมองย้อนไปในสมัยโบราณจะเห็นว่ามีการ ห้ามคบเพื่อนต่างเพศ  แต่เมื่ออารยธรรมตะวันตก ได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทย มีผลทำให้ความเชื่อ ค่านิยมและทัศนคติเริ่มเปลี่ยนแปลงสังคมไทยจึงยอมรับให้มีการคบเพื่อนต่างเพศได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายในขอบเขตของวัฒนธรรมประเพณีและศาสนา การคบเพื่อนต่างเพศ เป็นสิ่งที่สังคมได้กำหนด แนวทางปฏิบัติไว้  เพื่อให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ค่านิยม ส่วนมากมักจะเปลี่ยนแปลงตาม สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคลจึงต้องเปลี่ยนไป  หากยังคงยึดมั่นกับค่านิยมสังคม เดิมจะเกิดความล่าหลัง ดังนั้น  ในการคบเพื่อนต่างเพศ จึงมีลักษณะเป็นสากลมากขึ้นในสังคมไทย ปัจจุบัน  (กรมพลศึกษา,หน่วยศึกษานิเทศก์ 2530 : 88 -89) 
 เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็น ผู้ใหญ่ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  (วีรวัฒน์ วรรณศิริ  2525:225) ซึ่งในช่วงระยะของการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มมีพฤติกรรมทางเพศออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน คือ เริ่มให้ความสนใจต่อตนเอง โดยเฉพาะ ในเรื่องของการรักสวยรักงามและการแต่งกาย เด็กวัยรุ่นในวัยนี้ จะเริ่มสนใจต่อเพศตรงข้าม และอยากได้ รับความสนจากเพื่อนต่างเพศเช่นกัน เด็กวัยรุ่นทั้งชาย และ หญิงจะเริ่มพยายาม ที่จะดึงดูดความสนใจ จากเพื่อนต่างเพศเป็นสำคัญ โดยจะสังเกตเห็น ว่าเด็กวัยรุ่นจะมีการแต่งกายที่ทันสมัยนิยม เพื่อให้เกิด จุดเด่นและเป็นที่สนใจมากขึ้น หรืออาจมีการแสดงความสามารถพิเศษให้ออกมา เช่น การเล่นดนตรี หรือการเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ เป็นต้น จากพฤติกรรมทางเพศต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการนำไปสู่ การคบเพื่อนต่างเพศและการออกเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ
 ในปัจจุบันการคบเพื่อนต่างเพศและการเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ  นับว่าวัยรุ่นมีโอกาสและเสรีภาพ มากขึ้น หญิงสาวอาจไปไหนมาไหนโดยไม่มีผู้คุ้มครองก็ได้ หรือการติดต่อกับชายหนุ่ม หญิงสาวก็มักคบ หาสมาคมทีละหลาย ๆ คน เสรีภาพที่เกิดขึ้นใหม่เช่นนี้ จึงเป็นที่สะดุดตาของคน ที่นิยมในวัฒนธรรม ของ ไทยเป็นอย่างยิ่ง  และประการสำคัญในเรื่องการตัดสินใจต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ปัญหาทางเพศ มักจะขึ้นอยู่กับ เด็กวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากเขาตัดสินใจถูกต้องและเหมาะสม ก็นับว่าเป็นโชคดี แต่หากตัดสินใจผิด ก็มักจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามดังปรากฏอยู่ในสังคมเด็กวัยรุ่น มักประสบปัญหาในการปรับตัว และการ วางตัวต่อเพศตรงข้ามอยู่บ่อย ๆ บางครั้ง เขาก็คิดว่าเขา เป็นผู้ใหญ่แล้ว และต้องการเป็นตัวของตัวเองมาก ยิ่งขึ้น เด็กวัยรุ่นเริ่มมีความรู้สึกอยากเป็นอิสระ และ อยากปกครองตัวเอง ดังนั้น  การอบรมสั่งสอน เพศศึกษา และการคบเพื่อนต่างเพศแก่วัยรุ่นให้ รู้จักใช้อิสระ เสรีภาพเหล่านี้ได้อย่างฉลาด จึงจะเป็น ประโยชน์ยิ่ง
 ปัญหาหนึ่งที่สำคัญมากที่พ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะพบ และไม่สามารถตัดสินใจได้ อย่างเหมาะสมก็คือ “ควรจะให้เด็กวัยรุ่นมีเพื่อนต่างเพศหรือไม่” การที่เด็กวัยรุ่นทั่วไป ทุกวันนี้ จะมี เพื่อนต่างเพศบ้างนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งเสียหายแต่อย่างใด แต่การคบหาสมาคมกันนั้นจะต้องอยู่ ในขอบเขต ที่เหมาะสมและอย่าให้ถือเป็นเรื่องจริงจังมากเกินไป เหตุผลก็คือในเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างเพศของ เด็กวัยรุ่นนี้ ถ้าผู้ใหญ่เข้มงวดกวดขันหรือปล่อยปละละเลยจนเกินไปก็มักจะ เป็น สิ่งไม่ดีทั้งสองอย่าง ทางที่ถูกนั้นควรจะต้องเดินสายกลางไว้ก่อน ไม่หัวโบราณจนเกินไปและก็ไม่ หัวสมัยใหม่จนเกินไปจึงจะ เหมาะสมกับสิ่งที่สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและอยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น ในสังคมไทยปัจจุบัน  (สุชาติ โสมประยูร และวรรณี โสมประยูร 2543: 73) 
 ความสนใจเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่นนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในช่วงที่วันรุ่นเขากำลังต้องการ ความสนใจจากเพศตรงข้าม การจัดกิจกรรมให้วัยรุ่นทั้งสองเพศได้มีโอกาสติดต่อกันทำงานร่วมกันเป็น กลุ่มเป็นประสบการณ์สังคมกับเพื่อนต่างเพศที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการได้ติดต่อกันเป็นกลุ่ม ในเบื้อง แรกโดย มีผู้ใหญ่เป็นหลัก คอยดูแลแนะนำพอควร โดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวมากนักหรือคอยควบคุมทุกฝีก้าว จะเป็นความอบอุ่นใจของวัยรุ่นหนุ่มสาว เขาจะลดความรู้สึกเขิน  การได้คบค้าสมาคมเป็นกลุ่มใหญ่จะ เป็นการเสริมสร้างทักษะทางสังคมที่ดีให้กับวัยรุ่น วัยรุ่นจะมีความคิดอ่านเจริญขึ้น ถ้าเขาอบอุ่นใจเขาจะ รู้จักคิดด้วยเหตุผลเขาจะมีโอกาสได้พิจารณามองดู เห็นความแตกต่างของเพื่อนต่างเพศหลาย ๆ คน ทำให้สามารถพิจารณาเปรียบเทียบและเลือกคน ที่เขาจะสมาคมสนิทด้วยต่อไป ตรงกันข้ามกับวัยรุ่น ที่ถูกตัดโอกาสหรือขาดโอกาสในการคบค้า สมาคมกับเพื่อนเป็นกลุ่ม จะทำให้เกิดปัญหาการไม่ทันคน รู้เท่าไม่ถึงการณ์  เมื่อได้พบเพื่อนต่างเพศ ความเหงาประกอบกับความกดดันทางด้านเพศ ทำให้วัยรุ่น อาจไม่เข้าใจการวางตัว ไม่รู้จักการยับยั้งดีพอหรืออาจปรับตัวเข้าสังคม เพื่อนต่างเพศไม่ได้ เกิดความ กังวลใจ ซึ่งจะเป็นปัญหา ในสังคมได้ต่อไป  (ฉวีวรรณ  สุขพันธ์โพธาราม  2527 : 47) แต่อย่างไรก็ตาม เด็กวัยรุ่นทุกคน ก็ควรจะได้รับการเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงมารยาท ระหว่างเพศให้ดีในการคบเพื่อน ต่างเพศ ในการคบเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่นนั่น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและยึดถือเป็นหลักสำคัญคือจะต้องอยู่ใน ขอบเขตของขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยการยึดถือวัฒนธรรม  ต่างชาติ โดยละเลยวัฒนธรรมอันดีงามของคนนั้น ย่อมก่อให้เกิด ความขัดแย้งขึ้นในสังคมได้ ฉะนั้น การ วางตัวต่อเพศตรงข้ามในระหว่างที่มีการคบหาสมาคมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กวัยรุ่นหรือ หนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นผ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ควรรู้จักระวังตัวเป็นพิเศษ

 การวางตัวต่อเพศตรงข้าม


 การวางตัวต่อเพศตรงข้าม  คือ  การที่ชายและหญิงประพฤติหรือปฏิบัติต่อกันเพื่อสร้าง      สัมพันธภาพ อันดีระหว่างกันในสถานภาพต่าง ๆ กัน เช่น ในฐานะเพื่อน ฐานะคนรักหรือ ฐานะ คู่ครอง ภายใต้สภาพแวดล้อม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในสังคมนั้น ๆ (บุญสม มาร์ติน และคณะ 2533 : 116) การวางตัวต่อเพศตรงข้ามในระหว่างการคบค้าสมาคมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เด็ก วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวไม่ว่าเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ควรจะต้องรู้จักระวังตัวให้ดีเป็นพิเศษโดยจะต้อง ไม่ยอมให้ตกเป็นของทาสของกามารมณ์หรือแรงดันทางเพศเป็นอันขาด   วิธีการหนึ่งซึ่งพบว่าสามารถ จะช่วยให้ชายหญิงควบคุมสัญชาตญาณทางเพศได้ดี ก็คือ จะต้องพยายามเบี่ยงเบนความสัมพันธ์ ระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางใจให้ออกมาในรูปของกิจกรรมทางกาย ด้วยการเล่นกีฬา ทำงานอดิเรก หรือประกอบกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ที่สังคมยอมรับและตรงกับขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือ วัฒนธรรม อันดีงามของบ้านเมือง นอกจากนี้เด็กวัยรุ่นควรจะรู้และเข้าใจไว้ด้วยว่าการอดกลั้น  เพื่อไม่ให้ ตกเป็นทาสของกามารมณ์ หรือการไม่ประพฤติผิดทางเพศต่าง ๆ นั้น ไม่เคยทำลายสุขภาพหรือจิตใจ ของผู้ใดเลย และความอดกลั้นนี้เองเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วโลก  เขาทำกันที่สำคัญ คือ การวางตัวของ เพศหญิงนั้นจะต้องทำตัวให้เพศชายยกย่องและให้เกียรติ โดยฝ่ายหญิงจะต้องเข้าใจว่า ผู้ชายที่ดี หรือ เป็นสุภาพบุรุษนั้นจะต้องไม่ล่วงเกินผู้หญิงที่วางตัวเป็นสุภาพสตรีด้วยประการทั้งปวง  การที่ผู้หญิงกล้า เกินไป ไม่รู้จักถือเนื้อถือตัวและชอบสนิทสนมกับผู้ชายมาก ๆ นั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายชาย ได้ล่วงเกินได้ง่ายขึ้นรวมทั้งฝ่ายชายก็อาจจะไม่คิดแต่งงานด้วยอย่างจริงจัง เมื่อให้โอกาสกับเขาง่าย ๆ ก็ยอมจะให้โอกาสกับชายอื่นง่าย ๆ เช่นเดียวกัน ฝ่ายหญิงจึงไม่ต้องเกรงใจ หรือ กลัวว่า ฝ่ายชายจะโกรธ ถ้าตัวเองจะแสดงความไม่พอใจให้ฝ่ายชายทราบ เพราะการวางตัวที่ดี และรู้จัก ระมัดระวังตัว ไม่ปล่อยให้สนิทสนมกับใคร ๆ  โดยง่ายนั้นเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับกุลสตรี ซึ่งผู้ชายโดยทั่วไป  มักจะให้ ความยกย่องนับถือหรือภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากเขามีโอกาสได้ แต่งงานกับผู้หญิง ที่มีลักษณะ เช่นว่านี้ อันที่จริงนั้นผู้ชายส่วนใหญ่มักจะชอบผู้หญิงที่ปล่อยตัวหรือใจง่าย ขณะเดียวกันเขากับรัก ผู้หญิงที่รู้จักไว้ตัวหรือวางตัวให้เหมาะสมพร้อม ทั้งยังปรารถนาที่จะแต่งด้วยอย่างจริงใจ                  (สุชาติ  โสมประยูรและวรรณี โสมประยูร 2543: 71-72)
 เต็มศิริ บุญยสิงห์ (2526 : 93-95) ได้เสนอแนวทางหลักการวางตัวในการคบเพื่อนต่างเพศไว้ อย่างน่าสนใจ คือ
 1. มารยาทสังคม ที่ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีมีหลักว่า   ผู้ชายจะต้องถือว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ จะต้องช่วยเหลือ ให้ความสะดวกและให้เกียรติ ทั้งนี้เพื่อนความเป็นสุภาพบุรุษของตนเอง
 2. มารยาทสังคมระหว่างเพศจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมารยาทสากล แต่จะต้องเป็น ไปในขอบเขตของวัฒนธรรมไทย
  2.1  การคบหาระหว่างหญิงและชายในขอบเขตของวัฒนธรรมไทยนั้น จะไม่สัมผัส ร่างกายกันโดยไม่จำเป็น
  2.2  การใช้ภาษาและถ้อยคำ ถ้อยคำที่ใช้ในกลุ่มผู้ชายที่เป็นเพื่อน และสนิทสนมกัน ไม่ควรจะนำไปใช้กับเพื่อนหญิง หรือต่อหน้าหญิง
  2.3  ไม่พักแรมโดยไม่ระมัดระวังร่วมกัน
  2.4  การวางตัว เช่น สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี สุภาพบุรุษนั้นก็คือ ลูกผู้ชายที่ได้รับการ อบรมสั่งสอนมาเป็นอย่างดี จนเกิดบุคลิกภาพที่น่าจะไว้วางใจและมอบความรับผิดชอบให้ ส่วนสุภาพ สตรีนั้นก็คือลูกผู้หญิงที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างถูกต้อง จนเกิดบุคลิกที่เป็นเสน่ห์ และทำให้ผู้ชาย ไม่กล้าล่วงเกิน
 3. ส่วนมารยาทสากลนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยรับเข้ามานาน และปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย
  3.1   การเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่น การใช้คำว่า “คุณ” และสรรพนามให้สอดคล้องกับ ความสนิทสนมชอบพอกันเป็นส่วนหนึ่ง
  3.2   การพูดคุยเป็นสิ่งที่ทำได้ กำจัดความเหนียมอาย คิดก่อนพูด การใช้อารมณ์ ขัน เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับตนเอง เรื่องที่จะพูดคุยจะต้องฟังได้ทั้งสองเพศ หนุ่มสาวมักชอบคุย เรื่องที่เพศของตนสนใจเท่านั้น คำถามเรื่องส่วนตัวควรจะละเว้น
  3.3   ไม่พูดเรื่องของตนหรือเรื่องของคนอื่นหากหลีกเลี่ยงได้
  3.4   เรื่องที่แสดงรสนิยมตํ่าหรือเรื่องไม่สุภาพ เรื่องเกี่ยวกับเพศ พูดถึงสิ่งที่ฟังแล้วไม่ สบายใจ และเกิดความกระอักกระอ่วน ข่าวลืออกุศลต่างๆ
  3.5 ฝ่ายชายจะต้องแสดงตนเป็นผู้พิทักษ์ผู้หญิงในโอกาสต่าง ๆ ได้แก่
   3.5.1 การเดินริมถนน ผู้หญิงจะต้องเดินด้านใน
   3.5.2 การเดินคู่และหลีกทางบนบันได ผู้หญิงจะต้องได้เดินชิดราวบันได เพื่อมี โอกาสพยุงตัว
   3.5.3 บนรถโดยสาร ผู้หญิงแลเด็กควรจะต้องได้นั่ง ผู้ชายควรจะสละที่นั่ง ไม่แย่ง ที่นั่งและไม่เฉยเมย เมื่อมีผู้หญิงและเด็กขึ้นมาภายหลัง
   3.5.4 ในงานเลี้ยงควรจะช่วยหญิงและเด็ก และให้บริการเท่าที่จะทำได้
   3.5.5 การสูบบุหรี่จะต้องขออนุญาตผู้อยู่ใกล้ แล้วจึงสูบ
   3.5.6 การแนะนำหญิงชายที่อายุและสถานภาพเดียวกัน จะต้องแนะนำชายแก่ หญิงคือกล่าวชื่อหญิงไว้หลัง  หากเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ก็ต้องแนะนำเด็กให้แก่ผู้ใหญ่
   3.5.7 ตามหลักสากลผู้หญิงจะต้องเดินทางขวาของชาย ไม่เดินทางซ้าย เพราะ สมัยก่อนชายพกดาบจะชักถูกผู้หญิง หลักนี้จึงถือมาจนทุกวันนี้
   3.5.8 ไม่ทำความรำคาญด้วยเสียงดังต่าง ๆ  แม้ในกลุ่มชนกลุ่มอื่น เช่น การเปิด วิทยุ เล่นดนตรี
 
 การนัดหมายกับเพื่อนต่างเพศหรือการออกเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ
 สุชา จันทร์เอม (2543:74) ได้ให้ความหมายของการนัดเที่ยว หมายถึง การคบหาสมาคม มี เป้าหมาย ที่จะทำความคุ้นเคยกับเพื่อนต่างเพศไม่ใช่เพื่อแต่งงาน เพราะผู้ที่คบกันนั้นอายุยังน้อยเกินไป ยังไม่สำเร็จการศึกษา ยังตั้งตัวในทางเศรษฐกิจไม่ได้ การเที่ยวนั้นเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน เพื่อ เสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคมเท่านั้น
 สำหรับการนัดหมายหรือการออกเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศนั้นนับว่าเป็นวัฒนธรรมในประเทศทาง ตะวันตกที่ได้รับเข้ามาแพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่วัยรุ่นของไทย ซึ่งนับว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะพบได้ โดยทั่วไปในสังคมเมืองจะเห็นได้อย่างชัดเจนและสังคมชนบทปัจจุบันก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง การคบหา เพื่อนต่างเพศมากขึ้นเช่นกันในการนัดหมายกับเพื่อนต่างเพศนั้นฝ่ายชาย  จะมีข้อขัดข้องน้อยกว่าใน  ขอบข่ายของวัฒนธรรมไทยแม้ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม  แต่ส่วนใหญ่ของสังคม ยังไม่ยอมรับ  การคบเพื่อนต่างเพศโดยเฉพาะการมีนัดกับเพื่อนต่าง เพศในวัยรุ่นนั้นเด็กหญิงมีพฤติกรรมการมีนัดเพื่อนต่างเพศเร็วกว่าเด็กชายจากค่านิยมและขนบธรรมเนียม ประเพณีแบบไทยกำหนดให้หญิงไทย พึง รักนวลสงวนตัวไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานผู้ใหญ่ จะเพ่งเล็ง ในการที่หญิงมีนักกับเพื่อนชาย เป็นพิเศษสังคมจะไม่ยอมรับการไปสองต่อสอง ในเวลา กลางคืนด้วยกันโดยเฉพาะการค้างคืนด้วยกันเพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้มีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การมีนัดกับเพื่อนต่างเพศ ใน ขณะเรียนหนังสือ จึงเป็นการร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น ไปห้องสมุด การดูกีฬา  เป็นต้น ควรไปเป็นกลุ่ม ไม่ควรจะไปเที่ยวสองต่อสองไปในที่ลับตาคน หรือไปใน บางสถานที่  เช่น โรงภาพยนตร์ ไนต์คลับ ดิสโก้เธค เป็นต้น เพราะบรรยากาศเย้ายวน ให้อารมณ์   เคลิบเคลิ้ม ในทางกามารมณ์ และเพื่อป้องกันข้อครหานินทา หากหญิงจำเป็นต้องไปกับเพื่อน ชายควรมี บุคลิกที่ไว้วางใจได้ หรือเพื่อนฝูงที่ไว้ใจได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน การมีนัดกับเพื่อน ต่างเพศในวัยรุ่นจะต้อง ระวังตัวให้มาก แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้สนิทสนมไว้ใจได้ เพราะบางครั้ง สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่นบรรยากาศ เวลา สถานที่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่อาจทำให้ผู้ที่ไว้ใจได้เปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่ไม่น่าไว้ใจ  (สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย 2538: 5) ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ สุชาติ โสมประยูร และวรรณี โสมประยูร (2540: 80) กล่าวว่า ในการนัดหมายกับเพื่อน ต่างเพศนั้นระยะแรกนั้น การพบปะ หรือวิสาสะกัน ควรจะต้องให้อยู่ภายในสายตาของผู้ใหญ่ ถ้าจะไปเที่ยวก็ควรให้ไปกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งถ้ามี ผู้ใหญ่ไม่เป็นเพื่อนด้วยก็ยิ่งดี  การปล่อยให้วัยรุ่นไปเที่ยวด้วยกันเพียงสองต่อสองนั้น  นับว่าเป็นการไม่ควร อย่างยิ่ง เพราะเป็นการเสี่ยงต่อความผิดพลาดในเรื่องการเสียเนื้อเสียตัวมากเกินไปและถ้ามีการนัดพบปะ สังสรรค์กันบ่อยเกินไป จะทำให้เสียการเรียนและบางคู่อาจถือจริงจังแบบคู่รัก ฉะนั้นในการนัดหมาย หรือเที่ยวกับเพื่อนต่าง เพศ จึงน่าจะอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เต็มศิริ บุณยสิงห์ (2526 : 95-96)  ได้เสนอ ข้อแนะนำ ในการมีนัดกับเพื่อนต่างเพศ ดังนี้
 การนัดหมายจะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อรู้จักกันให้มาขึ้นในระยะต้นควรนัดหมายเป็นกลุ่มสถานที่ ที่ไม่ควรจะไป ได้แก่
 1. ไกลเกินไปจนต้องพักแรม ไม่ควรไปสองต่อสอง
 2. โรงแรมที่มีลักษณะไม่เหมาะสม แม้แต่จะพากันเข้าไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์เพราะจะเสี่ยงต่อข้อ กล่าวหาของผู้ที่ได้พบเห็น
 3. ที่เปลี่ยวและรโหฐาน อาจมีการเร้าทางเพศขึ้นโดยง่าย
 4. ในระยะทำความรู้จักเพื่อจะมักคุ้น จะไปไหนกับเพศตรงข้าม ฝ่ายหญิงควรปรึกษาและ ขออนุญาตผู้ใหญ่ทุกครั้งไป
 5. เมื่อแน่ใจว่าทางฝ่ายชายเป็นที่น่าไว้ใจ จึงควรให้ความสนิทสนมมากขึ้นจึงไป นันทนาการ ด้วยกันได้
 6. หากเป็นนักเรียน นักศึกษาซึ่งยังไม่มีอาชีพไม่ควรเลือกที่นัดหมายราคาแพง
 7. ไม่นัดหมายกันไปตามสถานที่ที่ประกอบธุรกิจหากำไรจากเยาวชน โดยขาดความรับผิด ชอบและศีลธรรม มีการจัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางเพศได้โดยง่าย
 8. ควรหยั่งรสนิยมซึ่งกันและกันโดยการเลือกสถานที่ ระหว่างสถานที่ที่ให้ความบันเทิงมหรสพ และสถานที่ที่จะก่อประโยชน์ เช่น พิพิธภัณฑ์ หอสมุด  การชมศิลปวัฒนธรรม  เป็นต้น

 การมีคู่รักในวัยเรียน


 ความรักกับวัยรุ่นนับได้ว่าเป็นสิ่งคู่กันโดยเฉพาะความรักระหว่างชายหญิงซึ่งวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่ม เรียนรู้เรื่อง ความรักต่างเพศเป็นครั้งแรก จึงปักใจรักอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นเยาวชนชาย หรือหญิง วัยรุ่น ส่วนน้อยที่จะปกปิดเรื่องอย่างนี้แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะแสดง ออกอย่างเปิดเผย เพราะต้องการให้ทุกคน ได้รู้ได้ยอมรับว่าในความสามารถของตนซึ่งในหมู่วัยรุ่นด้วยกันถือว่าการมีคู่รักต่างเพศแสดงถึง ความ สามารถของตนโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นชายยิ่งใครมีคู่รักได้หลายคน ก็จะรู้สึกภูมิใจและได้การยอมรับ จากเพื่อน ๆ ว่าเป็นคนเก่ง  (สุคนธ์ เนื้อทอง 2528: 145)
 ส่วนในเรื่องรักต่างเพศในวัยเรียนที่จะพบเห็นในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป ได้แก่การให้ความสนิทสนม ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามคนใดคนหนึ่งเป็นประจำสักระยะเวลาหนึ่ง ฝ่ายหญิงจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความรัก ในวัยเรียน เป็นเด็กทำอะไรล้ำสมัย ไม่สำรวม รักในวัยเรียนจึงเป็นของต้องห้ามในสมัยก่อน แต่พฤติกรรม เหล่านี้เป็นปกติวิสัยในเด็กวัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่จะจัดรูปตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่หรือยัง การมีเพศตรงข้ามมาสน ใจทำให้วัยรุ่นแน่ใจว่าเป็นสาวเป็นหนุ่ม ฉะนั้นการฉายคู่นั้นจึงเป็น พฤติกรรมที่เด็กเอง มีความบริสุทธิ์ใจ โดยเป็นการประกาศว่า ฉันเป็นรุ่นสาวรุ่นหนุ่มแล้วเท่านั้นเอง  ผู้ใหญ่จึงไม่ควรบังคับให้เลิกสนใจ หรือ ห้าม ไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะถ้าบังคับให้เด็กทำกิจกรรมเฉพาะเพศเดียวกัน อาจทำให้กลายเป็น ลักเพศและรักร่วมเพศได้ แต่ก็มิได้หมาย ความว่าจะปล่อยเลยที่เดียว หากต้องเตรียมเด็กให้เข้าใจขอบเขต ของการวางตัวให้เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์เพศของตนเองและเพศตรงข้ามค่านิยมเรื่องรักษาพรหมจารีย์ ไว้เพื่อให้กับชายที่ตกลงปลง ใจที่จะแต่งงานด้วยการคบหาสนิทสนมกันมาก ปล่อยให้มีการจับไม้จับมือถือ แขนอาจจะเลย ไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายในโอกาส ที่ลับตาคนซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ฝ่ายชายมีความต้อง การทางเพศก็จะเร้าใจให้เด็กหญิงเกิดอารมณ์เพศตามมาเกิดการสมยอมและเสียสาวได้การคบหากันจึง ควร ให้อยู่ในข้อจำกัด เช่น  ไม่อยู่ในที่ลับตาคน สองต่อสอง ละเว้นการจับเนื้อต้องตัวที่ไม่จำเป็นเด็กวัยรุ่น ผู้นั้นก็จะพัฒนาไปเต็มที่เป็นชายจริงหญิงแท้ที่ประนอมถนอม จิตใจ ผู้ใหญ่ การบังคับ ของผู้ ใหญ่ มักทำ ให้เกิดการต่อต้านในทำนองที่ว่า “ยิ่งว่า เหมือน ยิ่งยุ” เลยทำให้เกิดปัญหามากขึ้นจนอาจลงเอยด้วย ปัญหาการตั้งครรภ์หนีออกจากบ้าน หรือ สอบตก ถูกไล่ออกจาก โรงเรียน เป็นต้น                                 

 การมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานของวัยรุ่น


 ปัจจุบันเรารับอิทธิพลในเรื่องต่าง  ๆ จากประเทศทางตะวันตก มากโดยเฉพาะในเรื่องการออก เที่ยว  (Dating)  ของหนุ่มสาวไทยในปัจจุบัน มีโอกาสคบหากัน ใกล้ชิดและมีการสนิทสนมกันมากขึ้น เพราะว่าโอกาสอำนวยที่จะอยู่กันตามลำพังสองต่อสองจึงอาจจะมีแนวโน้มว่าหนุ่มสาวในยุคนี้จะมี เพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากซึ่งจะสังเกตได้จากการพบว่าวัยรุ่นมีการตั้งครรภ์ นอกสมรสเพิ่มมากขึ้น จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็น เครื่องชี้ที่ สำคัญยิ่งของสังคม  นงลักษณ์ เอมประดิษฐ์ (2529:79) กล่าวว่า ผู้ที่ก่อนให้เกิดปัญหานี้ ได้แก่ เด็กวัยรุ่น และคนโสด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมของสังคม โดยเฉพาะเพศหญิง ไม่ควร “ชิงสุกก่อนห่าม” สุชาติ โสมประยูรและวรรณี  โสมประยูร (2543:85) กล่าวถึงพฤติกรรมทางเพศ ก่อนแต่งงานว่า เป็นผลเสียมากกว่าผลดีและไม่ช่วยให้ผู้อื่นผู้ใดเป็น สามีหรือภรรยาที่ดีขึ้นได้ใน อนาคตจึง นับว่าเป็นความประพฤติหรือพฤติกรรมทางเพศที่ไม่สมควรปฏิบัติเด็ดขาด สำหรับในสังคมไทยนั้นยังถือ ว่า ความบริสุทธิ์พรหมจารีย์แห่งเพศเป็นเกียรติที่สูง ซึ่งจะต้องสงวนไว้ด้วยชีวิตของกุลสตรี แม้ศีลธรรม ทุกวันนี้จะหย่อนยานสักเพียงใดก็ตาม ถ้าได้ สูญเสียพรหมจรรย์ไปก่อนแต่งงาน บุคคลโดยทั่วไป (โดยเฉพาะเพศหญิง) จะยังคงเสียใจอยู่เสมอแม่ จะไม่แสดงออกมาให้เห็นภายนอกก็ตาม การมีเพศ สัมพันธ์กันก่อนแต่งงานนั้น เป็นเพียงความสุข ชั่วคราวซึ่งมีผลเสียมากกว่าผลดี จึงนับว่าเป็นความ ประพฤติหรือพฤติกรรมทางเพศที่ไม่สมควรปฏิบัติ โดยเด็ดขาด  ในเรื่องการได้เสียก่อนแต่งงานนั้น บางครั้ง ก็พบว่าเกิดจากความเชื่อและความเข้าใจผิดของหนุ่มสาวที่รักกันมากและปรารถนาที่จะเป็น คู่ครองกันไปจนตลอดชีวิตสมรสมากกว่าการตกเป็น ทาสของกามารมณ์ก็มีทั้งสองเชื่อและเข้าใจว่า การ ทดลองร่วมเพศก่อนที่จะแต่งงานนั้นจะช่วย ประกอบการพิจารณาตัดสินใจแต่งงาน
 ในเรื่องของการยอมให้มีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นของวัยรุ่นนั้นReiss (1960:80)   ได้อธิบายความหมาย ไว้ว่า หมายถึง  ระดับของการยอมรับในความใกล้ชิดทางร่างกายที่เกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ระหว่างชาย และหญิงก่อนการสมรส โดยมีพื้นฐานของพฤติกรรมการยอมให้มี เพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น 2 มิติ คือ
 1. เน้นร่างกาย (body-centered) ให้ความสำคัญกับลักษณะทางชีวภาพของร่างกายโดย
มีเป้าหมายของพฤติกรรม เพื่อให้ความสุขทางเพศ เช่น การกอดจูบ การเล้าโลม และการมีเพศ
สัมพันธ์
 2. เน้นด้านอารมณ์ของบุคคล (person-centered) ให้ความสำคัญด้านอารมณ์ของบุคคล
เช่น ความรัก ความผูกพัน เป็นต้น  วันทะนีย์ วาสิกะสิน (2527:27)   ได้เสนอถึงสาเหตุการมีเพศสัมพันธ์ ก่อนสมรส คือ
 1. เป็นการสนองความปรารถนาทางเพศ และสนองความพอใจทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อความสนุกสนาน
 2. เป็นการพิสูจน์ว่ามีความสามารถทางเพศ ไม่เป็นผู้ผิดปกติในเรื่องเพศ
 3. เป็นการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่สภาวะการสมรสหรือการปรับความต้องการทางเพศของทั้ง สองฝ่ายให้เข้ากันได้
 4. เป็นการผูกมัดฝ่ายตรงข้ามหรือสำหรับหญิงบางครั้ง เป็นเพราะความรักต่อเพศชาย
 5. เป็นการทำตามความนิยามของสังคมในปัจจุบัน


 
 ข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควร !!


 1. พ่อแม่ควรปลูกฝังลูกวัยรุ่นให้มีความรู้สึกรักเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองยกย่องความรัก เดียวใจเดียว ฝึกให้รู้จักอดทนรอคอยที่จะได้รับสนองความต้องการต่างๆ ตามเวลาอันควร
  - วัยรุ่นหญิง ควรรู้จักรักนวลสงวนตัว วางตัวอย่างเหมาะสมและมีคุณค่า
  - วัยรุ่นชายควรภูมิใจในความเป็นลูกผู้ชาย ไม่เอาเปรียบทางเพศหรือรังแกผู้ที่อ่อนแอ กว่ามีจิตใจที่เข้มแข็งสามารถ  ควบคุมอารมณ์ที่ปรารถนาตามธรรมชาติ และปฏิบัติอย่างเหมาะสมไม่ชิง สุกก่อนห่าม
 2. พ่อและแม่ควรให้ความรัก ความเอาใจใส่ใกล้ชิดกับลูกทุกคนทั้งสองเพศอย่างเสมอต้นเสมอ ปลาย ลูกจะได้เรียนรู้ถึงสภาวะจิตใจ
 3. ควรให้ลูกมีโอกาสคบค้าสมาคมกับญาติพี่น้อง   เพื่อนต่างเพศ   โดยพบปะสังสรรค์ทำ กิจกรรม การเรียน การเล่นกีฬา บันเทิงหรือบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกันในขอบเขตที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ถึง อุปนิสัยใจคอ เข้าใจวิธีวางตัว และปฏิบัติต่อเพื่อนต่างเพศได้พอเหมาะ และตามมารยาท ที่ดีงาม
 4. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกวัยรุ่นเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง การวางแผนครอบครัวและการมี เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แนะนำการให้ลูกหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่ถูกต้องเช่นจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และครู อาจารย์
 5. หากลูกวัยรุ่นมีปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ต้องการหรือการติด เชื้อ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตั้งสติให้มั่นคงและเป็นหลักชี้แนะให้แก่ลูกในการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ ไม่ควร ให้อารมณ์ทำโทษรุนแรง ทับถมประณามซ้ำเติมหรือขับไล่ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดผล เสียเพิ่มขึ้น (สำนักงานส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ 2535:36-39)
 จากเอกสารข้างต้นสรุปได้ว่าโดยธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นทั่วไปแล้ว ต้องการมีความรู้ความเข้าใจใน เรื่องเพศ ถ้าขาดการแนะนำที่ถูกต้องหรือถูกกีดกัน ขัดขวาง อาจทำให้จิตใจหดหู่ขุ่นมัว และ เกิดพฤติกรรม ต่อต้านไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งสอน สุพัตรา สุภาพ (2539: 19) พบว่า เด็กวัยรุ่นในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพล ต่าง ๆ เช่น ค่านิยมในการเที่ยวเตร่ ค่านิยมในการคบเพื่อน  ต่างเพศมาจากวัฒนธรรมทางตะวันตก โดย เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการคบเพื่อนต่างเพศ ซึ่งวัยรุ่นส่วนใหญ่ขาดหลักและขอบเขต ของการประพฤติตัว ต่อเพศตรงข้าม ไม่รู้จักป้องกันตนเองจากปัญหาอื่น ๆ  สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างเด็กและ ผู้ใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งตัวเด็กเองและปัญหาต่อสังคม ปัญหาที่พบกันมาก โดยเฉพาะชุมชน ใหญ่ ได้แก่ การประพฤติตนในทำนองชู้สาวในที่สาธารณะ การมั่วสุมของเด็กวัยรุ่น ตาม สถานที่เริงรมย์ การนัดเที่ยวกันลำพังตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ก่อน ารสมรส เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ การทำแท้ง กามโรค และโรคเอดส์ เป็นต้น  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ของ หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมพลศึกษา (2530:95) พบว่า  การคบเพื่อนต่างเพศโดยเฉพาะการมีนัดกับ เพื่อนต่างเพศในวัยรุ่นนั้น เด็กหญิงมีพฤติกรรมการ มีนัดเพื่อนต่างเพศเร็วกว่าเด็กชายจากค่านิยม และขนบธรรมเนียม ประเพณีแบบ ไทย กำหนดให้หญิงไทย พึงรักนวลสงวนตัว ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงาน ผู้ใหญ่จึงเพ่งเล็งในการที่ หญิงมีนัดกับเพื่อนชาย เป็นพิเศษ สังคมจะไม่ยอมรับการไป สองต่อสองในเวลากลางคืนด้วยกัน  โดยเฉพาะการค้างคืนด้วยกัน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้มีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ ดังที่ วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ (2531:17)  กล่าวถึงพฤติกรรม ทางเพศของนักเรียน วัยรุ่นปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 57 ของนักเรียนชายเคย มีเพศสัมพันธ์ มาแล้วกับหญิง โสเภณี คู่รัก และ หญิงแปลกหน้า ร้อยละ 30 ของนักเรียนวัยรุ่นหญิง บางจังหวัด เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว กับเพื่อน นักเรียน คูรักและชายแปลกหน้าซึ่งพฤติกรรมของนักเรียน วัยรุ่นเหล่านี้ บางส่วนพบว่า ได้รับเชื้อ เอดส์ ระยะรุนแรงสาเหตุดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยม ในการรัก นวลสงวนตัวถูกลดความสำคัญลง  ชายไทยก็ให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ของหญิงลดลง และวัยรุ่น บางกลุ่มรู้สึกเสรีภาพในการปฏิบัติ ต่อเพื่อนต่างเพศ เช่น การเดินจับมือถือแขนกัน การแตะเนื้อต้องตัวกัน การเล้าโลม กอดจูบกันตามสวน สาธารณะ  จากประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นับวันจะทวีความรุนแรง ขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้าเด็กวัยรุ่นมี ความรู้ ความเข้าใจตลอดจนมีการปลูกฝังเจตคติหรือ พัฒนาเจตคติเกี่ยวกับ เรื่องเพศ ไปในทางที่ดีให้กับ เด็กนั้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวัยรุ่น สามารถแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง ระหว่างแรงขับดันทางเพศ ของเด็กวัยรุ่นให้แสดงออกมาในรูปที่ตนเองพอใจและสังคมยอมรับได้ (สุชาติ โสมประยูร (2531:85) 
 ดังนั้นในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการคบเพื่อนต่างเพศของวัยรุ่น จึงต้องหาวิธี การหรือสื่อที่สามารถเปลี่ยนแปลงเจตคติ ความคิดเห็น ความรู้สึก ความเชื่อ ค่านิยมเกี่ยวกับการคบเพื่อน ต่างเพศของวัยรุ่น เพื่อมิให้เด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องตาม  บรรทัดฐานของสังคมซึ่งจะ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อตนเองและสังคมต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงเจตคติ ในเรื่องเพศ นั้นเป็นเรื่อง ที่ยาก และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงมาก  ดังนั้นการพยายาม ในระยะสั้น นี้ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงความ คิดเห็นของวัยรุ่นในเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศก่อนและควรทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลง

สร้างโดย: 
อ.วิริยะ โภคาพันธ์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 529 คน กำลังออนไลน์