บาสเก็ตบอล
ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
ประวัติบาสเกตบอล
บาสเกตบอล ( Basketball ) เป็นกีฬาประจำชาติอเมริกัน ถูกคิดขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรดาสมาชิก Y.M.C.A. ได้เล่นกีฬาในฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวสภาพพื้นภูมิประเทศโดยทั่วๆไป ถูกหิมะปกคลุม อันเป็นอุปสรรคในการเล่น
กีฬากลางแจ้ง เช่น อเมริกันฟุตบอล เบสบอล คณะกรรมการสมาคม Y.M.C.A. ได้พยายามหาหนทางแก้ไขให้บรรดาสมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาในช่วงฤดูหนาวโดยไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย ในปี ค . ศ .1891 Dr.James A.Naismith ครูสอนพลศึกษาของ The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมือง Springfield รัฐ Massachusetts ได้รับมอบหมายจาก Dr.Gulick ให้เป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาในร่มที่เหมาะสมที่จะใช้เล่นในช่วงฤดูหนาว Dr.James ได้พยายามคิดค้นดัดแปลงการเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลและเบสบอลเข้าด้วยกันและให้มีการเล่นที่เป็นทีม
ในครั้งแรก Dr.James ได้ใช้ลูกฟุตบอลและตะกร้าเป็นอุปกรณ์สำหรับให้นักกีฬาเล่น เขาได้นำตะกร้าลูกพีชไปแขวนไว้ที่ฝาผนังของห้องพลศึกษา แล้วให้ผู้เล่นพยายามโยนลูกบอลลงในตะกร้านั้นให้ได้ โดยใช้เนื้อที่สนามสำหรับเล่นให้มีขนาดเล็กลงแบ่งผู้เล่นออกเป็นข้างละ 7 คน ผลการทดลองครั้งแรกผู้เล่นได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชนกัน ผลักกัน เตะกัน อันเป็นการเล่นที่รุนแรง
ในการทดลองนั้น ต่อมา Dr.James ได้ตัดการเล่นที่รุนแรงออกไป และได้ทำการวางกติกาห้ามผู้เล่นเข้าปะทะถูกเนื้อต้องตัวกัน นับได้ว่าเป็นหลักเบื้องต้นของการเล่นบาสเกตบอล Dr.James จึงได้วางกติกาการเล่นบาสเกตบอลไว้เป็นหลักใหญ่ๆ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ
1. ผู้เล่นที่ครอบครองลูกบอลอยู่นั้นจะต้องหยุดอยู่กับที่ห้ามเคลื่อนที่ไปไหน
2. ประตูจะต้องอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่น และอยู่ขนานกับพื้น
3. ผู้เล่นสามารถครอบครองบอลไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยคู่ต่อสู้ไม่อาจเข้าไปถูกต้องตัวผู้เล่นที่ครอบครองบอลได้
4. ห้ามการเล่นที่รุนแรงต่างๆโดยเด็ดขาด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่กระทบกระแทกกัน
เมื่อได้วางกติกาการเล่นขึ้นมาแล้วก็ได้นำไปทดลอง และพยายามปรับปรุงแก้กไขระเบียบดีขึ้น เขาได้พยายามลดจำนวนผู้เล่นลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จนในที่สุดก็ได้กำหนดตัวผู้เล่นไว้ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดกับขนาดเนื้อที่สนาม
Dr.James ได้ทดลองการเล่นหลายครั้งหลายหน และพัฒนาการเล่นเรื่อยมา จนกระทั่งเขาได้เขียนกติกาการเล่นไว้เป็นจำนวน 13 ข้อ ด้วยกัน และเป็นต้นฉบับการเล่นที่ยังคงปรากฏอยู่บนกระดานเกียรติยศในโรงเรียนพลศึกษา ณ Springfield อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
กติกา 13 ข้อ ของ Dr.James มีดังนี้
1. ผู้เล่นห้ามถือลูกบอลแล้ววิ่ง
2. ผู้เล่นจะส่งบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
3. ผู้เล่นจะเลี้ยงบอลไปทิศทางใดก็ได้ โดยใช้มือเดียวหรือสองมือก็ได้
4. ผู้เล่นต้องใช้มือทั้งสองเข้าครอบครองบอล ห้ามใช้ร่างกายช่วยในการครอบครองบอล
5. ในการเล่นจะใช้ไหล่กระแทก หรือใช้มือดึง ผลัก ตี หรือทำการใดๆให้ฝ่ายตรงข้ามล้มลงไม่ได้ ถ้าผู้เล่นฝ่าฝืนถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง ถ้า ฟาวล์ 2 ครั้ง หมดสิทธิ์เล่น จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำประตูกันได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก ถ้าเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น
6. ห้ามใช้ขาหรือเท้าแตะลูก ถือเป็นการฟาวล์ 1 ครั้ง
7. ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
8. ประตูที่ทำได้หรือนับว่าได้ประตูนั้น ต้องเป็นการโยนบอลให้ลงตะกร้า ฝ่ายป้องกันจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้เด็ดขาด
9. เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำลูกบอลออกนอกสนาม ให้อีกฝ่ายหนึ่งส่งลูกเข้ามาจากขอบสนามภายใน 5 วินาที ถ้าเกิน 5 วินาที ให้เปลี่ยนส่ง และถ้าผู้เล่นฝ่ายใดพยายามถ่วงเวลาอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาวล์
10. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าผู้เล่นคนใดฟาวล์ และลงโทษให้ผู้เล่นหมดสิทธิ์
11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกใดออกนอกสนาม และฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งลูกเข้าเล่น และจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาเวลาบันทึกจำนวนประตูที่ทำได้ และทำหน้าที่ทั่วไปตามวิสัยของผู้ตัดสิน
12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่งๆละ 20 นาที
13. ฝ่ายที่ทำประตูได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ในกรณีคะแนนเท่ากันให้ต่อเวลาออกไป และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ
แม้ว่ากติกาการเล่นจะกำหนดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เล่นเพื่อความสนุกสนานในแง่นันทนาการ แต่กีฬานี้ก็ได้รับความนิยมจากเยาวชนอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้อ่อนแอ และพยายามที่จะพิสูจน์ความเห็นนี้ด้วยการหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้เล่นบาสเกตบอลก็ตาม อย่างไรก็ดี ความรู้สึกเช่นนี้ค่อยๆเริ่มจางหายไปเมื่อความรวดเร็วและความแม่นยำในการเล่นบาสเกตบอล ได้สร้างความประทับใจและดึงดูดความสนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และได้แพร่กระจายไปทางตะวันออกของอเมริกาอย่างรวดเร็วและเมื่อโรงเรียนต่างๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬาชนิดนี้ จึงพากันนิยมเล่นไปทั่วประเทศ
ก่อนปี ค . ศ . 1915 แม้ว่าบาสเกตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ก็จำกัดเป็นเพียงการเล่นเพื่อออกกำลังกายในห้องพลศึกษาเท่านั้น ไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบจัดการเล่นเป็นกิจลักษณะ ยกเว้นองค์กรบาสเกตบอลอาชีพที่เกิดขึ้นเพียง 2-3 องค์กรแล้วก็เลิกล้มไป ฉะนั้นการเล่นบาสเกตบอลในแต่ละที่แต่ละแห่งจึงต่างก็ใช้กติกาผิดแผกแตกต่างกันออกไป ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนากีฬาบาสเกตบอลเป็นอย่างมาก
ดังนั้นในปี ค . ศ . 1915 สมาคม Y.M.C.A. สมาคมกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติและสมาพันธ์กีฬาสมัครเล่น ได้ร่วมประชุมเพื่อร่างกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน กติกานี้ไดใช้สืบมาจนกระทั่งปี ค . ศ . 1938 และได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี โดยคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติเป็นผู้พิจารณา
สหรัฐอเมริกายอมรับการเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค . ศ . 1892 ซึ่งได้มีการเล่นบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก สมาคม Y.M.C.A. ได้นำกีฬาบาสเกตบอลไปเผยแพร่ในทุกส่วนของโลก ได้แพร่เข้าไปในประเทศจีนและอินเดียในราวปี ค . ศ . 1894, ฝรั่งเศส ในราวปี ค . ศ . 1895, ญี่ปุ่นราวปี ค . ศ . 1900 เกือบจะกล่าวได้ว่า บาสเกตบอลมีการเล่นในทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และคาดว่าก่อนปี ค . ศ . 1941 มีประชาชนทั่วโลกเล่นกีฬาบาสเกตบอลเป็นจำนวนถึง 20 ล้านคน ในขณะนี้มีผู้นิยมเล่นบาสเกตบอลกันทั่วทุกมุมโลก ไม่น้อยกว่า 52 ประเทศ นอกจากนี้ได้มีการแปลกติกาการเล่นเป็นภาษาต่างๆมากกว่า 30 ภาษา
กติกา และ วิธีดู. . .
บาสเกตบอลเป็นกีฬาที่เล่นระหว่างผู้เล่น 2 ชุด ชุดละ 5 คน โดยมีจุดมุ่งหมายว่า แต่ละชุดต้องนำลูกบอลไปโยนให้ลงห่วงประตูของคู่แข่งขัน และพยายามป้องกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ครอบครองลูกบอล หรือทำคะแนน ทั้งนี้ผู้เล่นอาจจะส่ง โยน ปัดกลิ้ง หรือเลี้ยงลูกบอลไปยังทิศทางใดก็ได้ให้ถูกต้องตามกติกา
ทีม
แต่ละทีมจะประกอบไปด้วยผู้เล่นไม่เกิน 10 คน และโค้ช 1 คน ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งจะเป็นหัวหน้าทีม แต่ละทีมอาจจะมีผู้ช่วยโค้ชอีก 1 คน สำหรับทัวร์นาเมนต์ที่ทีมนั้นจะต้องแข่งขันมากกว่า 3 ครั้ง จำนวนผู้เล่นในแต่ละทีมอาจจะเพิ่มเป็น 12 คนก็ได้ ผู้เล่น 5 คนของแต่ละทีมจะต้องอยู่ในสนามแข่งขันระหว่างเวลาการแข่งขัน และสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ตามที่ระบุไว้ในกติกา
ผู้เล่นของทีมคือผู้เล่นที่อยู่ในสนามแข่งขัน และถูกกำหนดว่าจะลงแข่งขันนอกเหนือจากนี้แล้วจะเป็นผู้เล่นสำรอง ดังนั้นผู้เล่นสำรองจะกลายเป็นผู้เล่นเมื่อผู้ตัดสินได้ให้สัญญาณแจ้งให้เขาเข้าไปในสนามแข่งขัน และผู้เล่นจะกลายเป็นผู้เล่นสำรองทันทีที่ผู้ตัดสินได้ส่งสัญญาณแก่ผู้ที่จะเข้ามาแทนผู้เล่นคนนั้นให้เข้าไปในสนามแข่งขัน ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องมีหมายเลขที่ด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อที่ตนสวมใส่ โดยมีลักษณะเรียบธรรมดา ( ไม่มีลวดลาย ) และมีสีทึบติดกับเสื้อ หมายเลขจะต้องเด่นชัด สำหรับหมายเลขที่ติดด้านหลังจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และหมายเลขที่ติดด้านหน้าจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร ทำด้วยวัสดุที่กว้างไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร ทีมหนึ่ง ๆ จะต้องใช้หมายเลขตั้งแต่ 4 ถึง 15 ผู้เล่นในทีมเดียวกันจะต้องไม่ใช้หมายเลขซ้ำกัน
ชุดที่ผู้เล่นสวมใส่จะต้องประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้
- เสื้อทีม จะเป็นสีเดียว มีลักษณะทึบสม่ำเสมอเหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ต้องสวมใส่โดยผู้เล่นทุกคนในทีมนั้นเสื้อที่มีลายทางแบบริ้วลายจะไม่อนุญาตให้ใช้
- กางเกงขาสั้น จะเป็นสีเดียว มีลักษณะทึบสม่ำเสมอเหมือนกันทั้งทีม และจะต้องสวมใส่โดยผู้เล่นทุกคนในทีมนั้น
- เสื้อคอกลม ( ทีเชิ้ต ) อาจจะสวมใส่ได้ภายในเสื้อทีม แต่ถ้าสวมเสื้อคอกลมจะต้องใช้เสื้อคอกลมมีสีเดียว และให้เหมือนกับสีของเสื้อทีม
- ชุดชั้นในของกางเกง ที่ยื่นเลยต่ำกว่ากางเกงขาสั้น อาจจะสวมใส่ได้โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีสีเดียว และเหมือนกับกางเกงขาสั้น
ในกรณีที่เสื้อทีมมีสีตรงกันให้ทีมเหย้าเปลี่ยนสีเสื้อทีมเมื่อแข่งขันที่สนามกลาง หรือในทัวร์นาเมนต์ทีมที่มีชื่อแรกในโปรแกรมการแข่งขัน และต้องเป็นชื่อแรกในใบบันทึกจะต้องเปลี่ยนสีเสื้อทีม เพราะในทัวร์นาเมนต์หนึ่งๆ แต่ละทีมจะต้องมีเสื้อทีมอย่างน้อย 2 ชุด คือชุดที่เป็นสีจาง และชุดที่เป็นสีเข้ม
สำหรับการแข่งขันที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ให้ทีมที่มีชื่อแรกในโปรแกรมการแข่งขัน ( ทีมเหย้า ) สวมเสื้อสีจาง และทีมที่มีชื่อที่สอง ( ทีมเยือน ) สวมเสื้อสีเข้ม
สำหรับการแข่งขันระดับสำคัญๆ ของฟีบ้า ผู้เล่นในทีมเดียวกันจะต้องปฏิบัติดังนี้
1. สวมรองเท้าซึ่งมีสีเหมือนกัน
2. สวมถุงเท้าซึ่งมีสีเหมือนกัน
ผู้เล่นออกจากเขตสนามแข่งขัน
จะไม่อนุญาตให้ผู้เล่นออกจากเขตสนาม เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม
หัวหน้าทีม หน้าที่ และอำนาจ
เมื่อมีเหตุจำเป็น หัวหน้าทีมจะต้องเป็นผู้แทนของทีมในสนามแข่งขันสามารถพูดกับผู้ตัดสินเพื่อขอคำอธิบาย หรือเพื่อขอทราบข้อมูลที่จำเป็น แต่ต้องกระทำด้วยความสุภาพ
ก่อนออกจากสนามแข่งขันด้วยเหตุอันควรใดๆ ก็ตาม หัวหน้าทีมต้องแจ้งต่อผู้ตัดสินที่หนึ่งว่าผู้เล่นคนใดจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมแทนขณะที่เขาออกจากสนามแข่งขัน
คำอธิบายกติกา ในกรณีบาดเจ็บของผู้เล่น
" ถ้าผู้เล่นที่บาดเจ็บได้รับการพยาบาล เขาต้องถูกเปลี่ยนตัว ถ้าไม่เปลี่ยนตัวผู้เล่นที่บาดเจ็บในกรณีดังกล่าว ทีมนั้นจะถูกปรับเป็นเวลานอก "
จุดประสงค์ในกติกาข้อนี้คือ โค้ชมีสิทธิ์ยอมเสียเวลานอก เพื่อให้ผู้เล่นที่บาดเจ็บได้เข้าแข่งขันต่อไป แต่ทีมจะไม่ได้รับเวลานอกเต็ม 60 วินาที เท่ากับเวลานอกปกติ แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่บาดเจ็บภายในเวลา 1 นาที เขาจะไม่มีสิทธิ์แข่งขันต่อและจะต้องถูกเปลี่ยนตัว
ลักษณะของการดำเนินการแข่งขันต่อ
ภายหลังที่มีบอลตายด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ให้ดำเนินการแข่งขันต่อไปนี้
1. ถ้าทีมใดทีมหนึ่งได้ครอบครองลูกบอลมาก่อน ให้ผู้เล่นของทีมนั้นได้ส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกเส้นข้างใกล้กับจุดที่ บอลตายมากที่สุด
2. ถ้าไม่มีทีมใดได้ครอบครองลูกบอลมาก่อน ให้เล่นลูกกระโดดที่วงกลมใกล้กับจุดที่บอลตายมากที่สุด
3. หลังการฟาวล์
4. ภายหลังลูกยึด
5. ภายหลังการหมดเวลาแต่ละครึ่งหรือเวลาเพิ่มพิเศษ
6. ภายหลังลูกบอลออกนอกเขตสนาม
7. ภายหลังการทำผิดระเบียบ
ผู้เล่นสำรอง
ผู้เล่นสำรองก่อนที่จะเข้าไปในสนามต้องรายงานตัวต่อผู้บันทึก และต้องพร้อมที่จะทำการแข่งขันได้ทันที โดยผู้บันทึกจะต้องให้สัญญาณทันทีที่มีบอลตาย และหยุดเวลาการแข่งขัน แต่ต้องกระทำก่อนที่ลูกบอลจะเข้าสู่การเล่นอีกครั้งหนึ่งภายหลังการทำผิดระเบียบ เฉพาะทีมที่ไม่ได้ทำผิดระเบียบคือ ทีมที่จะส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกเขตสนามทางเส้นข้างมีสิทธิ์เปลี่ยนตัวผู้เล่น ถ้าได้มีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งจะมีสิทธิ์เปลี่ยนตัวได้ ผู้เล่นสำรองจะต้องรออยู่นอกเส้นข้างจนกว่าผู้ตัดสินได้ให้สัญญาณจึงจะเข้าไปในสนามแข่งขันได้อย่างทันที
การเปลี่ยนตัวต้องเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าผู้ตัดสินเห็นว่มีการชักช้าโดยไร้เหตุผลอันควร ก็ให้เป็นเวลานอกแก่ทีมที่ล่าช้านั้นผู้เล่นที่จะเล่นลูกกระโดดจะไม่ให้เปลี่ยนตัวกับผู้เล่นคนอื่น
ผู้เล่นที่ได้เปลี่ยนตัวออกไปแล้วจะไม่ให้เข้าไปในสนามแข่งขันอีกในช่วงการเปลี่ยนตัวเดียวกันจะไม่ให้มีการเปลี่ยนตัวในกรณีต่อไป
1. ภายหลังการทำประตูได้ เว้นแต่ว่าได้มีการให้เวลานอก หรือมีการขานฟาวล์ หรือ
2. จากช่วงเวลาตั้งแต่ลูกบอลเข้าสู่การเล่นเพื่อการโยนโทษครั้งแรก หรือครั้งเดียว กระทั่งได้มีบอลตายอีกครั้งหนึ่งของช่วงเวลาการเดินนาฬิกาจับเวลาการแข่งขัน หรือกระทั่งมีการขานฟาวล์ หรือมีการกระทำผิดระเบียบก่อนจะเดินนาฬิกา การลงโทษสำหรับการโยนโทษ การเล่นลูกกระโดด หรือการส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกสนามทางเส้นข้าง
ข้อยกเว้น ในกรณีที่มีการทำฟาวล์ระหว่างการโยนโทษ จะอนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวได้ แต่เฉพาะเมื่อการดำเนินการโยนโทษและการฟาวล์ก่อนหน้านั้นได้เสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น และก่อนที่ลูกบอลจะเข้าสู่การเล่นสำหรับโทษของการฟาวล์ครั้งใหม่ ภายหลังการโยนโทษครั้งเดียวหรือครั้งสุดท้ายได้ผล เฉพาะผู้โยนโทษเท่านั้น จะอนุญาตให้เปลี่ยนตัวได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องขอเปลี่ยนตัวไว้ก่อนลูกบอลจะเข้าสู่การเล่นเพื่อโยนโทษครั้งแรกหรือครั้งเดียวเท่านั้น ในกรณีนี้อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะเปลี่ยนตัวได้คนหนึ่ง โดยมีข้อแม้ว่าได้ขอเปลี่ยนตัวไว้ก่อนที่ลูกบอลจะเข้าสู่การเล่นก่อนการโยนโทษครั้งสุดท้ายหรือครั้งเดียวนั้น ภายหลังจากที่ผู้บันทึกได้ให้สัญญาณเพื่อการเปลี่ยนตัว ไม่อาจจะบอกยกเลิกการขอเปลี่ยนตัวได้อีก อย่างไรก็ตาม จะขอยกเลิกการขอเปลี่ยนตัวได้ทุกเวลา ก่อนที่ผู้บันทึกจะให้สัญญาณว่ามีการขอเปลี่ยนตัว
คำอธิบายกติกา
การเปลี่ยนตัว
1. เมื่อเกิดการฟาวล์ การโยนโทษจะพิจารณาเป็นชุดหรือเป็นกลุ่มของการฟาวล์
คำนิยาม
ชุด อาจจะมีลักษณะดังนี้ คือ โยนโทษ 1 ครั้ง หรือโยนโทษ 1+1 หรือ โยนโทษ 2 ครั้ง หรือโยนโทษ 3 ครั้ง
กลุ่ม อาจจะมีลักษณะดังนี้ คือ
- โยนโทษ 1+1 และโยนโทษ 2 ครั้ง
- โยนโทษ 2 ครั้ง และโยนโทษ 2 ครั้ง + การครอบครองบอล
- โยนโทษ 1 ครั้ง และโยนโทษ 2 ครั้ง
- และการโยนโทษลักษณะผสมใด ๆ ของกลุ่มที่นอกเหนือจากนี้
2. ถ้าภายหลังได้เริ่มดำเนินการโยนโทษของกลุ่มการโยนโทษ แล้วปรากฏว่ามีการฟาวล์ หรือการทำผิดระเบียบเกิดขึ้นก่อนจะเริ่มเดินเวลาการแข่งขัน การลงโทษคือ การโยนโทษ ( ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ) การเล่นลูกกระโดด หรือการส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกเส้นข้างอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้เปลี่ยนตัวเพิ่มได้อีก
ตำแหน่งของผู้เล่นและผู้ตัดสิน
ตำแหน่งของผู้ตัดสินจะถูกกำหนดโดยจุดสัมผัสกับพื้นสนามเมื่ออยู่ในอากาศจากการกระโดด จะมีสภาพเช่นเดียวกับตอนสัมผัสพื้นสนามครั้งสุดท้ายเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับเส้นขอบของสนามเส้นกลาง เส้นเขตกำหนดการยิงประตูเพื่อทำ 3 คะแนนเส้นโยนโทษ หรือเส้นกำหนดเขตโยนโทษ
ตำแหน่งของผู้ตัดสินจะถูกกำหนดเหมือนกับผู้เล่น เมื่อลูกบอลถูกตัวผู้ตัดสินก็เสมือนกับถูกพื้นสนามในตำแหน่งที่ผู้ตัดสินยืน
วิธีเล่นลูกบอล
กีฬาบาสเกตบอลคือ การเล่นลูกบอลด้วยมือ แต่การพาลูกบอลวิ่ง การเตะลูกบอล หรือการชกลูกบอล เป็นการทำผิดกติกา
การเตะลูกบอลหรือสกัดลูกบอลด้วยส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้เล่นเป็นการทำผิดกติกาได้เมื่อการกระทำโดยจงใจเท่านั้นและการที่เท้าหรือขาถูกลูกบอลโดยไม่ถือเป็นการทำผิดกติกา
การครอบครองลูกบอล ผู้เล่นได้ครอบครองลูกบอล เมื่อผู้เล่นถือลูกบอลหรือเลี้ยงลูกบอลดี หรือในกรณีที่ครอบครองลูกบอลนอกเขตสนามก็ต่อเมื่อลูกบอลอยู่ในมือของผู้เล่นเพื่อส่งลูกบอลเข้าเล่น
ทีมครอบครองลูกบอล เมื่อผู้เล่นของทีมนั้นได้ครอบครองลูกบอล รวมทั้งเมื่อลูกบอลถูกส่งไปมาระหว่างผู้เล่นของทีมนั้น ซึ่งทีมจะได้ครอบครองลูกบอลต่อไปจนกระทั่งคู่แข่งขันได้แย่งการครอบครองลูกบอล หรือเกิดมีบอลตาย หรือได้มีการยิง
ประตูตอนที่ลูกบอลหลุดออกจากมือผู้ยิงประตูไปแล้ว
- ผู้เล่นออกนอกเขตสนาม - ลูกบอลออกนอกเขตสนาม
- ผู้เล่นจะออกนอกเขตสนามเมื่อสัมผัสพื้นบนเส้นขอบสนาม หรือนอกเขตสนาม
- ลูกบอลออกนอกเขตสนาม เมื่อถูกสิ่งต่อไปนี้
1. ผู้เล่นหรือบุคคลอื่นผู้ซึ่งอยู่นอกเขตสนาม หรือ
2. พื้นหรือวัตถุอื่นใดนอกเขตสนาม หรือ
3. สิ่งค้ำยันหรือด้านหลังของกระดานหลัง
การที่ลูกบอลออกนอกเขตสนาม
ลูกบอลถูกทำให้ออกนอกเขตสนาม โดยผู้เล่นคนสุดท้ายที่ถูกลูกบอลก่อนที่ลูกบอลจะออกนอกเขตสนาม โดยถูกสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากผู้เล่น ผู้ตัดสินจะต้องแสดงสัญญาณอย่างชัดเจนว่าทีมใดจะได้ส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกเขตสนามการทำให้ลูกบอลออกนอกเขตสนาม เป็นการทำผิดกติกา ผู้ตัดสินต้องขานลูกยึดเมื่อไม่แน่ใจว่าทีมใดทำให้ลูกบอลออกนอกเขตสนาม
การเลี้ยงลูกบอล
การเลี้ยงลูกบอลจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เล่นได้ครอบครองลูกบอล แล้วทำให้ลูกบอลเคลื่อนที่โดยการโยน ปัด หรือกลิ้งลูกบอลแล้วไปถูกลูกบอลอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะไปถูกผู้เล่นคนอื่น ในการเลี้ยงลูกบอลนั้น ลูกบอลจะต้องถูกพื้นสนามภายหลังจากการทำให้ลูกบอลเคลื่อนที่ดังกล่าวแล้ว ผู้เล่นจะสิ้นสุดการเลี้ยงลูกบอลทันทีที่เขาได้สัมผัสลูกบอลด้วยสองมือพร้อมๆ กัน หรือทำให้ลูกบอลพักอยู่ในมือใดมือหนึ่งหรือทั้งสองมือ ไม่จำกัดว่าผู้เล่นจะต้องก้าวเท้ากี่ก้าว ขณะที่ลูกบอลไม่สัมผัสมือของเขา
ผู้เล่นจะต้องไม่เลี้ยงลูกบอลครั้งที่สองภายหลังการเลี้ยงลูกบอลครั้งแรกสิ้นสุดลง เว้นแต่ว่าได้เสียการครอบครองลูกบอลเพราะเหตุต่อไปนี้
1. ทำการยิงประตู หรือ
2. ถูกคู่แข่งปัดลูกบอลออกจากการครอบครอง หรือ
3. การส่งหรือการทำลูกบอลหลุดจากมือโดยบังเอิญ แล้วลูกบอลไปถูกผู้เล่นคนอื่น หรือผู้เล่นคนอื่นถูกลูกบอล ผู้เล่นที่โยนลูกบอลใส่กระดานหลังแล้วไปถูกลูกบอลอีกก่อนที่ลูกบอลจะถูกผู้เล่นคนอื่น เป็นการทำผิดกติกา เว้นแต่ผู้ตัดสินเห็นว่าเป็นการยิงประตู
ข้อยกเว้น ต่อไปนี้ไม่ใช่การเลี้ยงลูกบอล
1. การยิงประตูต่อเนื่องกัน
2. เสียการครอบครองลูกบอลโดยบังเอิญ ( การที่ลูกบอลหลุดจากมือโดยบังเอิญ ) ตอนเริ่มต้นหรือตอนสิ้นสุดการเลี้ยงลูกบอล และได้ครอบครองลูกบอลอีกครั้ง
3. ความพยายามที่จะครอบครองลูกบอล โดยการปัดลูกบอลจากผู้เล่นคนอื่นที่พยายามครอบครองลูกบอล
4. ปัดลูกบอลจากการครอบครองของผู้เล่นคนอื่น
5. สกัดกั้นการส่งเพื่อให้ได้ลูกบอลไว้ครอบครอง หรือ
6. โยนลูกบอลไปมาจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง ( หรือทั้งสองมือ ) และถือลูกบอลไว้ก่อนที่ลูกบอลจะถูกพื้นสนาม โดยมีข้อแม้ว่าผู้เล่นคนนั้นไม่ได้ทำผิดกติกาว่าด้วยการเคลื่อนที่พร้อมลูกบอล การเลี้ยงลูกบอลครั้งที่สอง เป็นการทำผิดกติกา
บทลงโทษ
ให้คู่แข่งขันได้ส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกเส้นข้าง ณ จุดที่ใกล้กับการทำผิดกติกามากที่สุด
การหมุนตัว
การหมุนตัวจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เล่นที่กำลังถือลูกบอลก้าวเท้าใดเท้าหนึ่งเพียงเท้าเดียว 1 ก้าว หรือหลายๆ ก้าวในทิศทางต่างๆ โดยเท้าอีกข้างหนึ่งจะเป็นเท้าหลัก ( หรือเท้าหมุน ) ซึ่งยังคงสัมผัสพื้น ณ จุดที่ตนยืนอยู่นั้น
การเคลื่อนที่พร้อมกับลูกบอล
ผู้เล่นอาจจะเคลื่อนที่พร้อมกับลูกบอลไปในทิศทางใดก็ได้ ภายใต้ระเบียบต่อไปนี้
ระเบียบข้อที่ 1 ผู้เล่นที่ได้รับลูกบอลขณะที่ยืนอยู่นิ่ง ๆ อาจจะหมุนตัวโดยเท้าใดเท้าหนึ่งเป็นเท้าหลักก็ได้
ระเบียบข้อที่ 2 ผู้เล่นที่ได้รับลูกบอลขณะที่ตนเองกำลังเคลื่อนที่ หรือเมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงลูกบอล อาจจะใช้การนับสองจังหวะเพื่อหยุด หรือเพื่อส่งลูกบอลให้พ้นจากตัวไป
การนับจังหวะที่หนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อ
1. เมื่อผู้เล่นได้ลูกบอล ถ้าเท้าใดเท้าหนึ่งถูกพื้นสนามในตอนที่ได้รับลูกบอล หรือ
2. เมื่อเท้าใดเท้าหนึ่ง หรือทั้งสองเท้าถูกพื้นสนามพร้อมกัน ภายหลังจากผู้เล่นได้รับลูกบอล ขณะที่เท้าทั้งสองข้างของผู้เล่นไม่ถูกพื้น ( เท้าพ้นพื้น เช่น ลอยตัวในอากาศ )
การนับจังหวะที่สอง จะเกิดขึ้นภายหลังจากการนับจังหวะที่หนึ่งแล้ว เมื่อเท้าใดเท้าหนึ่งหรือทั้งสองเท้าถูกพื้นสนามพร้อม ๆ กัน ผู้เล่นที่ได้หยุดในจังหวะที่หนึ่งของการนับช่วงจังหวะ จะไม่มีสิทธิ์เคลื่อนที่ต่อในจังหวะที่สอง เมื่อผู้เล่นได้หยุดตามกติกาแล้ว ถ้าเท้าใดเท้าหนึ่งอยู่ล้ำหน้ากัน ก็อาจจะหมุนตัวได้ แต่เท้าหลังเท่านั้นที่จะเป็นเท้าหลัก อย่างไรก็ตาม ถ้าเท้าทั้งสองอยู่ในแนวเดียวกัน อาจจะใช้เท้าใดเท้าหนึ่งเป็นเท้าหลักในการหมุน
ระเบียบข้อที่ 3 ผู้เล่นที่ได้รับลูกบอลขณะที่ยืนนิ่ง ๆ หรือได้หยุดตามกติกาขณะที่ถูกลูกบอล
1. อาจจะยกเท้าหลักหรือกระโดดขึ้นเพื่อยิงประตู หรือส่งลูกบอล แต่ลูกบอลจะต้องหลุดจากมือก่อนเท้าที่ยกพ้นพื้นหรือทั้งสองเท้าถูกพื้นสนามอีกครั้งหนึ่งถึงแม้ว่าผู้เล่นฝ่ายปกป้องกันจะถูกลูกบอลด้วยมือใดมือหนึ่ง หรือทั้งสองมือก็ตาม ถ้ามือที่จับลูกบอลนั้นยึดลูกบอลแน่นจนไม่มีใครจะได้ครอบครองลูกบอลโดยปราศจากความรุนแรง ผู้ตัดสินต้องขานลูกยึด หรือ
2. ไม่อาจจะยกเท้าหลัก เมื่อเริ่มต้นการเลี้ยงลูกบอลก่อนที่ลูกบอลจะหลุดจากมือการเคลื่อนที่พร้อมกับลูกบอลนอกเหนือจากกติกาเหล่านี้เป็นการทำผิดระเบียบ
บทลงโทษ
ให้คู่แข่งขันได้ส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกเส้นข้าง ณ จุดที่ใกล้กับการทำผิดกติกามากที่สุด
ลูกยึด
ผู้ตัดสินไม่ควรขานลูกยึดเร็วเกินไป ซึ่งจะทำให้การแข่งขันหยุดชะงัก และทำให้ขาดความยุติธรรมที่ผู้เล่นต้องเสียลูกบอลที่ตนกำลังครอบครอง หรือกำลังจะได้ครอบครอง ผู้ตัดสินจะขานลูกยึดก็ต่อเมื่อมีผู้เล่นอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคนยึดลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือไว้อย่างมั่นคง จนกระทั่งไม่มีผู้เล่นคนใดสามารถจะครอบครองลูกบอลได้โดยปราศจากความรุนแรง และไม่ควรขานลูกยึดโดยเพียงพิจารณาจากเหตุผลที่ว่า ฝ่ายป้องกันได้ใช้มือสัมผัสลูกบอลเท่านั้น การขานในลักษณะเช่นนี้จะไม่ยุติธรรมต่อผู้เล่นที่ได้ครอบครองลูกบอลอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว
การเล่นลูกกระโดด จะเกิดขึ้นเมื่อ
1. เมื่อมีการขานลูกยึด ถ้ามีผู้เล่นมากกว่า 2 คน เกี่ยวข้องให้โยนลูกบอลเพื่อเล่นลูกกระโดดระหว่างผู้เล่นดังกล่าวฝ่ายละคนที่มีความสูงใกล้เคียงกัน
2. ถ้าลูกบอลออกนอกเขตสนาม และผู้เล่นทั้งสองฝ่ายถูกลูกบอลพร้อมๆ กัน ก่อนที่ลูกบอลจะออกนอกเขตสนาม หรือถ้าผู้ตัดสินไม่แน่ใจว่าใครถูกลูกบอลเป็นคนสุดท้าย หรือผู้ตัดสินขัดแย้งกันเอง ก็ให้ดำเนินการเล่นต่อไปด้วยลูกกระโดดระหว่างผู้เล่นสองคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ณ วงกลมที่ใกล้ที่สุด
3. เมื่อลูกบอลติดค้างที่ก้านห่วง ให้ดำเนินการเล่นต่อไปด้วยลูกกระโดดที่เส้นโยนโทษที่ใกล้ที่สุดระหว่างผู้เล่นสองคนใดก็ได้จากทั้งสองฝ่าย
ผู้เล่นอยู่ในลักษณะการยิงประตู เมื่อผู้ตัดสินได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้เล่นคนนั้นได้เริ่มพยายามที่จะทำประตูโดยการโยนยังห่วงหรือปัดลูกบอล และลักษณะความพยายามนี้จะต้องต่อเนื่องจนกระทั่งลูกบอลได้หลุดมือเขาไป
ข้อยกเว้น
ผู้เล่นที่ปัดลูกบอลจากการเล่นลูกกระโดดให้ตรงไปยังห่วงประตู ไม่ใช่อยู่ในลักษณะการยิงประตู
คำนิยาม การโยน การยัดห่วง และการปัดลูกบอล
การโยน คือการถือลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือ แล้วส่งแรงให้ลูกบอลลอยไปยังห่วงประตู
การยัดห่วง คือการออกแรง หรือความพยายามที่จะออกแรงยัดลูกบอลลงห่วงประตูด้วยมือเดียวหรือสองมือ
การปัดลูกบอล คือการตีลูกบอลด้วยมือเดียวหรือสองมือให้ไปยังห่วงประตู
ผู้เล่นอยู่ในลักษณะยิงประตู
สำหรับการฟาวล์ที่กระทำต่อผู้เล่นที่อยู่ในลักษณะการยิงประตู ผู้ตัดสินพึงพิจารณาว่าการฟาวล์ที่เกิดขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นภายหลังที่ผู้ยิงประตูได้เริ่มต้นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของแขน ( ข้างเดียวหรือสองข้าง ) เพื่อการยิงประตู
การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง คือ
1. เริ่มต้นภายหลังที่ลูกบอลได้พักอยู่ในมือ ( มือเดียวหรือสองมือ ) ของผู้เล่น และเริ่มต้นเคลื่อนที่เพื่อยิงประตู
2. อาจจะรวมทั้งการเคลื่อนไหวของแขน ( ข้างเดียวหรือสองข้าง ) และ / หรือลำตัวที่ผู้เล่นได้พยายามเพื่อยิงประตู
กติกาว่าด้วย 3 วินาที
ผู้เล่นจะต้องไม่อยู่ภายในเขตกำหนดเวลาของคู่แข่งขันต่อเนื่องกันเกินกว่า 3 วินาที เขตนี้อยู่ระหว่างเส้นหลังและขอบนอกของเส้นโยนโทษ ในขณะที่ทีมของตนกำลังครอบครองลูกบอล
กติกาว่าด้วย 3 วินาที จะใช้บังคับทุกกรณี เช่น ลูกบอลออกนอกเขตสนาม จะเริ่มการนับเวลาตั้งแต่งผู้เล่นจะส่งบอลเข้า เล่นได้ยืนอยู่นอกสนามและมีลูกบอลอยู่ในครอบครอง ซึ่งกติกาทั้งหมดเกี่ยวกับการสิ้นสุดเวลาของการแข่งขันจะถูกบังคับใช้เกี่ยวกับ การทำผิดกติกาว่าด้วย 30 วินาที