การเมืองการปกครองของไทยก่อนพ.ศ.2475

ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล


พัฒนาทางการเมืองการปกครองของไทยก่อน พ.ศ. 2475

       การเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในสมัยรัตนโกสินทร์ นั้นเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศแต่เพียงผู้เดียว เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมและเวลาเปลี่ยนไประบบที่เคยมีประสิทธิภาพก็กลายเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพนำไปสู่ความซ้ำซ้อนและเกิดความล่าช้าในการบริหารราชการแผ่นดินด้านต่างๆ เช่น ภาษีอากร การควบคุมกำลังคน การศาล การศึกษา ฯลฯ เป็นต้น
       การเมืองการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเหมือนกับการปกครองของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(พ.ศ.1997 –พ.ศ.2031) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1) การปกครองส่วนกลาง
2) การปกครองส่วนภูมิภาค
3) การปกครองเมืองประเทศราช
1. การปกครองส่วนกลาง โดยมีกรุงเทพมหานครฯ เป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางการปกครอง มี
พระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีอำนาจสูงสุดในการปกครองและมีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ
- สมุหนายก ดูแลทั้งทางด้านทหารและพลเรือนและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ 
- สมุหกลาโหมดูแลทั้งทางด้านทหารและพลเรือนและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
- เสนาบดีจตุสดมภ์ทั้ง 4 คือ
นครบาล(กรมเมือง) ดูแลความเรียบร้อยตัดสินคดีความต่างๆ และดูแลกรมพระสุรัสวดี
ธรรมาธิกรณ์(กรมวัง) ดูแลภายในพระราชสำนักและการพระราชพิธี
โกษาธิบดี(กรมคลัง) ดูแลกรมท่าควบคุมบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกและการคลัง
เกษตราธิการ(กรมนา) ดูแลเกี่ยวกับการเก็บภาษีอากรจากอาชีพทางด้านเกษตรกรรม

      ส่วนใหญ่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีคุณสมบัติเป็นที่ ไว้วางพระราชหฤทัยใปกำกับราชการ ส่วนในการตัดสินคดีความต่างๆนั้นมี คณะลูกขุน โดยมีพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์เป็นประธาน
2. การปกครองส่วนภูมิภาค มีสมุหนายก สมุหกลาโหม และกรมคลัง เป็นผู้ดูแล โดยแต่งตั้งเจ้าเมือง
จากส่วนกลางไปเป็นผู้ดูแลโดยให้อิสระในการบริหารจัดการทุกประการแบบจารีตที่เรียกว่า กินเมือง ซึ่งต่อมาในระยะหลังรัฐบาลกลางไม่สามารถควบคุมการบริหารงานนั้นได้ เพราะมีอุปสรรคทางด้านการคมนาคมการสื่อสาร ทำไดเพียงแค่วางนโยบาย เจ้าเมืองต่างบริหารจัดการแตกต่างกันไปตามที่เห็นสมควร
การปกครองหัวเมืองชั้นใน (เมืองจัตวา)คือการปกครองเมืองรายรอบราชธานี มีผู้รั้งดูแลบังคับบัญชา
การปกครองหัวเมืองชั้นนอก คือหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี ที่อยู่ห่างไกลราชธานี มีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแลบังคับบัญชามีอำนาจสิทธิขาดทุกประการ มีเมืองบริวารอยู่รายรอบ


3. การปกครองหัวเมืองประเทศราช การปกครองนั้นพระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งเจ้าเมืองประเทศราช
บริหารจัดการโดยอิสระส่วนใหญ่เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงที่มีลักษณะแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ลักษณะการเป็นเมืองประเทศราชนั้นเป็นเพียงการยอมรับในอำนาจอิทธิพลของไทยที่มีเหนืเมืองของตนเท่านั้น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปได้เพื่อความอยู่รอดของเมืองได้   เจ้าเมืองประเทศราชนั้นมีหน้าที่หลักคือคอยสอดส่องดูแลไม่ให้ข้าศึกลุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขต  เพื่อความมั่นคงของประเทศ  และต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ   ดอกไม้เงิน  ดอกไม้ทอง เข้ามายังเมืองหลวงทุก 3 ปี 1 ครั้ง

         


         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในการปฏิรูปการปกครองของไทยเพื่อสร้างให้เกิดความเจริญแก่ประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับของอารยประเทศ แต่พระองค์ทรงมีอุปสรรคสำคัญ  2  ประการ  คือประการแรก  ขุนนางชั้นสูงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงแน่พระทัยว่าการปฏิรูปการปกครองนั้นจะใช้กับประเทศไทยได้ดี เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงเห็นด้วยกับการปกครองแบบเดิม ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินนโยบายสายกลาง และเตรียมวางพื้นฐานในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบใหม่ต่อไป โดยพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมการเข้าเฝ้าให้เหมาะสมกับการติดต่อกับชาวตะวันตก   ทรงรับฎีกาที่ประชาชนกราบถวายบังคมทูลเดือนละ 4 ครั้ง และวางพื้นฐานทางการศึกษาวิชาการสมัยใหม่จากชาวตะวันตกโดยการจ้างครูต่างประเทศเข้ามาสอนหนังสือพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในรัชสมัยต่อมา นับได้ว่าไทยเริ่มปรับเปลี่ยนประเทศตามแนวความคิดแบบใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบบการปกครองแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยปฏิรูปการเมืองการปกครอง
ปัจจัยภายนอก
เมื่อประเทศในยุโรปได้ค้นพบวิทยาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษ และต่อมาประเทศต่างๆ ในยุโรปได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อการผลิตภายในประเทศ และการเพิ่มจำนวนของประชากรภายในประเทศทำให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปต้องการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและตลาดสำหรับระบายสินค้า และแหล่งระบายพลเมือง
การสำรวจดินแดนทางทะเลในยุคแห่งการค้นพบโดยการเดินทางรอบโลกทางเรือของชาวยุโรป ทำให้ค้นพบดินแดนเอเชียที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติเป็นที่ต้องการของยุโรปนั้นเป็นแรงจูงใจให้ชาวยุโรปสนใจบริเวณทวีปเอเชียเพื่อการติดต่อ เผยแผ่คริสตศาสนา และทำการค้าขาย

1  การคุกคามของอังกฤษ
  ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกในยุคจักรวรรดินิยมใหม่เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยอังกฤษเริ่มทำสงครามครั้งแรกกับพม่า ผลของสงครามทำให้พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องลงนามยุติสงครามในสนธิสัญญายันดาโบ (The Tredy of Yandabo)   ใน พ.ศ.2368   ยกเมืองยะไข่   ตะนาวศรี   อัสสัม   มณีปุระ  ให้อังกฤษและชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 1,000,00 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อมาอีก 10 ปี ใน พ.ศ.2395 พม่าได้ทำสงครามกับอังกฤษอีกครั้งและตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามต้องยกเมืองย่างกุ้ง และหงสาวดีให้กับอังกฤษ และในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าอีกครั้ง ใน พ.ศ.2428 ผลของสงครามทำให้พม่าต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษถูกรวมเป็นมณฑลหรือของอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2428
  ประเทศไทยนั้นไม่สามารถรอดพ้นการคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตกไปได้    เพราะชายเขตแดนของไทยอยู่ชิดกับอาณานิคมของอังกฤษทางตะวันตกและทางใต้ อังกฤษได้เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาประชิดพรมแดนไทยใน พ.ศ.2329  สุลต่านไทรบุรี ตนกู อับดุล โมกุลรัมซะ ชักนำให้อังกฤษเข้ามาเช่าเกาะหมาก (Penang) และดินแดนบนแหลมมลายูฝั่งตรงข้ามเกาะหมากคือ สมารังไพร  เริ่มต้นด้วยการติดต่อธุรกิจการค้าในรูปของบริษัทอินเดียตะวันออก (The East India Company) ต้องการให้เกาะหมากเป็นศูนย์กลางทางการค้ากับหมู่เกาะมลายู และเป็นเมืองท่าค้าขายกับจีน  แต่พอหลัง พ.ศ. 2367 ฮอลันดาสละสิทธิในดินแดนมลายู และผู้ว่าราชการคนใหม่ คือโรเบิร์ต ฟูลเลอร์ตัน (Robert Fullerton)  นั้นมีความคิดนิยมลัทธิจักรวรรดินิยมทำให้เป้าหมายของอังกฤษเปลี่ยนไปทั้งทางด้านการค้าและการเมือง เริ่มบีบบังคับให้ไทยยอมรับว่าเมืองมลายูที่เคยส่งเครื่องราชบรรณาการให้ไทยนั้นไม่ได้เป็นประเทศราชของไทยและอังกฤษมีสิทธิจะครอบครองได้  และมีกรณีพิพาทขั้นรุนแรง คือ กรณีอังกฤษส่งเรือรบจากเกาะหมากมาคุมเชิงไทยที่ตรังกานู ต่อมาในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2368 เรือรบอังกฤษระดมยิงเมืองตรังกานูจากกรณีปราบพวกกบฏปะหังที่หนีข้ามแดนเข้ามาในกลันตันและตรังกานู และยังมีกรณีเกี่ยวกับแขก 7 หัวเมือง โดยตรงคือ กรณีพิพาทเรื่องเขตแดนเประกับรามันห์ต้องเปิดการเจรจาหลายครั้ง และเหตุการณ์ได้สงบลงเพราะกระทรวงต่างประเทศที่ลอนดอนไม่เห็นด้วยกับการรุกรานดินแดนของไทยของกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษ  แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องพรมแดนไทยทางใต้ก็ยังไม่ยุติ รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วทั้งวิธีการทูตและวิธีการปกครอง  ในที่สุดไทยต้องยอมรับฐานะของอังกฤษในเกาะปีนังในปี พ.ศ.2369  และยอมทำสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ.2398  ระหว่างการขยายตัวครั้งที่ 2 ของอังกฤษ (พ.ศ.2393-2413) ต่อมาใน พ.ศ.2435 ไทยต้องยกดินแดนหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกะเหรียงตะวันออกให้กับอังกฤษ โดยอังกฤษยอมยกเมืองเชียงแสนให้ไทย
 
การคุกคามไทยของฝรั่งเศส
  ฝรั่งเศสเมื่อยึดโคชินไชนา (เวียดนาม) ได้ก็พยายามขยายอิทธิพลเข้าเขมรที่เป็นรัฐอยู่กลางระหว่างไทยกับเวียดนาม  เขมรตกเป็นเมืองขึ้นของไทยประมาณ พ.ศ.2325  พอถึง พ.ศ.2356  เขมรตกเป็นเมืองขึ้นของญวนและเขมรได้กลับมาสวามิภักดิ์ต่อไทยใน พ.ศ.2389 และส่งเครื่องราชบรรณาการมายังไทย  แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังเวียดนาม แต่ในช่วงปลายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักองค์ด้วงพระเจ้าแผ่นดินเขมรได้เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2403  จึงก่อให้เกิดความวุ่นวายแตกแยกเป็นหลายฝ่ายเมื่อไทยช่วยปราบความวุ่นวายได้แล้ว ได้นำเสด็จพระนโรดมไปครองเขมร  และเมื่อฝรั่งเศสยึดครองโคชินไชนาได้ใน พ.ศ. 2402 ก็ได้แสดงเจตนาเข้าไปแทนที่ไทยในเขมร โดยการอ้างสิทธิของญวนซึ่งฝรั่งเศสเข้ายึดครองแทนที่ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404   กงต์ เดอ กาสเตลโน ได้มีโทรเลข 2 ฉบับ    ส่งมายังพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าการต่างประเทศไทย โดยได้ยืนยันสิทธิของฝรั่งเศสที่อ้างการสืบทอดสิทธิแทนญวนเหนือเขมร
การที่ฝรั่งเศสสนใจเข้าไปมีอิทธิพลในเขมรเพราะเข้าใจว่าแม่น้ำโขงจะเป็นเส้นทางคมนาคมสู่จีนแถบยูนนานและทิเบต  และจากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบเขมรนั้นเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ดี สามารถจับปลาส่งออกนำไปขายตามตลาดต่างๆ ในตะวันออกไกลได้ ฝรั่งเศสได้ส่งสาส์นเข้าไปยังราชสำนักเขมรแสดงเจตนาจะให้ความคุ้มครองให้พ้นจากอิทธิพลของไทยถึงแม้ว่าพระเจ้า-นโรดมจะมีทีท่าว่ายังภักดีต่อไทย  แต่ก็มีความหวาดเกรงภัยจากฝรั่งเศสที่มีความพร้อมและเหนือกว่าทางด้านกำลังคนและประสิทธิภาพของอาวุธทำให้พระองค์ต้องทรงยินยอมลงนามยอมรับความคุ้มครองจากฝรั่งเศสในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2406 และเจ้านโรดมมีจดหมายแจ้งมายังไทยว่าถูกบีบบังคับให้ลงนามในสัญญา และเพื่อป้องกันสิทธิไทยเหนือเขมรจึงทำสัญญาลับระหว่างไทยกับเขมร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2406 ไทยได้ทำหนังสือชี้แจงถึงสิทธิการครอบครองเขมรมากว่า 84 ปี แต่ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ในที่สุดเขมรก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ.2406 เป็นการครอบครองโดยพฤตินัย เมื่อ พ.ศ.2410 ฝรั่งเศสได้ครอบครองเขมรอย่างเต็มอำนาจสมบูรณ์หลังการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส
หลังจากยึดเขมรได้ฝรั่งเศสได้ทำการสำรวจดินแดนลาวบน 2 ฝั่งแม่น้ำโขงและพบว่าเป็นเขตอิทธิพลของไทย  การที่ฝรั่งเศสสนใจลาวนั้นเพราะทางการฝรั่งเศสมีนโยบายสนับสนุนการแสวงหาอาณานิคม  อีกประการหนึ่งฝรั่งเศสมีความเชื่อว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาวจะใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติให้แก่อาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน  และฝรั่งเศสเห็นอังกฤษประสบความสำเร็จในการแสวงหาและยึดครองอาณานิคมในแถบนี้จึงต้องการแข่งขันกับอังกฤษ    ทางลาวนั้นการปกครองของไทยไม่มั่นคงรัดกุมเพียงพอทำให้ลาวยอมรับอำนาจการปกครองทั้งของไทยและญวน จึงเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสอ้างสิทธิเหนือดินแดนลาวในฐานะผู้สืบสิทธิจากญวนเช่นเดียวกับกรณีเขมร
ฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้าสู่ลาวโดยการขออนุญาตเข้าไปสำรวจเมืองหลวงพระบางโดยการอ้างเหตุการณ์รุกรานของพวกจีนฮ่อ ในเมืองพวน แคว้นสิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหก ระหว่าง พ.ศ.2418-พ.ศ.2428  ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าจีนฮ่อยกพวกมาปล้นสะดมเมืองพวน  เมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบางหลายครั้ง ไทยต้องส่งกำลังไปปราบปราม  และฝรั่งเศสถือโอกาสส่งกองทัพเข้าไปในดินแดนรอยต่อนั้นด้วยโดยอ้างว่าช่วยญวนปราบฮ่อ และนายปาวีได้ทำการสำรวจรายละเอียดในลาวทำให้ไทยเกิดความวิตกกังวลในการที่จะจัดระเบียบการปกครองให้รัดกุมเพื่อแสดงสิทธิของไทย   โดยว่าจ้างวิศวกรชาวอังกฤษเข้ามาสำรวจเพื่อทำแผนที่ตามหลักภูมิศาสตร์สมัยใหม่คือ นายเจมส์ แมคคาธี (James Macarthy)  ต่อมาได้เป็นหลวงวิภาคภูวดล
พวกฮ่อยกกองกำลังเข้าโจมตีหลวงพระบางอีกใน พ.ศ.2430 ไทยได้แต่งตั้งพระยาสุรศักดิ์มนตรี  (เจิม  แสงชูโต)  เป็นแม่ทัพยกไปปราบปราม ทางกงสุลฝรั่งเศส คือ เคานต์ เดอ แกร์การาเด็ค (Comte de Kergaradec)  ได้ทำหนังสือกราบทูลรัชกาลที่ 5 ว่า ฝรั่งเศสจะส่งกองทัพจากแคว้นตังเกี๋ยไปปราบฮ่อเช่นกัน พอต้นปี พ.ศ.2431 แกร์การาเด็ค ได้เรียกร้องสิทธิของญวนเหนือดินแดนลาว รวมทั้งเมืองพวนด้วย ทำให้ชาวไทยประท้วงและยืนยันปฏิเสธความรับผิดชอบถ้าเกิดปะทะกับทางทหาร ในเขตบริเวณที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองถ้าเมืองใดต่อต้านจะถูกปราบปราม  เมื่อพระยาสุรศักดิ์มนตรียกทัพไปถึงเมืองแถง ถูกนายปาวีพร้อมด้วยทหาร 170 คน บังคับให้ถอนทหารไทยออก  เมื่อถึงฤดูฝนทัพไทยจำเป็นต้องถอนตัวออกจากเมืองแถงเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก ส่วนฝรั่งเศสตั้งมั่นอยู่ที่แคว้นสิบสองจุไทย  และตกลงกันที่จะยุติการใช้กำลังจนกว่ารัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้ จนนำไปสู่การลงนาม “ความตกลงขั้นสุดท้าย” (Entente Finale)
สรุปไทยต้องเสียแคว้นสิบสองจุไทย (มีพื้นที่ 87,000 ตารางกิโลเมตร)  ให้แก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2431  เมื่อฝรั่งเศสใช้นโยบายรุนแรงกับไทยในวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 ใน พ.ศ.2436 ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงส่วนใหญ่รวมทั้งแคว้นสิบสองจุไทยจึงตกเป็นของฝรั่งเศสโดยนิตินัย
ปัจจัยภายใน
การแบ่งกลุ่มผลประโยชน์ของกลุ่มขุนนาง
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์  พระบรมวงศานุวงศ์  และขุนนางสมัยต้นรัตน-โกสินทร์ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มชนชั้น       ผู้ปกครองให้มีลักษณะประนีประนอมสนับสนุนซึ่งกันและกัน   เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองการปกครองของสถาบันพระมหากษัตริย์
ข้อบกพร่องของการปกครองด้วยระบบจารีต
ระบอบการเมืองการปกครองของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงก่อนรัชสมัยรัชกาล   ที่ 5 นั้นยังคงเป็นแบบเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนย่อยต่างๆ แต่ยังคงมีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ในทางปฏิบัติอำนาจการบริหารปกครองนั้นจะตกอยู่กับเจ้านายและขุนนางที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงหน้าที่ต่างๆ ตามหน่วยงานและกรมที่รับผิดชอบส่วนการ ปกครองหัวเมืองรัฐบาลกลางจะมีอำนาจครอบคลุมเพียงหัวเมืองรายรอบเมืองหลวงเท่านั้น ส่วนเมืองที่ห่างไกลออกไปอำนาจการควบคุมของรัฐบาลจะยิ่งน้อยลงตามระยะทางที่ห่างไกลออกไป เพราะอุปสรรคจากการคมนาคมสื่อสารที่ยากลำบากทำให้หัวเมืองต่างๆ ที่ห่างไกลจากเมืองหลวงมีอิสระในการปกครองและเศรษฐกิจโดยทำการจัดเก็บภาษีอากร  และค่าธรรมเนียมต่างๆ ไว้เป็นของตนเองมากเท่าที่จะจัดส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยที่รัฐบาลกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวตราบเท่าที่หัวเมืองเหล่านี้ยังคงแสดงตนต่อเมืองหลวงว่ายังจงรักภักดีอยู่และไม่สร้างความเดือดให้แก่ราษฎร ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีความแตกต่าง ด้านชื้อชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี  และอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงนั้นให้จัดการบริหารปกครองตนเองโดยเพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทอง  ทรัพย์สินสิ่งมีค่ามายังเมืองหลวงทุก 3 ปี 1 ครั้ง  และยามศึกสงครามให้ส่งกำลังคนและเสบียงมายังเมืองหลวงตามใบบอก และความผูกพันระหว่างประเทศราชกับเมืองหลวงนั้นขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ในลักษณะพึ่งพาให้การคุ้มครองจากการรุกรานของชาติอื่นๆ หรือยอมอ่อนน้อมเพราะเกรงการรุกรานจากไทยเอง
ผลจากการปกครองแบบจารีตหรือแบบกินเมืองทำให้รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง เปิดโอกาสให้บรรดาขุนนาง ข้าราชการ มักจะประพฤติกดขี่ราษฎรให้ความช่วยเหลือพวกพ้องของตนที่เป็นผู้ร้ายหรือรับสินบนปลดปล่อยผู้ร้าย บางเมืองราษฎรเดือดร้อนเพราะเจ้าเมืองและกรมการเมืองเป็นหัวหน้าโจรเสียเองส่งลูกน้องออกปล้น เช่น ที่เมืองอยุธยา  หลวงบรรเทาทุกข์กรมการเมือง และที่เมืองอ่างทอง  หลวงศรีมงคล กรมการเมือง ซึ่งทั้งสองคน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่กลับประพฤติตัวเป็นโจรทำให้ยากแก่การติดตามจับกุมการพนันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โจรผู้ร้ายชุกชุมเพราะรายได้ภาษีอากรจากหวยบ่อนเบี้ย ยังคงเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐอยู่จึงยังให้คงอยู่และได้หาวิธียกเลิกซึ่งได้ทรงเตรียมการที่จะยกเลิกไว้แล้ว แต่การจัดการทางด้านการคลังยังไม่เรียบร้อยจึงยังคงไว้ก่อน  จนกระทั่ง พ.ศ. 2431  เมื่อมีการจัดระเบียบการคลังให้มีประสิทธิภาพจึงเริ่มประกาศยกเลิกอากรหวยและบ่อนเบี้ย
สรุปการปกครองแบบจารีตที่มีลักษณะการกระจายอำนาจนั้นเปิดโอกาสให้มีการฉ้อราษฎร์  บังหลวงทุจริตเงินภาษีอากรที่เป็นรายได้ของแผ่นดินเกิดการรั่วไหล นอกจากนี้การที่เปิดโอกาสให้มีการประมูลภาษีอากรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดย  ผู้ที่รับประมูลได้จะต้องเหมาจ่ายภาษีอากรที่ตนเองประมาณการว่าจะเก็บได้ให้กับรัฐเป็นกอบเป็นกำ และไปบริหารจัดเก็บเอาเองตามใจชอบ  ผู้ประมูลได้เรียกว่า เจ้าภาษีนายอากร ส่วนมากจะเป็นชาวจีน เพราะเก่งทางทำธุรกิจการค้า   ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อราษฎร เพราะผู้ที่ต้องการจะประมูลได้ส่วนมากจะติดสินบนขุนนางเพื่อขอรับสิทธิ  แล้วไปเรียกเก็บชดเชยจากราษฎรนั่นเอง
การที่ขุนนางข้าราชการทำงานได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยหวัดซึ่งได้รับเป็นปี ไม่มีรายได้ประจำ แต่มีรายได้จากการหักลดภาษีแบบเก็บสิบลด และการควบคุมไพร่ทาส (โดยใช้แรงงานเป็นกำลังผลิตทางเศรษฐกิจ) ทำให้เกิดการทุจริตในหน้าที่และการฉ้อราษฎร์บังหลวง เพราะการส่งรายได้เข้ารัฐ รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้    พระคลังไม่สามารถทราบจำนวนที่แท้จริงของรายได้จากภาษีอากรเลย    ยิ่งในหัวเมืองที่ห่างไกลทุรกันดารการจัดเก็บยิ่งยากลำบาก ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บได้ตรงตามเป้าหมายซึ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย
การไม่มีเอกภาพแห่งดินแดนของไทย
การมีเอกภาพแห่งดินแดนนั้นหมายถึงรัฐที่สามารถรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง เสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อรัฐ
 
รัฐไทยสมัยก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นไม่มีเอกภาพแห่งดินแดนเพราะอาณาเขตของไทยนั้นขึ้นอยู่กับพระปรีชาสมารถของพระมหากษัตริย์ในแต่ละพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดทรงพระปรีชาสามารถมากอาณาเขตก็จะขยายไปได้กว้างขวางและอาณาจักรก็มีเอกภาพ และมีความมั่นคงมาก แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใดไม่ทรงพระปรีชาสามารถก็จะเกิดความวุ่นวายภายในพระราชอาณาเขตโดยรอบเพื่อต่อต้านอำนาจของส่วนกลาง หัวเมืองต่างๆในพระราชอาณาเขตอาจก่อกบฎและไม่ยอมขึ้นต่อเมืองหลวง และจากการปกครองแบบกินเมืองหรือการปกครองเมืองประเทศราชนั้นเป็นอำนาจสิทธิขาดของเจ้าเมือง โดยที่รัฐบาลกลางไม่สามารถดูแลควบคุมได้อย่างทั่วถึง การต่อต้านอำนาจของรัฐบาลกลางจากหัวเมืองชั้นนอกจึงเกิดขึ้นเป็นประจำในระบบการปกครองของไทยแบบดั้งเดิม
ระบอบการเมืองการปกครองแบบเดิมนั้นไม่สามารถสร้างเอกภาพของชาติได้ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นขาดเสถียรภาพไม่มีหลักประกันหรือเกณฑ์ในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง จึงมีการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นเสมอ และบางยุคบางสมัย พระมหากษัตริย์นั้นไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง อำนาจของพระมหากษัตริย์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ คือ พวกขุนนางชั้นสูง ทำให้กลุ่มขุนนางกลุ่มมีอำนาจและอิทธิพลมาก เช่น อำนาจและอิทธิพลของขุนนางตระกูลบุนนาค ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทำให้รัชกาลที่ 5 ขาดพระราชอำนาจในทางการปกครองบ้านเมืองในระยะแรก (พ.ศ.2411-พ.ศ.2416)  ดังพระราชหัตถเลขาตอบความเห็นของผู้ที่ต้องการให้เปลี่ยนการปกครองใน พ.ศ.2427 ความว่า …การแต่เดิมๆ มานั้น การเอกเสกคิวตีฟ (Excentive)  กับลิยิสเลตีฟ (Legislative) รวมอยู่ในเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีโดยมาก แต่ครั้นมาเมื่อริเยนซี (Regency)  ในตอนต้นอำนาจนั้นก็อยู่แก่ริเยนต์และเสนาบดีทั้งสองอย่าง…
พระบรมราชโองการแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการ

…สถาปนาให้มีอำนาจสิทธิขาดในราชการทั้งปวงให้สำเร็จสรรพอาญาสิทธิถึงประหารชีวิต คนที่ควรถึงแก่อุกฤษฎีโทษได้ มีมหันตเดชานุภาพยิ่งใหญ่ไม่มีผู้เสมอเป็นอรรคมหาประธานาธิบดีในการทำนุบำรุงศิริราชสมบัติและสกลราชอาณาจักรทั้งสิ้น พระราชทานให้ดำรงศักดินา 30,000 ใหญ่กว่าเสนาบดี และจตุสดมภ์สามเท่า ทรงดวงตรามหาสุริยมณฑล เป็นสำคัญ…
การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5
ไทยสมัยก่อนการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปกครองแบบจารีตที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา ทำให้การเมืองการปกครองอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์และขุนนางบางตระกูล และสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีอำนาจทางการเมืองการปกครองที่ไม่มั่นคง ต้องอาศัยฐานกำลังสนับสนุนจากกลุ่มขุนนางอาวุโสที่มีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองสูง ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชดำริต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่จะพบอุปสรรคสำคัญคือการต่อต้านของบรรดากลุ่มขุนนางชั้นสูง ซึ่งต้องการรักษาสถานภาพเดิมไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะจะทำให้เสียผลประโยชน์ และอำนาจที่เคยมี และจากการปกครองแบบจารีตที่ทำให้หัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราชมีอิสรภาพในการปกครองตนเอง รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากปัญหาทางการคมนาคมที่ไม่สะดวก และภายในกรุงเทพฯเองระบบบริหารราชการส่วนกลางไม่สามารถสร้างกลไกที่จะทำให้การควบคุมการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะการบริหารงานตามลักษณะการปกครองดั้งเดิมที่มีสมุหนายก สมุหกลาโหม และจตุสดมภ์ทั้ง 4 นั้น มีความสับสนซ้ำซ้อนของงานทำให้เกิดความล่าช้า ขาดการประสานงานที่ดี และไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้การคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกคือ อังกฤษและฝรั่งเศสที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรอินโดจีนทำให้สภาวะแวดล้อมทางการเมืองในดินแดนแถบนี้เปลี่ยนไป  อังกฤษ และฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองดินแดนใกล้เคียงประเทศไทยไปจนหมดสิ้น เหลือดินแดนของไทยอยู่กึ่งกลางทำให้ไทยต้องเผชิญปัญหาจากการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันตกมักอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดครองดินแดนในทวีปต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นภาระของคนผิวขาว(The White Man’s Burden) คือคนผิวขาวมีหน้าที่ที่จะทำให้คนผิวดำ ผิวเหลือง ผิวสีน้ำตาล มีความศิวิไลย์(ความจริงเป็นการอ้างเพื่อเข้ามากดขี่ขูดรีดชาวพื้นเมืองเท่านั้น) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และจากการที่ได้ทรงเรียนวิชาการต่างๆ จากชาวตะวันตก และได้เสด็จประพาสต่างประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทรงเห็นความเจริญการจัดระเบียบการปกครองประเทศแบบสมัยใหม่ และขนบธรรมเนียมที่ทันสมัยทำให้พระองค์ทรงมีพระราชดำริในการปฏิรูปประเทศเพื่อยกฐานะประเทศไทยให้มีความเจริญอย่างอารยประเทศเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ โดยทรงปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2435 โดยการแบ่งงานและตั้งเป็น 12 กระทรวง
การปฏิรูปเศรษฐกิจและการคลัง
การปฏิรูปประเทศนั้นเป็นกิจกรรมที่จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากแต่ท้องพระคลังข้างที่     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้ามารับผิดชอบนั้นมีไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ      เนื่องจากรายจ่ายของกรมพระคลังมหาสมบัตินั้นมีเพิ่มขึ้นทุกปี    ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจนต้องค้างชำระ และการจัดเก็บรายได้แผ่นดินที่กระจายอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงต่างๆ นั้น ทำให้รายได้แผ่นดินรั่วไหล เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานแสวงหาหนทางหักเงินรายได้จากระบบสิบลดไปเป็นประโยชน์ส่วนตนจนสามารถสร้างอำนาจและมีอิทธิพลทางการเมืองสูงได้ ซึ่งกลุ่มขุนนางในตระกูลบุนนาคก็ได้อาศัยระบบการจัดเก็บภาษีและการหักลดสิบของรายได้แผ่นดินนี้เพิ่มความมั่งคั่งและสะสมอำนาจทางการเมืองของตนมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จากสาเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะจัดระเบียบในการจัดเก็บรายได้ให้เป็นระบบเมื่อพระองค์ทรงมีอำนาจตามพระราชสิทธิ์เมื่อทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2416  ได้ทรงจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2416 เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากรตามกรมต่างๆ เพื่อทราบรายได้แผ่นดินในแต่ละปี   และจัดการแก้ปัญหาทีเดียวเนื่องจากการจัดเก็บโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ตรวจตราดูแลอย่างใกล้ชิด

การตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2416 เพื่อจัดวางหลักเกณฑ์ระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้เป็นระเบียบมีแบบแผน ควบคุมเจ้าภาษีนายอากร (เจ้าจำนวน) ให้จัดส่งเงินรายได้แผ่นดินให้ตรงตามกำหนดเวลา ถ้าผู้ใดละเมิดระเบียบแบบแผนการจัดส่งเงินภาษีอากรจะถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด เพราะรายได้ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวแต่เป็นผลประโยชน์ของรัฐ โดยทรงแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมีเป็นผู้รับผิดชอบโดยมีเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พระปิตุลา) เสนาบดีคลังเป็นที่ปรึกษา และพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงควบคุมใกล้ชิด ต่อมาตั้งกรมบัญชีกลาง (Royal Audit Office)  ทรงมอบหมายหน้าที่ให้พระอนุชาทั้ง 3 พระองค์ดูแล ได้แก่ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จฯ กรมพระสมมติอมรพันธ์   สมเด็จฯ กรมพระนเรศนโรปกรณ์ มีหน้าที่รวบรวมพระราชทรัพย์ที่เป็นรายได้ส่งพระคลัง
และการปฏิรูปการคลังได้ประสบผลสำเร็จมากขึ้นเมื่อมีการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) เพราะงานแรกของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน คือ  ตรวจสอบการชำระภาษีของเสนาบดีกรมนาในคดีพระยาอาหารบริรักษ์   และการออกกฎหมายพระราชบัญญัติต่างๆ   เช่น  พระราชบัญญัติสำหรับพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ. 2418    เพื่อกำหนดธรรมเนียมการรับเงิน  และการจ่ายเงินของเสนาบดีให้เจ้าพนักงานเร่งรัดการจัดเก็บส่งเงินรายได้จากเจ้าภาษีอากร ให้แจ้งเสร็จภายใน 15 วัน ถ้ามีเหตุขัดข้องต้องมีรายงานแจ้งให้ทราบ   เพื่อจัดทำงบประมาณรายวันรายจ่ายที่สมดุลในแต่ละเดือน
การตราพระราชบัญญัติงบประมาณ
แต่เดิมการคลังนั้นไม่มีการแยกเก็บทรัพย์สินว่าเงินส่วนใดเป็นของรัฐ  เงินส่วนใดเป็นของพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของเงินทั้งหมดในท้องพระคลังสิบสองท้องพระคลังและทรงเป็นผู้มีสิทธิในการบริหารตามพระราชอัธยาศัย
รายจ่ายหลักของแผ่นดินก่อนการปฏิรูปการคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย
1.  รายจ่ายในการทะนุบำรุงศาสนาประมาณร้อยละ 4-8 ของรายได้
2.  รายจ่ายเบี้ยหวัดเงินปีแก่เจ้านายและข้าราชการร้อยละ 15-30 ของรายได้
3. รายจ่ายในการดูแลบำรุงรักษาพระราชนิเวศน์ และการพระราชพิธีต่างๆ ร้อยละ 15-30 ของรายได้
4.   รายจ่ายเพื่อการป้องกันรักษาประเทศประมาณร้อยละ 16 ของรายได้
การบริหารราชการแผ่นดินตามแบบสมัยใหม่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัวนั้น สภาพแวดล้อมโดยรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และงบประมาณของรัฐได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  รายจ่ายก็เปลี่ยนไปตามภารกิจของรัฐ การจัดระเบียบทางด้านการคลังเป็นไปเพื่อการรักษาดุลยภาพของรายรับรายจ่ายเพื่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐ
การตราพระราชบัญญัติงบประมาณได้ประกาศใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2433 และใน พ.ศ.2434  ได้จัดทำงบประมาณขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้การจัดสรรเงินให้แก่หน่วยงานกระทรวงต่างๆ เป็นสัดส่วนสำคัญคือ
1.   ทำบัญชีงบประมาณล่วงหน้า
2.   ให้คาดคะเนจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายในปีที่ล่วงผ่านมา
3. ให้ทำรายงานชี้แจงภาวะการเพิ่มหรือลดลงของรายได้ภาษีอากรทุกชนิดจะได้คาดคะเนประมาณการรายรับรายจ่ายได้
4.   ให้ทำประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าของกรมต่างๆ (ปัจจุบันยังทำอยู่)
การจัดทำงบประมาณนั้นเป็นการกำหนดรายจ่ายไม่ให้เกินจำนวนของเงินรายได้เพื่อรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของฐานะทางการคลัง   ใน พ.ศ. 2444  รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก  ซึ่งเป็นการแสดงถึงการทำงานอย่างเป็นระบบของการคลัง การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ได้มีการแยกรายจ่ายส่วนพระองค์ออกจากรายจ่ายของแผ่นดิน  และใน พ.ศ.2441     ได้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของประเทศ    และมอบให้พระคลังข้างที่ดูแล บริหารพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ประมาณ 19.7 ของรายได้ และประมาณ 23.6 ของเงินรายจ่ายในงบประมาณปกติ
สรุปการปฏิรูปเศรษฐกิจการคลังจากการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ การจัดระเบียบการคลัง และการตราพระราชบัญญัติงบประมาณ ทำให้สามารถเก็บรวบรวมรายได้แผ่นดินจากหน่วยงานต่างๆ ที่แยกกันจัดเก็บ จัดส่งเก็บรวบรวมไว้ที่เดียวคือที่พระคลังมหาสมบัติเพื่อนำไปจัดสรรยังส่วนราชการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างมีทิศทางตามแผนการที่วางไว้ เพราะการตราพระราชบัญญัติงบประมาณทำให้ทราบว่าในแต่ละด้านของการพัฒนานั้นต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายเท่าไร มีเพียงพอหรือไม่ และการใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่ากัน ซึ่งเป็นระบบการบริหารแบบใหม่ตามแบบสากลนิยม และทำให้ขุนนางและเจ้านายถูกลดอำนาจและบทบาทลงเหลือเพียงทำตามพระ-บรมราชโองการ ทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์มั่นคงมากขึ้น
การปฏิรูปทางสังคม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดที่จะยกระดับฐานะของชาวสยามให้มีความทัดเทียมกัน  ทรงมีพระราชดำริในการยกเลิกระบบทาส  ยกเลิกระบบไพร่ และทำการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มคุณภาพของคน ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่าอารยประเทศ  นอกจากนี้การพัฒนาส่งเสริมการคมนาคมก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำควบคู่กันไปกับการพัฒนาด้านต่างๆ ด้วย

การยกเลิกระบบทาส
ในระบบศักดินาที่ไทยใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ชนชั้นที่ต่ำที่สุดของสังคม คือ ทาส  ซึ่งเป็นชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำเนินชีวิต ต้องทำตามคำสั่ง ดูแลมูลนาย โดยมีศักดินาต่ำสุด คือ 5 ไร่
ความสัมพันธ์ระหว่างนายเงินกับทาสตามกฎหมายลักษณะทาส นายเงินมีอำนาจเด็ดขาดเหนือทาสของตน คือ นายเงินมีสิทธิลงโทษ จำตรวน ใส่ขื่อ คา เฆี่ยนตีได้ แต่ห้ามไม่ให้ถึงตาย  สามารถส่งทาสไปรับโทษแทนนายเงินหรือรับโทษแทนบุตรภรรยาของนายเงินได้ ส่งทาสไปราชการ หรือไปราชการสงครามแทนตน นอกจากนั้นยังคงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของนายเงินไม่ให้ชำรุดสูญหาย ถ้าชำรุดสูญหายทาสต้องชดใช้จนเต็มราคาแก่นายเงิน และเมื่อนายเงินไม่สามารถเลี้ยงดูทาสได้ สามารถขายหรือขับทาสได้
การที่ทาสจะหลุดพ้นจากความเป็นทาสนั้นสามารถทำได้โดยอนุญาตให้ทาสบวชในศาสนา  ถึงแม้ว่าลาสิกขาแล้วก็ไม่ต้องกลับมาเป็นทาสอีก เมื่อนายเงินใช้ให้ทาสไปราชการสงคราม ถ้าถูกจับเป็นเชลยแล้วหลุดมาได้ถือว่าเป็นอิสระ และถ้าทาสฟ้องนายเงินเป็นกบฏ และสอบสวนได้ความว่าเป็นจริงให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส เมื่อทาสได้เป็นภรรยาของนายเงินและญาติของนายเงินให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสรวมทั้งลูกที่เกิดมา สุดท้ายหลุดจากการเป็นทาสโดยการนำเงินมาไถ่ถอน
การเป็นทาสมีฐานะต่ำที่สุดในสังคมไทย และกฎหมายได้ให้อำนาจแก่นายเงินในการใช้ทาสเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การมีทาสจึงเป็นผลประโยชน์แก่นายเงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นขุนนาง  โอกาสที่จะหลุดพ้นจากความเป็นทาสนั้นมีน้อยมาก จะเห็นได้ว่าทาสเป็นโครงสร้างทางสังคม  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ แต่การมีทาสเป็นสิ่งล้าสมัยและขัดต่อความเจริญของบ้านเมือง การเลิกทาสตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 จึงเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน
การยกเลิกระบบไพร่
ระบบไพร่ คือ การควบคุมกำลังคนโดยการเกณฑ์แรงงานจากราษฎร โดยรัฐไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่ไพร่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเป็นการตอบแทน
โครงสร้างของสังคมของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะประกอบด้วย ชนชั้นปกครอง เจ้านาย ขุนนาง ชนชั้นถูกปกครอง ได้แก่ ไพร่ ทาส  ซึ่งชนชั้นเหล่านี้ไม่มีความคงทนถาวร  สามารถเลื่อนชนชั้นหรือลดชนชั้นได้ โดยการทำความดีความชอบให้แก่รัฐ  และในขณะเดียวกันถ้าประพฤติผิดมีโทษต่อแผ่นดินก็จะทำให้ลดชนชั้น
ทางสังคมได้  ไพร่ เป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดในสังคมและเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสังคม ไพร่ คือ สามัญชนที่มีเสรีภาพมาแต่กำเนิด แต่ถูกกำหนดให้ต้องสังกัดมูลนายและถูกเกณฑ์แรงงาน เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องอาศัยกำลังคนทั้งในด้านการผลิต การป้องกัน และการขยายตัวของราชอาณาจักร การจัดระเบียบทางสังคมและการจัดระเบียบทางการเมืองขึ้นอยู่กับการควบคุมกำลังจำนวนไพร่ และจากระบบศักดินามีการกำหนดให้ไพร่อยู่ภายใต้การควบคุมของมูลนายทำให้ประชาชนถูกแบ่งกลุ่ม คล้ายกองกำลังทหารซึ่งมีมูลนายเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์  การกำหนดแบ่งกลุ่มนั้นกำหนดตามครัวเรือน ในแต่ละกรมจะไม่กำหนดจำนวนไพร่ว่าต้องมากหรือน้อย แต่ต้องไม่เกินจำนวนตามศักดินาและต้องดูแลไม่ให้จำนวนไพร่ลดน้อยหรือน้อยลงหรือหนีหายไปในแต่ละกรมจะมีเจ้ากรมเป็นผู้บังคับบัญชาควบคุมดูแลไพร่ เช่น  ปลัดกรมเป็นผู้ช่วย ปลัดศาล สมุห์บัญชี  สัสดี เสมียนตรา นายกอง เวลามีศึกสงครามนายกองจะเป็นผู้ระดมไพร่พลเข้าประจำการส่งไปราชการ
ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนมีการระบุถึงไพร่หญิงที่เป็นไพร่ราบหรือหญิงตักน้ำ    หญิงหามวอ เพราะส่วนใหญ่จะกล่าวถึงแต่ไพร่ชาย  แต่ตามหลักฐานยังคงมีไพร่หญิงด้วย ได้แก่
1)     ไพร่หญิงทำงานในเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งเป็นเขตต้องห้ามสำหรับผู้ชาย    ตำแหน่งหญิงตักน้ำ  หญิงหามวอ  กับหญิงไพร่ราบทำงานหนักอยู่ฝ่ายในซึ่งผลัดเปลี่ยนกันมารับราชการ
2)  ไพร่หญิงขึ้นสังกัดกรมกองบางกรมที่ขึ้นต่อพระบรมมหาราชวังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง      กรมช่างฝีมือต่างๆ ที่ต้องการความประณีต  เช่น  ห้องเครื่อง  โขลน โปลิศ  วิเลศนอก  วิเลศใน  พิณพาทย์  ช่างเย็บ  ช่างย้อม  ช่างบาตร  ช่างเขียน  โรงไหม  โรงทาน  โรงสลึง  โรงสี  บางหน่วยงานไพร่หญิงต้องทำงานร่วมกับไพร่ชาย  ถ้าไม่สามารถมาเข้าเดือนได้ต้องเสียค่าจ้างคนมาทำงานแทน
3)      ไพร่ส่วย  ไพร่หญิงจะเสียน้อยกว่าไพร่ชาย
4)     เลกวัด   คือ คนที่ถูกถวายให้ทำงานคอยดูแลอารามและพระสงฆ์ รับใช้ในกิจการของวัดตลอดชีวิตและสืบต่อถึงลูกหลานโดยไม่จบสิ้น
ลักษณะการควบคุมของระบบไพร่
ลักษณะการควบคุมของระบบไพร่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการปฏิรูปประเทศเป็นการปกครองราษฎรโดยผ่านมูลนาย  เมื่อไพร่อายุได้ 9 ขวบ จะถูกขึ้นบัญชีทะเบียนหางว่าวในกรมฝ่ายบิดา เมื่ออายุฉกรรจ์ คือ มีความสูงเสมอไหล่ 2 ศอกครึ่ง  ก็จะต้องนำมาสัก
แขนว่าขึ้นสังกัดกรมใด หมู่ใด โดยเสียเงินค่าสักด้วย  ทำให้การสักนั้นเปิดโอกาสให้มูลนายฉ้อราษฎร์บังหลวงมากมาย  ถ้าต้องการทำงานเบาๆ หรือสักเบาๆ ไม่เจ็บ และการปลอมสักแจ้งบัญชีไพร่ในสังกัดไม่ครบ  ก็ต้องหาเงินมาจ่ายให้มูลนายกรมการและช่างสัก นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสื่อมของระบบไพร่
การเกณฑ์แรงงานและสิ่งของเปิดโอกาสให้เกิดการประจบเอาใจ    นำสิ่งของมาให้มูลนาย ถ้ามูลนายพอใจก็จะทำให้ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานหรือสิ่งของ  แต่ถ้าไพร่คนใดที่ไม่เอาใจมูลนายก็จะถูกกลั่นแกล้งให้ทำงานหนักไม่มีเวลาพักได้ นับเป็นการขูดรีดตามระบบซึ่งทำให้ไพร่ได้รับความลำบาก จนต้องหนีออกจากระบบด้วยวิธีการต่างๆ
1)  หนีไปซ่อนตามป่า  โดยหนีไปทั้งครอบครัว
2)  การออกบวช  เพื่อทำให้หลุดจากระบบไพร่ได้ชั่วคราว ไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน ไม่ต้องจ่ายค่าราชการ
3)  การติดสินบนมูลนาย เพื่อไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน  บางครั้งมูลนายทำโดยไพร่ไม่รู้เห็นด้วย แล้วไปเรียกเก็บเงินส่วยจากไพร่ และไม่นำส่งราชการแต่เก็บไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตน
4)   การเข้าไปแอบแฝงในบ้านหรือวังของผู้มีอำนาจช่วยปกปิดตัวไพร่จากรัฐ
5) การจ้างคนอื่นไปรับราชการแทนตนหรือติดสินบนให้มูลนายเกณฑ์ไพร่คนอื่น         ไปรับราชการแทนตน
6)   การขายตัวเป็นทาสทำให้หลุดจากการเกณฑ์แรงงาน
7)   การปลอมสัก เพราะราชการตรวจสอบได้ยาก
8)   การสักอยู่กับหมู่กรมอื่น กระทำได้ต่อเมื่อมูลนายรับรู้และยินยอม
ปัญหาการหลบหนีของไพร่มีมาทุกยุคทุกสมัยแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของการควบคุมคนในระบบไพร่
ปัญหาความเสื่อมของระบบไพร่
ไพร่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ  เพราะเป็นหน่วยการผลิตของสังคมที่สำคัญ แต่การเกณฑ์แรงงานเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของไพร่ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการทำสนธิสัญญาบาวริง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเพื่อยังชีพ เป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้า ทำให้ไพร่ยอมเสียเงินค่าราชการเพื่อที่ตนเองจะได้สร้างงานก่อให้เกิดรายได้ของตนเอง     การจ้างงานจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนการเกณฑ์แรงงาน ทำให้ลักษณะการผลิตในสังคมไทยเปลี่ยนไป   อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันเสริมให้เกิดการยกเลิกระบบไพร่    คือความขัดแย้งภายในระบบอันสืบเนื่องมาจากลักษณะการกดขี่ของระบบไพร่ที่มูลนายเรียกร้องเอาแรงงานส่วนเกินจากไพร่ในรูปเกณฑ์แรงงาน  และผลผลิตส่วยอากรที่ไม่เสมอภาคกัน
สรุปการยกเลิกระบบไพร่ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการควบคุมกำลังคนได้อย่างเต็มที่และมีแรงงานอิสระในการผลิตของระบบเกษตรกรรมได้มากเพิ่มขึ้น การควบคุมกำลังคนไม่ใช่สัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจ และความมั่งคั่ง การยกเลิกระบบไพร่ทำให้พันธะต่อทางราชการ เช่น การเกณฑ์ทหาร การเสียเงินค่าราชการเป็นภาระของผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และการเกณฑ์แรงงานก็ไม่เป็นภาระที่หนักเหมือนเก่าเพราะได้รับค่าตอบแทนในรูปของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พัก และไพร่สม ไพร่หลวง ไพร่ส่วย ในอดีตที่มีความไม่เท่าเทียมกันไม่ได้รับความยุติธรรม เมื่อประกาศพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 แล้วเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ๋ในแผ่นดิน ได้แก่ พวกไพร่ เกิดความรู้สึกไม่มีความแตกต่างกัน ต่างเกิดสำนึกในการเป็นพลเมืองไทยโดยเท่าเทียมกัน เกิดความสมัครสมานสามัคคีร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
การปฏิรูปการศึกษา
การศึกษาของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนการปฏิรูปการศึกษานั้นไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการจัดการศึกษา จึงเป็นการศึกษาแบบไม่เป็นธรรม และไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษามากนัก  เรียนพอให้อ่านออกเขียนได้ คำนวณเบื้องต้น สถานที่ให้การศึกษาในสมัยก่อน ได้แก่ วัด เป็นสถานที่อบรมวิชาความรู้แก่เด็กชาย บ้านจะอบรมวิชาความรู้การบ้านการเรือนให้แก่เด็กหญิง และส่วนใหญ่สอนตามแบบบรรพบุรุษที่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ ในแต่ละสาขา เช่น  วิชาช่างต่างๆ ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะไม่เผยแพร่วิชาความรู้ของครอบครัวให้แพร่หลาย มักเป็นความรู้แบบมรดกที่ตกทอดไปยังลูกหลานรุ่นต่อไป ลักษณะสำคัญของการศึกษาสมัยก่อนจะมีลักษณะหวงวิชาความรู้  และศิษย์ก็ไม่กล้าที่จะคิดให้ไกลกว่าครูสอน กลัวละเมิดและทำให้ผิดครู  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ความรู้ไม่เจริญ  แต่กลับทำให้ความรู้ลืมเลือนได้ง่าย  ประกอบกับไม่นิยมจดบันทึก  จึงทำให้การเรียนรู้ไม่เจริญก้าวหน้า  ส่วนเด็กหญิงนิยมเรียนเรื่องการบ้านการเรือนเมื่อมีอายุสมควรก็จะแต่งงานดูแลบ้านและครอบครัวของตนเท่านั้น
ผู้ที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเยาวชนในสมัยโบราณ ได้แก่ พระสงฆ์ และบรรพบุรุษที่มีความรู้ทางวิชาช่างในสาขาต่างๆ เพื่อประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่อบรมสั่งสอนถ่ายทอดโดยการฝึกฝนและปฏิบัติอยู่ในวงจำกัด ทำให้วิทยาการต่างๆ ของไทยจะอยู่ในวงแคบ
ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาได้ทวีความสำคัญมากเพิ่มขึ้น  แต่การขยายตัวทางการศึกษายังคงอยู่ในวงจำกัดเพียงจัดให้มีการศึกษาแก่บุตรหลานในกลุ่มชนชั้นปกครองเท่านั้น จากการที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีสายพระเนตรที่กว้างไกล และทรงขวนขวายศึกษาวิชาความรู้ ทำให้พระองค์ทรงเห็นประโยชน์จากการศึกษา พระองค์จึงทรงศึกษาด้วยตนเองและทรงศึกษาจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ จึงนับว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงศึกษาวิชาความรู้วิชาการต่างๆ ของชาติตะวันตก ทรงมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งทางด้าน ภาษาศาสตร์ (ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาละติน ภาษาอังกฤษ)  วิทยาศาสตร์  ดาราศาสตร์   วิชาช่าง ฯลฯ  จากการที่พระองค์ทรงตระหนักถึงประโยชน์ของการศึกษา จึงทรงจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ต้องทรงเผชิญกับการคุกคามของชาติตะวันตกที่จัดว่าเป็นชาติที่เจริญ และพัฒนาแล้ว ทำให้ไทยต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่พัฒนาขึ้นตลอดเวลา การปรับตัวของไทย คือ การที่ไทยต้องปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งการศึกษาจะทำให้ไทยสามารถปรับตัวเท่าเทียมอารยประเทศ จะได้รับการยอมรับจากอารยประเทศ
การเผยแพร่ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ ใน พ.ศ. 2371 มิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา และตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ ต่อมาใน พ.ศ. 2378  หมอบรัดเลย์ (Dr. D. Bradley)  นำเข้าแท่นพิมพ์ภาษาไทยจึงได้เริ่มมีการพิมพ์อย่างแพร่หลาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 บาทหลวงแมค ฟาร์แลนด์  (Reverend Samuel G. Mc Farland)  ได้เสนอเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นสถานที่จัดการศึกษาให้แก่เยาวชนหญิงชายของไทย พระยาภาสกรวงศ์ (พร) ได้นำเรื่องกราบบังคมทูลทรงทราบ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงทราบ พระองค์ทรงเห็นชอบด้วยในเดือนมกราคม  พ.ศ. 2421  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงเรียนสอนวิชาการตามแบบตะวันตกขึ้นที่วังนันทอุทยานโดยห้ามไม่ให้สอนศาสนา ให้สอนเฉพาะอ่าน เขียน คิดเลข และวิชาช่าง ได้  การจัดการศึกษาแบบใหม่ของไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก และได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากพวกมิชชันนารีความต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อเข้ารับราชการ เป็นผลมาจากการดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ  แต่เมื่อดำเนินงานไปปรากฏว่าขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินการให้ลุล่วงไปได้จึงทรงมีพระราชดำริในการปฏิรูปการศึกษา
จากที่กล่าวมาเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ไทยเริ่มจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป ให้มีระบบสอดคล้องกับภาวะโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งพัฒนาก่อให้เกิดแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามให้การต่อสู้กับการคุกคามของชาติตะวันตก เพื่อรักษาเอกราชของชาติ  และพัฒนาประเทศตามแบบสากล
สรุปการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้ช่วยให้ประชาชนไทยมีความเจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาความคิดความอ่านมากขึ้น เพราะคนไทยทุกคนจะต้องเรียนภาษาไทยรู้เรื่องความเป็นมาของคนไทย นำไปก่อให้เกิดความรักความผูกพันต่อกันในฐานะเป็นพวกเดียวกัน เกิดความสมัครสมานรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย ที่พูดภาษาไทยมีขนบธรรมเนียมเดียวกัน และนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ พัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า
การปฏิรูปการคมนาคม
การคมนาคมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของพระราชอาณาจักร และทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้า เนื่องจากทำให้ผลผลิตเดินทางไปสู่ตลาดได้สะดวกรวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและพ่อค้าทั้งการค้าภายในประเทศ และการค้ากับต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางรากฐานการคมนาคมเบื้องต้นไว้ กล่าวคือ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนแบบตะวันตกเพื่อการคมนาคม ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร  ถนนสีลม นอกจากการสร้างถนนแล้วยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลอง เพื่อการคมนาคมขนส่งด้วย  ได้แก่   คลองถนนตรง   คลองผดุงกรุงเกษม   คลองเจดีย์บูชา   คลองมหาสวัสดิ์  คลองภาษีเจริญ  คลองดำเนินสะดวก  คลองบางลี่  ซึ่งนอกจากได้ประโยชน์ทางการคมนาคมแล้วประชาชนยังได้ประโยชน์จากการชลประทานนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร  และยังทรงสนับสนุนให้ต่อเรือกลไฟ และเริ่มการวางรากฐานทางไปรษณีย์โทรเลขเพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างปากน้ำ-กรุงเทพฯ ขึ้นใน พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอนุญาตให้วางสายโทรเลขจากเมืองย่างกุ้งในประเทศพม่าผ่านไทยไปยังสิงคโปร์โดยมีสายแยกมากรุงเทพฯการที่ทรงอนุญาตในครั้งนี้นับว่าเป็นประโยชน์จากการได้ร่วมใช้บริการ การจ้างงาน เป็นประโยชน์ต่อการค้าขาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำโทรศัพท์เข้ามาเปิดใช้ระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2424 โดยให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการ และจัดตั้งกรมไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นใน พ.ศ. 2426  ภายใต้ความช่วยเหลือจากประเทศเยอรมัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ คือ
1. ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลักโดยโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งผลผลิตข้าวจากแหล่งผลิตสู่เมืองท่า เพื่อการค้าต่างประเทศ  เช่น  คลองเปรมประชากร   คลองประเวศบุรีรมย์ คลองนครเฟื่องเขตร  คลองทวีวัฒนา  และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้เอกชนขุดคลองเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตรแถบปทุมธานี และรังสิต โดยบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม นอกจากการเพิ่มพื้นที่ในการผลิตข้าวและยังเป็นการทำระบบชลประทานเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต นับเป็นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเกษตรกรรม
2. ได้มีการพัฒนาการคมนาคมให้เจริญก้าวหน้าสามารถเดินทางติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองได้สะดวกโดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ ซึ่งสร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของพระราชอาณาจักร  และจุดประสงค์รอง คือ เพื่อการขยายตัวส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ โดยการว่าจ้างวิศวกรชาวเยอรมัน คือ นายแฮร์ เบทเก เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟเป็นคนแรก ดังปรากฎในประกาศสร้างทางรถไฟสยามตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ร.ศ. 109 ความว่า

… ทรงพระราชดำริเห็นว่า การสร้างทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกลเปนเหตุให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองได้เปนอย่างสำคัญอันหนึ่ง เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกล ไปมากันยากให้กลับเปนหัวเมืองใกล้ ไปมาถึงกันได้โดยสะดวกเร็วพลัน การย้ายขนสินค้าไปมาเปนการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เมื่อเปนดังนี้หัวเมืองใดซึ่งที่ดินอุดมดีแต่สินค้ายังไม่บริบูรณ์ เพราะขัดสนทางไปมายาก ไม่สามารถที่จะย้ายสินค้าที่บังเกิดขึ้นไปค้าขาย แลกเปลี่ยนกันกับหัวเมืองอื่นได้ ก็คงมีผู้อุตสาหคิดสร้างทำเลเพาะปลูกส่งสินค้านั้นให้มากยิ่งขึ้น  เปนการเปิดโอกาสให้อาณาประชาราษฎรมีที่ตั้งการทำมาหากินกว้างขวางออกไป แล้วนำทรัพย์สมบัติกรุงสยามให้มากยิ่งขึ้นด้วย …

การสร้างทางรถไฟที่สร้างมีเหตุผลสำคัญดังนี้
1)  เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา  สร้างขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการ
เมืองของประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสเข้ามายังมณฑลอีสานของไทยทำให้เมืองหลวงติดต่อสื่อสารกับทางหัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  ได้ผลดีทางการปกครอง นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นผลดีทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้เกิดความสะดวกในการขนส่งผลผลิตสินค้าเข้ามายังกรุงเทพฯ
2)  เส้นทางรถไฟสายเหนือ  เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเมือง กระชับการปกครองใน
มณฑลพายัพ เพื่อป้องกันการแทรกแซงและการขยายอิทธิพล ของอังกฤษและฝรั่งเศสที่เข้ามาในหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยกรมรถไฟที่มีชาวเยอรมันเป็นเจ้ากรมและเป็นวิศวกร เพื่อสกัดกั้นการเข้ามาขอสัมปทานของอังกฤษซึ่งพยายามใช้อิทธิพลบีบบังคับไทยอยู่เมื่อไทยเริ่มโครงการทางรถไฟสายเหนือขึ้นนั้นทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสไม่พอใจ แต่ต่อมารัฐบาลไทยประสบปัญหาทางด้านทุน ทำให้การก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือหยุดชะงัก สร้างไปได้ถึงตำบลแม่พวก จังหวัดแพร่เท่านั้น และกลับไปสร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้นแทนด้วยเหตุผลทางการเมือง
3)  เส้นทางรถไฟสายใต้  ด้วยเหตุผลทางการเมืองการปกครอง เพื่อป้องกันการแทรก
แซงจากการขยายอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้กรุงเทพฯ ดูแลปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีเจ้ากรมและวิศวกรเป็นชาวเยอรมัน ทำให้อังกฤษคัดค้านและต่อต้าน จนที่สุดต้องมีการเจรจาตกลงทางการทูต ในปี พ.ศ. 2443-พ.ศ. 2452 โดยอังกฤษยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับหัวเมืองประเทศราชทางใต้ จนในที่สุดไทยต้องยอมให้วิศวกรชาวอังกฤษเข้ามาทำหน้าที่แทนวิศวกรชาวเยอรมันควบคุมการสร้างเส้นทางรถไฟสายใต้แทน
เส้นทางรถไฟเพื่อการคมนาคม และเศรษฐกิจ ได้แก่
1)  เส้นทางรถไฟสาย  กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ
2)  เส้นทางรถไฟสาย  กรุงเทพฯ-พระพุทธบาท
3)  เส้นทางรถไฟสาย  กรุงเทพฯ-มหาชัย (ท่าจีน-แม่กลอง)
4)  เส้นทางรถไฟสาย  กรุงเทพฯ-บางพระ
5)  เส้นทางรถไฟสาย  กรุงเทพฯ-แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา)
3.  ได้มีการสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจการค้าขายคล่องตัว  ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และเป็นการแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทันสมัย  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลและเอกชนสร้างถนนเพื่อเพิ่มผลทางเศรษฐกิจ  ได้แก่   ถนนยุพราช  (เยาวราช)   ถนนราชวงศ์   ถนนจักรวรรดิ   ถนนอนุวงศ์  ถนนบูรพา  และสร้างถนนเพื่อความสง่างามของบ้านเมือง ได้แก่ ถนนราชดำเนิน ถนนสามเสน  ทำให้ถนนกลายเป็นเส้นทางคมนาคม  ดึงประชาชนเข้ามาตั้งบ้านเรือนริมถนนเพื่อการค้าแทนการตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำตามเดิม ทำให้ที่ดินเริ่มมีราคาแพงขึ้น
การปฏิรูปทางการเมืองการปกครอง
การปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-พ.ศ. 2453)  นับเป็นช่วงประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่สำคัญมากเพราะเป็นสมัยแห่งการปฎิรูปครั้งใหญ่ที่เรียกว่าเป็น “การพลิกแผ่นดิน” (Revolution) พระ-บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงดำเนินนโยบายการปฏิรูปบ้านเมืองเป็น 2 ระยะ  ระยะแรกระหว่าง พ.ศ. 2416-พ.ศ. 2418  ระยะที่ 2  ระหว่าง พ.ศ. 2435-พ.ศ. 2453
3.1  การปฏิรูปการเมืองการปกครองในระยะแรก  (พ.ศ. 2416-พ.ศ. 2418)
การปฏิรูปการเมืองการปกครองระยะแรก  (พ.ศ. 2416-พ.ศ. 2418)   เป็นการดึงอำนาจจากขุนนางมาสู่พระมหากษัตริย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ในการบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 16  พฤศจิกายน พ.ศ. 2416   ใน พ.ศ.2417 พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council)  ดังนี้
1.  สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  (Council of State)  ขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417  มีสมาชิก 11 คน  โดยมีพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธาน คือ
1.  พระยาราชสุภาวดี  (เพ็ง  เพ็ญกุล)  เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง
2.  พระยาศรีพิพัฒน์  (แพ  บุนนาค)  โกษาธิบดี
3.  พระยาราชวรานุกูล  (รอด  กัลยาณมิตร)  ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย
4.  พระยากสาปณ์กิจโกศล  (โหมด  อมาตยกุล)
5.  พระยาภาสกรวงศ์  (พร  บุนนาค)
6.  พระยามหาอำมาตย์  (ชื่น  กัลยาณมิตร)  เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ
7.  พระยาอภัยธณฤทธิ์  (แย้ม  บุญยรัตพันธุ์)  จางวางพระตำรวจซ้าย
8.  พระยาราไชย  (จำเริญ  บุรณศิริ)
9.  พระยาพิพิธโภไคย  (ทองคำ  สุวรรณทัต)
10. พระยาเจริญราชไมตรี  (ตาด  อมาตยกุล)
11. พระยาราชโยธา  (ทองอยู่  ภูมิรัตน์)
สมาชิกของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่มีแต่ขุนนางชั้นพระยาเป็นคนหนุ่มที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน และเป็นผู้ที่คุมกำลังคนของประเทศ  จุดประสงค์ของการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทำงานด้วยความสุจริตและยุติธรรม  สามารถขัดขวางการทำงานของพระมหากษัตริย์และข้าราชการได้ถ้าไม่ถูกต้องภายใต้พระมหากษัตริย์  เป็นการดึงอำนาจกลับคืนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ที่เป็นกลุ่มขุนนางเก่า คืนสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ เน้นการดำเนินงานทางด้านนิติบัญญัติคานอำนาจบริหาร (Executive) ควบคุมการทำงานของหน่วยงานต่างๆ บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งล้วนแล้วเป็นที่ไว้วางพระทัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบตามแบบสมัยใหม่  เตรียมกำลังคนเพื่อการปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองแทนที่ขุนนางรุ่นเก่าที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและอยู่ภายใต้อำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน จะหมดภาระหน้าที่เมื่อสิ้นสุดรัชกาลไปแล้ว 6 เดือน
เสนาบดีชุดเก่า
1.  สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์  เป็นประธานของเสนาบดี
2.  เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์  (วร  บุนนาค)  สมุหกลาโหม
3.  เจ้าพระยาภูธราภัย  (นุช  บุญยรัตพันธุ์)  สมุหนายก
4.  เจ้าพระยายมราช  (เฉย  ยมาภัย)  กรมเมือง
5.  เจ้าพระยาธรรมาชิกรณ์ธิบดี  (มั่ง)  กรมวัง
6.  เจ้าพระยาภานุวงศ์  (ท้วม  บุนนาค)  กรมพระคลัง
7.  พระยาอาหารบริรักษ์  (นุช  บุญ-หลง)  กรมนา
เสนาบดีชุดเก่าส่วนใหญ่อาวุโสมีอายุมาก 50-66 ปี  เมื่อชราทำงานไม่คล่องตัว  รัชกาลที่ 5 จึงให้สภาที่ปรึกษาแทรกตัวลงไปทำงานแทน นับเป็นความพยายามของพระมหากษัตริย์ในการดึงอำนาจกลับคืนสู่สถาบันพระมหากษัตริย์  พระองค์ทรงดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปจนประสบผลสำเร็จ

2. สภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council)  เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2417  มีวัตถุประสงค์เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกิจการ     การบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า สมาชิกมีทั้งหมด 49 คน จากเดิมที่ก่อตั้งกำหนดให้มีจำนวน 53 คน  เพราะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์  ไม่รับเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์  โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปฏิเสธในการที่ต้องสาบานตน เพราะท่านเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินอยู่แล้วให้การปรึกษาในด้านต่างๆ ให้กับพระมหากษัตริย์ และเคยบริหารประเทศว่าราชการแผ่นดินมาก่อนแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ซึ่งเป็นเสมือนการลดอำนาจอิทธิพลลงจากเดิม และการดื่มน้ำสาบานนั้นเป็นการจำกัดอำนาจและอิทธิพลให้อยู่ภายใต้อำนาจของพระมหากษัตริย์ เมื่อไม่รับเป็นสมาชิกทำให้สภาพของท่านยังคงเดิมในการให้คำปรึกษาพระมหากษัตริย์ได้ดังเดิม เพราะการถือน้ำสาบานตนต้องสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ทั้งกาย วาจา ใจ ถ้าผิดคำสาบาน จะไม่ถือว่าเป็นมนุษย์เลยทีเดียว การตั้งสภาทั้งสองนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปประเทศตามแบบตะวันตกแต่การทำงานของสภานั้นต้องล้มเลิกไปหลังจากตั้งขึ้นไม่นาน เพราะสมาชิกเข้าใจว่าเป็นการจำกัดอำนาจของเสนาบดี และเวลาประชุมอภิปราย สมาชิกไม่ค่อยพูดอภิปราย นั่งนิ่ง มีความคิดว่าเป็นของแปลกใหม่ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่ถึงกระนั้นงานที่สำเร็จและเป็นคุณแก่แผ่นดินก็ยังคงมีอยู่บ้าง เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ การตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ตราพระราชบัญญัติพระคลังมหาสมบัติ  และปฏิรูปทางด้านตุลาการ
-  พระราชบัญญัติตระลาการศาลรับสั่ง พ.ศ.2417 เป็นระบบศาลเดียวที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศจัดตั้งศาลรับสั่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนของสังคมไทย ประกอบไปด้วยสมาชิกจากสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีหน้าที่พิจารณาคดีความของกรมพระนครบาล มหาดไทย กลาโหม กรมท่า ให้เป็นระบบโดยเน้นความเที่ยงตรงยุติธรรม ซึ่งการดำเนินงานของศาลรับสั่งนี้สามารถสะสางคดีความตามกระทรวงต่างๆ ลงได้ เช่น คดีพระยาอาหารบริรักษ์ คดีพระปรีชากลการ เป็นต้น  เป็นการขจัดปัญหาการทุจริตในหน้าที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง
-  พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท วันที่ 21 สิงหาคม 2417 เพื่อปลดปล่อยทาสบางประเภทให้เป็นอิสระ 
ในระยะแรกของการปฏิรูปนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)  และสภาที่ปรึกษาในพระองค์  (Privy Council)  เป็นความพยายามที่จะสร้างสถาบันทางการเมืองเพื่อเป็นฐานอำนาจสนับสนุนในการต่อสู้กับอำนาจของขุนนาง  เพื่อดึงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินกลับสู่สถาบันพระมหากษัตริย์  เป็นการแสดงถึงพระปรีชาสามารถอย่างสุขุมของพระองค์  ด้วยไม่ทรงประสงค์ที่จะแสดงพระองค์เป็นศัตรูทางการเมืองอย่างเปิดเผยกับกลุ่มขุนนางที่มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นหัวหน้า ซึ่งทำให้เป็นผลดีต่อสัมพันธภาพระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกลุ่มการเมืองต่างๆ นั้นไม่อยู่ในภาวะตึงเครียดจนเกินไป ทำให้ทรงวางรากฐานทางกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้พระองค์
ใน พ.ศ. 2427 (ร.ศ.103)  ได้มีกลุ่มเจ้านายและขุนนาง กลุ่มแรกที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกในยุโรปและอังกฤษ ได้เข้าชื่อกันกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศตามแบบอย่างของการปกครองในยุโรปที่ถือว่าอำนาจในการปกครองควรเป็นของทุกคน เพื่อสร้างความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมืองไม่ใช่เป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียว ซึ่งเป็นการท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยที่บุคคลกลุ่มนี้มีความห่วงใยชาติบ้านเมือง แต่ทรงชี้แจงโดยทรงมีพระราชดำรัสตอบความเห็นของกลุ่ม ร.ศ. 103 ความว่า

…คือราชการในเมืองเรานี้ ถ้าจะเทียบกับประเทศอื่นๆ การแต่เดิมๆ มานั้นการเอกเสกคิวตีฟกับลินิสเลตีฟ รวมอยู่ในเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีโดยมาก แต่ครั้งมาเมื่อริเยนซีในตอนต้น  อำนาจนั้นก็อยู่แก่ริเยนต์ และเสนาบดีทั้งสองอย่างครั้นภายหลังเมื่อเราค่อยมีอำนาจขึ้น       ตำแหน่งเอกคิวตีฟนั้นเป็นที่หวงแหนของริเยนต์และเสนาบดี  แต่ลิยิสเลตีฟนั้นหาใคร่จะมีผู้ใดชอบใจไม่ เราจึงได้จับอุดหนุนการลิยิสสเลตีฟขึ้น  จนมีถึงเคาน์ซิลที่ปรึกษาทำกฎหมายเนืองๆ  เป็นต้น  จนตกลงเป็นเสนาบดีเป็นคอเวอนเมนต์     เรากลายเป็นหัวหน้าของพวกลิยิสเลตีฟเคาน์ซิล  เป็นออปโปลิชั่น  ของคอเวอนเมต์ตรงเมื่อการภายหลังมามีเหตุการณ์ในคอเวอนเมนต์มากขึ้นเป็นโอกาสที่เราจะได้แทรกมือลงไปได้บ่อยๆ  เราจึงได้ถืออำนาจเอาเอกเสกคิวตีฟได้ทีละน้อยละน้อย  จนภายหลังตามลำดับมาจนกระทั่งถึงบัดนี้เรากลายเป็นคอเวอนเมนต์…

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชี้แจงถึงเหตุที่เป็นอยู่และสิ่งที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าควรเปลี่ยนแปลงก่อนคือการปฏิรูปรัฐบาล (Government Reform) แต่ที่ยังไม่ทรงเร่งดำเนินการเป็นเพราะปัญหาทางการเมืองทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งในความเป็นจริงกลุ่ม ร.ศ. 103 ก็ตระหนักถึงความไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตยของไทยในขณะนั้นได้ดี กลุ่ม ร.ศ. 103 ยื่นข้อแสดงความคิดเห็นดังนี้
 1. เสนอให้มีการปกครองแบบกระจายอำนาจสู่คณะบริหารโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ประธาน ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารหรือกำหนดนโยบายต่างๆ เพียงลำพัง คณะผู้บริหารนั้นมีอำนาจกำหนดนโยบายร่วมด้วย และสามารถดำเนินการรับผิดชอบตามนโยบายนั้นโดยที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเข้าไปแทรกแซง พระมหากษัตริย์จะเป็นเพียงผู้ควบคุมตรวจตรา และจัดการแก้ไขข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น
 2.   เสนอให้กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ที่แน่นอน  ไม่ต้องให้คณะเสนาบดีเป็นผู้พิจารณาเลือก เพราะจะทำให้ขุนนางสร้างอำนาจให้แก่ตนเองก่อปัญหาในการปกครองต่อไป
 3. จัดค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนที่สมควรแก่หน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อป้องกันการทุจริต   คอร์รัปชั่นในหน้าที่
 4.   เสนอให้ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกัน
 5.    เสนอให้ยกเลิกธรรมเนียมประเพณีที่เป็นสิ่งกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
 6.    ให้ประชาชนมีเสรีในทางที่ถูกต้อง
 7.  การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้คำนึงถึงความสามารถและความประพฤติเป็นสำคัญโดยไม่มีข้อยกเว้น
กลุ่ม ร.ศ. 103 นั้นมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเครื่องมือต่อต้านชาวตะวันตกได้
ในตอนท้ายของพระราชหัตถเลขาได้แสดงถึงความสำเร็จในการดึงอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน  และถ้าพิจารณาถึงผลงานของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในกรณีของการประชุมเรื่องการจัดเก็บภาษีอากรเข้าสู่หอรัษฎากรพิพัฒน์ รวมทั้งการพิจารณาตัดสินคดีของพระยาอาหารบริรักษ์ (นุช บุญ-หลง)  เสนาบดีกรมนา ผู้เป็นหลานใกล้ชิดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งผลของการพิจารณาคดีพบว่ามีความผิดจริง ถูกถอดออกจากตำแหน่งเสนาบดี และถูกจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งต่อมาได้รับการอภัยโทษ และหลังจากวิกฤติการณ์วังหน้าเมื่อ พ.ศ. 2417  ทำให้พระองค์ต้องทรงดำเนินการทางการเมืองการปกครองด้วยความสุขุมและรอบคอบมากขึ้นเพราะไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเก่าอย่างรุนแรง ทำให้บทบาทของสภาที่ปรึกษาทั้งสองต้องซบเซาลงจนที่สุดใน พ.ศ. 2437  พระราชบัญญัติจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินได้ถูกยกเลิกส่วนสภาที่ปรึกษาในพระองค์ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 7
จากการปฏิรูปในระยะแรกได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์วังหน้าใน พ.ศ. 2417 ซึ่งเกือบทำให้มหา อำนาจตะวันตกถือโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการการเมืองการปกครองภายในของไทย แต่ด้วยพระบรมรา-โชบายที่สุขุมคัมภีรภาพของรัชกาลที่ 5 ทำให้วิกฤติการณ์วังหน้ายุติลงในที่สุด
นับว่าเป็นความสำเร็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สามารถดึงอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน กลับมาสู่องค์พระมหากษัตริย์ได้สำเร็จเป็นการนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2435  ซึ่งทำให้ไทยสามารถต่อต้านการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตกได้ไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
3.2  การปฏิรูปการเมืองการปกครองในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2435-พ.ศ. 2453)
การปฏิรูปการเมืองการปกครองระยะที่ 2  ใน พ.ศ. 2435-พ.ศ. 2453  เป็นการปฏิรูปทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ  และสังคมได้ทรงเริ่มการปฏิรูปประเทศหลังจากสมเด็จเจ้าพระยา-บรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย ใน พ.ศ. 2425    และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต ใน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มจัดระเบียบการทำงานที่ซับซ้อนโดยทรงจัดหน่วยงานใหม่ๆ มีการกำหนดหน้าที่การทำงานเป็นการวางระเบียบกระทรวง กรม กองใหม่ให้เหมาะสม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อเป็นการตั้งรับการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก
1)  การจัดการบริหารราชการส่วนกลาง
การบริหารราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรจะมีประสิทธิภาพได้ผลดีนั้น  พระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดระเบียบการบริหารงานในส่วนกลางที่เปรียบเสมือนสมองสั่งการทำงานของร่างกายให้ทำงานกันอย่างสอดคล้องอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อมีการเตรียมความพร้อมในการปฏิรูปการเมืองการปกครองมาพอสมควร ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกระทรวงตามระเบียบใหม่ และตั้งกระทรวงเพิ่มขึ้นใหม่อีก 6 กระทรวง แต่ละกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะงานในแต่ละด้านโดยมีเสนาบดีรับผิดชอบในการบริหารงานราชการ การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2435 ถือเป็นก้าวสำคัญของงานการปฏิรูปประเทศ กระทรวงที่ประกาศจัดตั้งขึ้นมีทั้งหมด 12 กระทรวง
 1. กระทรวงกลาโหม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้คงงานตามเดิมและผ่อนปรนให้ดูแลหัวเมืองภาคใต้ต่อไป เพราะเห็นแก่สมุหกลาโหมอัครเสนาบดีเดิม ที่มีความดีความชอบและทรงไว้วางพระทัยมากคือ เจ้าพระยาพลเทพ ที่มีอายุชราภาพแล้ว โดยทรงวางแผนการจัดระเบียบงานของกระทรวงกลาโหมไว้ในอนาคตต่อไป ต่อมาใน พ.ศ. 2437  ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่กระทรวงกลาโหมให้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานของกรมยุทธนาธิการทางด้านการทหารทั้งหมด
 2.   กระทรวงมหาดไทย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้คงงานตามเดิม และผ่อนปรนให้ดูแลหัวเมืองภาคเหนือตามเดิมด้วยเหตุผลเดียวกับกระทรวงกลาโหม  และทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัครเสนาบดี คือ เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เป็นเสนาบดีมหาดไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2437 ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่กระทรวงมหาดไทยให้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานบริหารการปกครองพลเรือนทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพมหานคร
 3.   กระทรวงนครบาล มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยในเขตราชธานี (กรุงเทพฯ)
 4.   กระทรวงวัง   มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับพระบรมมหาราชวัง  และพระราชพิธีต่างๆ
 5.   กระทรวงเกษตรพานิชการ  มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในงานด้านเกษตรและการค้า ต่อมาใน พ.ศ. 2439  ได้ยุบรวมเข้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  แต่เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี (เจิม แสงชูโต)  ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการใน พ.ศ. 2442  จึงแยกออกมาตั้งเป็นกระทรวงเกษตราธิการ
 6.   กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านต่างประเทศ
 7.   กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านการคลัง
 8.   กระทรวงยุทธนาธิการ  มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านกองทัพบกและกองทัพเรือ ต่อมาใน พ.ศ. 2435  ได้ลดฐานะเป็นกรมยุธนาธิการ
 9.   กระทรวงยุติธรรม  มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านการศาลและกฎหมาย
10.  กระทรวงธรรมการ  มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการศึกษาของประเทศ
11.   กระทรวงโยธาธิการ   มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการคมนาคม และการก่อสร้าง ต่อมาคือกระทรวงคมนาคม ต่อมาใน พ.ศ. 2439  ได้ยุบรวมกับกรมราชเลขานุการ
12.  กระทรวงมุรธาธิการ  มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านเอกสาร ตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมคืองานของกรมอาลักษณ์
เสนาบดีทั้ง 12 กระทรวง นั้นมีฐานะเท่ากันไม่แบ่งเป็นอัครมหาเสนาบดี, เสนาบดี ตอนปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ยุบให้เหลือเพียง 10 กระทรวง โดยยุบกรมยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และยุบกระทรวงมุรธาธิการไปรวมกับกระทรวงวัง ต่อมาเสนาบดีเจ้ากระทรวงส่วนใหญ่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในแต่ละกระทรวงได้ปฏิรูปงานของตนทั้งการจัดทำประมวลกฎหมายและการจัดระเบียบศาลของกระทรวงยุติธรรม การจัดงานปกครองของกระทรวงมหาดไทย  งานสร้างเสริมความมั่นคงของกองทัพ  การปฏิรูปการศึกษาของกระทวงธรรมการ    การปรับปรุงงานแต่ละกระทรวงนั้น     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงว่าจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา  และยังจัดให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อกลับมาช่วยงานการปฏิรูปประเทศต่อไป    และยังได้มีงบปฏิรูปประเทศส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน
2)  การจัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การจัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นผลมาจากการปฏิรูปการบริหารราชการส่วนกลาง  การปกครองหัวเมืองก่อน พ.ศ. 2436 เป็นรูปแบบการปกครองหัวเมืองโดยมีอัครมหาเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ  อัครมหาเสนาบดีกระทรวมกลาโหมรับผิดชอบบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ และเสนาบดีกรมท่ารับผิดชอบบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ในแต่ละกระทรวง กรม ต่างมีหน่วยงานของตนในการบริหารจัดการทั้งทางด้านการจัดเก็บภาษีอากร และการศาล ความมั่นคงปลอดภัยภายในหัวเมืองเป็นการแบ่งแยกการทำงาน ทำให้การทำงานมีความซ้ำซ้อน และกิจการงานต่างๆ ดำเนินไปอย่างล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพทันต่อเหตุการณ์
การดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองนั้นไม่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร การบริหารงานในส่วนกลางจากราชธานีนั้นดูแลได้เฉพาะเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ หัวเมืองใดยิ่งอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ มากเท่าไหร่ยิ่งมีอิสรภาพในการปกครองตนเองมากขึ้น  ความยากลำบากของการคมนาคมติดต่อสื่อสาร และการปราศจากเขตแดนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนทำให้ยากต่อการบังคับบัญชา จากระบบกินเมืองที่เจ้าเมืองสามารถเก็บภาษีอากร ส่วย ค่าราชการ และเก็บรายได้ส่วนหนึ่งไว้จัดการบริหารงบภายในเมืองของตน ส่วนที่เหลือเจ้าเมืองจึงจัดนำส่งยังพระคลังมหาสมบัติ  ทางรัฐบาลไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่าเจ้าเมืองเหล่านั้นหักรายได้ไว้เป็นจำนวนเท่าไร ส่วนหัวเมืองประเทศราชนั้นส่งเพียงแค่เครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมายังเมืองหลวงสามปีต่อครั้งเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองหัวเมืองที่ยังคงใช้แบบจารีตที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนกลางไปได้ระยะหนึ่ง จึงทรงมีพระราชดำริในการจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่  งานการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา โดยจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย ขึ้นตรงต่อพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคแบบมณฑลเทศาภิบาลเพื่อพัฒนาหัวเมืองให้มีระเบียบการปฏิบัติภายใต้นโยบายเดียวกับอย่างมีมาตรฐาน สามารถควบคุมดูแลประสานงานได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงอีกทั้งเพื่อเป็นการสะดวกในการสั่งงานตามระเบียบใหม่ที่ใช้ระบบราชการเข้ามาแทนที่ระบบขุนนางเก่า ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างทันเหตุการณ์ และเอื้ออำนวยต่อการรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้
การปกครองระบบเทศาภิบาลเป็นการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ   อันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์  รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลางซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดต่ออาณาประชากรเพื่อให้ได้รับความร่วมเย็นเป็นสุข และความเจริญทั่วถึง โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงแบ่งส่วนการปกครองแว่นแคว้นออกโดยลำดับชั้นเป็น มณฑล เมือง(ต่อมาเปลี่ยนเป็นจังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านและแบ่งหน้าที่ราชการเป็นสัดส่วนจัดเป็นแผนกพนักงาน ทำนองการของกระทรวงในราชธานีอันเป็นวิถีนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยรวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับทุกข์บำรุงสุขด้วยความเที่ยงธรรมแก่อาณาประชาชน
ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของรัฐบาลกลาง ที่มีการจัดมณฑลเทศาภิบาลเป็นหลักของระบบการปกครองนี้ โดยที่รัฐบาลกลางจัดข้าราชการ คือ สมุหเทศาภิบาลจากส่วนกลางไปรับผิดชอบดูแลบัญชาการในแต่ละมณฑลเทศาภิบาล  ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางเป็นการปกครองที่ทำให้เกิดการรวมอำนาจการบริหารเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) และเป็นระเบียบการปกครองที่เข้าไปแทนที่ประเพณีการปกครองแบบจารีตดั้งเดิมของไทย (ระบบกินเมือง)  มาเป็นการปกครองแบบสมัยใหม่
การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มจากหัวเมืองชั้นในก่อนแล้วขยายไปยังหัวเมืองประเทศราช โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2437  จนถึง พ.ศ. 2449  จึงจัดได้ทั่วพระราชอาณาจักร  จากนั้นพระบาทสมเด็จ-พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกฐานะเมืองประเทศราช ให้มีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่งภายในประเทศเดียวกัน เป็นการผนวกดินแดนประเทศราชเข้ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระราชอาณาจักรอย่างแท้จริง  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกแตกแยกเป็นชาวต่างชาติต่างภาษาแต่ให้สำนึกว่าเป็นคนไทยเชื้อชาติเดียวกัน  พร้อมกันนั้นก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการปกครองแบบเดิมที่มีการจัดแบ่งฐานะของเมืองออกเป็นเมืองเอก โท ตรี และจัตวา ให้เมืองทุกเมืองภายในพระราชอาณาจักรมีฐานะและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่งตั้งให้เจ้าเมือง กรมการเมืองเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยพระราชทานเงินเดือนประจำ ห้ามการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการเพื่อหาประโยชน์ดังที่เคยประพฤติกันมา  ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองโดยการสืบสายโลหิตเมื่อเจ้าเมืองคนเก่าเสียชีวิต  รัฐบาลจะแต่งตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ไปแทนและสามารถมีคำสั่งโยกย้ายได้ตามความเหมาะสม และเพื่อแสดงว่าเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง
การบริหารงานราชการแผ่นดินตามแบบสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยเงินรายได้แผ่นดินเป็นทุนในการจัดการบริหารงานเพราะถ้าไม่มีเงินทุนก็ไม่สามารถจัดการงานดังกล่าวได้ ในการแสวงหาเงินทุนนั้นก็ต้องอาศัยการปกครองที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจของรัฐดีขึ้นได้ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เพราะต้องดำเนินการทั้งสองด้านไปพร้อมกันต่อมาจาก พ.ศ. 2437 อีก 5 ปี จึงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเกือบทั่วพระราชอาณาจักร    ยกเว้นมณฑลจันทบุรีเพียงมณฑลเดียวที่ได้ทอดระยะมาอีก 7 ปี เนื่องจากถูกฝรั่งเศสยึดครองไว้ จนถึง พ.ศ. 2449  จึงได้จัดตั้งมณฑลจันทบุรีขึ้น

การจัดการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดในรูปของสุขาภิบาลขึ้นในส่วนของท้องถิ่นโดยมุ่งการจัดระเบียบชุมชน  และสุขอนามัยของประชาชน
สุขาภิบาลเป็นรูปแบบการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นพื้นฐานของการบริหารแบบเทศบาล ในเขตสุขาภิบาลมีเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการเลือกจากประชาชนให้เป็นผู้ดำเนินการบริหารกิจการในสุขาภิบาลโดยใช้เงินจากภาษีโรงเรือนที่เก็บได้ในเขตสุขาภิบาลเป็นหลักในการจัดการดำเนินงาน โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล  โดยเริ่มกำหนดเขตบริหารงานเริ่มแรกในกรุงเทพมหานคร ในพ.ศ. 2440  มีจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบชุมชนและสุขอนามัยของประชาชน ต่อมาจากการเสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2448  ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัวนั้นได้ทรงพบกับสภาพบ้านเมือง ตลาด ถนน สกปรกมากไม่เป็นที่พอพระทัย  ในการประชุมคณะเสนาบดีในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2448  พระองค์ได้ทรงกล่าวในที่ประชุมว่า นครเขื่อนขันธ์ สกปรกเหมือนตลาดท่าจีน (ท่าฉลอม) ทำให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแจ้งเรื่องต่อพระยาพิไชยสุนทรได้สร้างถนนปูอิฐ  เมื่อตลาดและถนนมีสภาพที่ถูกสุขอนามัยแล้ว    ทางเสนาบดีได้กราบถวายบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดถนน และขอจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม โดยขอรับเงินภาษีโรงเรือนที่เก็บได้ในเขตสุขาภิบาลมาให้สุขาภิบาลใช้จ่าย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย    จึงได้ประกาศตั้งสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมขึ้นเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2449  และเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449  เป็นต้นไป 
การดำเนินงานของสุขาภิบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นพบว่า ต่อมาได้ยกฐานะเป็นเทศบาลในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น นับเป็นการฝึกการปกครองแบบประชาธิปไตยให้กับประชาชน


กบฏ ร.ศ. ๑๓๐
    เหตุเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2454 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขึ้นครองราชย์ได้ไม่ถึง 2 ปี ทรงเคยแสดงความคิดเห็นว่า พระองค์นิยมระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ที่ทรงยังไม่พระราชทาน เพราะเสนาบดีและที่ปรึกษาราชการทั้งชาวอังกฤษและอเมริกาทัดทานไว้ เนื่องจากเห็นว่า ....... ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษา ไม่สามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่ดีได้ จะเป็นเหตุทำให้รัฐสภาไม่สามารถดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งเมืองสมมุติ " ดุสิตธานี " ขึ้นในบริเวณวังพญาไท จำลองรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดให้มีธรรมนูญการปกครองลักษณะนัคราภิบาล ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง มีพรรคการเมือง ๒ พรรค การเลือกตั้งนัคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย
นอกจากนี้ในดุสิตธานีมีการออกหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอข่าวในเมืองจำลอง เพื่อเพียรพยายามปลูกฝังหรือฝึกหัดการปกครองระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตามมีผู้วิจารณ์ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงการละเล่นอย่างหนึ่งของรัชกาลที่ ๖ ทรงหาได้ตั้งใจที่จะก่อตั้งรูปการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างจริงจังแต่อย่างใดไม่
กลุ่มคนบางพวกยังได้เพ่งเล็งเข้าไปยังราชสำนักเห็นว่า มีความฟุ้งเฟ้อ ข้าราชการบริหารและพระบรมวงศานุวงศ์บางส่วนซึ่งใกล้ชิดสนิทสนมพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรดปรานประทานความดีความชอบด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทำงานในหน้าที่ตนอย่างพากเพียรกลับถูกมองข้าม แม้แต่พวกที่มีหน้าที่ฟ้อนรำทำเพลง ก็กลับได้ยศถาบรรดาศักดิ์และเป็นที่โปรดปรานให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด ความไม่สม่ำเสมอและเป็นธรรมดังนี้ เป็นที่วิจารณ์กันเอิกเกริกทั้งในพระราชสำนักและนอกพระราชสำนัก
ด้วยเหตุนี้ จึงมีกลุ่มคนที่คิดร้ายหมายโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี พ.ศ ๒๔๕๒ ก่อนกระทำการถึง ๒ ปี บุคคลที่เป็นหัวหน้าขบวนการปฏิวัติในครั้งนี้ คือ
ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์
ร.ต. เนตร์ พูนวิวัฒน์
ร.ต. จรูญ ษตะเมษ
ร.ท จรูญ ณ บางช้าง
ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์
และมีนายทหารหนุ่มจากกองทัพบกอีกหลายคน และพลเรือนอีกจำนวนหนึ่งร่วมมือด้วย
รวมผู้คิดก่อการทั้งสิ้น ๙๑ คน
โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๕๔ เป็นวันกระทำการ ซึ่งวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จกลับจากการซ้อมรบจากพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
กลุ่มผู้ก่อการได้วางแผนถึงขั้นปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัว โดยมอบหมายให้ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) เป็นผู้เสี่ยงชีวิตเข้าปลงพระชนม์ด้วยอาวุธปืนกำลังอีกส่วนหนึ่งจะเข้าจับกุมคุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งเสนาบดี ปลัดทูลฉลองไว้เป็นตัวประกัน นับเป็นการก่อการที่ร้ายแรง และว่ากันว่า การปฏิวัติครั้งนี้เลียนแบบมาจากการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสและการปฏิวัติในรัสเซีย เป็นการปฏิวัติก้าวไปไกลเกินกว่าที่ประชาชนชาวไทยจะรับได้
จุดประสงค์ของกลุ่มผู้ก่อการ ซึ่ง ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ เขียนไว้ในหนังสือปฏิวัติ ร.ศ ๑๓๐ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ภายหลังมีว่า
" พวกฝ่ายทหารคิดกันว่า จะทูลเชิญพระราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พวกพลเรือนบางคนนั้นคิดไปไกลจนถึงกับจะเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ (รีปับริค) เสียเลย " แต่โชคยังดีที่ประเทศไทยจะไม่เกิดเหตุร้ายแรงหรือกาลียุค สมาชิกผู้ก่อการได้เกิดมีการหักหลังกันขึ้นเสียก่อน กล่าวคือ ........
ร.อ หลวงสีนาด โยธารักษ์ ผู้จะเป็นมือปืนทำการปลงพระชนม์ ได้นำความลับและแผนการทั้งหมด เข้ากราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ และโดยพลันทันที สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ รีบเสด็จไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบที่พระราชวังสนามจันทร์ พวกก่อการในเวลาต่อมาได้ถูกจับกุมกลายเป็นกบฏไปทันที
ในคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ตั้งคณะตุลาการศาลทหารขึ้น เพื่อตัดสินและวินิจฉัยตีความ เกี่ยวกับคดีการล้มล้างระบบการปกครองของคณะกลุ่มผู้คิดปฏิวัติขึ้น
โดยมีคณะตุลาการดังกล่าวรวม ๗ คน คือ
๑. จอมพล เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ปลัดทูลกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
๒. พลเอกพระยาศักดาวรเดช จเรทัพบก (แย้ม ณ นคร ต่อมาเป็นจอมพลเจ้าพระยาบดินทร์เดชาวุธ)
๓. พลตรี พระยาพิชัยสงคราม (หม่อมนเรนทร์ราชา สุทัศน์ ต่อมาเป็นพระวิชิตวงศ์วุฒิไกร)
๔. น.อ.พระยาวิจิตรนาวา นายทหารจากกรมพระธรรมนูญ ทหารเรือ
๕. น.ท. พระสุนทรา (วิม พลกุล ต่อมาเป็นพระยาวินัยสุนทร) นายทหารจากกรมพระธรรมนูญ ทหารเรือ
และนายทหารจากกรมพระธรรมนูญอีกสองนาย
เมื่อได้พิจารณาพิพากษาตัดสินแล้ว มีผลของการลงโทษ ดังนี้
ชั้นที่ ๑ ให้ลงโทษประหารชีวิต ๓ คน
ชั้นที่ ๒ ลดโทษลงเพียงจำคุกตลอดชีวิต ๒๐ คน
ชั้นที่ ๓ ลดโทษลงเพียงจำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี ๓๒ คน
ชั้นที่ ๔ ลดโทษลงเพียงจำคุกมีกำหนด ๑๕ ปี 6 คน
ชั้นที่ ๕ ลดโทษลงเพียงจำคุกมีกำหนด ๑๒ ปี ๓๐ คน
   เมื่อคณะตุลาการศาลทหารส่งคำพิพากษาฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้ง พระองค์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย กลับมีพระบรมราชโองการโปรด
เกล้าฯ เสียใหม่ ดังนี้
"....ด้วยได้ตรวจดูคำพิพากษาของตุลาการศาลทหาร ซึ่งได้พิจารณาปรึกษาโทษคดีมีผู้มีชื่อ ๙๑ คนก่อการกำเริบ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคมนั้นตลอดแล้ว เห็นว่าตุลาการพิพากษาลงโทษพวกเหล่านี้ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้วแต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญอยู่ที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา ซึ่งเราไม่ได้มีจิตพยาบาทคาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา อันเป็นอำนาจพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้ เพราะฉะนั้นบรรดาผู้มีชื่อ ๓ คนซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการว่าโทษชั้นที่ ๑ ให้ประหารชีวิตนั้น ให้ลดโทษเป็นชั้นที่ ๒ คือ ให้จำคุกตลอดชีวิต
บรรดาผู้ที่มีชื่อ ๒๐ คน ซึ่งลงโทษไว้ว่าเป็นชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้นให้ลดลงมาเป็นโทษชั้นที่ ๓ คือให้จำคุก ๒๐ ปี นับแต่วันนี้สืบไป
แต่บรรดาผู้มีชื่ออีก ๖๘ คน ซึ่งวางโทษไว้ชั้นที่ ๓ คือให้จำคุก ๒๐ ปี มีจำนวน ๓๒ คน วางโทษชั้น ๔ ให้จำคุก ๑๕ ปี มีจำนวน ๖ คน และวางโทษชั้นที่ ๕ ให้จำคุก ๑๒ ปี มีจำนวน ๓๑ คนนั้น ให้รอการลงอาญาไว้ทำนองอย่างเช่นที่ได้กล่าวในกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๔๑ และ ๔๒ ซึ่งว่าด้วยการลงอาญาให้โทษอย่างน้อยนั้น และอย่าเพิ่งให้ออกจากตำแหน่งยศ
แต่ฝ่ายผู้มีชื่อ ๓ คนที่ได้ลงโทษชั้นที่๒ กับผู้มีชื่อ ๒๐ คนที่ได้ลงโทษชั้นที่ ๓ รวมทั้งสิ้นเป็น ๒๓ คนด้วยกันดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้ถอดจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ตามอย่างธรรมเนียมซึ่งเคยมีมากับโทษเช่นนั้น......"
ผู้ที่ต้องรับพระราชอาญาจำคุก ๓๒ คนนี้ เป็นพลเรือนคนหนึ่งคือ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา กองล่าม กระทรวงยุติธรรม ส่วนนอกนั้นเป็นนายทหารบก ๒๒ คน ซึ่งจะต้องถูกออกจากยศบรรดาศักดิ์ คือ
พวกจำคุกตลอดชีวิต
๑. นายร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
๒. นายร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง
๓. นายร้อยตรีเจือ ศิลาอาสน์
พวกจำคุกยี่สิบปี
๑. นายร้อยโทเจือ ควกุล
๒. นายร้อยตรีเขียน อุทัยกุล
๓. นายร้อยตรีวาส วาสนา
๔. นายร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์
๕. นายร้อยตรีหม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร
๖. นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์
๗. นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์
๘. นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์
๙. นายร้อยตรีสอน วงษ์โต
๑๐. นายร้อยตรีปลั่ง ปูรณโชติ
๑๑. นายร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ
๑๒. นายร้อยโททองคำ คล้ายโอภาส
๑๓. นายร้อยตรีบ๋วย บุณยรัตพันธ์
๑๔. ว่าที่นายร้อยตรีศิริ ชุณห์ประไพ
๑๕. นายร้อยตรีโกย วรรณกุล
๑๖. นายร้อยตรีจันทร์ ปานสีดำ
๑๗. นายพันตรีหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช)
๑๘. นายร้อยตรีบุญ แตงวิเชียร
๑๙. นายร้อยตรีเหรียญ ทิพยรัตน์
    ในที่สุดพวกก่อการกบฏต่อพระราชบัลลังก์ก็ได้รับโทษานุโทษ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แทนที่จะทำการประหารชีวิตกลุ่มกบฏเหล่านั้น กลับได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษลงมาเป็นแต่เพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น
ถึงแม้การคิดปฏิวัติของกลุ่มทหารหนุ่มจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมย้อนมาเล่นงานตนเองในที่สุด แต่การกบฏครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า .... การคิดล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ได้แพร่หลายมากขึ้นและก่อให้เกิดกลุ่มที่จะดำเนินการอย่างจริงจังขึ้นมา

                                                                                             

สร้างโดย: 
พีรทิพย์ สุคันธเมศวร์
รูปภาพของ wrk22596

ทำไมไม่ตัดเป็นหน้าไปละคะ  มันดูยากคะ

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 660 คน กำลังออนไลน์