ครก..มรดกครัวไทย

รูปภาพของ rtwtissana

ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล


 ครก..มรดกครัวไทย

ครก  เป็นของคู่ครัวและครอบครัวไทยมานานหลายร้อยปี เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า  ครกมิใช่เป็นเพียงอุปกรณ์การทำครัวซึ่งมีความสำคัญต่อการปรุงอาหารให้มีรสชาติแบบไทยเท่านั้น  แต่ยังมีความหมายทางวัฒนธรรมที่เราควรรู้จักและเห็นคุณค่า  ก่อนที่ครกจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องบดแบบฝรั่งไปเสียหมด

ประเภทของครกและที่มา

      ครกที่ใช้กันอยู่ในครัวเรือน มีอยู่ 2 ประเภท คือ ครกกระเบือหรือครกที่ทำจากดินเผา และ ครกหิน ซึ่งครกทั้งสองประเภทต่างมีความเป็นมาและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน 
นอกจากนี้ ยังมีครกที่ทำจากไม้ เช่น ครกตำข้าวแบบดั้งเดิมของไทยที่ตอนนี้หาดูได้ยาก ทำจากไม้ทั้งท่อนแล้วขุดเจาะให้เป็นแอ่งลึก เอาไว้ตำข้าวไว้กินในครัวเรือน ซึ่งหากใครตำข้าวพอกินไปวัน ๆ ก็จะถูกปรามาสว่า "ตำข้าวสารกรอกหม้อ" หมายถึง เป็นคนเกียจคร้านสิ้นดีแม้แต่จะเตรียมข้าวสารไว้หุงกิน ก็ตำพอกรอกหม้อไปวัน ๆ หรือเป็นมื้อ ๆ ไป

       ครกกระเบือ  เป็นครกดั้งเดิมของคนไทย ทำจากดินปั้นแล้วเผา จากคำเล่าขานของคนโบราณพอจะอนุมาณได้ว่า  ครกกระเบือเป็นที่นิยมใช้กันในครัวไทยมานานไม่ต่ำกว่า 800 ปี  ครกกระเบือที่เก่าแก่ที่สุดเป็นครกในสมัยอยุธยา ทำด้วยดินเผาสีดำ ปัจจุบันได้จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นครกปากกว้าง ขอบปากปั้นเป็นรูปกลมมนโค้งวงกลม ช่วงระหว่างปากครกถึงก้นครกจะค่อย ๆ สอบหรือเรียวเล็กลง โดยมีฐานรองอีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะกลมมนคล้ายปากครก เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักระหว่างใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
ครกกระเบือโดยทั่วไปมีทรงสูงกว่าครกหิน แต่จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก เหมาะกับอาหารที่ไม่ต้องการให้ละเอียดมาก เช่น ส้มตำ หรือน้ำพริก ครกกระเบือจะใช้คู่กับสากที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง จึงเรียกกันว่า "ไม้ตีพริก" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกว่า "สากกระเบือ"

       ลักษณะและรูปทรงของครกในช่วงหลัง ๆ มักมีการดัดแปลงหรือประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นและการใช้ประโยชน์ เช่น ครกสำหรับตำส้มตำของชาวอีสาน จะมีลักษณะรูปทรงสูงกว่าครกตำน้ำพริกโดยทั่วไป ขอบปากกว้างและบาง ช่วงระหว่างปากครกถึงก้นครกจะเรียวสอบลงคล้ายถ้วยน้ำชา บริเวณฐานจะป้านออกเล็กน้อยเพื่อช่วยรับน้ำหนักได้ดีขึ้น รูปทรงภายนอกจึงคล้ายถ้วยขนาดใหญ่ ข้อเด่นของครกประเภทนี้คือ เบ้ากลมภายในครกจะลึกและกว้าง ทำให้สามารถตำส้มตำได้คราวละมาก ๆ

       ครกหิน  เป็นครกที่หนักมากกว่าครกกระเบือ สามารถใช้ตำหรือบดอาหารให้ละเอียดได้คราวละมาก ๆ เพราะสามารถรับน้ำหนักได้ดีกว่า ส่วนสากก็สกัดจากหินชนิดเดียวกัน ส่วนใหญ่ทำจากหินแกรนิตซึ่งเป็นหินที่มีคุณภาพและคุณสมบัติในเรื่องความทนทาน แต่ปัจจุบันครกหินที่ทำจากหินแกรนิตแท้ ๆ เหลือน้อยเต็มที ครกหินที่วางขายกันอยู่มักจะเป็นหินอัคนีที่พอหาได้จากแหล่งต่าง ๆ

       เดิมทีคนไทยสมัยโบราณนิยมใช้ครกที่ทำจากดินเผาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับจีน อิทธิพลจากชาวจีนได้มีส่วนทำให้ครกหินเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น โดยอาศัยฝีมือในการแกะสลักหินของชาวจีนมาดัดแปลงทำครกนั่นเอง  แต่ครกหินในสมัยนั้นนิยมใช้กันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น ชาวบ้านโดยทั่วไปยังนิยมใช้ครกที่ทำจากดินเผาอยู่เช่นเดิม เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและราคาถูกหาซื้อได้ง่าย  จนกระทั่งการทำครกหินได้กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนของไทยและมีแหล่งผลิตที่ขึ้นชื่อ เช่น อ่างศิลา ทำให้หาซื้อได้ง่ายและราคาถูกลง รวมถึงคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทาน จึงทำให้ครกหินเป็นที่นิยมและแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปมากขึ้น


ครก..กับวัฒนธรรมการครัว

      การประกอบอาหารของคนไทย มีแบบอย่างเฉพาะตัว มีความประณีตและพิถีพิถันกว่าชนชาติใด ๆ เป็นความงามทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ  ครกเป็นเครื่องครัวชิ้นสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมการประกอบอาหารของไทยโดยเฉพาะอาหารประเภทจิ้ม และอาหารประเภทต้ม แกง
อาหารประเภทจิ้ม หมายถึง อาหารจำพวกน้ำพริก ซึ่งมีหลากหลายชนิด รสชาติจะหนักไปทางเผ็ด เค็ม หรือเปรี้ยวในบางครั้ง แต่หากจะตำน้ำพริกให้อร่อยครบรสนั้น สำคัญที่วิธีการปรุง ผู้มีฝีมือในการตำน้ำพริกนั้นจะพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกใช้ครกกับสากเลยทีเดียว  โดยมากจะนิยมใช้สากที่ทำจากไม้ เพราะไม่ทำให้น้ำพริกเสียรสชาติและเนื้อพริกแหลกพอดี
อาหารประเภทต้มหรือแกงนั้นมักเป็นอาหารที่มีรสเผ็ดนำ คือมีพริกเป็นเครื่องชูรส โดยนำพริกมาตำให้ละเอียด ผสมกับกะเทียม หัวหอม และเครื่องเทศบางชนิด เครื่องแกงเหล่านี้เหมาะจะตำในครกหิน เนื่องจากตำได้แหลกละเอียดและเร็วกว่า
การประกอบอาหารไทยกว่าครึ่งจึงมีครกเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้อาหารไทยนั้นสามารถประยุกต์ดัดแปลงได้หลายประเภท ชาวตะวันออกชาติอื่น ๆ ก็มีการประดิษฐ์ครกขึ้นใช้เหมือนกัน แต่โดยมากใช้เพื่อปรุงยาหรือสมุนไพร มีเพียงคนไทยเท่านั้นที่สามารถใช้ครกเพื่อการปรุงอาหารได้อย่างมีจินตนาการและสร้างสรรค์ อีกทั้งมีขั้นตอน วิธีการเคล็ดลับที่ต่างกันออกไปแต่ละภูมิภาคหรือท้องถิ่น

เลือกสาวเคล้าเสียงตำน้ำพริก..

      สมัยก่อนชายหญิงจะถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้ต่างกัน ฝ่ายชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ฝ่ายหญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูก ดูแลเรื่องอาหารการกินและความเป็นอยู่ในบ้าน การเลือกหญิงใดมาเป็นภรรยาจึงมิได้อยู่ที่ความพึงพอใจเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงคุณสมบัติของการเป็นแม่บ้านแม่เรือนด้วย
โดยที่ครกมีบทบาทสำคัญในการประกอบอาหาร ความสามารถในการใช้ครกจึงเป็นเสน่ห์และคุณสมบัติที่สำคัญของผู้หญิง คนโบราณจึงกล่าวว่า หากอยากได้ลูกสาวใครมาเป็นสะใภ้ ให้แอบฟังเสียงตำน้ำพริกของสาวนั้น ถ้าเสียงตำน้ำพริกถี่และเร็ว แสดงว่าเป็นคนว่องไว มีความเฉลียวฉลาด มีมานะทำอะไรไม่หยิบโหย่ง เอาจริงเอาจัง เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี  แต่ถ้าเสียงตำฟังเชื่องช้าและตำไม่สม่ำเสมอก็ให้สัณนิษฐานว่า ลูกสาวบ้านนั้นไม่ชำนาญการครัว ยังเป็นแม่บ้านที่ดีไม่ได้
เหตุที่ใช้เสียงตำน้ำพริกเป็นข้อพิจารณาในการเลือกคู่ครองนั้น เพราะในสมัยก่อนมักมีข้อจำกัดในการพบปะกัน หญิงสาวที่ดีมักต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน หากมีหนุ่มบ้านใดมาพึงพอใจก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่จะไปสืบดูให้รู้ว่า สาวที่ถูกหมายปองนั้นเป็นใคร มีอุปนิสัยใจคออย่างไร เป็นแม่บ้านแม่เรือนขนาดไหน และพื้นเพของบิดามารดาเชื่อถือได้หรือไม่ เมื่อตกลงใจแล้วจึงมาสู่ขอกันตามประเพณี  คุณสมบัติในการเป็นแม่ศรีเรือนจึงเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญนัก ของการเลือกคู่ครอง
มาถึงสมัยนี้เห็นทีจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ผลเสียแล้ว เพราะเครื่องบดไฟฟ้ากำลังมาแทนที่เครื่องบดดั้งเดิมของคนไทย และยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไปมากจนฝ่ายหญิงไม่ได้หมกตัวอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไป การเลือกคู่ครองถูกกำหนดโดยความพึงพอใจของหนุ่มสาวและเหตุผลอื่นมากกว่าคุณสมบัติในกรเป็นแม่บ้านแม่เรือน  เสียงตำน้ำพริกซึ่งครั้งหนึ่งเคยดังจากมือสาวเจ้าอย่างภาคภูมิใจ จึงค่อย ๆ แผ่วเบาลงไปเรื่อย ๆ

ครก..ยังอยู่คู่ครัวไทย

      แม้เสียงตำน้ำพริกจะลดความสำคัญลงในฐานะเกณฑ์การเลือกเจ้าสาว และหญิงไทยสมัยนี้จะทำครัวน้อยลง แต่ตราบใดที่ครอบครัวยังมีการทำครัว ครกก็ยังอยู่คู่ครัวไทย
จริงอยู่เครื่องบดไฟฟ้าที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแกงและเครื่องปรุงสำเร็จรูปต่าง ๆ และวิถีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น คงส่งผลโดยรวมให้ครกถูกใช้งานน้อยลง  แต่เชื่อแน่ว่าทุกครอบครัวที่มีครัว ยังเลือกที่จะมีครกไว้คู่ครัว เพราะเครื่องแกงและเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากตลาดไม่มีทางจะสู้รสชาติที่ตำด้วยน้ำมือจากครกได้

สร้างโดย: 
tissana

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 363 คน กำลังออนไลน์